ค้นหาบล็อกนี้

วันศุกร์ที่ 19 สิงหาคม พ.ศ. 2559

“อำนาจเจ้าพนักงาน”

๑.แม้ออกนอกเขตอำนาจ เมื่อปรากฏความผิดซึ่งหน้า พลตำรวจย่อมมีอำนาจในการจับกุม หากไปข่มขืนใจเขาให้ประโยชน์แก่ตนเพื่อไม่จับกุม ย่อมเป็นการใช้อำนาจในตำแหน่งโดยไม่ชอบ คำพิพากษาฏีกา ๑๒๔๕/๒๕๐๒
๒.ผู้ใหญ่บ้านเป็นพนักงานฝ่ายปกครอง มีอำนาจจับกุมผู้กระทำผิดอาญาในหมู่บ้านของตนได้ และมีอำนาจไปจับคนร้ายในหมู่บ้านใกล้เคียงได้ก็ต่อเมื่อมีเหตุร้ายสำคัญ เมื่อความผิดฐานลักทรัพย์ไม่ใช่เหตุร้ายสำคัญ ผู้ใหญ่บ้านไม่มีอำนาจไปจับกุมคนร้ายนอกเขตหมู่บ้านตน เมื่อผู้ใหญ่บ้านไปจับกุมคนร้ายนอกเขตหมู่บ้านตน เป็นการกระทำนอกเหนือหน้าที่จึงไม่อยู่ในฐานะเจ้าพนักงาน ไม่มีอำนาจในการจับกุม คำพิพากษาฏีกา ๑๖๑๒/๒๕๐๘
๓.เจ้าหน้าที่ตำรวจที่ทำหน้าที่ร้อยเวรสอบสวน ไปนั่งทานอาหารก็มีอำนาจในการจับกุมผู้กระทำความผิดซึ่งหน้า การชกต่อยต่อสู้ไม่ยอมให้จับเป็นการต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงาน คำพิพากษาฏีกา ๒๓๓๕/๒๕๑๘
๔.จ่าสิบตำรวจ ได้รับแต่งตั้งให้ปฏิบัติหน้าที่ราชการตามกฎหมาย จึงเป็นเจ้าพนักงาน แม้รับราชการที่กองตำรวจน้ำ ก็เป็นเพียงหน้าที่เฉพาะตามคำสั่งที่ทางราชการแต่งตั้ง โดยทั่วไปย่อมมีอำนาจในการสืบสวนคดีอาญา การที่เข้าทำการตรวจค้นจับกุมคนที่กระทำผิดแล้วเรียกเอาเงินจากบุคคลดังกล่าวเพื่อไม่นำส่งพนักงานสอบสวน เป็นการปฏิบัติหน้าที่ในฐานะเป็นเจ้าพนักงานตามกฎหมายมีความผิดตาม ป.อ. มาตรา ๑๔๙ คำพิพากษาฏีกา ๕๐๐/๒๕๓๗
ข้อสังเกต๑. แม้เป็นเจ้าพนักงานที่มีอำนาจในการจับกุมก็ไม่ได้หมายความว่า มีอำนาจในการจับกุมเสมอไปต้องพิจารณาจาก เขตอำนาจของเจ้าพนักงาน , สถานที่ และตัวบุคคล โดยสถานที่บางแห่งแม้มีอำนาจในการจับกุมก็ไม่สามารถทำการจับกุมได้ เช่นในพระบรมมหาราชวัง พระราชวัง วังของพระรัชทายาทหรือของพระบรมวงศ์ตั้งแต่สมเด็จเจ้าพระยาขึ้นไป พระราชนิเวศน์ พระตำหนัก หรือในสถานที่ซึ่งพระมหากษัตริย์พระราชินี พระรัชทายาท พระบรมวงศ์ตั้งแต่สมเด็จเจ้าฟ้าขึ้นไปหรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ประทับหรือพำนัก เว้นแต่นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีที่นายกมอบหมาย อนุญาตให้จับและแจ้งเลขาธิการพระราชวังหรือสมุหราชองค์รักษ์ทราบ หรือเจ้าพนักงานผู้ถวายหรือให้ความปลอดภัยแก่พระมหากษัตริย์ พระราชินี พระรัชทายาท พระบรมวงศ์ตั้งแต่สมเด็จเจ้าฟ้าขึ้นไป หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์เป็นผู้จับ ส่วนในเรื่องตัวบุคคลนั้น หากเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฏร์ สมาชิกวุฒิสภาในสมัยประชุม การจับกุมต้องได้รับอนุญาตจากสภาผู้แทนราษฏรหรือวุฒิสภาแล้วแต่กรณี หรือเป็นตัวแทนทางการทูตหรือสมาชิกในครอบครัว ซึ่งเป็นไปตามอนุสัญญากรุงเวียนนาว่าด้วยความสัมพันธ์ในทางการทูต คศ. ๑๙๖๑ ข้อ ๒๒,๒๙ และพรบ.ว่าด้วยเอกสิทธิ์และความคุ้มกันทางการทูต พ.ศ. ๒๕๒๗ มาตรา ๓ หรือในการจับกุมบุคคลในที่รโหฐาน(สถานที่ไม่ใช่ที่สาธารณะ) การเข้าจับกุมในที่รโหฐานต้องมีทั้งหมายจับและหมายค้น เว้นแต่เข้าข้อยกเว้นตามกฎหมาย (ป.ว.อ. มาตรา ๙๒) คือ
