ค้นหาบล็อกนี้

วันอังคารที่ 23 สิงหาคม พ.ศ. 2559

“ไม่ใช่การร้องทุกข์”

๑.ร้องทุกข์ระบุบุคคลอื่นเป็นผู้กระทำผิด แต่ไม่ได้ระบุชื่อจำเลยเป็นผู้กระทำผิด ไม่ใช่คำร้องทุกข์ประสงค์ให้ลงโทษจำเลย คำพิพากษาฏีกา ๑๒๙๘/๒๕๑๐
๒. แจ้งความบอกเพียงจำเลยออกเช็ค ยังไม่ประสงค์ให้จับตัวจำเลยมาดำเนินคดี แจ้งเป็นหลักฐานไม่ให้คดีขาดอายุความ ไม่ใช่การร้องทุกข์ คำพิพากษาฏีกา ๙๕๘/๒๕๑๔, ๑๗๑๓/๒๕๑๔
๓. ขอดูจำเลยก่อน ถ้าย้อนมาอีกก็จะเอาเรื่อง ถ้าไม่มาอีกก็แล้วไป ไม่ใช่การร้องทุกข์ คำพิพากษาฏีกา ๒๒๐๖/๒๕๒๒
๔.นำความเพื่อชะลอการดำเนินคดีไว้ก่อน หากไม่ชำระเงินจะได้มาแจ้งความดำเนินคดีต่อ จึงมาแจ้งไว้เป็นหลักฐาน ไม่ใช่การร้องทุกข์ คำพิพากษาฏีกา ๓๙๑/๒๕๒๗
๕.ขอแจ้งความให้ดำเนินคดีแก่ผู้ต้องหาให้ถึงที่สุด แต่ในชั้นนี้ยังไม่ขอมอบคดีโดยขอไปติดต่อทวงถามด้วยตนเอง ถ้าได้รับการปฏิเสธจะกลับมามอบคดีให้พนักงานสอบสวนดำเนินคดีจนถึงที่สุด จึงขอลงประจำวันไว้เป็นหลักฐาน ไม่ใช่การร้องทุกข์ คำพิพากษาฏีกา ๓๑๔/๒๕๒๙
๖.แจ้งความเพื่อประสงค์ให้จำเลนรับโทษตามกฎหมาย แต่ขอรับเช็คคืนไปเพื่อดำเนินการฟ้องร้องจำเลยและผู้เกี่ยวข้องในทางศาลต่อไป โดยไม่ขอมอบคดีให้พนักงานสอบสวน แสดงไม่เจตนาให้พนักงานสอบสวนทำการสอบสวน ไม่ใช่การแจ้งความร้องทุกข์ คำพิพากษาฏีกา ๑๔๗๘/๒๕๓๐
๗.มอบอำนาจให้ร้องทุกข์ดำเนินคดีกับผู้จัดการห้างหุ้นส่วนในความผิดต่อส่วนตัว ผู้รับมอบอำนาจไม่ได้แจ้งความร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีกับผู้จัดการห้างหุ้นส่วน แต่ไปดำเนินคดีกับห้างหุ้นส่วน เป็นการไม่ชอบเพราะผู้รับมอบอำนาจไม่ใช่ผู้เสียหายที่จะร้องทุกข์ในความผิดต่อส่วนตัวได้ พนักงานสอบสวนไม่มีอำนาจสอบสวน คำพิพากษาฏีกา ๓๓๐/๒๕๓๓
๘หนังสือ.มอบอำนาจระบุว่า มอบอำนาจให้แจ้งความเรื่องเช็คคืน ไม่ได้ระบุว่าให้ดำเนินคดีกับจำเลย และที่มาแจ้งความเพื่อไม่ต้องการให้คดีขาดอายุความ ไม่เป็นการร้องทุกข์ ถือได้ว่าไม่มีการร้องทุกข์ เมื่อไม่มีการร้องทุกข์ ป.ว.อ. มาตรา ๑๒๑ วรรค สอง ห้ามไม่ให้ทำการสอบสวนในความผิดต่อส่วนตัวที่ไม่ได้มีการร้องทุกข์ การสอบสวนของพนักงานสอบสวนจึงไม่ชอบ พนักงานอัยการไม่มีอำนาจฟ้อง คำพิพากษาฏีกา ๒๒๘/๒๕๔๔
ข้อสังเกต ๑.การร้องทุกข์เป็นการกล่าวหาต่อเจ้าหน้าที่ ว่ามีผู้กระทำความผิดที่มีโทษทางอาญา ซึ่งก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้เสียหาย โดยผู้เสียหายมีเจตนาจะให้ผู้กระทำผิดได้รับโทษ
๒. ร้องทุกข์ระบุชื่อคนอื่นแต่ไม่ระบุชื่อจำเลยแสดงไม่มีเจตนาให้จำเลยได้รับโทษ ไม่ใช่การร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีกับจำเลย แต่หากร้องทุกข์ระบุว่าให้ดำเนินคดีกับนาย ป. และพวก ตามที่การสอบสวนปรากฏ เมื่อทางการสอบสวนปรากฏว่าจำเลยร่วมกระทำความผิดกับนาย ป. ดังนี้ถือร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีกับจำเลยด้วย
๓. การแจ้งความเพื่อเป็นหลักฐาน หรือเพื่อไม่ให้คดีขาดอายุความ หรือเพื่อชะลอการดำเนินคดีไว้ก่อน หากไม่มีเงินจะดำเนินคดีต่อ หรือแจ้งความแต่ไม่ประสงค์ให้จับกุมผู้กระทำผิด หรือขอรอดูก่อนหากจำเลยไม่กลับมายุ่งเกี่ยวอีกก็แล้วไป หรือขอแจ้งความให้ดำเนินคดีแก่ผู้ต้องหาให้ถึงที่สุด แต่ในชั้นนี้ยังไม่ขอมอบคดีโดยขอไปติดต่อทวงถามด้วยตนเอง ถ้าได้รับการปฏิเสธจะกลับมามอบคดีให้พนักงานสอบสวนดำเนินคดีจนถึงที่สุด จึงขอลงประจำวันไว้เป็นหลักฐาน เหล่านี้ ไม่ใช่การร้องทุกข์เพราะไม่มีเจตนาให้ผู้กระทำผิดได้รับโทษ และไม่มีเจตนาให้ทำการสอบสวนต่อไป
๔.การร้องทุกข์ที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายในตอนแรก หากมาแจ้งความร้องทุกข์ใหม่ภายในเวลา ๓ เดือนนับแต่ความผิดเกิดและรู้ตัวผู้กระทำผิด แม้การร้องทุกข์ครั้งแรกไม่ชอบด้วยกฎหมาย แต่การร้องทุกข์ครั้งหลังชอบด้วยกฎหมาย ถือพนักงานสอบสวนมีอำนาจในการสอบสวน พนักงานอัยการมีอำนาจฟ้องคดี แต่หากการร้องทุกข์ครั้งแรกไม่ชอบด้วยกฎหมายแล้วมาร้องทุกข์ใหม่หลัง ๓ เดือนนับแต่ความผิดเกิดและรู้ตัวผู้กระทำผิด คดีขาดอายุความร้องทุกข์ พนักงานสอบสวนไม่มีอำนาจสอบสวน พนักงานอัยการไม่มีอำนาจในการฟ้อง
๕.การแจ้งความที่ไม่ใช่การแจ้งความร้องทุกข์ตามข้อสังเกตที่ ๓ นั้น เมื่อไม่ใช่การแจ้งความร้องทุกข์มอบคดีให้พนักงานสอบสวนทำการสอบสวนแล้ว หากพนักงานสอบสวนไม่ทำการสอบสวนต่อไปจะถือพนักงานสอบสวนละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบตาม ป.อ. มาตรา ๑๕๗ หาได้ไม่ ในความเห็นส่วนตัวเห็นว่าไม่มีความจำเป็นที่พนักงานสอบสวนจะต้องทำการสอบสวนไปจนสิ้นกระแสความแล้วมีคำสั่งไม่ฟ้องผู้ต้องหาเพราะผู้เสียหายแจ้งความร้องทุกข์ไม่ถูกต้องตามกฎหมาย แล้วส่งสำนวนให้พนักงานอัยการพิจารณาอีกทีว่าการสั่งไม่ฟ้องของพนักงานสอบสวนถูกต้องตามกฏหมายหรือไม่ หากพนักงานสอบสวนจะกระทำการดังนี้แล้วสู้เรียกผู้เสียหายมาสอบถามและอธิบายข้อกฏหมายให้ผู้เสียหายเข้าใจว่าการร้องทุกข์ต้องมีการมอบคดีให้พนักงานสอบสวนทำการสอบสวนโดยร้องทุกข์เพื่อต้องการให้ผู้กระทำผิดได้รับโทษ มิใช่เห็นว่าร้องทุกข์ไม่ชอบแล้วก็นิ่งเฉยหรือทำสำนวนแล้วสั่งไม่ฟ้องส่งมาให้พนักงานอัยการ แต่ควรเรียกผู้เสียหายมาทำความเข้าใจในข้อกฎหมายแล้วสอบถามความประสงค์ว่าต้องการดำเนินคดีเพื่อให้ผุ้ต้องหาได้รับโทษหรือไม่ จึงจะเรียกว่า เป็นผู้บำบัดทุกข์บำรุงสุขของประชาชนโดยแท้
๖.การที่พนักงานสอบสวนรู้ว่าร้องทุกข์ไม่ชอบแล้วยังนิ่งเฉยแล้วทำสำนวนสั่งไม่ฟ้องส่งมาที่พนักงานอัยการ คนภายนอกอาจมองว่าพนักงานสอบสวนมีเจตนาช่วยผู้ต้องหาหรือไม่อย่างไร เมื่อรู้ว่าร้องทุกข์ไม่ชอบด้วยกฎหมายต้องเรียกผู้เสียหายมาอธิบายข้อกฎหมายให้เข้าใจ หากผู้เสียหายยังประสงค์ที่จะแจ้งความดำเนินคดีตามข้อสังเกตที่ ๓ อีก ก็เป็นเรื่องช่วยไม่ได้แล้ว เพราะเป็นความผิดต่อส่วนตัว หากผู้เสียหายไม่ร้องทุกข์ พนักงานสอบสวนก็ไม่สามารถยกคดีขึ้นดำเนินคดีเองได้
๗.ในส่วนของพนักงานอัยการก็เช่นกันมิใช่ว่าเห็นว่าการร้องทุกข์มาไม่ชอบแล้วจะด่วนสั่งยุติการดำเนินคดีหรือสั่งไม่ฟ้องทันทีเพราะการร้องทุกข์ไม่ชอบ แต่ต้องดูว่ายังอยู่ในอายุความร้องทุกข์ ๓ เดือนนับแต่ความผิดเกิดและรู้ตัวผู้กระทำผิดหรือไม่ หากยังอยู่ในอายุความร้องทุกข์ ต้องสั่งสอบสวนเพิ่มเติมให้พนักงานสอบสวนสอบถามผู้เสียหายว่าประสงค์ให้ดำเนินคดีกับผู้ต้องหาหรือไม่ หากประสงค์ที่จะดำเนินคดีให้แจ้งความร้องทุกข์มาใหม่ภายในอายุความร้องทุกข์
๘.มอบอำนาจให้มาร้องทุกข์กับหุ้นส่วนผู้จัดการ แต่ผู้รับมอบอำนาจไปร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีกับห้างหุ้นส่วนจำกัด เป็นการกระทำที่เกินเลยในใบมอบอำนาจ ไม่มีอำนาจร้องทุกข์กับห้างหุ้นส่วนได้ ถือไม่ได้ว่ามีการร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีกับห้างหุ้นส่วน และเมื่อไม่มีการร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีกับหุ้นส่วนผู้จัดการแล้ว พนักงานสอบสวนไม่มีอำนาจสอบสวน พนักงานอัยการไม่มีอำนาจฟ้องดำเนินคดีกับหุ้นส่วนผู้จัดการได้ และในขณะเดียวกันผู้รับมอบอำนาจไม่ใช่ผู้เสียหายที่จะไปร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีกับห้างหุ้นส่วนจำกัดได้ พนักงานสอบสวนจึงไม่มีอำนาจสอบสวนในความผิดที่เกี่ยวกับห้างหุ่นส่วนจำกัดได้ พนักงานอัยการไม่มีอำนาจฟ้อง ส่วนที่ผู้รับมอบอำนาจต้องรับผิดต่อผู้มอบอำนาจอย่างไรก็เป็นไปตามบทบัญญัติเรื่องตัวการตัวแทนต่อไป ในกรณีนี้เป็นความละเอียดรอบคอบที่พนักงานสอบสวนต้องมีและตรวจสอบเอกสารให้ละเอียดว่ามอบอำนาจให้ดำเนินคดีกับใคร ผู้รับมอบอำนาจมีอำนาจในการแจ้งความดำเนินคดีกับใคร มิใช่ให้ตำรวจยศประทวนมารับแจ้งความร้องทุกข์ตามที่สถานีตำรวจบางแห่งทำกันแล้วพนักงานสอบสวนมาลงชื่อทีหลัง เมื่อพนักงานสอบสวนลงชื่อแล้วก็ต้องถือรับรู้ เมื่อรู้ว่าแจ้งความผิดตัวเป็นหน้าที่พนักงานสอบสวนต้องสอบถามความประสงค์ของผู้มอบอำนาจและผู้รับมอบอำนาจว่าประสงค์ดำเนินคดีกับใครอย่างไร การรับแจ้งความร้องทุกข์ทั้งที่รู้ว่าร้องทุกข์ผิดคนแล้วยังรับคำร้องทุกข์ถือเป็นความบกพร่องอย่างร้ายแรงของพนักงานสอบสวน เพราะพนักงานสอบสวนเป็นวิชาชีพพิเศษที่ต้องมีความรู้ความสามารถผิดไปจากวิชาชีพอื่น จะอ้างผิดพลาดพลั้งไปคงไม่สามารถอ้างได้ เพราะผู้ประกอบวิชาชีพนี้ต้องมีความละเอียด ในความเห็นส่วนตัวเห็นว่าเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยไม่ชอบด้วยกฎหมายในประการที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่บุคคลหนึ่งบุคคลใดตาม ป.อ. มาตรา ๑๕๗ และถือเป็นการกระทำละเมิดในทางแพ่งซึ่งต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายให้แก่ผู้เสียหายด้วย และในกรณีดังกล่าวหากสำนวนมาถึงพนักงานอัยการพนักงานอัยการไม่ตรวจให้ดีว่าผู้ร้องทุกข์มีอำนาจหรือไม่เพียงใด มอบอำนาจให้ร้องทุกข์กับใคร ร้องทุกข์ถูกต้องกับตัวบุคคลที่ได้รับมอบอำนาจหรือไม่ หากยังอยู่ในอายุความร้องทุกข์ พนักงานอัยการต้องสั่งสอบสวนเพิ่มเติมให้ดำเนินการร้องทุกข์เสียใหม่ให้ตรงตามหนังสือมอบอำนาจ และให้สอบถามผู้เสียหายว่าประสงค์ที่จะดำเนินคดีกับห้างหุ้นส่วนด้วยหรือไม่อย่างไร หากประสงค์ดำเนินคดีกับห้างด้วยก็ให้แจ้งความร้องทุกข์มาใหม่ภายในอายุความร้องทุกข์ แต่หากพนักงานสอบสวนส่งสำนวนมาเลยอายุความร้องทุกข์ ๓ เดือนนับแต่ความผิดเกิดและรู้ตัวผู้กระทำผิดแล้ว ก็ต้องสั่งสำนวนไปตามรูปคดี
๙.หรือในกรณีมอบอำนาจให้ดำเนินคดีกับห้างหุ้นส่วนแต่ผู้รับมอบอำนาจไปแจ้งความดำเนินคดีกับหุ้นส่วนผู้จัดการ แล้วพนักงานสอบสวนรับแจ้งความร้องทุกข์มา ผลก็เหมือนข้อสังเกตที่ ๘.
๑๐.หนังสือมอบอำนาจระบุเพียง แจ้งความรับเช็คคืน โดยไม่มีข้อความตอนใดระบุว่าแจ้งความเพื่อให้จำเลยได้รับโทษ ไม่ใช่การร้องทุกข์โดยชอบด้วยกฎหมาย ถือไม่มีการร้องทุกข์ เมื่อเป็นความผิดต่อส่วนตัวพนักงานสอบสวนจะทำการสอบสวนโดยไม่มีการร้องทุกข์ก่อนไม่ได้ ต้องห้ามตาม ป.ว.อ. มาตรา ๑๒๑ วรรคสอง หากทำการสอบสวนถือสอบสวนดดยไม่ชอบ พนักงานอัยการไม่มีอำนาจฟ้อง

ไม่มีความคิดเห็น: