ค้นหาบล็อกนี้

วันพฤหัสบดีที่ 8 กันยายน พ.ศ. 2554

อาญา มาตรา ๒๗๘ - ๒๘๗

มาตรา 278 ผู้ใด กระทำอนาจารแก่ บุคคลอายุกว่าสิบห้าปี โดยขู่เข็ญด้วยประการใด ๆ โดยใช้กำลังประทุษร้าย โดยบุคคลนั้นอยู่ในภาวะที่ไม่สามารถขัดขืนได้ หรือโดยทำให้บุคคลนั้นเข้าใจผิดว่าตนเป็นบุคคลอื่น ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสิบปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

- คำว่า อนาจาร

- หมายความถึง การประพฤติชั่ว น่าอาย นอกรีต นอกแบบ ลามก น่าบัดสี ทำให้เป็นที่อับอาย เป็นที่น่ารังเกียจแก่ผู้อื่นในด้านความดีงาม แต่เนื่องจากฎหมายมาตรานี้เป็นกฎหมายว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับเพศ ฉะนั้น ในทางกฎหมายคำว่า อนาจาร จะต้องเป็นการประพฤตินอกแบบ ไม่สมควรหรือชั่วในทางเพศ ศาลฎีกาอธิบายไว้ในคำพิพากษาฎีกาที่ 353/2476, 569/2479, 1627/2537 ว่า หมายถึงการประเวณีหรือความใคร่และกระทำให้อับอายขายหน้าในทางเพศ

- คำพิพากษาฎีกาที่ 1627/2539 การกระทำอนาจารตามประมวลกฎหมายอาญา หมายความถึง การกระทำที่ไม่สมควรในทางเพศต่อร่างกายบุคคลอื่น เช่น กอดจูบลูบคลำร่างกายของหญิงหรือชาย เป็นการกระทำแสดงความใคร่ในทางเพศ ซึ่งต้องเป็นการกระทำต่อเนื้อตัวของบุคคลโดยตรง ซึ่งการกระทำดังกล่าว ย่อมถือว่าเป็นความประพฤติที่น่าอับอาย นอกรีต นอกแบบอยู่แล้ว จะกระทำในที่รโหฐาน หรือสาธารณสถานก็หามีผลแตกต่างกันไม่ การที่ชายอื่นร่วมประเวณีกับผู้เสียหายในห้องของโรงแรมแม้จะเป็นที่มิดชิด แต่ก็เป็นการกระทำที่ ไม่สมควรในทางเพศต่อร่างกายของบุคคลอื่นคือผู้เสียหาย อันเป็นการกระทำอนาจารแล้ว

- คำพิพากษาฎีกาที่ 5694/2541 การที่จำเลยเข้าไปโอบไหล่ผู้เสียหาย ทั้งที่ไม่เคยรู้จักกันมาก่อน ถือเป็นการลวนลามผู้เสียหายในทางเพศแล้ว เป็นความผิดฐานกระทำอนาจาร แต่การกระทำอนาจารของจำเลยดังกล่าวเป็นเพียงการใช้มือโอบไหล่เท่านั้น ไม่น่าจะทำให้ผู้เสียหายเสื่อมเสีย หรือได้รับความอับอายมากนัก ทั้งไม่ปรากฏว่าจำเลยเคยต้องโทษจำคุกมาก่อน เห็นสมควรให้โอกาสจำเลยตนเป็นพลเมืองดีโดยให้รอการลงโทษจำคุกไว้ แต่เห็นสมควรลงโทษปรับจำเลยด้วย

- ผู้ใดกระทำอนาจารแก่บุคคลอายุกว่าสิบห้าปีหมายความว่า ต้องกระทำแก่ตัวบุคคลโดยตรง ฉะนั้น การกล่าวถ้อยคำก็ดี การเขียนภาพก็ดี ไม่เป็นความผิดตามมาตรานี้ แต่การกล่าวถ้อยคำนั้นอาจเป็นความผิดตามมาตรา 388 ได้

- คำพิพากษาฎีกาที่ 1069/2506 คำว่า กระทำการลามกอย่างอื่น ตามมาตรา 388นั้น ไม่ได้หมายเฉพาะแต่เรื่องเกี่ยวกับร่างกายเท่านั้น หมายถึง ทางวาจาด้วย จำเลยกล่าวคำว่า เย็ดโคตรแม่มึง ต่อหน้าธารกำนัลเป็นความผิดตามมาตรา 388

- และการเขียนภาพ เป็นสิ่งลามกตามมาตรา 287 ได้

- และขอให้สังเกตด้วยว่า ผู้ใดกระทำอนาจารแก่บุคคลอายุกว่าสิบห้าปี คำว่า กระทำหมายความถึง การเป็นผู้ก่อให้บุคคลอื่นกระทำต่อตัวจำเลยด้วย ซึ่งเป็นการกระทำอนาจารต่อผู้อื่น

- คำพิพากษาฎีกาที่ 2693 95/2516 จำเลยบังคับให้เด็กหญิงจับของลับของจำเลย เป็นความผิดตามมาตรา 279 วรรคสอง เพราะถือได้ว่าเป็นการกระทำอนาจารต่อหน้าผู้อื่น

- เจตนากระทำอนาจารต่อผู้อื่น

- ศาสตราจารย์จิตติ ติงศภัทิย์ อธิบายว่า แม้ผู้กระทำจะกระทำเพื่อแก้แค้น ก็เป็นการกระทำอนาจารได้

- คำพิพากษาฎีกาที่ 970/2477 มีคนจะทำร้ายจำเลย จำเลยจึงกอดหญิงไว้เพื่อป้องกันมิให้ถูกทำร้าย ไม่มีความผิดฐานนี้ ตามคำพิพากษาฎีกานี้ เหตุที่ไม่เป็นความผิดเพราะเจตนาของจำเลยมิได้เกี่ยวกับเพศ และคดีนี้จำเลยอ้างการป้องกันตามมาตรา 68 ไม่ได้ แต่เนื่องจากจำเลยไม่มีเจตนาทางเพศจึงไม่มีความผิดตามมาตรานี้ (ด้วยเหตุนี้หากจับหรือฉุดด้วยเจตนาจะหยอกล้อไม่มีเจตนาทางเพศไม่เป็นอนาจาร)

- คำพิพากษาฎีกาที่ 1911/2522 จำเลยยึดแขนหญิงและนั่งเบียด ระหว่างควบคุมตัวหญิงบนรถ เพื่อพาไปเพื่อการอนาจาร เป็นการควบคุมมิให้หลบหนี ไม่เป็นความผิดฐานกระทำอนาจาร (เพราะจำเลยไม่มีเจตนาทางเพศ)

- คำพิพากษาฎีกาที่ 2690/2525 ผู้เสียหายจับมือ อ. เดินตามหาเพื่อน สวนทางกับจำเลย ทันใดนั้น จำเลยที่ 1 ตรงเข้าจับมือผู้เสียหายสะบัดหลุดจากมือ อ. ส่วนจำเลยที่ 2 เข้าจับอวัยวะของผู้เสียหาย และกระชากสร้อยคอพาวิ่งหนีไป การที่จำเลยที่ 2 จับอวัยวะเพศผู้เสียหายไม่มีพฤติการณ์แสดงว่า ได้คบคิดกับจำเลยที่ 1 มาก่อน การจับมือผู้เสียหาย แสดงให้เห็นเจตนาเพียงให้โอกาสจำเลยที่ 2 กระชากสร้อยคอได้สะดวกเท่านั้น จำเลยที่ 1 ไม่มีความผิดฐานกระทำอนาจาร คงผิดฐานร่วมกันวิ่งราวทรัพย์เท่านั้น

- คำพิพากษาฎีกาที่ 2690/2535 คืนเกิดเหตุผู้เสียหายกับพวกไปเที่ยวงานที่วัดวชิราลงกรณ์ ครั้นเวลาประมาณ 23 นาฬิกา ขณะที่ผู้เสียหายจับมือนางอุทัย สืบนิคม เดินตามหาเพื่อได้เดินจะสวนทางกับจำเลย ทันใดนั้นจำเลยที่ 1 เข้าจับมือผู้เสียหาย ส่วนจำเลยที่ 2 จับอวัยวะเพศผู้เสียหายและกระชากสร้อยคอผู้เสียหายหนีไป เห็นว่า การที่จำเลยที่ 2 จับอวัยวะเพศผู้เสียหายนั้นไม่มีพฤติการณ์แสดงว่าได้คบคิดกับจำเลยที่ 1 มาก่อน จำเลยที่ 1 จับมือผู้เสียหายเพื่อจะให้จำเลยที่ 2 กระชากสร้อยสะดวกเท่านั้น จำเลยที่ 1 ไม่มีความผิดฐานกระทำอนาจาร

- คำพิพากษาฎีกาที่ 117/2534 จำเลยซึ่งเป็นบิดาผู้เสียหายอายุ 12 ปี ใช้อวัยวะถูไถสัมผัสที่อวัยวะเพศจนสำเร็จความใคร่ โดยไม่มีเจตนาสอดใส่เข้าไปในอวัยวะเพศของบุตรไม่มีเจตนาจะข่มขืนกระทำอนาจาร จึงไม่เป็นพยายามกระทำชำเรา แต่เป็นความผิดตามมาตรา 278 เพราะจำเลยมีเจตนากระทำอนาจารและมีโทษหนักขึ้นตามมาตรา 285

- คำพิพากษาฎีกาที่ 12482/2547 ผู้เสียหายและจำเลยเคยมีความสัมพันธ์กันฉันชู้สาว ในวันเกิดเหตุ จำเลยมาหาผู้เสียหายที่บ้านและกอดรัดผู้เสียหาย ในฐานะที่เคยมีความสัมพันธ์กันมาก่อน แม้ผู้เสียหายจะปฏิเสธและจำเลยไม่เลิกรา ก็น่าจะเป็นเพราะจำเลยต้องการแสดงความรักต่อผู้เสียหาย ตามวิสัยชายที่มีต่อหญิงที่เคยมีความสัมพันธ์กันมาก่อน การกระทำของจำเลยจึงขาดเจตนาบุกรุก และขาดเจตนาอนาจารผู้เสียหาย

- คำว่า ขู่เข็ญด้วยประการใด ๆ โดยใช้กำลังประทุษร้าย โดยบุคคลนั้นอยู่ในภาวะที่ไม่สามารถขัดขืนได้ หรือโดยทำให้บุคคลนั้นเข้าใจผิดว่าตนเป็นบุคคลอื่น หมายความว่า ต้องกระทำแก่บุคคลนั้น โดยเขาไม่ยินยอม

- คำพิพากษาฎีกาที่ 513/2469 ชายจับมือหญิงคู่รักกุมไว้ โดยหญิงนั้นยินยอม ไม่เป็นความผิดตามมาตรานี้

- คำพิพากษาฎีกาที่ 469/2479 จับแขนหญิงดึง เพราะหญิงไม่ยินยอม และเข้าใจว่าเป็นหญิงโสเภณีเป็นความผิดฐานนี้

- คำพิพากษาฎีกาที่ 501/2503 จำเลยจับมือและกอดเด็กหญิงอายุ 14 ปี ถือได้ว่าเป็นการใช้แรงกายซึ่งเป็นการใช้กำลังประทุษร้าย ตามความหมายของมาตรา 1 (6) แล้ว การกระทำของจำเลยดังกล่าว เป็นความผิดฐานกระทำอนาจาร ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 278

- คำพิพากษาฎีกาที่ 1279/2506 จำเลยจับนมผู้เสียหาย ในรถประจำทาง ซึ่งมีคนโดยสารแน่นเป็นการกระทำต่อหน้าธารกำนัล จำเลยจับนมโดยไม่ปรากฏว่าผู้เสียหายยินยอมเป็นการใช้กำลังประทุษร้ายตามมาตรา 278

- คำพิพากษาฎีกาที่ 2453/2515 การใช้กำลังกายกอดรัดและบีบเคล้นอวัยวะของสงวน บริเวณหน้าอกของผู้เสียหายจนระบมฟกช้ำ เป็นการประทุษร้ายต่อร่างกายซึ่งได้เกลื่อนกลืน เป็นการกระทำผิดกรรมเดียวกับการกระทำอนาจาร โดยใช้กำลังประทุษร้ายตาม ป. อาญา มาตรา 278 แล้ว หาเป็นมูลความผิดฐานทำร้ายร่างกายตามมาตรา 296 อีกบทหนึ่งไม่

- คำพิพากษาฎีกาที่ 1314/2526 จำเลยกับผู้เสียหายอยู่กินด้วยกัน โดยไม่ได้จดทะเบียนสมรสเพียง 2 เดือนก็เลิกกัน ต่อมาจำเลยฟ้องเรียกเอาค่าสินสอดคืนจากฝ่ายผู้เสียหาย ศาลพิพากษายกฟ้อง แสดงว่าจำเลยได้แสดงเจตนาเลิกกับผู้เสียหายโดยเด็ดขาดแล้ว ผู้เสียหายมีความสัมพันธ์ฉันสามีภริยากับจำเลยอีกต่อไปไม่ ผู้เสียหายขี่รถจักรยานยนต์มีคนนั่งซ้อนท้ายมาด้วย จำเลยเข้ามาขวางกระชากแขนผู้เสียหายลงจากรถ เข้ากอดปล้ำและพยายามฉุดให้ไปกับจำเลย จำเลยจึงมีความผิดฐานกระทำอนาจารตาม ป.อ.ม.278

- คำพิพากษาฎีกาที่ 1620/2536 จำเลยถอดกางเกงนอกและกางเกงในผู้เสียหายแล้วจับอวัยวะเพศของผู้เสียหาย โดยผู้เสียหายพยายามต่อสู้ เป็นการใช้แรงกายกระทำต่อผู้เสียหาย ถือได้ว่าจำเลยกระทำอนาจารแก่ผู้เสียหายโดยใช้กำลังประทุษร้าย

- คำพิพากษาฎีกาที่ 3752/2540 (สบฎ สต 72) จำเลยใช้มือดึงกางเกงของผู้เสียหายลงมาถึงหน้าแข้ง แล้วใช้นิ้วแหย่เข้าไปในช่องคลอดของผู้เสียหาย ขยับนิ้วไปมาโดย ผู้เสียหายไม่ยินยอม แม้เป็นวิธีการกระทำอนาจาร แต่ก็เป็นการใช้แรงกายภาพต่อผู้เสียหายเป็นการใช้กำลังประทุษร้าย ตาม มาตรา 1 (6) จึงมีความผิดฐานกระทำอนาจารโดยใช้กำลังประทุษร้าย มาตรา 279 วรรค 2

- ศาสตราจารย์จิตติ ติงศภัทิย์ อธิบายว่า การกระทำอนาจารต้องเป็นผลจากการขู่เข็ญนั้น ถ้ายอมเพราะเหตุอื่นอาจเป็นความผิดได้ก็แต่ในขั้นพยายาม

- คำพิพากษาฎีกาที่ 509/2529 จำเลยหลอกเด็กชายอายุไม่เกิน 13 ปี ว่าดวงไม่ดีต้องสะเดาะเคราะห์ แล้วใช้ของลับสอดใส่ทวารหนัก ดังนี้ (ไม่เป็นการขู่เข็ญด้วยประการใด ๆ ) ไม่เป็นการใช้กำลังประทุษร้าย หรืออยู่ในภาวะที่ไม่อาจขัดขืนได้ (และไม่ใช่ทำให้บุคคลนั้นเข้าใจผิดคิดว่าเป็นบุคคลอื่น) ไม่เป็นความผิดฐานนี้ (แต่เป็นความผิดตามมาตรา 279 วรรคแรก และไม่ผิดตามวรรคสอง)

- คำพิพากษาฎีกาที่ 5837/2530 จำเลยหลอกให้ผู้เสียหายยอมให้จำเลย โดยใช้เท้าเหยียบที่หน้าขา อวัยวะเพศ ท้อง หน้าอก ใช้มือคลำทั่วร่างกายเปลือยของผู้เสียหาย โดยเฉพาะที่นม อวัยวะเพศ ใช้นิ้วล้วงช่องคลอด ให้ผู้เสียหายนอนโก้งโค้ง เพื่อเอาของลับออกมาคลึงให้แข็งตัว ดังนี้ ไม่เป็นการขู่เข็ญโดยใช้กำลังประทุษร้าย แต่เป็นการยินยอมโดยโง่เขลาเบาปัญญา จำเลยไม่มีความผิดฐานนี้

- บุคคลตามมาตรานี้ไม่จำกัดว่าเป็นหญิงหรือชาย ไม่จำกัดว่าผู้อื่นที่ไม่ใช่ภริยาตนตามมาตรา 276 ดังนั้น การกระทำผิดตามมาตรานี้อาจเป็นการกระทำชายต่อชายก็ได้ (คำพิพากษาฎีกาที่ 509/2509) หรือบังคับให้เด็กหญิงจับของลับของตน (คำพิพากษาฎีกาที่ 2693–95/2516)

- สามีภริยานั้น แม้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1461 จะบัญญัติว่า สามีภริยาจะต้องอยู่กินด้วยกันฉันสามีภริยา แต่สามีก็ไม่มีสิทธิที่จะบังคับภริยาด้วยกำลัง กรณีไม่เป็นความผิดตามมาตรา 276 เพราะเป็นภริยาของผู้กระทำ แต่ก็เป็นความผิดตามมาตรานี้ได้ อย่างไรก็ดีมีผู้โต้แย้งว่า แม้สามีจะใช้กำลังบังคับ แต่ก็ไม่เป็นความผิดตามมาตรานี้ เพราะการกระทำผิดของสามีไม่เป็น การอนาจารตามมาตรานี้

- ความผิดฐานกระทำอนาจาร กับความผิดฐานข่มขืนกระทำชำเรา เป็นความผิดที่อาจเกลื่อนกลืนกันเป็นความผิดกรรมเดียวกัน เมื่อจำเลยถูกฟ้องในความผิดฐานหนึ่งแล้วจะกลับมาฟ้องจำเลยในความผิดอีกฐานหนึ่งไม่ได้

- คำพิพากษาฎีกาที่ 24/2528 ความผิดฐานกระทำอนาจาร เช่น จำเลยจับต้องของสงวนของผู้เสียหายก่อนกระทำการข่มขืนกระทำชำเราเป็นความผิดกรรมเดียวกับความผิดฐานข่มขืนกระทำชำเรา เมื่อศาลพิพากษาลงโทษจำเลยในข้อหากระทำอนาจารคดีถึงที่สุดแล้ว สิทธินำคดีอาญามาฟ้องจำเลยในข้อหาข่มขืนกระทำชำเราย่อมระงับไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39 (4)

มาตรา 279 ผู้ใด กระทำอนาจารแก่ เด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปี โดยเด็กนั้นจะยินยอมหรือไม่ก็ตาม ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสิบปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ถ้าการกระทำความผิดตามวรรคแรก ผู้กระทำได้กระทำ โดยขู่เข็ญด้วยประการใด ๆ โดยใช้กำลังประทุษร้าย โดยเด็กนั้นยังอยู่ในภาวะที่ไม่สามารถขัดขืนได้ หรือโดยทำให้เด็กนั้นเข้าใจผิดว่าตนเป็นบุคคลอื่น ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสิบห้าปี หรือปรับไม่เกินสามหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

- การกระทำความผิดตามมาตรานี้ วรรคแรกถ้ากระทำอนาจารแก่เด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปี เด็กจะยินยอมหรือไม่ ก็เป็นความผิดถ้ากระทำโดยขู่เข็ญ ฯลฯ มีโทษหนักขึ้นตามวรรคสอง ดูคำพิพากษาฎีกาที่ 2693–95/2516 และคำพิพากษาฎีกาที่ 509/2509 ข้างต้น

- การกระทำอนาจารกับการข่มขืนกระทำชำเรามีเจตนาทางเพศเหมือนกัน ถ้าจำเลยมีเจตนาเพียงกระทำอนาจาร ก็ย่อมไม่เป็นความผิดฐานข่มขืนกระทำชำเราหรือพยายาม ฎ 117/2534, 1316/2508 ข้างต้น

- คำพิพากษาฎีกาที่ 509/2529 ผู้เสียหาย 4 คน มีอายุกว่า 13 ปี แต่ยังไม่บรรลุนิติภาวะส่วนผู้เสียหายอีก 3 คน มีอายุไม่เกิน 13 ปี ผู้เสียหายไปพบจำเลยโดยจำเลยทำอุบายทำนายว่าผู้เสียหายดวงชะตาไม่ดี จะต้องให้จำเลยสะเดาะเคราะห์ให้ เมื่อจำเลยใช้อวัยวะเพศสอดเข้าไปในทวารหนักของผู้เสียหาย ก็โดยอาศัยความเบาปัญญาของผู้เสียหายที่หลงเชื่อว่า การกระทำดังกล่าวเป็นการสะเดาะเคราะห์ จึงไม่เป็นการขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้าย จนผู้เสียหายอยู่ในภาวะที่ไม่สามารถขัดขืนให้จำยอม ให้จำเลยกระทำอนาจารการกระทำของจำเลยต่อผู้เสียหายที่อายุกว่า 13 ปีจึงไม่เป็นความผิด คงมีความผิดเฉพาะที่กระทำต่อผู้เสียหายอายุยังไม่เกิน 13 ปี ตาม ป.อ. ม.279 วรรคแรก

- คำพิพากษาฎีกาที่ 4445/2536 จำเลยพาผู้เสียหายทั้งสองซึ่งมีอายุเพียง 9 ปี เข้าไปในห้อง บังคับให้ถอดเสื้อผ้าออก มิฉะนั้นจะใช้ไฟฟ้าช็อต และใช้อวัยวะเพศถูที่อวัยวะเพศของผู้เสียหายทั้งสองจนสำเร็จความใคร่ ดังนี้เป็นการกระทำโดยขู่เข็ญด้วยประการใด ๆ โดยผู้เสียหายนั้นอยู่ในภาวะที่ไม่สามารถขัดขืนได้

- คำพิพากษาฎีกาที่ 3752/2540 (สบฎ สต 72) จำเลยใช้มือ ดึงกางเกงของผู้เสียหาย แล้วใช้นิ้วแหย่เข้าไปในช่องคลอดผู้เสียหาย โดยผู้เสียหายไม่ยินยอม แม้จะเป็นวิธีการกระทำอนาจาร แต่ก็เป็นการใช้แรงกายภาพต่อผู้เสียหายเป็นการใช้กำลังประทุษร้าย ตาม ม 1 (6) แล้ว จำเลยมีความผิดตาม ม 279 วรรคสอง

มาตรา 280 ถ้าการกระทำความผิดตามมาตรา 278 หรือมาตรา 279 เป็นเหตุให้ผู้ถูกกระทำ

(1) รับอันตรายสาหัส ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ห้าปีถึงยี่สิบปี และปรับตั้งแต่หนึ่งหมื่นถึงสี่หมื่นบาท

(2) ถึงแก่ความตาย ผู้กระทำต้องระวางโทษประหารชีวิต หรือจำคุกตลอดชีวิต

- ผู้กระทำต้องรับโทษหนักขึ้นตามมาตรานี้ ต้องเป็นผลที่ตามธรรมดาย่อมเกิดขึ้นได้ตามมาตรา 63


มาตรา 281 การกระทำความผิดตามมาตรา 276 วรรคแรก และมาตรา 278 นั้น (1) ถ้าไม่ได้เกิดต่อหน้าธารกำนัล (2) ไม่เป็นเหตุให้ผู้ถูกกระทำรับอันตรายสาหัส หรือถึงแก่ความตาย หรือ (3) มิได้เป็นการกระทำแก่บุคคลดังระบุไว้ในมาตรา 285 เป็นความผิดอันยอมความได้

- ธารกำนัล หมายความว่าที่ชุมนุมชนคนจำนวนมาก สาธารณะ เพื่อประชาชนทั่วไป

- คำพิพากษาฎีกาที่ 1794/2494 กอดปล้ำทำอนาจารหญิงสาวบนถนนริมฝั่งคลอง ซึ่งเป็นทางสาธารณะ และทางหลวง ในเวลากลางคืน ในขณะที่มีเด็กชายคนหนึ่งเดินอยู่ข้างหน้า เมื่อเด็กชายคนนั้นเห็นเข้าก็วิ่งหนีไปเสีย และยังมีชายอีก 2 คนซึ่งเดินอยู่บนถนนชายคลองอีกฟากหนึ่ง พบเห็นเข้า ดังนี้ ย่อมถือว่าเป็นความผิดที่ได้กระทำต่อหน้าธารรกำนัล

- คำพิพากษาฎีกาที่ 2179/2506 จำเลยจับนมผู้เสียหาย ในรถประจำทาง ซึ่งมีคนโดยสารแน่นเป็นการกระทำต่อหน้าธารกำนัล จำเลยจับนมโดยไม่ปรากฏว่าผู้เสียหายยินยอมเป็นการใช้กำลังประทุษร้ายตามมาตรา 278

- คำพิพากษาฎีกาที่ 1173/2508 จำเลยข่มขืนกระทำชำเราผู้เสียหายต่อหน้าเด็กหญิงในห้องมืด ดังนี้ เพียงแต่เหตุเกิดต่อหน้าเด็กหญิงเท่านั้น ทั้งโจทก์ก็มิได้ยืนยันโต้แย้งว่า จำเลยได้กระทำโดยประการที่ให้เด็กหญิงได้เห็นการกระทำของจำเลย หรือว่าจำเลยได้กระทำในลักษณะที่เปิดเผยให้บุคคลอื่นสามารถเห็นการกระทำของจำเลยได้ ถือไม่ได้ว่าจำเลยได้กระทำผิดต่อหน้าธารกำนัล

- ศาสตราจารย์จิตติ ติงศภัทิย์ อธิบายว่า ห้องปิดมิดชิด แม้จะมีคนมองเห็น ก็ไม่เป็นธารกำนัล การที่มีคนเห็นต้องเป็นการเห็นได้ตามธรรมดาของการกระทำเช่นนั้น ถ้ากระทำในห้อง แต่มีคนข้างนอกมองเห็นก็เป็นธารกำนัล หมายความว่า คนข้างนอกมองเห็นได้เอง ไม่ใช่สอดเข้าไปเห็น

- คำพิพากษาฎีกาที่ 493/2528 จำเลยข่มขืนกระทำชำเราผู้เสียหาย ขณะผู้เสียหายนอนอยู่กับบุตร 2 คน ไม่ปรากฏว่าบุตรของผู้เสียหายคนใดเห็นการกระทำของจำเลย ถือไม่ได้ว่าจำเลยกระทำผิดต่อหน้าธารกำนัล

- คำพิพากษาฎีกาที่ 932/2529 จำเลยกระทำอนาจารผู้เสียหายอายุ 21 ปี ในเวลากลางคืนบนรถโดยสารและข้างทางขณะ ป. คนขับรถลงไปปัสสาวะในที่เกิดเหตุ คงมีแต่ ป. ซึ่งต้องหาว่า ร่วมกระทำผิดด้วยเพียงคนเดียว แต่อัยการไม่ฟ้อง การกระทำของจำเลยจึงมิได้เกิดต่อหน้าธารกำนัล

- คำพิพากษาฎีกาที่ 3912/2531 ขณะจำเลยกระทำความผิดจำเลยอยู่กับผู้เสียหายโดยลำพังในห้อง จึงมิได้กระทำต่อหน้าธารกำนัล

- คำพิพากษาฎีกาที่ 6832/2542 ห้องควบคุมเรือบนชั้นดาดฟ้าที่จำเลยที่ 1 นำผู้เสียหายที่ 1 ขึ้นไปข่มขืนกระทำชำเรานั้น แยกกันเป็นส่วนสัดจากชั้นล่างที่ผู้เสียหายที่ 2 กับจำเลยที่ 2 ที่ 3 อยู่ และจำเลยที่ 2 ที่ 3 จับผู้เสียหายที่ 2 ลงมาจากดาดฟ้ามาชั้นล่างนั้น ก็เพื่อมิให้ผู้เสียหายที่ 2 ไปขัดขวางการข่มขืนกระทำชำเราผู้เสียหายที่ 1 เท่านั้น ลักษณะดังกล่าว ไม่ถือว่าจำเลยที่ 1 ข่มขืนกระทำชำเราผู้เสียหายที่ 1 ต่อหน้าผู้เสียหายที่ 2 และจำเลยที่ 2 ที่ 3 อันเป็นต่อหน้าธารกำนัลแต่อย่างใด

- การกระทำต่อหน้าธารกำนัลหรือไม่ เป็นข้อเท็จจริงที่ทำให้เป็นความผิดอันยอมความได้ ไม่ใช่ข้อเท็จจริงอันเป็นองค์ประกอบความผิด หรือเป็นข้อเท็จจริงที่ทำให้ผู้กระทำต้องรับโทษหนักขึ้น ผู้กระทำจึงไม่จำต้องรู้ถึงข้อเท็จจริงนั้น

- คำพิพากษาฎีกาที่ 3969/2526 โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยข่มขืนกระทำชำเราผู้เสียหายโดยกระทำต่อหน้าธารกำนัล พจนานุกรมฉบับราชการบัณฑิตยสถานนิยามความหมายคำว่า ธารกำนัล ไว้ว่า ที่ชุมนุมชน คนจำนวนมาก จึงเป็นถ้อยคำที่รู้กันอยู่ทั่วไป ป.อ.ม.281 มิได้บัญญัติถึงการกระทำอันเป็นความผิด และกำหนดโทษไว้ เพียงแต่บัญญัติว่าการกระทำความผิดตาม ม.276 วรรคแรก ถ้ามิได้เกิดต่อหน้าธารกำนัล เป็นความผิดอันยอมความได้ ดังนั้นตามฟ้องโจทก์ ย่อมเป็นที่รู้ว่าจำเลยกระทำผิดในที่ชุมนุมชน หรือต่อหน้าคนจำนวนมาก และเป็นการบรรยายว่าการการกระทำของจำเลย มิใช่ความผิดอันยอมความได้ จึงเป็นฟ้องที่สมบูรณ์ตาม ป.ว.อ.158 (5) แล้ว

- คำพิพากษาฎีกาที่ 3969/2536 โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยกระทำความผิดต่อหน้าธารกำนัล เมื่อจำเลยให้การรับสารภาพจึงเป็นความผิดที่ยอมความกันไม่ได้ คำว่า ธารกำนัลเป็นคำที่รู้กันโดยทั่วไปปรากฏในพจนานุกรม โจทก์ไม่ต้องบรรยายอีกว่าหมายความว่าอะไร

- กรณีเป็นความผิดอันยอมความได้

- คำพิพากษาฎีกาที่ 3575/2526 โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษตาม ป.อ.ม.276 วรรคสอง เมื่อคดีอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลชั้นต้น ผู้เสียหายยื่นคำร้องขอถอนคำร้องทุกข์ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่าข้อเท็จจริงตามทางพิจารณาได้ความว่า จำเลยที่ 2 มีและใช้ปืนในการกระทำผิด ต้องด้วย ม.276 วรรคสอง ซึ่งยอมความไม่ได้ จึงไม่อนุญาตให้ถอนคำร้องทุกข์ แต่ต่อมาพิพากษายกฟ้อง ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าจำเลยทั้งสองมีความผิดตาม ม.276 วรรคแรก ดังนี้ เมื่อคดีมิได้เกิดต่อหน้าธารกำนัล ไม่เป็นเหตุให้ผู้ถูกกระทำได้รับอันตรายสาหัส หรือถึงกับความตายและมิได้เป็นการกระทำแก่บุคคลดังระบุไว้ใน ม.285 ดังนี้ ย่อมเป็นความผิดอันยอมความกันได้ตาม ม.281 คำร้องขอถอนคำร้องทุกข์ของผู้เสียหายดังกล่าว จึงมีผลทำให้สิทธินำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์ระงับไปตาม ป.ว.อ. ม.39 ชอบที่ศาลอุทธรณ์จะต้องจำหน่ายคดี การที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาลงโทษจำเลย จึงไม่ชอบศาลฎีกาพิพากษากลับให้จำหน่ายคดี

- คำพิพากษาฎีกาที่ 7986/2540 (สบฎ สต 72) เมื่อการกระทำของจำเลย ไม่ต้องด้วย ม 285 เป็นเพียงความผิดตาม ม 278 และไม่ได้เกิดต่อหน้าธารกำนัล ไม่เป็นเหตุให้ผู้ถูกกระทำรับอันตรายสาหัสหรือถึงแก่ความตาย หรือมิได้เป็นการกระทำแก่บุคคลดังระบุไว้ในมาตรา 285 เป็นความผิดอันยอมความได้ ผู้เสียหายร้องทุกข์ เมื่อเกินกำหนด 3 เดือน จึงขาดอายุความ ตาม ม 96 สิทธิในการนำคดีอาญามาฟ้องระงับตาม ปวิอ ม 39 (6) โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง


มาตรา 282 ผู้ใด เพื่อสนองความใคร่ของผู้อื่นเป็นธุระจัดหา ล่อไป หรือพาไปเพื่อการอนาจารซึ่งชายหรือหญิง แม้ผู้นั้นจะ ยินยอมก็ตาม ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสิบปี และปรับตั้งแต่สองพันบาทถึงสองหมื่นบาท

ถ้าการกระทำความผิดตามวรรคแรก เป็นการกระทำแก่บุคคลอายุเกินสิบห้าปีแต่ยังไม่เกินสิบแปดปี ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สามปีถึงสิบห้าปี และปรับตั้งแต่หกพันบาทถึงสามหมื่นบาท

ถ้าการกระทำความผิดตามวรรคแรก เป็นการกระทำแก่เด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปี ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกตั้งห้าปีถึงยี่สิบปี และปรับตั้งแต่หนึ่งหมื่นบาทถึงสี่หมื่นบาท

ผู้ใดเพื่อสนองความใคร่ของผู้อื่น รับตัวบุคคลซึ่งมีผู้จัดหา ล่อไป หรือพาไปตามวรรคแรก วรรคสอง หรือวรรคสาม หรือสนับสนุนในการกระทำความผิดดังกล่าว ต้องระวางโทษตามที่บัญญัติไว้ในวรรคแรก วรรคสอง หรือวรรคสาม แล้วแต่กรณี

- กระทำ เพื่อสนองความใคร่ของผู้อื่นต่างกับมาตรา 319 ที่กำหนดแต่เพียงว่า เพื่อการอนาจารเท่านั้น คำว่า ชักพาไป ได้แก่ นำไป ศาสตราจารย์จิตติ ติงศภัทิย์ อธิบายว่า ไม่หมายความว่า ถึงกับหลอกลวง และแม้หญิงยินยอมก็เป็นความผิด

- คำพิพากษาฎีกาที่ 824/2503 ความผิดตามมาตรา 282 ต้องเป็นกรณีที่เป็นธุระจัดหา ล่อไป หรือชักพาไปเพื่อให้สำเร็จความใคร่ของผู้อื่น ถ้าเป็นกรณีพาไปเพื่อให้สำเร็จความใคร่ของจำเลยเอง ไม่เป็นความผิดตามมาตรานี้ คดีนี้ข้อเท็จจริงได้ความว่า จำเลยกับพวกร่วมกันฉุดผู้เสียหายไปให้จำเลยกระทำชำเรา เป็นการร่วมกระทำเพื่อความใคร่ของจำเลยเอง จำเลยและพวกของจำเลยไม่มีความผิดตามมาตรานี้

- คำพิพากษาฎีกาที่ 891/2515 จำเลยกับพวกพาผู้เสียหายซึ่งเป็นหญิงโสเภณีอายุ 17 ปี ไปอยู่ในซ่องโสเภณีของจำเลย แล้วให้รับจ้างร่วมประเวณีกับชายอื่น ดังนี้ แม้ผู้เสียหายจะสมัครใจไปกับจำเลยและยินยอมรับจ้างร่วมประเวณีกับชายอื่นก็ตาม ถือได้ว่าจำเลยเป็นผู้ชักพาไปเพื่อการอนาจารซึ่งหญิงอายุไม่เกิน 18 ปี มีความผิดตามมาตรานี้ / ส่วนที่จำเลยกักตัวผู้เสียหายไว้ในห้อง ใส่กุญแจขังไว้ผู้เสียหายจะทำอะไรก็มีผู้ชายคอยควบคุมอยู่ตลอดเวลานั้นเป็นการทำให้ผู้เสียหายปราศจากเสรีภาพในร่างกาย จำเลยจึงมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 310 อีกกระทงหนึ่งด้วย

- คำพิพากษาฎีกาที่ 1087/2520 เด็กผู้เยาว์ออกจากบ้านไปรับจ้างอยู่กับผู้อื่น แล้วมีผู้ล่อลวงเด็กไปหากำไรและอนาจาร จำเลยรับเด็กไว้ ยังมีความผิดตาม ม.319 วรรค 2เป็นกรรมเดียวกับ ม.282 วรรค 3

- คำว่า ความใคร่หมายความว่า ความพอใจของชายในทางเพศ ไม่จำต้องถึงกับร่วมประเวณี เพียงแต่กอดจูบลูบคลำก็เป็นความใคร่

- คำว่า เพื่อการอนาจารศาลฎีกาวินิจฉัยไว้ใน ฎ 2177/2517 ว่า การพาหญิงไปร่วมประเวณีถ้ากระทำในลักษณะที่อยู่กินเป็นสามีภริยากันโดยสมัครใจของหญิงและไม่ปรากฏว่าชายมีภริยาอยู่แล้ว ไม่เป็นการพาไปเพื่อการอนาจาร และฎีกาที่ 1519/2520 วินิจฉัยว่า แม้หญิงจะมีอายุเพียง 15 ปี ก็ไม่เป็นการพาไปเพื่อการอนาจารตามมาตรา 319

- ฎ 2029/2520 ผู้เสียหายอายุ 16 ปี ยินยอมไปอยู่กินกับจำเลยซึ่งมีอายุ 27 ปี และยังไม่มีภริยาอยู่ได้ 2 เดือน จำเลยหาเงินสินสอดไม่ได้ จำเลยให้ผู้เสียหายกลับไปบ้าน รุ่งขึ้นชายได้หญิงอื่นเป็นภริยา แสดงว่าจำเลยไม่ตั้งใจพาหญิงไปเลี้ยงดูเป็นภริยาจริงจัง จึงเป็นการพาไปเพื่อการอนาจารตามมาตรา 319

- คำพิพากษาฎีกาที่ 1208/2511 ความผิดตามมาตรา 5 (2) แห่งพระราชบัญญัติปรามการค้าประเวณี พ.ศ. 2503 นั้น ไม่จำต้องคำนึงว่าผู้กระทำได้เคยยอมรับการกระทำชำเราสำส่อนเพื่อสินจ้างมาก่อนแล้วหรือไม่ หากมีพฤติการณ์ในลักษณะหรืออากรที่เห็นได้ว่า เป็นการเรียกร้องการติดต่อในารค้าประเวณีแล้วก็เป็นผิด


มาตรา 283 ผู้ใด เพื่อสนองความใคร่ของผู้อื่น เป็นธุระ จัดหา ล่อไป หรือพาไปเพื่อการอนาจารซึ่งชายหรือหญิง โดยใช้อุบายหลอกลวง ขู่เข็ญ ใช้กำลังประทุษร้าย ใช้อำนาจครอบงำผิดคลองธรรม หรือใช้วิธีข่มขืนใจด้วยประการอื่นใด ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ห้าปีถึงยี่สิบปี และปรับตั้งแต่หนึ่งหมื่นบาทถึงสี่หมื่นบาท

ถ้าการกระทำความผิดตามวรรคแรกเป็นการกระทำแก่บุคคลอายุเกินสิบห้าปี แต่ยังไม่เกินสิบแปดปี ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่เจ็ดปีถึงยี่สิบปี และปรับตั้งแต่หนึ่งหมื่นสี่พันบาทถึงสี่หมื่นบาท หรือจำคุกตลอดชีวิต

ถ้าการกระทำความผิดตามวรรคแรก เป็นการกระทำแก่เด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปี ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สิบปีถึงยี่สิบปี และปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงสี่หมื่นบาท หรือจำคุกตลอดชีวิต หรือประหารชีวิต

ผู้ใดเพื่อสนองความใคร่ของผู้อื่น รับตัวบุคคลซึ่งมีผู้จัดหา ล่อไป หรือพาไปตามวรรคแรก วรรคสอง หรือวรรคสาม หรือสนับสนุนในการกระทำความผิดดังกล่าว ต้องระวางโทษตามที่บัญญัติไว้ในวรรคแรก วรรคสอง หรือวรรคสาม แล้วแต่กรณี

