ค้นหาบล็อกนี้

วันอังคารที่ 23 สิงหาคม พ.ศ. 2559

“พยานหลักฐาน”

.๑. ประกาศคณะกรรมการจังหวัด ส.ไม่ใช่ข้อกฏหมาย แม้กรรมการจังหวัด ส.ได้ส่งประกาศนั้นมาที่ศาล ก็เป็นการแจ้งให้ผู้พิพากษาและเสมียนศาลทราบเท่านั้น ไม่ใช่การอ้างส่งเป็นพยานในสำนวน แม้ผู้พิพากษาจะทราบประกาศนั้นก่อน ก็จะยกมาใช้ในสำนวนไม่ได้ เมื่อโจทก์ไม่อ้างส่งประกาศเป็นพยาน ก็ทราบไม่ได้ว่าประกาศที่โจทก์กล่าวมาในฟ้องอาศัยอำนาจกฎหมายใด เพราะกฎหมายให้อำนาจคณะกรรมการออกกฎหมายได้หลายฉบับ ถ้าอำนาจที่อ้างไม่ตรงกับประกาศก็ใช้ไม่ได้ คณะกรรมการไม่มีอำนาจออกประกาศตามอำเภอใจ แม้จำเลยรับสารภาพก็ลงโทษจำเลยไม่ได้ เมื่อไม่อ้างประกาศนั้นเป็นพยาน ก็ยังไม่เป็นที่พอใจว่าจำเลยได้กระทำผิดตามกฎหมายที่โจทก์อ้างมา คำพิพากษาฏีกา ๙๘๗/๒๔๙๑
๒.คำแปลภาษาต่างประเทศที่แปลเป็นภาษาไทย ไม่ใช่เอกสารที่คู่ความอ้างส่งในคดี จึงไม่อยู่ในบังคับการอ้างเอกสารเป็นพยาน เป็นหน้าที่คู่ความทั้งสองฝ่าย ต้องร่วมกันสื่อความหมายของข้อความนั้นให้ศาลได้ความตรงหรือใกล้เคียงความหมายที่แท้จริงของข้อความภาษาต่างประเทศให้มากที่สุด หากแปลไม่ถูกต้องคู่ความทั้งสองฝ่ายหรือฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งต้องขอแก้ก่อนมีคำพิพากษา คำพิพากษาฏีกา ๓๖๙๘/๒๕๔๕
ข้อสังเกต ๑. ความรู้ ความเห็น ความเข้าใจ ของผู้พิพากษาไม่ใช่พยานหลักฐานในสำนวนที่ผู้พิพากษาจะยกขึ้นมาวินิจฉัยได้โดยโจทก์ไม่ต้องนำสืบ แม้ผู้พิพากษาจะรู้อยู่ว่าจำเลยเป็นคนทำผิด แต่ก็เป็นเพียงสิ่งที่รู้อยู่ภายในตัวผู้พิพากษา ไม่ใช่พยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบ จึงไม่อาจนำมาลงโทษจำเลยได้ เพราะความรู้ ความเข้าใจ ความเห็นของผู้พิพากษาไม่ใช่ข้อเท็จจริงที่รู้กันอยู่ทั่วไป หรือไม่อาจโต้แย้งได้ หรือเป็นเรื่องที่คู่ความยอมรับตาม ป.ว.อ. มาตรา ๑๕ ป.ว.พ. มาตรา ๘๔ ไม่ใช่กรณีดวงอาทิตย์ขึ้นทางตะวันออก และตกทางตะวันตกที่โจทก์ไม่ต้องนำสืบ ทั้งในคดีอาญาโจทก์มีหน้าที่นำพยานหลักฐานมาสืบจนศาลแน่ใจว่า มีการกระทำผิดจริงและจำเลยเป็นผู้กระทำผิด หากมีข้อสงสัยตามสมควรศาลต้องยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้จำเลยตาม ป.ว.อ. มาตรา ๒๒๗ ดังนั้นแม้ประกาศของคณะกรรมการจังหวัด ผู้พิพากษาเจ้าของสำนวนจะทราบถึงข้อความในประกาศดังกล่าวก็ตาม แต่เมื่อประกาศดังกล่าวไม่ใช่กฎหมาย จะถือว่าศาลทราบประกาศดังกล่าวไม่ได้ แม้คณะกรรมการจังหวัดจะส่งประกาศให้ศาลทราบก็เป็นเรื่องที่คณะกรรมการจังหวัดเป็นผู้นำส่ง ไม่ใช่เป็นพยานเอกสารที่โจทก์นำส่งและนำสืบถึงข้อความในเอกสารดังกล่าวไม่ เมื่อโจทก์ไม่นำสืบ แม้จำเลยรับสารภาพศาลก็ลงโทษจำเลยไม่ได้
๒.คำแปลภาษาต่างประเทศไม่ใช่พยานเอกสาร แต่พยานเอกสารคือเอกสารต่างประเทศ คำแปลเป็นเพียงการอธิบายหรือสื่อความหมายให้ศาลเข้าใจว่าเอกสารดังกล่าวมีความหมายยังไง ศาลไม่รับฟังพยานเอกสารที่เป็นภาษาต่างประเทศ ดังนั้นผู้อ้างต้องทำคำแปลเพื่อให้ศาลและคู่ความอีกฝ่ายตรวจดูถึงความมีอยู่ถูกต้องแท้จริงและแปลตรงตามต้นฉบับเอกสาร เมื่อคำแปลภาษาต่างประเทศไม่ใช่พยานเอกสารจึงไม่จำต้อง
๒.๑ระบุไว้ในบัญชีพยานตาม ป.ว.พ. มาตรา ๘๘ ซึ่งในบทกฏหมายดังกล่าวบัญญัติไว้เฉพาะพยานหลักฐานที่จะสนับสนุนข้ออ้างหรือข้อเถียงของตนที่ต้องยื่นบัญชีระบุพยานต่อศาลก่อนวันสืบพยานไม่น้อยกว่า ๗ วัน พร้อมสำเนาบัญชีระบุพยานเพื่อให้คู่ความอีกฝ่ายรับไป
๒.๒ เมื่อคำแปลภาษาต่างประเทศ ไม่ใช่พยานเอกสาร ไม่ใช่พยานหลักฐาน จึงไม่อาจนำมาใช้ในการพิสูจน์ความผิดหรือใช้สนับสนุนข้อเถียงของตน เมื่อคำแปลไม่ใช่พยานเอกสารที่จะพิสูจน์ความผิดหรือนำมาเป็นข้อแก้ตัวให้พ้นผิดได้เพราะ คำแปลอาจแปลผิดแปลถูก หรือเจตนาแปลให้ความหมายผิดไปจากความหมายที่แท้จริง หรือเป็นภาษาต่างประเทศที่เป็นศัพท์เทคนิคมีความหมายแตกต่างไปจากความหมายทั่วไป คำแปลจึงเป็นเพียงเครื่องมือช่วย หรืออธิบายความหมาย หรือสื่อความหมายของภาษาต่างประเทศว่าหากเป็นเอกสารภาษาไทยแล้วมีความหมายอย่างไร
๒.๓ เมื่อไม่ใช่พยานเอกสาร จึงเป็นหน้าที่คู่ความทั้งสองฝ่ายต้องรักษาสิทธิ์ของตนในการตรวจคำแปลว่าแปลถูกต้องคาดเคลื่อนไปจากเอกสารต้นฉบับภาษาต่างประเทศหรือไม่อย่างไร ซึ่งไม่มีกฎหมายกำหนดว่าต้องทำการคัดค้านการแปลที่ไม่ถูกต้องภายในเวลาใด แต่ก็เป็นที่เข้าใจว่าต้องทำการคัดค้านก่อนที่ศาลจะมีคำพิพากษา เพราะหากไม่ทำการคัดค้านก่อนศาลมีคำพิพากษาต้องถือว่ายอมรับว่าคำแปลถูกต้องตามความเป็นจริง เมื่อศาลพิพากษาไปแล้วโดยนำคำแปลมาประกอบการพิจารณาพิพากษาแล้ว จะมาคัดค้านคำแปลพยานเอกสารต่างประเทศได้อย่างไร จะมาคัดค้านเพราะตนเสียประโยชน์จากคำพิพากษา แต่หากตนได้ประโยชน์ก็ไม่คัดค้าน ย่อมเป็นการเอาแต่ได้ฝ่ายเดียว ดังนั้นแม้ไม่มีกฏหมายบัญญัติว่าการคัดค้านคำแปลต้องกระทำภายในระยะเวลาใด ก็ย่อมเป็นที่เข้าใจว่าต้องกระทำก่อนศาลชั้นต้นมีคำพิพากษา จะมาคัดค้านหลังศาลชั้นต้นพิพากษาแล้วถือเป็นข้อที่ไม่ได้ว่ากันมาแล้วในศาลชั้นต้น ย่อมจะนำมาคัดค้านในศาลอุทธรณ์ ศาลฏีกาไม่ได้ต้องห้ามตาม ป.ว.พ. มาตรา ๒๒๕,๒๔๙, หรือ ป.ว.อ. มาตรา ๑๙๕หรือ ป.ว.อ. มาตรา ๑๙๕และ๒๒๕

ไม่มีความคิดเห็น: