ค้นหาบล็อกนี้

วันพุธที่ 31 สิงหาคม พ.ศ. 2559

“ชำเรากับนายอำเภอดีกว่าชำเรากับชาวบ้าน”

โจทก์จำเลยทะเลาะกันด่ากันด้วยคำหยาบ ตอนหนึ่งจำเลยกล่าวว่า “ โจทก์เอาหนังสือไปให้นายอำเภอ โจทก์ชำเรากับนายอำเภอ” โจทก์ย้อนด่าว่า ชำเรากับนายอำเภอดีกว่าชำเรากับชาวบ้าน “ โจทก์จำเลยด่าวว่ากัน โดยโจทก์ตั้งเรื่องมาก่อน และไม่ได้ถือเอาคำด่าจำเลยเป็นเรื่องสำคัญ กลับยอมรับตามที่จำเลยกล่าวอ้างแล้วย้อนตอบจำเลย ไม่เป็นหมิ่นประมาท คำพิพากษาฏีกา ๒๒๓/๒๔๗๓
ข้อสังเกต ๑. การทำให้ผู้อื่นถูกดูแคลน เหยียดหยาม ทำให้อาย ด่าหรือสบประมาทเป็นการ ดูหมิ่น การด่าไม่ทำให้ผู้ถูกดูหมิ่น ถูกด่า เสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น ถูกเกลียดชัง ตรงกันข้ามกับทำให้คนด่า เสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น ถูกเกลียดชังเสียเองที่ใช้คำพูดไม่สุภาพ หยาบคาย ไม่เป็นผู้ดี เป็นที่ดูหมิ่นดูแคลนของคนที่ได้ยิน การดูหมิ่นจึงอาจไม่เป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทไปได้ แต่ในทางกลับกัน การดูหมิ่นดูแคลนบุคคลอื่นต่อบุคคลที่สามด้วยถ้อยคำหยาบคาย ย่อมเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทได้
๒. ถ้อยคำที่ว่า “ กระทำชำเรากับนายอำเภอ” หากไปพูดกับบุคคลอื่นว่า ผู้เสียหายซึ่งเป็นหญิงสาวไปกระทำชำเรากับนายอำเภอ ซึ่งเป็นชายอื่นที่ไม่ได้ทำการสมรสให้ถูกต้องตามประเพณีกับนายอำเภอ ย่อมทำให้ผู้เสียหายได้รับความเสียหาย ถูกดูหมิ่นถูกเกลียดชังจากคนที่ได้ยินข้อความได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากนายอำเภอมีภรรยาอยู่แล้ว เท่ากับไปต่อว่าผู้เสียหายเป็นชู้กับนายอำเภอซึ่งสังคมไทยไม่ยอมรับในเรื่องนี้ หรือหากผู้เสียหายมีสามีอยู่แล้วยังไปร่วมประเวณีกับนายอำเภอ หรือทั้งนายอำเภอและผู้เสียหายก็มีคู่ครองอยู่แล้วได้มาร่วมประเวณีกันย่อมเป็นที่ดูหมิ่นดูแคลนแก่คนที่ได้ยินข้อความดังกล่าวนี้เป็นถ้อยคำหมิ่นประมาท
๓. แต่จากการที่จำเลยด่า ผู้เสียหายว่า “ไปกระทำชำเรากับนายอำเภอ” แต่ผู้เสียหายกลับโต้ตอบว่า “กระทำชำเรากับนายอำเภอดีกว่าไปกระทำชำเรากับชาวบ้าน” เท่ากับผู้เสียหายยอมรับว่าไปชำเราจริง และยังโต้ตอบว่าดีกว่าไปชำเรากับชาวบ้าน ถือว่าทั้งโจทก์และจำเลย ไม่ได้ถือเอาคำด่าเป็นข้อสำคัญเพราะต่างฝ่ายต่างด่ากัน ถ้อยคำดังกล่าวจึงไม่ใช่การหมิ่นประมาท
๔.การที่โจทก์จำเลยต่างด่ากันด้วยคำหยาบถือว่าทั้งสองฝ่ายมีส่วนร่วมในการกระทำความผิดด้วยกันทั้งคู่จึงไม่ใช่ผู้เสียหายโดยนิตินัยที่จะมาแจ้งความร้องทุกข์หรือดำเนินคดีฟ้องร้องกับคู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งได้

ไม่มีความคิดเห็น: