ค้นหาบล็อกนี้

วันอังคารที่ 23 สิงหาคม พ.ศ. 2559

“ละเมิดอำนาจศาล สอบปากคำ ไม่ได้สาบานตัว”

การกล่าวหาผู้กระทำความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล โดยไม่ได้กระทำต่อหน้าศาล และผู้ถูกกล่าวหาให้การปฏิเสธ ศาลต้องไต่สวนพยานหลักฐานเพื่อหาข้อเท็จจริงก่อน การที่ศาลชั้นต้นเพียงสอบถามปากคำ ด. และผู้ถูกกล่าวหา โดยไม่ปรากฏว่า ด. ได้สาบานหรือปฏิญาณ ให้ถูกต้อง ถ้อยคำของ ด. รับฟังไม่ได้ คำพิพากษาฏีกา ๒๙๖๒/๒๕๔๗
ข้อสังเกต ๑. การกระทำที่เป็นการละเมิดอำนาจศาลได้แก่
๑.๑ไม่ปฏิบัติตามข้อกำหนดของศาลว่าด้วยการรักษาความเรียบร้อยหรือประพฤติไม่เรียบร้อยในบริเวณศาล
๑.๒แสดงความเท็จหรือเสนอพยานหลักฐานเป็นเท็จในการไต่สวนขอยกเว้นค่าธรรมเนียมศาล
๑.๓รู้ว่าจะมีการส่งคำคู่ความหรือเอกสาร แล้ว ไปเสียหรือหลีกเลี่ยงที่จะไม่รับคำคู่ความหรือเอกสาร
๑.๔ตรวจหรือคัดเอกสารในสำนวนศาลโดยไม่ได้ขออนุญาตจากศาล
๑.๕ขัดขืนไม่มาศาลตามคำสั่งหรือหมายเรียก
๑.๖ ผู้ประพันธ์ บรรณาธิการ ผู้พิมพ์โฆษณา หนังสือพิมพ์ หรือสิ่งพิมพ์อันออกโฆษณาต่อประชาชน ซึ่งข้อความหรือความเห็นอันเป็นการเปิดเผยข้อเท็จจริงหรือพฤติการณ์อื่นๆแห่งคดีหรือกระบวนการพิจารณาแห่งคดี ซึ่งศาลสั่งห้ามโฆษณา
๑.๗ผู้ประพันธ์ บรรณาธิการ ผู้พิมพ์โฆษณา หนังสือพิมพ์ สิ่งพิมพ์ ซึ่งข้อความหรือความเห็นเพื่อประสงค์ให้มีอิทธิพลเหนือความรู้สึกประชาชนหรือเหนือศาล หรือเหนือคู่ความ หรือเหนือพยาน โดย
ก. เป็นการแสดงผิดจากข้อเท็จจริงแห่งคดี
ข.รายงาน ย่อเรื่อง หรือวิภาค ซึ่งกระบวนพิจารณาคดีที่ไม่เป็นกลางหรือไม่ถูกต้อง
ค.วิภาคโดยไม่เป็นธรรม ซึ่งการดำเนินคดี หรือคำพยานหลักฐาน นิสัยความประพฤติคู่ความหรือพยาน รวมทั้งการแถลงข้อความอันเป็นการเสื่อมเสียต่อคู่ความ หรือพยาน แม้ข้อความเหล่านั้นจะเป็นจริง
ง.เพื่อชักจูงให้เกิดพยานเท็จ
ซึ่งเมื่อมีการละเมิดอำนาจศาล ศาลสามารถไล่ออกจากบริเวณศาล หรือให้ลงโทษจำคุกหรือปรับหรือทั้งจำทั้งปรับ
๒.การกระทำความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล ที่ไม่ได้กระทำต่อหน้าศาล และผู้ถูกกล่าวหาให้การปฏิเสธ ศาลมีหน้าที่ต้องไต่สวนพยานหลักฐานก่อนว่ามีการกระทำความผิดจริงหรือไม่อย่างไร หากเป็นการกระทำต่อหน้าศาล ศาลรู้เห็นด้วยตัวเองแล้ว ก็ไม่จำต้องทำการไต่สวน
๓.การไต่สวนกรณีละเมิดอำนาจศาลที่ไม่ได้กระทำต่อหน้าศาล นั้น พยานที่เข้ามาเบิกความต้องมีการสาบานตามลัทธิ์ ศาสนาหรือตามจารีตประเพณีแห่งชาติของตนหรือปฏิญาณว่าจะให้การตามความสัตย์จริง เว้นแต่
ก.พระมหากษัตริย์ พระราชินี พระรัชทายาท ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์
ข.บุคคลที่อายุต่ำกว่า ๑๕ ปี หรือบุคคลที่ศาลเห็นว่าหย่อนความรู้สึกผิดชอบ
ค.พระภิกษุ สามเณรในพุทธศาสนา
ง.บุคคลที่คู่ความทั้งสองฝ่ายตกลงกันว่าไม่ต้องสาบานหรือปฏิญาณ
ดังนั้นพยานที่ให้การต่อศาลโดยไม่ได้สาบานหรือปฏิญาณ ย่อมไม่สามารถรับฟังได้ ไม่ว่าจะเป็นการสืบพยานในคดีตามปกติ หรือเป็นการไต่สวนกรณีละเมิดอำนาจศาลก็ตาม
๔.ข้อกฎหมายที่ว่าพยานเบิกความโดยไม่ได้สาบานหรือปฏิญาณเป็นข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่ได้ยกกล่าวอ้างในศาลล่างสองศาล จำเลยก็ยกขึ้นฏีกาได้ คำพิพากษาฏีกา ๔๘๑๘/๒๕๓๓ ซึ่งตามหลักแล้วการอุทธรณ์ฏีกาในปัญหาเรื่องใด เรื่องนั้นต้องเป็นเรื่องที่ว่ามาแล้วในศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์ ตาม ป.ว.พ. มาตรา ๒๔๙ ไม่ว่าจะเป็นการนำสืบพยาน หรือเป็นการถามค้านพยาน หรือยื่นหรือส่งเอกสารเพื่อประกอบการซักถามหรือเพื่อทำลายน้ำหนักพยานก็ตาม หรือการกล่าวมาในคำฟ้อง ในคำให้การ คำร้องขอแก้ไขเพิ่มเติมฟ้องหรือเพิ่มเติมคำให้การ หรือกล่าวในฟ้องอุทธรณ์ คำแก้อุทธรณ์ ก็ตาม หากไม่ได้ยกขึ้นมาว่ากล่าวในศาลล่างจะยกขึ้นมาในศาลสูงไม่ได้ เว้น เป็นข้อกฏหมายเกี่ยวความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่ได้กล่าวไว้ในศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์ ก็สามารถนำมาว่ากล่าวในชั้นฏีกาได้ ตาม ป.ว.พ. มาตรา ๒๔๙ วรรคท้าย
๕.พยานให้การก่อนปฏิญาณหรือสาบานตน โดยพลั้งเผลอ เมื่อให้การแล้วจึงปฏิญาณต่อศาลว่าคำให้การนั้นเป็นจริง ถือว่าได้ปฏิบัติตามกฎหมายแล้ว คำให้การพยานรับฟังได้ คำพิพากษาฏีกา ๒๑๗/๒๔๘๘ ดูเทียบคำพิพากษาฏีกา๘๒๔/๒๔๙๒ พยานเบิกความโดยไม่ได้สาบานหรือปฏิญาณ ย่อมรับฟังไม่ได้ ศาลอุทธรณ์ย้อนสำนวนให้ไปพิจารณาใหม่ พยานได้สาบานและรับรองคำเบิกความไว้เป็นความจริง ศาลจะรับคำเบิกความครั้งก่อนนั้นไมได้ ไม่เหมือนกรณีที่พยานได้สาบานในขณะที่เบิกความอยู่ที่ศาลรับฟังคำเบิกความก่อนสาบานได้ นั้นก็คือ ศาลฏีกายอมรับว่า แม้ไม่ได้ทำถูกต้องตามกฏหมายโดยพยานเบิกความก่อนสาบานหรือปฏิญาณ แต่เมื่อพยานได้สาบานตัวหรือปฏิญาณแล้วเบิกความรับรองว่าข้อความที่เบิกความไปนั้นเป็นความจริงโดยได้กระทำในขณะนั้นต่อหน้าศาลในขณะที่อยู่ระหว่างการเบิกความ คำเบิกความที่เบิกความไปก่อนหน้านี้ไม่เสียไป แต่หากเลยขั้นตอนนี้ไปถึงศาลอุทธรณ์หรือศาลฏีกาย้อนสำนวนมาให้ศาลชั้นต้นหรือศาลอุทธรณ์พิจารณาใหม่ ศาลชั้นต้น ต้องให้พยานสาบานหรือปฏิญาณแล้วเบิกความใหม่ จะมาสาบานหรือปฏิญาณว่าข้อความที่เบิกความไปครั้งก่อนถูกต้องดังนี้ไม่ได้ ถือไม่ได้ปฏิบัติให้ถูกต้องตามกฎหมาย คำเบิกความดังกล่าวไม่สามารถนำมารับฟังเป็นพยานหลักฐานได้

ไม่มีความคิดเห็น: