ค้นหาบล็อกนี้

วันเสาร์ที่ 20 สิงหาคม พ.ศ. 2559

“คดีอาญาที่มีคำขอส่วนแพ่ง”

๑.ฟ้องฐานยักยอกและให้ใช้ราคาทรัพย์ จำเลยตามระหว่างพิจารณาของศาลฏีกา ศาลฏีกาสั่งในส่วนคดีอาญาให้ระงับ คดีแพ่งให้เลื่อนไปตามกฎหมายวิธีพิจารณาคดีแพ่ง คำพิพากษาฏีกา ๑๒๓๘/๒๔๙๓
๒.ในคดีแพ่งเกี่ยวเนื่องคดีอาญา ศาลยกฟ้องในคดีอาญาแต่ให้โจทก์ชนะในส่วนแพ่ง เมื่อจำเลยจะอุทธรณ์ในคดีส่วนแพ่ง ต้องถืออายุความตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาคดีแพ่ง ไม่ใช่ถืออายุความ ๑๕ วันตาม ประมวลกฏหมายวิธีพิจารณาความอาญา คำพิพากษาฏีกา ๗๖๒/๒๕๐๔
๓.ศาลไต่สวนมูลฟ้องในคดีที่ราษฏร์เป็นโจทก์ฟ้องคดีแพ่งเกี่ยวเนื่องคดีอาญา ในชั้นไต่สวนมูลฟ้อง ศาลงดสืบพยานโจทก์แล้วพิพากษายกฟ้องในส่วนคดีอาญาและไม่รับฟ้องคดีแพ่ง ศาลอุทธรณ์พิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้นให้สืบพยานโจทก์ต่อไปและมีคำสั่งใหม่ จำเลยไม่อยู่ในฐานะเป็นจำเลยในคดีอาญา จึงฏีกาในส่วนคดีอาญาไม่ได้ สำหรับคดีแพ่งจำเลยฏีกาได้ คำพิพากษาฏีกา ๑๘๘๑/๒๕๑๐
๔.คดีแพ่งเกี่ยวเนื่องคดีอาญา จำเลยยื่นคำให้การต้องปฏิบัติตามกฎหมายวิธีพิจารณาคดีแพ่ง เมื่อจำเลยไม่สู้เรื่องอายุความไว้ ศาลชั้นต้นไม่พิพากษาในส่วนนี้ เมื่อศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาแล้วจำเลยจะมาอุทธรณ์ใน่ส่วนนี้ ต้องห้ามตามบทบัญญัติกฎหมาย คำพิพากษาฏีกา ๖๐๗/๒๕๓๖
๕.ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องในคดีแพ่งเกี่ยวเนื่องคดีอาญา แล้วมีคำฟ้องประทับฟ้อง แสดงว่ามีคำสั่งประทับฟ้องทั้งคดีอาญาและคดีแพ่ง หากจำเลยจะต่อสู้คดีแพ่งต้องให้การต่อสู้พร้อมพร้อมคำให้การต่อสู้ในคดีอาญา เมื่อจำเลยให้การมารวมๆว่าปฏิเสธฟ้องโจทก์ทั้งสิ้น ถือคำให้การในส่วนแพ่งจำเลยให้การปฏิเสธลอย จึงไม่มีประเด็นข้อพิพาทว่า โจทก์ไม่ใช่เจ้าของรถพิพาท และจำเลยซื้อมาโดยสุจริตในท้องตลาด คดีในส่วนแพ่งต้องห้ามอุทธรณ์ คำพิพากษาฏีกา ๕๗๑๓/๒๕๓๙
๖.คำขอให้คืนหรือใช้ราคาเป็นคำขอส่วนแพ่ง เมื่อจำเลยไม่ได้อุทธรณ์ไว้ จึงไม่ใช่ข้อที่ว่ามาแล้วในศาลอุทธรณ์ต้องห้ามฏีกา ศาลฏีกาไม่รับวินิจฉัยให้ คำพิพากษาฏีกา ๑๒๔๓/๒๕๔๕
ข้อสังเกต ๑. การฟ้องคดีแพ่งเกี่ยวเนื่องคดีอาญา จะฟ้องต่อศาลซึ่งพิจารณาคดีอาญาหรือต่อศาลที่มีอำนาจชำระคดีแพ่งก็ได้ การพิจารณาคดีแพ่งเป็นไปตามบทบัญญัติในประมวลกฏหมายวิธีพิจารณาคดีแพ่ง
๒.จำเลยถึงแก่ความตายในระหว่างการพิจารณาคดีของศาล สิทธิ์ในการนำคดีอาญามาฟ้องระงับไปตาม ปวอ มาตรา ๓๙(๑) ศาลจำหน่ายคดีในส่วนคดีอาญา ในส่วนคดีแพ่งต้องดำเนินการตามปวพ. มาตรา ๔๒ โดยต้องเลื่อนการพิจารณาคดีไปจนกว่าทายาทหรือผู้จัดการมรดกหรือบุคคลที่ปกครองทรัพย์มรดกจะเข้ามาเป็นคู่ความแทนที่ โดยมีคำขอเข้ามาเองหรือศาลหมายเรียกให้เข้ามา คำขอเช่นว่านี้ต้องยื่นภายในกำหนดระยะเวลา ๑ ปีนับแต่วันที่จำเลยถึงแก่ความตาย หากไม่มีคำขอภายในระยะเวลาดังกล่าวให้ศาลจำหน่ายคดีออกเสียจากสารบบความ
๓.ในคดีแพ่งเกี่ยวเนื่องคดีอาญา ศาลยกฟ้องในคดีอาญาแต่ให้โจทก์ชนะในส่วนแพ่ง เช่นศาลฟังไม่ได้ว่าจำเลยมีเจตนาที่จะลักทรัพย์แต่เป็นเรื่องหยิบฉวยมาโดยวิสาสะ เป็นเรื่องขาดเจตนาในการกระทำผิด โดยจำเลยไม่ได้ประสงค์หรือเล็งเห็นผลในการกระทำความผิดฐานลักทรัพย์ แต่ที่หยิบไปเพราะถือวิสาสะในความเป็นเพื่อนกัน เมื่อจำเลยไม่มีเจตนาในการกระทำความผิดฐานลักทรัพย์ จึงพิพากษายกฟ้องในคดีอาญา แต่ในคดีส่วนแพ่งผู้เสียหายซึ่งเป็นเจ้าของทรัพย์มีสิทธิ์ติดตามเอาคืนซึ่งทรัพย์ของตนจากผู้ไม่มีสิทธิ์ยึดถือเอาไว้ได้ตาม ปพพ มาตรา ๑๓๓๖ จำเลยจึงต้องคืนทรัพย์ที่เอามา การพิจารณาคดีส่วนแพ่งต้องเป็นไปตามบทบัญญัติในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาคดีแพ่ง ทั้งนี้เป็นไปตามปวอ มาตรา ๔๐ ดังนั้นเมื่อจำเลยจะอุทธรณ์ในคดีส่วนแพ่ง ต้องถืออายุความตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาคดีแพ่ง มาตรา ๒๒๙ ซึ่งต้องยื่นอุทธรณ์ต่อศาลชั้นต้นซึ่งมีคำพิพากษาหรือคำสั่งภายในกำหนด ๑ เดือน นับแต่วันที่ได้อ่านคำพิพากษาหรือคำสั่งนั้น ไม่ใช่ถืออายุความ ๑๕ วันตาม ประมวลกฏหมายวิธีพิจารณาความอาญา (เดิมการยื่นอุทธรณ์ในคดีอาญาต้องยื่นภายในกำหนด ๑๕ วัน แต่ปัจจุบันนี้ ปวอ มาตรา ๑๙๘ กำหนดให้ยื่นอุทธรณ์ในคดีอาญาภายในกำหนด ๑ เดือนนับแต่วันที่อ่านหรือถือว่าได้อ่านคำพิพากษาหรือคำสั่ง) นั้นก็คือศาลฏีกาตีความว่า การพิจารณาคดีในส่วนแพ่งต้องเป็นไปตามบทบัญญัติในกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ไม่ใช่นำบทบัญญัติในส่วนคดีอาญามาใช้บังคับ
๔.ในคดีที่ราษฏร์เป็นโจทก์ฟ้องคดีแพ่งเกี่ยวเนื่องคดีอาญา ต้องมีการไต่สวนมูลฟ้องก่อนเพื่อกันไม่ให้มีการแกล้งฟ้องกัน ดังนั้นในส่วนคดีอาญา เมื่อศาลยังไม่ได้มีคำสั่งประทับฟ้องไม่ให้ถือจำเลยอยู่ในฐานะเป็นจำเลย ปวอ มาตรา๑๖๕ วรรคท้ายตอนท้าย เมื่อจำเลยยังไม่มีฐานะเป็นจำเลยจึงไม่มีสิทธิ์ที่จะนำพยานมาสืบแต่ไม่ตัดสิทธิ์ในการที่จะมีทนายมาช่วยเหลือในการซักค้านพยานโจทก์โดยจำเลยจะมาศาลหรือไม่มาศาลแต่ตั้งทนายมาซักค้านพยานโจทก์ก็ได้ และกฎหมายห้ามศาลถามคำให้การจำเลยว่าจะรับสารภาพหรือปฏิเสธ แสดงให้เห็นเจตนารมณ์กฎหมายว่า เมื่อจำเลยยังไม่อยู่ในฐานะจำเลยจึงไม่มีสิทธิ์อย่างที่จำเลยควรจะมีตามที่บัญญัติไว้ตาม ปวอ มาตรา ๘ ดังนั้น ในชั้นไต่สวนมูลฟ้องการที่ ศาลงดสืบพยานโจทก์แล้วพิพากษายกฟ้องในส่วนคดีอาญาและไม่รับฟ้องคดีแพ่ง แม้ต่อมาศาลอุทธรณ์จะพิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้นให้สืบพยานโจทก์ต่อไปและมีคำสั่งใหม่ เมื่อจำเลยไม่อยู่ในฐานะเป็นจำเลยในคดีอาญา จึงไม่มีสิทธิ์ในส่วนคดีอาญาได้ สำหรับคดีแพ่งจำเลยฏีกาได้ตามบทบัญญัติในกฎหมายวิธีพิจารณาคดีแพ่ง
๕.คดีแพ่งเกี่ยวเนื่องคดีอาญา จำเลยยื่นคำให้การต้องปฏิบัติตามกฎหมายวิธีพิจารณาคดีแพ่ง คือจำเลยแสดงโดยแจ้งชัดในคำให้การว่า จำเลยยอมรับหรือปฏิเสธข้ออ้างของโจทก์ทั้งสิ้นหรือแต่บางส่วน รวมทั้งเหตุแห่งการปฏิเสธนั้นด้วย ปวพ มาตรา ๑๗๗ วรรคสอง เมื่อจำเลยไม่สู้เรื่องอายุความไว้ จึงไม่มีประเด็นข้อพิพาทว่า คดีโจทก์ขาดอายุความในส่วนแพ่งหรือไม่อย่างไร เพราะประเด็นข้อพิพาทจะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อโจทก์กล่าวอ้างแต่จำเลยไม่ยอมรับจึงจะเกิดเป็นประเด็นข้อพิพาทในคดีแพ่ง ที่ศาลจะกำหนดว่าให้คู่ความฝ่ายใดนำสืบก่อนแล้วอีกฝ่ายนำสืบแก้ ตาม ปวพ มาตรา ๑๘๓ เมื่อจำเลยไม่สู้ในเรื่องอายุความไว้ถือ จำเลยยอมรับว่าคดีโจทก์ไม่ขาดอายุความในส่วนแพ่ง ทั้งอายุความในส่วนคดีแพ่งไม่ใช่ปัญหาที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีงามของประชาชนเหมือนในคดีอาญาที่ศาลสามารถยกขึ้นมาเองได้ตาม ปวพ มาตรา ๑๙๕ ทั้งใน ปพพ มาตรา ๑๙๓/๒๙ บัญญัติห้ามไม่ให้ศาลในคดีส่วนแพ่งยกเหตุเรื่องคดีขาดอายุความมายกฟ้องหากจำเลยไม่ได้ยกเรื่องอายุความมาเป็นข้อต่อสู้ ดังนั้นการที่ ศาลชั้นต้นไม่พิจารณาว่าคดีโจทก์ขาดอายุความในส่วนคดีแพ่งหรือไม่ เมื่อศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาแล้วจำเลยจะมาอุทธรณ์ในส่วนนี้ไม่ได้ ต้องห้ามตามบทบัญญัติกฎหมาย เพราะจำเลยไม่สู้ว่าคดีโจทก์ขาดอายุความเป็นการไม่ยื่นคำให้การโดยแจ้งชัดว่ายอมรับหรือปฏิเสธข้ออ้างหรือข้อเถียงของโจทก์อย่างไร จึงไม่เกิดประเด็นข้อพิพาทว่าคดีโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ การที่จำเลยจะอุทธรณ์ว่าคดีโจทก์ขาดอายุความย่อมเป็นการอุทธรณ์ในข้อที่ไม่ได้ว่ามาแล้วในศาลชั้นต้นต้องห้ามไม่ให้อุทธรณ์ ตาม ปวพ มาตรา ๒๒๕
๖.การที่ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องในคดีแพ่งเกี่ยวเนื่องคดีอาญา แล้วมีคำฟ้องประทับฟ้อง แสดงว่ามีคำสั่งประทับฟ้องทั้งคดีอาญาและคดีแพ่ง หากจำเลยจะต่อสู้คดีแพ่งต้องให้การต่อสู้พร้อมพร้อมคำให้การต่อสู้ในคดีอาญา โดยในคดีแพ่งจำเลยต้อง แสดงโดยแจ้งชัดในคำให้การว่า จำเลยยอมรับหรือปฏิเสธข้ออ้างของโจทก์ทั้งสิ้นหรือแต่บางส่วน รวมทั้งเหตุแห่งการปฏิเสธนั้นด้วย ปวพ มาตรา ๑๗๗ วรรคสองเพื่อให้เกิดประเด็นข้อพิพาท จำเลยจะมาให้การปฏิเสธลอยแบบในคดีอาญาว่าจำเลยขอปฏิเสธฟ้องโจทก์เสียทั้งสิ้นไม่ได้ เพราะในคดีแพ่งเมื่อไม่แสดงโดยแจ้งชัดว่ายอมรับหรือปฏิเสธก็จะไม่เกิดประเด็นข้อพิพาทในส่วนนี้ เมื่อจำเลยให้การมารวมๆว่าปฏิเสธฟ้องโจทก์ทั้งสิ้น เป็นการให้การปฏิเสธลอย ถือจำเลยไม่ให้การปฏิเสธไว้ต้องถือว่ายอมรับตามที่โจทก์ฟ้องมา คำให้การในส่วนแพ่งที่จำเลยให้การปฏิเสธลอยไม่ใช่การให้การโดยชัดแจ้งว่ายอมรับหรือปฏิเสธข้ออ้างหรือข้อเถียงของโจทก์ในส่วนไหน จึงไม่มีประเด็นข้อพิพาทว่า โจทก์ไม่ใช่เจ้าของรถพิพาท และจำเลยซื้อมาโดยสุจริตในท้องตลาดหรือไม่ จึงไม่ได้ประโยชน์จาก ปพพ มาตรา ๑๓๓๒ ที่เมื่อซื้อทรัพย์มาโดยสุจริตในท้องตลาด ไม่จำต้องคืนของแก่เจ้าของ เว้นแต่เจ้าของจะชดใช้ราคา คดีในส่วนแพ่งต้องห้ามอุทธรณ์เพราะจำเลยไม่ได้ต่อสู้ว่า โจทก์ไม่ใช่เจ้าของรถพิพาท และจำเลยซื้อมาโดยสุจริตในท้องตลาด การให้การปฏิเสธลอยเป็นการไม่ยื่นคำให้การโดยแจ้งชัดว่ายอมรับหรือปฏิเสธข้ออ้างหรือข้อเถียงของโจทก์อย่างไร จึงไม่เกิดประเด็นข้อพิพาทว่าโจทก์เป็นเจ้าของรถพิพาทหรือไม่และจำเลยซื้อมาโดยสุจริตในท้องตลาดอันจะได้ประโยชน์ตามปพพ มาตรา ๑๓๓๒ การที่จำเลยจะอุทธรณ์ว่ารถเป็นของตนที่ได้ซื้อมาโดยสุจริตจากในท้องตลาดย่อมเป็นการอุทธรณ์ในข้อที่ไม่ได้ว่ามาแล้วในศาลชั้นต้นต้องห้ามไม่ให้อุทธรณ์ ตาม ปวพ มาตรา ๒๒๕วรรคแรก
๗.ในคดีอาญาจำเลยไม่ต้องแสดงโดยชัดแจ้งในคำให้การว่าจำเลยยอมรับหรือปฏิเสธข้ออ้างของโจทก์รวมทั้งเหตุแห่งการนั้น จำเลยสามารถให้การปฏิเสธลอยว่าไม่ได้กระทำผิดตามฟ้องโจทก์โดยไม่จำต้องอ้างเหตุแห่งการปฏิเสธ เพราะในปวอ มาตรา ๑๗๒ จำเลยจะให้การหรือไม่ให้การก็ได้ หากจำเลยไม่ยอมให้การก็ให้ศาลจดรายงานกระบวนพิจารณาไว้และดำเนินการพิจารณาต่อไป ทั้งกฎหมายสันนิษฐานไว้ก่อนว่าตราบใดยังไม่มีคำพิพากษาถึงที่สุดพิพากษาว่าจำเลยเป็นคนกระทำผิดตราบนั้นจะถือว่าจำเลยกระทำผิดตามกฏหมายไม่ได้ หรือแม้มีเหตุอันควรสงสัยว่าจำเลยได้กระทำความผิดหรือไม่ ปวอ มาตรา ๒๒๗ วรรคสองก็ให้ศาลยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้จำเลย ดังนั้นจำเลยจะให้การโดยชัดแจ้ง หรือไม่ให้การเลย หรือปฏิเสธลอยว่าจำเลยไม่ได้ทำผิดตามฟ้องโจทก์โดยไม่อ้างเหตุในการปฏิเสธก็ได้ จะนำเอาปวอ มาตรา ๑๕ ประกอบปวพ มาตรา ๑๗๗ ที่จำเลยต้องให้การโดยชัดแจ้งว่ายอมรับหรือปฏิเสธข้ออ้างหรือข้อเถียงของโจทก์ในส่วนไหน มาใช้บังคับในกรณีนี้ไม่ได้
๘.คำขอให้คืนหรือใช้ราคาเป็นคำขอส่วนแพ่ง เมื่อจำเลยไม่ได้อุทธรณ์ไว้ จึงต้องถือว่าประเด็นเรื่องค่าเสียหายเป็นอันยุติไปเมื่อพ้นกำหนดเวลาที่สามารถอุทธรณ์ได้ตามกฎหมายคือเมื่อพ้น ๑ เดือนนับแต่วันที่ได้อ่านคำพิพากษาของศาลชั้นต้น ตาม ปวพ มาตรา ๒๒๙ อีกทั้งการที่ไม่ได้ยื่นอุทธรณ์ในประเด็นดังกล่าวไว้ ถือว่าไม่ใช่ข้อที่ว่ามาแล้วในศาลอุทธรณ์จึงต้องห้ามฏีกาตาม ปวพ มาตรา ๒๒๕ วรรคแรก , ๒๔๙ ศาลฏีกาไม่รับวินิจฉัยให้

ไม่มีความคิดเห็น: