เข้าประมูลซื้อที่ดินมีนส๓ เลขที่....... ตามประกาศเจ้าพนักงานบังคับคดี สนง.บังคับคดีจังหวัด อ. โดยเป็นผู้เสนอราคาสูงสุดและเข้าทำสัญญาซื้อขายที่ดินพร้อมวางเงินมัดจำ แต่จากการตรวจสอบที่ตั้งที่ดินพบว่า แผ่นที่สังเขป(ทางไปที่ดิน) ท้ายประกาศพนักงานบังคับคดีไม่ถูกต้อง ไม่ใช่ทางไปที่ดินที่ขายทอดตลาด ทำให้ไม่สามารถเดินทางไปยังที่ดินนั้นได้ อีกทั้งที่ดินอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ เนื้อที่ดินบางส่วนทับซ้อนกับที่ดินของผู้อื่น จึงได้สอบถามไปสนง.ที่ดินจังหวัด อ. ได้รับแจ้งว่าที่ดินดังกล่าวอยู่ในเขตป่าไม้ถาวร ทั้งเจ้าบังคับคดีไม่ดำเนินการขายทอดตลาดที่ดินตามระเบียบกระทรวงยุติธรรม โดยจัดทำประกาศขายทอดตลาดที่ดิน ลักษณะและคุณสมบัติเกี่ยวกับที่ดินและที่ตั้งที่ดินไม่ตรงตามสภาพที่แท้จริงของที่ดิน เป็นเหตุให้ผู้ซื้อหลงเชื่อเข้าประมูลซื้อที่ดิน ทำให้ได้รับความเสียหาย ขอให้ยกเลิกการขายที่ดินพิพาท และให้คืนเงินมัดจำ มูลคดีมาจากการดำเนินการของเจ้าพนักงานบังคับคดี ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐดำเนินการขายทอดตลาดทรัพย์สินลูกหนี้ตามคำพิพากษาเพื่อนำเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดไปชำระหนี้แก่เจ้าหนี้ตามคำพิพากษา เป็นขั้นตอนการดำเนินการบังคับคดีภายหลังจากศาลได้มีคำพิพากษาหรือมีคำสั่ง อันเป็นขั้นตอนและกระบวนพิจารณาในทางแพ่งที่กฎหมายบัญญัติไว้เพื่อให้เกิดความสงบเรียบร้อยแก่ประชาชน การยึดที่ดิน การนำออกขายทอดตลาด เป็นส่วนหนึ่งของขั้นตอนในการบังคับคดีตามคำพิพากษาที่กฎหมายบัญญัติไว้ แม้ข้อพิพาทดังกล่าวเกิดขึ้นจากการดำเนินการเจ้าหน้าที่ของรัฐ สังกัดกรมบังคับคดีซึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครอง แต่เมื่อข้อพิพาทสืบเนื่องมาจากกระบวนการวิธีการบังคับคดีในทางแพ่งแล้ว จึงไม่ใช่คดีปกครองที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจระหว่างศาลที่ ๕๖/๒๕๕๗
ข้อสังเกต ๑. ตอนนำยึดที่ดินลูกหนี้ตามคำพิพากษา เจ้าหนี้ตามคำพิพากษานำเจ้าพนักงานบังคับคดีนำยึดที่ดินของลูกหนี้ตามคำพิพากษาซึ่งที่ดินนั้นเป็นที่ป่าสงวนและบางส่วนทับซ้อนกับที่ดินคนอื่น โดยเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาไม่ทราบ เมื่อมีการยึดแล้วจึงได้นำออกขายทอดตลาดเพื่อนำเงินมาชำระหนี้ตามคำพิพากษา ปัญหาที่เกิดขึ้นคือ ที่ดินดังกล่าวสามารถออก นส๓ก. ได้อย่างไรในเมื่อบางส่วนทับที่ดินบุคคลลอื่นบางส่วนอยู่ในเขตป่าสงวน ซึ่งที่ดินแปลงนี้ทั้งแปลงต้องถูกเพิกถอนการได้มาซึ่งนส๓ก เพราะที่ดินป่าสงวนซึ่งเป็นสาธารณะสมบัติของแผ่นดินบุคคลธรรมดาไม่สามารถครอบครองเป็นเจ้าของได้ และไม่สามารถยกอายุความในการครอบครองปรปักษ์มาใช้ยันกับรัฐหรือแผ่นดินได้ ทั้งการที่เนื้อที่ดินบางส่วนไปทับที่บุคคลอื่น ก็ต้องถูกเพิกถอนสิทธิ์ในที่ดินดังกล่าวด้วย ปัญหามีอยู่ว่าในการออกนส๓ก. ต้องมีการระวังแนวเขตที่ดินของที่ดินข้างเคียง ไม่ทราบว่ามีปัญหาอะไรที่ไม่มาระวังแนวเขตที่ดิน หรือเจ้าของที่ดินข้างเคียงไม่มาระวังแนวเขตที่ดินของตนตอนที่มีการีรังวัด จะเกิดจากการไม่ทราบหรือไม่ได้รับหนังสือของสนง.ที่ดิน เพื่อให้ระวังแนวเขต หรือได้รับหนังสือแล้วไม่ใส่ใจในการระวังแนวเขตก็ตาม ในส่วนที่ดินที่บุกรุกเข้าไปในที่ป่าสงวนการรังวัดของเจ้าพนักงานที่ดินทำไมถึงมีความผิดพลาดในการรังวัดที่ดินให้เข้าไปในเขตป่าสงวนแห่งชาติได้ จะเพราะเหตุใดก็ตาม ที่ดินดังกล่าวก็ต้องถูกเพิกถอนสิทธิ์ในการออกเอกสารนส๓ก. ในส่วนที่ดินที่ทับที่ดินของบุคคลอื่นแม้จะครอบครองมาเกิน ๑ ปี แต่ไม่ได้ดำเนินการทางศาลว่ามีการครอบครองปรปักษ์ จึงไม่อาจอ้างว่าที่ดินดังกล่าวเป็นที่ดินของลูกหนี้ตามคำพิพากษาได้
๒.เจ้าพนักงานบังคับคดี สนง.บังคับคดี เป็น “ “ข้าราชการ” จึงเป็น “ เจ้าหน้าที่ของรัฐ” สนง.บังคับคดี เป็นหน่วยงานในกรมบังคับคดี กระทรวงยุติธรรม จึงเป็น “ หน่วยงายของรัฐ” หากมีกรณีพิพาทในเรื่องการจัดทำบริการสาธารณะ หรือจัดให้มีสิ่งสวาธารณูปโภคหรือแสวงหาประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ หรือเป็นสัญญาสัมปทาน คดีขึ้นศาลปกครอง
๓.ในคดีนี้เมื่อมีการนำคดีมาฟ้องที่ศาลปกครอง ช. อัยการแก้ต่างและตัดฟ้องว่า คดีอยู่ในอำนาจศาลยุติธรรม (ศาลจังหวัด อ.)โดยยื่นคำร้องต่อศาลปกครอง ช. ซึ่งเป็นศาลที่รับฟ้องก่อนวันสืบพยานหรือก่อนวันนั่งพิจารณาคดีครั้งแรก เพื่อให้ศาลรอการพิจารณาไว้ชั่วคราวและจัดทำความเห็นส่งไปยังศาลยุติธรรม(ศาลจังหวัด อ.)ว่าคดีอยู่ในอำนาจของศาลจังหวัด อ. แต่ศาลปกครอง ช. เห็นว่า ว่า คำฟ้องเป็นเรื่องเจ้าพนักงานบังคับคดีใช้อำนาจตามกฎหมายในการขายทอดตลาดตามประกาศขายทอดตลาดและแผนที่ที่จัดทำขึ้นโดยไม่ชอบ เป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการทำละเมิดของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่รัฐอันเกิดจากการใช้อำนาจ คดีอยู่ในเขตอำนาจของศาลปกครอง ช. เมื่อได้ส่งความเห็นไปศาลจังหวัด อ. ศาลจังหวัด อ.ก็มีความเห็นว่า การขายทอดตลาดเป็นส่วนหนึ่งในการบังคับคดีตามคำพิพากษา แม้จะเกิดจากการดำเนินการของเจ้าหน้าที่ของรัฐซึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครอง แต่เนื่องมาจากการดำเนินกระบวนพิจารณาทางแพ่ง คดีจึงอยู่ในอำนาจศาลจังหวัด อ.ซึ่งเป็นศาลยุติธรรมที่จะพิจารณา จึงเป็นกรณีที่ศาลปกครอง ช. มีกรณีพิพาทกับศาลจังหวัด อ. โดยต่างฝ่ายต่างเห็นว่าคดีอยู่ในอำนาจพิจารณาของตนที่จะพิจารณา เมื่อมีกรณีโต้เถียงกันในเรื่องเขตอำนาจศาลระหว่างศาลสองศาลจึงต้องส่งสำนวนพร้อมความเห็นเพื่อให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจระหว่างศาลเป็นผู้พิจารณา ซึ่งคณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจระหว่างศาล พิจารณาแล้วเห็นว่า มูลคดีมาจากการดำเนินการของเจ้าพนักงานบังคับคดี ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐดำเนินการขายทอดตลาดทรัพย์สินลูกหนี้ตามคำพิพากษาเพื่อนำเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดไปชำระหนี้แก่เจ้าหนี้ตามคำพิพากษา เป็นขั้นตอนการดำเนินการบังคับคดีภายหลังจากศาลได้มีคำพิพากษาหรือมีคำสั่ง อันเป็นขั้นตอนและกระบวนพิจารณาในทางแพ่งที่กฎหมายบัญญัติไว้เพื่อให้เกิดความสงบเรียบร้อยแก่ประชาชน การยึดที่ดิน การนำออกขายทอดตลาด เป็นส่วนหนึ่งของขั้นตอนในการบังคับคดีตามคำพิพากษาที่กฎหมายบัญญัติไว้ แม้ข้อพิพาทดังกล่าวเกิดขึ้นจากการดำเนินการเจ้าหน้าที่ของรัฐ สังกัดกรมบังคับคดีซึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครอง แต่เมื่อข้อพิพาทสืบเนื่องมาจากกระบวนการวิธีการบังคับคดีในทางแพ่งแล้ว จึงไม่ใช่คดีปกครองที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง ซึ่งเมื่อ คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจระหว่างศาล มีคำวินิจฉัยแล้วถือ “เป็นที่สุด” โดยห้ามไม่ให้ศาลที่อยู่ในระดับสูงขึ้นไปของศาลที คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจระหว่างศาลชี้ขาดว่าเขตอำนาจศาลนั้น(ศาลจังหวัด อ.) ยกเรื่องเขตอำนาจศาลมาพิจารณาใหม่ คือ ศาลอุทธรณ์ศาลฏีกาจะหยิบยกเรื่องเขตอำนาจศาลตามที่ คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจระหว่างศาล ชี้ขาดแล้วมาเป็นเหตุยกฟ้องไม่ได้
๓.การขายทอดตลาดเป็นการซื้อขายอย่างหนึ่ง เมื่อผู้ทอดตลาดแสดงการตกลงในการขายด้วยการเคาะไม้หรือด้วยกริยาอื่นตามจารีตประเพณีในการขายทอดตลาด การขายทอดตลาดย่อมสมบรูณ์ ดังนั้นเมื่อการขายทอดตลาดเป็นการซื้อขายอย่างหนึ่ง ซึ่งบุคคลผู้ซื้อทรัพย์สินโดยสุจริตในการขายทอดตลาด ไม่จำต้องคืนทรัพย์ให้แก่เจ้าของที่แท้จริง เว้นแต่เจ้าของที่แท้จริงจะชดใช้ราคา (ป.พ.พ. มาตรา ๑๓๓๒) ในกรณีนี้ผู้ซื้อทอดตลาดไม่อาจได้สิทธิ์ในทรัพย์ที่ขายทอดตลาดเพราะที่ดินบางส่วนทับที่บุคคลภายนอกบางส่วนเป็นที่ป่าสงวนจึงเป็นกรณีผู้ซื้อทอดตลาดถูกขัดขวางจำกัดสิทธิ์ในอันที่จะครอบครองทรัพย์ที่ซื้อจากการขายทอดตลาดโดยปกติสุข เพราะมีบุคคลอื่นคือรัฐกรณีเป็นที่ป่าสงวนและเจ้าของที่ดินที่ถูกทับที่ดินบางส่วน มีสิทธิ์เหนือทรัพย์สินที่ได้ซื้อขายในเวลาซื้อขาย และเป็นความผิดของผู้ทอดตลาดซึ่งเป็นผู้ขายไม่ทำการตรวจสอบให้ดีว่าทรัพย์ที่นำมาขายทอดตลาดมีความสมบรูณ์ที่จะสามารถโอนให้แก่ผู้ซื้อทอดตลาดได้หรือไม่ ถือว่าผู้ซื้อจาการขายทอดตลาดถูกรอนสิทธิ์ ผู้ทอดตลาดหรือผู้ขายต้องรับผิด เว้นเสียแต่ว่าผู้ซื้อรู้ตั้งแต่นั้นแล้วในเวลาทำการซื้อขายว่าที่ดินบางส่วนเป็นที่ป่าสงวน ที่ดินบางส่วนทับที่ดินบุคคลภายนอกหรือมีข้อสัญญาระบุว่า ผู้ขายไม่ต้องรับผิดในการรอนสิทธิ์ดังนี้ผู้ขายไม่ต้องรับผิด แต่ข้อจำกัดในเรื่องไม่ต้องรับผิดเรื่องรอนสิทธิ์นั้นหากผู้ขายหรือผู้ทอดตลาดรู้อยู่แล้วว่าที่ดินที่นำออกมาขายทอดตลาดนั้นที่ดินบางส่วนเป็นที่ป่าสงวนบางส่วนเป็นที่ดินที่ทับกับที่ของคนอื่นแล้วปกปิดข้อความจริงไม่บอกให้แก่ผู้ซื้อทราบ ดังนี้แล้วแม้มีข้อสัญญาว่าผู้ขายไม่ต้องรับผิดเพราะเหตุรอนสิทธิ์ข้อตกลงนี้ก็ใช้บังคับไม่ได้
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น