- ข้อความที่ว่า โดยใช้อุบายหลอกลวงฯลฯ แสดงว่าผู้ถูกหลอกลวงไม่ยินยอม

- คำว่า ใช้อำนาจครอบงำผิดคลองธรรมศาสตราจารย์จิตติ ติงศภัทิย์ อธิบายว่า เช่น จะไม่จ้างต่อไป ถ้าหญิงรับใช้ไม่ทำตามความประสงค์ของนายจ้าง

- ศาสตราจารย์หยุด แสงอุทัย อธิบายว่า หมายความว่าใช้อิทธิพลในทางมิชอบ เช่น ในฐานะเป็นญาติผู้ใหญ่บังคับให้หญิงไป

- ศาสตราจารย์หยุด แสงอุทัย อธิบายว่า เพื่อให้การเป็นไปตามอนุสัญญา (ระหว่างประเทศ) มาตรานี้ได้กำหนดไว้เหมือนมาตรา 282 กล่าวคือ ศาลไทยมีอำนาจลงโทษได้ ไม่ว่าการกระทำต่าง ๆ อันประกอบเป็นความผิดจะได้กระทำในประเทศต่างกันหรือไม่ แต่ความจริงตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 5 ถึงจะไม่มีข้อความดังกล่าวในมาตรานี้ศาลไทยก็ลงโทษได้อยู่แล้ว เพราะการกระทำส่วนหนึ่งส่วนใดได้กระทำในราชอาณาจักร

- กฎหมายมาตรานี้กำหนดให้ผู้สนับสนุน ต้องระวางโทษเท่ากับตัวการ

- คำพิพากษาฎีกาที่ 1595/2522 จำเลยใช้อุบายกล่าวหาโจทก์ร่วมว่ายักยอกทรัพย์ เพื่อให้โจทก์ร่วมจำนนในคดีอาญา แล้วจูงใจให้ไปทำงานที่ฮ่องกง เพื่อให้มีรายได้และพ้นคดีอาญา เมื่อโจทก์ร่วมไปถึงฮ่องกงมีชายมารับไปควบคุมตัวไว้ไม่ให้หนี และพาไปข่มขืนกระทำชำเราหลายครั้ง ดังนี้ เห็นเจตนาจำเลยได้ว่าจัดส่งโจทก์ร่วมไปนอกราชอาณาจักรเพื่อสำเร็จความใคร่ของผู้อื่น เป็นความผิดตามมาตรา 283 และ 320 ให้ลงโทษตามมาตรา 283 ซึ่งเป็นบทหนัก

- คำพิพากษาฎีกาที่ 5410/2531 ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 283 กับพระราชบัญญัติปรามการค้าประเวณี พ.ศ.2503 มาตรา 8 จำเลยกระทำเพียงครั้งเดียวและเกิดผลเดียวกัน จึงเป็นความผิดกรรมเดียว / การที่จำเลยพาผู้เสียหายไปขายให้แก่ จ.ซึ่งเป็นเจ้าของสถานการค้าประเวณีเพื่อให้ผู้เสียหายค้าประเวณี ถือได้ว่าจำเลยมีเจตนากระทำผิดให้เกิดผลเป็นกรรมในความผิดฐานเพื่อให้สำเร็จความใคร่ของผู้อื่นเป็นธุระจัดหาล่อไปหรือชักพาไปเพื่อการอนาจาร ซึ่งเด็กหญิงอายุยังไม่เกินสิบสามปี โดยใช้อุบายหลอกลวงตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 283 วรรคสาม ฐานหนึ่งแล้ว และขณะเดียวกันการที่จำเลยพรากผู้เสียหายไปเสียจากมารดาของผู้เสียหาย จำเลยก็มีเจตนากระทำความผิดให้เกิดผลเป็นความผิดฐานพรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบสามปีไปเสียจากอำนาจปกครองของมารดา โดยปราศจากเหตุอันสมควร เพื่อการอนาจารตามมาตรา 317 วรรคสาม อีกฐานหนึ่งต่างหากจากความผิดตามมาตรา 283 วรรคสาม มิใช่เป็นการกระทำกรรมเดียวกัน / ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 283 กับพระราชบัญญัติปรามการค้าประเวณี พ.ศ.2503 มาตรา 8 จำเลยกระทำเพียงครั้งเดียวและเกิดผลเดียวกัน จึงเป็นความผิดกรรมเดียว

- คำพิพากษาฎีกาที่ 4749/2534 กรณีที่กระทำไปเพื่อให้สำเร็จความใคร่ของผู้กระทำเอง หรือร่วมกันกระทำเพื่อผู้ใดในบรรดาผู้ร่วมกระทำด้วยกันแล้ว ก็ไม่เป็นความผิดตามมาตรานี้ การที่จำเลยกับ ส.และพวกอีกคนหนึ่งร่วมกันดักฉุดผู้เสียหาย เพื่อสำเร็จความใคร่ของ ส. และเพื่อการอนาจารผู้เสียหาย เป็นกรณีที่กระทำไปเพื่อ ส. ซึ่งเป็นผู้ร่วมกระทำผิดด้วยกัน หาใช่เป็นกรณีร่วมกันพาไปให้สำเร็จความใคร่ของผู้อื่นไม่ จำเลยจึงไม่มีความผิดตาม ป.อ.มาตรา 283

- คำพิพากษาฎีกาที่ 799/2537 จำเลยพาผู้เสียหาย 5 คนไปทำงานเป็นพนักงานเสิร์ฟอาหาร และจำเลยบังคับให้ผู้เสียหายทั้ง 5 คน ร่วมประเวณีกับแขกที่มารับประทานอาหา เป็นการกระทำต่อผู้เสียหายแต่ละคนโดยเฉพาะ ถือได้ว่าจำเลยเจตนาจะให้เกิดผลต่างกรรมกัน จำเลยมีความผิดตาม ป.อ. มาตรา 283 วรรคแรก รวม 5 กระทง

- คำพิพากษาฎีกาที่ 210/2541 การที่จำเลยหลอกลวงผู้เสียหายว่าจะพาผู้เสียหายไปทำงานในร้านอาหาร แต่กลับพาไปขายให้แก่ บ. เพื่อให้ค้าประเวณี จะนับว่าผู้เสียหายเต็มใจไปด้วยไม่ได้ เพราะผู้เสียหายไม่ได้เต็มใจไปค้าประเวณีมาแต่ต้น แต่ไปกับจำเลย เพราะจำเลยหลอกลวงว่าจะพาไปทำงานที่ร้านขายอาหารของน้องสาวจำเลย และการที่จำเลยหลอกลวงผู้เสียหาย แล้วพาผู้เสียหายไปขายให้แก่ บ. เพื่อให้ค้าประเวณี ก็เป็นที่เห็นได้ว่า จำเลยมีเจตนาที่จะล่อผู้เสียหายไป เพื่อการอนาจารและเพื่อสำเร็จความใคร่ของผู้อื่น โดยใช้อุบายหลอกลวงผู้เสียหาย จำเลยจึงมีความผิดตาม ป.อ. มาตรา 283 วรรคสอง และ มาตรา 318 วรรคสาม

มาตรา 283 ทวิ ผู้ใด พาบุคคลอายุเกินสิบห้าปี แต่ยังไม่เกินสิบแปดปีไป เพื่อการอนาจาร แม้ผู้นั้นจะยินยอมก็ตาม ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ถ้าการกระทำความผิดตามวรรคแรก เป็นการกระทำแก่เด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปี ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินเจ็ดปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นสี่พันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ผู้ใดซ่อนเร้นบุคคลซึ่งถูกพาไปตามวรรคแรก หรือวรรคสอง ต้องระวางโทษตามที่บัญญัติในวรรคแรกหรือวรรคสอง แล้วแต่กรณี

ความผิดตามวรรคแรกและวรรคสาม เฉพาะกรณีที่กระทำแก่บุคคลอายุเกินสิบห้าปี เป็นความผิดอันยอมความได้

- คำว่า บุคคลอายุเกินสิบห้าปีนั้น หมายความถึง ทั้งหญิงและชาย

- คำว่า เด็กหมายความรวมถึง ทั้งเด็กหญิงและเด็กชาย


มาตรา 284 ผู้ใด พาผู้อื่นไปเพื่อการอนาจาร โดยใช้อุบายหลอกลวง ขู่เข็ญ ใช้กำลังประทุษร้าย ใช้อำนาจครอบงำผิดคลองธรรม หรือใช้วิธีข่มขืนใจด้วยประการอื่นใด ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสิบปี และปรับตั้งแต่สองพันบาทถึงหนึ่งหมื่นบาท

ผู้ใดซ่อนเร้นหญิง ซึ่งเป็นผู้ถูกพาไปตามวรรคแรก ต้องระวางโทษเช่นเดียวกับผู้พาไปนั้น

ความผิดตามมาตรานี้ เป็นความผิดอันยอมความได้

- คำพิพากษาฎีกาที่ 333/2521 อุ้มกอดพาหญิงไปเพื่อการอนาจาร เป็นกรรมเดียวผิด ป.อ.ม.284 อันเป็นบทเฉพาะ ไม่ต้องยก ม.278 ขึ้นปรับบทลงโทษอีก

- คำพิพากษาฎีกาที่ 2010/2528 จำเลยกับพวกร่วมกันใช้อาวุธปืนขู่เข็ญ และใช้กำลังฉุดผู้เสียหายจากในซอยให้ขึ้นรถยนต์ แล้วพาไปถึงโรงแรม แต่ผู้เสียหายหนีออกมาได้ การกระทำของจำเลยเป็นกรรมเดียววาระเดียว โดยมีเจตนาเพียงอย่างเดียวคือ การพาผู้เสียหารไปเพื่อการอนาจารเท่านั้น แต่โดยลักษณะของการกระทำ คือการบังคับพาเอาตัวผู้เสียหายจากที่แห่งหนึ่งไปยังที่อีกแห่งหนึ่งเช่นนี้ ย่อมเป็นความผิดตาม ม.309 และ ม.310 อยู่ในตัว การกระทำผิดของจำเลยในส่วนนี้ จึงเป็นกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท ต้องใช้กฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดลงโทษแก่จำเลยตาม ป.อ. ม.90 คือ ม.248

- คำพิพากษาฎีกาที่ 4502/2528 จำเลยที่ 1 กับพวกร่วมกันฉุดโจทก์ร่วมที่ 3 จากรถยนต์โดยสารพาไปขึ้นรถยนต์ปิกอัพซึ่งเตรียมไว้ไปเพื่อการอนาจาร การกระทำผิดของจำเลยที่ 1 หาได้สำเร็จเด็ดขาด เพียงพาโจทก์ร่วมที่ 3 ขึ้นรถยนต์ปิกอัพไม่ แต่ยังคงเป็นความผิดตลอดเวลาที่พาไป จำเลยที่ 2 ได้วิ่งออกมาจากบ้านพักยามใกล้ที่เกิดเหตุ แล้วกระโดดขึ้นรถยนต์ปิกอัพไปกับจำเลยที่ 1 พาโจทก์ร่วมที่ 3 ไปที่บ้าน ม.น้องเขยจำเลยที่ 2 ระหว่างอยู่ที่บ้าน ม.จำเลยที่ 2 ร่วมเฝ้าโจทก์ร่วม มิให้ออกไปไหน เป็นการแบ่งหน้าที่กับจำเลยที่ 1 ทำตลอดเวลาที่พาโจทก์ร่วมที่ 3 ไปจำเลยที่ 2 จึงมีความผิดตาม ป.อ. ม.284, 83

- คำพิพากษาฎีกาที่ 430/2532 จำเลยกับผู้เสียหายแต่งงานกันตามลัทธิศาสนาอิสลาม มีบุตรด้วยกัน 1 คน ต่อมา แยกกันอยู่ แต่มิได้หย่าขาดจากการ เป็นสามีภริยากัน การที่จำเลยพาผู้เสียหายไปกักขัง เพื่อกระทำอนาจารและข่มขืนกระทำชำเรา จึงอาจกระทำไป โดยเข้าใจว่าจำเลยมีสิทธิกระทำได้ อันเสมือนกับทำโดยวิสาสะ ย่อมไม่เข้าลักษณะกระทำ โดยมีเจตนาร้าย ไม่เป็นความผิดฐานพาหญิงไปเพื่อการอนาจาร หน่วงเหนี่ยวกักขัง และข่มขืนกระทำชำเราผู้เสียหาย

- คำพิพากษาฎีกาที่ 635/2543 บิดามารดาผู้เสียหายนำผู้เสียหายไปฝากให้ อ. ป้าของผู้เสียหายช่วยดูแลแทน เนื่องจากต้องไปรับจ้างทำงานที่กรุงเทพมหานคร วันเกิดเหตุจำเลยขับรถจักรยานยนต์ไปรับผู้เสียหายจากบ้าน ส. เพื่อไปส่งที่บ้าน อ.แต่จำเลยกลับพาผู้เสียหายไปกระทำชำเราที่ป่าข้างทาง โดยที่ผู้เสียหายมิได้รักใคร่ และยินยอมร่วมประเวณีด้วย จึงเป็นการพรากเด็กอายุไม่เกิน 15 ปี ไปเสียจากผู้ดูแลโดยปราศจากเหตุอันสมควร เพื่อการอนาจาร โดยไม่ต้องคำนึงว่าจำเลยจะมีภริยาและบุตรหรือไม่ จำเลยมีความมุ่งหมายที่จะกระทำชำเราผู้เสียหาย เมื่อจำเลยขับรถจักรยานยนต์ไปรับผู้เสียหายจากบ้าน ส. ไปเพื่อการอนาจาร เป็นการกระทำความผิดสำเร็จ ในข้อหาพรากเด็กอายุไม่เกิน 15 ปี เพื่อการอนาจารสำเร็จไปตอนหนึ่งแล้ว เมื่อจำเลยพาผู้เสียหายไปถึงที่เกิดเหตุ แล้วลงมือกระทำชำเรา จึงเป็นการกระทำกรรมใหม่ อันเป็นความผิดขึ้นอีก แยกต่างหากจากการพรากเด็ก จึงเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน

- คำพิพากษาฎีกาที่ 1196/2550 ความผิดฐานกระทำชำเราเด็กหญิงอายุยังไม่เกินสิบห้าปีตาม ป.อ. มาตรา 277 วรรคแรก และความผิดฐานพาผู้อื่นไปเพื่อการอนาจาร โดยใช้กำลังประทุษร้าย ตามมาตรา 284 วรรคแรก จำเลยมีเจตนาเดียวกันคือพาผู้เสียหายไปข่มขืนกระทำชำเรา จึงเป็นการกระทำอันเป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ต้องลงโทษตามมาตรา 277 วรรคแรก ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดตามมาตรา 90 ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาลงโทษจำเลยเป็นความผิดต่างกรรมเป็น 2 กระทง จึงเป็นการไม่ชอบ แม้จำเลยจะมิได้ยกปัญหาดังกล่าวขึ้นว่ากล่าวในศาลอุทธรณ์ภาค 6 และมิได้ฎีกาปัญหานี้ขึ้นมา แต่กรณีเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกายกขึ้นวินิจฉัยได้เองตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225

- การพาไปโดยใช้อุบายหลอกลวง ฯลฯจะต้องเป็นการพาไปโดยผู้อื่นไม่ยินยอม

- คำพิพากษาฎีกาที่ 822/2482 หญิงยินยอมให้ฉุดเป็นพิธีเพื่อกันอาย มิให้ได้ชื่อว่าตามไป ไม่เป็นการฉุดโดยใช้กำลัง ไม่เป็นความผิด (ฎ 361/2484)

- ความผิดสำเร็จ

- (คำพิพากษาฎีกาที่ 1067/2484 , 1436/2498) กฎหมายใช้คำว่า ผู้ใดพาผู้อื่นไปเพื่อการอนาจารฉะนั้น แม้ผู้อื่นยังไม่ถูกกระทำอนาจาร ก็เป็นความผิดสำเร็จแล้ว

- คำพิพากษาฎีกาที่ 839/2502 ความผิดฐานฉุดคร่าหญิงไปเพื่อการอนาจารนั้น เมื่อได้ลงมือฉุดหญิงไปได้ 2 วาแล้ว แม้ญาติของหญิงจะเข้าขัดขวางจนจำเลยต้องหนีไป ก็ตาม ย่อมถือว่าเป็นความผิดสำเร็จแล้ว

- คำว่า ซ่อนเร้นต้องกระทำโดยปกปิดจึงเป็นการซ่อนเร้น

- ตัวอย่างประเด็นข้อสอบเก่า

- (ขส เน 2510/ 9) นายแดง นางดำ อยู่กินกันฉันสามีภรรยา โดยไม่ได้จดทะเบียนสมรส แล้วทิ้งร้างกัน นายแดงพาพวกไปฉุดนางดำ ให้มาอยู่กินกันเหมือนเดิม / นายแดงผิด ม 284 (+ 310) เพราะการฉุดหญิงไปเป็นภริยา โดยหญิงไม่สมัครใจ เป็นการอนาจาร

มาตรา 285 ถ้าการกระทำความผิดตามมาตรา 276 มาตรา 277 มาตรา 277 ทวิ มาตรา 277 ตรี มาตรา 277 มาตรา 279 มาตรา 280 มาตรา 282 หรือมาตรา 283 เป็นการกระทำแก่ผู้สืบสันดาน ศิษย์ซึ่งอยู่ในความดูแล ผู้อยู่ในความควบคุมตามหน้าที่ราชการ หรือผู้อยู่ในความปกครอง ในความพิทักษ์ หรือในความอนุบาล ผู้กระทำต้องระวางโทษหนักกว่าที่บัญญัติไว้ในมาตรานั้น ๆ หนึ่งในสาม

- คำว่า ผู้สืบสันดานหมายความว่า ต้องเป็นผู้สืบสันดานโดยตรง

- คำพิพากษาฎีกาที่ 2993/2530 วินิจฉัยว่า การข่มขืนกระทำชำเราผู้สืบสันดานจะต้องรับโทษหนักขึ้นตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 285 นั้น หมายถึงกระทำแก่ผู้สืบสันดานในทางสืบสายโลหิตโดยแท้จริง เพราะบทกฎหมายมาตรานี้ไม่ได้มุ่งลงโทษหนักขึ้นเฉพาะการกระทำแก่บุตรชอบด้วยกฎหมายเท่านั้น จึงใช้คำว่า กระทำแก่ผู้สืบสันดาน ดังนั้น การที่จำเลยข่มขืนกระทำชำเราผู้สืบสายโลหิตโดยตรงลงมา แม้ผู้นั้นจะไม่ใช่เป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของจำเลยก็ตาม ก็ถือได้ว่าจำเลยได้กระทำต่อผู้สืบสันดาน ตามความหมายมาตรา 285 นี้แล้ว

- ศาสตราจารย์จิตติ ติงศภัทิย์ อธิบายว่า ในกรณีตามมาตรา 285 นี้ การตีความให้รวมถึงผู้ที่ไม่ใช่ผู้สืบสันดานโดยชอบด้วยกฎหมายจะมีผลเป็นการตีความในทางเป็นผลร้ายแก่จำเลยในคดีอาญามากขึ้นไม่ชอบด้วยหลักการตีความ ถ้าพิเคราะห์ประกอบข้อความตอนที่ว่าด้วยความปกครองของ ความพิทักษ์ ความอนุบาล ก็น่าจะเข้าใจว่าเป็นกรณีเฉพาะผู้ที่มีความสัมพันธ์กันตามกฎหมายเท่านั้น

- ศาสตราจารย์หยุด แสงอุทัย อธิบายว่า ผู้สืบสันดานคือบุตรหลาน เลน ลื้อ ที่ชอบด้วยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

- คำว่า ผู้สืบสันดานตาม ป วิ อาญา มาตรา 5 (2) ฎ 303/2497, 1526/2497 ว่า หมายถึงผู้สืบสันดาน ตามความจริง บุตรนอกกฎหมายเป็นผู้สืบสันดานตามกฎหมาย มาตราดังกล่าว และ ฎ 956/2504 ว่า คำว่า ผู้สืบสันดาน ตามความมาตรา 71 หมาย ผู้สืบสันดานตามธรรมชาติ จำเลยเป็น บุตรบุญธรรมไม่ใช่ผู้สืบสันดานตามกฎหมายมาตราดังกล่าว

- ศิษย์ซึ่งอยู่ในความดูแล

- ศาสตราจารย์หยุด แสงอุทัย อธิบายว่า หมายถึง อยู่ในความดูแลของผู้กระทำ คือไม่ใช่ผู้กระทำเป็นแต่เพียงเป็นครูมีหน้าที่สอนเฉย ๆ ต้องมีหน้าที่ดูแลด้วย เช่น ดูแลนักเรียนกินนอน

- ศาสตราจารย์จิตติ ติงศภัทิย์ อธิบายว่า ความดูแลไม่หมายความถึง การสอน แต่หมายความถึงการควบคุมดูแลปกปักษ์รักษาตัวศิษย์ เช่นครูบาอาจารย์ที่ศิษย์กินนอนอยู่ด้วย ไม่ใช่ครูสอนแต่เพียงตามชั่วโมงของตารางสอน

- คำพิพากษาฎีกาที่ 2693/2516 จำเลยเป็นครูสอนเด็กหญิงและเป็นครูใหญ่ด้วย เด็กหญิงมาเรียนหนังสือในตอนเช้าตามปกติและกลับบ้านเมื่อเลิกเรียนแล้ว การควบคุมดูแลปกป้องเด็กหญิงนั้นย่อมอยู่กับจำเลยตลอดระยะเวลาที่โรงเรียนเปิดทำการสอนอยู่ตามปกติ เมื่อจำเลยกระทำอนาจารแก่เด็กหญิงในระหว่างที่โรงเรียนเปิดทำการสอนอยู่ตามปกติ ย่อมถือได้ว่าจำเลยได้กระทำแก่ศิษย์ซึ่งอยู่ในความดูแล ตามความหมายของมาตรา 285

- คำพิพากษาฎีกาที่ 1759/2526 จำเลยเป็นครูสอนวิชาพลศึกษาในโรงเรียน ซึ่งผู้เสียหายเป็นนักเรียนอยู่ จำเลยกระทำอนาจารแก่ผู้เสียหายขณะจำเลยทำหน้าที่สอนความรู้วิชาพลศึกษาของผู้เสียหาย ถือได้ว่าผู้เสียหายเป็นศิษย์ซึ่งอยู่ในความดูแลของจำเลยตามความในมาตรา 285

- คำพิพากษาฎีกาที่ 1189/2531 จำเลยเป็นครูสอนวิชาคณิตศาสตร์ในสายชั้นเรียนให้แก่ผู้เสียหาย ในขณะเกิดเหตุผู้เสียหายจึงเป็นศิษย์อยู่ในความดูแลของจำเลยทั้งต้องเชื่อฟังจำเลยด้วย เมื่อจำเลยข่มขืนกระทำชำเราผู้เสียหายในขณะนั้นจำเลยจึงต้องมีความผิดตามมาตรา 277 ประกอบมาตรา 285

- ขอให้สังเกตด้วยว่า คำพิพากษาฎีกาที่ 1637/2500 วินิจฉัยว่า จำเลยเป็นครูสอนวิชาไม่ได้รับเลี้ยงดูนักเรียน ไม่ใช่ครูอาจารย์ตามมาตรา 247 กฎหมายลักษณะอาญา เหตุที่ศาลฎีกาวินิจฉัยดังกล่าวก็เพราะกฎหมายลักษณะอาญา มาตรา 247 ใช้คำว่า ครูอาจารย์ที่รับเลี้ยงผู้ถูกกระทำร้ายไว้ ต่างกับมาตรา 285 ใช้คำว่า ศิษย์ซึ่งอยู่ในความดูแล ดังนั้น ครูอาจารย์ที่สอนเพียงตามชั่วโมงของตารางสอน ถ้ากระทำต่อศิษย์ในขณะนั้น ก็เป็นความผิดตามคำพิพากษาฎีกาที่ 1189/2531

- คำพิพากษาฎีกาที่ 2353/2538 จำเลยไม่เคยสอนในชั้นที่ผู้เสียหายเรียน จำเลยสอนเด็กเล็ก ทั้งจำเลยมิได้เป็นครูใหญ่ ซึ่งโดยหน้าที่แล้วมีหน้าที่ดูแลรับผิดชอบนักเรียนทั้งโรงเรียน หรือเป็นครูเวร หรือได้รับมอบหมายให้มีหน้าที่ดูแลผู้เสียหายในขณะเกิดเหตุ จึงฟังไม่ได้ว่าผู้เสียหายเป็นศิษย์ซึ่งอยู่ในความดูแลของจำเลยอันจะเป็นเหตุให้ต้องรับโทษหนักขึ้น ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 285

- คำพิพากษาฎีกาที่ 9704/2539 ขณะเกิดเหตุจำเลยรับราชการครูอยู่โรงเรียนเกาะแก้วพิทยาสรรค์ มีหน้าที่สอนวิชาพลศึกษาเฉพาะนักเรียนชายของโรงเรียนแห่งนั้นเท่านั้น จำเลยไม่มีหน้าที่สอนวิชาพลศึกษาให้แก่ผู้เสียหายซึ่งเป็นนักเรียนหญิงแต่อย่างใด เมื่อจำเลยไม่มีหน้าที่สอนผู้เสียหาย ผู้เสียหายก็มิใช่ศิษย์ซึ่งอยู่ในความดูแลของจำเลย และโดยหน้าที่ของจำเลย ผู้เสียหายก็ไม่ได้เป็นผู้อยู่ในความควบคุมตามหน้าที่ราชการของจำเลย จึงลงโทษจำเลยให้หนักขึ้นตามมาตรา 285 ไม่ได้

- คำพิพากษาฎีกาที่ 7986/2540 ความหมายของข้อความที่ว่าศิษย์ซึ่งอยู่ในความดูแลตาม ป.อ.มาตรา 285 นั้นมิได้หมายถึงเฉพาะผู้ที่มีความสัมพันธ์ในฐานะครูหรืออาจารย์ซึ่งมีหน้าที่สอนหรือเคยสอนศิษย์เท่านั้น แต่ครูหรืออาจารย์นั้นต้องมีหน้าที่ควบคุมดูแลปกป้องรักษาตัวศิษย์และกระทำความผิด ตามที่กฎหมายบัญญัติต่อศิษย์ในระหว่างมีหน้าที่ดังกล่าวด้วย ข้อเท็จจริงได้ความว่าจำเลยไม่มีหน้าที่ดังกล่าวในขณะเกิดเหตุเพราะเหตุเกิดที่บ้าน พ. และนอกเวลาควบคุมดุแลของจำเลย ดังนั้น แม้จำเลยกระทำอนาจารผู้เสียหายการกระทำของจำเลยก็มิใช่กระทำต่อศิษย์ซึ่งอยู่ในความดูแล / เมื่อการกระทำของจำเลยไม่ต้องด้วยกรณีที่ต้องรับโทษหนักขึ้นตาม ป.อ.มาตรา 285 หากเป็นเพียงความผิดตาม ป.อ.มาตรา 278 และมิได้กระทำต่อหน้าธารกำนัลไม่เป็นเหตุให้ผู้เสียหายได้รับอันตรายสาหัสหรือถึงแก่ความตายจึงเป็นความผิดอันยอมความได้ ตาม ป.อ.มาตรา 281 ซึ่งผู้เสียหายต้องร้องทุกข์ภายใน 3 เดือน คดีนี้เกิดเหตุเดือนธันวาคม 2537 ผู้เสียหายร้องทุกข์เมื่อวันที่ 7 เมษายน 2538 เกินเวลา 3 เดือน นับแต่วันที่รู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิด คดีจึงขาดอายุความตาม ป.อ.มาตรา 96 สิทธินำคดีอาญามาฟ้องย่อมระงับไปตาม ป.วิ.อ.มาตรา 39 (6) โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง

- ผู้อยู่ในความควบคุมตามหน้าที่ราชการ

- ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 2 (21) คำว่า ควบคุมหมายถึง การควบคุม หรือกักขังผู้ถูกจับโดยพนักงานฝ่ายปกครอง หรือตำรวจในระหว่างสืบสวนหรือสอบสวน

- คำพิพากษาฎีกาที่ 2453/2515 จำเลยเป็นอธิบดี ผู้เสียหายเป็นหัวหน้าแผนกศาลฎีกาอธิบายว่า การกระทำอนาจารแก่ผู้อยู่ในความควบคุมตามหน้าที่ราชการ ตามมาตรา 285 นั้น หมายถึงผู้กระทำความผิดมีหน้าที่ควบคุมตามหน้าที่ราชการ และผู้ถูกกระทำอยู่ในความควบคุมด้วย การที่ข้าราชการชั้นผู้น้อย อยู่ในความบังคับบัญชาของอธิบดี ในการปฏิบัติหน้าที่ราชการนั้นหาใช่อยู่ในความควบคุมตามหน้าที่ราชการตามความหมายแห่งมาตรา 285 ไม่

- ผู้อยู่ในความปกครองหมายความว่า ความปกครองตามที่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 5 บัญญัติไว้

- คำพิพากษาฎีกาที่ 928/2502 บิดาเลี้ยง ข่มขืนกระทำชำเราบุตรเลี้ยง มีความผิดตามมาตรา 277 แต่กรณีไม่ต้องตามมาตรา 285 เพราะอำนาจปกครองบุตรเลี้ยงตกอยู่แก่มารดาของเด็กนั้นตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1540 (1566) มิได้ตกอยู่ในความปกครองของบิดาเลี้ยง คำพิพากษาฎีกาที่ 6811/2538 ตัดสินทำนองเดียวกัน คำพิพากษาฎีกาที่ 1017/2538 วินิจฉัยว่าจำเลยกระทำชำเราเด็กอายุ 11 ปี ซึ่งมาอยู่ในความอุปการะเพราะไม่ทราบว่าบิดามารดาอยู่ที่ใด อำนาจปกครองยังคงอยู่กับบิดามารดาเดิม จึงเพิ่มโทษจำเลยตามมาตรา 285 ไม่ได้

รองศาสตราจารย์ทวีเกียรติ มีนะกนิษฐ์ อธิบายว่า น่าคิดว่าพ่อแม่แท้จริงไม่รู้อยู่ที่ไหน ผู้อุปการะก็ไม่ใช่ผู้ใช้อำนาจปกครอง ในเมื่อผู้มีอำนาจปกครองไม่ได้ปกครอง ส่วนผู้ที่ปกครองตามความจริงไม่ใช่ผู้ใช้อำนาจปกครองแล้ว ใช้อำนาจปกครองไม่ได้หรืออย่างไร ความหมายตามกฎหมายแพ่งจะนำมาใช้ในกฎหมายอาญา ในกรณีเช่นนี้น่าจะไม่สอดคล้องกับเจตนารมย์ของมาตราดังกล่าว ควรต้องถือผู้อยู่ในปกครองตามความจริง เพราะเป็นเรื่องอิทธิพลต่อเด็กซึ่งไม่มีทางหลีกเลี่ยงได้ และเป็นการกระทำต่อเนื้อตัวร่างกายโดยตรง ไม่ใช่กระทบเพียงสิทธิในความจริงมาตรานี้มุ่งคุ้มครองเด็กหรือเปิดโอกาสให้ผู้อุปการะเด็กกันแน่

- ข้อนี้ควรสังเกตว่า คำว่า ผู้สืบสันดานมีบัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1627 และมาตราต่อ ๆ ไป โดยกฎหมายมาตราดังกล่าวบัญญัติว่า บุตรนอกกฎหมายที่บิดาได้รับรองแล้วและบุตรบุญธรรมนั้น ให้ถือว่าเป็นผู้สืบสันดานเหมือนบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายตามความหมายแห่งประมวลกฎหมายนี้ กล่าวคือ มีสิทธิรับมรดกได้ตามมาตรา 1629 และศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ผู้สืบสันดานตามมาตรา 5 (2) ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา หมายถึง ผู้สืบสันดานตามความจริง (คำพิพากษาฎีกาที่ 1384/2516, 303/2479) ไม่ต้องพิจารณาว่าเป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ และคำพิพากษาฎีกาที่ 926/2509 วินิจฉัยว่า คำว่า ผู้สืบสันดานตาม มาตรา 71 ประมวลกฎหมายอาญาหมายความว่า ผู้สืบเชื้อสายโดยตรงบุตรบุญธรรม ไม่ใช่ผู้สืบสันดานตามกฎหมายมาตราดังกล่าวและคำพิพากษาฎีกาที่ 2993/2530 ก็วินิจฉัยว่า คำว่า ผู้สืบสันดาน ตามมาตรา 285 หมายถึงผู้สืบสันดานตามความเป็นจริงเช่นเดียวกัน ซึ่งศาสตราจารย์จิตติ ติงศภัทิย์ และศาสตราจารย์ ดร.หยุด แสงอุทัย ก็ไม่เห็นด้วยดังกล่าวข้างต้น แต่การที่ศาลฎีกาตีความว่า ผู้สืบสันดาน หมายถึง ผู้สืบสันดานตามความจริงนั้น ก็มีเหตุผลเพราะแม้แต่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1627 และมาตรา 1629 ก็ยังรับรองให้มีสิทธิรับมรดกได้ทั้งเป็นความผูกพันตามธรรมชาติตามสายเลือด แต่คำว่า ผู้อยู่ในความปกครองในความพิทักษ์หรือในความอนุบาลนั้น เป็นกรณีที่เกิดขึ้นตามที่กฎหมายบัญญัติมิได้เกิดขึ้นตามธรรมชาติ ตามสายเลือด ดังนั้น ถ้าแปลว่าหมายถึงความปกครอง ความพิทักษ์ และความอนุบาล ตามความเป็นจริงแล้วก็จะเป็นการตีความหมายกว้างออกไปมาก อาจจะขัดกับหลักการตีความกฎหมายอาญาที่จำต้องตีความโดยเคร่งครัด และอาจเป็นปัญหาตามมามาก ว่าแค่ไหนถือว่าอยู่ในความปกครอง อยู่ในความพิทักษ์ และอยู่ในความอนุบาลตามความเป็นจริง ฉะนั้นที่ศาลฎีกาตีความว่า ต้องเป็นผู้ปกครองตามกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ ๕ จึงน่าจะมีเหตุผลเพราะถึงอย่างไรจำเลยก็ต้องถูกลงโทษอันเป็นการคุ้มครองผู้เสียหายอยู่แล้ว เพียงแต่เพิ่มโทษให้หนักขึ้นตามมาตรานี้ไม่ได้เท่านั้น ฉะนั้นจึงต้องแปลว่าผู้อยู่ในความปกครองนั้นผู้ปกครองต้องเป็นผู้ปกครองตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 5 ส่วนคำว่าผู้อยู่ในความพิทักษ์ผู้อยู่ในความอนุบาล หมายความว่า เป็นผู้อนุบาลตามมาตรา 28 และเป็นผู้พิทักษ์ตามมาตรา 32 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

- คำพิพากษาฎีกาที่ 7795/2538 ผู้เสียหายเป็นบุตรติดของนาง ป. มา แล้วนาง ป. อยู่กินเป็นสามีภริยากับจำเลย ดังนี้อำนาจปกครองผู้เสียหายตกอยู่กับนาง ป. มารดา ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1568 (1566)

- คำว่า ผู้อยู่ในความปกครองตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 282 ต้องตีความโดยเคร่งครัด เมื่อกฎหมายมาตราดังกล่าว บัญญัติถึงความเป็นผู้ปกครอง หมายถึงความปกครองตามกฎหมาย หากต้องการให้มีความหมายนอกเหนือไปถึงความปกครองโดยพฤตินัยด้วยแล้วก็ย่อมจะต้องบัญญัติไว้เป็นพิเศษ

- คำพิพากษาฎีกาที่ 6811/2538 การข่มขืนกระทำชำเราลูกเลี้ยง ไม่อาจถือได้ว่าเป็นการกระทำแก่ผู้อยู่ในความปกครองตาม ป.อ. มาตรา 285 เพราะผู้อยู่ในความปกครองตามบทบัญญัติดังกล่าวหมายถึงผู้อยู่ในความปกครองโดยชอบด้วยกฎหมาย

- เหตุอันยอมความได้

- คำพิพากษาฎีกาที่ 1841/2526 จำเลยที่ 1 ข่มขืนกระทำชำเราผู้เสียหายแต่ลำพังคนเดียว มิใช่ลักษณะเป็นการโทรมหญิง จึงเป็นคดีความผิดอันยอมความได้ เมื่อผู้เสียหายตกลงยอมความกับจำเลยที่ 1 แล้ว สิทธินำคดีอาญามาฟ้องเป็นอันระงับ / จำเลยที่ 2 อายุ 20 ปี ผู้เสียหายอายุ 48 ปี และเป็นเพื่อนกับมารดาจำเลยที่ 2 ขณะเกิดเหตุผู้เสียหายซึ่งมีอาชีพรับจ้างนวด เมาสุรา สภาพเช่นนี้ไม่น่าที่จำเลยที่ 2 จะเกิดอารมณ์ต้องการร่วมเพศกับผู้เสียหาย ทั้งจำเลยที่ 1 เป็นลุงจำเลยที่ 2 การที่ลุงหลานจะผลัดกันข่มขืนกระทำชำเราหญิงอายุมากแล้ว โดยไม่ละอายแก่กันนั้น เชื่อได้ยาก ศาลไม่เชื่อว่าจำเลยที่ 2 ข่มขืนกระทำชำเราผู้เสียหาย


มาตรา 286 ผู้ใดอายุกว่าสิบหกปี ดำรงชีพอยู่ แม้เพียงบางส่วนจากรายได้ของหญิงซึ่งค้าประเวณี ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่เจ็ดปีถึงยี่สิบปี และปรับตั้งแต่หนึ่งหมื่นสี่พันบาทถึงสี่หมื่นบาท หรือจำคุกตลอดชีวิต

ผู้ใดไม่มีปัจจัยอย่างอื่นอันปรากฏสำหรับดำรงชีพ หรือไม่มีปัจจัยอันพอเพียงสำหรับดำรงชีพ และ

(1) ปรากฏว่าอยู่ร่วมกับหญิงซึ่งค้าประเวณีหรือสมาคมกับหญิงซึ่งค้าประเวณีคนเดียวหรือหลายคนเป็นอาจิณ

(2) กินอยู่หลับนอนหรือรับเงินหรือประโยชน์อย่างอื่น โดยหญิงซึ่งค้าประเวณีเป็นผู้จัดให้หรือ

(3) เข้าแทรกแซงเพื่อช่วยหญิงซึ่งค้าประเวณี ในการทะเลาะวิวาทกับผู้ที่คบค้ากับหญิงซึ่งค้าประเวณีนั้น ให้ถือว่าผู้นั้นดำรงชีพอยู่จากรายได้ของหญิงในการค้าประเวณี เว้นแต่จะพิสูจน์ให้เป็นที่พอใจว่ามิได้เป็นเช่นนั้น

บทบัญญัติแห่งมาตรานี้ มิให้ใช้บังคับแก่ผู้รับค่าเลี้ยงดูจากหญิงซึ่งค้าประเวณี ซึ่งพึงให้ค่าเลี้ยงดูนั้นตามกฎหมาย หรือตามธรรมจรรยา

- คำว่า การค้าประเวณีนั้น พระราชบัญญัติปราบการค้าประเวณี พ..2539 มาตรา 4 หมายความว่า การยอมรับการกระทำชำเรา หรือยอมรับการกระทำอื่นใด หรือการกระทำอื่นใดเพื่อสำเร็จความใคร่ในทางกามารมณ์ของผู้อื่น อันเป็นการสำส่อนเพื่อสินจ้าง ทั้งนี้ไม่ว่าผู้ยอมรับการกระทำและผู้กระทำจะเป็นบุคคลเพศเดียวกันหรือคนละเพศ

- สถานการค้าประเวณี หมายความว่า สถานที่ที่จัดไว้เพื่อการค้าประเวณีหรือยอมให้มีการค้าประเวณี และให้หมายความรวมถึงสถานที่ที่ใช้ในการติดต่อหรือจัดหาบุคคลอื่นเพื่อกระทำการค้าประเวณีด้วย

- คำว่า ดำรงชีพมีความหมายว่าอย่างไร

- ท่านรองศาสตราจารย์ทวีเกียรติ มีนะกนิษฐ อธิบายว่า คำว่า ดำรงชีพ ตามมาตรานี้ศาลฎีกานำไปปะปนกับการไม่มีปัจจัยอันพอเพียงสำหรับดำรงชีพตามวรรคสอง ซึ่งเป็นเพียงบทสันนิษฐานของกฎหมาย สำหรับบุคคลที่กินอยู่หลับนอน มั่วสุมกับหญิงโสเภณีไม่ใช่องค์ประกอบความผิด ส่วนตามวรรคแรก การดำรงชีพอยู่แม้เพียงบางส่วนจากรายได้ของหญิงซึ่งค้าประเวณีนั้น ย่อมหมายถึงผู้นั้นอาจมีรายได้ทางอื่นอยู่แล้ว จึงไม่ใช่เรื่องที่ว่า ผู้ที่รับรายได้ตามวรรคแรกนี้ไม่มีปัจจัยดำรงชีพ หรือปัจจัยสำหรับดำรงชีพไม่เพียงพอเหมือนดังความในวรรคสอง กลับเป็นเรื่องที่ทำให้ต้องเข้าใจว่า ถ้าผู้กระทำสามารถดำรงชีพอยู่ได้ด้วยรายได้จากอาชีพสุจริต ตามปกติของตนอย่างพอเพียงแล้ว เหตุไฉนจำต้องรับส่วนแบ่งจากรายได้ของหญิงโสเภณีอีก นอกจากนี้รายได้จากหญิงโสเภณีเป็นรายได้ที่ผู้รับรู้อยู่ว่าเป็นรายได้ที่ได้มาจากการกระทำที่กฎหมายห้าม โดยนัยคำพิพากษาฎีกาดังนี้ จึงเท่ากับรับรองว่าผู้ที่มีอาชีพพอยู่แล้วเป็นตำรวจ ทหาร ข้าราชการ นักการเมือง นักธุรกิจ หรือแม้แต่คนถีบสามล้อ ก็สามารถหาลำไพ่พิเศษด้วยการเป็นพ่อเล้าหรือแมงดาได้โดยไม่มีความผิดตามกฎหมาย และดูเหมือนว่าผู้ที่รับรายได้อันเกิดจากการกระทำอันเป็นการขูดรีดเอาเปรียบหญิงเช่นนี้เป็นเรื่องที่ทำได้ ซึ่งไม่น่าจะสอดคล้องกับเจตนารมย์ของกฎหมายมาตรานี้

- ศาสตราจารย์หยุด แสงอุทัย อธิบายว่า ความผิดตามมาตรานี้มีองค์ประกอบดังนี้ (1) ต้องมีอายุกว่าสิบหกปี และ (2) ต้องดำรงชีพจากรายได้ของหญิงซึ่งค้าประเวณี อาจารย์พิพัฒน์ จักกรางกูร อธิบายทำนองเดียวกัน ส่วนท่านศาสตราจารย์จิตติ ติงศภัทิย์ อธิบายว่า การกระทำคือดำรงชีพอยู่จากรายได้ของหญิงซึ่งค้าประเวณี แม้อาศัยรายได้นั้นเพียงบางส่วน

- คำว่า แม้เพียงบางส่วนจากรายได้ของหญิงซึ่งค้าประเวณีนั้นหมายความอย่างไร

- หมายความว่า ดำรงชีพอยู่ด้วยเงินบางส่วนของรายได้ของหญิงซึ่งค้าประเวณีเท่านั้น จึงจะมีความผิดหรือหมายความว่าการดำรงชีพของผู้นั้นแม้บางส่วนใช้เงินของตนเอง บางส่วนใช้เงินจากรายได้ของหญิงซึ่งค้าประเวณีก็มีความผิดตามมาตรานี้ ตามความเห็นของท่านรองศาสตราจารย์ทวีเกียรติ มีนะกนิษฐ

- เห็นว่าคำว่า บางส่วนนั้น เป็นคำที่ใช้กับสิ่งที่นับจำนวนได้ เช่น เงินรายได้ ส่วนคำว่าดำรงชีพตามพจนานุกรม คำว่า ดำรงหมายความว่าทรงไว้ ชูไว้ ทำให้อยู่ ดำรงชีพหมายความว่า ทำให้ชีวิตคงอยู่ ซึ่งไม่น่าจะแยกเป็นส่วน ๆ ได้ ฉะนั้น คำว่า แม้แต่บางส่วนจากรายได้จึงหมายความว่า ดำรงชีพอยู่แม้บางส่วนหรือทั้งหมดของรายได้ของหญิงซึ่งค้าประเวณีเป็นความผิดไม่ใช่หมายความว่าบางส่วนของการดำรงชีพ กฎหมายมาตรานี้ประสงค์จะลงโทษบุคคลที่อาศัยรายได้คือเงินที่หญิงโสเภณีได้รับตอบแทนจากการค้าประเวณีในการดำรงชีพโดยไม่ประกอบอาชีพอื่นเลย อย่างที่ชาวบ้านเรียกว่าพวกแมงดาเกาะหลังตัวเมียหากิน เท่านั้นจึงจะมีความผิด ทั้งการแปลกฎหมายในแนวทางนี้ ก็ตรงกับหลักการแปลกฎหมายอาญาที่ต้องตีความโดยเคร่งครัดอีกด้วย อีกประการหนึ่งถ้าพิจารณาข้อสันนิษฐานของกฎหมายมาตรานี้ในวรรคสองที่ว่า ผู้ใดไม่มีปัจจัยอย่างอื่นอันปรากฏสำหรับดำรงชีพ หรือไม่มีปัจจัยอันพอเพียงสำหรับดำรงชีพก็ยิ่งมีเหตุผลให้ต้องแปลกฎหมายมาตรานี้ว่า ผู้ที่มีความผิดตามมาตรานี้จะต้องดำรงชีพอยู่จากรายได้บางส่วนหรือทั้งหมดของหญิงซึ่งค้าประเวณีเท่านั้น หากมีปัจจัยอย่างอื่นสำหรับดำรงชีพหรือมีปัจจัยอันพอเพียงสำหรับดำรงชีพแล้วก็ไม่มีความผิดตามมาตรานี้ ซึ่งศาลฎีกาวินิจฉัยตามความเห็นนี้ การแปลกฎหมายต้องอ่านทั้งมาตรา เพราะข้อความในกฎหมายจะสอดคล้องและอธิบายความหมายซึ่งกันและกัน คงไม่ใช่เรื่องปะปนกัน

- คำพิพากษาฎีกาที่ 1208/2535 ความผิดประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 286 จะต้องฟังได้ว่า จำเลยอายุกว่าสิบหกปี ดำรงชีพอยู่เม้เพียงบางส่วนจากรายได้ของหญิงซึ่งค้าประเวณีหมายความว่า หากขาดปัจจัยแม้เพียงบางส่วนจากรายได้ของหญิงซึ่งค้าประเวณีจำเลยจะดำรงชีพอยู่ไม่ได้ เมื่อกรณีได้ความแต่เพียงว่า จำเลยอายุกว่าสิบหกปีเป็นผู้จัดหาหญิงผู้ทำการค้าประเวณีเพื่อผู้อื่นเป็นปกติธุระและได้รับเงินส่วนแบ่งจากรายได้ของหญิงซึ่งค้าประเวณี ดังนี้ ฟังไม่ได้ว่าจำเลยดำรงชีพอยู่แม้เพียงบางส่วนจากรายได้ของหญิงซึ่งค้าประเวณี

- อนึ่ง ขอให้สังเกตด้วยว่า ข้อความในวรรคสองที่ว่า ให้ถือว่าผู้นั้นดำรงชีพอยู่จากรายได้ของหญิงในการค้าประเวณี เว้นแต่พิสูจน์ให้เป็นที่พอใจว่ามิได้เป็นเช่นนั้น หมายความว่า ข้อเท็จจริงที่ว่า ดำรงชีพอยู่จากรายได้ของหญิงในการค้าประเวณีเป็นข้อเท็จจริงอันเป็นองค์ประกอบของความผิด ฉะนั้นถ้าข้อเท็จจริงตามที่โจทก์นำสืบฟังไม่ได้ว่าจำเลยดำรงชีพอยูจากรายได้ของหญิงในการค้าประเวณี แม้จำเลยจะไม่ได้พิสูจน์หรือพิสูจน์ไม่ได้ว่ามิได้เป็นเช่นนั้น ศาลก็ต้องยกฟ้องโจทก์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 185

- คำว่า ดำรงชีพอยู่แม้บางส่วนจากรายได้ของหญิงซึ่งค้าประเวณีในวรรค 1 และคำว่า ให้ถือว่าผู้นั้นดำรงชีพอยู่จากรายได้ของหญิงในการค้าประเวณีในวรรคสอง (3) แม้จะใช้ข้อความต่างกันแต่ก็มีความหมายเช่นเดียวกัน คือ หมายความว่าสิ่งที่อาศัยดำรงชีพต้องเป็นสิ่งที่หญิงได้มาจากการค้าประเวณี มิใช่ได้มาจากรายได้ทางอื่น เพราะวรรคสองเป็นข้อสันนิษฐานของกฎหมายว่า ถ้าข้อเท็จจริงเป็นดังที่กล่าวในวรรคสองแล้ว ให้ถือว่าผู้นั้นดำรงชีพอยู่จากรายได้ของหญิงในการค้าประเวณี จำเลยมีหน้าที่ต้องพิสูจน์ให้เป็นที่พอใจว่ามิได้เป็นเช่นนั้น

- คำว่า ดำรงชีพอยู่นั้นหมายความว่า ต้องกระทำเป็นอาจิณไม่ใช่เป็นครั้งคราว

- ข้อสันนิษฐานในวรรคสองนั้นโจทก์เป็นฝ่ายกล่าวอ้างขึ้นก่อนในฟ้อง และตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 174 กำหนดให้โจทก์มีหน้าที่นำสืบ ฉะนั้น โจทก์จึงมีหน้าที่ต้องสืบให้ศาลเห็นว่ามีข้อเท็จจริงต้องตามข้อสันนิษฐานในวรรคสอง ถ้าโจทก์ไม่นำสืบศาลก็ลงโทษจำเลยไม่ได้

- คำพิพากษาฎีกาที่ 1488/2520 จำเลยเป็นเจ้าบ้านที่ให้หญิงค้าประเวณีแบ่งรายได้ครึ่งหนึ่งจากหญิงเหล่านั้น จำเลยมีรายได้จากการรับเสื้อผ้าสำเร็จรูปมาขาย ไม่ปรากฏว่าไม่พอดำรงชีพแม้จะได้รับเงินส่วนแบ่งจากหญิงค้าประเวณี ไม่ผิดมาตรา 286

- คำพิพากษาฎีกาที่ 2555/2521 จำเลยแบ่งรายได้จากหญิงโสเภณีกึ่งหนึ่ง แต่จำเลยมีรายได้จากการรับจ้าง ค่าเช่า ไม่ปรากฏว่าไม่พอดำรงชีพไม่ผิดมาตรา 286

- คำพิพากษาฎีกาที่ 883/2522 จำเลยมีรายได้จากการค้า และทำไร่พอดำรงชีพ แม้จะได้รับเงินส่วนแบ่งจากหญิงซึ่งค้าประเวณี จำเลยก็ไม่มีความผิดตาม ป.อ.ม.286

- คำพิพากษาฎีกาที่ 2541/2522 จำเลยยืนอยู่หน้าห้องแถวปิดประตูลูกกรงเหล็กมีกุญแจประตูกักขังหญิงค้าประเวณีไว้อ้างว่าให้หญิงเช่าวันละ 10 บาท ไม่ได้ความว่ารับจ้างทำงานอะไร ฟังได้ว่าจำเลยดำรงชีพอยู่จากรายได้ของหญิงโสเภณีมีความผิดตามมาตรา 286

- คำพิพากษาฎีกาที่ 2562/2523 การที่จะถือว่าผู้ใดดำรงชีพอยู่จากรายได้ของหญิงในการค้าประเวณี จะต้องได้ความว่าผู้นั้นไม่มีปัจจัยอย่างอื่นอันปรากฏสำหรับดำรงชีพหรือไม่มีปัจจัยอันพอเพียงสำหรับดำรงชีพ เมื่อโจทก์ไม่นำสืบถึงความข้อนี้ ก็ลงโทษจำเลยไม่ได้

- คำพิพากษาฎีกาที่ 2267/2527 ที่จะเป็นความผิดตาม ป.อ.ม.286 นั้น โจทก์จำต้องนำสืบให้รับฟังได้ว่าจำเลยดำรงชีพอยู่ แม้เพียงบางส่วนจากรายได้ของหญิงซึ่งค้าประเวณี หรือไม่มีปัจจัยอย่างอื่นอันปรากฏสำหรับดำรงชีพ หรือไม่มีปัจจัยอันเพียงพอสำหรับดำรงชีพ เมื่อพยานโจทก์ไม่ได้เบิกความถึงข้อนี้เลย แต่ได้ความว่าจำเลยเช่าร้านติดกับที่เกิดเห ตุขายก๋วยเตี๋ยวและเครื่องดื่มมา 2 ปีแล้ว จึงลงโทษจำเลยตาม ม.286 ไม่ได้ / บ้านเกิดเหตุเป็นสถานค้าประเวณี มีหญิงโสเภณีและชายที่ไปเที่ยว จำเลยทำหน้าที่คอยเปิดปิดประตูรับอยู่ที่บ้านดังกล่าว ดังนี้ จำเลยเป็นผู้ดูแลจัดการสถานค้าประเวณีตาม พ.ร.บ.ปรามการค้าประเวณีฯ ม.9

- คำพิพากษาฎีกาที่ 178/2528 แม้จำเลยอายุเกิน 16 ปี เป็นผู้ดูแลจัดการสถานค้าประเวณี ได้รับส่วนแบ่งจากการค้าประเวณีของหญิงที่ค้าประเวณี แต่จำเลยก็ประกอบอาชีพขายผ้าและน้ำปลามีรายได้เดือนละ 5,000 - 6,000 บาท แสดงว่าจำเลยมีรายได้จากการค้าขายและไม่ปรากฏว่ารายได้ดังกล่าวไม่เพียงพอสำหรับดำรงชีพ จำเลยไม่มีความผิดตาม มาตรา 286

- คำพิพากษาฎีกาที่ 3942/2530 ข้อหาฐานดำรงชีพจากรายได้ของหญิงซึ่งค้าประเวณีนั้น เห็นว่า การที่จะถือว่าผู้ใดกระทำความผิดดังกล่าวจะต้องได้ความว่าผู้นั้นไม่มีปัจจัยอันพอเพียงสำหรับดำรงชีพด้วย ปรากฏว่าโจทก์ไม่ได้นำสืบถึงความข้อนี้เลย ข้อเท็จจริงจึงฟังไม่ได้ว่า จำเลยที่ 1 ดำรงชีพอยู่จากรายได้ของหญิงซึ่งค้าประเวณี

- คำพิพากษาฎีกาที่ 4302/2530 (สบฎ เน 48) ความผิดฐานเป็นเจ้าของและผู้จัดการสถานค้าประเวณี และความผิดฐานดำรงชีพจากรายได้ของหญิงซึ่งค้าประเวณีในสถานการค้าประเวณีนั้น เป็นกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบทลงโทษตามมาตรา 286 ซึ่งเป็นบทหนัก

- คำพิพากษาฎีกาที่ 1895/2531 โจทก์นำสืบว่า จำเลยทำหน้าที่เป็นคนเชื้อเชิญแขกอยู่สถานการค้าประเวณี และได้รับประโยชน์จากหญิงโสเภณี ยังไม่เพียงพอที่จะรับฟังว่าจำเลยไม่มีปัจจัยอย่างอื่นอันปรากฏสำหรับดำรงชีพ หรือไม่มีปัจจัยอันเพียงพอสำหรับดำรงชีพตามมาตรา 286

- คำพิพากษาฎีกาที่ 1431/2533 ความผิดฐานดำรงชีพจากรายได้ของหญิงซึ่งค้าประเวณีตามมาตรานี้นั้น จะต้องได้ความว่าจำเลยไม่มีปัจจัยอย่างอื่นอันปรากฏสำหรับดำรงชีพ หรือไม่มีปัจจัยอันพอเพียงสำหรับดำรงชีพ จึงจะลงโทษจำเลยได้ เมื่อโจทก์นำสืบได้แต่เพียงว่า จำเลยรับเงินค่าบริการจากนางสาวจันทร์เป็งและนางสาวอำไพ ซึ่งทำการค้าประเวณีเท่านั้น โดยไม่นำสืบให้เห็นว่าจำเลยไม่มีปัจจัยอย่างอื่นอันปรากฏสำหรับดำรงชีพ หรือไม่มีปัจจัยอันพอเพียงสำหรับดำรงชีพ จึงลงโทษจำเลยไม่ได้

- คำพิพากษาฎีกาที่ 4697/2534 โจทก์ไม่ได้นำสืบไว้ว่า รายได้ของจำเลยจากการค้าอาหารไม่เพียงพอสำหรับดำรงชีพ แม้จำเลยจะรับเงินส่วนแบ่งจากหญิงซึ่งค้าประเวณี จำเลยก็ไม่มีความผิดตามมาตรา 286

- คำว่า ค่าเลี้ยงดูตามกฎหมายหรือตามธรรมจรรยา

- ศาสตราจารย์หยุด แสงอุทัย อธิบายว่า ค่าเลี้ยงดูตามกฎหมาย คือ ตามหน้าที่ที่จะต้องให้ค่าอุปการะเลี้ยงดูตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

- ศาสตราจารย์จิตติ ติงศภัทิย์ อธิบายว่า หมายความถึง ค่าอุปการะเลี้ยงดู ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1598/38, 1461, 1563, 1654, 1584, 1499/1 ค่าเลี้ยงชีพตามมาตรา 1499, 1526 แต่กฎหมายมิได้ใช้คำว่า ค่าอุปการะเลี้ยงดู ตามที่ใช้ใน มาตรา 1598/38 จึงเห็นได้ว่ากฎหมายมุ่งหมายให้มีความหมายกว้างออกไป รวมถึง ผู้ที่มีความสัมพันธ์กันตามกฎหมายอาจเป็นโดยสัญญา เช่น คนใช้ ลูกจ้าง หรือทนายความ หน้าที่ตามธรรมจรรยา ก็เช่นบิดากับบุตรนอกกฎหมาย


มาตรา 287 ผู้ใด

(1) เพื่อความประสงค์แห่งการค้า หรือโดยการค้า เพื่อการแจกจ่าย หรือเพื่อการแสดงอวดแก่ประชาชน ทำ ผลิต มีไว้ นำเข้า หรือยังให้นำเข้าในราชอาณาจักร ส่งออก หรือยังให้ส่งออกไปนอกราชอาณาจักร พาไปหรือยังให้พาไป หรือทำให้แพร่หลายโดยประการใด ๆ ซึ่งเอกสาร ภาพ เขียน ภาพพิมพ์ การระบายสี สิ่งพิมพ์ รูปภาพ ภาพโฆษณา เครื่องหมาย รูปถ่าย ภาพยนตร์ แถบบันทึกเสียง แถบบันทึกภาพหรือสิ่งอื่นใดอันลามก

(2) ประกอบการค้า หรือมีส่วน หรือเข้าเกี่ยวข้องในการค้าเกี่ยวกับวัตถุหรือสิ่งของลามกดังกล่าวแล้ว จ่ายแจก หรือแสดงอวดแก่ประชาชน หรือให้เช่าวัตถุหรือสิ่งของเช่นว่านั้น

(3) เพื่อจะช่วยทำให้แพร่หลาย หรือการค้าวัตถุหรือสิ่งของลามกดังกล่าวแล้ว โฆษณาหรือไขข่าวโดยประการใด ๆ ว่ามีบุคคลกระทำการอันเป็นความผิดตามมาตรานี้ หรือโฆษณาหรือไขข่าวว่าวัตถุ หรือสิ่งของลามกดังกล่าวแล้วจะหาได้จากบุคคลใด หรือโดยวิธีใด

ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

- คำว่า สิ่งอันลามก

- ศาสตราจารย์จิตติ ติงศภัทิย์ อธิบายว่า คือน่าอับอายในทางเพศต่อหูตา น่าบัดสี ตรงกันข้ามกับสิ่งที่เป็นศิลปะอันแสดงถึงความงามและฝีมือของศิลปิน ศิลปหรือลามกพิจารณาตามความรู้สึกของวิญญูชน มิใช่ผู้เคร่งต่อจารีตประเพณีโดยไม่ยอมเปลี่ยนแปลงไปตามสมัยของโลก

- วัตถุเป็นสิ่งอันลามกหรือไม่ เป็นปัญหาข้อกฎหมาย

- ภาพของกลางเป็นภาพที่แสดงถึงส่วนสัดความสมบูรณ์ของร่างกายที่มิได้มีสิ่งปกปิด ส่วนล่างก็ปกปิดโดยทำเป็นเงาและลางเลือนให้ภาพเรียบแล้ว จึงไม่เป็นภาพลามก

- คำพิพากษาฎีกาที่ 978/2492 รูปหญิงเปลือยกายเห็นเด่นชัดเฉพาะถัน ส่วนโยนีถูกระบายให้ลบเลือนเห็นเพียงฐาน เป็นรูปแสดงสุขภาพอนามัยของการอาบแดด สอนวิธีเขียนส่วนสัดความงามของร่างกาย ไม่น่าเกลียด อุดจาดบัดสีที่น้อมนำไปสู่ความใคร่ทางกามารมณ์ จึงไม่ใช่ภาพลามกอนาจาร

- คำพิพากษาฎีกาที่ 1856/2492 ภาพหญิงเปลือยกายในท่าต่าง ๆที่ไม่เปิดเผยให้เห็นของลับอิถีลึงค์ เป็นแต่แสดงให้เห็นความงามของทรวดทรงอวัยวะภายนอกและแสดงฝีมือในการถ่ายและวาดภาพ ไม่แสดงไปในทางเลวทรามต่ำช้าแล้ว ไม่เป็นของลามกอนาจาร.

- คำพิพากษาฎีกาที่ 3510/2531 ภาพหญิงยืนเปลือยกาย กอดชาย ภาพหญิงสวมแต่กางเกงในโปร่งตา มีผู้ชายนอนกอดมือโอบบริเวณทรวงอก ภาพหญิงเปลือยกายท่อนบน ใช้มือจับหูโทรศัพท์กดที่อวัยวะเพศ ภาพหญิงเปิดเสื้อให้เห็นนมล้วงมือเข้าไปในกระโปรง ภาพหญิงเปลือยอก สวมกางเกงใน มือล้วงไปที่อวัยวะเพศ และภาพหญิงเปลือยอกสวมกางเกงขาสั้น มือข้างหนึ่งประคองนมอีกข้างหนึ่งล้วงไปจับที่อวัยวะเพศ แม้ภาพดังกล่าวในหนังสือแต่ละเล่ม จะไม่เห็นอวัยวะเพศชัดเจน แต่ก็มีลักษณะส่อไปในด้านยั่วยุกามารมณ์ และยังมีภาพหญิงเปลือยตลอดร่างอีกหลายภาพ ซึ่งบางภาพก็เห็นอวัยวะเพศได้ ถือเป็นภาพลามก / ข้อความต่าง ๆ ที่ได้บรรยายถึงการร่วมประเวณีของชายและหญิงอย่างชัดเจนละเอียดละออ และบรรยายถึงอารมณ์ของชายและหญิงไปในทางยั่วยุอารมณ์ แม้จะมิได้ใช้ถ้อยคำหยาบคายก็ถือได้ว่าเป็นข้อความที่ลามก

- คำพิพากษาฎีกาที่ 6301/2533 ภาพหญิงซึ่งมีบางภาพเป็นเผยเต้านมอย่างโจ่งแจ้ง ส่วนที่อวัยวะเพศ แม้จะมีผ้าอาภรณ์ปิดไว้ แต่ก็จะปิดไว้อย่างหมิ่นเหม่ ซึ่งนอกจากจะอยู่ในกริยาบทที่ไม่เรียบร้อย ไม่น่าดู แล้วยังอยู่ในอิริยาบทที่น่าเกลียด น่าบัดสีอีกด้วย กล่าวคือ มีบางภาพอยู่ในอิริยาที่นอนหงายถ่างขาออกอย่างกว้าง ทำนองเจตนาเพื่ออวดอวัยวะเพศอย่างเด่นชัด ส่วนภาพที่อยู่ในอิริยาบทนั่งก็นั่งถ่างขาออก แม้จะมีผ้าปกปิดอวัยวะเพศก็เป็นผ้าบางใส ซึ่งแสดงว่าต้องการอวดอวัยวะเพศเช่นเดียวกัน จึงเป็นภาพที่มีเจตนายั่วยุให้บังเกิดความใคร่ทางกามารมย์โดยตรง ถือเป็นภาพลามกตามมาตรา 287 (1)

- เจตนา แจกจ่าย แสดงออกต่อประชาชน ทำให้แพร่หลายโดยประการใด

- การจะเป็นความผิดตามมาตรานี้ต้องมีเจตนา แจกจ่าย แสดงออกต่อประชาชน ทำให้แพร่หลายโดยประการใด ถ้าขาดเจตนาไม่เป็นความผิด ถ้ากระทำโดยประมาทไม่เป็นความผิด

- คำพิพากษาฎีกาที่ 3705/2530 ลิขสิทธิ์ที่บุคคลสามารถเป็นเจ้าของได้จะต้องเป็นลิขสิทธิ์ในงานที่ตนสร้างสรรค์โดยชอบด้วยกฎหมาย แต่ปรากฏว่าวีดีโอเทปของกลางที่โจทก์อ้างว่าเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์มีบทแสดงการร่วมเพศระหว่างหญิงและชาย บางตอนเป็นภาพลามกซึ่งผู้ใดทำหรือมีไว้หรือมีส่วนเกี่ยวข้องในการค้า เป็นความผิดตาม มาตรา 287 งานของโจทก์จึงไม่ใช่งานสร้างสรรค์ตามความหมายของพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ..2521 โจทก์จึงไม่ใช่เจ้าของลิขสิทธิ์ไม่เป็นผู้เสียหายตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 2 (4) ไม่มีอำนาจฟ้อง

- คำพิพากษาฎีกาที่ 2641/2531 จำเลยทำหน้าที่ควบคุมการฉายภาพยนต์ทางโทรทัศน์ ได้นำแถบบันทึกภาพลามกมาอัดภาพยนต์ที่กำลังแพร่ภาพเพื่อใช้เป็นส่วนตัว แต่ได้เกิดขัดข้องทางด้านเทคนิคการส่งภาพ ทำให้ภาพลามกออกไปปรากฏทางเครื่องรับโทรทัศน์นั้น เหตุที่เกิดขึ้นดังกล่าวเป็นไปในลักษณะบังเอิญ จำเลยมิได้มีเจตนาที่จะแพร่หลายภาพลามกนั้นออกไปสู่สาธารณะ ไม่มีความผิดตามมาตรา 287

- คำพิพากษาฎีกาที่ 2875/2531 โทรทัศน์สีและเครื่องเล่นวีดีโอเทปที่จำเลยใช้เป็นเครื่องมือแพร่หลายภาพลามก โดยจัดให้มีการฉายภาพยนต์วีดีโอเทปลามกเพื่อแสดงออกแก่ประชาขน และเรียกเก็บเงินจากประชาชนที่เข้าชม เป็นทรัพย์ที่ใช้ในการกระทำผิด ศาลสั่งริบได้

2 ความคิดเห็น:

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

ขอโทษครับ สมุดว่า มีคนเดินแก้ผ้าอยู่รอบๆบ้านตัวเอง แล้วคนอื่นเข้ามาเห็นแล้วเค้าแจ้งตำรวจ สรุปว่า ผิดกฎหมายหรือไมครับ แล้วผิดกฎหมายขอใหนครับ

chokchai กล่าวว่า...

กำไม่ตอบด้วย