ค้นหาบล็อกนี้

วันเสาร์ที่ 10 กันยายน พ.ศ. 2554

อาญา มาตรา ๓๖๒ - ๓๖๖



         หมวด 8               ความผิดฐานบุกรุก

          มาตรา 362      ผู้ใด เข้าไปในอสังหาริมทรัพย์ของผู้อื่น เพื่อถือการครอบครองอสังหาริมทรัพย์นั้นทั้งหมด หรือแต่บางส่วน หรือเข้าไปกระทำการใดๆ อันเป็นการ รบกวนการครอบครองอสังหาริมทรัพย์ของเขาโดยปกติสุข ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

-          ลักษณะความผิด
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 2718/2538 ความผิดฐานบุกรุกตาม ป.อ. มาตรา 362 ตอนแรก เป็นการรบกวนกรรมสิทธิ์ ตอนที่สองเป็นการรบกวนการครอบครอง และทั้งสองตอนนั้น ต้องเป็นการกระทำต่อสิทธิครอบครอง หรือกรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์ของผู้อื่นโดยปกติสุข ผู้เสียหายเป็นเพียงผู้ได้สิทธิทำกินในที่พิพาท ซึ่งอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ อันเป็นทรัพย์สินของแผ่นดินซึ่งสงวนไว้เพื่อประโยชน์ร่วมกัน ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1304 วรรคแรก หาใช่เจ้าของผู้มีสิทธิครอบครองหรือกรรมสิทธิ์ในที่พิพาทไม่ เมื่อขณะนั้นจำเลยได้เข้ายึดถือทำกินในที่พิพาทอยู่ก่อนแล้ว แม้จำเลยได้นำรถเข้าไปไถดิน และครอบครองทำประโยชน์ในที่พิพาท ก็ไม่ผิดฐานบุกรุก
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 4911/2541 ความผิดฐานบุกรุกตาม ป.อ. มาตรา 365 (2) , (3) ประกอบ มาตรา 362 กฎหมายมุ่งลงโทษผู้ที่บุกรุกเข้าไปในอสังหาริมทรัพย์ของผู้อื่น ไม่ใช่เป็นบทบัญญัติที่จะลงโทษผู้บุกรุกที่สาธารณสมบัติของแผ่นดินแต่อย่างใด / ส่วนการกระทำอันเป็นการฝ่าฝืน ป.ที่ดิน มาตรา 9 (1) และมีโทษตามมาตรา 108 ทวิ วรรคสอง นั้น จะต้องเป็นการฝ่าฝืนนับแต่วันที่ประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 96 ใช้บังคับ คือวันที่ 4 มีนาคม 2515 เป็นต้นไป เมื่อพยานหลักฐานโจทก์ไม่มีน้ำหนักเพียงพอที่จะฟังว่า จำเลยที่ 1 ได้เข้าไปยึดถือครอบครองที่ดินสาธารณประโยชน์ภายหลังวันที่ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 96 มีผลใช้บังคับ จึงไม่อาจลงโทษจำเลยที่ 1 ตาม ป.ที่ดิน มาตรา 9(1) ประกอบมาตรา 108ทวิ วรรคสอง ได้

-          เจตนา
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 3060/2525 จำเลยสร้างรั้วในที่ดินพิพาทก่อนที่ข้อเท็จจริง  จะปรากฏแน่นอนจากการรังวัดสอบเขตโฉนดของโจทก์ร่วมว่าที่ดินส่วนที่เป็นรั้วอยู่ในเขตที่ดินของโจทก์ร่วม เป็นเรื่องเข้าใจว่ากระทำลงไปในที่ดินของจำเลย จึงขาดเจตนากระทำความผิด ไม่เป็นความผิดฐานบุกรุก จำเลยเพียงแต่เอาดินลูกรังมาถมทางเดินเดิม ซึ่งเป็นคันนาเกลือ ไม่มีรั้วหรือสิ่งใดปิดกั้นห้ามเดินผ่าน เป็นการกระทำ โดยเจตนาใช้เป็นทางเดินออกไปสู่ถนนใหญ่เท่านั้น ยังถือไม่ได้ว่าจำเลยเจตนายึดถือการครอบครองที่ดินของโจทก์ร่วมอันเป็นความผิดฐานบุกรุก
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 3115/2526 เจ้าของห้องแถวสั่งให้จำเลย 3 คนซึ่งเป็นลูกจ้างรื้อหลังคา และตัดส่วนที่เป็นกันสาดของห้องแถวที่เกิดเหตุโดยอยู่ในที่เกิดเหตุและอำนวยการด้วย ผู้เสียหายซึ่งเป็นผู้เช่า ก็อยู่ในห้องแถวที่เกิดเหตุ โดยไม่ได้ทักท้วงห้ามปรามอย่างใด ย่อมเป็นเหตุให้จำเลยเชื่อโดยสุจริตว่าเจ้าของห้องแถว มีอำนาจโดยชอบด้วยกฎหมาย ที่จะสั่งการให้จำเลยกระทำการดังกล่าวได้ การกระทำของจำเลยจึงขาดเจตนาที่จะกระทำความผิดฐานบุกรุก ไม่เป็นความผิดตาม ป.อ. ม.362,365
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 2264/2538 จำเลยทั้งสองเข้าไปปักเสาขึงลวดหนาม และจำเลยที่ 2 ปลูกต้นไม้ในที่ดินพิพาทซึ่งโจทก์จำเลยทั้งสองโต้แย้งสิทธิกัน และต่างฟ้องคดีแพ่งอ้างว่าตนมีสิทธิครอบครอง โดยเข้าใจว่าที่ดินพิพาทเป็นของจำเลยที่ 2 จำเลยทั้งสองจึงไม่มีเจตนาบุกรุกตาม ป.อ.มาตรา 362
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 6506/2542 จำเลยเข้าไปบ้านของผู้เสียหายที่ 1 เพราะต้องการจะไปหา ส. ซึ่งเป็นภริยาและบุตรของจำเลยซึ่งเพิ่งคลอดจาก ส. แม้ ม. จะห้ามไม่ให้เข้าบ้านโดยอ้างว่า ส. ไม่อยู่ จำเลยก็ไม่ยอมฟัง เพราะจำเลยไม่เชื่อว่า ส. จะไม่อยู่ในบ้านดังกล่าว การที่จำเลยเข้าไปในบ้านของผู้เสียหายที่ 1 จึงมีเหตุอันสมควร เพื่อต้องการไปหาภริยาและบุตรของจำเลย จำเลยไม่มีเจตนาบุกรุก (โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 362, 364, 365)
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 7563/2542 การที่ศาลออกคำบังคับให้โจทก์ปฏิบัติตามคำพิพากษา จนมีการจดทะเบียนภาระจำยอมให้แก่จำเลยที่ 1 ย่อมเป็นเหตุผลให้จำเลยทั้งสองเชื่อโดยสุจริตว่า จำเลยที่ 1 มีสิทธิใช้ที่ดินของโจทก์ เป็นทางภาระจำยอมเข้าออกสู่ที่ดินของจำเลยที่ 1 ได้ และมีเหตุผลให้เข้าใจไปได้ว่า การที่โจทก์ยังคงขัดขืนเพิกเฉยไม่ยอมรื้อรั้ว เป็นการจงใจไม่ปฏิบัติตามคำบังคับของศาล การที่จำเลยทั้งสองกับพวกเข้ากับพวกที่เข้าไปในที่ดินของโจทก์ เพื่อรื้อถอนรั้วออกจึงเป็นการเข้าไป โดยเชื่อว่าตนเองมีสิทธิใช้ที่ดินของโจทก์ เป็นทางเข้าออกตามคำพิพากษา หาใช่เป็นการเข้าไปโดยลุอำนาจ โดยมีเจตนารบกวนการครอบครองที่ดินของโจทก์โดยปกติสุขไม่ ฟังไม่ได้ว่าจำเลยทั้งสองมีเจตนาบุกรุกที่ดินของโจทก์

-          “เข้าไป” ในอสังหาริมทรัพย์ของผู้อื่น
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 1/2512 แม้ห้องพิพาทจะเป็นอสังหาริมทรัพย์ของจำเลย แต่เมื่อโจทก์ยังครอบครองอสังหาริมทรัพย์นั้นและยังโต้แย้งสิทธิตามสัญญาเช่าอยู่ ถ้าจำเลยเข้าไปกระทำการใดๆ อันเป็นการรบกวนการครอบครองของโจทก์โดยปกติสุข จำเลยก็มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 362 ได้ / การที่จำเลยใช้ไม้กระดานตีขวางทับประตูห้องที่โจทก์ครอบครองในขณะที่โจทก์ไม่อยู่และปิดห้องไว้ ทำให้โจทก์เข้าอยู่ในห้องไม่ได้เป็นการล่วงล้ำเข้าไปในอำนาจการครอบครองของโจทก์ถือได้ว่าเข้าไปกระทำการรบกวนการครอบครองของโจทก์โดยปกติสุขตาม ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 362 แล้ว (ประชุมใหญ่ครั้งที่ 29/2511) (หนังสือ กฎหมายอาญา ภาค 3 อาจารย์จิตติ ติงศภัทิย์ พิมพ์ครั้งที่ 5 พ.ศ.2539 หน้า 2786 ท่านศาสตราจารย์จิตติฯ เห็นว่า กฎหมายมิได้บัญญัติองค์ความผิดเฉพาะการรบกวนการครองครองเท่านั้น หากต้อง เข้าไปกระทำการ อันเป็นการรบกวนนั้นด้วย ไม่มีทางที่จะเข้าใจได้เลยว่าการที่จำเลยมิได้เข้าไปในอสังหาริมทรัพย์ คือ ห้องที่โจทก์ครอบครอง เพียงแต่จำเลยอยู่นอกห้อง แล้วเอาไม้ตอกตะปูปิดห้อง เป็นการเข้าไปได้อย่างไร จะถือเอาว่ากระทำเพียงแค่นี้เป็นการเข้าไป ย่อมเป็นการตีความเกินตัวบท...)
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 363/2518 โจทก์เช่าบ้านของ ส.ต่อมาถูก ส.ฟ้องขับไล่ ศาลล่างทั้งสองพิพากษาขับไล่โจทก์ แต่โจทก์มิได้รับทราบคำบังคับของศาลที่ให้โจทก์ออกจากบ้านใน 1 เดือน โจทก์ฎีกา ระหว่างฎีกาโจทก์ไปต่างจังหวัดใส่กุญแจบ้าน และฝากเพื่อนบ้านให้ดูแล จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นสามี ส.ให้จำเลยที่ 2 ตัดหูร้อยกุญแจบ้านออก และให้จำเลยที่ 2 เข้าไปอาศัยในบ้าน เมื่อโจทก์ยังไม่ทราบคำบังคับ โจทก์ก็ยังมีสิทธิอยู่ในบ้านพิพาท ซึ่งโจทก์ยังครอบครองอยู่ จำเลยเป็นผู้ใช้ให้บุกรุกตามมาตรา 362,84 โจทก์เป็นผู้เสียหายมีอำนาจฟ้องจำเลยในความผิดฐานบุกรุก
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 1876/2519 จำเลยฟ้องคดีแพ่งว่า ม.บุกรุกที่ดินของจำเลยศาลพิพากษาว่าที่พิพาทเป็นของจำเลยแต่ ม.แย่งการครอบครองไปแล้ว คงเป็นของจำเลย 15 ไร่ ระหว่างฎีกาจำเลยจ้างคนเข้าหยอดปอในส่วนที่ศาลพิพากษาว่าเป็นของ ม. ไปแล้ว ศาลพิพากษายกฟ้องคดีที่หาว่าจำเลยบุกรุก เมื่อคดีแพ่งยุติลงว่าที่ดินเป็นของจำเลย 15 ไร่ แล้วจำเลยจ้างคนเข้าไถที่ดินที่เป็นส่วนของ ม.อีก ดังนี้จำเลยเข้าครอบครองที่พิพาท ตั้งแต่เข้าหยอดปอ ซึ่งศาลพิพากษายกฟ้องฐานบุกรุกไปแล้ว จำเลยยังไม่สละการครอบครอง มิใช่เข้าไปไถนา เป็นการเข้าไปแย่งครอบครองใหม่ ไม่เป็นบุกรุก
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 1833/2523 การเช่าของจำเลยเป็นการเช่ารายวัน พอสิ้นวันหนึ่ง ๆ จำเลยก็ได้ออกไปจากตลาด การครอบครองของจำเลยจึงสิ้นสุดลงเป็นวัน ๆ เมื่อผู้เสียหายไม่ยอมให้จำเลยเข้าไปขายของในตลาดอีก จำเลยยังขืนเข้าไปจึงเป็นความผิดฐานบุกรุกตาม ป.อ.ม.362 จำเลยเข็นรถเข้าไปขายของตามทางเดิน อันเป็นส่วนหนึ่งของตลาด เจ้าของตลาดเป็นผู้เสียหาย
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 467/2540 นับจากวันที่โจทก์ร่วมซื้อที่ดินพิพาทจากกรมที่ดิน โจทก์ร่วมคงมีสิทธิเป็นเจ้าของที่ดินพิพาทเท่านั้น เมื่อโจทก์ร่วมยังมิได้เข้าไปทำประโยชน์ในที่ดินพิพาท กรณีถือไม่ได้ว่าโจทก์ร่วมเข้าไปยึดถือที่ดินพิพาท โจทก์ร่วมจึงไม่มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทแต่อย่างใด ปรากฏว่าจำเลยทั้งสองร่วมกันครอบครองที่ดินพิพาทมาก่อน ทั้งจำเลยที่ 1 ได้แสดงความเป็นเจ้าของ โดยทำเป็นหนังสือคัดค้านการนำที่ดินพิพาทไปออก น.ส.3 และขายให้แก่ผู้อื่น ดังนั้น การกระทำของจำเลยทั้งสองที่เข้าไปถากถางทำประโยชน์ในที่ดินพิพาท จึงไม่เป็นความผิดฐานบุกรุก
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 2768/2540 การที่จำเลยกระชากลากผู้เสียหายออกมาจากบริเวณที่ผู้เสียหายยืนอยู่ใต้ชายคาบ้านของผู้เสียหาย แม้จำเลยจะยืนอยู่นอกบริเวณบ้านของผู้เสียหาย แต่จำเลยก็จะต้องเอื้อมมือเข้าไปภายในบริเวณบ้านของผู้เสียหาย เพื่อจับและฉุดกระชากลากตัวผู้เสียหายออกไป การเอื้อมมือเข้าไปฉุดกระชากฉากตัวผู้เสียหายออกไปในลักษณะนี้ ถือได้ว่าจำเลยเข้าไปกระทำการใดๆ อันเป็นการรบกวนการครอบครองอสังหาริมทรัพย์ของผู้เสียหายโดยปกติสุด โดยใช้กำลังประทุษร้าย เข้าองค์ประกอบแห่งความผิดฐานบุกรุกตาม ป.อ. มาตรา 362 และมาตรา 365 (1) แล้ว
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 3523/2541 องค์ประกอบความผิดฐานบุกรุกตาม ป.อ. มาตรา 362 นั้น ผู้กระทำผิดต้องเข้าไปในอสังหาริมทรัพย์ การที่จำเลยทั้งสองใช้ขวดขว้างและใช้มีดฟันประตูห้องพักผู้เสียหายทั้งสอง กับได้เรียกผู้เสียหายทั้งสองออกมาพูดคุยและขู่จะฆ่าผู้เสียหายทั้งสอง โดยที่จำเลยทั้งสองไม่ได้เข้าไปในห้องพักของผู้เสียหายทั้งสอง จึงขาดองค์ประกอบความผิดตาม ป.อ. มาตรา 362 จำเลยทั้งสองไม่มีความผิดฐานบุกรุก  (& ผู้ต้องหา ใช้มีดฟันประตูห้องพักผู้เสียหาย โดยไม่มีการ เข้าไป ในอสังหาริมทรัพย์ จึงขาดองค์ประกอบความผิด)

