๑.ผู้ต้องหารับสารภาพในข้อหาทำร้ายร่างกาย พนักงานอัยการฟ้องคดีโดยไม่มีการสอบสวน ถ้าผู้ต้องหาให้การรับว่ากระทำผิดตามข้อกล่าวหาจริง พนักงานอัยการย่อมมีอำนาจฟ้องโดยไม่ต้องมีการสอบสวน ผู้ต้องหาให้การรับว่าทำร้ายร่างกายจริง แต่กระทำไปเพื่อป้องกันหรือโดยจำเป็นหรือกระทำโดยบัดดาลโทสะ ดังนี้ไม่ใช่การรับสารภาพ หรือผู้ต้องหาให้การว่าไม่ได้ทำร้ายผู้เสียหาย แต่เพื่อไม่ให้เป็นการยุ่งยากแก่คดี ขอรับสารภาพ ถือไม่ได้ว่าเป็นการรับสารภาพ ต้องมีการสอบสวนก่อนฟ้อง คำพิพากษาฏีกา ๑๓๑+๘/๒๕๒๓,๑๑๑๓/-๒๕๑๐
๒.ฟ้องว่าเข้าไปในเคหสถานผู้เสียหายโดยไม่มีเหตุอันควรและด่าผู้เสียหาย เป็นการรบกวนการครอบครองอสังหาริมทรัพย์โดยปกติสุข จำเลยให้การว่าเข้าไปในบ้านเพื่อขอยืมเงิน เป็นการอ้างว่าเข้าไปในเคหสถานของผู้เสียหายโดยมีเหตุอันควร เป็นคำให้การปฏิเสธ และเมื่อจำเลยให้การว่า ไม่มีเงินสู้คดี ขอให้การรับสารภาพ ถือเป็นคำให้การปฏิเสธ ชอบที่จะให้โจทก์รับตัวจำเลยคืนเพื่อทำการสอบสวนต่อไป คำพิพากษาฏีกา ๓๖๙๓/๒๕๒๔
๓.ผู้ต้องหารับสารภาพต่อหน้าพนักงานสอบสวน ให้พนักงานสอบสวนงดการสอบสวนแล้วนำผู้ต้องหาส่งพนักงานอัยการเพื่อฟ้องคดีด้วยวาจาต่อศาลแขวง หากจำเลยรับสารภาพให้ศาลบันทึกคำให้การรับสารภาพของจำเลยแล้วพิพากษาคดีไปทันที แต่หากศาลเห็นว่าการกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิด ศาลพิพากษายกฟ้องได้ คำพิพากษาฏีกา ๑๐๕/๒๕๐๖
ข้อสังเกต ๑. ป.ว.อ. มาตรา ๑๒๐ ห้ามไม่ให้พนักงานอัยการยื่นฟ้องสำหรับความผิดที่ไม่ได้มีการสอบสวน หากพนักงานอัยการยื่นฟ้องในความผิดที่ไม่ได้มีการสอบสวนมาก่อนถือพนักงานอัยการไม่มีอำนาจฟ้อง ศาลยกฟ้อง หากศาลยกฟ้องแล้ว พนักงานอัยการส่งเรื่องคืนให้พนักงานสอบสวนทำการสอบสวน พนักงานสอบสวนทำการสอบสวนแล้วส่งสำนวนให้พนักงานอัยการ พนักงานอัยการยื่นฟ้อง กรณีนี้ถือได้ฟ้องในความผิดที่ได้มีการสอบสวนแล้ว จะถือว่าเป็นฟ้องช้ำหรือเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำกับคดีเก่าที่ศาลยกฟ้องไม่ได้ เพราะในคดีก่อนยังไม่ได้มีการวินิจฉัยในเนื้อหาตามที่พนักงานอัยการยื่นฟ้องว่า การกระทำของจำเลยเป็นความผิดตามที่พนักงานอัยการยื่นฟ้องหรือไม่ หรือการกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิด คดีขาดอายุความ มีเหตุตามกฎหมายที่จำเลยไม่ต้องรับโทษหรือไม่ ตาม ป.ว.อ. มาตรา ๑๘๕ จึง ถือว่าศาลยังไม่ได้วินิจฉัยในเนื้อหาที่พนักงานอัยการยื่นฟ้อง การนำคดีมาฟ้องอีกจึงไม่ใช่การฟ้องซ้ำหรือการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำ หรือเป็นการนำคดีอาญาที่มีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดไปแล้วมาฟ้องอีกตาม ป.ว.อ. มาตรา ๓๙(๔)
๒.แต่ใน พรบ.วิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงฯ มาตรา ๒๐ บัญญัติว่าหากผู้ต้องหาให้การรับสารภาพตลอดข้อหาต่อพนักงานสอบสวน ให้พนักงานสอบสวนส่งตัวผู้ต้องหาต่อพนักงานอัยการเพื่อฟ้องคดีโดยไม่ต้องทำการสอบสวน นั้นก็คือ บทบัญญัติในวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงเป็นข้อยกเว้น ป.ว.อ. มาตรา ๑๒๐ นั้นเอง
๓.ทางปฏิบัติพนักงานสอบสวนจะสอบปากคำผู้ต้องหามาเพียงแผ่นเดียวซึ่งในเนื้อหาคำให้การของผู้ต้องหาจะให้การรับสารภาพ แล้วนำตัวผู้ต้องหาส่งพนักงานอัยการภายใน ๔๘ ชั่วโมงเพื่อให้พนักงานอัยการพิจารณาว่าจะฟ้องหรือไม่อย่างไร บางครั้งอาจสอบปากคำผู้จับกุมมาพร้อมคำให้การผู้ต้องหาที่รับสารภาพ ซึ่งเมื่อส่งสำนวนมา พนักงานอัยการต้องตรวจสอบว่าเป็นผู้ต้องหาจริงหรือไม่ เพราะในทางปฏิบัติมีการเปลี่ยนตัวผู้ต้องหาไม่ทราบว่าในชั้นจับกุม หรือในชั้นสอบสวนหรือในชั้นนายประกันหรือในชั้นเจ้าหน้าที่ตำรวจที่นำสำนวนมาส่ง โดยจะให้เจ้าหน้าที่ธุรการของพนักงานอัยการทำการตรวจสอบจากบัตรประชาชนว่าเป็นบุคคลเดียวกับที่สอบสวนและจับกุมมาหรือไม่อย่างไร หากมีชื่อตรงกัน หากมีการเปลี่ยนตัวผู้ต้องหาก็คงทำในชั้นจับกุมหรือในชั้นสอบสวน เพราะมีบ่อยครั้งที่เวลานำตัวไปฟ้องศาลแล้วปรากฏว่าอายุผู้ต้องหาแตกต่างจากความเป็นจริงโดยในสำนวนการสอบสวนผู้ต้องหาอายุ ๕๐ ปีเศษ แต่ตอนสอบถามคำให้การปรากฏว่าผู้ต้องหาน่ามีอายุ ๒๐ ปีกว่า ซึ่งก็จะทำให้ทราบว่ามีการเปลี่ยนตัวผู้ต้องหา หรือกรณีศาลเรียกชื่อ แต่ไม่มีผู้ต้องหาคนใดขานรับเพราะมีการเปลี่ยนตัวผู้ต้องหาแต่คนที่เปลี่ยนตัวจำชื่อคนที่ถูกเปลี่ยนตัวไม่ได้ ซึ่งศาลจะเรียกพนักงานอัยการมาสอบถาม ซึ่งพนักงานอัยการจะนำบันทึกที่เจ้าหน้าที่ธุรการอัยการทำการตรวจสอบบัตรประชาชนกับในสำนวนการสอบสวนว่ามีชื่อนามสกุลที่อยู่ บิดามารดาเดียวกันหรือไม่ ซึ่งนับต่อแต่นี้ก็เป็นเรื่องของศาลที่จะดำเนินคดีกับเจ้าหน้าที่ตำรวจฐานละเมิดอำนาจศาลหรือไม่อย่างไร แต่ก็มีหลายกรณีที่ไม่อาจตรวจสอบจากบัตรประชาชนได้เพราะผู้ต้องหาเป็นคนต่างด้าวไม่มีบัตรประชาชน ไม่สามารถพูดภาษาไทยได้ จึงเป็นช่องว่างในการเปลี่ยนตัวผู้ต้องหา หรือบางทีข้าราชการที่ถูกจับในบ่อนการพนันก็มีการเปลี่ยนตัวเพราะข้าราชการที่ถูกดำเนินคดีจนศาลมีคำพิพากษาลงโทษถือขาดคุณสมบัติการเป็นข้าราชการจึงมักมีการเปลี่ยนตัวผู้ต้องหาที่เป็นข้าราชการแอบไปเล่นการพนันในบ่อน
๔.เมื่อพนักงานสอบสวนนำคำให้การรับสารภาพในชั้นสอบสวนของผู้ต้องหาส่งมาพร้อมตัวผู้ต้องหา พนักงานอัยการจะพิจารณาว่าเป็นคดีอยู่ในอำนาจศาลแขวงหรือศาลจังหวัดที่ให้นำวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงมาใช้นั้นศาลดังกล่าวมีอำนาจที่จะพิจารณาพิพากษาหรือไม่ หากใช่ก็จะดูว่า คำให้การผู้ต้องหาเป็นคำให้การรับสารภาพหรือไม่อย่างไร หรือเป็นการรับสารภาพที่มีเงื่อนไขหรือไม่ หรือเป็นคำให้การปฏิเสธ เช่นรับว่าขับรถชนผู้เสียหายได้รับบาดเจ็บจริงแต่ผู้เสียหายวิ่งตัดหน้ารถ หรือขับรถยนต์หักหลบรถสิบล้อที่เปลี่ยนช่องทางเดินรถโดยกระทันหันโดยคนขับรถสิบล้อเปลี่ยนช่องทางเดินรถตัดหน้ากระทันหันไม่ให้สัญญาณล้ำเข้ามาในช่องทางเดินรถของผู้ต้องหา ผู้ต้องหาจึงหักหลบไปชนคนที่เดินข้างถนน หรืออ้างว่ากระทำไปเพื่อป้องกัน กระทำผิดด้วยความจำเป็นหรือเป็นการกระทำโดยบันดาลโทสะหรือไม่ หากใช่ก็จะคืนสำนวนให้พนักงานสอบสวนกลับไปทำสำนวนการสอบสวนใหม่เต็มรูปแบบเพราะถือเป็นคำให้การปฏิเสธ
๕.ผู้ต้องหารับสารภาพในข้อหาทำร้ายร่างกาย พนักงานอัยการฟ้องคดีโดยไม่ต้องมีการสอบสวน แต่ในขณะที่ศาลสอบถามคำให้การผู้ต้องหา ถ้าผู้ต้องหาให้การรับว่ากระทำผิดตามข้อกล่าวหาจริง พนักงานอัยการย่อมมีอำนาจฟ้องโดยไม่ต้องมีการสอบสวน แต่หากผู้ต้องหาให้การรับว่าทำร้ายร่างกายจริง แต่กระทำไปเพื่อป้องกันหรือโดยจำเป็นหรือกระทำโดยบัดดาลโทสะ ดังนี้ไม่ใช่การรับสารภาพ แต่เป็นการให้การปฏิเสธ เพราะการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมายพอสมควรแก่เหตุแล้ว ผู้กระทำไม่มีความผิด ตาม ป.อ. มาตรา ๖๘ นั้นก็คือคำให้การปฏิเสธนั้นเอง หรือยอมรับว่าทำร้ายร่างกายแต่กระทำไปด้วยความจำเป็น ผู้กระทำไม่ต้องรับโทษ คือเป็นความผิดแต่ไม่ต้องรับโทษตามกฎหมาย ป.อ. มาตรา ๖๗ หรือรับว่าทำร้ายแต่กระทำไปโดยบันดาลโทสะเพราะถูกข่มเหงอย่างร้ายแรงด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรม จึงกระทำต่อผู้ข่มเหงในขณะนั้น ศาลจะลงโทษน้อยกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดนั้นเพียงใดก็ได้ ซึ่งไม่ใช่การรับสารภาพเต็มตามฟ้อง แต่เป็นการรับเพียงบางส่วนพร้อมอ้างเหตุตามกฎหมายที่ไม่เป็นความผิด ไม่ต้องรับโทษหรือรับโทษน้อยลงกว่าที่กฏหมายกำหนดเพื่อเป็นข้อต่อสู้ จึงไม่ใช่การรับสารภาพ หรือผู้ต้องหาให้การว่าไม่ได้ทำร้ายผู้เสียหาย แต่เพื่อไม่ให้เป็นการยุ่งยากแก่คดี ขอรับสารภาพ ถือไม่ได้ว่าเป็นการรับสารภาพเพราะการรับสารภาพต้องเป็นการรับสารภาพที่ไม่มีเงื่อนไขหรือข้อต่อรองหรือข้อต่อสู้ใดๆทั้งนั้น การให้การดังกล่าวจึงเป็นการให้การปฏิเสธ จึง ต้องมีการสอบสวนก่อนฟ้อง พนักงานอัยการจึงมีอำนาจฟ้อง
๖. เมื่อผู้ต้องหาให้การปฏิเสธ ศาลมีคำสั่งให้พนักงานอัยการรับตัวผู้ต้องหากลับคืนเพื่อสั่งให้พนักงานสอบสวนทำการสอบสวนแล้วฟ้องเข้ามาใหม่ภายในกำหนดระยะเวลาที่ศาลกำหนด หากไม่สามารถฟ้องได้ภายในเวลาที่ศาลกำหนดต้องยื่นตำร้องขอผลัดฟ้องฝากขังต่อไปภายในกำหนดระยะเวลา ๔๘ ชั่วโมง
๗.ฟ้องว่าบุกรุกคือการเข้าไปในเคหสถานของผู้อื่นโดยไม่มีเหตุอันควร แต่การที่จำเลยให้การว่า เข้าไปเพื่อขอยืมเงิน เท่ากับต่อสู้ว่าเข้าไปในเคหสถานของผู้เสียหายโดยมีเหตุอันควรจึงเป็นคำให้การปฏิเสธ ทั้งจำเลยแถลงต่อศาลว่าไม่มีเงินสู้คดีขอรับสารภาพ ก็ไม่ใช่คำรับสารภาพโดยสมัครใจแต่เป็นการปฏิเสธไม่ใช่การรับสารภาพ ที่ยอมรับสารภาพเพราะไม่มีเงินสู้คดี จึงเป็นการรับที่มีเงื่อนไขคือเมื่อไม่มีเงินสู้คดีก็ขอรับสารภาพ หากแปลในทางกลับกันเมื่อไม่ได้ทำผิดและมีเงินสู้คดีก็จะขอสู้คดี ดังนั้นการให้การดังนี้จึง ไม่ใช่การรับสารภาพโดยสมัครใจ จึงเป็นการให้การปฏิเสธ ศาลต้องให้พนักงานอัยการรับตัวไปดำเนินการต่อไป ซึ่งพนักงานอัยการจะออกหนังสือให้พนักงานสอบสวนรับตัวผู้ต้องหาไปทำการสอบสวนเต็มรูปแบบก่อนส่งสำนวนมาให้พนักงานอัยการพิจารณาอีกที ซึ่งพนักงานอัยการอาจมีคำสั่งฟ้องหรือไม่มีคำสั่งฟ้องก็ได้
๘.ผู้ต้องหารับสารภาพต่อหน้าพนักงานสอบสวน ให้พนักงานสอบสวนงดการสอบสวนแล้วนำผู้ต้องหาส่งพนักงานอัยการเพื่อฟ้องคดีด้วยวาจาต่อศาลแขวง หากจำเลยรับสารภาพให้ศาลบันทึกคำให้การรับสารภาพของจำเลยแล้วพิพากษาคดีไปทันที แต่หากศาลเห็นว่าการกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิด ศาลพิพากษายกฟ้องได้ มิใช่ว่าจำเลยรับสารภาพแล้วศาลต้องลงโทษเสมอไป เช่นรับว่าได้เข้าไปในบ้านผู้เสียหายซึ่งเป็นพ่อตาโดยไม่ได้รับอนุญาตจริง แต่ที่เข้าไปในบ้านพ่อตาเพื่อตามภรรยาที่หอบลูกหนีมาที่บ้านพ่อตาเพราะมีปากเสียงกันจึงมาตามกลับบ้านและขอคืนดี ซึ่งการเข้าไปตามภรรยาที่ทะเลาะกันเพื่อขอคืนดีและตามกลับบ้านถือเป็นการเข้าไปในเคหสถานโดยมีเหตุอันควรไม่เป็นความผิดตามกฏหมาย แม้จำเลยรับสารภาพว่าได้เข้าไปในบ้านพ่อตาโดยไม่ได้รับอนุญาตจริงก็ไม่เป็นความผิดตามกฏหมาย หรือรับสารภาพว่าเข้าไปในบ้านผู้เสียหายโดยไม่ได้รับอนุญาตจริง แต่ที่วิ่งเข้าไปในบ้านเพราะถูกสุนัขไล่กัดจึงต้องวิ่งเข้าไปหลบในบ้านผู้เสียหายโดยไม่ได้ขออนุญาตทั้งที่ผู้เสียหายห้ามแล้วก็ตาม การที่ถูกสุนัขไล่กัดจึงต้องวิ่งหนีเข้าไปในบ้านข้างทางแม้เจ้าของบ้านไม่อนุญาตก็เป็นการกระทำความผิดด้วยความจำเป็นเพื่อให้ตนพ้นจากภยันตรายที่ใกล้จะถึงและไม่สามารถหลีกเลี่ยงให้พ้นได้โดยวิธีอื่น โดยภยันตรายนั้นไม่ได้ก่อให้เกิดขึ้นเพราะตน เป็นการกระทำความผิดฐานบุกรุกด้วยความจำเป็นพอสมควรแก่เหตุ ไม่ต้องรับโทษตาม ป.อ. มาตรา ๖๗ ดังนั้นทั้งสองกรณีนี้แม้จำเลยรับสารภาพศาลก็พิพากษาลงโทษจำเลยไม่ได้
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น