ค้นหาบล็อกนี้

วันพุธที่ 31 สิงหาคม พ.ศ. 2559

“เงินค่าจอดรถ”

๑.ขอเงินค่าจอดรถจากผู้เสียหายคนละ ๑๐ บาท ผู้เสียหายทั้งสองไม่ให้ จึงขู่จะต่อยผู้เสียหายที่ ๑ และเอามีดมาจ่อห่างไหล่ผู้เสียหายที่ ๒ ประมาณ ๗ ถึง ๘ นิ้ว แล้วพูดขู่ให้ส่งเงิน ผู้เสียหายเกิดความกลัวจึงยอมมอบเงินให้แม้ไม่ได้ขู่เข็ญมาแต่แรก และเงินที่เรียกเก็บก็เท่ากันทุกคันในราคา ๑๐ บาท ไม่ได้เรียกเก็บเกินกว่านี้ หากผู้จอดรถรายใดไม่ให้ก็ต้องไปจอดที่อื่น หากยืนยันจะจอดบริเวณที่เกิดเหตุจำเลยจึงขู่เข็ญทำร้าย ซึ่งผู้เสียหายสามารถตัดสินใจได้ว่า จะให้เงินจำเลยหรือไม่ก็ได้ หากไม่ให้เงินก็ต้องนำไปจอดที่อื่น มิเช่นนั้นอาจถูกทำร้ายตามที่จำเลยขู่ การขู่ของจำเลยเป็นการขู่โดยมีเงื่อนไข จำเลยไม่ได้มีเจตนาแย่งการครอบครองเงินของผู้เสียหายโดยตรง จึงไม่เป็นความผิดฐานลักทรัพย์ และไม่อาจเป็นความผิดฐานชิงทรัพย์ได้ แต่เป็นการข่มขืนใจผู้เสียหายให้ยอมให้หรือยอมจะให้ค่าจอดรถโดยขู่เข็ญว่าจะทำอันตรายแก่ชีวิตร่างกายจึงเป็นความผิดฐานกรรโชกทรัพย์ คำพิพากษาฏีกา ๓๐๕๘/๒๕๓๙
๒,จำเลย.เข้าไปขอเงินค่าจอดรถ ผู้เสียหายไม่ให้ จำเลยเร่งเครื่องรถให้ดังกว่าปกติและบอกไม่รับรองในความเสียหายของรถ แสดงเจตนาข่มขู่ผู้เสียหายให้ยอมให้ค่าจอดรถแก่จำเลย แม้ในครั้งแรกผู้เสียหายปฏิเสธไม่ให้จำเลยเฝ้ารถ แต่เมื่อถูกจำเลยข่มขู่ในภายหลังจนเกิดความกลัวจะเกิดความเสียหายแก่รถตนจึงยอมจ่ายเงิน เป็นผลต่อเนื่องโดยตรงที่ถูกขู่ เหตุการณ์ยังไม่ขาดตอน เป็นความผิดสำเร็จฐานกรรโชกทรัพย์แล้ว แม้โจทก์ไม่ได้ฏีกาขอให้ลงโทษในความผิดสำเร็จศาลก็วินิจฉัยได้โดยลงโทษได้ไม่เกินโทษที่ศาลอุทธรณ์กำหนดไว้ เป็นปัญหาเกี่ยวความสงบเรียบร้อย คำพิพากษาฏีกา ๑๗๙๖/๒๕๔๑
ข้อสังเกต๑. ความผิดฐานกรรโชกต้องมี การข่มขืนใจบุคคลอื่น เพื่อ
-ให้หรือยอมให้ตนหรือผู้อื่น ได้ประโยชน์ในลักษณะที่เป็นทรัพย์สิน
-โดยใช้กำลังประทุษร้าย หรือขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้ายกระทำต่อ
-ชีวิต ร่างกาย เสรีภาพ ชื่อเสียง ทรัพย์สิน ของผู้ถูกข่มขืนใจ หรือผู้อื่น
-จนผู้ถูกข่มขืนใจยอมกระทำตามที่ถูกข่มขืนใจ
๒.การที่ไม่ยอมจ่ายเงินแล้วต้องนำรถไปจอดที่อื่น แสดงว่าเจ้าของรถเกิดความกลัวว่าตนจะถูกทำร้ายหรืออาจเกิดอันตรายแก่รถได้จึงต้องย้ายไปจอดที่อื่น ทั้งที่จำเลยไม่มีอำนาจในการเรียกเก็บเงินค่าจอดรถ การที่จำเลยพูดขู่จะทำร้ายผู้เสียหายที่ ๑ และเอามีดมาจ่อห่างไหล่ผู้เสียหายที่ ๒ ประมาณ ๗ ถึง ๘ นิ้ว แล้วพูดขู่ให้ส่งเงิน ย่อมเป็นการขู่เข็ญด้วยประการใดๆโดยทำให้กลัวว่าอาจเกิดอันตรายแก่ชีวิตร่างกายหรือทรัพย์สิน(รถที่จะนำมาจอด)ของผู้ถูกข่มขืนใจนั้น จนผู้เสียหายผู้ถูกข่มขืนใจยอมส่งมอบทรัพย์(เงินค่าจอดรถ)ให้แก่คนร้ายไป ย่อมเป็นการกรรโชกทรัพย์โดยมีอาวุธ ตาม ปอ มาตรา ๓๐๙วรรคสอง
๓.การที่ผู้เสียหายยอมมอบทรัพย์ให้ ไม่ใช่การแย่งการครอบครองทรัพย์ของผู้เสียหาย แต่เป็นเรื่องผู้เสียหายยอมมอบให้แม้จะไม่เต็มใจก็ตาม จึงไม่ใช่การลักทรัพย์เพราะไม่มีการแย่งการครอบครอง แต่เป็นเรื่องผู้เสียหายมอบให้ เมื่อไม่ใช่ทรัพย์ถูกแย่งการครอบครองไปจากผู้เสียหาย จึงไม่มีการกระทำความผิดฐานลักทรัพย์เกิดขึ้น แม้จะมีการถูกบังคับขู่เข็ญก็ตาม เมื่อการกระทำดังกล่าวไม่เป็นความผิดฐานลักทรัพย์ แม้มีการใช้กำลังประทุษร้ายหรือขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้ายก็ไม่อาจเป็นความผิดฐานชิงทรัพย์โดยมีอาวุธตาม ปอ มาตรา ๓๓๕(๗),๓๓๙วรรคสอง ได้
๔.นอกจากนี้จำเลยยังกระทำความผิดฐานพาอาวุธ(มีด)ไปในเมืองหมู่บ้านทางสาธารณะโดยไม่มีเหตุอันควร ตาม ปอ มาตรา ๓๗๑ และศาลมีอำนาจริบมีดของกลางได้ตาม ปอ มาตรา ๓๗๑,๓๓(๑) หากเป็นข้อสอบไม่ตอบในประเด็นนี้คะแนนจะหายไป คำถามไม่ได้ถามว่าคำพิพากษาฏีกาตัดสินว่าอย่างไร แต่คำถามถามว่าข้อเท็จจริงตามคำถาม จำเลยกระทำผิดอะไร?
๕.แม้จำเลยจะเรียกเก็บเงินจากผู้เสียหายทั้งคนสองละ ๑๐ บาท เท่ากับที่เรียกเก็บจากบุคคลอื่นที่นำรถมาจอดก็ตาม แต่เมื่อจำเลยไม่มีอำนาจในการที่จะเรียกเก็บเงินค่ารถได้ ไม่ว่าจำเลยจะเรียกเก็บเงินค่าจอดรถคนละ ๑๐ บาท เท่ากับที่เรียกเก็บจากคนอื่นก็ตามหรือจะเรียกเก็บน้อยกว่าที่เรียกเก็บจากคนอื่นหรือเรียกเก็บสูงกว่าคนอื่นหรือไม่ก็ตาม ก็ไม่ใช่สาระสำคัญ สาระสำคัญอยู่ที่เมื่อผู้เสียหายที่จะนำรถมาจอดไม่ยอมให้เงินจำเลย จำเลยได้พูดขู่เข็ญว่าจะทำร้ายผู้เสียหายที่ ๑ และเอามีดมาจ่อห่างไหล่ผู้เสียหายที่ ๒ เป็นทำนองขู่เข็ญว่าหากไม่อยากจ่ายเงินก็ต้องนำรถไปจอดที่อื่น หากอยากจอดรถที่นี้ต้องจ่ายเงินค่าที่จอดรถเหมือนที่คนอื่นจ่ายไม่งั้นอาจเกิดอันตรายแก่ชีวิตร่างกายทรัพย์สิน(รถที่จอด)ได้ แม้ผู้เสียหายมีอำนาจตัดสินใจว่าจะมอบเงินค่าจอดรถให้จำเลยหรือจะไปจอดที่อื่นก็ตาม แต่เมื่อผู้เสียหายยอมมอบเงินเท่ากับว่าผู้เสียหายกลัวตามที่จำเลยขู่เข็ญแล้ว เมื่อผู้เสียหายยอมจ่ายค่าจอด การกระทำของจำเลยจึงเป็นการกรรโชกทรัพย์ผู้เสียหายโดยมีอาวุธแล้ว
๖.หรือแม้ในกรณีตามข้อเท็จจริงข้างต้น แม้จะใช้คำว่า “ ขอ” เช่น พูดว่า “ ขอเงิน” หากไม่ให้ไม่รับรองความปลอดภัย ก็เป็นการข่มขืนใจแล้ว ไม่จำต้องใช้คำพูดอื่นเพื่อบังคับหรือใช้กำลังทางกายภาพเพื่อบังคับ จะมาอ้างว่า เป็นการ “ ขอ” ไม่ใช่การบังคับขู่เข็ญไม่ได้ ซึ่งได้มีคำพิพากษาฏีกา ๓๖๕๖/๒๕๒๗วินิจฉัยไว้แล้วว่า แม้ใช้คำว่า “ ขอ” และ “ เพื่อบอกชื่อผู้จ้างฆ่า” หากไม่ให้ไม่รับรองความปลอดภัย เป็นความผิดฐานกรรโชกทรัพย์แล้ว ดังนั้นที่ขายสลากกินแบ่งรัฐบาลราคา ๑๐๐ บาทต่อฉบับซึ่งเกินกว่าราคาขายตามปกติ (๘๐ บาท) จะมาบอกว่าขอ ๒๐ บาท ก็เป็นการขายเกินราคาเป็นความผิดตามกฏหมายแล้วจะมาอ้างว่าเป็นการ “ ขอ” ไม่ได้ หรือจะมาเล่นคำแบบศรีธนนชัยว่า “ ขอข้าวชามหนึ่ง” เมื่อทานเสร็จแม่ค้ามาคิดเงินบอกว่า ไม่ได้ซื้อ แต่ “ ขอ” ดังนี้คงอ้างไม่ขึ้น แม้จะใช้คำว่า “ ขอ” แต่เมื่อนำมาประกอบพฤติการณ์อื่นแล้วการกระทำนั้นเป็นการขมขืนใจให้บุคคลอื่น ให้ ยอมให้ ยอมจะให้ ซึ่งทรัพย์สิน โดยขู่เข็ญว่าจะทำอันตรายแก่ชีวิต ร่างกาย เสรีภาพ ชื่อเสียงหรือทรัพย์สินของผู้ถูกขู่เข็ญหรือของบุคคลที่สามแล้ว การกระทำดังกล่าวย่อมเป็นความผิดฐานกรรโชกแล้ว
๗.เมื่อพูดถึงเรื่องสลากกินแบ่งรัฐบาลก็เกิดความคิดแวบขึ้นมาว่า กรณีซื้อสลากเลขสวย แม่ค้าบอกต้องซื้อจับคู่สลากเลขไม่สวย ทั้งที่ลูกค้าไม่ประสงค์จะซื้อเลขไม่สวยเพราะเพิ่งออกไปเมื่องวดที่แล้ว การบังคับว่าซื้อสลากเลขสวยต้องซื้อเลขไม่สวยด้วย แม้จะเป็นการบังคับขืนใจลูกค้าให้ยอมซื้อเพื่อให้ตนได้ประโยชน์ในลักษณะทรัพย์สินที่ตนสามารถขายสลากเลขไม่สวยไปด้วยนั้น แต่เมื่อไม่มีการใช้กำลังประทุษร้ายหรือขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้าย โดยขู่เข็ญว่าจะทำอันตรายต่อชีวิตร่างกาย ชื่อเสียง เสรีภาพ และทรัพย์สิน ผู้ถูกขู่เข็ญแล้วย่อมไม่เป็นความผิดฐานกรรโชกทรัพย์ และไม่ใช่การขมขืนใจให้กระทำการจำต้องซื้อสลากเลขไม่สวยคู่กับสลากเลขสวย เมื่อไม่มีการทำให้กลัวว่าจะเกิดอันตรายต่อชีวิต ร่างกาย เสรีภาพ ชื่อเสียงหรือทรัพย์สินของผู้ถูกข่มขืนใจหรือของผู้อื่น จนผู้ถูกข่มขืนใจจำต้องยอมกระทำการซื้อสลากเลขไม่สวยควบคู่กับสลากเลยสวย การกระทำดังกล่าวยังไม่เป็นความผิดตาม ปอ มาตรา ๓๐๙ และไม่ใช่การขายโดยหลอกลวงด้วยประการใดๆให้ผู้ซื้อหลงเชื่อในแหล่งกำเนิด สภาพ คุณภาพ หรือปริมาณของอันเป็นเท็จ ตาม ปอ มาตรา ๒๗๑ แต่เป็นเรื่องบังคับซื้อซึ่งยังไม่มีกฏหมายออกมาในเรื่องดังกล่าว
๗.ตามวัดดังๆมักมีเหตุการณ์แบบนี้บ่อย เช่นบอกที่จอดรถของวัดจอดฟรีแต่ขอให้ช่วยซื้อดอกไม้ ช่วยซื้อปลาซื้อนกซื้อเต่าไปปล่อย หากไม่ซื้อความปลอดภัยของรถจะเป็นอย่างไรไม่ทราบ อาจถูกปล่อยลมยาง รถอาจถูกขูด ครั้นจะไปหาที่จอดอื่นก็ไม่มีขับวนมาสี่ห้าเที่ยวยังหาที่จอดรถไม่ได้ เป็นช่องทางในการทำมาหากินของคนบางกลุ่ม ยิ่งเป็นวัดดังๆแถวรอบกรุงเทพด้วยแล้วปัญหามีมาก แม้แต่เพื่อนผมนำรถมาจอดข้างสนง.อัยการสูงสุด อาคารสนามหลวง จอดรถข้างกำแพงสนง.อัยการ มีคนขอเก็บเงินเพื่อนผมบอกไม่ให้ พอตอนเย็นจะกลับบ้านพบมีคนเอาก้านไม้ขีดอัดเข้าไปในรูกุญแจทั้งสองข้างและหยอดกาวตาช้าง ไม่สามารถไขประตูรถได้ ต้องไปจ้างช่างกุญแจมาเปิดรถต้องเปลี่ยนกุญแจรถใหม่ ไม่คุ้มเลยกับเงิน ๒๐ บาทที่ต้องจ่ายเพื่อคุ้มครองรถ
๘.การที่จำเลย.เข้าไปขอเงินค่าจอดรถจากผู้เสียหายแต่ ผู้เสียหายไม่ให้ จำเลยเร่งเครื่องรถให้ดังกว่าปกติและบอกไม่รับรองในความเสียหายของรถ เป็นการแสดงให้เห็นว่าหากไม่ยอมให้อาจเกิดอันตรายต่อผู้เสียหายหรือรถ โดยจำเลยใช้การเร่งเครื่องรถให้มีเสียงดังกว่าปกติ โดยใช้ความดังของเสียงที่เกิดจากการเร่งเครื่องเป็นเสมือนเครื่องมือหรืออาวุธที่จะข่มขู่ผู้เสียหายให้เกิดความกลัวว่าอาจเกิดอันตรายแก่ผู้เสียหายหรือรถของผู้เสียหายได้ การกระทำดังกล่าวแสดงเจตนาข่มขู่ผู้เสียหายให้ยอมให้ค่าจอดรถแก่จำเลย แม้ในครั้งแรกผู้เสียหายปฏิเสธไม่ให้จำเลยเฝ้ารถ แต่เมื่อถูกจำเลยข่มขู่ในภายหลังจนเกิดความกลัวจะเกิดความเสียหายแก่รถตนจึงยอมจ่ายเงิน เป็นผลต่อเนื่องโดยตรงที่ถูกขู่ เหตุการณ์สืบเนื่องต่อเนื่องยังไม่ขาดตอนจากการเร่งเครื่องยนต์เพื่อขู่ผู้เสียหาย เป็นความผิดสำเร็จฐานกรรโชกทรัพย์แล้ว ไม่ใช่เป็นเพียงลงมือกระทำความผิดแล้ว แต่การกระทำไม่ตลอด หรือกระทำไปตลอดแล้วแต่การกระทำไม่บรรลุผลอันจะเป็นความผิดฐานพยายามแต่อย่างใดไม่ เพราะผู้เสียหายยอมจ่ายเงินให้จำเลย แม้โจทก์ไม่ได้ฏีกาขอให้ลงโทษในความผิดสำเร็จศาลก็วินิจฉัยได้โดยลงโทษได้ เป็นเรื่องการปรับบทกฎหมายให้ถูกต้อง ไม่เป็นการพิพากษาเกินคำขอหรือที่โจทก์ไม่ประสงค์ขอให้ลงโทษ เพราะโจทก์บรรยายฟ้องมาแล้วมีคำขอท้ายฟ้องมาแล้ว จึงไม่เป็นการพิพากษาเกินคำขอหรือที่ไม่ได้กล่าวมาในฟ้อง เพียงแต่ศาลพิพากษาลงโทษได้เพียงไม่เกินโทษที่ศาลอุทธรณ์กำหนดไว้ เท่านั้น ปัญหาว่าการกระทำดังกล่าวเป็นความผิดสำเร็จหรือเป็นความผิดฐานพยายาม การกระทำต่อเนื่องหรือขาดตอนกันหรือไม่อย่างไร เป็นปัญหาเกี่ยวความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกายกขึ้นพิจารณาเองเพื่อปรับบทให้ถูกต้องได้ แต่จะลงโทษเกินโทษที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาแล้วไม่ได้ เพราะโจทก์ไม่ได้อุทธรณ์ขอให้ลงโทษสูงขึ้นในเรื่องดังกล่าว

ไม่มีความคิดเห็น: