ค้นหาบล็อกนี้

วันอาทิตย์ที่ 28 มกราคม พ.ศ. 2561

กลับหลักฎีกาใหม่และเรื่องควรรู้ เกี่ยวกับดอกเบี้ยเกินอัตรากฎหมายกำหนดในสัญญาเงินกู้

คำว่า ดอกเบี้ย สัญญากู้ยืมเงินเป็นนิติกรรม ๒ ฝ่าย เกิดขึ้นด้วยการแสดงเจตนาของคู่สัญญา ดังนั้น คู่สัญญาจะตกลงกันว่าจะคิดดอกเบี้ยหรือไม่ก็ได้ ถ้าตกลงกันว่าจะคิดดอกเบี้ย อัตราดอกเบี้ยที่ตกลง และวิธีการคิดดอกเบี้ยต้องไม่ฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติของกฎหมาย ข้อตกลงนั้นจึงจะใช้บังคับได้ ผู้กู้มีหน้าที่เสียดอกเบี้ย
ซึ่งมีข้อควรรู้พิจารณาอยู่ ๒ประการ 
๑.อัตราดอกเบี้ยที่กฎหมายกำหนด
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มีบทบัญญัติที่กำหนดอัตราดอกเบี้ยซึ่งนำมาใช้ในเรื่องกู้ยืมได้ ๒ มาตรา กล่าวคือ มาตรา ๗ ถ้าจะต้องเสียดอกเบี้ยแก่กันและมิได้กำหนดอัตราดอกเบี้ยไว้โดยนิติกรรมหรือโดยบทกฎหมายอันชัดแจ้ง ให้ใช้อัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี  และมาตรา ๒๒๔นี้เงินนั้น ท่านให้คิดดอกเบี้ยในระหว่างเวลาผิดนัดร้อยละเจ็ดกึ่งต่อปี ถ้าเจ้าหนี้อาจจะเรียกดอกเบี้ยได้สูงกว่านั้นโดยอาศัยเหตุอย่างอื่นอันชอบด้วยกฎหมาย ก็ให้คงส่งดอกเบี้ยต่อไปตามนั้น
  • กรณีตกลงเรื่องดอกเบี้ยแต่ไม่ได้กำหนดในสัญญา
กรณีจะใช้มาตรา ๗ คือกรณีที่ตกลงกันในสัญญาว่าการกู้ครั้งนั้นเสียดอกเบี้ย แต่ไม่ได้กำหนดอัตราดอกเบี้ยกันไว้ กฎหมายจึงบัญญัติตามมาตรา ๗ ให้ใช้ร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี
  • กรณีตกลงว่าไม่เสียดอกเบี้ย และต่อมาผิดนัด
กรณีตกลงกันว่าไม่เสียดอกเบี้ย คือไม่เสียดอกเบี้ยต่อกันในสัญญา แต่หากมีการผิดนัดลูกหนี้ต้องชำระดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดกึ่งต่อปี ตาม มาตรา ๒๒๔ ซึ่งจะผิดนัดเมื่อไหร่ถ้าไม่ปรากฎว่าเจ้าหนี้ทวงถามก็ให้ถือว่าผิดนัดเมื่อวันฟ้อง (ฎ๒๒๘๙/๒๕๕๐)
  • กรณีตกลงเสียอัตราดอกเบี้ยตามอัตราที่กฎหมายกำหนด 
กรณีตกลงว่าให้ใช้อัตราดอกเบี้ยตามกฎหมายกำหนด ตามมาตรา 654 ท่านห้ามมิให้คิดดอกเบี้ยเกินร้อยละสิบห้าต่อปี ถ้าในสัญญากำหนดดอกเบี้ยเกินกว่านั้น ก็ให้ลดลงมาเป็นร้อยละสิบห้าต่อปี ผลของมาตรานี้คือคู่สัญญาคิดดอกเบี้ยได้ในอัตราร้อยละ ๑๕ ถ้าคู่สัญญาตกลงไว้เกินให้ปรับลดมาเหลือร้อยละ ๑๕
แต่ต่อมาในภายหลังจากประกาศใช้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์เมื่อวันที่ ๑ เมษายน ๒๔๗๕ มี พระราชบัญญัติห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตราพ.ศ. ๒๔๗๕ และพรบ.ดังกล่าวถูกยกเลิกโดย( พระราชบัญญัติห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตราพ.ศ. ๒๕๖๐) ตามมาตรา ๓ และบัญญัติเนื้อหาสาระขึ้นใหม่ในมาตรา ๔ ผลในทางกฎหมาย ทำให้ข้อตกลงเรื่องเรียกดอกเบี้ยเกินอัตราไม่ชอบด้วยกฎหมายเป็นความผิดอาญาจึงโมฆะไปทั้งหมดเฉพาะดอกเบี้ย ซึ่งหากเป็นกรณีอัตราดอกเบี้เกินอัตรากฎหมายกำหนดมีผลเช่นไร
๒.อัตราดอกเบี้ยเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด
  • ดอกเบี้ยเกินกว่ากฎหมายกำหนด เป็นโมฆะทั้งหมดแต่ต้นเงินสมบูรณ์ ฟ้องเรียกต้นเงินคืนได้ฎ๑๓๖/๒๕๐๗
  • ผู้กู้คิดดอกเบี้ยล่วงหน้าแล้วนำไปรวมกับสัญญาเงินกู้ ฎ๘๑๖/๑๕๑๘ โมฆะแยกส่วน ดอกเบี้ยเป็นหนี้ไม่สมบูรณ์เป็นโมฆะ แต่ต้นเงินสมบูรณ์
ปัญหาที่เกิดขึ้นบ่อยคือกรณีผู้กู้ชำระดอกเบี้ยเกินอัตรากฎหมายกำหนดไปแล้วจะได้คืนหรือไม่
แต่เดิมแรวคำวินิจฉัยของศาลฎีกาส่วนใหญ่จะถือเป็นเรื่องที่ชำระด้วยความสมัครใจโดยรู้อยู่แล้วว่าตนไม่มีความผูกพันที่ต้องชำระคืน ฎ๑๗๔๗/๒๕๒๒ ฎ ๓๘๖๔/๒๕๒๔ ซึ่งใช้หลักกฎหมายตาม มาตรา ๔๐๗  บุคคลใดได้กระทำการอันใดตามอำเภอใจเหมือนหนึ่งว่าเพื่อชำระหนี้โดยรู้อยู่ว่าตนไม่มีความผูกพันที่จะต้องชำระ ท่านว่าบุคคลผู้นั้นหามีสิทธิจะได้รับคืนทรัพย์ไม่ ซึ่งมีผลให้ไม่สามารถเรียกคืนได้
แต่ต่อมาทีมงานทนายกฤษดาได้สืบค้นคำพิพากษาฎีกาที่ใช้ในการต่อสู้คดี พบว่ามีการวินิจฉัยในสาระสำคัญใหม่ของการการชำระดอกเบี้ยเกินอัตรากฎหมายกำหนด ให้นำเงินที่ชำระมาชำระคืนต้นเงินทั้งหมด
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2131/2560
โจทก์คิดดอกเบี้ยจากจำเลยร้อยละ 1.3 ต่อเดือน หรืออัตราร้อยละ 15.6 ต่อปี ซึ่งเป็นการคิดดอกเบี้ยเกินอัตราที่กฎหมายกำหนด อันเป็นการฝ่าฝืน พ.ร.บ.ห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ.2475 มาตรา 3 ประกอบ ป.พ.พ. มาตรา 654 มีผลให้ดอกเบี้ยดังกล่าวตกเป็นโมฆะ กรณีถือไม่ได้ว่าจำเลยชำระหนี้โดยจงใจฝ่าฝืนข้อห้ามตามกฎหมายหรือเป็นการกระทำอันใดตามอำเภอใจเสมือนหนึ่งว่าเพื่อชำระหนี้โดยรู้อยู่ว่าตนไม่มีความผูกพันตามกฎหมายที่ต้องชำระ อันจะเป็นเหตุให้จำเลยไม่มีสิทธิได้รับทรัพย์นั้นคืนตาม ป.พ.พ. มาตรา 407 เมื่อดอกเบี้ยของโจทก์เป็นโมฆะ เท่ากับสัญญากู้ยืมมิได้มีการตกลงเรื่องดอกเบี้ยกันไว้ โจทก์ไม่มีสิทธิได้ดอกเบี้ยก่อนผิดนัด และไม่อาจนำเงินที่จำเลยชำระแก่โจทก์มาแล้วไปหักออกจากดอกเบี้ยที่โจทก์ไม่มีสิทธิคิดได้ จึงต้องนำเงินที่จำเลยชำระหนี้ไปชำระต้นเงินทั้งหมด
บทสรุป
ซึ่งถือว่าศาลฎีกาวินิจฉัยในสาระสำคัญใหม่ของการการชำระดอกเบี้ยเกินอัตรากฎหมายกำหนด โดยสรุปได้ว่า ดอกเบี้ยของโจทก์เป็นโมฆะ เท่ากับสัญญากู้ยืมมิได้มีการตกลงเรื่องดอกเบี้ยกันไว้ โจทก์ไม่มีสิทธิได้ดอกเบี้ยก่อนผิดนัด และไม่อาจนำเงินที่จำเลยชำระแก่โจทก์มาแล้วไปหักออกจากดอกเบี้ยที่โจทก์ไม่มีสิทธิคิดได้ จึงต้องนำเงินที่จำเลยชำระหนี้ไปชำระต้นเงินทั้งหมด
เมื่อเป็นดอกเบี้ยเกินอัตรากฎหมายกำหนดเป็นโมฆะแล้วมีสิทธิคิดดอกเบี้ยเพราะเหตุผิดนัดหรือไม่ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์สัญญากู้ที่ดอกเบี้ยเกินอัตรา เป็นโมฆะตั้งแต่วันกู้แต่มีสิทธิคิดดอกเบี้ยนับแต่วันผิดนัดตามมาตรา ๒๒๔

วันอังคารที่ 2 มกราคม พ.ศ. 2561

"บุกรุก - 2"

๑๑. โจทก์จำเลย นำสืบพยานโต้แย้งสิทธิ์ในที่ดินพิพาท โดยโจทก์และจำเลยต่างฟ้องเป็นคดีแพ่งกล่าวอ้างว่าตนมีสิทธิ์ครอบครองในที่พิพาทอีกฝ่ายรุกล้ำขอให้ขับไล่ เรียกค่าเสียหาย ในระหว่างที่ยังโต้แย้งสิทธิ์ในที่พิพาทอยู่ จำเลยเข้าไปปักเสาขึงลวดหนามปลูกต้นผลไม้ในที่ดินพิพาทโดยเข้าใจว่าเป็นของจำเลย ไม่มีเจตนาเข้าไปกระทำการใดๆในอสังหาริมทรัพย์ของโจทก์อันเป็นการรบกวนการครอบครองอสังหาริมทรัพย์ของโจทก์โดยปกติสุข ไม่มีความผิดตาม ปอ มาตรา ๓๖๒ คำพิพากษาฏีกา ๒๒๖๔/๒๕๓๘
๑๒. โจทก์ยื่นคำร้องขอถอนฟ้องจำเลยที่ ๑ ที่๒ ที่ ๓ ในระหว่างการพิจารณาของศาลฏีกา จำเลยทั้งสามไม่คัดค้าน ข้อหาทำให้เสียทรัพย์ตาม ปอ มาตรา ๓๕๘,๓๕๙เป็นความผิดส่วนตัว โจทก์ขอถอนฟ้องในเวลาใดก่อนคดีถึงที่สุดได้ ศาลฏีกาจึงอนุญาตให้โจทก์ถอนฟ้อง สิทธิ์นำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์ระงับไปในข้อหาทำให้เสียทรัพย์ ตาม ปวอ มาตรา ๓๙(๒) แต่ข้อหาลักทรัพย์และบุกรุกตาม ปอ มาตรา ๓๓๕,๓๖๕ ไม่ใช่ความผิดต่อส่วนตัว ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษาแล้วจึงถอนฟ้องไม่ได้ โจทก์จำเลยที่ต่างนำสืบโต้แย้งกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทกันอยู่ ข้อเท็จจริงรับฟังไม่ได้ความชัดว่า ที่พิพาทเป้นของโจทก์หรือไม่ มูลกรณีจึงเป็นเรื่องแพ่งไม่ใช่เรื่องอาญา การกระทำของจำเลยที่ ๑ ที่ ๒ ที่ ๓ ตามที่โจทก์นำสืบหาว่าร่วมกันเข้าไปในที่ดินพิพาทแล้วตัดเอาดินและต้นไม้ไป จึงไม่เป็นความผิดฐานบุกรุกและลักทรัพย์คำพิพากษาฏีกา ๒๙๔/๒๕๓๗
๑๓.ที่ดินผู้เสียหายไม่มีแนวเขตที่แน่นอน จำเลยโต้เถียงตลอดมาว่า ที่ดินไม่ใช่ของผู้เสียหาย ขณะที่จำเลยเข้าไปก่อสร้างห้องแถวบ้านพักชั่วคราว ปักหลักกั้นรั่ว และก่อสร้างรั่วคอนกรีตในที่ดิน จำเลยจึงไม่รู้ว่าที่ดินอยู่ในเขตโฉนดที่ดินของโจทก์อันเป็นองค์ประกอบความผิดตาม ปอ มาตรา ๓๖๒ ซึ่งตาม ปอ มาตรา ๕๙วรรคสาม จะถือว่าจำเลยกระทำโดยประสงค์ต่อผลหรือเล็งเห็นผลไม่ได้ จึงไม่เป็นการกระทำโดยเจตนา ไม่มีความผิด คำพิพากษาฏีกา ๓๗๑๔/๒๕๔๐
๑๔. โจทก์ร่วมมีข้อพิพาทกับจำเลยเกี่ยวกับที่ดินพิพาทตั้งแต่ปี ๒๕๒๖ โจทก์ร่วมได้ยื่นฟ้องจำเลยเป็นคดีแพ่งหมายเลขดำที่ ๑๔๙/๒๕๔๒ของศาลชั้นต้น แม้คดีดังกล่าวมีประเด็นว่า จำเลยครอบครองที่พิพาทโดยมิชอบ อันเป็นการใช้สิทธิ์ตาม ปพพ มาตรา ๑๓๗๕ ไม่ได้มีประเด็นว่า โจทก์ร่วมถูกแย่งการครอบครองดังที่โจทก์ร่วมฏีกาก็ตาม แต่กรณีดังกล่าวถือได้ว่า เป็นการโต้แย้งเกี่ยวกับสิทธิ์ครอบครองที่ดินพิพาทว่า ผู้ใดเป็นผู้ครอบครองในที่พิพาท ดังนั้นในขณะเกิดเหตุดคีนี้ จำเลยเชื่อโดยชอบว่าจำเลยเป็นผู้มีสิทธิ์ครอบครองหรือเป็นเจ้าของที่ดินพิพาท จึงไม่มีเจตนาบุกรุกที่ดินพิพาทหรือทำให้เสียทรัพย์ ส่วนที่ดินพิพาทจะเป็นของผู้ใดเป็นผู้มีสิทธิ์ครอบครองนั้นเป็นเรื่องทางแพ่ง จำเลยไม่มีความผิดตามฟ้อง คำพิพากษาฏีกา๓๘๗๗/๒๕๕๑
๑๕. การที่จะเป็นความผิดฐานบุกรุก จะต้องกระทำโดยมีเจตนาบุกรุกด้วย คือ จำเลยต้องรู้ว่าที่ดินที่หาว่าจำเลยบุกรุกนั้นเป็นของผู้เสียหาย คดีนี้เกี่ยวกับการครอบครองที่ดินหรือความเป็นเจ้าของที่ดินที่หาว่าจำเลยบุกรุก โจทก์จำเลยยังนำสืบโต้แย้งกันอยู่ โดยโจทก์นำสืบว่าที่ดินเป้นของผู้เสียหาย ผู้เสียหายครอบครองที่ดินตลอดมาตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๒๕ จำเลยนำสืบว่าที่ดินเป็นของจำเลย จำเลยซื้อจาก ช. ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๓๗ จำเลยครอบครองตลอดมา ผู้เสียหายไม่ได้ครอบครอง ที่ดินไม่ใช่ของผู้เสียหาย แม้ทางราชการออกโฉนดที่ดินให้ผู้เสียหาย จำเลยก็นำสืบว่า โฉนดที่ดินออกมาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายซึ่งจำเลยไม่รู้มาก่อนและไม่ยอมรับว่าที่ดินเป็นของผู้เสียหาย เมื่อผู้เสียหายและจำเลยยังคงโต้เถียงความเป็นเจ้าของกันเช่นนี้ จึงเป็นเรื่องทางแพ่งฟังไม่ได้ว่ามีเจตนาบุกรุก ไม่เป็นความผิดฐานบุกรุก คำพิพากษาฏีกา ๓๔๙๐/๒๕๕๓
๑๖.นายอำเภอออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ นส๓ ก สำหรับที่พิพาทให้ ม และ ย ในปี ๒๕๒๐ ที่ดินพิพาทมีโรงสีและบ้านของ ม. ปลูกอยู่ โดยไม่มีชาวบ้านเข้าไปใช้ประโยชน์ใดๆในที่พิพาทในลักษณะที่เป็นสาธารณะมานานแล้วย่อมเป็นเหตุให้จำเลยเชื่อโดยสุจริตว่า ม และ ย มีสิทธิ์ครอบครองที่ดินพิพาทและจำเลยยอมเสียเงินค่าตอบแทนเป้นเงินสูงถึง ๑๒๐,๐๐๐ บาท ในการซื้อที่ดินมาจาก ม และ ย ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า จำเลยเข้าครอบครองที่พิพาทโดยไม่มีเจตนาบุกรุกที่ดินอันเป็นสาธารณะประโยชน์แต่อย่างใด แม้ต่อมาจำเลยจะได้ทราบหนังสือจากนายอำเภอว่าที่พิพาทเป็นส่วนหนึ่งของศาลาสระน้ำหนองซานางสาธารณะประโยชน์ซึ่งเป็นสาธารณะสมบัติของแผ่นดินก็เป็นเพียงหลักฐานที่ยังยันกันอยู่กับหนังสือรับรองการทำประโยชน์ สน๓ ก ที่เป็นเอกสารสิทธิ์ของที่ดินพิพาท ทั้งจำเลยก็ไม่ได้ออกไปจากที่ดินพิพาทและกลับเข้าไปยึดถือครอบครองใหม่ แต่ครอบครองที่ดินพิพาทด้วยเจตนาเดียวกันตลอดมาโดยจำเลยเข้าใจแต่ต้นว่าตนมีสิทธิ์ครอบครองในที่ดินพิพาทซึ่งไม่อาจถือได้ว่าจำเลยมีเจตนาบุกรุกที่ดินพิพาท การที่จำเลยอยู่ในที่ดินพิพาทตลอดมาด้วยเจตนาเดิมและด้วยกากรกระทำที่ไม่เป็นความผิดมาแต่แรก ไม่อาจถือว่าจำเลยเกิดเจตนาบุกรุกขึ้นมาใหม่หลังจากทราบจากนายอำเภอว่าที่พิพาทเป็นสาธารณะสมบัติของแผ่นดิน คำพิพากษาฏีกา๘๐๓๓/๒๕๕๓
๑๗.ระหว่างจำเลยทั้งสองถูกดำเนินคดีอาญาข้อหาบุกรุก จำเลยทั้งสองไม่ได้อยู่ในที่ดินพิพาท เมื่อศาลฏีกาพิพากษายกฟ้องจำเลยทั้งสอง จำเลยทั้งสองกลับเข้ามาในที่ดินพิพาทใหม่ จึงเป็นการกระทำที่เกิดขึ้นใหม่อีกครั้งหนึ่งหาใช่การบุกรุกในครั้งก่อนยังคงอยู่ตลอดมาไม่ ฟ้องของโจทก์ร่วมในคดีนี้ที่ฟ้องจำเลยทั้งสองในข้อหาบุกรุกอีกจึงไม่เป็นฟ้องซ้ำ โจทก์ร่วมกับจำเลยทั้งสองพิพาทกันเกี่ยวกับที่ดินพิพาทตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๓๔ ตลอดมา ต่างกล่าวอ้างว่าเป็นผู้มีสิทธิ์ในที่ดินพิพาท โดยโจทก์ร่วมกล่าวหาว่าจำเลยบุกรุก ส่วนจำเลยกล่าวหาว่าโจทก์ร่วมทำให้เสียทรัพย์ของจำเลยที่อยู่ในที่ดินพิพาทเสียหาย และจำเลยทั้งสองยังฟ้องโจทก์ร่วมกับพวกเป็นคดีแพ่งขอให้พิพากษาว่า จำเลยมีสิทธิ์ครอบครองในที่พิพาทดีกว่าโจทก์ ขณะที่จำเลยกลับเข้ามาในที่พิพาทใหม่นั้น คดีแพ่งอยู่ระหว่างการพิจารณาประกอบกับการเข้าไปในที่ดินพิพาทหลังจากศาลฏีกายกฟ้องในคดีที่จำเลยถูกกล่าวหาว่าบุกรุกที่ดินพิพาทในคดีอาญาก่อน แม้ที่พิพาทในคดีนี้มีเนื้อที่มากกว่าที่ดินในคดีเดิมที่ศาลฏีกายกฟ้องไปแล้วก็ตาม แต่ที่ดินในบริเวณนี้ยังไม่มีแนวเขตที่แน่ชัดแจ้งและเนื้อที่ดินที่จำเลยถูกฟ้องว่าบุกรุกในแต่ละครั้งก็มีเนื้อที่แตกต่างกันไม่มาก แสดงว่าจำเลยเข้าไปครอบครองที่ดินพิพาทด้วยความเชื่อมั่นอย่างสุจริตใจว่าจำเลยมีสิทธิ์เข้าไปครอบครองที่ดินพิพาทได้ อันเป็นการแสดงว่าจำเลยทั้งสองขาดเจตนาบุกรุกที่ดินพิพาท ไม่มีความผิดฐานบุกรุก คำพิพากษาฏีกา๗๓๓๐/๒๕๔๑
๑๘.แม้จำเลยทั้งสามร่วมกันใช้ให้ ว. นำป้ายที่มีข้อความว่า “ สถานที่ราชการห้ามบุกรุกโดยเด็ดขาด” เข้าไปติดในศาลาร้างซึ่งอยู่ในที่ดินพิพาทก็ตาม แต่จำเลยทั้งสามที่รับราชการในกระทรวงศึกษาธิการหลงเข้าใจโดยสุจริตคิดว่า บริเวณที่เกิดเหตุเป็นของโรงเรียนบ้านเกาะปูโหลน ในสังกัดการประถมศึกษาจังหวัดสตูล โดยจำเลยทั้งสามเชื่อว่าโจทก์ทั้งสี่ปักแนวรั่วบุกรุกที่ดินของโรงเรียน การกระทำของจำเลยทั้งสามเป็นการกระทำเพื่อรักษาผลประโยชน์ทางราชการ ขาดเจตนาที่จะถือการครอบครองหรือรบกวนการครอบครองอสังหาริมทรัพย์ของผู้อื่นโดยปกติสุขอันจะเป็นความผิดฐานบุกรุก ไม่เป็นความผิดตาม ปอ มาตรา ๓๖๒,๓๖๕(๒),๘๓ คำพิพากษาฏีกา ๖๒๑/๒๕๓๙
๑๙.ทรัพย์สินส่วนกลางของอาคารชุดเป็นทรัพย์สิน๙งเจ้าของอาคารชุดแต่ละห้องมีกรรมสิทธิ์ร่วมกัน การจัดการทรัพย์สินต้องเป็นไปตาม พรบ. อาคารชุดฯ มาตรา ๑๗,๓๓,๓๕,๓๖,๓๗ การที่จำเลยซึ่งเป็นผู้จัดการของนิติบุคคลอาคารชุดมีอำนาจจัดการและดูแลรักษาห้องน้ำชายหญิงซึ่งเป็นทรัพย์สินส่วนกลางได้ปิดกั้นประตูห้องน้ำไม่ให้โจทก์และเจ้าของห้องชุดคนอื่นซึ่งเป็นเจ้าของร่วมใช้ประโยชน์ หากเป็นการจัดการทรัพย์สินโดยไม่ชอบด้วย พรบงอาคารชุดฯ หรือข้อบังคับ โจทก์และเจ้าของอาคารชุดต้องดำเนินการแก่จำเลยทางมติที่ประชุมของเจ้าของห้องชุดหรือทางคณะกรรมการควบคุมการจัดการนิติบุคคลอาคารชุด การกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิดฐานบุกรุก คำพิพากษาฏีกา ๑๒๑๔/๒๕๔๙
๒๐.โจทก์ร่วมมีข้อพิพาทกับจำเลยเกี่ยวกับที่พิพาทตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๒๖ โจทก์ร่วมได้ยื่นฟ้องเป็นคดีแพ่งตามคดีหมายเลขดำที่ ๑๔๙/๒๕๔๒ของศาลชั้นต้น แม้คดีดังกล่าวมีประเด็นเพียงว่าจำเลยครอบครองที่ดินพิพาทโดยไม่ชอบอันเป็นการใช้สิทธิ์ตาม ปพพพ มาตรา ๑๓๗๕ ไม่ได้มีประเด็นว่า โจทก์ร่วมถูกแย่งการครอบครองดังที่โจทก์ร่วมฏีกาก็ตาม แต่กรณีดังกล่าวถือได้ว่า เป็นการโต้แย้งเกี่ยวกับสิทธิ์ครอบครองที่ดินพิพาทว่าผู้ใดเป็นผู้ครอบครองในที่ดินพิพาท ดังนั้นในขณะเกิดเหตุคดีนี้จำเลยเชื่อโดยชอบว่า จำเลยเป็นผู้มีสิทธิ์ครอบครองหรือเป็นเจ้าของที่ดินพิพาท จึงไม่มีเจตนาบุกรุกที่ดินพิพาทหรือทำให้เสียทรัพย์ ส่วนที่พิพาทจะเป็นของผู๔ใดหรือผู้ใดมีสิทธิ์ครอบครองนั้นเป็นเรื่องทางแพ่ง จำเลยไม่มีผิดตามฟ้อง คำพิพากษาฏีกา ๓๘๗๗/๒๕๕๑
ข้อสังเกต ต่อจากข้อสังเกต บุกรุกตอนที่ ๑
๑๕.กรณีที่มีการโต้แย้งในกรรมสิทธิ์ที่ดินที่อ้างว่ามีการบุกรุก โดยฝ่ายต่างต่างฟ้องเป็นคดีแพ่งกล่าวอ้างว่าตนมีสิทธิ์ครอบครองในที่พิพาทอีกฝ่ายรุกล้ำขอให้ขับไล่ เรียกค่าเสียหาย ในระหว่างที่ยังโต้แย้งสิทธิ์ในที่พิพาทอยู่ยังไม่มีคำพิพากษาถึงที่สุดตัดสินว่าที่พิพาทเป็นของฝ่ายใด แล้วฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเข้าไปปักเสาขึงลวดหนามปลูกต้นผลไม้ในที่ดินพิพาทโดยเข้าใจว่าเป็นของตน เป็นเรื่องการกระทำการที่ไม่รู้ข้อเท็จจริงอันเป็นองค์ประกอบความผิดฐานบุกรุกคือไม่ทราบข้อเท็จจริงว่าที่ดินที่ตนเข้าไปอยู่นั้นเป็นของบุคคลอื่น แต่เข้าใจโดยสุจริตว่าเป็นที่ดินของตน จึงถือไม่ได้ว่าการเข้าไปในที่พิพาทนั้นเป็นการกระทำโดยประสงค์ต่อผลหรือเล็งเห็นผลของการกระทำนั้น ถือได้ว่า ไม่มีเจตนาเข้าไปกระทำการใดๆในอสังหาริมทรัพย์ของโจทก์อันเป็นการรบกวนการครอบครองอสังหาริมทรัพย์ของโจทก์โดยปกติสุข ไม่มีความผิดตาม ปอ มาตรา ๓๖๒ ,๕๙วรรคสาม
๑๖. การถอนฟ้องความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์ตาม ปอ มาตรา ๓๕๘,๓๕๙ซึ่งเป็นความผิดต่อส่วนตัวตาม ปอ มาตรา ๓๖๑ สามารถขอถอนฟ้องในเวลาใดก่อนคดีถึงที่สุดได้ เมื่อมีการถอนฟ้องในระหว่างการพิจารณาของศาลฏีกา เมื่อจำเลยทั้งสามไม่คัดค้าน ศาลฏีกาอนุญาตให้โจทก์ถอนฟ้องได้ สิทธิ์นำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์ระงับไปในข้อหาทำให้เสียทรัพย์ ตาม ปวอ มาตรา ๓๕วรรคสอง,๓๙(๒) ,
๑๗.แต่ข้อหาลักทรัพย์และบุกรุกตาม ปอ มาตรา ๓๓๕,๓๖๕ ไม่ใช่ความผิดต่อส่วนตัวแต่เป็นคดีอาญาแผ่นดิน การถอนฟ้องต้องกระทำก่อนศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาตาม ปวอ มาตรา ๓๕ วรรคแรก คดีนี้ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษาแล้วจึงถอนฟ้องไม่ได้
๑๘.เมื่อโจทก์จำเลยที่ต่างนำสืบโต้แย้งกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทกันอยู่ ข้อเท็จจริงรับฟังไม่ได้ความชัดว่า ที่พิพาทเป็นของใคร จึงไม่อาจชี้ชัดว่าจำเลยบุกรุกที่ดินของโจทก์หรือไม่ มูลกรณีจึงเป็นเรื่องแพ่งไม่ใช่เรื่องอาญา การกระทำของจำเลยที่ ๑ ที่ ๒ ที่ ๓ ตามที่โจทก์นำสืบหาว่าร่วมกันเข้าไปในที่ดินพิพาทแล้วตัดเอาดินและต้นไม้ไป จึงไม่เป็นความผิดฐานบุกรุกและลักทรัพย์ ที่ไม่เป็นความผิดฐานลักทรัพย์เพราะไม้ยืนต้นว่าโดยสภาพแห่งทรัพย์หรือโดยจารีตประเพณีแห่งท้องถิ่นย่อมเป็นสาระสำคัญในความเป็นอยู่ของทรัพย์ที่เป็นที่ดินนั้น ไม่อาจแยกออกจากกันได้นอกจากทำลาย ทำให้บุปสลายหรือทำให้เปลี่ยนแปลงรูปทรง ไม้ยืนต้นจึงเป็นส่วนควบของที่ดินที่ไม้นั้นขึ้นอยู่ตาม ปพพ มาตรา ๑๔๔,๑๔๕ เจ้าของที่ดินย่อมมีกรรมสิทธิ์ในส่วนควบของทรัพย์สินนั้นตาม ปพพ มาตรา ๑๔๔วรรคท้าย ดังนั้น เจ้าของที่ดินย่อมมีกรรมสิทธิ์ในไม้ยืนต้นนั้น เมื่อฟังไม่ได้แน่ชัดว่าที่พิพาทเป็นของใคร จึงไม่อาจทราบได้ว่าไม้ยืนต้นเป็นของใครเช่นกัน จึงไม่อาจรับฟังได้ว่าไม้ยืนต้นเป็นของโจทก์หรือจำเลย การที่จำเลยตัดฟันและเอาไม้นั้นไปเสียจึงไม่มีความผิดฐานลักทรัพย์
๑๙.ที่ดินที่ไม่มีแนวเขตที่แน่นอน จำเลยโต้เถียงตลอดมาว่า ที่ดินไม่ใช่ของผู้เสียหาย ขณะที่จำเลยเข้าไปก่อสร้างห้องแถวบ้านพักชั่วคราว ปักหลักกั้นรั่ว และก่อสร้างรั่วคอนกรีตในที่ดิน จำเลยจึงไม่รู้ว่าที่ดินอยู่ในเขตโฉนดที่ดินของโจทก์ จึงจะถือว่าจำเลยรู้ข้อเท็จจริงอันเป็นองค์ประกอบของความผิดฐานบุกรุกคือรู้ว่าที่ดินดังกล่าวเป็นของโจทก์แล้วยังเข้าไปในที่ดินดังกล่าวอีกหาได้ไม่ จึงไม่อาจถือได้ว่าจำเลยประสงค์ต่อผลหรือเล็งเห็นผลในการเข้าไปในที่ดินดังกล่าวว่าเป็นการบุกรุกเข้าไปในที่ดินคนอื่น จึงไม่ครบองค์ประกอบความผิดตาม ปอ มาตรา ๓๖๒ ซึ่งตาม ปอ มาตรา ๕๙วรรคสาม จะถือว่าจำเลยกระทำโดยประสงค์ต่อผลหรือเล็งเห็นผลไม่ได้ จึงไม่เป็นการกระทำโดยเจตนา ไม่มีความผิด
๒๐. โจทก์ร่วมมีข้อพิพาทกับจำเลยเกี่ยวกับที่ดินพิพาท โจทก์ร่วมได้ยื่นฟ้องจำเลยเป็นคดีแพ่งของศาลชั้นต้น แม้คดีดังกล่าวมีประเด็นว่า “จำเลยครอบครองที่พิพาทโดยมิชอบ” อันเป็นการใช้สิทธิ์ตาม ปพพ มาตรา ๑๓๗๕ คือ เป็นการฟ้องเอาคืนซึ่งการครอบครองโดยผู้อื่นที่ไม่ได้เป็นเจ้าของได้แย่งการครอบครองในที่ดินมือเปล่า(ที่ดินที่ยังไม่มีกรรมสิทธิ์มีแต่สิทธิ์ครอบครอง)โดยเจ้าของต้องฟ้องเพื่อเอาคืนซึ่งการครอบครองภายใน ๑ ปี นับแต่วันถูกแย่งการครอบครอง แม้คดีดังกล่าวมีเพียงประเด็นว่า “จำเลยครอบครองที่พิพาทโดยมิชอบ” ไม่ได้มีประเด็นว่า “โจทก์ร่วมถูกแย่งการครอบครอง” ดังที่โจทก์ร่วมฏีกาก็ตามแต่คดีมีประเด็นฟ้องเอาคืนซึ่งการครอบครองอันถือได้ว่า เป็นการโต้แย้งเกี่ยวกับสิทธิ์ครอบครองที่ดินพิพาทว่า ผู้ใดเป็นผู้ครอบครองในที่พิพาท ดังนั้นในขณะเกิดเหตุคดีนี้ จำเลยเชื่อโดยชอบว่าจำเลยเป็นผู้มีสิทธิ์ครอบครองหรือเป็นเจ้าของที่ดินพิพาท การที่จำเลยเข้าไปในที่พิพาทจะถือว่ารู้ข้อเท็จจริงอันเป็นองค์ประกอบความผิดฐานบุกรุกคือทราบข้อเท็จจริงว่าที่ดินที่ตนเข้าไปอยู่นั้นเป็นของบุคคลอื่นหาได้ไม่ แต่เป็นเรื่องจำเลยเข้าใจโดยสุจริตว่าเป็นที่ดินของตน จึงถือไม่ได้ว่าการเข้าไปในที่พิพาทนั้นเป็นการกระทำโดยประสงค์ต่อผลหรือเล็งเห็นผลของการกระทำนั้นหาได้ไม่ ถือได้ว่า ไม่มีเจตนาเข้าไปกระทำการใดๆในอสังหาริมทรัพย์ของโจทก์อันเป็นการรบกวนการครอบครองอสังหาริมทรัพย์ของโจทก์โดยปกติสุข จึงไม่มีเจตนาบุกรุกที่ดินพิพาทหรือทำให้เสียทรัพย์ ส่วนที่ดินพิพาทจะเป็นของผู้ใดเป็นผู้มีสิทธิ์ครอบครองนั้นเป็นเรื่องทางแพ่ง จำเลยไม่มีความผิดตามฟ้อง
๒๑.. การที่จะเป็นความผิดฐานบุกรุก จะต้องกระทำโดยมีเจตนาบุกรุกด้วย คือ จำเลยต้องรู้ว่าที่ดินที่หาว่าจำเลยบุกรุกนั้นเป็นของผู้เสียหาย คือต้องรู้ข้อเท็จจริงอันเป็นองค์ประกอบของความผิดว่าที่ดินดังกล่าวเป็นของบุคคลอื่นไม่ใช่ของจำเลย เมื่อคู่กรณียังนำสืบโต้แย้งกันอยู่เกี่ยวกับการครอบครองที่ดินหรือความเป็นเจ้าของที่ดินที่หาว่าจำเลยบุกรุก โดยโจทก์จำเลยยังนำสืบโต้แย้งกันอยู่ โดยโจทก์นำสืบว่า “ที่ดินเป็นของผู้เสียหาย ผู้เสียหายครอบครองที่ดินตลอดมาตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๒๕” จำเลยนำสืบว่า “ที่ดินเป็นของจำเลย จำเลยซื้อจาก ช. ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๓๗ จำเลยครอบครองตลอดมา ผู้เสียหายไม่ได้ครอบครอง ที่ดินไม่ใช่ของผู้เสียหาย” แม้ทางราชการออกโฉนดที่ดินให้ผู้เสียหาย ซึ่งตาม ปพพ มาตรา ๑๓๗๓ ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่า โฉนดที่ดินซึ่งเป็นเอกสารที่ต้องปรากฏชื่อทางทะเบียนนั้น “ ผู้มีชื่อในทะเบียนเป็นผู้มีสิทธิ์ครอบครอง” ก็ตาม แต่จำเลยก็นำสืบว่า โฉนดที่ดินออกมาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายซึ่งจำเลยไม่รู้มาก่อนและไม่ยอมรับว่าที่ดินเป็นของผู้เสียหาย เมื่อผู้เสียหายและจำเลยยังคงโต้เถียงความเป็นเจ้าของกันเช่นนี้ จึงไม่อาจทราบได้ว่าการออกโฉนดถูกต้องแท้จริงหรือไม่อย่างไร ใครเป็นเจ้าของที่ดินพิพาท แม้กฎหมายสันนิษฐานว่าผู้มีชื่อในทะเบียนมีสิทธิ์ครอบครอง แต่ก็เป็นเพียงข้อสันนิษฐานทางกฎหมายที่เป็นคุณแก่ผู้มีชื่อในทะเบียนเท่านั้น ไม่ใช่บทบัญญัติเด็ดขาดว่าผู้มีชื่อในทะเบียนเป็นเจ้าของ เมื่อจำเลยยังโต้แย้งอยู่และยังไม่มีคำพิพากษาออกมาว่าที่พิพาทเป็นของใคร จึงเป็นเรื่องทางแพ่งฟังไม่ได้ว่ามีเจตนาบุกรุก ไม่เป็นความผิดฐานบุกรุก
๒๒.นายอำเภอออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ นส๓ ก สำหรับที่พิพาทให้ ม และ ย ในปี ๒๕๒๐ ที่ดินพิพาทมีโรงสีและบ้านของ ม. ปลูกอยู่ โดยไม่มีชาวบ้านเข้าไปใช้ประโยชน์ใดๆในที่พิพาทในลักษณะที่เป็นสาธารณะมานานแล้วย่อมเป็นเหตุให้จำเลย “เชื่อโดยสุจริต” ว่า ม และ ย มีสิทธิ์ครอบครองที่ดินพิพาทและจำเลยยอมเสียเงินค่าตอบแทนเป็นเงินสูงถึง ๑๒๐,๐๐๐ บาท ในการซื้อที่ดินมาจาก ม และ ย ย่อมรับฟังได้ว่า จำเลยเข้าครอบครองที่พิพาทโดยไม่มีเจตนาบุกรุกที่ดินอันเป็นสาธารณะประโยชน์แต่อย่างใด แม้ต่อมาจำเลยจะได้ทราบหนังสือจากนายอำเภอว่าที่พิพาทเป็นส่วนหนึ่งของศาลาสระน้ำหนองซานางสาธารณะประโยชน์ซึ่งเป็นสาธารณะสมบัติของแผ่นดินก็เป็นเพียงหลักฐานที่ยังยันกันอยู่กับหนังสือรับรองการทำประโยชน์ นส๓ ก ที่เป็นเอกสารสิทธิ์ของที่ดินพิพาท ซึ่งใน ปพพ มาตรา ๑๓๗๓ ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้มีชื่อในทะเบียนมีสิทธิ์ครอบครอง จึงเป็นข้อโต้เถียงกันว่าใครมีสิทธิ์ดีกว่ากัน ใครเป็นเจ้าของ
๒๓.การที่จำเลยก็ไม่ได้ออกไปจากที่ดินพิพาทและกลับเข้าไปยึดถือครอบครองใหม่ แต่ครอบครองที่ดินพิพาทด้วยเจตนาเดียวกัน “ตลอดมา” โดยจำเลยเข้าใจแต่ต้นว่าตนมีสิทธิ์ครอบครองในที่ดินพิพาทซึ่งไม่อาจถือได้ว่าจำเลยมีเจตนาบุกรุกที่ดินพิพาท การที่จำเลยอยู่ในที่ดินพิพาทตลอดมาด้วยเจตนาเดิมและด้วยการกระทำที่ไม่เป็นความผิดมาแต่แรก ไม่อาจถือว่าจำเลยเกิดเจตนาบุกรุกขึ้นมาใหม่หลังจากทราบจากนายอำเภอว่าที่พิพาทเป็นสาธารณะสมบัติของแผ่นดินเพราะกรณียังไม่ได้เป็นที่ยุติว่าที่พิพาทเป็นสาธารณะสมบัติของแผ่นดินหรือเป็นที่ดินที่จำเลยมีสิทธิ์ตาม นส๓ก อีกทั้งจำเลยได้ครอบครองตลอดมาก่อนได้รับแจ้งว่าที่พิพาทเป็นสาธารณะสมบัติของแผ่นดิน เมื่อได้รับแจ้งแล้วจำเลยก็หาได้ออกไปจากที่พิพาทแล้วกลับเข้ามาอยู่ใหม่อีกแต่อย่างใดไม่ แต่จำเลยครอบครอง “ต่อเนื่องกันมาโดยตลอด” ก่อนที่จะได้รับแจ้งว่าที่พิพาทเป็น สาธารณะสมบัติของแผ่นดิน จึงไม่มีการ “ เข้าไป” ในอสังหาริมทรัพย์ตาม ปอ มาตรา ๓๖๒หรือ๓๖๔ ซึ่งใช้คำว่า “ เข้าไป “
๒๔.ระหว่างจำเลยทั้งสองถูกดำเนินคดีอาญาข้อหาบุกรุก จำเลยทั้งสองไม่ได้อยู่ในที่ดินพิพาท เมื่อศาลฏีกาพิพากษายกฟ้องจำเลยทั้งสอง จำเลยทั้งสองกลับเข้ามาในที่ดินพิพาทใหม่ จึงเป็นการกระทำที่ “เกิดขึ้นใหม่อีกครั้งหนึ่ง” หาใช่การบุกรุกในครั้งก่อนยังคงอยู่ตลอดมาไม่ เพราะเมื่อมีการดำเนินคดีครั้งแรกจำเลยจำเลยไม่ได้อยู่ในที่พิพาทมาแต่แรกแล้ว จำเลยเพิ่ง “ เข้ามา” ในที่พิพาทเมื่อศาลฏีกายกฟ้อง เมื่อโจทก์มาฟ้องว่าจำเลยบุกรุก ฟ้องของโจทก์ร่วมในคดีนี้ที่ฟ้องจำเลยทั้งสองในข้อหาบุกรุกอีกจึงไม่เป็นฟ้องซ้ำ
๒๕.โจทก์ร่วมกับจำเลยทั้งสองพิพาทกันเกี่ยวกับที่ดินพิพาท ตลอดมา ต่างกล่าวอ้างว่าเป็นผู้มีสิทธิ์ในที่ดินพิพาท โดยโจทก์ร่วมกล่าวหาว่าจำเลยบุกรุก ส่วนจำเลยกล่าวหาว่าโจทก์ร่วมทำให้เสียทรัพย์ของจำเลยที่อยู่ในที่ดินพิพาทเสียหาย และจำเลยทั้งสองยังฟ้องโจทก์ร่วมกับพวกเป็นคดีแพ่งขอให้พิพากษาว่า จำเลยมีสิทธิ์ครอบครองในที่พิพาทดีกว่าโจทก์ ขณะที่จำเลยกลับเข้ามาในที่พิพาทใหม่นั้น “คดีแพ่งอยู่ระหว่างการพิจารณา” ประกอบกับการเข้าไปในที่ดินพิพาทหลังจากศาลฏีกายกฟ้องในคดีที่จำเลยถูกกล่าวหาว่าบุกรุกที่ดินพิพาทในคดีอาญาก่อน แม้ที่พิพาทในคดีนี้มีเนื้อที่มากกว่าที่ดินในคดีเดิมที่ศาลฏีกายกฟ้องไปแล้วก็ตาม แต่ที่ดินในบริเวณนี้ยังไม่มีแนวเขตที่แน่ชัดแจ้งและเนื้อที่ดินที่จำเลยถูกฟ้องว่าบุกรุกในแต่ละครั้งก็มีเนื้อที่แตกต่างกันไม่มาก แสดงว่าจำเลยเข้าไปครอบครองที่ดินพิพาทด้วยความเชื่อมั่นอย่างสุจริตใจว่าจำเลยมีสิทธิ์เข้าไปครอบครองที่ดินพิพาทได้ อันเป็นการแสดงว่าจำเลยทั้งสองขาดเจตนาบุกรุกที่ดินพิพาท ไม่มีความผิดฐานบุกรุก
๒๖.แม้จำเลยทั้งสามร่วมกันใช้ให้ ว. นำป้ายที่มีข้อความว่า “ สถานที่ราชการห้ามบุกรุกโดยเด็ดขาด” เข้าไปติดในศาลาร้างซึ่งอยู่ในที่ดินพิพาทก็ตาม แต่จำเลยทั้งสามที่รับราชการในกระทรวงศึกษาธิการหลง “เข้าใจโดยสุจริต” คิดว่า บริเวณที่เกิดเหตุเป็นของโรงเรียนบ้านเกาะปูโหลน ในสังกัดการประถมศึกษาจังหวัดสตูล โดยจำเลยทั้งสามเชื่อว่าโจทก์ทั้งสี่ปักแนวรั่วบุกรุกที่ดินของโรงเรียน การกระทำของจำเลยทั้งสามเป็นการกระทำเพื่อรักษาผลประโยชน์ทางราชการ ขาดเจตนาประสงค์ต่อผลหรือย่อมเล็งเห็นผลที่จะถือการครอบครองหรือรบกวนการครอบครองอสังหาริมทรัพย์ของผู้อื่นโดยปกติสุขอันจะเป็นความผิดฐานบุกรุก ไม่เป็นความผิดตาม ปอ มาตรา ๓๖๒,๓๖๕(๒),๘๓
๒๗.ทรัพย์สินส่วนกลางของอาคารชุดเป็นทรัพย์สินของเจ้าของอาคารชุด แต่ละห้องมีกรรมสิทธิ์ร่วมกัน การจัดการทรัพย์สินต้องเป็นไปตาม พรบ. อาคารชุดฯ มาตรา ๑๗,๓๓,๓๕,๓๖,๓๗ คือทรัพย์ส่วนกลางที่เป็นอสังหาริมทรัพย์จะถูกฟ้องให้แบ่งแยก บังคับจำนองหรือขายทอดตลาดแยกจากทรัพย์ส่วนบุคคลไม่ได้ โดยนิติบุคคลอาคารชุดที่ได้จดทะเบียนแล้วมีฐานะเป็นนิติบุคคล มีวัตถุประสงค์เพื่อจัดการ ดูแลรักษาทรัพย์ส่วนกลาง โดยมีผู้จัดการคนหนึ่งซึ่งจะเป็นบุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคลก็ได้มีอำนาจจัดการให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของนิติบุคคลอาคารชุด ตามข้อบังคับหรือมติที่ประชุมใหญ่เจ้าของร่วมหรือคณะกรรมการ การที่จำเลยซึ่งเป็นผู้จัดการของนิติบุคคลอาคารชุดมีอำนาจจัดการและดูแลรักษาห้องน้ำชายหญิงซึ่งเป็นทรัพย์สินส่วนกลางได้ปิดกั้นประตูห้องน้ำไม่ให้โจทก์และเจ้าของห้องชุดคนอื่นซึ่งเป็นเจ้าของร่วมใช้ประโยชน์ หากเป็นการจัดการทรัพย์สินโดยไม่ชอบด้วย พรบ.อาคารชุดฯ หรือข้อบังคับ โจทก์และเจ้าของอาคารชุดต้องดำเนินการแก่จำเลยทางมติที่ประชุมของเจ้าของห้องชุดหรือทางคณะกรรมการควบคุมการจัดการนิติบุคคลอาคารชุด ซึ่งที่ประชุมใหญ่อาจลงมติถอดถอนผู้จัดการนิติบุคคลอาคารชุดได้ตามพรบอาคารชุด มาตรา๓๕/๓(๖) การกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิดฐานบุกรุกคือจะถือว่าการปิดกั้นไม่ให้ใช้ห้องน้ำเป็นการรบกวนการครอบครองหาได้ไม่
๒๘. .เมื่อฟังเป็นทางแพ่งไม่มีเจตนาบุกรุกไม่เป็นความผิดฐานบุกรุก หากต่อมาคดีแพ่งฟังเป็นยุติว่าที่พิพาทเป็นของโจทก์ น่าคิดว่าผลจะเป็นอย่างไร ในเมื่อคดีนั้นศาลพิพากษายกฟ้องไปแล้ว จะรื้อร้องให้ยกคดีขึ้นดำเนินการใหม่ได้ไหม จะถือมีคำพิพากษาเด็ดขาดในความผิดที่ฟ้องไปแล้วหรือไม่อย่างไร หรือสามารถมาแจ้งความฟ้องร้องกันใหม่ได้อีก จะเป็นฟ้องซ้ำหรือไม่อย่างไร หากฟังเป็นทางแพ่งไม่มีเจตนาบุกรุกไม่เป็นความผิดฐานบุกรุกแล้ว ทุกคดีจำเลยก็ต่อสู้ว่าเป็นที่ของผมผมไม่ได้บุกรุกที่ผู้เสียหายอย่างใด อย่างนั้นหรือ? ฝากเป็นข้อคิดครับ

"บุกรุก - 1"

๑. ที่ดินที่ถูกกลุ่มพ่อค้าแม่ค้าบุกรุกนำสินค้ามาวางขายเป็นของโจทก์ร่วม โจทก์ร่วมไม่อนุญาตให้จำเลยนำไปให้ผู้ใดเช่า การที่นำไปให้บุคคลอื่นเช่าโดยไม่มีอำนาจ มีความผิดฐานบุกรุก ปอ มาตรา ๓๖๒ คำพิพากษาฏีกา ๒๗๖๘/๒๕๕๑
๒. จำเลยเข้าไปในบ้านผู้เสียหายโดยการเชิญชวนของบุตรสาวผู้เสียหาย แม้ผู้เสียหายไม่อนุญาตให้จำเลยเข้าบ้านก็ตาม แต่จำเลยก็ได้รับอนุญาตจากบุตรสาวผู้เสียหายให้เข้าไปในบ้านดังกล่าวแล้ว จึงไม่ใช่การเข้าไปในบ้านผู้เสียหายโดยไม่ได้รับอนุญาตหรือโดยไม่มีเหตุอันควร ทั้งไม่ใช่การเข้าไปเพื่อกระทำการใดๆอันเป็นการรบกวนการครอบครองอสังหาริมทรัพย์ของผู้เสียหายโดยปกติสุข ตาม ปอ มาตรา ๓๖๒,๓๖๔ คำพิพากษาฏีกา ๕๑๗๗/๒๕๔๙
๓. กรณีที่จะเป็นความผิดฐานบุกรุกตาม ปอ มาตรา ๓๖๒ ต้องได้ความว่า โจทก์ร่วมเป็น “ เจ้าของ” หรือ “ ผู้ครอบครอง”ที่ดินพิพาทอยู่ในขณะที่กล่าวหาจำเลยเข้าไปในที่ดินพิพาทเพื่อถือการครอบครองหรือเข้าไปกระทำการใดๆอันเป็นการรบกวนการครอบครองที่พิพาทของโจทก์ร่วมโดยปกติสุข คดีนี้ได้ความว่า จำเลยเข้าไปครอบครองที่พิพาทอยู่ก่อนแล้ว โจทก์ร่วมเพิ่งอ้างว่าเป็นเจ้าของที่ดินพิพาทโดยการซื้อขายในภายหลัง แม้ข้อเท็จจริงรับฟังได้ตามที่โจทก์ร่วมอ้าง การรกระทำของจำเลยที่เข้าไปครอบครองที่ดินยึดถือที่ดินพิพาทอยู่ก่อนแล้วและคงอยู่ในที่ดินพิพาทตลอดมาย่อมไม่เป็นความผิอดฐานบุกรุกที่ดินพิพาทโจทก์ร่วม คำพิพากษาฏีกา ๑๕๕๒/๒๕๓๕
๔. ที่ดินของโจทก์ร่วมตกเป็นภาระจำยอมแก่ที่ดินจำเลยเพื่อใช้เป็นทางเดิน ให้รถยนต์เข้าออก ได้ปักเสาพาดสายไฟฟ้า ท่อประปา ท่อระบายน้ำ โทรศัพท์และอื่นๆผ่านโดยตลอดตามบันทึกข้อตกลงเรื่องภาระจำยอม การที่จำเลยว่าจ้างให้ทำโครงการเหล็กวางพาดสายไฟ ติดหลอดไฟเพื่อให้มีแสงสว่างแบบถาวร แม้เกินความจำเป็นไปบ้าง แต่ก็เป็นการใช้สิทธิ์แห่งเจ้าของสามทรัพย์ตาม ปพพ มาตรา ๑๓๘๗ ส่วนการที่จะทำให้เกิดภาระเพิ่มขึ้นแก่ภารทรัพย์หรือไม่ต้องไปว่ากล่าวกันในทางแพ่ง ถือไม่ได้ว่าจำเลยมีเจตนาครอบครองอสังหาริมทรัพย์หรือเข้าไปรบกวนการครอบครองอสังหาริมทรัพย์หรือเข้าไปเพื่อครองอสังหาริมทรัพย์ของโจทก์ร่วมทั้งหมดหรือแต่บางส่วน การกระทำดังกล่าวไม่มีความผิดฐานบุกรุก คำพิพากษาฏีกา ๓๙๒๖/๒๕๔๑
๕. การที่จะเป็นความผิดฐานบุกรุกตาม ปอ มาตรา ๓๖๒ ผู้กระทำต้องเข้าไปในอสังหาริมทรัพย์ การที่ใช้ขวดขว้างและใช้มีดฟันประตูห้องพักผู้เสียหาย และเรียกผู้เสียหายออกมาพูดคุยและขู่จะฆ่าผู้เสียหาย โดยจำเลยไม่ได้เข้าไปในห้องพักผู้เสียหาย ขาดองค์ประกอบคงวามผิดตาม ปอ มาตรา ๓๖๒ ไม่มีความผิดฐานบุกรุก องค์ประกอบความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์ตาม ปอ มาตรา ๓๕๘ ต้องกระทำต่อทรัพย์ผู้อื่น หรือที่ผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วย คำว่า “ ทรัพย์ของผู้อื่น” หมายความรวมถึงบุคคลที่ได้รับมอบหมายโดยตรงจากเจ้าของทรัพย์ให้เป็นผู้ครอบครองดูแลทรัพย์นั้น พ กับ ธ เป็นลูกจ้างบริษัท บ โดยบริษัทดังกล่าวจัดให้บุคคลดังกล่าวอยู่ที่หอพักคนงาน ทำให้ พ และ ธ มีเพียงได้ใช้สิทธิ์อาศัยอยู่ในห้องพักเท่านั้น ไม่ปรากฏบริษัท บ ที่เป็นเจ้าของห้องพักได้มอบหมายโดยตรงให้ พ และ ธ เป็นผู้ครอบครองดูแลรักษาทรัพย์ดังกล่าวโดยอาศัยสิทธิ์ของเจ้าของทรัพย์นั้น พ และ ธ จึงไม่ใช่ผู้เสียหาย เมื่อบริษัท บ ที่ เป็นผู้เสียหายอย่างแท้จริง ไม่ได้ร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนไว้ พนักงานสอบสวนย่อมไม่มีอำนาจสอบสานในความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์ซึ่งเป็นความผิดที่ยอมความได้ พนักงานอัยการไม่มีสิทธิ์นำคดีมาฟ้องในความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์ได้ คำพิพากษาฏีกา๓๕๒๓/๒๕๔๑
๖. จำเลยให้คนงานเข้าพักอาศัยในห้องพิพาทของโจทก์ร่วมโดยทำการรื้อฝาผนังห้องออกแล้วก่ออิฐบล็อดแทนทำพื้นห้องพิพาทใหม่เป็นการเข้าครอบครองห้องพิพาทของโจทก์ร่วม ฟ้องระบุบุกรุกเข้าไประหว่างวันที่ ๑ พย. ๒๕๕๓ ถึงวันที่ ๑๐ กพ ๒๕๓๕เวลากลางวันและกลางคืนติดต่อกัน ทางพิจารณาโจทก์ โจทก์ร่วมนำสืบไม่ได้ว่าจำเลยเริ่มบุกรุกเข้าไปในห้องพิพาทของโจทก์ร่วมในเวลากลางวันหรือกลางคืน จึงต้องฟังเป็นคุณแก่จำเลยว่าจำเลยบุกรุกเข้าไปในห้องพิพาทเวลากลางวัน ความผิดฐานบุกรุกเกิดขึ้นตั้งแต่จำเลยเข้าครอบครองห้องพิพาทของโจทก์ร่วม การที่จำเลยครอบครองที่พิพาทต่อมาเป็นผลของการบุกรุกไม่ใช่ความผิดต่อเนื่องตราบเท่าที่จำเลยยังถือการครอบครองห้องพิพาทของโจทก์ร่วม การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดตาม ปอ มาตรา ๓๖๒ หาใช่ตามมาตรา ๓๖๕(๓) คำพิพากษาฏีกา๑๖๖๑/๒๕๔๒
๗. ความผิดฐานบุกรุกเกิดขึ้นตั้งแต่ครั้งแรกที่จำเลยเข้าไปรบกวนการครอบครองที่ดินพิพาท การที่จำเลยครอบครองที่ดินพิพาทต่อมาเป็นเพียงผลการบุกรุกเท่านั้นหาใช่ความผิดต่อเนื่องการกระทำจำเลยเป็นความผิดตาม ปอ มาตรา๓๖๒ บทเดียว หาใช่เป็นความผิดตาม ปอ มาตรา ๓๖๕(๓)อีกบทไม่ ปัญหานี้เป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฏีกายกขึ้นวินิจฉัยได้แม้จำเลยไม่ฏีกา คำพิพากษาฏีกา ๑๘๓/๒๕๓๗
๘. จำเลยเข้าไปปลูกมะพร้าวและสับปะรดในที่พิพาทในเวลากลางวัน แม้พืชผลที่จำเลยปลูกจะอยู่ในที่พิพาททั้งกลางวันกลางคืนตลอดมาก็เป็นผลของการกระทำคือเข้าไปในอสังหาริมทรัพย์ของโจทก์ร่วมในเวลากลางวันเท่านั้น จะถือจำเลยกระทำความผิดฐานบุกรุกในเวลากลางคืนตาม ปอ มาตรา ๓๖๕(๓)ไม่ได้ คำพิพากษาฏีกา๑๗๖๘/๒๕๔๖
๙. แม้ที่ดินเกิดเหตุเป็นสาธารณะสมบัติของแผ่นดินอันเป็นที่ดินของรัฐ แต่การรถไฟแห่งประเทศไทยเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์และเป็นทรัพย์สินที่ใช้เพื่อประโยชน์ของแผ่นดินโดยเฉพาะ มิใช่สาธารณะสมบัติของแผ่นดินที่เป็นที่ดินรกร้างว่างเปล่าหรือสำหรับพลเมืองใช้น่วมกันตาม ปพพ มาตรา ๑๓๐๔(๑)(๒) ดังนั้น ผู้เข้าไปยึดถือครอบครองอาจมีความผิดฐานบุกรุกตาม ปอ มาตรา ๓๖๒,๓๖๕ แต่ความผิดฐานบุกรุกเกิดขึ้นและสำเร็จแล้วในทันทีที่จำเลยเข้าไปยึดถือครอบครองที่ดินที่เกิดเหตุ การที่จำเลยยึดถือครอบครองต่อมาเป็นเพียงผลของการบุกรุกเท่านั้น ไม่ใช่เป็นความผิดต่อเนื่องตราบเท่าที่จำเลยยังคงยึดถือครอบครองที่ดินที่เกิดเหตุแต่อย่างใด ความผิดตามมาตรา ๓๖๕มีกำหนดอายุความ ๑๐ ปี และตามมาตรา ๓๖๒ มีอายุความ ๕ ปี ตาม ปอ มาตรา ๙๕(๓)(๔) จำเลยเข้าไปยึดถือครอบครองที่เกิดเหตุก่อนวันที่ ๔ มีนาคม ๒๕๑๕ โจทก์ฟ้องคดีเมื่อ ๖ ตค ๒๕๔๖เกิน ๑๐ ปีนับแต่วันกระทำผิดจึงเป็นอันขาดอายุความฟ้องร้อง สิทธิ์นำคดีมาฟ้องระงับไปตาม ปวอ มาตรา ๓๙(๖)คำพิพากษาฏีกา ๓๐๐๒/๒๕๕๒
๑๐. บ้านที่เกิดเหตุทั้งสองหลัง ผู้เสียหายทั้งสองใช้เป็นที่อยู่อาศัยร่วมกับบุตรเล็กๆของผู้เสียหายอีกหลายคนและทำการค้าขาย การที่จำเลยกับพวกเข้าไปบริเวณหน้าบ้านและร้านค้าที่เกิดเหตุ ใช้ก้อนอิฐ ก้อนหิน ไม้ และสิ่งของอื่นขว้างประตู หน้าต่าง หลังคา รวมทั้งสิ่งของต่างๆเสียหาย เป็นความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์และยังเป็นการรบกวนการครอบครองอสังหาริมทรัพย์ของผู้เสียหายโดยปกติสุขเป็นความผิดบุกรุกตาม ปอ มาตรา ๓๕๘,๓๖๕(๑)(๒)(๓),๓๖๒ การบุกรุกเข้าไปขว้างปาบ้านผู้เสียหายจนได้รับความเสียหายเป็นกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบทลงโทษฐานบุกรุกซึ่งเป็นบทหนักตาม ปอ มาตรา ๙๐คำพิพากษาฏีกา๗๙๖๑/๒๕๕๑
ข้อสังเกต ๑.เข้าไปในอสังหาริมทรัพย์ของผู้อื่นเพื่อถือการครอบครองอสังหาริมทรัพย์ทั้งหมดหรือแต่บางส่วน หรือเข้าไปกระทำการใดๆอันเป็นการรบกวนการครอบครองอสังหาริมทรัพย์ของเขาโดยปกติสุข เป็นความผิดตาม ปอ มาตรา ๓๖๒
หากร่วมกันกระทำความผิดด้วยกันตั้งแต่ ๒ คนขึ้นไป หรือกระทำความผิดในเวลากลางคืน เป็นความผิดตาม ปอ มาตรา ๓๖๕(๒)(๓)
๒..จำเลยนำสินค้ามาวางขายเป็นของผู้เสียหายโดยไม่อนุญาตผู้เสียหาย เป็นการเข้าไปในอสังหาริมทรัพย์ของบุคคลอื่นเพื่อถือการครอบครองอสังหาริมทรัพย์ทั้งหมดหรือแต่บางส่วนอันเป็นการรบกวนการครอบครองอสังหาริมทรัพย์ของผู้เสียหายโดยปกติสุขแล้ว ย่อมเป็นความผิดฐานบุกรุกตาม ปอ มาตรา ๓๖๒ จำเลยเข้าไปในที่ดินผู้เสียหายโดยไม่มีสิทธิ์ย่อมไม่มีสิทธิ์นำที่ดินดังกล่าวไปให้บุคคลดังกล่าวเช่าได้เพราะไม่ใช่เจ้าของหรือผู้เช่าที่มีสิทธิ์ให้เช่าช่วงได้ตามสัญญาตาม ปพพ มาตรา ๕๔๔ การที่จำเลยนำไปให้ผู้ใดเช่าย่อมเป็นการรบกวนการครอบครองอสังหาริมทรัพย์ของผู้เสียหายโดยปกติสุขแล้ว ย่อมเป็นความผิดฐานบุกรุกตาม ปอ มาตรา ๓๖๒
๓.จำเลยเข้าไปในบ้านผู้เสียหายโดยการเชิญชวนของบุตรสาวผู้เสียหาย แม้ผู้เสียหายไม่อนุญาตให้จำเลยเข้าบ้านก็ตาม แต่จำเลยก็ได้รับอนุญาตจากบุตรสาวผู้เสียหายให้เข้าไปในบ้านดังกล่าวแล้ว จึงไม่ใช่การเข้าไปในบ้านผู้เสียหายโดยไม่ได้รับอนุญาตหรือโดยไม่มีเหตุอันควร ทั้งไม่ใช่การเข้าไปเพื่อกระทำการใดๆอันเป็นการรบกวนการครอบครองอสังหาริมทรัพย์ของผู้เสียหายโดยปกติสุข................มีข้อพึงสังเกตว่าแม้ผู้เสียหายซึ่งเป็นเจ้าของบ้านไม่อนุญาตให้เข้าไปในบ้าน แต่บุตรสาวเจ้าของบ้านอนุญาตให้เข้าไปได้ โดยบุตรสาวผู้เสียหายมีอำนาจที่จะอนุญาตให้บุคคลหนึ่งบุคคลใดเข้าไปในบ้านดังกล่าวได้ หากเป็นบุคคลอื่นที่ไม่มีอำนาจอนุญาตให้เข้าไปในบ้านผู้เสียหายได้โดยบุคคลนั้นไม่ใช่ผู้ที่อยู่อาศัยในบ้านผู้เสียหาย ไม่ใช่บุตรหลานหรือภรรยาผู้เสียหายแล้ว ย่อมไม่มีอำนาจอนุญาตให้บุคคลใดเข้าไปในบ้านผู้เสียหายโดยผู้เสียหายไม่ยินยอม หากเข้าไปจะอ้างว่าได้รับความยินยอมจากบุคคลภายนอกให้เข้าไปและไม่เป็นความผิดฐานบุกรุกหาอาจอ้างได้ไม่
๔.กรณีที่จะเป็นความผิดฐานบุกรุกตาม ปอ มาตรา ๓๖๒ ต้องได้ความว่า โจทก์ร่วมเป็น “ เจ้าของ” หรือ “ ผู้ครอบครอง”ที่ดินพิพาทอยู่ในขณะที่กล่าวหาจำเลยเข้าไปในที่ดินพิพาทเพื่อถือการครอบครองหรือเข้าไปกระทำการใดๆอันเป็นการรบกวนการครอบครองที่พิพาทของโจทก์ร่วมโดยปกติสุข
๕.การที่ จำเลยเข้าไปครอบครองที่พิพาทอยู่ก่อนแล้ว โจทก์ร่วมเพิ่งอ้างว่าเป็นเจ้าของที่ดินพิพาทโดยการซื้อขายในภายหลัง แม้ข้อเท็จจริงรับฟังได้ตามที่โจทก์ร่วมอ้าง การรกระทำของจำเลยที่เข้าไปครอบครองที่ดินยึดถือที่ดินพิพาทอยู่ก่อนแล้วและคงอยู่ในที่ดินพิพาทตลอดมาย่อมไม่เป็นความผิดฐานบุกรุกที่ดินพิพาทโจทก์ร่วม
๖. ที่ดินของโจทก์ร่วมตกเป็นภาระจำยอมแก่ที่ดินจำเลยเพื่อใช้เป็นทางเดิน ให้รถยนต์เข้าออก ได้ปักเสาพาดสายไฟฟ้า ท่อประปา ท่อระบายน้ำ โทรศัพท์และอื่นๆผ่านโดยตลอดตามบันทึกข้อตกลงเรื่องภาระจำยอม เป็นกรณีอสังหาริมทรัพย์ของโจทก์ร่วมตกอยู่ในภาระจำยอมอันเป็นเหตุให้โจทก์ร่วมที่เป็นเจ้าของอสังหาริมทรัพย์นั้นต้องยอมรับกรรมบางอย่างอันกระทบถึงทรัพย์สินของตนและต้องยอมงดเว้นใช้สิทธิ์บางอย่างในอสังหาริมทรัพย์นั้นเพื่อประโยชน์แก่อสังหาริมทรัพย์อื่นตาม ปพพ มาตรา ๑๓๘๗
๗.การที่จำเลยว่าจ้างให้ทำโครงการเหล็กวางพาดสายไฟ ติดหลอดไฟเพื่อให้มีแสงสว่างแบบถาวร แม้เกินความจำเป็นไปบ้าง แต่ก็เป็นการใช้สิทธิ์แห่งเจ้าของสามทรัพย์ตาม ปพพ มาตรา ๑๓๘๗ ส่วนการที่จะทำให้เกิดภาระเพิ่มขึ้นแก่ภารทรัพย์ตาม ปพพ มาตรา ๑๓๘๘ หรือไม่ต้องไปว่ากล่าวกันในทางแพ่ง ถือไม่ได้ว่าจำเลยมีเจตนาครอบครองอสังหาริมทรัพย์หรือเข้าไปรบกวนการครอบครองอสังหาริมทรัพย์หรือเข้าไปเพื่อครองอสังหาริมทรัพย์ของโจทก์ร่วมทั้งหมดหรือแต่บางส่วน แต่เป็นกรณีที่โจทก์ร่วมต้องยอมรับกรรมบางอย่างที่กระทบถึงทรัพย์สินตนตาม ปพพ มาตรา ๑๓๘๗ หรือแม้แต่ใน ปพพ มาตรา ๑๓๕๒ ยังบัญญัติให้ผู้อื่นวางท่อน้ำ ท่อระบายน้ำ สายไฟฟ้า หรือสิ่งอื่นใดอันคล้ายกันผ่านที่ดินของตน เพื่อประโยชน์แก่ที่ดินตืดต่อ เมื่อได้รับค่าทดแทนแล้ว โดยหากไม่ยอมให้ผ่านก็ไม่มีทางจะวางได้ หรือวางได้ก็ต้องใช้เงินมากเกินควร จึงแสดงให้เห็นว่าแม้กระทำการบางอย่างเกินความจำเป็นแต่เพื่อประโยชน์ของจำเลยในฐานะเจ้าของสามทรัพย์แล้วย่อมทำได้ ส่วนที่เกิดภาระเพิ่มขึ้นหรือเกินสมควรอย่างไรต้องไปว่ากล่าวกันในทางแพ่งต่อไป การกระทำดังกล่าวไม่มีความผิดฐานบุกรุก
๘.การที่จะเป็นความผิดฐานบุกรุกตาม ปอ มาตรา ๓๖๒ ผู้กระทำต้อง “เข้าไป” ในอสังหาริมทรัพย์ การที่ใช้ขวดขว้างและใช้มีดฟันประตูห้องพักผู้เสียหาย และเรียกผู้เสียหายออกมาพูดคุยและขู่จะฆ่าผู้เสียหาย โดยจำเลยไม่ได้ “เข้าไป” ในห้องพักผู้เสียหาย ขาดองค์ประกอบความผิดตาม ปอ มาตรา ๓๖๒ ไม่มีความผิดฐานบุกรุก เพราะใน ปอ มาตรา ๓๖๒, ใช้คำว่า “ เข้าไป” ในอสังหาริมทรัพย์ ส่วนใน ปอ มาตรา ๓๖๔ ใช้คำว่า “ เข้าไป” ในเคหสถาน อาคาร หรือสำนักงาน
๙.องค์ประกอบความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์ตาม ปอ มาตรา ๓๕๘ ต้องกระทำต่อทรัพย์ผู้อื่น หรือที่ผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วย คำว่า “ ทรัพย์ของผู้อื่น” หมายความรวมถึงบุคคลที่ได้รับมอบหมายโดยตรงจากเจ้าของทรัพย์ให้เป็นผู้ครอบครองดูแลทรัพย์นั้น พ กับ ธ เป็นลูกจ้างบริษัท บ โดยบริษัทดังกล่าวจัดให้บุคคลดังกล่าวอยู่ที่หอพักคนงาน ทำให้ พ และ ธ มีเพียงได้ใช้สิทธิ์อาศัยอยู่ในห้องพักเท่านั้น ไม่ปรากฏบริษัท บ ที่เป็นเจ้าของห้องพักได้มอบหมายโดยตรงให้ พ และ ธ เป็นผู้ครอบครองดูแลรักษาทรัพย์ดังกล่าวโดยอาศัยสิทธิ์ของเจ้าของทรัพย์นั้น พ และ ธ จึงไม่ใช่ผู้เสียหาย เมื่อบริษัท บ ที่ เป็นผู้เสียหายอย่างแท้จริง ไม่ได้ร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนไว้ พนักงานสอบสวนย่อมไม่มีอำนาจสอบสานในความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์ซึ่งเป็นความผิดที่ยอมความได้ ตาม ปวอ มาตรา ๑๒๑,๑๒๓ พนักงานอัยการไม่มีสิทธิ์นำคดีมาฟ้องในความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์ได้ เพราะความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์เป็นความผิดต่อส่วนตัวต้องแจ้งความร้องทุกข์ภายใน ๓ เดือนนับแต่รู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิดตาม ปอ มาตรา ๙๖ เมื่อผู้เสียหายที่แท้จริงไม่ได้แจ้งความร้องทุกข์ พนักงานสอบสวนไม่มีอำนาจสอบสวน หากสอบสวนไป การสอบสวนไม่ชอบ เสมือนหนึ่งว่าไม่มีการสอบสวนพนักงานอัยการไม่มีอำนาจฟ้องตาม ปวอ มาตรา ๑๒๐
๑๐.จำเลยให้คนงานเข้าพักอาศัยในห้องพิพาทของโจทก์ร่วมโดยทำการรื้อฝาผนังห้องออกแล้วก่ออิฐบล็อกแทนทำพื้นห้องพิพาทใหม่เป็นการเข้าครอบครองห้องพิพาทของโจทก์ร่วม ฟ้องระบุบุกรุกเข้าไประหว่างวันที่ ๑ พย. ๒๕๕๓ ถึงวันที่ ๑๐ กพ ๒๕๓๕เวลากลางวันและกลางคืนติดต่อกัน ทางพิจารณาโจทก์ โจทก์ร่วมนำสืบไม่ได้ว่าจำเลยเริ่มบุกรุกเข้าไปในห้องพิพาทของโจทก์ร่วมในเวลากลางวันหรือกลางคืน จึงต้องฟังเป็นคุณแก่จำเลยว่าจำเลยบุกรุกเข้าไปในห้องพิพาทเวลากลางวัน โดยยกประโยชน์แห่งความสงสัยว่าจำเลยบุกรุกในเวลากลางคืนหรือไม่ ตาม ปวอ มาตรา ๒๒๗ วรรคสอง ความผิดฐานบุกรุกเกิดขึ้นตั้งแต่จำเลยเข้าครอบครองห้องพิพาทของโจทก์ร่วม การที่จำเลยครอบครองที่พิพาทต่อมาเป็นผลของการบุกรุกไม่ใช่ความผิดต่อเนื่องตราบเท่าที่จำเลยยังถือการครอบครองห้องพิพาทของโจทก์ร่วม การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดตาม ปอ มาตรา ๓๖๒ หาใช่ตามมาตรา ๓๖๕(๓)
๑๑. ความผิดฐานบุกรุกเกิดขึ้นตั้งแต่ครั้งแรกที่จำเลยเข้าไปรบกวนการครอบครองที่ดินพิพาท การที่จำเลยครอบครองที่ดินพิพาทต่อมาเป็นเพียงผลการบุกรุกเท่านั้นหาใช่ความผิดต่อเนื่อง การกระทำจำเลยเป็นความผิดตาม ปอ มาตรา๓๖๒ บทเดียว หาใช่เป็นความผิดตาม ปอ มาตรา ๓๖๕(๓)อีกบทไม่ ปัญหานี้เป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฏีกายกขึ้นวินิจฉัยได้แม้จำเลยไม่ฏีกา ตามปวอ มาตรา ๑๙๕,๒๒๕
๑๒.จำเลยเข้าไปปลูกมะพร้าวและสับปะรดในที่พิพาทในเวลากลางวัน แม้พืชผลที่จำเลยปลูกจะอยู่ในที่พิพาททั้งกลางวันกลางคืนตลอดมาก็เป็นผลของการกระทำคือเข้าไปในอสังหาริมทรัพย์ของโจทก์ร่วมในเวลากลางวันเท่านั้น จะถือจำเลยกระทำความผิดฐานบุกรุกในเวลากลางคืนตาม ปอ มาตรา ๓๖๕(๓)ไม่ได้
๑๓.แม้ที่ดินเกิดเหตุเป็นสาธารณะสมบัติของแผ่นดินอันเป็นที่ดินของรัฐ แต่การรถไฟแห่งประเทศไทยเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์และเป็นทรัพย์สินที่ใช้เพื่อประโยชน์ของแผ่นดินโดยเฉพาะ มิใช่สาธารณะสมบัติของแผ่นดินที่เป็นที่ดินรกร้างว่างเปล่าหรือสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกันตาม ปพพ มาตรา ๑๓๐๔(๑)(๒) ดังนั้น ผู้เข้าไปยึดถือครอบครองอาจมีความผิดฐานบุกรุกตาม ปอ มาตรา ๓๖๒,๓๖๕ แต่ความผิดฐานบุกรุกเกิดขึ้นและสำเร็จแล้วในทันทีที่จำเลยเข้าไปยึดถือครอบครองที่ดินที่เกิดเหตุ การที่จำเลยยึดถือครอบครองต่อมาเป็นเพียงผลของการบุกรุกเท่านั้น ไม่ใช่เป็นความผิดต่อเนื่องตราบเท่าที่จำเลยยังคงยึดถือครอบครองที่ดินที่เกิดเหตุแต่อย่างใด ความผิดฐานบุกรุกตามมาตรา ๓๖๕ระวางโทษจำคุกไม่เกิน ๕ ปี มีกำหนดอายุความ ๑๐ ปี ตาม ปอ มาตรา ๙๕(๓) และความผิดฐานบุกรุกตามมาตรา ๓๖๒ ระวางโทษจำคุกไม่เกิน ๑ ปี มีอายุความ ๕ ปี ตาม ปอ มาตรา ๙๕(๔) จำเลยเข้าไปยึดถือครอบครองที่เกิดเหตุก่อนวันที่ ๔ มีนาคม ๒๕๑๕ โจทก์ฟ้องคดีเมื่อ ๖ ตค ๒๕๔๖เกิน ๑๐ ปีนับแต่วันกระทำผิดจึงเป็นอันขาดอายุความฟ้องร้อง สิทธิ์นำคดีมาฟ้องระงับไปตาม ปวอ มาตรา ๓๙(๖)
๑๔. บ้านที่เกิดเหตุทั้งสองหลัง ผู้เสียหายทั้งสองใช้เป็นที่อยู่อาศัยร่วมกับบุตรเล็กๆของผู้เสียหายอีกหลายคนและทำการค้าขาย การที่จำเลยกับพวกเข้าไปบริเวณหน้าบ้านและร้านค้าที่เกิดเหตุ ใช้ก้อนอิฐ ก้อนหิน ไม้ และสิ่งของอื่นขว้างประตู หน้าต่าง หลังคา รวมทั้งสิ่งของต่างๆเสียหาย เป็นการทำให้เสียหาย ทำลาย ทำให้เสื่อมค่าซึ่งทรัพย์ของผุ้เสียหายเป็นความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์และยังเป็นการรบกวนการครอบครองอสังหาริมทรัพย์ของผู้เสียหายโดยปกติสุขเป็นความผิดบุกรุกตาม ปอ มาตรา ๓๕๘,๓๖๕(๑)(๒)(๓),๓๖๒ การบุกรุกเข้าไปขว้างปาบ้านผู้เสียหายจนได้รับความเสียหายเป็นกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบทลงโทษฐานบุกรุกซึ่งเป็นบทหนักตาม ปอ มาตรา ๙๐(ความผิดฐานบุกรุกตาม ปอ มาตรา ๓๖๕ ระวางโทษจำคุกไม่เกิน ๕ ปี ความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์ระวางโทษจำคุกไม่เกิน ๓ ปี )