๑.การใช้สิทธิ์เรียกค่าทดแทนต้องมีกฎหมายรองรับ ค่ารักษาพยาบาล ค่าทำศพ ค่าทดแทน ค่าชดเชยที่ผู้ถูกทำละเมิดที่ต้องจ่ายตามกฎหมายแรงงาน จึงมาฟ้องไม่ได้ ส่วนค่าขาดแรงงานสามารถเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนได้ คำพิพากษาฏีกา๑๐๔๗/๒๕๒๒
๒.บุตรบุญธรรมยื่นคำร้องขอรับบำเหน็จตกทอดของผู้รับบุตรบุญธรรม เป็นการโต้แย้งสิทธิ์ของคู่สมรสของผู้รับบุตรบุญธรรมแล้ว คำพิพากษาฏีกา ๑๐๓/๒๕๑๑
๓.เทศบาลปักป้ายในที่ดินโจทก์ว่าเป็นที่สาธารณะ เป็นการรบกวนการครอบครองที่ดินโจทก์แล้ว คำพิพากษาฏีกา ๕๒๕/๒๕๑๘ หรือการที่ นายอำเภอสั่งให้ออกจากที่ดินโดยอ้างว่าเป็นที่สาธารณะประโยชน์ ย่อมเป็นการโต้แย้งสิทธิ์แล้ว คำพิพากษาฏีกา ๑๒๙/๒๕๒๐
๔.การที่โจทก์ครอบครองที่ดินไม่มีหนังสือสำคัญ จำเลยไปขอออกโฉนด เป็นการโต้แย้งสิทธิ์แล้ว คำพิพากษาฏีกา ๑๒๗๕/๒๕๒๑
๕.ผู้จัดการมรดกนำที่ดินมรดกออกขาย แต่เจ้าพนักงานที่ดินไม่ยอมแก้ทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ อ้างว่าพินัยกรรมห้ามโอน จึงขอให้ศาลสั่งว่าพินัยกรรมไม่มีผลบังคับ ดังนี้เป็นการโต้แย้งสิทธิ์แล้วชอบที่จะเสนอคดีเป็นคำฟ้อง มิใช่เสนอคดีแบบคดีไม่มีข้อพิพาท คำพิพากษาฏีกา ๑๓๑๖/๒๕๒๒
๖.การเป็นสามีภรรยาต้องอยู่ร่วมกันฉันท์สามีภรรยาโดยปกติสุข เมื่อฝ่ายใดก่อพฤติการณ์อันเป็นปรปักษ์ต่อการอยู่ร่วมกันเป็นปกติสุข เป็นการโต้แย้งสิทธิ์แล้ว คำพิพากษาฏีกา ๑๑๑๓/๒๕๑๙
๗.ขับรถทับเส้นทางเดินรถที่ได้รับสัมปทานเป็นการโต้แย้งสิทธิ์แล้ว คำพิพากษาฏีกา ๑๘๖/๒๕๒๑
๘.สั่งถอนสัญชาติ เป็นการโต้แย้งสิทธิ์ โจทก์ชอบที่จะฟ้องเพิกถอนคำสั่งผู้ว่าราชการจังหวัดได้ คำพิพากษาฏีกา ๓๔๔๙/๒๕๒๕
๙. ไม่ยอมออกบัตรประชาชนให้อ้างเป็นคนต่างด้าว คำพิพากษาฏีกา ๒๙๓๕/๒๕๓๒
๑๐.สั่งให้ระงับการทำไม้ตามที่ได้รับสัมปทาน คำพิพากษาฏีกา ๖๑๖/๒๕๔๘
๑๑. การที่ไม่ยอมแบ่งแยกที่พิพาทที่เป็นมรดกให้ทายาท เป็นการโต้แย้งสิทธิ์แล้ว คำพิพากษาฏีกา ๒๔๓๔/๒๕๔๙
ข้อสังเกต ๑. การที่บุคคลจะใช้สิทธิ์หน้าที่ของบุคคลใดตามกฎหมายแพ่ง หรือจะใช้สิทธิ์ทางศาลได้ก็ต่อเมื่อมีข้อโต้แย้งเกิดขึ้นตาม ป.ว.พ. มาตรา ๕๕ คือต้องมีการโต้แย้งสิทธิ์ โดยต้องมีกฎหมายรองรับสิทธิ์ หรือหากกฎหมายมีขั้นตอนให้ต้องปฏิบัติต้องปฏิบัติตามขั้นตอนนั้นก่อน เช่น ต้องมีการอุทธรณ์คำสั่ง เช่น ต้องอุทธรณ์คำสั่งการประเมินภาษี ก่อน ไม่งั้นไม่มีสิทธิ์ฟ้องให้เพิกถอนการประเมิน คำพิพากษาฏีกา ๑๒๖๒/๒๕๒๐ หรือกรณีมีข้อตกลงว่าหากมีกรณีพิพาทต้องเสนอเรื่องให้อนุญาโตตุลาการพิจารณาก่อน หากไม่มีการเสนอเรื่องให้อนุญาโตตุลาการพิจารณาแต่นำเรืองมาฟ้องทันที ย่อมไม่มีอำนาจฟ้อง คำพิพากษาฏีกา ๙๓๒๕/๒๕๓๙
๒.การที่ลูกจ้างถูกบุคคลภายนอกทำละเมิดแล้วนายจ้างต้องจ่ายค่ารักษาพยาบาล ค่าทำศพ ค่าทดแทน ค่าชดเชย เป็นไปตามบทบัญญัติที่กฎหมายแรงงานบัญญัติไว้ หาก่อให้เกิดสิทธิ์ในการฟ้องผู้ทำละเมิดเพื่อเรียกร้องค่าเสียหายในส่วนต่างๆนี้ ไม่ถือว่ามีการโต้แย้งสิทธิ์ แต่การที่นายจ้างต้องขาดแรงงานเนื่องจากลูกจ้างไม่สามารถทำงานได้มี ป.พ.พ. มาตรา ๔๔๕ บัญญัติให้นายจ้างมีสิทธิ์เรียกค่าสินไหมทดแทนจากบุคคลภายนอกเพื่อการที่นายจ้างต้องขาดแรงงาน จึงต้องถือว่ามีข้อโต้แย้งเกี่ยวสิทธิ์และหน้าที่แล้ว
๓.บุตรบุญธรรมที่ได้จดทะเบียนตามกฎหมายแล้วมีฐานะอย่างเดียวกับบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของผู้รับบุตรบุญธรรม ตาม ป.พ.พ. มาตรา ๑๕๙๘/๒๘ และต้องนำบทบัญญัติใน ป.พ.พ. ว่าด้วยสิทธิ์ และหน้าที่ของบิดามารดาและบุตร ตามลักษณะสอง หมวดสองใน ป.พ.พ. มาใช้บังคับ จึงมีสิทธิ์รับมรดกในฐานะที่เป็นทายาทอันดับ ๑ ของเจ้ามรดก แม้เจ้ามรดกจะมีบุตรที่แท้จริงอยู่ก็ตาม สิทธิ์รับเงินสงเคราะห์ตกทอดของผู้ตาย ไม่ใช่ทรัพย์สินของผู้ตาย จึงไม่ใช่มรดก คำพิพากษาฏีกา ๒๑๑๔/๒๕๒๔ ดังนั้นการที่บุตรบุญธรรมยื่นคำร้องขอรับบำเหน็จตกทอดของผู้รับมรดกย่อมเป็นการโต้แย้งสิทธิ์ของคู่สมรสของผู้รับบุตรบุญธรรม ว่าระหว่างบุญบุญธรรมและคู่สมรสผู้รับบุตรบุญธรรมใครมีสิทธิ์ดีกว่ากันในการรับบำเน็จตกทอด
๔.การที่เรามีกรรมสิทธิ์ในที่ดินแปลงใด เจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่ดินรายนั้นย่อมมีแดนกรรมสิทธิ์ในที่ดินแปลงนั้นทั้งเหนือพื้นดินและใต้ที่ดินแปลงดังกล่าวแล้ว และมีสิทธิ์หวงกันและขัดขวางไม่ให้ผู้ใดเข้าเกี่ยวข้องในที่ดินแปลงนั้นโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายตาม ป.พ.พ. มาตรา ๑๓๓๕,๑๓๓๖ ทั้งการที่จะมีกรรมสิทธิ์ในที่ดินแปลงใดย่อมหมายความว่าที่ดินแปลงนั้น ไม่ใช่ ที่ดินที่เป็นสาธารณะสมบัติของแผ่นดิน เพราะที่ดินที่เป็นสาธารณะสมบัติของแผ่นดิน เป็นที่ดินของรัฐตาม ป. ที่ดิน ฯ มาตรา ๒ หากที่สาธารณะสมบัติของแผ่นดิน ไม่มีกฎหมายออกมาเพิกถอนสภาพการเป็นสาธารณะสมบัติของแผ่นดิน ที่ดินดังกล่าวก็ยังเป็นที่ดินที่เป็นสาธารณะสมบัติของแผ่นดิน ตาม ป.ที่ดิน ฯ มาตรา ๘ การที่เทศบาลนำป้ายมาปักในที่ดินโจทก์ว่าเป็นที่สาธารณะ เท่ากับแสดงว่าการออกโฉนดที่ดินนั้นผิดพลาดคาดเคลื่อนหรือไม่ชอบด้วยกฏหมายซึ่งอธิบดีกรมที่ดินมีอำนาจตาม ป. ที่ดินฯ มาตรา ๖๑ ที่จะสั่งเพิกถอนหรือแก้ไขโฉนดที่ดินนั้นได้ ถือได้ว่าการเอาป้ายมาปักในที่ดินโจทก์ว่าเป็นที่สาธารณะย่อมเป็นการโต้แย้งสิทธิ์ของโจทก์แล้ว หรือการที่นายอำเภอให้ออกจากที่ดินของเราโดยอ้างว่าเป็นที่สาธารณะ เท่ากับโต้แย้งว่า เราบุกรุกครอบครองที่สาธารณะอันเป็นความผิดตามกฏหมาย ซึ่งมีโทษทางอาญา จึงเป็นการรบกวนการครอบครองอสังหาริมทรัพย์โดยปกติสุขของโจทก์แล้ว จึงเป็นกรณีมีข้อโต้แย้งที่จะใช้สิทธิ์ทางศาลได้
๕.การที่บุคคลใดครอบครองที่ดินโดยไม่มีหลักฐานหนังสือสำคัญ แต่หากได้ปฏิบัติตามระเบียบ ข้อบังคับ ข้อกำหนดหรือเงื่อนไขของคณะกรรมการจัดที่ดินแห่งชาติ และเมื่อรัฐมนตรีเห็นสมควรให้มีการออกโฉนดหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์ในจังหวัดใดแล้วรัฐมนตรีสามารถประกาศในราชกิจจานุเบกษากำหนดจังหวัดที่จะทำการรังวัดทำแผนที่หรือพิสูจน์สอบสวนการทำประโยชน์ในที่ดินตาม ป.ที่ดิน ฯ มาตรา ๕๘ เพื่อออกโฉนดหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์ ตาม ป. ที่ดิน ฯ มาตรา ๕๘ ทวิได้ การที่จำเลยไปขอออกโฉนดในที่ดินดังกล่าวจึงเป็นการโต้แย้งสิทธิ์ของโจทก์แล้ว
๖. การที่เจ้าพนักงานที่ดินไม่ยอมเปลี่ยนแปลงแก้ทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ย่อมเป็นการโต้แย้งสิทธิ์แล้ว ชอบที่จะเสนอคดีเป็นคดีมีข้อพิพาท ไม่ใช่ยื่นคำร้องฝ่ายเดียวว่าพินัยกรรมหรือข้อกำหนดในพินัยกรรมที่ห้ามโอนไม่มีผลตามกฏหมาย ตาม ป.พ.พ. มาตรา ๑๗๐๐,๑๗๐๑,๑๗๐๒ เพราะการที่ข้อกำหนดห้ามโอนเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ต้องทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ มิเช่นนั้นแล้วข้อกำหนดห้ามโอนในพินัยกรรมไม่บริบรูณ์ ทั้งใน ป.พ.พ. มาตรา ๑๐๗๑ กำหนดระยะเวลาในการ “ ฟ้อง “ เพิกถอนพินัยกรรมภายในระยะเวลาที่กำหนดไว้ภายใน ๓ เดือน ตาม ป.พ.พ. มาตรา ๑๗๑๐(๑)(๒) หรือภายใน ๑๐ ปีนับแต่ผู้ทำพินัยกรรมตาย จึงแสดงให้เห็นเจตนารมณ์กฎหมายต้องการให้ “ ฟ้อง” เป็นคดีมีข้อพิพาทไม่ใช่เสนอคดีเป็นคดีไม่มีข้อพิพาท
๗..การเป็นสามีภรรยาต้องอยู่ร่วมกันฉันท์สามีภรรยาโดยปกติสุข เช่น ต้องมีการร่วมประเวณี กัน เป็นต้น เมื่อฝ่ายใดก่อพฤติการณ์อันเป็นปรปักษ์ต่อการอยู่ร่วมกันเป็นปกติสุข เป็นการรบกวนขัดขวางสิทธิ์แห่งการอยู่ร่วมกันอย่างปกติของอีกฝ่าย อันเป็นการโต้แย้งสิทธิ์แล้ว
๘.การที่บุคคลใดได้รับสัมปทานในการเดินรถว่าสามารถเดินรถในเขตพื้นที่ใดแล้ว มีบุคคลใดมาขับรถรับจ้างทับสัมปทาน ถือเป็นการโต้แย้งการใช้สิทธิ์ที่ตนได้รับสัมปทานแล้ว
๙.การถอนสัญชาติไทย เท่ากับกล่าวหาว่าบุคคลนั้นไม่ใช่คนสัญชาติไทย เชื้อชาติไทย เข้ามาและอยู่ในราชอาณาจักรไทยโดยไม่ชอบด้วยกฏหมาย อันเป็นความผิดตามพรบ.คนเข้าเมืองฯ มาตรา ๑๑,๑๒ และคนที่ให้ที่พำนักหรือช่วยเหลือด้วยประการใดๆให้อยู่ในราชอาณาจักรย่อมมีความผิดตามพรบ.คนเข้าเมืองฯ มาตรา ๖๔ และเมื่อถูกเพิกถอนสัญชาติแล้ว เป็นหน้าที่ของเจ้าพนักงานที่จะส่งตัวคนต่างด้าวออกนอกราชอาณาจักรไทย ทั้งการไม่ใช่คนไทยย่อมเสียสิทธิ์อันพึงมีพึงได้ที่คนไทยพึงได้รับ คำสั่งดังกล่าวจึงเป็นการโต้แย้งสิทธิ์แล้ว จึงสามารถฟ้องผู้ว่าราชการจังหวัดที่มีคำสั่งเพิกถอนเป็นจำเลยได้
๑๐. บัตรประชาชนจะออกให้เฉพาะผู้มีสัญชาติไทยหรือได้กลับคืนสัญชาติไทย ซึ่งมีอายุตั้งแต่ ๑๕ ปีบริบรูณ์แต่ไม่เกิน ๗๐ ปี ส่วนผู้ที่มีอายุเกิน ๗๐ ปีหรือบุคคลที่ได้รับการยกเว้นตามกฎกระทรวงจะขอมีบัตรประชาชนก็ได้ ซึ่งบัตรประชาชนเป็นหลักฐานที่แสดงว่าเป็นคนสัญชาติไทย ไม่ได้เป็นคนต่างด้าวลักลอบเข้ามาและอยู่ในราชอาณาจักรโดยไม่ได้รับอนุญาต ทั้งยังก่อให้เกิดสิทธิ์ต่างๆตามมา การทำนิติกรรมใดๆหรือติดต่อหน่วยราชการหรือหน่วยงานเอกชนก็จะต้องมีบัตรประชาชนเพื่อแสดงตนว่าเป็นใครมาจากไหนอย่างไร การที่เจ้าหน้าที่ปฏิเสธไม่ทำบัตรประชาชนให้เท่ากับเป็นการกล่าวอ้างว่าเป็นคนต่างค้าวไม่มีสัญชาติไทย จึงเป็นการโต้แย้งสิทธิ์ที่จะนำคดีมาสู่ศาลได้
๑๑.การได้รับสัมปทานให้ทำไม้ได้เป็นไปตามหลักเกณท์และวิธีการตามที่กฎหมายกำหนด และเป็นสิ่งที่แสดงว่า ได้เข้าทำไม้ในเขตสัมปทานไม่ได้บุกรุกทำไม้ในเขตป่าไม้ ป่าสงวนหรือในอุทยานแห่งชาติ และไม่มีการสวมตอไม้จากไม้ที่ตัดในป่าไม้ ป่าสงวนหรืออุทยานแห่งชาติมาสวมตอไม้ในเขตที่ได้รับสัมปทาน การที่กรมป่าไม้สั่งระงับไม่ให้ทำไม้จึงเท่ากับเป็นการกล่าวอ้างว่า การทำไม้ไม่ถูกต้องตามกฎหมาย จึงเป็นการโต้แย้งสิทธิ์ที่จะนำคดีมาสู่ศาลได้
๑๒. การที่ทายาทที่มีสิทธิ์รับมรดกในที่พิพาท ขอให้จำเลยแบ่งแยกที่พิพาท แต่จำเลยเพิกเฉยย่อมเป็นการโต้แย้งสิทธิ์ที่โจทก์มีอยู่ในการรับมรดกที่จะเปลี่ยนแปลงชื่อจากชื่อผู้ตายมาเป็นชื่อทายาท จึงมีสิทธิ์นำคดีขึ้นสู่ศาล
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น