๑.๑. มีเสียงร้องให้ช่วย หรือพฤติการณ์แสดงให้เห็นว่ามีเหตุร้ายเกิดในที่รโหฐาน
๑.๒ปรากฏความผิดซึ่งหน้าในที่รโหฐาน
๑.๓บุคคลกระทำความผิดซึ่งหน้า ขณะถูกไล่จับหนีเข้าไปหรือมีเหตุแน่นแฟ้นควรเชื่อว่าเข้าไปซ่อนในที่รโหฐาน
๑.๔มีพยานหลักฐานตามสมควรว่า สิ่งของที่มีไว้เป็นความผิด ได้มาโดยการกระทำผิด หรืออาจเป็นพยานหลักฐานพิสูจน์การกระทำผิดได้ซ่อนหรืออยู่ในนั้นโดยมีเหตุอันควรเชื่อว่า เนื่องจากการเนินช้ากว่าจะเอาหมายค้นมาได้สิ่งของนั้นจะถูกโยกย้ายเสียก่อน
๑.๕ที่รโหฐานเมื่อผู้ถูกจับเป็นเจ้าของบ้าน และการจับมีหมายจับหรือเป็นกรณีจับโดยไม่ต้องมีหมายจับ (ป.ว.อ. มาตรา ๗๘
และในการตรวจค้นต้องทำการตรวจค้นในเวลากลางวันด้วยเว้นแต่จะเข้าข้อยกเว้นตามกฎหมาย ป.ว.อ. มาตรา ๙๖ คือ
๑.๑.๑ตรวจค้นในเวลากลางวันไม่เสร็จก็จะตรวจค้นในเวลากลางคืนได้
๑.๑.๒กรณีมีเหตุฉุกเฉินอย่างยิ่ง หรือมีกฎหมายพิเศษที่ให้ตรวจค้นได้ในเวลากลางคืน
๑.๑.๓ค้นเพื่อจับคนร้ายดุ คนร้ายสำคัญ โดยได้รับอนุญาตจากศาลตามข้อบังคับประธานศาลฏีกา
๒.เจ้าหน้าที่ตำรวจ เป็นเจ้าพนักงานที่กฎหมายให้มีอำนาจหน้าที่รักษาความสงบเรียบร้อยของประชาชน จึงเป็นพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจตาม ป.ว.อ. มาตรา๒(๑๖) ซึ่งสามารถจับกุมได้ก็ต่อเมื่อมีหมายจับหรือมีคำสั่งศาล เว้นแต่
๒.๑ พบการกระทำความผิดซึ่งหน้า
๒.๒ พบโดยพฤติการณ์อันควรสงสัยว่า ผู้นั้นน่าจะก่อเหตุร้ายให้เกิดภยันตรายแก่บุคคลหรือทรัพย์สินของผู้อื่น โดยมีอาวุธ เครื่องมือ หรือวัตถุอย่างอื่นที่สามารถใช้ในการกระทำผิดได้
๒.๓มีเหตุที่สามารถออกหมายจับได้ แต่มีความจำเป็นเร่งด่วนไม่อาจขอให้ศาลออกหมายจับได้
๒.๔เป็นการจับผู้ต้องหาหรือจำเลยที่หนีหรือจะหลบหนีในระหว่างถูกปล่อยชั่วคราว
๓.เมื่อเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจแล้ว ย่อมมีอำนาจในการจับกุมผู้กระทำความผิด แม้เป็นเวลานอกราชการ หรือนอกสถานที่แม้ออกนอกเขตอำนาจที่ตนรับราชการอยู่ก็ตาม เมื่อปรากฏความผิดซึ่งหน้า พลตำรวจย่อมมีอำนาจในการจับกุมได้ตาม ป.ว.อ. มาตรา ๗๘(๑) แต่การที่เจ้าหน้าที่ตำรวจไปข่มขืนใจเขาให้เงินทองทรัพย์สินหรือประโยชน์แก่ตนเพื่อละเว้นไม่จับกุม ย่อมเป็นการใช้อำนาจในตำแหน่งโดยไม่ชอบ จะอ้างว่าอยู่นอกเขตอำนาจของตนที่ตนทำงานอยู่จึงไม่สามารถทำการจับกุมได้ ดังนี้ไม่สามารถอ้างได้
๔.ผู้ใหญ่บ้านเป็นพนักงานฝ่ายปกครอง มีอำนาจจับกุมผู้กระทำผิดอาญาในหมู่บ้านของตนได้ และมีอำนาจไปจับคนร้ายในหมู่บ้านใกล้เคียงได้ก็ต่อเมื่อมีเหตุร้ายสำคัญซึ่งก็คือคดีอุกฉกรรจ์นั้นเอง จึงไม่เหมือนเจ้าหน้าที่ตำรวจที่มีอำนาจในการจับกุมทั่วราชอาณาจักรได้ แม้จะอยู่นอกเขตพื้นที่ที่ตนรับราชการอยู่ก็ตาม เมื่อความผิดฐานลักทรัพย์ไม่ใช่เหตุร้ายสำคัญ ผู้ใหญ่บ้านไม่มีอำนาจไปจับกุมคนร้ายนอกเขตหมู่บ้านตน เมื่อผู้ใหญ่บ้านไปจับกุมคนร้ายนอกเขตหมู่บ้านตน เป็นการกระทำนอกเหนือหน้าที่จึงไม่อยู่ในฐานะเจ้าพนักงาน ไม่มีอำนาจในการจับกุม เมื่อไม่เข้าข้อยกเว้นที่สามารถจับกุมได้โดยไม่มีหมายจับ หรือไม่เข้าข้อยกเว้นกรณีราษฏรจับราษฏรด้วยกันเองได้ตาม ป.ว.อ. มาตรา ๗๙ การจับกุมเป็นการจับกุมที่ไม่มีอำนาจ เป็นความผิดฐานหน่วงเหนียวกักขังผู้อื่นให้ปราศจากเสรีภาพในร่างกาย
๕.แม้เป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ทำหน้าที่ร้อยเวรสอบสวนมีอำนาจหน้าที่ในการสอบสวนคดีอาญาไม่ได้มีหน้าที่ในการสืบสวนปราบปราม และไม่ได้อยู่ในขณะปฏิบัติหน้าที่ราชการ โดยไปนั่งทานอาหารก็มีอำนาจในการจับกุมผู้กระทำความผิดซึ่งหน้า การชกต่อยต่อสู้ไม่ยอมให้จับเป็นการต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงาน โดยใช้กำลังประทุษร้าย ตาม ป.อ. มาตรา ๑๓๘วรรคสองแล้ว
๖แม้เป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจยศ.จ่าสิบตำรวจ การที่ได้รับแต่งตั้งให้ปฏิบัติหน้าที่ราชการตามกฎหมาย จึงเป็นเจ้าพนักงาน แม้รับราชการที่กองตำรวจน้ำ ก็เป็นเพียงหน้าที่เฉพาะตามคำสั่งที่ทางราชการแต่งตั้ง โดยทั่วไปย่อมมีอำนาจในการสืบสวนคดีอาญา การที่เข้าทำการตรวจค้นจับกุมคนที่กระทำผิดแล้วเรียกเอาเงินจากบุคคลดังกล่าวเพื่อไม่นำส่งพนักงานสอบสวน เป็นการปฏิบัติหน้าที่ในฐานะเป็นเจ้าพนักงานตามกฎหมายมีความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานเรียกทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดสำหรับตนเองโดยมิชอบด้วยกฎหมาย ตาม ป.อ. มาตรา ๑๔๙
๗.เป็นความแตกต่างของกฎหมายที่เจ้าหน้าที่ตำรวจมีอำนาจในการจับกุมผู้กระทำความผิดทุกตัวบทกฎหมาย แตกต่างจากเจ้าหน้าที่ของรัฐประเภทอื่นที่มีอำนาจจับกุมได้เฉพาะในความผิดที่เกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ของตนเท่านั้น เช่น เจ้าหน้าที่ป่าไม้ก็มีอำนาจจับกุมผู้กระทำความผิดตาม พรบ.ป่าไม้ฯ พรบ.ป่าสงวนฯ พรบ.อุทยานแห่งชาติ เท่านั้น หรือเจ้าหน้าที่ศุลกากรก็มีอำนาจจับกุมผู้ที่กระทำความผิดเกี่ยวพรบ.ศุลกากร ส่วนที่จะจับกุมผู้กระทำผิดในข้อหาอื่นก็เหมือนราษฏร์ที่ไม่สามารถจับกุมราษฏรด้วยกันเองได้ เว้นแต่เป็นความผิดซึ่งหน้าและต้องเป็นความผิดตามที่ระบุไว้ในบัญชีท้ายประมวลกฏหมายวิธีพิจารณาความอาญาด้วย จึงเห็นได้ว่าอำนาจในการจับกุมของเจ้าหน้าที่ตำรวจมีมากกว่าข้าราชการในหน่วยงานอื่น หรือแม้ตนไม่ได้มีหน้าที่ในการจับกุมสืบสวนปราบปรามโดยตรง ก็ยังมีอำนาจในการจับกุมโดยถือเป็นเจ้าพนักงานอยู่ หรือแม้ออกเวรไปแล้วก็ยังมีอำนาจในการจับกุมได้ กล่าวคือ เมื่อเป็นตำรวจแล้วเป็นตำรวจตลอด ๒๔ ชั่วโมง

ไม่มีความคิดเห็น: