หมวด 3 ความผิดฐานฉ้อโกง
มาตรา 341 ผู้ใดโดยทุจริต หลอกลวงผู้อื่น
ด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จ หรือปกปิดข้อความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้ง
และโดยการหลอกลวงดังว่านั้น ได้ไปซึ่งทรัพย์สินจากผู้ถูกหลอกลวงหรือบุคคลที่สาม
หรือทำให้ผู้ถูกหลอกลวงหรือบุคคลที่สาม ทำ ถอน หรือทำลายเอกสารสิทธิ
ผู้นั้นกระทำความผิดฐาน ฉ้อโกง ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี
หรือปรับไม่เกินหกพันบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ
-
เจตนาหลอกลวง
กับเจตนาที่จะได้ทรัพย์สินจากการหลอกลวง
-
คำพิพากษาฎีกาที่ 1357/2533 จำเลยทั้งสองได้ร่วมกันกู้ยืมเงินโจทก์
ด้วยวิธีโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินของจำเลยที่ 2 เป็นหลักประกัน
โดยตกลงกันว่าจำเลยทั้งสองจะต้องไถ่ถอนคืนภายในกำหนด 2 ปี ต่อมาจำเลยที่ 1
อ้างว่าจำเลยที่ 2 ให้นำเงินมาชำระหนี้ และยินยอมให้โจทก์โอนที่ดินดังกล่าวใส่ชื่อจำเลยที่
1 โจทก์หลงเชื่อจึงโอนที่ดินใส่ชื่อจำเลยที่ 1 แล้วโจทก์ถูกจำเลยที่ 2
ฟ้องเป็นคดีแพ่งข้อหาผิดสัญญาเรียกค่าเสียหาย ดังนี้การที่โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสองว่ากระทำความผิดฐานฉ้อโกง
ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341 เป็นคดีนี้ ความเสียหายที่โจทก์ได้รับ จะต้องเป็นผลที่เกิดขึ้นจากการถูกหลอกลวงนั้นโดยตรง
แม้โจทก์จะได้รับความเสียหายจากการถูกจำเลยที่ 2 ฟ้อง ก็เป็นการกระทำอีกส่วนหนึ่งต่างหาก
มิใช่การกระทำในคดีนี้ ความเสียหายดังกล่าว มิใช่ความเสียหายโดยตรงในคดีนี้
โจทก์จึงมิใช่ผู้เสียหาย ไม่มีสิทธิฟ้องจำเลยทั้งสอง
-
“หลอกลวง
ด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จ”
-
คำพิพากษาฎีกาที่ 1014/2505
โจทก์จะให้จำเลยกู้เงินถ้ามีหลักฐานมาประกัน จำเลยจึงพูดอวดอ้าง
ว่าจำเลยมีบัญชีเงินฝากที่ธนาคารเกษตรจำกัด แล้วควักเอาเช็คออกมาเซ็นชื่อให้
โจทก์หลงเชื่อจำเลย ในการอวดอ้างแสดงข้อความเท็จนี้ จึงจ่ายเงินให้จำเลยกู้ยืมไป
เป็นความผิดฐานฉ้อโกงแล้ว
-
คำพิพากษาฎีกาที่ 1619/2508
การที่จำเลยร่วมกันแสดงข้อความ อันเป็นเท็จเป็นเหตุให้ได้เงินยืมของทางราชการไป
อันเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญาโดยครบถ้วนแล้ว การที่จำเลยทำสัญญายืมเงินให้กรมตำรวจไว้ตามระเบียบ
ตลอดจนเมื่อเรื่องปรากฏความจริงขึ้น และจำเลยมิได้ส่งใช้เงินคืนกรมตำรวจ
กรมตำรวจจึงได้หักเงินเดือนจำเลยใช้เงินยืม ก็เป็นเรื่องภายหลัง
กรมตำรวจจึงถือปฏิบัติไปตามสัญญายืม
อันเป็นความรับผิดที่จำเลยมีอยู่ในทางแพ่งควบคู่กับความรับผิดทางอาญา
หาทำให้การที่จำเลยร่วมกระทำผิดทางอาญา กลับไม่เป็นความผิดไปอีกไม่
-
คำพิพากษาฎีกาที่ 226,227/2521
จำเลยปลอมลายมือชื่อผู้อื่นเบิกเงินจากธนาคารเปลี่ยนเงินเป็นแคชเชียร์เช็ค
แล้วปลอมลายมือชื่อสลักหลังเช็คเข้าบัญชีของจำเลย ดังนี้
เป็นฉ้อโกงไม่ใช่ลักทรัพย์
-
คำพิพากษาฎีกาที่ 3593/2529 จำเลยขนส่งกระสุนปืน โดยเรือจุสแลนเดีย
โดยมิได้ชำระค่าระวางต้นทางให้แก่เรือดังกล่าว
กลับนำใบตราส่งของเรือจัคดุทมีข้อความว่าได้ชำระค่าระวางล่วงหน้าต้นทางแล้ว มาแสดงเพื่อขอรับเงินค่าจ้าง 660,000 บาทไป
และมิได้นำไปชำระให้แก่เรือจุสแลนเดีย ทำให้ผู้รับปลายทางต้องเป็นผู้ชำระค่าระวาง และคิดหักค่าระวางกับบริษัท ท. เป็นเงิน 18,000
เหรียญสหรัฐ เป็นผลทำให้บริษัท บ.
ต้องชดใช้เงิน 435,261.44 แก่บริษัท ท. เท่ากับบริษัท
บ.ต้องจ่ายค่าระวางเรือด้วยตนเอง ยังต้องจ่ายเงินให้แก่จำเลยอีก 660,000 บาท การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิด ฐานฉ้อโกง
หาใช่เป็นเรื่องความรับผิดทางแพ่งไม่
-
คำพิพากษาฎีกาที่ 5662/2530
จำเลยเบิกความในคดีที่บิดาจำเลยร้องขัดทรัพย์ ว่าจำเลยทราบอยู่แล้วว่า
บ้านที่โจทก์นำยึดเป็นของบิดาจำเลย
แสดงว่าจำเลยรู้มาแต่แรกแล้วว่าบ้านไม่ใช่ของจำเลย
การที่จำเลยนำบ้านดังกล่าวประกันเงินกู้โจทก์
โดยระบุในสัญญากู้ว่าเป็นบ้านของจำเลย จึงเป็นการหลอกลวงโจทก์ด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จ
ทั้งนี้เพื่อต้องการให้โจทก์ยอมให้จำเลยกู้เงิน
และส่งมอบเงินที่กู้ให้การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานฉ้อโกง
-
คำพิพากษาฎีกาที่ 1508/2538 จำเลยปลอมตั๋วเครื่องบินแล้วได้มอบให้แก่ผู้มีชื่อในตั๋ว
หรือมอบให้แก่ผู้อื่น ซึ่งจะนำไปมอบให้แก่ผู้มีชื่อในตั๋ว
จำเลยย่อมเล็งเห็นผลได้ว่าผู้มีชื่อในตั๋วต้องนำตั๋วไปใช้ในการเดินทาง
และเมื่อตั๋วเครื่องบินปลอมได้ถูกนำไปใช้ในการเดินทางแล้ว
จำเลยจึงมีความผิดฐานเป็นตัวการใช้ตั๋วเครื่องบินปลอม และการที่จำเลยปลอมตั๋วเครื่องบิน
ด้วยมีเจตนาที่จะให้ผู้มีชื่อในตั๋วได้เดินทาง
โดยจำเลยหรือผู้มีชื่อในตั๋วไม่ต้องจ่ายเงินค่าตั๋ว
แสดงว่าจำเลยมีเจตนาโดยทุจริตหลอกลวงเจ้าของสายการบินว่าจำเลย
หรือผู้มีชื่อในตั๋วได้ชำระค่าตั๋วเครื่องบินแล้ว อันเป็นความเท็จ
ทำให้ผู้มีชื่อในตั๋วมีสิทธิเดินทางได้โดยไม่ต้องชำระเงิน ถือว่าจำเลยมีความผิดฐานฉ้อโกงเจ้าของสายการบิน
-
คำพิพากษาฎีกาที่ 671/2539
จำเลยอาสานำบัตรบริการเงินด่วนของผู้เสียหาย ไปตรวจสอบยอดเงินในบัญชีเงินฝาก
แต่กลับนำบัตรไปเบิกถอนเงินจากตู้ เอ.ที.เอ็ม. ของธนาคารไป
ถือว่าจำเลยหลอกเอาบัตรบริการเงินด่วนของผู้เสียหายไป เพื่อเบิกถอนเงิน
เงินที่เบิกถอนนั้นเป็นของผู้เสียหาย จึงเป็นความผิดฐานฉ้อโกงเงินของผู้เสียหาย
-
คำพิพากษาฎีกาที่ 706/2539 จำเลยที่ 2 กับพวก
คงมีแต่สำเนา นส. 3 ก ที่ถ่ายมาจากที่ทางราชการเก็บรักษาไว้เท่านั้น
โดยยังมิได้มิได้มีการรวบรวมซื้อที่ดินจากชาวบ้านเพื่อนำมาขายให้โจทก์ร่วม ดังนั้น
แม้ตามสัญญาซื้อขายที่ดินพิพาทจะระบุข้อความในอนาคต
ว่าจำเลยกับพวกจะโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินที่ชื้อขายภายใน 1 ถึง 3 เดือน
นับแต่โจทก์ร่วมชำระมัดจำครบ แต่ตามข้อความในเอกสารดังกล่าวมีความว่า
ขณะทำสัญญาจำเลยกับพวกมีสิทธิในที่ดินที่จะนำมาขายให้โจทก์ร่วม
เป็นการแสดงข้อความในปัจจุบันอยู่ด้วย เมื่อข้อความดังกล่าวเป็นเท็จ
โดยความจริงจำเลยกับพวกมิได้ตั้งใจจะขายสิทธิในที่ดินให้โจทก์ร่วม
โจทก์ร่วมหลงเชื่อจำเลยกับพวกในการแสดงข้อความเท็จและจ่ายเงินมัดจำให้ไปการกระทำของจำเลยกับพวก
จึงเป็นความผิดฐานฉ้อโกงตาม มาตรา 341
-
คำพิพากษาฎีกาที่ 5255/2540 (สบฎ เน 38) สัญญากู้ที่จำเลยทำให้ไว้แก่โจทก์ร่วมนั้น จำเลยทำในนามของ ป.
ซึ่งไม่มีตัวจริงทั้งเช็คที่จำเลยนำมาแลก
จำเลยยืมของบุคคลอื่นมาเป็นเช็คที่ปิดบัญชีแล้ว
ลายมือชื่อที่จำเลยลงในเช็คก็ใช้ภาษีจีน ไม่เป็นไปตามตัวอย่างที่ให้ไว้กับธนาคารเช็คที่ใช้แลกเงินจากโจทก์ร่วมไม่สามารถเรียกเก็บเงินได้
การหลอกลวงเอาเงินจากโจทก์ร่วมโดยทำหลักฐานการกู้หรือมอบเช็คให้โจทก์ร่วมดังกล่าว
ก็เป็นการหลอกลวงเพื่อให้ได้เงินนั่นเอง จำเลยมิได้มีเจตนาจะผูกพันตามสัญญากู้ หรือเช็คที่นำไปแลกแต่อย่างใด
การกระทำของจำเลยครบองค์ความผิดตาม ป.อ. มาตรา 341 แล้ว
-
คำพิพากษาฎีกาที่ 3351/2542
จำเลยส่งไข่ผงที่เสื่อมคุณภาพแล้วให้โจทก์ร่วม
โดยหลอกลวงด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จ ว่าไข่ผงดังกล่าว
เป็นนมผงตามที่โจทก์ร่วมสั่งซื้อ เพื่อหวังจะได้เงินจากโจทก์ร่วม อันเป็นการกระทำโดยเจตนาทุจริต
เพียงแต่โจทก์ร่วมยังไม่ได้ชำระเงินให้จำเลย การกระทำของจำเลย
จึงเป็นความผิดฐานพยายามฉ้อโกง ไม่เป็นความผิดฐานขายของโดยหลอกลวงตาม ป.อ. มาตรา
271
-
คำพิพากษาฎีกาที่ ป 6892/2542 (สบฎ สต 96) การกระทำที่จะเป็นความผิดฐานลักทรัพย์
ต้องเป็นการเอาทรัพย์ของผู้อื่นไปโดยพลการ โดยทุจริต มิใช่ได้ทรัพย์ไป
เพราะผู้อื่นยินยอมมอบให้เนื่องจากลูกหลอกลวง (จำเลยเปลี่ยนป้ายราคาสินค้า
เอาป้ายราคาต่ำ มาติดไว้ที่สินค้าราคาแพ่ง เพื่อชำระค่าสินค้าน้อยลง ผิดฐานฉ้อโกง)
-
คำพิพากษาฎีกาที่ 3667/2542 (สบฎ สต 110) จำเลยทั้งสองร่วมกันนำ ธ.
มาสมัครเป็นสมาชิกสมาคมฌาปนกิจสงเคราะห์โจทก์ร่วม โดยแจ้งแก่โจทก์ร่วมว่า ธ.
คือ บ. บิดาจำเลยที่ 1 เป็นผู้มีสุขภาพแข็งแรง
เป็นเหตุให้โจทก์ร่วมหลงเชื่อจึงรับ บ. เป็นสมาชิก ความจริงแล้วขณะนั้น บ.
ป่วยเป็นโรคมะเร็งในลำไส้ ไม่สามารถเดินไปไหนมาไหนได้
การหลอกลวงมีผลเพียงให้โจทก์ร่วมกับ บ. เข้าเป็นสมาชิกเท่านั้น
หาได้ทำให้จำเลยทั้งสองได้ทรัพย์สินไปจากโจทก์ร่วมไม่
แม้ต่อมาโจทก์ร่วมจะจ่ายเงินสงเคราะห์ให้จำเลยที่ 1 ไปจำนวน 92,000 บาท
แต่ก็เนื่องจาก บ. ถึงแก่กรรม จำเลยทั้งสองไม่ผิดฐานฉ้อโกง
-
คำพิพากษาฎีกาที่ 471/2543
ตอนจำเลยนำสร้อยข้อมือของกลางมาขายฝากผู้เสียหาย
จำเลยบอกว่าเป็นสร้อยข้อมือที่จำเลยสั่งทำเอง โดยมีน้ำหนักมากกว่าปกติ เพราะอาจมีการชุบเคลือบหนาไว้แสดงว่าสร้อยข้อมือดังกล่าว
อยู่ในความครอบครองของจำเลยมาโดยตลอด ไม่มีเหตุผลใดที่จำเลยจะไม่รู้ว่าสร้อยข้อมือนั้นเป็นทองคำปลอม
และจำเลยพูดจาหว่านล้อมหลอกลวง จนผู้เสียหายหลงเชื่อได้เป็นผลสำเร็จ
ต่อมาเมื่อปรากฏว่าสร้อยข้อมือของกลางเป็นทองคำปลอม
จำเลยกลับต่อสู้ว่าสร้อยข้อมือเป็นของภริยาจำเลย
และจำเลยไม่ทราบมาก่อนว่าเป็นทองคำปลอม จึงเชื่อไม่ได้ ส่วนการที่จำเลยใช้ชื่อตัวและชื่อสกุลตามความเป็นจริง
ในใบสัญญาขายฝาก หรือยอมให้ตรวจสอบสร้อยข้อมือในชั้นขายขาดโดยวิธีลนไฟนั้น
เป็นเรื่องตามปกติวิสัยของผู้ที่มีเจตนาทุจริตที่ยอมกระทำทุกสิ่งทุกอย่างเพียงเพื่อให้ได้มาซึ่งประโยชน์อันมิชอบด้วยกฎหมายสำหรับตนเอง
โดยไม่คำนึงถึงผลร้ายอันจะเกิดขึ้นในภายหลังว่าจะเป็นประการใด
-
คำพิพากษาฎีกาที่ 6863/2543 การกระทำของจำเลยที่กล่าวอ้างต่อผู้เสียหายว่าจะติดต่อให้ผู้เสียหายไถ่รถยนต์กระบะคืนจากคนร้าย
และเรียกร้องเงินโดยอ้างเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินการจำนวน 3,500 บาท
กับอ้างว่าคนร้ายต้องการค่าไถ่จำนวน 50,000 บาท แต่ไม่เกิดผลตามที่จำเลยอ้าง
แม้เจ้าพนักงานตำรวจจับกุมจำเลยและให้จำเลยนำไปบ้านของผู้มีชื่อ ที่อ้างว่าเป็นที่ซ่อนรถยนต์กระบะก็ไม่พบ
ยังไม่เพียงพอให้รับฟังได้ว่าเป็นการจำหน่ายรถยนต์กระบะของผู้เสียหายซึ่งถูกคนร้ายลักไป
อันจะทำให้จำเลยต้องมีความผิดฐานรับของโจร แต่พยานหลักฐานดังกล่าว
รับฟังได้ว่าจำเลยมีเจตนาทุจริตแสดงข้อความอันเป็นเท็จ หลอกลวงผู้เสียหาย
เมื่อให้เงินแก่จำเลยและได้รับไปแล้วจำนวน 3,500 บาท
การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานฉ้อโกง
-
“หลอกลวง
ด้วยการปกปิดข้อความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้ง”
-
คำพิพากษาฎีกาที่ 1667/2506
การที่จำเลยนำรถยนต์ของจำเลย ซึ่งศาลได้มีคำสั่งห้ามชั่วคราวมิให้โอนขาย
หรือจำหน่ายในคดีหนึ่งอยู่แล้ว ไปทำสัญญาซื้อขายกับโจทก์ โดยรับรองกับโจทก์ว่า
รถยนต์ดังกล่าวเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยผู้เดียว ไม่เคยนำไปขายหรือจำนำหรือทำสัญญาใดผูกพันรถยนต์ดังกล่าวเลย
แล้วจำเลยไม่ส่งมอบรถยนต์ดังกล่าวให้โจทก์นั้น ไม่เป็นความผิดฐานฉ้อโกง
-
คำพิพากษาฎีกาที่ 1501/2516 จำเลยที่ 1
พ้นตำแหน่งผู้รักษาการแทนเจ้าอาวาสวัดโจทก์ไปแล้ว แต่จำเลยที่ 1 ที่ 2
ก็ยังมีชื่อเป็นผู้มีอำนาจถอนเงินของวัดโจทก์จากธนาคารอยู่ จำเลยทั้งสองรวมกันถอนเงินของโจทก์
โดยมิได้แจ้งให้ธนาคารทราบว่าจำเลยที่ 1 พ้นจากตำแหน่งดังกล่าวแล้ว
ก็ยังไม่เป็นการหลอกลวงเจ้าหน้าที่ของธนาคาร เพราะเมื่ออำนาจการถอนเงิน
ซึ่งจำเลยมีมาแต่เดิมยังไม่ถูกเพิกถอน
การที่จำเลยไปถอนเงินจึงเป็นการถอนเงินตามที่วัดโจทก์ตกลงไว้กับธนาคาร
ไม่เป็นความผิดฐานฉ้อโกง
-
กรณีไม่มีหน้าที่ต้องบอกข้อเท็จจริงอย่างหนึ่ง
แก่ฝ่ายตรงข้าม
-
คำพิพากษาฎีกาที่ 151-152/2537
ในขณะที่โจทก์กับจำเลยทั้งสองทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินกันจำเลยทั้งสองไม่ทราบว่าที่ดินจะถูกเวนคืน
เพียงแต่จำเลยทั้งสองพูดรับรองว่าที่ดินไม่มีภาระผูกพันใด ๆ เท่านั้น
ทั้งโจทก์ในฐานะผู้จะซื้อที่ดินจากจำเลยทั้งสองก็มีหน้าที่ต้องระวังอยู่แล้ว การเวนคืนถึงหากจะมี ก็ยังไม่เป็นการแน่นอน ในขณะทำสัญญาจะซื้อจะขาย
พฤติการณ์แห่งคดีจำเลยทั้งสองไม่อาจทราบได้ว่าจะมีการเวนคืนหรือไม่ มากน้อยเพียงใด
ถือว่าจำเลยทั้งสองมิได้ปกปิดข้อเท็จจริงที่เกี่ยวกับที่ดิน ซึ่งตกอยู่ในเขตที่ดินที่ต้องถูกทางราช การเวนคืนโดยทุจริตแต่อย่างใด จำเลยทั้งสองจึงไม่มีความผิดฐานฉ้อโกง
-
ทรัพย์สิน
-
คำพิพากษาฎีกาที่ 1508/2538
ตั๋วเครื่องบินที่มีมูลค่าหรือราคาใช้ ตามที่ปรากฏในตั๋ว
เป็นตั๋วที่ผู้มีชื่อในตั๋วมีสิทธิที่จะใช้โดยสารเครื่องบินของสายการบินที่ปรากฏในตั๋ว
จึงเป็นเอกสารสิทธิเพราะเป็นหลักฐานแห่งการก่อซึ่งสิทธิตาม ป.อ. มาตรา 1 (9) / จำเลยปลอมตั๋วเครื่องบินแล้วได้มอบให้แก่ผู้มีชื่อในตั๋ว
หรือมอบให้แก่ผู้อื่น ซึ่งจะนำไปมอบให้แก่ผู้มีชื่อในตั๋ว
จำเลยย่อมเล็งเห็นผลได้ว่าผู้มีชื่อในตั๋วต้องนำตั๋วไปใช้ในการเดินทาง
และเมื่อตั๋วเครื่องบินปลอมได้ถูกนำไปใช้ในการเดินทางแล้ว
จำเลยจึงมีความผิดฐานเป็นตัวการใช้ตั๋วเครื่องบินปลอม
และการที่จำเลยปลอมตั๋วเครื่องบิน ด้วยมีเจตนาที่จะให้ผู้มีชื่อในตั๋วได้เดินทาง
โดยจำเลยหรือผู้มีชื่อในตั๋วไม่ต้องจ่ายเงินค่าตั๋ว
แสดงว่าจำเลยมีเจตนาโดยทุจริตหลอกลวงเจ้าของสายการบินว่าจำเลย
หรือผู้มีชื่อในตั๋วได้ชำระค่าตั๋วเครื่องบินแล้วอันเป็นความเท็จ
ทำให้ผู้มีชื่อในตั๋วมีสิทธิเดินทางได้โดยไม่ต้องชำระเงิน ถือว่าจำเลยมีความผิดฐานฉ้อโกงเจ้าของสายการบิน
-
การหลอกลวง โดยอ้างความเชื่อในด้านศาสนา
หรือไสยศาสตร์
-
คำพิพากษาฎีกาที่ 557/2502
จำเลยหลอกลวงว่าน้ำที่พุขึ้นนั้น
เจ้าแม่สำโรงบันดาลให้มีขึ้นและอ้างว่าน้ำพุนั้นศักดิ์สิทธิ์
ใช้เป็นยารักษาโรคภัยไข้เจ็บได้ ประชาชนคนดูหลงเชื่อ
ได้เอาน้ำนั้นไปใช้กินและทารักษาโรค แต่ไม่หายเพราะเป็นน้ำธรรมดาในลำคลองนั้นเอง
และได้ให้เงินแก่จำเลย โดยหลงเชื่อว่าน้ำนั้น เป็นของศักดิ์สิทธิ์รักษาโรคได้ แต่ความจริงนั้น
จำเลยที่ 1 เอาเท้าพุ้ยน้ำในคลองทำให้น้ำพุผุดขึ้นมาเอง
ไม่เกี่ยวแก่เจ้าแม่อะไรเลย จำเลยที่ 2
ผู้เป็นบิดาได้ร่วมกระทำผิดด้วยโดยอ้างว่าน้ำพุนั้น
เจ้าแม่บันดาลให้เกิดขึ้นเป็นน้ำศักดิ์สิทธิ์ รักษาโรคภัยไข้เจ็บได้
ซึ่งเป็นการปกปิดความจริงและแสดงข้อความเท็จ ถือว่าสมคบกันฉ้อโกงตาม มาตรา 343
-
คำพิพากษาศาลฎีกาที่
219/2531 จำเลยไม่เชื่อเรื่องไสยศาสตร์ แต่ได้ขายน้ำมันพรายให้กับผู้เสียหายในราคา
300 บาท อ้างว่าจะช่วยให้ค้าขายดี นอกจากนี้จำเลยยังคอยบอกผู้เสียหายว่าทำผิดผี
ต้องทำพิธีไหว้อาจารย์ จนผู้เสียหายยอมมอบเงินและทรัพย์สินอื่นรวมหลายหมื่นบาทให้จำเลยไป
เพื่อทำพิธีดังกล่าว การกระทำของจำเลยเป็นการหลอกลวงผู้อื่นด้วยการแสดงข้อความอันจำเลยรู้อยู่แล้วว่าเป็นเท็จ
จึงเป็นความผิดฐานฉ้อโกง
-
คำพิพากษาฎีกาที่ 3074/2539 ความผิดฐานฉ้อโกง ผู้กระทำความผิดต้องกระทำโดยการหลอกลวงผู้อื่นด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จ
หรือปกปิดข้อความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้ง และโดยการหลอกลวงดังกล่าวนั้น ได้ไปซึ่งทรัพย์สินจากผู้ถูกหลอกลวงหรือบุคคลที่สาม
การที่จำเลยชวนโจทก์ร่วมซื้อคอนโดมิเนียม ตึกแถว และที่ดิน โดยยืนยันว่าอีก 4
เดือนจะมีผู้ซื้อต่อ
การที่จำเลยให้ผู้เสียหายทำพิธีเสริมดวงและเรียกค่าครู โดยยืนยันว่าจะทำให้ดวงดี
ขายตึกแถวที่ดินได้หรือบุตรจะมีบุญบารมีสูงกว่าบิดามารดา ผู้เสียหายกับสามีจะไม่ต้องหย่ากัน
ล้วนเป็นคำยืนยันเหตุการณ์ในอนาคตที่ไม่แน่นอนทั้งสิ้น คำยืนยันดังกล่าวไม่ใช่คำหลอกลวง
แต่เป็นคำคาดการณ์ที่โจทก์ร่วมและผู้เสียหายเข้าทำพิธีตามคำแนะนำและเสียค่าใช้จ่าย
จึงมิได้เป็นผลจากการหลอกลวง การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดฐานฉ้อโกงประชาชน
-
การหลอกลวง ข้อเท็จจริงในอนาคต – ผิดคำมั่นสัญญา
-
& ข้อหาฉ้อโกง บางส่วนคาบเกี่ยวกับคดีแพ่งมาก ๆ เช่นเรื่องที่กล่าวมานี้ ข้อแตกต่างประการสำคัญในประเด็นนี้
คือ ขณะทำสัญญานั้น ผู้ต้องหา มีเจตนาผูกนิติสัมพันธ์ตามที่แสดงออกหรือไม่
หากไม่มีเจตนาผูกนิตสัมพันธ์ แต่แสดงตัวมาเสนอซื้อ เสนอขาย
ตรงนั้นเป็นเพียงกลอุบายในการหลอกลวง และถือเป็นการแสดงข้อความอันเป็นเท็จในปัจจุบัน
ไม่ใช่การผิดสัญญา หรือผิดคำมั่น ข้อตกลง ในอนาคต ตรงนี้เป็นความผิดข้อหาฉ้อโกงได้
/ ตัวอย่าง เมื่อระหว่างวันที่ ... เวลากลางวัน จนถึงวันที่ ...3
เวลากลางวัน ต่อเนื่องกัน จำเลยทั้งสาม โดยเจตนาทุจริต
และโดยไม่มีเจตนาผูกนิติสัมพันธ์ตามสัญญาซื้อขายสินค้า ได้บังอาจร่วมกันหลอกลวง...
ผู้เสียหาย ด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จ เสนอขายสินค้าประเภท... ให้แก่ผู้เสียหาย
ในราคาต่ำกว่าราคาในท้องตลาด อันเป็นกลอุบายให้ผู้เสียหายส่งมอบเงินแก่จำเลยทั้งสาม
โดยจำเลยทั้งสามไม่มีเจตนาที่จะส่งสินค้าให้แก่ผู้เสียหายครบถ้วนตามที่ตกลงไว้จริง
และโดยการหลอกลวงเช่นว่านั้น ทำให้ผู้เสียหายหลงเชื่อ สั่งซื้อสินค้าและชำระเงินให้แก่จำเลยทั้งสาม
เป็นเหตุให้จำเลยทั้งสามได้รับเงินจากผู้เสียหายไป เป็นเงินจำนวน ... บาท
-
คำพิพากษาฎีกาที่ 1187/2500
คำที่จำเลยกล่าวแก่ผู้เสียหายว่าฯ จำเลยร้อนเงิน ขอยืมเข็มขัดนากไปจำนำก่อน
เพื่อเอาเงินไปใช้หนี้ รุ่งขึ้นจะไถ่คืนให้นั้น เป็นแต่จำเลยรับจะทำอะไรแล้วไม่ทำเท่านั้น
ไม่เป็นการหลอกลวงอันจะเป็นความผิดฐานฉ้อโกง
-
คำพิพากษาฎีกาที่ 1153/2511
จำเลยยืมเงินผู้เสียหาย โดยนำเช็คลงวันที่ล่วงหน้าของผู้อื่นมามอบไว้เพื่อชำระหนี้
และจำเลยได้สลักหลังเช็คนั้นด้วย แม้จำเลยจะบอกว่าผู้สั่งจ่ายเช็คมีฐานะดี
สามารถใช้เงินตามเช็คได้ก็ตาม จำเลยก็ไม่มีความผิดฐานฉ้อโกง
-
คำพิพากษาฎีกาที่ 707/2516 ขณะจำเลยพูดเอาเงินจากผู้เสียหาย
จำเลยได้บอกผู้เสียหายว่าจะนำไปซื้อเบี้ยเลี้ยงตำรวจ
และจะให้ผลประโยชน์แก่ผู้เสียหาย
เป็นเรื่องที่จำเลยยืมเงินไปโดยให้คำมั่นสัญญาว่าจะใช้เงินนั้น
เพื่อกิจการของจำเลยเองในโอกาสข้างหน้า
มิได้เอาความเท็จมากล่าวหรือแสดงข้อความอันเป็นเท็จหรือปกปิดความจริงซึ่งมีอยู่แล้วในขณะนั้น
แม้จำเลยไม่เอาเงินนั้นไปซื้อเบี้ยเลี้ยงตำรวจก็เป็นเรื่องผิดคำมั่นสัญญาเท่านั้น
ไม่เป็นความผิดฐานฉ้อโกง
-
คำพิพากษาฎีกาที่ 269/2524 ฟ้องว่าจำเลยกล่าวเท็จหลอกลวงโจทก์และประชาชน
ขายหนังสือที่จำเลยพิมพ์จำหน่าย เพื่อนำเงินไปช่วยซื้ออาวุธคุ้มครองหมู่บ้าน
โจทก์หลงเชื่อซื้อหนังสือ 2 เล่ม 40 บาท จำเลยขายหนังสือได้ 200,000 บาท
จำเลยนำเงินไปเป็นประโยชน์ส่วนตัว ดังนี้เป็นแต่ไม่ทำตามที่รับจะทำ ไม่ใช่ฉ้อโกง
-
คำพิพากษาฎีกาที่ 1229/2536
ฟ้องโจทก์บรรยายว่า จำเลยให้คำรับรองต่อโจทก์ต่อหน้าพนักงานสอบสวน
ว่าจะชำระหนี้แทน ส. และขอให้โจทก์ถอนคำร้องทุกข์
เป็นคำมั่นสัญญาที่จำเลยจะปฏิบัติในอนาคต คำรับรองดังกล่าว จึงไม่ใช่ข้อความเท็จ
เพราะโจทก์มิได้บรรยายฟ้องว่า จำเลยมีความตั้งใจมาแต่แรกขณะให้คำรับรองว่าจะไม่ปฏิบัติตามนั้น
ฟ้องโจทก์จึงขาดองค์ประกอบความผิดฐานฉ้อโกง
-
คำพิพากษาฎีกาที่ 6604/2540 การกระทำอันเป็นองค์ประกอบสำคัญประการหนึ่งของความผิดฐานฉ้อโกงตาม
ป.อ. มาตรา 341 ก็คือ การหลอกลวงผู้อื่นด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จ หรือปกปิดข้อความจริงซึ่งความบอกให้แจ้ง
“และการกระทำดังกล่าวผู้กระทำจะต้องมีเจตนามาตั้งแต่ต้น ตาม ป.อ. มาตรา 59
วรรคหนึ่ง”
ได้ความว่าโจทก์ร่วมซื้อที่ดินเนื้อที่ 500 ไร่
แล้วพาจำเลยไปดูที่ดินดังกล่าวเพื่อปรึกษาว่าจะพัฒนาที่ดินอย่างไร
หลังจากนั้นจำเลยมาเสนอให้โจทก์ร่วมปลูกมันสำปะหลัง
หรือทำการเกษตรแบบผสมซึ่งโจทก์ร่วมเห็นชอบด้วย
จำเลยบอกว่าต้องเสียค่าใช้จ่ายในการปรับพื้นที่ โจทก์ร่วมตกลงให้จำเลยดำเนินการ
โดยจ่ายเงินให้จำเลยเป็นค่าใช้จ่าย หลังจากที่ได้จ่ายเงินครั้งที่สามแล้ว
โจทก์ร่วมไปดูที่ดิน พบว่ามีการปรับพื้นที่ไปประมาณ 5 ถึง 6 ไร่
ซึ่งโจทก์ร่วมตรวจดูมิได้คัดค้านแต่ประการใด
ตรงกันข้ามกับจ่ายค่าพัฒนาที่ดินให้จำเลยอีกถึง 85,000
บาทแสดงว่าโจทก์ร่วมพอใจในการพัฒนาที่ดินของจำเลย
แม้ต่อมาจำเลยจะมิได้ดำเนินการพัฒนาที่ดินต่อไปอย่างเสร็จสิ้น
ซึ่งจะต้องด้วยเหตุผลประการใดก็ตาม กรณีจึงยังฟังไม่ได้โดยแน่ชัดว่าจำเลยมีเจตนาหลอกลวงโจทก์ร่วมมาตั้งแต่ต้น
-
คำพิพากษาฎีกาที่ 6845/2540 ความผิดฐานฉ้อโกงตาม ป.อ. มาตรา 341
โจทก์จะต้องนำสืบให้ฟังได้แน่ชัดว่าจำเลยมีเจตนาทุจริตหลอกลวงผู้อื่นด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จฯ
จำเลยมาขอเช่าหนังสือรับรองการทำประโยชน์ของผู้เสียหายไปจำนองแก่บุคคลภายนอกผู้เสียหายตกลงให้เช่า
และรับเงินค่าเช่าจากจำเลยแล้ว
การที่ผู้เสียหายไปจดทะเบียนจำนองที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์
ก็เพื่อจะเอาค่าเช่าจากจำเลย อันเป็นความสมัครใจในการให้เช่า ดังนั้น การที่จำเลยได้เงินจากผู้เสียหาย
จึงเป็นไปตามข้อตกลง มิใช่เป็นการหลอกลวง ส่วนที่จำเลยไม่ไถ่ถอนจำนองให้
เมื่อครบกำหนดเวลาเช่า ก็เป็นเพียงการผิดสัญญา
ซึ่งจะต้องไปว่ากล่าวกันในทางแพ่งต่อไป การกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิดฐานฉ้อโกง
-
คำพิพากษาฎีกาที่ 1674-1675/2543
การทำสัญญาจะซื้อจะขาย ผู้ขายไม่จำต้องเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในทรัพย์ที่จะขายในขณะทำสัญญา
เพียงแต่จะต้องขวนขวายหาทรัพย์นั้นมาโอนกรรมสิทธิ์ให้แก่ผู้จะซื้อได้ตามกำหนดในสัญญาเท่านั้น
เมื่อผู้เสียหายทั้งสองทราบตั้งแต่เมื่อทำสัญญากับจำเลยที่ 1
ว่าที่ดินแปลงที่ทำสัญญายังเป็นกรรมสิทธิ์ของบุคคลอื่น
จำเลยทั้งสองจึงไม่ได้แสดงข้อความอันเป็นเท็จหรือปกปิดข้อความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้งแต่อย่างใด
เพราะที่ดินที่ผู้เสียหายทั้งสอง ทำสัญญาจะซื้อจะขายกับจำเลยที่ 1 มีอยู่จริง
และจำเลยที่ 1 ก็เป็นผู้จะซื้อตามสัญญาจะซื้อจะขายที่จำเลยที่ 1 ทำไว้กับเจ้าของกรรมสิทธิ์จริง
จึงเป็นเพียงการผิดสัญญาทางแพ่ง คือ
ไม่ปฏิบัติตามสัญญาอันเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นภายหลัง
ซึ่งเป็นเวลาในอนาคตของเวลาที่ทำสัญญากันเท่านั้น
-
การหลอกลวง อ้างทำนิติกรรม
โดยไม่มีเจตนาผูกนิติสัมพันธ์จริง
-
คำพิพากษาฎีกาที่ 491/2499 การที่จำเลยไม่มีอาชีพในทางค้าเสา ไม่เคยขออนุญาตตัดฟันไม้
แต่รับจะจัดการตัดเสาอ้างว่ามีโควต้าทำไม้ ผู้เสียหายยอมให้เงิน 3,600 บาท ค่าลูกจ้างและค่าเข็นโดยจำเลยว่าเสาตามที่สั่งตัดไว้ครบแล้ว
หลังจากนั้นอีกนานก็ไม่มีเสามา เมื่อถูกจับก็บอกตำรวจว่าหาเสาไม่ได้
แต่กลับปฏิเสธต่อผู้เสียหายว่า ไม่รู้เรื่อง ไม่ได้รับเงิน
พฤติการณ์ดังกล่าวย่อมแสดงว่าจำเลยมีเจตนาทุจริตคิดฉ้อโกงทรัพย์ของผู้เสียหาย.
-
คำพิพากษาฎีกาที่ 536-537/2503
จำเลยหลอกลวงให้ประชาชนหลงเชื่อ เพื่อมาสมัครรับการอบรมวิชาชีพ
โดยทุกคนต้องส่งมอบเงินให้แก่จำเลยด้วย เมื่อมีผู้หลงเชื่อมาสมัคร
จำเลยก็ให้ส่งมอบเงินแก่จำเลย แล้วจำเลยก็หาได้ทำการอบรมเป็นกิจจะลักษณะอย่างใดไม่
จนเป็นที่เห็นว่าผู้สมัครเหล่านั้นจะไม่ได้งานทำตามที่จำเลยโฆษณาไว้ ครั้นขอเงินคืน
จำเลยก็ไม่มีเงินจะคืน ผิดฐานฉ้อโกง
-
คำพิพากษาฎีกาที่ 587-588/2511 หลอกลวง
โดยชักชวนผู้อื่นให้เสียค่าสมัครเป็นสมาชิกกลุ่มการเกษตรกึ่งอุตสาหกรรม
ซึ่งจะขออนุญาตตั้งขึ้นภายหน้าเพื่อจัดสรรที่ดินให้
เป็นเหตุให้หลงเชื่อและมอบเงินค่าสมัครให้ความจริงที่ดินที่อ้างว่าจะจัดสรรเป็นป่าสงวน
และมิได้มีการขออนุญาตตั้งกลุ่มการเกษตรฯ นั้นย่อมเป็นความผิดฐานฉ้อโกง
-
คำพิพากษาฎีกาที่ 1554/2511 ขอซื้อโคจากผู้เสียหาย
เบี่ยงบ่ายขอชำระในวันรุ่งขึ้น และคืนนั้นจำเลยก็พาโคหนีไป ดังนี้ เห็นได้ว่า
จำเลยมีเจตนาทุจริตหลอกลวงผู้เสียหายโดยไม่มีเจตนาจะใช้ราคาโคมาแต่เริ่มต้น
จึงเป็นความผิดฐานฉ้อโกง
-
คำพิพากษาฎีกาที่ 340/2512 (สบฎ เน 2117) จำเลยประกาศรับสมัครบุคคลทำงาน
เพื่อให้ประชาชนหลงเชื่อ โดยวางค่าจ้างเงินเดือนสูง
วางระเบียบให้ต้องซื้อหุ้นอย่างน้อยหนึ่งหุ้น 900 บาท
บริษัทตั้งขึ้นแล้ว จำเลยก็ไม่ดำเนินการค้าอย่างใด สินค้าในบริษัทก็ไม่มี
ธุรกิจที่จะมอบหมายให้ผู้สมัครปฏิบัติ ก็ไม่มี ถือว่าก่อตั้งบริษัทเพื่อหลอกลวงประชาชน
ผิด ม 343
-
คำพิพากษาฎีกาที่
2804- 2805/2517
จำเลยกู้เงินโจทก์ โดยนำที่ดินและบ้านของบุตรมาเป็นประกันบอกว่าเป็นทรัพย์ของจำเลยโดยเป็นการประกันกันแบบชาวบ้าน
ไม่ได้จดทะเบียนจำนอง กรณีเป็นการหลอกได้ทรัพย์ไปโดยทุจริต เป็นความผิดฐานฉ้อโกง ตาม
ป.อาญา มาตรา 341
-
คำพิพากษาฎีกาที่ 877/2537 การที่จำเลยกับพวกชักชวนผู้เสียหายทั้งสิบคน
และบุคคลอื่นให้นำเงินมาลงทุนกับบริษัท เพื่อประกอบกิจการสั่งซื้อสินค้าล่วงหน้า
เพื่อเก็งกำไร ทั้งๆ ที่จำเลยรู้อยู่ว่าบริษัท อ.ไม่มีวัตถุประสงค์ในการประกอบกิจการดังกล่าว
และการประกอบกิจการตามที่อ้างจะมีขึ้นไม่ได้แน่นอน
การกระทำของจำเลยกับพวกจึงเป็นการหลอกลวงผู้เสียหายทั้งสิบคน และบุคคลทั่วๆ
ไปไม่จำกัดว่าเป็นใคร อันเป็นการหลอกลวงประชาชน ทำให้ผู้เสียหายทั้งสิบคน
หลงเชื่อมอบเงินให้แก่จำเลยกับพวกไป จำเลยจึงมีความผิดตาม ป.อ. มาตรา 343
วรรคแรกและการกระทำของจำเลยกับพวกดังกล่าวเป็นการกู้ยืมเงินตาม พ.ร.ก. การกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน
พ.ศ. 2527 มาตรา 3 มาตรา 4,12 แห่ง พ.ร.ก. ดังกล่าวอีกบทหนึ่ง
-
คำพิพากษาฎีกาที่ 706/2539 จำเลยที่ 2 กับพวก
คงมีแต่สำเนา นส. 3 ก ที่ถ่ายมาจากที่ทางราชการเก็บรักษาไว้เท่านั้น
โดยยังมิได้มิได้มีการรวบรวมซื้อที่ดินจากชาวบ้านเพื่อนำมาขายให้โจทก์ร่วม ดังนั้น
แม้ตามสัญญาซื้อขายที่ดินพิพาทจะระบุข้อความในอนาคต
ว่าจำเลยกับพวกจะโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินที่ชื้อขายภายใน 1 ถึง 3 เดือน
นับแต่โจทก์ร่วมชำระมัดจำครบ แต่ตามข้อความในเอกสารดังกล่าวมีความว่า
ขณะทำสัญญาจำเลยกับพวกมีสิทธิในที่ดินที่จะนำมาขายให้โจทก์ร่วม
เป็นการแสดงข้อความในปัจจุบันอยู่ด้วย
เมื่อข้อความดังกล่าวเป็นเท็จโดยความจริงจำเลยกับพวกมิได้ตั้งใจจะขายสิทธิในที่ดินให้โจทก์ร่วม โจทก์ร่วมหลงเชื่อจำเลยกับพวกในการแสดงข้อความเท็จและจ่ายเงินมัดจำให้ไปการกระทำของจำเลยกับพวก
จึงเป็นความผิดฐานฉ้อโกงตาม ป.อ. มาตรา 341 / จำเลยที่ 1
รู้จักกับโจทก์ร่วมมาก่อน
เป็นผู้ติดต่อพาโจทก์ร่วมไปดูที่ดินจนโจทก์ร่วมตกลงทำสัญญาวางมัดจำ
และทำสัญญาจะซื้อขายที่ดินพิพาทประกอบกับขณะจะทำสัญญาซื้อขายจำเลยที่ 1
ไม่ยอมให้โจทก์ร่วมดูสัญญาซื้อขายที่ฝ่ายจำเลยทั้งสองอวดอ้างว่าได้ทำไว้กับชาวบ้านแล้ว
แสดงว่าจำเลยทั้งสองกับพวก มีเจตนาทุจริตหลอกลวงขายที่ดินให้โจทก์ร่วม
โดยแบ่งหน้าที่กันทำ จึงเป็นการร่วมกันกระทำความผิดตามฟ้อง
-
คำพิพากษาฎีกาที่ 5255/2540
สัญญากู้ที่จำเลยทำให้ไว้แก่โจทก์ร่วมนั้น จำเลยทำในนามของ ป. ซึ่งไม่มีตัวจริง ทั้งเช็คที่จำเลยนำมาแลก
จำเลยยืมของบุคคลอื่นมาเป็นเช็คที่ปิดบัญชีแล้ว
ลายมือชื่อที่จำเลยลงในเช็คก็ใช้ภาษีจีน
ไม่เป็นไปตามตัวอย่างที่ให้ไว้กับธนาคารเช็คที่ใช้แลกเงินจากโจทก์ร่วมไม่สามารถเรียกเก็บเงินได้
การหลอกลวงเอาเงินจากโจทก์ร่วม โดยทำหลักฐานการกู้หรือมอบเช็คให้โจทก์ร่วมดังกล่าว
ก็เป็นการหลอกลวงเพื่อให้ได้เงินนั่นเอง จำเลยมิได้มีเจตนาจะผูกพันตามสัญญากู้
หรือเช็คที่นำไปแลกแต่อย่างใด การกระทำของจำเลยครบองค์ความผิดตาม ป.อ. มาตรา 341
แล้ว
-
คำพิพากษาฎีกาที่ 633/2546 จำเลยทั้งสามกับ
ย.
ทำทีขอซื้อผ้าจากโจทก์ร่วม โดยหลอกให้โจทก์ร่วมขนผ้า ขึ้นรถแล้วบอกว่าจะชำระค่าผ้าก่อน
20,000 บาท ส่วนที่เหลือให้ตามไปเก็บจาก ย. เมื่อบุตรสาวของโจทก์ร่วมร้องไห้ภริยาของโจทก์ร่วมเข้าไปดูแลบุตรสาวภายในร้าน
จำเลยทั้งสามกับ ย. ก็พากันนำรถบรรทุกผ้าออกไปจากร้านทันที จำเลยทั้งสามกับย.
มีเจตนาทุจริตหลอกลวงให้โจทก์ร่วมหลงเชื่อว่าจะซื้อผ้ามาแต่ต้น ด้วยการวางแผนการ
เป็นขั้นตอนและไม่มีเจตนาจะใช้ราคาผ้าเลย จึงเป็นความผิดฐานร่วมกันฉ้อโกงตาม ประมวลกฎหมายอาญา
มาตรา 341, 83 มิใช่ลักทรัพย์ดังที่โจทก์ฟ้อง แต่ข้อแตกต่าง ดังกล่าวตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
มาตรา 192 วรรคสาม มิให้ถือว่า ต่างกันในข้อสาระสำคัญ ทั้งจำเลยทั้งสามมิได้หลงต่อสู้
ศาลย่อมลงโทษฐานฉ้อโกง ตามข้อเท็จจริงที่ได้ความได้ตามมาตรา 192 วรรคสาม / โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 5 เมษายน
2540 เวลากลางวันจำเลยทั้งสามกับพวกที่ยัง หลบหนีร่วมกันลักเอาผ้าสปันสำหรับตัดเย็บเสื้อผ้าจำนวน
84 ม้วน ราคารวม 119,430 บาท ของนายประเสริฐ ศักดิราชไพจิตร
ผู้เสียหายไปโดยทุจริต โดยใช้รถยนต์ปิกอัพ เป็นยานพาหนะเพื่อความสะดวกในการกระทำผิด
พาทรัพย์นั้นไปและเพื่อให้พ้นจากการจับกุม ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา
334, 335, 83 และให้จำเลย ทั้งสามร่วมกันคืนหรือใช้ราคาทรัพย์
118,430 บาท แก่ผู้เสียหาย / ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง / ศาลอุทธรณ์ภาค
5 พิพากษากลับว่า จำเลยทั้งสามมีความผิดตาม ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา
335(7) วรรคแรก, 83 ให้จำคุกคนละ 4 ปี คำให้การของจำเลยที่ 1 ในชั้นสอบสวนให้ความรู้แก่ศาลอันเป็นประโยชน์แก่การพิจารณาคดี
เป็นเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้จำเลยที่ 1 ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา
78 หนึ่งในสาม คงให้จำคุกจำเลยที่ 1 ไว้
2 ปี 8 เดือน ให้จำเลยทั้งสามร่วมกันใช้ราคาทรัพย์รวม
118,430 บาท แก่ผู้เสียหาย / ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า "...
เห็นได้ว่าจำเลยทั้งสามกับนางยุพาร่วมกันมีเจตนาทุจริต หลอกลวงให้โจทก์ร่วมหลงเชื่อว่าจำเลยทั้งสามกับนางยุพาจะซื้อผ้าจริงมาแต่ต้น
ด้วยการวางแผนการณ์เป็นขั้นตอน และไม่มีเจตนาจะใช้ราคาผ้าให้แก่โจทก์ร่วมเลยและ โดยการหลอกลวงดังกล่าวนั้น
จำเลยทั้งสามกับนางยุพาได้ผ้าไปจากโจทก์ร่วมผู้ถูกหลอกลวง การกระทำของจำเลยทั้งสามกับพวก
จึงเป็นความผิดฐานร่วมกันฉ้อโกง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341 มิใช่ลักทรัพย์ดังที่โจทก์ฟ้อง แต่อย่างไรก็ตามข้อ แตกต่างดังกล่าวตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
มาตรา 192 วรรคสาม มิให้ถือว่าต่างกันในข้อสาระสำคัญ ทั้งจำเลยทั้งสามมิได้หลงต่อสู้
ศาลย่อมลงโทษจำเลย ทั้งสามฐานฉ้อโกงตามข้อเท็จจริงที่ได้ความได้ตามประมวลกฎหมาย วิธีพิจารณาความอาญา
มาตรา 192 วรรคสาม" พิพากษาแก้เป็นว่า
จำเลยทั้งสามมีความผิดฐานร่วมกันฉ้อโกงตาม ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341 ประกอบด้วยมาตรา 83
-
โดยการหลอกลวงดังว่านั้นได้ไปซึ่งทรัพย์สิน
(การได้การยึดถือ ครอบครอง กรรมสิทธิ์)
-
คำพิพากษาฎีกาที่ 901/2476 (ขส เน 2523/ 3) ผู้เสียหายส่งทรัพย์ให้จำเลย ทั้งที่รู้แล้วว่าถูกฉ้อโกง
แต่ส่งทรัพย์ให้เพื่อเป็นหลักฐานในการจับกุม โดยนัดหมายกับตำรวจแล้ว
จำเลยผิดฐานพยายามฉ้อโกง ม 341 ประกอบ ม 80
-
คำพิพากษาฎีกาที่ 1633/2499 เมื่อข้อเท็จจริงในท้องสำนวนปรากฏว่า
ผู้เสียหายมอบเงินให้แก่ผู้แทนผู้เสียหายไปรับจำนองแทนผู้เสียหายเพราะเชื่อตามที่ผู้แทนบอกเช่นนี้
และศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยว่าผู้เสียหายหลงเชื่อจำเลย ดังนี้เป็นการวินิจฉัยข้อเท็จจริงไม่ตรงกับความจริง
ศาลฎีกามีอำนาจวินิจฉัยเสียใหม่ให้ตรงความจริงได้ / เมื่อผู้เสียหายซึ่งเป็นผู้ร้องทุกข์
มิได้เสียหายเนื่องจากหลงเชื่อการกระทำของจำเลยแล้ว ก็ย่อมขาดองค์สำคัญแห่งความผิดฐานฉ้อโกง
จะลงโทษจำเลยหาได้ไม่.
-
คำพิพากษาฎีกาที่ 278-279/2501 หลอกว่า
มีผู้ต้องการซื้อของ ขอรับของไปจำหน่ายแก่ผู้ที่ต้องการซื้อ เป็นความผิดฐานฉ้อโกง
แต่ไม่ต้องด้วย ม.306 (4) รับมอบทรัพย์ไปเพราะใช้อุบายหลอกลวง ผิดฐานฉ้อโกง
การจำหน่ายทรัพย์นั้นต่อไป ไม่เป็นความผิดฐานยักยอก
-
คำพิพากษาฎีกาที่ 1463/2503 จำเลยจะลักรถจักรยาน
จึงทำอุบาย เมื่อเขาเผลอ ก็ลอบหยิบบัตรคู่หนึ่งของเจ้าของร้าน
แล้วเอาบัตรนั้นใบหนึ่งไปแขวนไว้ที่รถจักรยาน เอาบัตรเลขเดิมออกเสีย
แล้วเอาบัตรคู่กันอีกใบหนึ่งมาขอรับรถจักรยาน จำเลยกล่าวเท็จแสดงว่า
เพื่อนให้เอาบัตรมารับรถเพราะเปลี่ยนกันขี่ ผิดฐานลักทรัพย์ โดยใช้กลอุบาย
ไม่ใช่ฉ้อโกง
(เจ้าของรถจักรยาน ยังอยู่ในบริเวณงานนั้น
เพียงแต่มอบการยึดถือดูแลทรัพย์ให้แก่เจ้าของร้าน จำเลยหลอกเจ้าของร้าน
ได้แต่เพียงการยึดถือ ไม่ใช่ได้สิทธิครอบครองไปจากเจ้าของร้านผู้ดูแลทรัพย์
จึงเป็นลักทรัพย์โดยใช้กลอุบาย ไม่ใช่ฉ้อโกง)
-
คำพิพากษาฎีกาที่ 848/2507 การที่จำเลยใช้อุบายหลอกลวงผู้เสียหายและภริยานั้น
มิใช่เพื่อให้ผู้เสียหายและภริยายอมส่งมอบโคให้จำเลย หากเป็นแต่เพียงอุบายในการที่
จำเลยจะพาโคไปได้แนบเนียนขึ้นเท่านั้น การที่จำเลยเอาโคไป
หาใช่ผลโดยตรงจากการหลอกลวงไม่ จำเลยจึงมีผิดฐานลักทรัพย์ หาผิดฐานฉ้อโกงไม่
-
คำพิพากษาฎีกาที่ 554/2509
จำเลยกับสิบตำรวจโทสำเนียง และสิบตำรวจเอกเหม กลับจากงานบวช ถึงทุ่งนา สิบตำรวจโทสำเนียงบอกว่าจะไปถ่าย
จึงมอบปืนไว้กับสิบตำรวจเอกเหม แล้วสิบตำรวจโทสำเนียง
ก็เดินไปโดยจำเลยเดินตามไปด้วย สิบตำรวจเอกเหมไปคุยอยู่กับพรรคพวก จำเลยได้กลับมาหาสิบตำรวจเอกเหม
และเอาความเท็จบอกว่าสิบตำรวจโทสำเนียงให้มาเอาปืนจะไปธุระ สิบตำรวจเอกเหม เห็นว่า
จำเลยกับเจ้าของปืนเป็นเพื่อนกัน จึงหลงเชื่อและมอบปืนให้จำเลยไป ผิดฐานฉ้อโกงตาม
มาตรา 341
(สิบตำรวจโทสำเนียงเจ้าของปืน
มอบการครอบครองดูแลให้แก่สิบตำรวจเอกเหม ไม่ใช่เพียงแต่มอบการยึดถือดูแลทรัพย์
จำเลยหลอกสิบตำรวจเอกเหม เป็นการหลอกให้ได้ไปซึ่งสิทธิครอบครองจากสิบตำรวจเอกเหม
ไม่ใช่ได้แต่เพียงการยึดถือ จึงเป็นฉ้อโกง)
-
คำพิพากษาฎีกาที่ 2147/2517
จำเลยได้หลอกลวงผู้เสียหายว่าจะขายแร่พลวงให้ และขอรับราคาค่าแร่ทั้งหมด
กับขอรับกระสอบไปใส่แร่ด้วย โดยมีเจตนาทุจริตมาแต่แรก ผลจากการหลอกลวงดังกล่าว
ทำให้จำเลยได้รับเงินค่าแรง และกระสอบ 30 ใบ ไป แม้เงินค่าแรงจะเป็นทรัพย์สิน
ซึ่งเป็นวัตถุประสงค์อันสำคัญ ส่วนกระสอบนั้นจำเลยหลอก เพื่อให้สมกับอุบายก็ตาม
แต่จำเลยได้กระสอบ ไปจากผู้เสียหาย ด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จ
จึงเป็นความผิดฐานฉ้อโกงกระสอบด้วย จำเลยได้กระสอบไปจากผู้เสียหายเช่นนี้
เป็นการครอบครองอันได้มาจากการหลอกลวงผู้เสียหาย
จึงมิใช่การครอบครองทรัพย์ของผู้อื่นอันจะเป็นความผิดฐานยักยอก
-
ฎ 948/2518 จำเลยหลอกลวงผู้เสียหาย
ว่าจำเลยทำสัญญาจะซื้อที่ดินไว้ในราคา 350,000 บาท วางมัดจำไว้ 200,000 บาท
จำเลยไม่มีเงินชำระราคา แล้วจำเลยพาผู้เสียหายไปดูที่ดินแปลงอื่น โดยจำเลยอ้างว่าเป็นที่ดินแปลงที่จำเลยซื้อไว้
ผู้เสียหายหลงเชื่อจึงทำสัญญาซื้อขายที่ดินพิพาทกับเจ้าของที่ดิน
โดยจำเลยได้รับเงินส่วนหนึ่งไปเป็นประโยชน์ของจำเลยกับพวก
การกระทำของจำเลยเป็นความผิดฐานฉ้อโกง (คดีนี้ หากจำเลยกับผู้ขายสมคบกัน /
หากจำเลยไม่สมคบกับผู้ขายที่ดิน เช่น รู้ว่าผู้ขายจะจ่ายค่านายหน้า
จำเลยจึงไปหลอกผู้เสียหายมาซื้อที่ดิน “จำเลยหลอกผู้เสียหาย
แต่จำเลยจะได้ทรัพย์จากผู้ขายที่ดิน ก็เป็นความผิดฐานฉ้อโกง แต่ไม่เป็นตัวการ /
หรือกรณีฟ้องหรือให้การเท็จ หากศาลหลงเชื่อพิพากษาให้ชนะคดี จะได้ทรัพย์จากคู่ความ
ก็เป็นความผิดฐานฉ้อโกง)
-
คำพิพากษาฎีกาที่ 973/2520 จำเลยมาเอารถจักรยาน 2 ล้อที่ผู้เสียหายฝาก
จ.ไว้โดยว่าจะเอาไปให้ผู้เสียหาย แต่ไม่นำไปคืน
จำเลยเจตนาทุจริตมาแต่แรกหลอกจนได้ทรัพย์ไปจาก จ.เป็นฉ้อโกงตาม ม.341
ไม่ใช่ลักทรัพย์ตามฟ้อง ลงโทษไม่ได้
-
คำพิพากษาฎีกาที่ 2922/2524 สัญญามีความว่า
ผู้เสียหายจะจ่ายค่าสมนาคุณให้แก่จำเลย
ก็ต่อเมื่อผู้เสียหายได้ทำสัญญาเป็นตัวแทนจำหน่ายเบียร์กับบริษัท บ. เรียบร้อยแล้ว
ซึ่งเป็นลักษณะของสัญญาต่างตอบแทน ถ้าไม่ได้เป็นตัวแทน
ก็ไม่ต้องจ่ายค่าสมนาคุณหรือทรัพย์สินอื่นใด แม้ผู้เสียหายจะหลงเชื่อคำหลอกลวงของจำเลยที่กล่าวอ้างว่าบริษัท
บ. จะตั้งผู้เสียหายเป็นตัวแทนคนใหม่ จนลงชื่อในสัญญาดังกล่าว การกระทำของจำเลย
ก็ไม่เป็นความผิดฐานพยายามฉ้อโกง
-
คำพิพากษาฎีกาที่ 3596/2532
ตามคำบรรยายฟ้องและทางนำสืบของโจทก์ ได้ความว่าจำเลยได้ทำการหาผู้ฝากเงินออมสินประเภทสงเคราะห์ชีวิต
และครอบครัวแบบเพิ่มพูนทรัพย์โดยหลอกลวงแจ้งเงื่อนไขในการทำสัญญาอันเป็นเท็จ
และโดยการหลอกลวงของจำเลยดังกล่าว
ทำให้ประชาชนเข้าใจผิดหลงเข้าทำสัญญาฝากเงินประเภทสงเคราะห์ชีวิตและครอบครัว
แบบเพิ่มพูนทรัพย์กับธนาคารออมสิน และธนาคารออมสินได้จ่ายเงินชดเชยค่าใช้จ่ายและเงินรับรองในการหาผู้ฝากและเงินสมนาคุณ
แพทย์ผู้ตรวจร่างกายผู้เข้าทำสัญญาฝากเงินกับธนาคารออมสินแก่จำเลย กรณีดังกล่าวแม้จำเลยจะหลอกลวงด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จ
แต่จำเลยก็ไม่ได้ไปซึ่งทรัพย์สินจากผู้ถูกหลอกลวงหรือบุคคลที่สามการที่ธนาคารออมสินได้จ่ายเงินให้แก่จำเลยก็เป็นไปตามระเบียบข้อบังคับหรือตามสัญญาซึ่งมีข้อผูกพันที่จะต้องให้แก่จำเลย
มิใช่จ่ายให้จำเลยโดยเหตุที่จำเลยหลอกลวง และมิใช่ผลโดยตรงจากการหลอกลวงของจำเลย
การหลอกลวงของจำเลย เป็นแต่เพียงทำให้ประชาชน เข้าทำสัญญาฝากเงินประเภทสงเคราะห์ชีวิต
และครอบครัวแบบเพิ่มพูนทรัพย์ กับธนาคารออมสินเท่านั้น
การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดฐานฉ้อโกง
-
คำพิพากษาฎีกาที่ 609/2536
จำเลยกับพวกได้หลอกลวงโจทก์ร่วมด้วยข้อความอันเป็นเท็จ
เพื่อให้ได้ไปซึ่งหนังสือรับรองการทำผลประโยชน์ (น.ส.3 ก.) ซึ่งเป็นของจำเลย และจำเลยนำมามอบให้โจทก์ร่วมยึดถือไว้เป็นประกัน
ตามสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ดังกล่าว
ซึ่งโจทก์ร่วมได้ชำระราคาค่าที่ดินให้จำเลยไปครบถ้วนแล้ว
โดยจำเลยหลอกลวงว่าจะนำหนังสือรับรองการทำประโยชน์ไปเป็นประกันที่ศาล โจทก์ร่วมหลงเชื่อ
จึงมอบหนังสือรับรองการทำประโยชน์ให้จำเลยไป ความจริงจำเลยไม่ได้มีคดีที่ศาล
และมิได้มีเจตนาจะนำหนังสือรับรอง การทำประโยชน์ไปเป็นหลักประกันที่ศาล แต่เมื่อได้ความว่าหนังสือรับรองการทำประโยชน์ยังเป็นของจำเลยเอง
จึงยังไม่อาจถือว่าจำเลยได้ไปซึ่งทรัพย์สินจากโจทก์ร่วม
จำเลยจึงไม่มีความผิดฐานฉ้อโกง
-
คำพิพากษาฎีกาที่ 5729/2539 การที่ผู้กระทำผิดฐานฉ้อโกงได้ไปซึ่งทรัพย์สิน
จากผู้ถูกหลอกลวงหรือบุคคลที่ 3 “ต้องเป็นผลโดยตรงจากการหลอกลวง”
ด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จหรือปกปิดข้อความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้ง / บริษัท
ย. โดยจำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 อ้างว่าได้จดทะเบียนถูกต้องตามกฎหมาย
ประกอบกิจการเกี่ยวกับการเป็นโบรคเกอร์ให้กับผู้ลงทุน
ในการติดต่อซื้อ-ขายในสัญญาสกุลเงินตราต่างประเทศ
กับตลาดแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศทั่วโลก โดยบริษัท ย.
เป็นคอมมิสชั่นเฮ้าส์ของตลาดโลก ซึ่งไม่เป็นความจริง
จึงเป็นการหลอกลวงผู้อื่นด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จ
ปกปิดข้อความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้ง แต่การที่โจทก์และบุคคลอื่นนำเงินไปลงทุนกับบริษัท
ย. เพื่อประกอบกิจการสั่งซื้อสั่งขายเงินตราต่างประเทศ มีลักษณะเป็นการเก็งกำไร
การที่จะได้กำไรหรือขาดทุนขึ้นอยู่กับความเสี่ยง
ทั้งการประกอบกิจการดังกล่าวก็เป็นวัตถุประสงค์ข้อหนึ่งของบริษัท ย.
หากแต่ยังไม่ได้รับอนุญาตจากกระทรวงการคลังเท่านั้น
จึงเป็นความสมัครใจในการร่วมลงทุน การได้ไปซึ่งทรัพย์สินในการร่วมลงทุน
มิได้เกิดจากผลโดยตรงจากการถูกหลอกลวงว่าบริษัท ย. ได้จดทะเบียนถูกต้องตามกฎหมายดังกล่าว
การกระทำของจำเลยที่ 2 ถึงที่ 5
จึงไม่เป็นความผิด (ลงมือหลอกลวง ประกอบด้วย เจตนาทุจริต
แม้การได้ทรัพย์ไม่ใช่ผลโดยตรง ก็ผิด พยายามฉ้อโกงแล้ว)
-
คำพิพากษาฎีกาที่ 2652/2543 ความผิดฐานรับของโจรตาม
ป.อ. มาตรา 357วรรคหนึ่ง จะเป็นความผิด ก็ต่อเมื่อได้กระทำภายหลังที่การกระทำความผิดในการได้ทรัพย์มานั้นสำเร็จไปแล้ว
ม. กับพวกมีเจตนาทุจริตมาแต่แรก โดยหลอกลวงว่าจะซื้อที่ดินจากโจทก์ร่วม
เมื่อโจทก์ร่วมมาที่บ้าน ม. เพื่อทำสัญญาจะซื้อจะขายและให้วางมัดจำ ม.
กลับชักชวนโจทก์ร่วมให้ร่วมกับ ม. เล่นการพนันกับพวกของ
ม.โจทก์ร่วมเล่นการพนันเสีย การติดต่อขอซื้อที่ดินและการเล่นการพนัน
จึงเป็นเพียงเหตุการณ์ที่ ม. กับพวกสร้างขึ้นเพื่อหลอกลวงเอาเงินของโจทก์ร่วม
และโดยการหลอกลวงดังกล่าวทำให้ ม. กับพวกได้ไปซึ่งเงินจากโจทก์ร่วม
กับเงินที่โจทก์ร่วมให้ จ. โอนมาให้แก่จำเลย แสดงว่าจำเลยเข้าไปเกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดฐานฉ้อโกงของ
ม. หาใช่เข้าไปเกี่ยวข้องภายหลัง ม. ได้เงินมาแล้วไม่
จำเลยจึงเป็นตัวการร่วมกระทำความผิดฐานฉ้อโกง
-
คำพิพากษาฎีกาที่ 2705/2543
หนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3) ที่จำเลยมอบให้โจทก์เป็นประกันตามสัญญากู้ยืม
โจทก์มีสิทธิที่จะยึดถือไว้จนกว่าจะได้รับชำระหนี้เสียก่อน
และหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3) แม้เป็นเพียงกระดาษแผ่นเดียว ตาม
สภาพเป็นวัตถุมีรูปร่างซึ่งอาจมีราคาและถือเอาได้
จึงเป็นทั้งทรัพย์และทรัพย์สินตาม ป.พ.พ. มาตรา 137, 138 ฉะนั้น ถ้าหากจำเลยโดยทุจริตหลอกลวงโจทก์
และการหลอกลวงนั้นได้ไปซึ่งทรัพย์สินจากโจทก์ ก็เป็นความผิดฐานฉ้อโกง ตาม ป.อ.
มาตรา 341 ได้
เพราะความผิดฐานนี้ไม่ได้จำกัดว่าผู้ที่ถูกหลอกลวงจะต้องเป็นเจ้าของทรัพย์
แม้จะเป็นเจ้าหนี้มีสิทธิยึดทรัพย์ของลูกหนี้ไว้ ใครหลอกลวงให้เขาส่งทรัพย์นั้น
ก็อาจมีความผิดตามมาตรานี้ได้
-
การได้ไปซึ่ง “ทรัพย์สิน”
-
คำพิพากษาฎีกาที่ 40/2508 โจทก์ฟ้องว่าจำเลยได้กู้เงินผู้เสียหายฯลฯ เอาโฉนดที่ดิน 5 โฉนดมอบให้ผู้เสียหายยึดถือไว้เป็นประกัน ฯลฯ ต่อมาวันที่ 30 กันยายน 2498 จำเลยหลอกลวงผู้เสียหายว่าจะโอนโฉนดให้ผู้เสียหาย
ฯลฯ แล้วเพทุบายขอรับโฉนดไป จากผู้เสียหายว่าจะเอาไปทำการโอนให้ตามข้อตกลง แต่จำเลยโอนให้เพียง 2 โฉนด ฯลฯ กับต่อมาวันที่ 3-4
ตุลาคม 2498 จำเลยหลอกลวงผู้เสียหายว่า
จำเลยได้โอนโฉนดให้เรียบร้อยแล้ว รอแต่วันรับโฉนดเท่านั้น
ผู้เสียหายไม่จำเป็นต้องยึดหนังสือสัญญากู้ไว้
ผู้เสียหายหลงเชื่อได้มอบหนังสือสัญญากู้ให้จำเลยไป
ทั้งนี้ ตามวันเวลาดังกล่าว จำเลยมีเจตนาทุจริตหลอกลวงให้ส่งโฉนดและรับไปแล้ว
ได้ฉ้อโกงเอาไว้และมีเจตนาทุจริตคิดหลอกลวงให้ผู้เสียหายส่งหนังสือสัญญากู้ ฯลฯ
ดังนี้ แม้ศาลอุทธรณ์จะฟังว่า โฉนดที่โจทก์หาว่าจำเลยฉ้อโกงนั้น
ไม่ได้อยู่กับผู้เสียหาย ก็ยังอาจว่าจำเลยหลอกลวงให้ผู้เสียหายหลงเชื่อว่า
จำเลยได้ขอให้หอทะเบียนโอนโฉนดเหล่านั้นให้แล้ว
ผู้เสียหายจึงคืนสัญญากู้ให้จำเลยไปเพราะเป็นคนละเหตุ
ทั้งข้อหาว่าจำเลยฉ้อโกงโฉนดและข้อหาฉ้อโกงหนังสือสัญญากู้ ต่างกรรมต่างวาระกันแยกได้เป็น
2 กระทง
-
คำพิพากษาฎีกาที่ 1733/2516 จำเลยหลอกลวงผู้เสียหายว่า รถยนต์ของจำเลยขัดข้อง
จึงว่าจ้างรถยนต์ผู้เสียหายไปส่ง เมื่อส่งเรียบร้อยแล้วจะให้ค่าขนส่ง 1,000
บาท ผู้เสียหายหลงเชื่อได้รับจ้างขนส่งให้ จำเลยได้รับผลเพียงการขนส่งจากผู้เสียหาย
จำเลยไม่ได้ได้ไปซึ่งทรัพย์สินจากผู้เสียหาย ส่วนเงินค่าขนส่ง 1,000
บาท ที่จำเลยไม่ได้ชำระแก่ผู้เสียหายนั้น
เป็นทรัพย์สินที่ผู้เสี่ยหายจะเรียกร้องเอาจากจำเลยภายหลัง
เมื่อขนส่งให้จำเลยถึงที่ที่ตกลงกันแล้ว กรณีเป็นเรื่องผิดสัญญาทางแพ่ง ไม่เป็นความผิดฐานฉ้อโกง
-
คำพิพากษาฎีกาที่ 1279/2517 (ผู้ขายที่ดิน หลอกนายหน้าค้าที่ดินว่า ยังไม่ได้ขายที่ดิน
เพื่อไม่ต้องจ่ายค่านายหน้า ไม่ผิดฉ้อโกง) โจทก์ฟ้องว่า โจทก์จัดการขายที่ดินให้จำเลยที่ 1
มีสิทธิได้ค่านายหน้าจากจำเลยที่ 1 แต่จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2
ร่วมกันทุจริตแจ้งความเท็จและปกปิดความจริงต่อโจทก์ โดยบอกว่ายังขายที่ดินไม่ได้
แล้วจำเลยทั้งสองได้ค่านายหน้าอันเป็นสิทธิของโจทก์ไป ดังนี้
ตามคำฟ้องจำเลยไม่ได้เงินไปจากโจทก์ซึ่งอ้างว่าถูกหลอกลวง หรือจากบุคคลที่สาม
จำเลยไม่มีความผิดฐานฉ้อโกง
-
คำพิพากษาฎีกาที่ 4046/2536 (สบฎ เน 60) “เอกสารสัญญาที่เป็นเอกสารสิทธิ”
แม้จะเป็นเพียงกระดาษแผ่นเดียวก็ถือว่าเป็นทรัพย์
จำเลยหลอกลวงเอาเอกสารสัญญาของโจทก์ไป จึงมีความผิดฐานฉ้อโกง
-
คำพิพากษาฎีกาที่ 2379/2526
จำเลยเป็นพนักงานบัญชีของธนาคาร พิมพ์ตัวเลขจำนวนเงิน 190,000 บาท
ลงในช่องของการ์ดบัญชีเงินฝากกระแสรายวันของธนาคารซึ่งตนมีหน้าที่ควบคุมการ์ดดังกล่าว
เป็นการกระทำภายในขอบเขตอำนาจหน้าที่ของจำเลย
แม้ความจริงจะไม่มีการนำเงินดังกล่าวเข้าฝากธนาคารเลย
ก็เป็นการลงข้อความเท็จเท่านั้น หาใช่เป็นการปลอมเอกสารไม่
เพราะมิใช่เป็นการทำปลอมเอกสารอันแท้จริงของผู้ใด จำเลยไม่มีความผิดฐานปลอมเอกสาร
/ พวกจำเลยลงชื่อสั่งจ่ายเช็ค แล้วจำเลยกรอกวัน เดือน ปี
และจำนวนเงินลงในเช็คที่พวกจำเลยเว้นว่างไว้
เป็นการกระทำลงไปด้วยความยินยอมของผู้สั่งจ่าย เพื่อร่วมมือกันฉ้อโกงธนาคาร มิได้มีการปลอมเช็คของผู้ใด
จำเลยไม่มีความผิดฐานปลอมเอกสาร แม้นำไปใช้ ก็ไม่เป็นความผิดฐานใช้เอกสารปลอม
คงมีความผิดฐานฉ้อโกง
-
คำพิพากษาฎีกาที่ 7264/2543
โจทก์ซึ่งเป็นลูกจ้างขับรถยนต์ของโจทก์ลงจากอาคารจอดรถของจำเลย
ผู้เป็นนายจ้างแล้วแสดงบัตรจอดรถที่มีตราประทับว่าบริการแผนกจัดเลี้ยง 14
ต่อพนักงานรักษาความปลอดภัยซึ่งทำหน้าที่เก็บค่าบริการจอดรถ
โจทก์จึงไม่เสียค่าจอดรถแก่จำเลย
โดยทราบดีว่าจำเลยมีข้อห้ามมิให้พนักงานนำรถขึ้นไปจอดบนอาคารจอดรถ
โจทก์ได้รับผลเพียงการบริการจอดรถจากจำเลยหาได้ไปซึ่งทรัพย์สินจากจำเลยไม่
จึงไม่เป็นความผิดอาญาฐานฉ้อโกงตาม ป.อ. มาตรา 341 และมิได้เป็นการจงใจทำให้จำเลยได้รับความเสียหาย
-
กรณีเกี่ยวกับการทำสัญญาทางแพ่ง
-
คำพิพากษาฎีกาที่ 979/2495 จำเลยกล่าวเท็จให้ผู้อื่นจองหุ้นบริษัทหนึ่ง
ซึ่งจำเลยอ้างตนว่าเป็นผู้อำนวยการบริษัท
จนผู้อื่นเชื่อถือส่งเงินค่าจองหุ้นครึ่งหนึ่งให้แก่จำเลย แต่จำเลยเพิ่งนำหนังสือบริคณห์สนธิไปจดทะเบียนภายหลัง
ซึ่งคนอื่นๆ เข้าใจว่าจำเลยได้ตั้งเป็นบริษัทแล้ว
และต่อจากนั้นจำเลยก็มิได้ดำเนินการต่อไปให้ถูกต้องตามกฎหมาย
เพื่อจัดตั้งบริษัทให้เป็นนิติบุคคลขึ้น กิจการที่จำเลยดำเนินอยู่ไม่มีอะไร และศาลฟังได้ว่าจำเลยมีแผนการณ์จะฉ้อโกงมาแต่ต้น
จำเลยตั้งบริษัทขึ้นเป็นพิธีบังหน้าเพื่อการทุจริตของจำเลยเท่านั้น ดังนี้
จำเลยย่อมมีผิดฐานฉ้อโกง
-
คำพิพากษาฎีกาที่ 917/2504
การที่เจ้าหนี้ได้รับต้นเงินดอกเบี้ยมาแล้ว
ไม่สลักหลังในสัญญากู้ตามที่รับปากกับลูกหนี้นั้น ไม่ผิดฐานฉ้อโกง
และเมื่อเอาเงินดังว่านี้ไปเป็นประโยชน์ตนและผู้อื่น
ก็ไม่ผิดฐานยักยอกเพราะเงินนี้เป็นกรรมสิทธิ์ของเจ้าหนี้แล้ว
-
คำพิพากษาฎีกาที่ 1014/2505
โจทก์จะให้จำเลยกู้เงินถ้ามีหลักฐานมาประกัน
จำเลยจึงพูดอวดอ้างว่าจำเลยมีบัญชีเงินฝากที่ธนาคารเกษตรจำกัด
แล้วควักเอาเช็คออกมาเซ็นชื่อให้โจทก์หลงเชื่อจำเลยในการอวดอ้างแสดงข้อความเท็จนี้
จึงจ่ายเงินให้จำเลยกู้ยืมไป ดังนี้ เป็นความผิดฐานฉ้อโกงแล้ว
-
คำพิพากษาฎีกาที่ 1514/2508
จำเลยเข้าไปซื้อสบู่ในร้านผู้เสียหาย 1 ก้อน ราคา 3 บาท จำเลยส่งธนบัตรใบละ 100
บาทให้ ผู้เสียหายทอนให้ 97 บาทต่อมาจำเลยพูดว่าไม่ต้องการสบู่ขอคืนเงิน
พร้อมกับส่งสบู่และเงินทอนให้ผู้เสียหาย ผู้เสียหายรับเงินทอนโดยไม่นับดู
แล้วคืนธนบัตร 100 บาทให้จำเลย จำเลยต้องการเงินจำนวนหนึ่งจากเจ้าทรัพย์
โดยใช้อุบายทำทีว่าจะซื้อสบู่
เมื่อได้เงินทอนแล้วก็กลับบอกเลิกไม่ซื้อสบู่และขอธนบัตรใบละ 100 บาทคืน
แต่ฉวยโอกาสทำการทุจริตยักเอาเงินไว้อีกเสีย 50 บาท
โดยแกล้งทำเป็นซื้อสบู่เป็นฉากบังหน้าอาจเป็นเท็จ
เพื่อหลอกลวงให้ได้ไปซึ่งทรัพย์สินคือเงินส่วนหนึ่งที่เจ้าทรัพย์ทอนให้
ผิดฐานฉ้อโกง
-
คำพิพากษาฎีกาที่ 16/2510
เอกสารการซื้อรถและรถรายพิพาท เป็นของจำเลยทั้งสิ้น
จำเลยได้ออกตั๋วสัญญาใช้เงินให้แก่ธนาคาร ผู้เสียหายเป็นผู้ค้ำประกัน
ระหว่างจำเลยกำลังผ่อนชำระเงินให้แก่ธนาคารตามสัญญา /
การที่จำเลยยอมทิ้งรถและเอกสารการซื้อรถให้ผู้เสียหายด้วยความเกรงใจ ผู้เสียหายไม่มีสิทธิตามกฎหมายที่จะยึดเอกสารและรถไว้
เมื่อจำเลยกลับใจ จำเลยย่อมมีสิทธิมาเอารถของจำเลยไป
และมีสิทธิไปขอเอกสารของจำเลยจากผู้รักษาไว้ได้
การกระทำของจำเลยยังไม่เป็นความผิดฐานฉ้อโกง
-
คำพิพากษาฎีกาที่ 856/2510 จำเลยเอาความเท็จไปหลอกลวงโจทก์
ว่าเป็นหัวหน้าวงแชร์เปียหวยและมีแชร์อยู่ โจทก์หลงเชื่อจึงตกลงรับซื้อแชร์ไว้โดยจ่ายเงินให้จำเลยไป
7,000 บาท ซึ่งความจริงจำเลยไม่ได้เปิดวงแชร์เปียหวยตามที่จำเลยอ้าง
ผิดฐานฉ้อโกงทรัพย์
-
คำพิพากษาฎีกาที่ 1554/2511
ขอซื้อโคจากผู้เสียหายโดยให้ผู้เสียหายนำโคไปส่งที่บ้านจำเลย
แล้วจำเลยจะชำระราคาให้ เมื่อผู้เสียหายนำโคไปส่งให้แล้ว จำเลยกลับเบี่ยงบ่ายขอชำระในวันรุ่งขึ้น
และคืนนั้นจำเลยก็พาโคหนีไป เห็นได้ว่า จำเลยมีเจตนาทุจริตหลอกลวงผู้เสียหาย
โดยไม่มีเจตนาจะใช้ราคาโคมาแต่เริ่มต้น จึงเป็นความผิดฐานฉ้อโกง
-
คำพิพากษาฎีกาที่ 1931/2514 จำเลยมีที่นา แต่ได้หลอกลวง
พ.ให้หลงเชื่อว่ามีสวนส้ม จน พ. ตกลงรับซื้อฝากและจ่ายเงินให้จำเลยไปโดยให้บุตรของ
พ.ไปลงชื่อรับซื้อฝากแทน ดังนี้ ถือได้ว่าจำเลยจงใจเจตนาฉ้อโกง พ.โดยตรง และ
พ.ได้รับความเสียหายเนื่องจากการกระทำผิดฐานฉ้อโกงของจำเลยแล้ว พ. จึงเป็นผู้เสียหายและมีอำนาจตามกฎหมายที่จะร้องทุกข์ได้
-
คำพิพากษาฎีกาที่ 2147/2517 จำเลยได้หลอกลวงผู้เสียหายว่าจะขายแร่พลวงให้
และขอรับราคาค่าแร่ทั้งหมด กับขอรับกระสอบไปใส่แร่ด้วย โดยมีเจตนาทุจริตมาแต่แรก
ผลจากการหลอกลวงดังกล่าว ทำให้จำเลยได้รับเงินค่าแรง และกระสอบ 30
ใบไปจากผู้เสียหายในคราวเดียวกัน แม้ “เงินค่าแรง” จะเป็นทรัพย์สิน
ซึ่งเป็นวัตถุประสงค์อันสำคัญที่จำเลยมุ่งหมายหลอกลวงไปจากผู้เสียหาย / ส่วน
“กระสอบ” นั้น จำเลยหลอกลวงให้ผู้เสียหายส่งให้
เพื่อให้สมกับอุบายของจำเลยที่อ้างว่ามีแร่ที่จะขายให้เท่านั้นก็ตาม
แต่การที่จำเลยได้กระสอบไปด้วยนี้ ก็ได้ไปจากการหลอกลวงผู้เสียหาย
ด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จ ว่าจะใส่แร่พลวงมาส่งให้
โดยจำเลยมิได้ตั้งใจจะนำกระสอบไปใส่แร่พลวงมาส่งให้แก่ผู้เสียหายเลย แสดงว่าจำเลยมีเจตนามาแต่แรกแล้ว
ว่าจะหลอกลวงเอากระสอบ 30 ใบนี้จากผู้เสียหายด้วยเหมือนกัน
จึงเป็นความผิดฐานฉ้อโกงกระสอบด้วย / ส่วนการที่ผู้เสียหายเข้าใจว่าให้กระสอบแก่จำเลยไป
ในลักษณะเป็นการยืมใช้คงรูปนั้น “ก็เป็นความเข้าใจผิดของผู้เสียหาย”
ซึ่งถูกจำเลยหลอกลวงเพียงฝ่ายเดียว
จำเลยหาได้ตั้งใจปฏิบัติตามที่ผู้เสียหายหลงเข้าใจไม่
และการทำจำเลยได้กระสอบไปจากผู้เสียหายเช่นนี้
เป็นการครอบครองอันได้มาจากการหลอกลวงผู้เสียหาย
จึงมิใช่การครอบครองทรัพย์ของผู้อื่น อันจะเป็นความผิดฐานยักยอก
-
คำพิพากษาฎีกาที่ 2885/2517 จำเลยตกลงซื้อเรือขนาด 6
ตันมาโดยยังไม่ได้จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์กัน หลังจากนั้นจำเลยได้ขอทำทะเบียนเรือขึ้นใหม่
ทั้งที่มีทะเบียนเรือโดยชอบอยู่แล้ว และเปลี่ยนชื่อเรือเสียใหม่ด้วย
แล้วจำเลยนำเรือไปขายแก่โจทก์ร่วมโดยอาศัยใบทะเบียนที่ทำขึ้นใหม่ ดังนี้
จำเลยยังไม่มีกรรมสิทธิ์ในเรือนั้นไม่อาจโอนกรรมสิทธิ์ให้โจทก์ร่วมได้
แม้โจทก์ร่วมจะได้จดทะเบียนการโอนถูกต้องตาม พ.ร.บ. เรือไทย พ.ศ.2481
ก็หาได้กรรมสิทธิ์ในเรือนั้นไม่ / จำเลยนำเรือไปขายให้โจทก์ร่วม
โดยมิได้บอกให้โจทก์ร่วมรู้ว่าเป็นของผู้อื่นและมิได้มีชื่อเช่นนั้น
โจทก์ร่วมหลงเชื่อจ่ายเงินค่าเรือ ให้จำเลยไป โดยที่จำเลยไม่สามารถ และไม่มีเจตนาจะโอนกรรมสิทธิ์เรือพิพาทให้แก่โจทก์ร่วม
ย่อมเป็นความผิดฐานฉ้อโกง หาใช่ความผิดฐานยักยอกไม่
-
คำพิพากษาฎีกาที่ 1719/2518 จำเลยชื่อ อำนาจ
อยู่กาฬสินธุ์ หลอกว่าชื่อ คล้าย อยู่อุบลราชธานี เช่าซื้อรถยนต์ราคา 99,000 บาท
ไปจากโจทก์ร่วม ชำระเงินแล้ว 15,000 บาท แล้วพารถหนีข้ามไปลาว เป็นความผิดตาม
ม.341
-
คำพิพากษาฎีกาที่ 2303/2518
ผู้เสียหายมอบเงินให้จำเลยไปซื้อของ
จัดการขายของที่ซื้อแล้วมอบทุนและกำไรให้ผู้เสียหาย
โดยจำเลยได้ค่าจัดการและโดยผู้เสียหายมิได้คำนึงว่า
จะไปซื้อของจากสโมสรท่าเรือตามที่จำเลยกล่าวอ้างหรือไม่ จำเลยนำกำไรมามอบให้ผู้เสียหายหลายคราว
แต่ในที่สุดจำเลยก็มิได้มอบทุนและกำไรให้ผู้เสียหายครบถ้วน
แม้จำเลยจะบอกผู้เสียหายว่ามีสิทธิออกจากสโมสรท่าเรือแต่ผู้เดียว
และสโมสรท่าเรือไม่มีชื่อร้อยเอกสุพรที่รับผิดชอบในการออกของตามที่จำเลยอ้างก็ตาม
ก็หาใช่เป็นข้อสำคัญที่จะถือว่าจำเลยหลอกลวงผู้เสียหายอันจะเอาผิดแก่จำเลยฐานฉ้อโกงได้ไม่
แต่เป็นเรื่องที่จำเลยไม่สามารถปฏิบัติ
ให้เป็นไปตามที่ได้รับรองไว้ต่อผู้เสียหายเท่านั้น
-
คำพิพากษาฎีกาที่ 2510/2525
จำเลยหัวหน้าวงแชร์หลอกลวงโจทก์ร่วมว่า ฉ.ลูกวงจะขายแชร์ ซึ่งความจริง ฉ.ไม่ได้ขายแชร์ให้ผู้ใด
ทำให้โจทก์ร่วมรับซื้อแชร์ดังกล่าวและจำเลยได้เงินค่าแชร์ไปจากโจทก์ร่วม ดังนี้
จำเลยมีความผิดตาม ป.อ.ม.341
-
คำพิพากษาฎีกาที่ 151/2527
โจทก์ร่วมกับจำเลยทำการค้าเครื่องประดับสตรีเพื่อประโยชน์ร่วมกัน
การที่จำเลยมาเอาสร้อยลูกปัดไปจากโจทก์ร่วมได้ทำหลักฐานการรับมอบให้ยึดถือไว้
จึงเป็นกรณีที่โจทก์ร่วมมอบให้จำเลยไปขาย เพื่อผลกำไร
ตามที่เคยปฏิบัติต่อกันมาก่อนโดยสุจริต
เมื่อจำเลยขายได้แล้ว ไม่นำเงินมาชำระให้แก่โจทก์ร่วม
จึงเป็นการผิดสัญญาทางแพ่ง คดีฟังไม่ได้ว่าจำเลยมีเจตนาทุจริตหลอกลวงเอาสร้อยลูกปัดไปจากโจทก์ร่วม
การกระทำของจำเลยไม่มีมูลความผิดฐานฉ้อโกงตาม ป.อ.ม.341
-
คำพิพากษาฎีกาที่ 1124/12529 จำเลยติดต่อผู้เสียหายให้มาซื้อโคมาขายให้
เมื่อจำเลยขายโคได้แล้วจะนำเงินค่านายหน้าและค่าโคมาชำระให้
ผู้เสียหายซื้อโคได้แล้วมอบให้จำเลยไป จำเลยไม่นำเงินค่านายหน้าและค่าโคมาชำระเมื่อถูกจับกุมก็ให้การว่าได้ชำระเงินให้ผู้เสียหายจนครบถ้วนแล้ว
ดังนี้จำเลยมิได้มีเจตนาจะซื้อโคอย่างแท้จริง
แต่ได้วางแผนหลอกลวงผู้เสียหายมาแต่ต้น โดยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จว่าจะซื้อ
แต่ความจริงจำเลยมิได้มีเจตนาจะซื้อและชำระค่าโค จึงเป็นความผิดฐานฉ้อโกงตาม ป.อ.
ม.341
-
คำพิพากษาฎีกาที่ 1626/2531
ผู้เสียหายตกลงขายข้าวเปลือกจำนวนมากแก่จำเลย
โดยยินยอมให้จำเลยนำข้าวเปลือกที่ตกลงซื้อขายกันนั้นไปก่อน
แล้วมีข้อสัญญาว่าจำเลยจะชำระราคาภายหลังตามวันที่กำหนดไว้
ซึ่งเป็นเรื่องปกติธรรมดาในการซื้อขายกัน เมื่อจำเลยผิดนัดไม่ชำระราคาให้ตามวันที่ให้สัญญา
จึงเป็นเรื่องผิดสัญญาทางแพ่ง แม้โจทก์จะบรรยายฟ้องว่าจำเลยมีเจตนาทุจริต
ก็เป็นเรื่องที่บรรยายเพื่อให้ครบองค์ประกอบ ความผิดฐานฉ้อโกง
ไม่ทำให้คดีผิดสัญญาทางแพ่งกลับกลายเป็นคดีอาญา
-
คำพิพากษาฎีกาที่ 5886/2531 จำเลยติดต่อขอซื้อข้าวเปลือกจากผู้เสียหายโดยขอชำระราคาด้วยเช็คที่
ว.เป็นผู้ลงชื่อสั่งจ่ายให้ไว้
และจำเลยพูดรับรอบว่าหากเช็คที่จำเลยมอบให้ขึ้นเงินไม่ได้
จำเลยจะเป็นผู้รับผิดชอบเองโดยจะขายนา 30
ไร่ของจำเลยมาชำระราคาข้าวเปลือกให้แก่ผู้เสียหายจนครบ ดังนี้การที่ผู้เสียหายยินยอมขายข้าวเปลือก
ตามฟ้องให้แก่จำเลยกับพวกโดยยอมรับเช็คซึ่ง
ว.สั่งจ่ายไว้เพื่อเป็นการชำระราคาข้าวเปลือก ก็เพราะจำเลยเป็นผู้ให้คำรับรอง เมื่อผู้เสียหายนำเช็คไปขึ้นเงินไม่ได้ จำเลยกลับปฏิเสธความรับผิด
ไม่ยอมรับรู้ใด ๆ ทั้งสิ้น อ้างว่าตนเป็นเพียงนายหน้าให้ ว.เท่านั้น
พฤติการณ์ของจำเลยแสดงว่าจำเลยมีเจตนาทุจริต คิดหลอกลวง
เพื่อเอาข้าวเปลือกของผู้เสียหายทั้งสาม มีแผนการร่วมกับ ว.เจ้าของเช็ค
โดยการให้คำรับรองด้วยข้อความอันเป็นเท็จต่อผู้เสียหายมาแต่ต้น
จนผู้เสียหายหลงเชื่อยอมมอบข้าวเปลือกให้แก่จำเลย จำเลยจึงมีความผิดฐานร่วมกับพวกฉ้อโกงโจทก์
-
คำพิพากษาฎีกาที่ 19/2541
แม้ขณะจำเลยทำสัญญาขายไม้ไข่เขียวให้แก่โจทก์ร่วม
จำเลยจะไม่ใช่ผู้รับสัมปทานทำไม้ในอ่างเก็บน้ำป่าพยอมโดยตรงตามที่อ้างต่อโจทก์ร่วมก็ตาม
แต่จำเลยก็ได้เข้าทำไม้และทำสัญญาซื้อไม้ไข่เขียวจากองค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ไว้
พอที่จะขายให้แก่โจทก์ร่วม ตามจำนวนที่ตกลงซื้อไว้แล้ว
การที่จำเลยตกลงทำสัญญาขายไม้ไข่เขียวให้โจทก์ร่วม
รับเงินค่าไม้ไปจากโจทก์ร่วมและส่งไม้ให้โจทก์ร่วมเพียง 2 ครั้ง
ไม้ครบถ้วนตามสัญญา จึงเป็นเรื่องผิดสัญญาทางแพ่ง มิใช่ความผิดฐานฉ้อโกง
-
คำพิพากษาฎีกาที่ 935/2542
แม้ที่ดินและบ้านจะติดจำนองอยู่แต่กรรมสิทธิ์ก็ยังคงเป็นของจำเลย
ซึ่งหากผู้เสียหายถือว่าเรื่องดังกล่าว
เป็นเงื่อนไขสำคัญในการตัดสินใจที่จะซื้อหรือไม่แล้ว
ก็ย่อมสามารถตรวจสอบได้จากหลักฐานทางทะเบียนที่สำนักงานที่ดิน แต่กลับไม่ตรวจสอบ
หลังจากทำสัญญาแล้ว
ผู้เสียหายก็เข้าอาศัยอยู่ในบ้านพิพาทตลอดมาโดยความยินยอมของจำเลย ทั้งๆ
ที่ยังชำระราคาไม่ครบ ได้ความว่าผู้เสียหายได้นำเงินส่วนที่เหลือ 150,000 บาท
ไปชำระให้จำเลย
แต่จำเลยไม่ยอมรับเงินโดยจำเลยอ้างว่าที่ดินอยู่ระหว่างแบ่งแยกยังไม่สามารถโอนให้ได้จึงไม่รับเงิน
ซึ่งผู้เสียหายก็รับว่า ถ้าจำเลยไถ่ถอนจำนองได้
ผู้เสียหายเข้าใจว่าจำเลยจะโอนกรรมสิทธิ์บ้าน และที่ดินให้แก้ผู้เสียหาย
จากพฤติการณ์แห่งคดีดังกล่าว
จึงยังฟังไม่ถนัดว่าจำเลยมีเจตนาหลอกลวงผู้เสียหายเพื่อประสงค์เอาเงิน
มิฉะนั้นแล้วคงต้องรับเงินส่วนที่เหลือนั้นแน่นอน
กรณีน่าเชื่อว่าจำเลยยังไม่สามารถนำเงินไปไถ่ถอนที่ดินแปลงใหญ่ทั้งแปลง
และแบ่งแยกเพื่อโอนกรรมสิทธิ์ให้ผู้เสียหายได้
กรณีเป็นเรื่องพิพาทกันในทางแพ่งเท่านั้น ยังฟังไม่ได้ว่าจำเลยกระทำผิดฐานฉ้อโกง
-
คำพิพากษาฎีกาที่ 3677/2542
จำเลยขอกู้เงินจากผู้เสียหายโดยหลอกลวงว่าเป็นเจ้าของที่ดินมีบ้าน
เป็นประกันเงินกู้ ต่อมาโดยการหลอกลวงของจำเลย
ผู้เสียหายได้ยอมรับเอาที่ดินดังกล่าวหักกลบลบหนี้กับเงินกู้ยืม
โดยจดทะเบียนไถ่ถอนจำนองบ้านและที่ดิน
แล้วทำเป็นสัญญาซื้อขายระหว่างผู้เสียหายกับจำเลย ทำให้จำเลยหลุดพ้นจากหนี้สินทั้งหมด
การกระทำของจำเลยในครั้งหลังไม่ได้มีการกล่าวข้อความหลอกลวงใด ๆ ขึ้นใหม่ เป็นเพียงผลต่อเนื่องจากการกระทำครั้งแรก
โดยมีเจตนาอันเดียวกันเพื่อให้ได้รับเงินที่กู้ยืมไปจากผู้เสียหาย
การกระทำของจำเลยถึงจะต่างวาระกันก็เป็นความผิดกรรมเดียว
1 ความคิดเห็น:
คุณต้องการสินเชื่อส่วนบุคคลหรือธุรกิจโดยไม่มีความเครียดและได้รับการอนุมัติอย่างรวดเร็วหรือไม่? ถ้าใช่ติดต่อเราวันนี้เพราะเรากำลังเสนอสินเชื่อด้วยอัตราดอกเบี้ยที่ยอดเยี่ยม เงินกู้ของเรามีความปลอดภัยและปลอดภัยสำหรับข้อมูลเพิ่มเติมและการสมัครโปรดตอบกลับอีเมลนี้ (georgeanderson.loanfirm255@gmail.com)
ข้อเสนอเงินกู้.
แสดงความคิดเห็น