-          อสังหาริมทรัพย์ของผู้อื่น
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 163/2523 แผงลอยโดยสภาพทั่วไปเป็นสังหาริมทรัพย์ โจทก์ไม่บรรยายฟ้องว่าทรัพย์ที่จำเลยรบกวนเป็นอสังหาริมทรัพย์ กล่าวเพียงว่าจำเลยรบกวนการครอบครองแผงลอย โดยทำรั้วปิดกั้น ทำให้โจทก์เข้าไปทำการค้าในแผงลอยไม่ได้ ไม่ครบองค์ความผิดบุกรุกอสังหาริมทรัพย์ตาม ป.อ.ม.362
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 1129/2526 ตามสัญญาเช่าระบุว่าเช่าตู้ใส่สินค้า การระบุบริเวณที่ตั้งตู้ก็เพื่อให้รู้ว่าตู้ที่เช่ากันเป็นตู้ใบไหน และบังคับมิให้ผู้เช่าเคลื่อนย้ายตู้นั้นไปที่อื่นอันจะทำให้ยากแก่ผู้ให้เช่าจะควบคุมดูแลรักษา หาใช่แสดงว่าเป็นการเช่าพื้นที่ที่ตั้งตู้ใส่สินค้าไม่ พื้นที่ที่ตั้งตู้ จึงคงอยู่ในความครอบครองของผู้ให้เช่า ซึ่งมีอำนาจที่จะเข้าไปหรือใช้ให้บุคคลอื่นเข้าไปได้ ไม่เป็นความผิดฐานบุกรุกตาม ป.อ.ม.362
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 3820/2526 แผลลอยพิพาทอยู่ในตลาดซึ่งเป็นที่ขายของจำพวกอาหาร มีลักษณะเป็นพื้นและฝากั้นแบ่งเป็นช่อง ๆ ซึ่งเป็นที่วางของขายบนพื้นดิน ประกอบกับคำฟ้องของโจทก์บรรยายว่าจำเลยทั้งสี่ร่วมกันขนสินค้าเข้าไปขายในที่พิพาทอีก อันเป็นการรบกรวนการครอบครองอสังหาริมทรัพย์ของโจทก์ ฉะนั้นแผงลอยพิพาทตามฟ้อง จึงหมายถึงพื้นดินอันเป็นที่ตั้งของแผลลอย จึงเป็นอสังหาริมทรัพย์ มิใช่แผงลอยทั่ว ๆ ไป
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 69/2535 (สบฎ เน 1) ภายในบ้าน ส่วนที่ใช้สำหรับให้บุคคลทั่วไป เข้าไปสั่งซื้อและรับประทานอาหารถือได้ว่าเป็นสาธารณสถาน จำเลยที่ 2-3 เป็นตำรวจมีความชอบธรรมที่จะเข้าไปได้ การเข้าไปจับกุมผู้กระทำผิดฐานค้าประเวณี ไม่ผิดฐานบุกรุก
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 5616/2539 ความผิดตาม ปอ ม 362, 365 กฎหมายมุ่งประสงค์ลงโทษผู้บุกรุกอสังหาริมทรัพย์ ของผู้อื่นเท่านั้นไม่ใช่บทบัญญัติที่จะลงโทษผู้บุกรุก ที่สาธารณสมบัติของแผ่นดินซึ่งบัญญัติไว้ โดยเฉพาะตาม ป.ที่ดิน ม 9, 108 ทวิ ว 2

-          เพื่อถือการครอบครอง
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 1907/2517 เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่าจำเลยเข้าไปในบ้าน อันเป็นอสังหาริมทรัพย์ของโจทก์ เพื่อถือการครอบครองบ้านนั้น ย่อมเป็นความผิดตาม มาตรา 362 กรณีไม่จำต้องปรับบทด้วยมาตรา 364 อีก
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 2244/2532 ความผิดฐานบุกรุกตาม ป.อ.มาตรา 362 นั้น ต้องเป็นการเข้าไปในอสังหาริมทรัพย์ของผู้อื่น เพื่อถือการครอบครองอสังหาริมทรัพย์นั้น หรือเข้าไปกระทำการใดๆ อันเป็นการรบกวนการครอบครองอสังหาริมทรัพย์ของผู้อื่นโดยปกติสุข จำเลยเข้าไปปลูกสร้างบ้านในที่พิพาท โดยความยินยอมของเจ้าของเดิม ก่อนโจทก์รับโอนกรรมสิทธิ์ที่พิพาทมา หาใช่จำเลยเพิ่งเข้าไปครอบครองที่พิพาท เมื่อโจทก์รับโอนกรรมสิทธิ์ที่พิพาทแล้วไม่ การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดตามมาตรา 362
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 446/2535 จำเลยบุกรุกไปในที่ดินที่โจทก์มีสิทธิครอบครอง โดยนำรถแทรกเตอร์เข้าไปไถโค่น เผาต้นยางพาราและขนุนของโจทก์ที่ปลูกไว้ในที่ดินดังกล่าวเสียหายแล้วจำเลยได้ทำการปลูกต้นมะพร้าว ต้นยางพารา ต้นมะม่วงหิมพานต์ลงในที่ดินดังกล่าวแทน ถือว่าการกระทำของจำเลยเป็นการต่อเนื่องกัน โดยจำเลยมีเจตนาถือการครอบครองที่ดินของโจทก์ และทำให้ทรัพย์สินของโจทก์ในที่ดินดังกล่าวเสียหายในคราวเดียวกัน การกระทำของจำเลยจึงเป็นกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 1180/2541 ข้อเท็จจริงที่ น.ส.3 มิได้มีการเพิกถอนตามที่ได้ร้องเรียน จำเลยที่ 2 ถึงที่ 13 ได้ทราบดีอยู่แล้ว หากจำเลยที่ 2 ถึงที่ 13 ไม่ยอมรับสิทธิของโจทก์ร่วมที่พึงมีในที่พิพาทตามเอกสารราชการที่ยังมีผลอยู่ตามกฎหมาย ก็พึงดำเนินการใช้สิทธิของตนฟ้องร้องเป็นคดีขึ้นสู่ศาลได้ต่อไปตามขั้นตอนอันชอบด้วยกฎหมาย แต่จำเลยที่ 2 ถึงที่ 13 กลับเลือกวิธีการเข้าไปปลูกต้นสักในที่ดินพิพาทโดยพลการ เป็นการกระทำที่ไม่อาจอ้างเป็นการสุจริตได้ จึงมีความผิดตาม ป.อ.มาตรา 365 (2) ประกอบ 83, 362

-          กระทำการใดๆ อันเป็นการ รบกวนการครอบครอง
-          ถ้อยคำใน ป... มาตรา 1367 บุคคลใด ยึดถือทรัพย์สินโดย เจตนาจะยึดถือเพื่อตนท่านว่าบุคคลนั้นได้ซึ่งสิทธิครอบครอง / สิทธิครอบครองนี้ มีองค์ประกอบสองส่วน คือ ได้ยึดถือทรัพย์” (อาจมีผู้ยึดถือแทน มาตรา 1368) และ มีเจตนายึดถือเพื่อตน” / คำว่า ยึดถือเพื่อตนหมายถึง ยึดถือเพื่อประโยชน์แก่ตนโดยไม่ต้องถึงกับ เจตนายึดถืออย่างเป็นเจ้าของซึ่งต่างกับ การยึดถือทรัพย์ผู้อื่น เพื่อครอบครองปรปักษ์ ตาม มาตรา 1382 ซึ่งต้องครอบครอง ด้วยเจตนาเป็นเจ้าของ” / ผู้เช่าซึ่งได้เข้าครอบครองทรัพย์แล้ว ตามสัญญาเช่า ก็มีสิทธิครอบครอง เพราะผู้เช่าเข้ายึดถือทรัพย์ เพื่อใช้สอยเป็นประโยชน์แก่ผู้เช่าเอง และสิทธิครอบครองนี้ เป็นทรัพยสิทธิอันใช้อ้างต่อบุคคลภายนอกได้ ดังนี้ ผู้เช่าอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งเข้าครอบครองแล้ว จึงฟ้องขับไล่บุคคลภายนอกที่มาบุกรุก ได้โดยอาศัยสิทธิครอบครองของผู้เช่าเอง แต่หากผู้เช่ายังไม่ได้เข้าครอบครอง ยังไม่มีทรัพยสิทธิใดอันจะอ้างแก่บุคคลภายนอก คงมีเพียงบุคคลสิทธิตามสัญญา ที่อ้างได้ต่อผู้ให้เช่าเท่านั้น จึงไม่อาจฟ้องผู้บุกรุกโดยอาศัยสิทธิของตน แต่ผู้เช่าอาจขอให้ศาล เรียกผู้ให้เช่าเข้ามาเป็นโจทก์ร่วม ได้ ตาม มาตรา 233 , 477 ประกอบมาตรา 549 อันเป็นการใช้สิทธิของเจ้าของทรัพย์สิน ซึ่งเป็นผู้ให้เช่า ฎ 1053/2509 , 736/2518 , 3749/2537 )
-          ถ้อยคำตาม ป.. มาตรา 362 การเข้าไปในอสังหาริมทรัพย์อื่น กระทำการใด อันเป็นการรบกวนการครอบครองของเขาโดยปกติสุข จึงควรหมายถึง การรบกวนสิทธิครอบครอง (ทั้งสององค์ประกอบ ตาม ป... มาตรา 1367) คือ เข้าไปในอสังหาริมทรัพย์เพื่อยึดถือ และมีเจตนายึดถือเพื่อใช้ประโยชน์แก่ตนเอง โดยอ้างสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใด รบกวนสิทธิของผู้ครอบครองอสังหาริมทรัพย์ / มิใช่การเข้าไปในอสังหาริมทรัพย์ โดยมิได้อ้างสิทธิใด ๆ แต่กระทำไปโดยไม่มีเหตุอันสมควร เช่นเข้าทำร้ายคน หรือเข้าไปลักทรัพย์ในเคหสถาน อันจะเป็นความผิดตาม มาตรา 364 (ฎ 144/2513 , ฎ 246/2515 , ฎ 2824/2535 , ฎ 1408/2536 วินิจฉัยตามแนวเหตุผลนี้ และ ฎ2415/2545 วินิจฉัยไว้ค่อนข้างชัด ส่วน ฎ 1980/2514 , ฎ 1259/2519 , 2786/2540 อาจวินิจฉัย ด้วยเหตุผลว่า การรบกวนการครอบครองของเขาโดยปกติสุข หมายถึง การกระทำทุกอย่าง ที่ทำให้ผู้ครอบครอง ถูกกระทบสิทธิ อันเกี่ยวกับการใช้สอย หรือครอบครองทรัพย์ตามปกติ)

-          คำพิพากษาฎีกาที่ 1402/2512 (สบฎ เน 2120) จำเลยสละการครอบครองให้แก่ผู้เสียหาย เพื่อตีใช้หนี้แล้ว การยกที่ดินและบ้านตีใช้หนี้จะสมบูรณ์ตามกฎหมายหรือไม่ก็ตาม หากจำเลยเห็นว่าผู้เสียหายไม่มีสิทธิในทรัพย์พิพาท ก็ชอบที่จะดำเนินการตามกฎหมาย ไม่มีอำนาจเข้าไปรบกวนการครอบครอง เมื่อ "จำเลยยังขืนเข้าไปอาศัย" ก็เป็นการรบกวนการครอบครอง ผิด ม 362
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 144/2513 จำเลยกับพวกวิ่งไล่ผู้เสียหายเข้าไปในนาของผู้เสียหาย โดยจะใช้อาวุธปืนยิงผู้เสียหาย ถือได้เพียงว่าจำเลยกับพวกมีเจตนาเข้าไปในนาของผู้เสียหาย เพื่อจะทำร้ายผู้เสียหาย หาใช่เพื่อรบกวนการครอบครองที่นาของผู้เสียหายไม่ การกระทำของจำเลยดังกล่าวจึงไม่ครบองค์ความผิดฐานบุกรุก ตาม มาตรา 362, 365
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 246/2515 การที่จำเลยกับพวกเข้าค้นเรือนโจทก์อันเป็นที่รโหฐาน โดยไม่มีหมายค้น และผู้ที่เฝ้าเรือนนั้นอยู่ก็ได้ห้ามปรามแล้ว แต่จำเลยไม่เชื่อกลับขัดขืนและพากันเข้าค้น เช่นนี้ ถือว่าจำเลยมีเจตนาเข้าไปในเคหสถานในความครอบครองของผู้อื่นโดยไม่มีเหตุอันสมควร อันเป็นความผิดตาม ป. อาญามาตรา 364 แต่ไม่ถือว่าจำเลยมีเจตนารบกวนการครอบครองอสังหาริมทรัพย์ของเขาโดยปกติสุขตามมาตรา 362 จำเลยเป็นผู้ใหญ่บ้านและผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านได้เข้าค้นเรือนโจทก์เพื่อหาไม้ที่หาย โดยไม่ได้ความแน่ชัดว่าไม้ที่หายนั้นอยู่ในเรือนโจทก์ กรณีไม่เข้าข้อยกเว้นตาม ป.วิ. อาญา มาตรา 92 (4) (5) ที่จะค้นได้โดยไม่ต้องมีหมายค้น
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 1561/2515 จำเลยเข้าไปในบ้านผู้เสียหาย เพื่อพูดกับผู้เสียหาย ถึงการรื้อบ้านของผู้เสียหาย ซึ่งปลูกอยู่ในที่ดินที่ผู้เสียหายกับจำเลยตกลงกันให้จำเลยซื้อคืนดังนี้ ถือไม่ได้ว่าจำเลยเข้าไปโดยไม่มีเหตุอันสมควร โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยบุกรุกเข้าไปในบ้านอันเป็นเคหสถานของผู้เสียหาย และใช้ปืนบังคับขู่ว่าจะยิงทำร้ายร่างกายผู้เสียหาย อันเป็นการรบกวนการครอบครองอสังหาริมทรัพย์ของผู้เสียหายโดยปกติสุข ดังนี้แสดงว่าจำเลยมีเจตนาทำร้ายร่างกายผู้เสียหาย จะถือว่าจำเลยกระทำการอันเป็นการรบกวนการครอบครองอสังหาริมทรัพย์ไม่ได้
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 2347/2515 จำเลยเป็นเจ้าของ เคยฟ้องขับไล่ ต.และภริยาของ ต. ต. แถลงรับว่าจะไม่ไปเกี่ยวข้องกับห้องพิพาทต่อไป ต่อมาจำเลยเข้าไปรื้อห้องพิพาทภริยาและบุตรของ ต. ได้มาฟ้องหาว่าจำเลยบุกรุกและทำให้เสียทรัพย์ เมื่อปรากฏว่า ต. ยอมออกจากห้องพิพาท ภริยาและบุตรของ ต. จึงไม่มีสิทธิอันใดในห้องพิพาท ที่ภริยาและบุตรของ ต. เข้าไปอยู่ในห้องพิพาทหลังจาก ต.รับว่าไม่เกี่ยวข้องกับห้องพิพาทต่อไป เป็นการเข้าไปอยู่โดยละเมิด ไม่มีสิทธิครอบครอง และไม่มีการครอบครองตามความใน ป. อาญา มาตรา 362 ความผิดฐานบุกรุกและทำให้เสียทรัพย์ต่อห้องพิพาท จึงไม่อาจเกิดแก่จำเลยได้
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 1260/2517 เจ้าพนักงานบังคับคดียึดอาคารของลูกหนี้ตามคำพิพากษา แล้วทำสัญญามอบหมายให้โจทก์ร่วมเป็นผู้รักษา โดยโจทก์ร่วมให้สัญญาว่าจะรักษาด้วยความระมัดระวังมิให้เสียหาย หรือเสื่อมคุณภาพและจะไม่เอาออกใช้สอย ถ้าเกิดความเสียหายหรือสูญหายจะชดใช้ราคาให้ แล้วโจทก์ร่วมใส่กุญแจห้อง ล่ามโซ่ใส่กุญแจอาคาร แม้มิได้เข้าไปอยู่ในตัวอาคาร ก็เป็นการครอบครองรักษาทรัพย์ตามสัญญาแล้ว เมื่อจำเลยเข้าไปรื้อห้อง ตกแต่งอาคารใหม่ และเปิดทำการค้าในอาคารนั้น จึงเป็นการเข้าไปกระทำการอันเป็นการรบกวนการครอบครองอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งโจทก์ร่วมครอบครองอยู่โดยปกติสุข และทำให้เสียทรัพย์ โจทก์ร่วมเป็นผู้เสียหายมีอำนาจร้องทุกข์กล่าวโทษจำเลยและมีอำนาจฟ้องฐานบุกรุกและทำให้เสียทรัพย์
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 1124/2518 จำเลยฟ้องขับไล่โจทก์ ศาลพิพากษาขับไล่โจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์สั่งยกคำร้องขออนาถาและให้นำค่าธรรมเนียมมาวางภายใน 20 วันโจทก์ไม่วางเงินตามกำหนด คดีถึงที่สุดเมื่อครบกำหนด 20 วัน และถือว่าโจทก์มีสิทธิครอบครองห้องแถวพิพาทอยู่ โดยชอบด้วยกฎหมายจนถึงวันนั้น ก่อนวันที่ว่านี้ จำเลยที่ 1 ไปที่ห้องและไล่โจทก์ออกจากห้อง เป็นมูลความผิด ป.อ.มาตรา 362 ได้ แต่ผู้ที่ไปกับโจทก์ และกล่าวเพียงว่า "ออกไปเสียเถอะหนู อยู่ไปจะลำบาก" ยังไม่เป็นการรบกวนการครอบครองตามมาตรา 362
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 1259/2519 จ.ใช้จำเลยที่ 1 ไปเอารถยนต์ที่ซื้อจากโจทก์ร่วม 2 คัน จำเลยทั้งสองพบโจทก์ร่วมและภริยานอกบ้าน จำเลยที่ 1 ฉุดโจทก์ร่วมลงจากรถ แล้วจำเลยทั้งสองเดินตามโจทก์ร่วมเข้าไปในบ้านของโจทก์ร่วมโดยพลการ จำเลยที่ 1 ได้งัดและเอาฆ้อนทุบกระจกหูช้างรถอีกคันหนึ่ง งัดแงะสายยู หรือบานพับที่ใส่กุญแจออกจากบานประตูใหญ่ เปิดประตูบ้านแล้วจำเลยทั้งสองช่วยกันเข็นรถออกไป ดังนี้ เป็นการที่จำเลยเข้าไปกระทำการรบกวนการครอบครองอสังหาริมทรัพย์ของโจทก์ร่วมโดยปกติสุข ตามที่บัญญัติไว้ใน ป.อ. มาตรา 362 และมีความผิดตาม มาตรา 365 (2) , 309 และ 358 (ไม่ตรงหลัก เรื่อง “รบกวนการครอบครอง”)
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 2304/2523 ศ. และจำเลยทั้งสองมีสาเหตุโกรธเคืองฟ้องร้องกันเรื่องเครื่องหมายการค้า จำเลยแจ้งนำกำลังตำรวจมาตรวจค้นบ้าน ศ. แล้วจำเลยรื้อค้นของภายในบ้าน โดยเจ้าพนักงานตำรวจผู้มีอำนาจค้นมิได้มอบหมายให้ช่วยเหลือ การกระทำของจำเลยจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย เมื่อ ศ. ออกปากไล่ จำเลยก็ไม่ยอมออกไป ถือได้ว่าเป็นการรบกวนการครอบครองอสังหาริมทรัพย์ของ ศ. โดยปกติสุข จำเลยจึงมีความผิดฐานบุกรุก ศาลลงโทษตาม ป.อ.ม.365 ไม่ต้องอ้าง ม.362
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 2566/2525 จำเลยซึ่งเป็นบุตรเจ้าของโรงเรียน ไม่มีหน้าที่อันใดในโรงเรียน ไปยืนอยู่หน้าห้อง ขัดขวางการประชุมครูของโจทก์ร่วมครูใหญ่และผู้จัดการโรงเรียน ซึ่งเช่าจากบิดาจำเลย ดังนี้ จำเลยมีความผิดตาม ป.อ.ม.362
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 3597/2531 จำเลยลักลอบเข้าไปในบ้านอันเป็นเคหสถานของผู้เสียหาย โดยมิได้มีการนัดหมายกับนางสาว ส.บุตรผู้เสียหาย แม้จำเลยจะเคยได้เสียกับนางสาว ส.มาก่อน แต่ก็ได้เลิกติดต่อกันมา 2 เดือนก่อนเกิดเหตุ ดังนี้การที่จำเลยถอดบานมุ้งลวด แล้วปีนเข้าไปในห้องนอนของนางสาว ส.กับรื้อค้นสิ่งของภายในห้องนั้น ถือได้ว่าจำเลยได้เข้าไปในอสังหาริมทรัพย์ของผู้เสียหาย อันเป็นการรบกวนการครอบครองอสังหาริมทรัพย์ของผู้เสียหายแล้ว กรณีมิใช่เป็นเรื่องที่จำเลยเข้าไปโดยถือวิสาสะ จำเลยจึงมีความผิดตาม มาตรา 362, 365(3)
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 1338/2532 จำเลยเข้าไปในโรงเรียน แม้จำเลยจะมีสิทธิเดินผ่านโรงเรียนได้ แต่การที่จำเลยเดินเข้าไปในบริเวณโรงเรียนในเวลากลางคืน จนไปถึงอาคารซึ่งไม่ใช่ทางผ่าน และฉีกถุงปูนซีเมนต์ที่เก็บไว้หน้าอาคาร แสดงให้เห็นว่า จำเลยมีเจตนาเข้าไปรบกวนการครอบครองอสังหาริมทรัพย์ของนางสมรครูใหญ่โดยปกติสุข จึงมีความผิดฐานบุกรุกตาม ป.อ. มาตรา 365 (3) ประกอบด้วย มาตรา 362
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 3104/2532 โจทก์ร่วมเป็นเจ้าของที่ดินทั้งแปลง โจทก์ร่วมสร้างตึกแถวซึ่งรวมทั้งตึกแถวซึ่งจำเลยที่ 2 ซื้อไปด้วย โดยเว้นที่ว่างด้านหน้าตึกแถว 5เมตร เพื่อเป็นทางเข้าออกจากถนนสุขุมวิทไปยังตึกแถวแต่ละห้อง โดยที่ดินหน้าตึกแถวยังเป็นของโจทก์ร่วมซึ่งจำเลยที่ 2 ผู้ซื้อตึกย่อมรู้แต่แรกแล้ว แม้จำเลยที่ 1 ที่ 2 จะมีสิทธิใช้ที่ดินหน้าตึกแถว ก็ต้องใช้ในขอบเขตสมควร การที่จำเลยที่ 2 เทปูนซีเมนต์ ตลอดจนกางเต็นท์และตั้งขายรถจักรยานยนต์ ในที่ดิน หน้าตึกแถวของโจทก์ร่วม เป็นการใช้สิทธิเกินขอบเขต เป็นการรบกวนการครอบครองอสังหาริมทรัพย์ของโจทก์ร่วมโดยปกติสุข จำเลยที่ 1 ที่ 2  มีความผิดฐานบุกรุก
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 2824/2535 จำเลยทั้งสองหาเรื่องชวนวิวาทและทำร้ายผู้เสียหาย ในเคหะสถานที่อยู่อาศัยของผู้เสียหาย จะถือเป็นการรบกวนการครอบครองอสังหาริมทรัพย์ของผู้เสียหายยังไม่ได้ จึงไม่เป็นความผิดตาม ป.อ.มาตรา 362 แต่การที่จำเลยทั้งสองเข้าไปทำร้ายผู้เสียหายในเคหสถานของผู้เสียหาย เป็นเหตุหนึ่งที่แสดงถึงความที่ไม่มีเหตุอันสมควรที่จะเข้าไปในเคหสถานของผู้เสียหาย อันเป็นองค์ประกอบความผิดฐานบุกรุก ตาม ป.อ.มาตรา 364
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 1408/2536 การที่จำเลยทั้งสองมีพร้าและปืนพกเป็นอาวุธติดตัว ได้ร่วมกันเข้าไปในบ้านผู้เสียหาย โดยจำเลยที่ 1 ถือพร้ายืนคุมเชิงอยู่ที่บันไดบ้าน จำเลยที่ 2 ใช้มีดกดคอผู้เสียหาย และใช้อาวุธปืนจี้ศีรษะผู้เสียหาย ขู่เข็ญว่าในทันใดนั้น จะยิงประทุษร้ายผู้เสียหายหากขัดขืนนั้น จะถือเป็นการรบกวนการครอบครองอสังหาริมทรัพย์ของผู้เสียหายยังไม่ได้ การกระทำของจำเลยทั้งสอง จึงไม่ผิดตามมาตรา 362 แต่การที่จำเลยทั้งสองเข้าไปในเวลากลางคืน และใช้อาวุธปืนจี้ศีรษะผู้เสียหาย เป็นเหตุหนึ่งที่แสดงถึงความที่ไม่มีเหตุอันสมควรที่จะเข้าไปในเคหสถานของผู้เสียหาย อันเป็นองค์ประกอบ ตาม มาตรา 364 อยู่ด้วย ฉะนั้น แม้โจทก์จะไม่ได้ขอให้ลงโทษตาม  มาตรา 364 แต่โจทก์บรรยายฟ้องว่าจำเลยทั้งสองเข้าไปในเคหสถานของผู้เสียหาย โดยไม่มีเหตุอันสมควร ข้อเท็จจริงฟังได้เช่นนี้ศาลมีอำนาจลงโทษตามมาตรา 364 ประกอบด้วยมาตรา 364 อันเป็นบทฉกรรจ์ได้
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 2024/2537 จำเลยขายสิทธิเช่าซื้อบ้านพิพาทให้โจทก์ และส่งมอบการครอบครองแล้ว โจทก์จึงเป็นผู้มีสิทธิครอบครองในบ้านพิพาท ดังนั้น การที่จำเลยไล่บุตรและน้องภรรยาของโจทก์ ซึ่งอาศัยสิทธิของโจทก์อยู่ในบ้านพิพาทออกไปโดยไม่มีสิทธิ และจำเลยได้ปิดประตูบ้านพิพาทใส่กุญแจไว้ เพื่อป้องกันมิให้โจทก์หรือคนของโจทก์เข้าไปในบ้าน โดยจำเลยไม่มีอำนาจที่จะกระทำได้ อันเป็นการรบกวนสิทธิครอบครองบ้านพิพาทของโจทก์โดยปกติสุข จำเลยจึงมีความผิดฐานบุกรุก
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 5588/2537 แม้ถนนที่เป็นทางเข้าออกของที่ดินของโจทก์จะอยู่ในเขตโฉนดที่ดินของจำเลยที่ 1 หรือไม่ก็ตาม จำเลยทั้งสองก็ไม่มีอำนาจโดยพล การที่จะนำไม้และสังกะสีไปตอกปิดกั้นประตูทางเข้าออกที่ดินของโจทก์ ทำให้โจทก์เข้าออกที่ดินของโจทก์ไม่ได้ เป็นการล่วงล้ำเข้าไปในอำนาจการครอบครองของโจทก์ ถือได้ว่าเป็นการเข้าไปกระทำการรบกวนการครอบครองอสังหาริมทรัพย์ของโจทก์โดยปกติสุข จำเลยทั้งสองจึงมีความผิดฐานบุกรุก
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 2786/2540 (สบฎ เน 42) จำเลยกระชากลากผู้เสียหาย ออกมาจากบริเวณที่ผู้เสียหายยืนอยู่ใต้ชายคาบ้านของผู้เสียหาย แม้จำเลยจะยืนอยู่นอกบริเวณบ้าน แต่ถือได้ว่าจำเลยเข้าไปกระทำการใดๆ อันเป็นการรบกวนการครอบครองอสังหาริมทรัพย์ของผู้เสียหายโดยปกติสุขโดยใช้กำลังประทุษร้าย ตาม ป.อ. มาตรา 362 และมาตรา 365 (1) แล้ว
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 815/2541 จำเลยนำรถจักรยานยนต์เข้าไปจอดและตั้งแสดงบนที่ดินของโจทก์ร่วม ที่อยู่ติดกับร้านขายรถจักรยานยนต์ของจำเลยเพื่อขายในเวลากลางวัน และนำเข้าเก็บรักษาในร้านในเวลากลางคืน เป็นการเคลื่อนย้ายรถจักรยานยนต์ ออกไปจากที่ดินของโจทก์ร่วมเป็นการชั่วคราว เพื่อจะนำเข้าไปตั้งแสดงใหม่ในวันรุ่งขึ้นด้วย จุดประสงค์เดียวกันกับที่ได้กระทำมาแล้วในครั้งแรกอีก แม้จะมีการกระทำหลายครั้ง แต่ก็เป็นเพียงการกระทำที่ยืดออกไปจากการกระทำความผิดครั้งแรก และเป็นเพียงผลของการบุกรุกที่ได้กระทำสำเร็จไปแล้ว ต้องถือว่าการกระทำของจำเลย เป็นความผิดกระทงเดียวนับแต่การกระทำความผิดครั้งแรกสำเร็จลง (โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตาม มาตรา 362) / ความผิดฐานบุกรุกเป็นความผิดอันยอมความได้ โจทก์ร่วมรู้เรื่องความผิด และรู้ตัวผู้กระทำความผิดตั้งแต่เดือนมีนาคม 2536 แต่เพิ่งร้องทุกข์ เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2537 พ้นกำหนด 3 เดือนแล้ว คดีโจทก์จึงขาดอายุความ
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 3926/2541 ที่ดินของโจทก์ร่วมตกเป็นภาระจำยอมแก่ที่ดินของจำเลย เพื่อใช้เป็นทางเดินให้รถยนต์เข้าออกได้ ปักเสาพาดสายไฟฟ้า ท่อประปา ท่อระบายน้ำโทรศัพท์และอื่น ๆ อีกผ่านโดยตลอด ตามบันทึกข้อตกลงเรื่องภาระจำยอม การที่จำเลยว่าจ้างให้ทำโครงเหล็กวางพาดสายไฟและติดหลอดไฟฟ้าเพื่อให้มีแสงสว่างแบบถาวร แม้จะเกินความจำเป็นไปบ้าง แต่ก็เป็นการใช้สิทธิของเจ้าของสามยทรัพย์ตาม ป.พ.พ.มาตรา 1387 ส่วนจะเป็นการทำให้เกิดภาระเพิ่มขึ้นแก่ภารยทรัพย์หรือไม่นั้นต้องไปว่ากล่าวกันในทางแพ่ง กรณีจึงถือไม่ได้ว่าจำเลยมีเจตนาเข้าไปรบกวนการครอบครองอสังหาริมทรัพย์ หรือเข้าไปเพื่อถือครองอสังหาริมทรัพย์ของโจทก์ร่วมทั้งหมดหรือบางส่วน การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดฐานบุกรุก
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 2415/2545 การที่จำเลยเข้าไปในตึกแถวคูหาหนึ่งและปีนขึ้นไปบนหลังคาของตึกแถวอีกคูหาหนึ่ง เพื่อสำรวจตรวจดูทรัพย์สินของมีค่าภายในตึกแถวทั้งสองคูหาดังกล่าว เป็นการเข้าไปในเคหสถานของผู้อื่นโดยไม่มีเหตุอันสมควร อันเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 364 เท่านั้น จะถือเป็นการรบกวนการครอบครองอสังหาริมทรัพย์ของผู้อื่นตามมาตรา 362 ยังไม่ได้
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 6383/2547 จำเลยเข้าไปตามสามีในโรงแรมของโจทก์ร่วมตามที่สามีนัดแนะไว้เพื่อบอกถึงธุระเกี่ยวกับที่ดินที่จะต้องไปดำเนินการในวันรุ่งขึ้น นับว่าเป็นการเข้าไปโดยมีเหตุอันสมควร แม้จำเลยจะมีมีดติดตัวไปด้วยก็ไม่ทำให้การเข้าไปนั้นกลับกลายเป็นว่าไม่มีเหตุอันสมควร ส่วนที่จำเลยยังไปเคาะประตูห้องพักภายหลังจากที่โจทก์ร่วมไม่ยอมมอบกุญแจห้องพักดังกล่าวให้จำเลย ก็อาจเป็นเพราะจำเลยไม่พอใจจากการที่มีเหตุโต้เถียงกับโจทก์ร่วมก่อนหน้านั้นก็เป็นได้ พฤติการณ์ยังถือไม่ได้ว่าเป็นการรบกวนการครอบครองอสังหาริมทรัพย์โดยปกติสุขของโจทก์ร่วม จำเลยไม่มีความผิดฐานบุกรุกตาม ป.. มาตรา 365 (2) (3) ประกอบมาตรา 362
-          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5613/2550 ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 ว่า ตามวัน เวลา และสถานที่เกิดเหตุในฟ้องจำเลยที่ 1 และที่ 4 เข้าไปชกต่อนายนาวี ยุวบุตร บริเวณแคร่หน้าบ้านของนางลัดดา แสงสา ผู้เสียหาย ซึ่งเป็นมารดาของนายนาวี จำเลยที่ 2 และที่ 3 ซึ่งมีอาวุธมีดเข้าไปช่วยจำเลยที่ 1 และที่ 4 นายนาวีวิ่งเข้าไปในบ้านของผู้เสียหาย จำเลยทั้งสี่วิ่งตามเข้าไปชกต่อนายนาวี ผู้เสียหายไล่ให้นายนาวีและจำเลยทั้งสี่ออกไปชกต่อยกันนอกบ้าน จำเลยทั้งสี่ออกจากบ้านของผู้เสียหายไป มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยทั้งสี่มีความผิดตามฟ้องหรือไม่ เห็นว่า การที่จำเลยทั้งสี่เข้าไปในบ้านของผู้เสียหายเป็นการเข้าไปโดยมีเจตนาทำร้ายนายนาวี แม้เป็นการกระทำที่ต่อเนื่องจากการที่จำเลยทั้งสี่ทำร้ายนายนาวีมาก่อน แต่เมื่อผู้เสียหายไล่ให้จำเลยทั้งสี่ออกจากบ้าน จำเลยทั้งสี่ก็ออกจากบ้านทันที อันจะถือว่าเป็นการรบกวนการครอบครองอสังหาริมทรัพย์ของผู้เสียหายโดยปกติสุขยังไม่ได้ แต่การกระทำของจำเลยทั้งสี่ถือได้ว่าเป็นการเข้าไปในบ้านของผู้เสียหายโดยไม่มีเหตุอันสมควร โดยใช้กำลังประทุษร้าย โดยมีอาวุธ และโดยร่วมกระทำความผิดด้วยกันตั้งแต่สองคนขึ้นไป เข้าองค์ประกอบแห่งความผิดฐานบุกรุกตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 364 และมาตรา 365 (1) (2) แล้ว ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 เห็นว่า จำเลยทั้งสี่ไม่มีความผิดฐานบุกรุกนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น พิพากษากลับว่า จำเลยทั้งสี่มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 365 (1) (2) ประกอบมาตรา 364, 83 ปรับคนละ 2,000 บาท ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30.


-          กรณีการบุกรุก เกี่ยวกับการเช่า
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 1/2512 แม้ห้องพิพาทจะเป็นอสังหาริมทรัพย์ของจำเลย แต่เมื่อโจทก์ยังครอบครองอสังหาริมทรัพย์นั้นและยังโต้แย้งสิทธิตามสัญญาเช่าอยู่ ถ้าจำเลยเข้าไปกระทำการใดๆ อันเป็นการรบกวนการครอบครองของโจทก์โดยปกติสุข จำเลยก็มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 362 ได้ / การที่จำเลยใช้ไม้กระดานตีขวางทับประตูห้องที่โจทก์ครอบครองในขณะที่โจทก์ไม่อยู่และปิดห้องไว้ ทำให้โจทก์เข้าอยู่ในห้องไม่ได้เป็นการล่วงล้ำเข้าไปในอำนาจการครอบครองของโจทก์ถือได้ว่าเข้าไปกระทำการรบกวนการครอบครองของโจทก์โดยปกติสุขตาม ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 362 แล้ว (ประชุมใหญ่ครั้งที่ 29/2511)
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 1980/2514 โจทก์ร่วมทำสัญญาเช่าห้องพิพาทจากจำเลย ต่อมาได้เอาห้องนั้นไปให้เช่าช่วง โดยไม่มีหลักฐานการเช่า ผู้เช่าช่วงอาศัยสิทธิของโจทก์ร่วม โจทก์ร่วมเป็นผู้ครอบครองพิพาท จำเลยชอบที่จะดำเนินการตามกฎหมาย หามีอำนาจที่จะปิดห้องโจทก์ร่วมครอบครองโดยพลการไม่ จำเลยถือโอกาสให้ผู้เช่าช่วงออกไปจากห้องพิพาท โดยชิงใส่กุญแจห้อง มิให้โจทก์ร่วมเข้าใช้ห้องพิพาท ถือเป็นการรบกวนการครอบครองอสังหาริมทรัพย์ของโจทก์ร่วมโดยปกติสุข จึงมีความผิดฐานบุกรุก
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 788/2519 ข้อสัญญาเช่าสำนักงานมีว่า ถ้าผู้เช่าผิดสัญญาไม่ชำระค่าเช่าตามกำหนดผู้ให้เช่ากลับเข้าครอบครองสถานที่ ย้ายบุคคลออก ฯลฯ ได้ ข้อสัญญานี้ไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อย หรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ผู้เช่าค้างชำระค่าเช่า ผู้ให้เช่าใช้ลวดไขกุญแจห้องเช่าออก เอากุญแจใหม่ใส่แทน ผู้เช่าเข้าห้องเช่าไม่ได้ ดังนี้ เป็นการใช้สิทธิตามสัญญาเช่า ไม่เป็นความผิดอาญา
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 2103/2522 จำเลยให้เช่านา แม้ไม่มีสัญญาเช่าเป็นหนังสือ ก็เป็นการเช่าตาม พ.ร.บ.ควบคุมการเช่านาฯ ผู้เช่าครอบครองนาจำเลยเข้าไปไถหว่านข้าว เป็นการรบกวนการครอบครองของผู้เช่า ผิด ป.อ.ม.362
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 399/2525 ความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์ มิได้รวมอยู่ในองค์ประกอบความผิดฐานบุกรุก เมื่อภรรยาโจทก์มิได้แจ้งความด้วยว่าการไถดังกล่าว เป็นเหตุให้ต้นกล้วยที่ปลูกไว้เสียหาย ถือได้ว่าโจทก์มิได้ร้องทุกข์ในความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์ ซึ่งเป็นความผิดอันยอมความได้ด้วย เมื่อมาฟ้องเกิน 3 เดือน นับแต่วันที่โจทก์รู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำผิด จึงขาดอายุความ / โจทก์มีสิทธิครอบครองที่พิพาทโดยเช่าจากจำเลย แม้จะผิดนัดไม่ชำระค่าเช่า จำเลยก็ชอบที่จะเสนอคดีต่อศาลขอให้ชำระค่าเช่าและขับไล่ การที่จำเลยนำรถไถเข้าไปในที่พิพาท โดยพลการเป็นการรบกวนการครอบครองที่พิพาทของโจทก์โดยปกติสุข จำเลยจึงมีความผิดฐานบุกรุก
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 4477/2531 เมื่อโจทก์ซึ่งเป็นผู้เช่าและครอบครองอาคารพิพาทค้างชำระค่าเช่า หากจำเลยประสงค์จะขับไล่โจทก์ ก็ชอบที่จะดำเนินการตามกฎหมาย จำเลยไม่มีอำนาจกระทำโดยพลการ ใช้กุญแจพร้อมโซ่เหล็ก คล้องและปิดประตูเหล็ก อันเป็นทางเข้าออกอาคารพิพาท ทำให้โจทก์เข้าไปในอาคารพิพาทไม่ได้ เป็นการล่วงล้ำเข้าไปในอำนาจการครอบครองของโจทก์ ถือได้ว่าจำเลยเข้าไปกระทำการรบกวนการครอบครองอสังหาริมทรัพย์ของโจทก์โดยปกติสุข ตามมาตรา 362 (& การที่จำเลยใช้กุญแจพร้อมโซ่เหล็ก คล้องและปิดประตูเหล็ก อันเป็นทางเข้าออกอาคารพิพาท ไม่เป็นการ เข้าไป ในอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งต้องถือว่าขาดองค์ประกอบความผิด ทั้งตามมาตรา 362 และ 364 แต่การที่ศาลวินิจฉัยว่ามีความผิดตามมาตรา 362 นี้ อาจเป็นการวินิจฉัย ตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย ในเรื่องการรบกวนการครอบครอง ซึ่งขัดต่อข้อความในตัวบท)
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 4854/2537 หนังสือสัญญาเช่าห้องพักระหว่าง บ.  ผู้เช่ากับจำเลยที่ 1ซึ่งเป็นผู้ให้เช่าข้อ 3  ระบุว่า "ผู้เช่ายอมชำระค่าเช่าให้แก่ผู้ให้เช่าภายในวันที่ 30 ของเดือนทุก ๆ เดือน  ถ้าไม่ชำระตามกำหนดนี้ ผู้เช่ายอมให้ผู้ให้เช่ายึดเงินประกันของผู้เช่าได้ และใส่กุญแจห้องผู้เช่าก็ได้ หรือผู้เช่ายินยอมอนุญาตให้ขนย้ายทรัพย์สินออกไปจากห้องเช่าได้โดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบ" ข้อ 9 ระบุว่า "ถ้าผู้เช่าประพฤติผิดล่วงละเมิดสัญญา แม้แต่ข้อหนึ่งข้อใด หรือกระทำผิดวัตถุประสงค์ข้อหนึ่งข้อใด ยอมให้ผู้ให้เช่าทรงไว้ซึ่งสิทธิที่จะเข้ายึดครอบครองสถานที่และสิ่งที่เช่าได้โดยพลันและมีสิทธิบอกเลิกสัญญาทันที"และข้อ 10 ระบุว่า "เมื่อครบกำหนดสัญญาเช่าก็ดี หรือผู้เช่าผิดสัญญาเช่าก็ดีผู้เช่ายอมให้ถือว่าผู้เช่ายอมออกจากที่เช่า" ข้อสัญญาดังกล่าวนี้ไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อย หรือศีลธรรมอันดีของประชาชนจึงใช้บังคับได้   เมื่อสัญญาเช่าครบกำหนดเวลาและจำเลยที่ 1 โดยบอกเลิกสัญญาเช่าด้วยแล้ว  บ. และผู้เสียหายซึ่งในห้องพิพาทโดยอาศัยสิทธิ บ.ย่อมไม่มีสิทธิอยู่ในห้องพิพาทต่อไปเมื่อ บ. ไม่ยอมออกไปจากห้องพิพาทจำเลยที่ 1 จึงใช้สิทธิตามหนังสือสัญญาเช่าห้องพัก โดยเข้าไปในห้องพิพาท แล้วใช้คีมหนีบกุญแจลูกบิดประตู บานพับหน้าต่าง ถอดเอาสะพานไฟฟ้าและเครื่องรับโทรศัพท์ในห้องพิพาทออกไป จึงไม่มีมูลความผิดฐานบุรุก
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 3025/2541 โจทก์เป็นผู้เช่าตึกแถวที่เกิดเหตุจากเจ้าของเดิม เมื่อครบกำหนดแล้วโจทก์ไม่ออกไปจากตึกแถวและไม่ชำระค่าเช่าแก่เจ้าของเดิม บุตรสาวโจทก์ได้ทำบันทึกข้อตกลงยอมชำระค่าเช่าที่ค้างชำระนั้น และจะชำระค่าเช่าเป็นรายเดือนต่อ ๆ ไป ถ้าผิดข้อตกลงยอมให้เจ้าของเดิมเข้าครอบครองตึกแถวที่เกิดเหตุได้ ซึ่งไม่ปรากฏว่าโจทก์คัดค้านโต้แย้งข้อตกลงนี้ ข้อตกลงดังกล่าวจึงผูกพันโจทก์ โดยมิพักต้องคำนึงว่ามีหนังสือมอบอำนาจจากโจทก์ ให้บุตรสาวโจทก์ทำบันทึกข้อตกลงนั้นหรือไม่ และข้อตกลงนี้ไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนจึงใช้บังคับได้ ต่อมาบุตรสาวโจทก์และโจทก์ผิดข้อตกลง จำเลยทั้งสองยังให้โอกาสแก่ฝ่ายโจทก์ ขอเวลาขนย้ายทรัพย์สินโดยไม่ติดใจเรียกร้องเอาค่าเช่าที่ค้างชำระแต่อย่างใด แต่โจทก์และครอบครัวก็มิได้ขนย้ายออกไป การที่จำเลยทั้งสองเปิดกุญแจตึกแถวที่เกิดเหตุ หลังจากนั้น จึงใช้กุญแจของจำเลยปิดตึกแถวที่เกิดเหตุไว้ ย่อมเป็นอำนาจของจำเลยทั้งสองที่จะกระทำได้ และถือว่าจำเลยทั้งสองได้ใช้สิทธิเข้ายึดถือครอบครองตึกแถวที่เกิดเหตุแล้วโดยชอบตามที่ได้ตกลงกันไว้ การกระทำของจำเลยทั้งสองจึงหาเป็นความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์ หรือฐานบุกรุกไม่

-          การกระทำโดยได้รับอนุญาต หรือโดยอาศัยอำนาจตามสัญญา คำพิพากษา หรือตามกฎหมาย
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 1194/2517 เจ้าพนักงานตำรวจเดินทางไปจับกุมผู้ต้องหาหลบหนีคดีตามหมายจับ พบผู้ต้องหาโดยกระทันหัน ก่อนจะได้ไปขอความร่วมมือจากเจ้าพนักงานตำรวจท้องที่ ผู้ต้องหาหนีเข้าบ้านโจทก์ จึงเข้าไปจับกุมได้ในทันใดนั้น แม้จะไม่มีหมายค้น ก็ไม่เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 และ 364 เพราะเป็นการเข้าไปโดยมีเหตุอันสมควร และผู้ที่เข้าไปช่วยจับกุมตามที่เจ้าพนักงานตำรวจขอให้ช่วยเหลือ ก็ไม่มีความผิดเช่นกัน
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 1495/2517 จำเลยที่ 1 เป็นเจ้าอาวาส สั่งให้จำเลยที่ 2 กับพวก รื้อกุฏิ 6 หลัง รวมทั้งกุฏิที่จำเลยที่ 1 และกุฏิที่พระภิกษุโจทก์อาศัยอยู่ด้วยเพื่อไปปลูกรวมกับกุฏิอื่นให้เป็นกลุ่มเดียวกัน เป็นการบำรุงรักษาวัด จัดกิจการและศาสนสมบัติของวัดให้เป็นไปด้วยดี  ซึ่งจำเลยที่ 1 ในฐานะเจ้าอาวาสของวัด มีอำนาจกระทำให้ตามพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. 2505 มาตรา 37 (1) การกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิดฐานบุกรุก
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 2186/2524 จำเลยเข้าไปในบ้านถามหาสามีผู้เสียหายก่อน แล้วไปนั่งคุยกับผู้เสียหายบนเตียงนอน โดยผู้เสียหายไม่ได้ห้ามปราม หรือขอร้องให้จำเลยออกไปจากบ้าน แสดงว่าผู้เสียหายอนุญาตให้จำเลยเข้าไปได้โดยปริยาย ฟังไม่ได้ว่าจำเลยเข้าไปโดยไม่มีเหตุสมควรและมีเจตนารบกวนการครอบครองที่อยู่อาศัยของผู้เสียหาย จำเลยไม่มีความผิดฐานบุกรุก
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 619/2525 โรงงานน้ำแข็ง ซึ่งโจทก์ร่วมเป็นผู้ครอบครองดูแลดำเนินกิจการ เป็นทรัพย์มรดกที่กำลังมีข้อพิพาทกัน และศาลได้มีคำสั่งให้ พ. กับพวก มีสิทธิเข้าจัดการร่วมกับผู้จัดการมรดก การที่จำเลยเข้าไปในโรงงานเพื่อจัดการทรัพย์พิพาท ตามที่ได้รับมอบอำนาจจากบุคคลดังกล่าว โดยได้แสดงใบมอบอำนาจ และแจ้งความจำนงให้โจทก์ร่วมทราบแล้ว ดังนี้จำเลยไม่มีความผิดตาม ป.อ. ม.362, 364
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 3962/2527 จำเลยเป็นพนักงานสอบสวนและมีตำแหน่งสารวัตรปกครองป้องกัน เข้าไปในบ้านโจทก์เพื่อตามหาตัวโจทก์ในข้อหามีอาวุธปืน โดย จ. คนเฝ้าบ้านโจทก์อนุญาตให้เข้าไป จำเลยเข้าไปในห้องนอนของโจทก์ เมื่อไม่พบตัวโจทก์ก็ออกมาทันที ดังนี้ การกระทำของจำเลย ยังไม่เป็นการรบกวนการครอบครองอสังหาริมทรัพย์ของโจทก์โดยปกติสุขตาม ป.อ. ม.362 , 365 และไม่เป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ ตาม ม.157
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 4799/2533 คดีเดิมศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดว่า พ. ทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพิพาทกับ ท.ครั้น พ.ถึงแก่กรรม ท. ได้อาศัยสิทธิตามสัญญาดังกล่าว เรียกร้องให้จำเลยที่ 5 ทายาทของ พ.ไปจดทะเบียนโอนสิทธิครอบครองในที่ดินพิพาทให้แก่ตน แต่เมื่อจำเลยที่ 5 ไม่ยอมไปจดทะเบียนโอนให้ ท. ก็หาได้ใช้สิทธิฟ้องขอให้บังคับจำเลยที่ 5 โอนให้ไม่ ท. เป็นเพียงผู้ครอบครองที่ดินพิพาท แทนทายาทของ พ. จนกว่าจะได้จดทะเบียนโอน  สิทธิครอบครองในที่ดินพิพาท ยังเป็นของทายาทของ พ. ซึ่งรวมถึงจำเลยที่ 5 ท. ไม่มีสิทธิยกที่ดินพิพาทให้แก่ ว. ว.จึงไม่มีสิทธิในที่ดินพิพาท การที่ ว. โอนขาย ที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ ไม่ทำให้โจทก์ผู้รับโอนมีสิทธิในที่ดินพิพาทดีกว่า ว. ผู้โอน โจทก์จึงไม่มีสิทธิครอบครองในที่ดินพิพาท การกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิดฐานบุกรุก ทำให้เสียทรัพย์ และลักทรัพย์ในที่ดินพิพาทของโจทก์
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 3025/2541 โจทก์เป็นผู้เช่าตึกแถว บุตรสาวโจทก์ได้ทำบันทึกข้อตกลง ถ้าผิดข้อตกลง ยอมให้เจ้าของเดิม เข้าครอบครองตึกแถวได้ ไม่ปรากฏว่าโจทก์คัดค้าน ข้อตกลงดังกล่าวจึงผูกพันโจทก์ บุตรสาวและโจทก์ผิดข้อตกลง จำเลยทั้งสองให้โอกาสแก่ฝ่ายโจทก์ ขนย้ายทรัพย์สิน หลังจากนั้น จึงใช้กุญแจของจำเลยปิดตึกแถวที่เกิดเหตุไว้ ย่อมเป็นอำนาจของจำเลยทั้งสองที่จะกระทำได้ และถือว่าได้ใช้สิทธิเข้ายึดถือครอบครองตึกแถวที่เกิดเหตุแล้วโดยชอบ หาเป็นความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์ หรือฐานบุกรุกไม่
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 7477/2541 โจทก์ประกอบธุรกิจจัดสรรที่ดิน บริเวณที่ดินที่เกิดเหตุของโจทก์มีสภาพเป็นถนน และเป็นสาธารณูปโภคที่โจทก์จัดให้มีขึ้น ซึ่งเป็นภาระจำยอมเพื่อประโยชน์แก่ที่ดินจัดสรร ดังนั้น แม้โจทก์เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ที่ดิน โจทก์ก็จำต้องยอมรับกรรมบางอย่างซึ่งกระทบถึงทรัพย์สินของตน หรือต้องงดเว้นการใช้สิทธิบางอย่างอันมีอยู่ในกรรมสิทธิ์ทรัพย์สินนั้นตาม ป.พ.พ.มาตรา 1387 เมื่อจำเลยผ่านเข้าไปในถนนซึ่งเป็นที่ดินของโจทก์ หรือใช้ให้ผู้ใดผ่านถนนไปมา ย่อมไม่เป็นการรบกวนการครอบครองอสังหาริมทรัพย์ของโจทก์โดยปกติสุข แม้ว่าโจทก์จะได้นำที่ดินส่วนที่เป็นถนนนั้นไปให้ผู้อื่นเช่าตั้งเต้นท์ก็ตาม การกระทำของจำเลยก็ไม่เป็นความผิดฐานบุกรุก / โจทก์เพียงแต่เป็นเจ้าของที่ดินที่รถยนต์และเต็นท์ตั้งอยู่ในขณะเกิดเหตุเท่านั้น มิได้เป็นเจ้าของหรือผู้ครอบครองดูแลรักษาและรับผิดชอบในทรัพย์ดังกล่าวด้วย โจทก์จึงไม่เป็นผู้เสียหายตาม ป.วิ.อ.มาตรา 2 (4)
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 4711/2542 การที่จำเลยที่ 3 จับกุมโจทก์จึงเป็นการกระทำที่ชอบด้วยกฎหมาย และไม่เป็นความผิดฐานบุกรุก และการที่จำเลยที่ 1 เข้าไปในบ้านของโจทก์เพื่อชี้ให้จำเลยที่ 3 จับกุมโจทก์ก็เป็นการเข้าไปโดยมีเหตุอันสมควร ไม่เป็นความผิดฐานบุกรุกเช่นเดียวกัน


-          การครอบครองที่ดินที่ไม่มีหนังสือแสดงกรรมสิทธิ์หรือที่ดินของรัฐ ใช้ยันได้ระหว่างเอกชนด้วยกัน แต่จะใช้ยันรัฐไม่ได้
-          ฎ.๖๑๔๒/๒๕๔๔ โจทก์ซื้อที่ดินพิพาทซึ่งเป็นที่ดินมีเอกสาร ภบท.๕ แต่ยังไม่ได้ครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาท การที่โจทก์นำจนท.ที่ดินเข้าไปในที่ดินพิพาท เพื่อรังวัดและปักเสาซีเมนต์ไว้ ๒ ต้น ยังถือไม่ได้ว่าโจทก์เข้าไปครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาท ส่วนการเสียภาษีบำรุงท้องที่สำหรับที่ดินพิพาทไม่ใช่หลักฐานที่แสดงว่าโจทก์ได้เข้าครอบครองที่ดินพิพาทหรือมีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาท นอกจากนี้ภริยาโจทก์ซึ่งลงชื่อเป็นผู้ซื้อที่ดินก็ไม่เคยเข้าไปดูแลหรือเกี่ยวข้องกับที่ดินพิพาท คงมอบให้โจทก์เข้าดูแลแทนหรือกระทำการแทนเท่านั้น เช่นนี้โจทก์ย่อมไม่มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาท โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องขับไล่จำเลยและบริวาร
-          ฎ.๙๑๗๐๒๕๓๙ พรบ.ป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๐๗ .๑๔ ห้ามมิให้บุคคลใดยึดถือหรือครอบครองที่ดินในเขตป่าสงวนแห่งชาติ เป็นเพียงบทบัญญัติที่ใช้บังคับระหว่างรัฐกับราษฎร เป็นผลให้ราษฎรที่เข้ายึดถือครอบครองที่ดินไม่ได้สิทธิครอบครองโดยชอบด้วย กม. ทั้งไม่อาจอ้างสิทธิใดๆใช้ยันรัฐได้ แต่ในระหว่างราษฎรด้วยกันผู้ที่ครอบครองทำประโยชน์อยู่ก่อนย่อมมีสิทธิที่จะไม่ถูกรบกวนโดยบุคคลอื่น ดังนั้นหากโจท์เป็นฝ่ายครอบครองใช้ประโยชน์บนที่ดินพิพาทอยู่ก่อนแล้วจำเลยบุกรุกไปครอบครอง โจทก์ย่อมมีอำนาจฟ้องเพื่อปลดเปลื้องการรบกวนสิทธิและเรียกค่าเสียหายได้

-          เปรียบเทียบ บุกรุกที่ดินสาธารณะ กับที่ดินเอกชน
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 1289/2508 (สบฎ เน 570) ความผิดฐานยึดถือครอบครอง "ที่สาธารณสมบัติของแผ่นดิน" (ป ที่ดิน ม 9) ย่อมมีขึ้นตั้งแต่เข้ายึดถือครอบครอง และยังคงมีอยู่ตลอดเวลาที่จำเลยครอบครอง ส่วนฐานขัดคำสั่งเจ้าพนักงานตาม ม 368 เกิดขึ้นเมื่อพ้นกำหนดที่เจ้าพนักงานสั่งให้จำเลยออกจากที่ดิน ต่างวาระกับการยึดถือครอบครอง หาใช่กรรมเดียวกันไม่
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 928/2520 ที่คูเมืองซึ่งทางราชการดูแลอยู่เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน โจทก์เข้าครอบครองใช้ยันต่อรัฐไม่ได้ จำเลยเข้ายึดถือครอบครอง โจทก์ไม่ใช่ผู้เสียหายที่จะฟ้องจำเลยฐานบุกรุก
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 3016/2524 ที่ดินของรัฐซึ่งเดิมเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน แม้ทางราชการจะนำมาจัดสรรให้ราษฎรเข้าทำกิน จ. จับสลากได้แต่ยังมิได้รับใบจอง เพียงแต่นำหลักไปปักเป็นเขตไว้โดยมิได้ทำประโยชน์อะไร จ.หาได้ที่ดินเป็นสิทธิของตนโดยสมบูรณ์ไม่ ที่ดินแปลงนี้ยังเป็นที่ดินของรัฐ และอธิบดีกรมที่ดินมีอำนาจสั่งให้ จ.ออกไปจากที่ดิน ตาม ป.ที่ดิน ม.32 ได้ จ.ไม่มีสิทธิโอนขายแก่โจทก์ โจทก์ได้รับโอนไว้และครอบครองมา โจทก์ก็หาเป็นผู้เสียหายโดยนิตินัยที่จะฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยฐานบุกรุกในทางอาญาได้ไม่
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 365/2530 จำเลยจะมีความผิดฐานบุกรุกตามที่โจทก์ฟ้องหรือไม่ จะต้องได้ความว่าที่พิพาทเป็นของโจทก์ หากที่พิพาทเป็นทางสาธารณะ การกระทำของจำเลยก็ไม่เป็นความผิด ดังนั้นที่ศาลชั้นต้นฟังข้อเท็จจริงว่าทางพิพาทเป็นทางสาธารณะ จึงเป็นการวินิจฉัยตามข้อหาตามคำขอท้ายฟ้องของโจทก์ ไม่เป็นการเกินคำขอ อุทธรณ์ของโจทก์ที่ว่าศาลชั้นต้นวินิจฉัยเกินคำขอ จึงเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่ไม่เป็นสาระแก่คดีอันควรได้รับการวินิจฉัย / โจทก์อุทธรณ์ว่า ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าที่ดินของโจทก์ เป็นทางที่ประชาชนใช้ร่วมกันติดต่อมาเกิน  10  ปี เป็นทางสาธารณะขัดกับ พ.ร.บ.คณะสงฆ์ พ.ศ. 2505 ม. 34 ซึ่งห้ามมิให้บุคคลใดยกอายุความขึ้นต่อสู้กับวัด ในเรื่องทรัพย์สินอันเป็นที่วัดและที่ธรณีสงฆ์  อุทธรณ์ดังกล่าวเป็นการโต้เถียงข้อเท็จจริงว่าทางพิพาท มิใช่ทางสาธารณะแต่เป็นที่ดินของโจทก์ ต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง ม.22
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 2253/2531 (สบฎ เน 190) จำเลยบุกรุกเพื่อถือการครอบครองที่ดินโจทก์ ความผิดเกิดและสำเร็จแล้ว เมื่อจำเลยกระทำการ ส่วนการครอบครองที่ดินต่อมา เป็นเพียงผลของการบุกรุก ไม่ใช่ความผิดต่อเนื่องตราบที่จำเลยครอบครองที่ดิน
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 1932/2533 จำเลยบุกรุกเข้าครอบครองที่พิพาท โดยรู้ว่าเป็นที่สาธารณสมบัติของแผ่นดินที่พลเมืองใช้ร่วมกัน มีความผิดตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 108 ทวิ วรรคสอง ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 96 ข้อ 11 þ ส่วนความผิดฐานบุกรุกตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 362, 365 กฎหมายมุ่งประสงค์จะลงโทษ ผู้ที่บุกรุกอสังหาริมทรัพย์ของผู้อื่นเท่านั้น ไม่ใช่บทบัญญัติที่จะลงโทษผู้บุกรุกที่สาธารณสมบัติของแผ่นดิน
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 4413/2533 þ กรมทรัพยากรธรณีได้รับมอบหมายให้ครอบครองที่ดิน ที่ดินนั้นเป็นทรัพย์สินของแผ่นดินและเป็นที่ดินของรัฐในลักษณะที่ราชพัสดุ ซึ่งกระทรวงการคลังถือกรรมสิทธิ์มิใช่ที่ดินมือเปล่า การที่จำเลยเข้าไปปลูกบ้านและร้านค้า ย่อมมีความผิดฐานบุกรุก ที่ราชพัสดุและที่ดินของรัฐ นั้น พิพากษากลับว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 108 ทวิ วรรคหนึ่ง ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 365 (3) ประกอบด้วย มาตรา 362 ซึ่งเป็นกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 365 (3) ประกอบด้วยมาตรา 362 ซึ่งเป็นบทหนักตามมาตรา 90 จำคุกจำเลยมีกำหนด 6 เดือน ให้จำเลยและบริวารออกจากที่ดินพิพาทที่เข้าไปยึดถือครอบครอง / หมายเหตุ ที่ราชพัสดุ ถือว่าเป็นที่ดินของรัฐ ที่ทางราชการครอบครอง การบุกรุกเข้าไปย่อมจะเป็นความผิดได้ทั้งประมวลกฎหมายอาญาและประมวลกฎหมายที่ดิน
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 1273/2535 ภายหลังที่ทางราชการแจ้งให้จำเลยออกจากที่ดินสาธารณประโยชน์แล้วจำเลยไม่ยอมออกไป ถือว่าจำเลยมีเจตนายึดถือครอบครองที่ซึ่งเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 108 ทวิ วรรคสอง
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 5616/2539 ความผิดฐานบุกรุกตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 362, 365 กฎหมายมุ่งประสงค์ลงโทษผู้บุกรุกอสังหาริมทรัพย์ของผู้อื่นเท่านั้น ไม่ใช่บทบัญญัติที่จะลงโทษผู้บุกรุกที่สาธารณสมบัติของแผ่นดินซึ่งมีบัญญัติไว้โดยเฉพาะตาม ประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 9, 108 ทวิ วรรคสอง และแม้ไม่มีฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจปรับบทกฎหมายให้ถูกต้องได้ / ความผิดฐานก่อสร้างอาคารโดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นความผิด ต่างกรรมกับความผิดฐานบุกรุกเข้าไปยึดถือครอบครองที่ดิน ของรัฐเพราะต่างมีสภาพและลักษณะของการกระทำที่แตกต่างกัน สามารถแยกเป็นคนละส่วนต่างหากจากกันได้ / การยึดทรัพย์สินใช้ค่าปรับและการกักขังแทนค่าปรับตาม ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 เป็นวิธีที่จะกระทำเพื่อเป็นการชดใช้ค่าปรับเป็นการบังคับคดี ไม่จำที่ศาลจะต้องกล่าวไว้ในคำพิพากษา
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 9132/2544 ที่นาพิพาทอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ และทางราชการยังมิได้จัดให้เป็นที่ทำกินของราษฎร จึงเป็นทรัพย์สินของแผ่นดินซึ่งสงวนไว้เพื่อประโยชน์ร่วมกันตาม ป... มาตรา 1304 การที่ พ.มาเข้าครอบครองทำนาในที่ดินพิพาท พ.ก็เพียงมีสิทธิในที่นาพิพาทดีกว่าบุคคลอื่น แต่ พ...ป่าสงวนแห่งชาติ พ.. 2507 ห้ามมิให้บุคคลใดยึดถือครอบครองทำประโยชน์หรืออยู่อาศัยในที่ดินในเขตป่าสงวนแห่งชาติ พ.มาจึงยกเอาการครอบครองของตนใช้ยันต่อรัฐไม่ได้ แม้ พ.จะครอบครองหรือทำนาพิพาทนานเท่าใดก็ไม่ได้สิทธิในนาพิพาทตามกฎหมาย ทั้งยังอาจถูกฟ้องร้องขอให้ลงโทษตามพ...ป่าสงวนแห่งชาติ พ.. 2507 อีกด้วย พ.เข้าครอบครองที่นาพิพาทโดยไม่ชอบจึงไม่ได้สิทธิครอบครองที่นาพิพาทโดยชอบด้วยกฎหมาย แม้จำเลยจะเข้าไปไถนาและปลูกข้าวในที่นาพิพาทก็ไม่เป็นการรบกวนการครอบครองที่อสังหาริมทรัพย์ของ พ.อันจะเป็นความผิดฐานบุกรุกตาม ป.. มาตรา 362, 365

-          ขณะเข้าไป ไม่เป็นความผิด ต่อมาไม่มีสิทธิอยู่ แม้เป็นละเมิด แต่ไม่มีความผิดอาญา
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 2257/2524 ซ. ทำสัญญาจะซื้อตึกแถวพิพาทจากโจทก์ร่วมแล้วเอามาให้จำเลยเช่า จำเลยจึงเข้าไปอยู่โดยการรู้เห็นยินยอมและได้รับอนุญาตจากโจทก์ร่วมโดยปริยายมาตั้งแต่แรก แม้โจทก์ร่วมจะบอกเลิกสัญญาซื้อขายกับ ซ. ภายหลัง และขอให้จำเลยออกจากตึกแถวแล้ว จำเลยไม่ยอมออก ก็เป็นการอยู่โดยละเมิดเท่านั้น ไม่เป็นความผิดฐานบุกรุก

-          กรณีพิเศษ ดำเนินคดีอาญาข้อหาบุกรุกไม่ได้
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 723/2509 โจทก์ฟ้องว่า จำเลยบุกรุกเข้าไปปลูกเรือนในที่พิพาทของร้อยโทบุญเกิด ซึ่งอ้างว่าได้รับจัดสรรจากนิคมสร้างตนเองดังนี้  ต้องพิจารณาตามพระราชบัญญัติจัดที่ดินเพื่อการครองชีพ พ.ศ. 2485 มาตรา 7,8 ซึ่งจะเห็นได้ว่า ที่ดินที่นิคมจัดสรรให้นั้นผู้ที่ได้รับจัดสรรต้องเข้าครอบครองทำประโยชน์และปฏิบัติการอย่างอื่นอีก จนเจ้าหน้าที่ออกหนังสือรับรองว่าได้ทำประโยชน์ และได้รับโฉนดแผนที่หรือตราจองแล้ว จึงจะพ้นจากการเป็นที่หวงห้าม ตามข้อเท็จจริง ร้อยโทบุญเกิดยังไม่ได้รับโฉนดแผนที่หรือตราจองที่ดินรายนี้ จึงยังไม่พ้นจากการเป็นที่หวงห้าม หรืออีกนัยหนึ่งยังไม่เป็นของร้อยโทบุญเกิด แม้จำเลยเข้าครอบครอง ก็ฟังไม่ได้ว่าเป็นการรบกวนสิทธิ หรือการครอบครองของร้อยโทบุญเกิด ร้อยโทบุญเกิดจึงไม่ใช่ผู้เสียหาย
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 2137/2530 จำเลยได้บุกรุกเข้าไปทำนาและปลูกต้นไม้ในที่ดิน น.ส.3.ก.ของ ส. ผู้เสียหายอันเป็นการแย่งการครอบครอง เมื่อ ส.มิได้ฟ้องคดีเพื่อเอาคืนซึ่งการครอบครองภายใน 1 ปี นับแต่เวลาที่จำเลยเริ่มบุกรุกเข้าไป ส.ย่อมหมดสิทธิฟ้องคดีเพื่อเอาคืน ซึ่งการครอบครองที่ดินพิพาทตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1375 วรรคสอง สิทธิครอบครองในที่ดินของ ส.ย่อมสิ้นสุดลง การที่จำเลยเข้าครอบครองที่ดินภายหลังจากที่สิทธิครอบครองที่ดินของ ส.สิ้นสุดลงแล้ว จึงไม่เป็นความผิดฐานบุกรุก (& การกระทำของจำเลย เป็นความผิดตั้งแต่บุกรุกเข้าไปครั้งแรก การที่ ส. ผู้เสียหาย หมดสิทธิฟ้องเอาคืนซึ่งการครอบครองตามกฎหมายแพ่ง เป็นคนละประเด็นกับการกระทำผิดของจำเลย การตั้งรูปคดี เป็นไปได้ว่า โจทก์ฟ้องว่าจำเลยบุกรุกที่ดิน ตามวันเวลาที่พบเห็น ส่วนจำเลยต่อสู้นำสืบได้ว่า ครอบครองมาก่อนหน้านั้นเกินหนึ่งปี ศาลจึงวินิจฉัยเช่นนี้)
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 3276/2533 การได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์หรือทรัพย์สินอันเกี่ยวกับ อสังหาริมทรัพย์โดยทางอื่นนอกจากนิติกรรม ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1299 วรรคสอง นั้น ต้องเป็นอสังหาริมทรัพย์ที่มีหนังสือสำคัญแสดงกรรมสิทธิ์ จะนำมาใช้กับที่ดินพิพาทซึ่งเป็นที่ดินมือเปล่า และมีเพียงหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (..3) หาได้ไม่ หากจำเลยได้สิทธิครอบครองที่ดินพิพาทโดยทางอื่นนอกจากนิติกรรม แม้ยังมิได้จดทะเบียนก็สามารถยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้โจทก์ร่วมผู้ซื้อ และได้จดทะเบียนโดยสุจริตได้ / โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 362, 365 จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ ผู้เสียหายยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาต ศาลชั้นต้น พิพากษายกฟ้อง โจทก์และโจทก์ร่วมอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน โจทก์ร่วมฎีกา / ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า "ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า ที่ดินพิพาท 2 แปลง มีเนื้อที่ประมาณ 20 ไร่ ตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (.. 3) เอกสารหมาย จ.1 และ จ.2 โจทก์ร่วม ซื้อที่ดินพิพาท 2 แปลงมาจากนายยอดรัก ทรายแก้ว โดยจดทะเบียนซื้อขายกันเมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2529 ต่อมาโจทก์ร่วมได้พบเห็นจำเลยที่ 2 กับพวกปลูกมันในที่ดิน พิพาทจึงมอบอำนาจให้นางบรรจง เลาวพงศ์ ภรรยาไปแจ้งความที่ สถานีตำรวจภูธรอำเภอแม่แตง เจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุมจำเลยที่ 2 เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2529 หลังจากนั้นจำเลยที่ 1 เข้ามอบตัว สู้คดี พนักงานสอบสวนตั้งข้อหาว่า จำเลยทั้งสองร่วมกันบุกรุกที่ดิน พิพาท จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ / ที่โจทก์ร่วมฎีกาเป็นข้อกฎหมายว่า การที่จำเลยทั้งสองอ้างว่า ได้ครอบครองที่ดินพิพาทมาก่อนโจทก์ร่วมซื้อที่ดินพิพาทจำเลยทั้งสอง จึงได้ที่ดินพิพาทมาโดยทางอื่นนอกจากนิติกรรม เมื่อการได้มาของจำเลยทั้งสองยังมิได้จดทะเบียนจึงไม่อาจยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้โจทก์ร่วม ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกผู้ได้สิทธิมาโดยเสียค่าตอบแทน และโดยสุจริต และได้จดทะเบียนสิทธิโดยสุจริตแล้วตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1299 วรรคสอง นั้น พิเคราะห์แล้ว เห็นว่า การได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์หรือทรัพยสิทธิอันเกี่ยวกับ อสังหาริมทรัพย์โดยทางอื่นนอกจากนิติกรรม ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1299 วรรคสองนั้น ต้องเป็นอสังหาริมทรัพย์ที่มีหนังสือสำคัญแสดงกรรมสิทธิ์ อย่างเช่น โฉนดที่ดิน จะใช้กับที่ดินพิพาทคดีนี้ซึ่งเป็นที่ดินมือเปล่า มีแต่สิทธิครอบครอง และมีเพียงหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (..3) หาได้ไม่ ดังนั้นถ้าหากจำเลยทั้งสองได้สิทธิครอบครองที่ดินพิพาทมาโดยทางอื่น นอกจากนิติกรรม แม้ยังมิได้จดทะเบียน ก็สามารถยกขึ้น เป็นข้อต่อสู้โจทก์ร่วมผู้ซื้อและได้จดทะเบียนสิทธิโดยสุจริตได้..." พิพากษายืน
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 6096/2538 (อัยการนิเทศ 2540 ฉบับ 3-4 น 156) แม้คำพิพากษาถึงที่สุดคดีแพ่งจะวินิจฉัยว่า โจทก์ร่วมเป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่ดิน แต่การที่จำเลยยังครอบครองมา หลังศาลพิพากษาแล้ว และโจทก์ร่วมมิได้ฟ้องเอาคืนซึ่งการครอบครองภายใน 1 ปี นับแต่วันที่ศาลชั้นต้นพิพากษา โจทก์ร่วมหมดสิทธิเอาคืนซึ่งการครอบครอง การฟ้องคดีบุกรุกภายหลังจากหมดสิทธิฟ้องเอาคืนซึ่งการครอบครองแล้ว จำเลยไม่ผิดฐานบุกรุก
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 5362/2539 จำเลยครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดินพิพาท ซึ่งเป็นที่ดินที่อยู่ในบังคับห้ามโอน จึงไม่อาจสละหรือโอนการครอบครองให้แก่ผู้อื่นได้ การที่จำเลยทำสัญญาก่อตั้งสิทธิเหนือพื้นดินและทำสัญญาจะซื้อจะขายให้แก่โจทก์ร่วม มีผลเป็นการโอนการครอบครองที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ร่วมภายในกำหนดเวลาห้ามโอน จึงไม่มีผลตามกฎหมาย โจทก์ร่วมไม่มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาท การที่จำเลยจ้างบุคคลอื่นเข้าไปไถปรับพื้นที่และล้อมรั้วที่ดินพิพาท จึงไม่เป็นความผิดฐานบุกรุก

-          การครอบครองทรัพย์ ในระหว่างบังคับคดี
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 128/2521 ผู้บุกรุกเข้ามาในที่ดินที่ยึดไว้ เป็นการรบกวนการครอบครองของเจ้าพนักงานบังคับคดี ก็ชอบที่เจ้าพนักงานบังคับคดีจะดำเนินการอย่างหนึ่งอย่างใดเพื่อให้การบังคับคดีสำเร็จลุล่วงไป แม้เจ้าพนักงานบังคับคดีจะมอบให้โจทก์เป็นผู้รักษาที่ดินที่ยึดก็หาทำให้หมดอำนาจหน้าที่และพ้นความรับผิดแต่อย่างใดไม่

-          ผู้เสียหาย
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 1606/2522 บุกรุกตาม ป.อ.ม.362 เป็นการรบกวนสิทธิครอบครอง แม้อสังหาริมทรัพย์เป็นที่ดินที่ครอบครอง มิได้เป็นกรรมสิทธิ์ของผู้เสียหาย ก็เป็นความผิด
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 2041/2529 ผู้เสียหายในความผิดฐานบุกรุก ไม่จำต้องเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ จ. อยู่ที่บ้านของมารดาจำเลยปลูกอยู่ในที่ดินของจำเลยซึ่งเป็นพี่ภริยา จ.ย่อมมีส่วนเป็นผู้ครอบครองบ้าน จึงเป็นผู้เสียหาย มีสิทธิห้ามจำเลยได้

มาตรา 363     ผู้ใดเพื่อถือเอาอสังหาริมทรัพย์ของผู้อื่นเป็นของตน หรือของบุคคลที่สาม ยักย้าย หรือทำลาย เครื่องหมายเขตแห่งอสังหาริมทรัพย์นั้นทั้งหมด หรือแต่บางส่วน ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

-          คำพิพากษาฎีกาที่ 2861/2517 โจทก์มีที่ดินติดต่อกับจำเลย โจทก์เคยฟ้องผู้อื่นเกี่ยวกับที่ดิน ในคดีนั้นจ่าศาล ได้ไปทำแผนที่พิพาทโดยปักหลักเขตที่ดินของโจทก์เลยเข้าไปในที่ดิน ที่จำเลยทำประโยชน์อยู่ แม้จะปรากฏว่าขณะปักหลักเขต จำเลยอยู่ด้วย ไม่คัดค้าน ก็จะฟังว่าที่ดินต้องเป็นของโจทก์หาได้ไม่ และแม้ต่อมาศาลได้พิพากษาว่าที่ดินส่วนนี้ โจทก์มีสิทธิครอบครอง แต่ก็ปรากฏว่าโจทก์นำชี้ที่ดินโจทก์ เลยเข้าไปในที่ดินที่จำเลยทำประโยชน์อยู่ ฉะนั้นจึงยังฟังไปได้ถนัดว่าที่ดินนั้นเป็นของโจทก์ กรณีเป็นเรื่องที่ยังโต้แย้งกันอยู่ว่าที่ดินดังกล่าวเป็นของผู้ใด การที่จำเลยเข้าไปไถ และปลูกปอในที่ดินส่วนนั้น จึงยังไม่เป็นความผิดฐานบุกรุกตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 362 / การที่จำเลยถอนหลักไม้ที่จ่าศาลปัก ไว้ในการรังวัดทำแผนที่พิพาทดังกล่าว เพราะมิใช่เป็นการยักย้าย หรือทำลายหลักเขตที่แสดงสิทธิแห่งอสังหาริมทรัพย์โดยแท้จริง

มาตรา 364     ผู้ใดโดยไม่มีเหตุอันสมควร เข้าไป หรือซ่อนตัวอยู่ในเคหสถาน อาคารเก็บรักษาทรัพย์ หรือสำนักงาน ในความครอบครองของผู้อื่น หรือ ไม่ยอมออกไปจากสถานที่เช่นว่านั้น เมื่อผู้มีสิทธิที่จะห้ามมิให้เข้าไป ได้ไล่ให้ออก ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

-          เคหสถาน (แยกส่วนที่อนุญาต และไม่อนุญาตได้)
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 161/2523 จำเลยเดินเข้าไปในที่ดินของ ก. ข้ามสะพานไม้ข้างโรงเก็บระหัด คันบ่อเลี้ยงปลา ทางเดินออกสู่ถนน ถือไม่ได้ว่าเข้าไปในเคหสถานของก. ไม่ผิด ม.364
-          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2407/2527 จำเลยได้รับอนุญาตให้นั่งดูโทรทัศน์ที่ตั้งอยู่ในห้องโถงนอกห้องนอนของผู้เสียหาย จะถือว่าผู้เสียหายอนุญาตให้เข้าไปในห้องนอนไม่ได้ การที่จำเลยเข้าไปจะล้มตัวลงนอนกับผู้เสียหายในขณะที่สามีผู้เสียหายเมาเหล้านอนอยู่นอกห้องนอนในเวลาดึก ดังนี้ จำเลยมีเจตนาร้ายต่อผู้เสียหายในทางชู้สาว เป็นการเข้าไปในเคหสถานในเวลากลางคืนโดยไม่มีเหตุอันสมควร มีความผิดตาม ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 365

-          ความครอบครอง
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 1468/2527 สัญญาเช่าตู้ใส่สินค้าระบุบริเวณที่ตั้งตู้ ก็เพื่อให้ทราบว่าเช่าตู้ใบไหน ตั้งอยู่ที่ใด หาใช่เป็นการเช่าสถานที่ตั้งตู้ไม่ สถานที่ตั้งตู้คงอยู่ในครอบครองของจำเลยผู้ให้เช่า จำเลยมีอำนาจเข้าไป หรือใช้ให้ผู้อื่นเข้าไปในสถานที่ตั้งตู้ โดยไม่เป็นความผิดฐานบุกรุก และการเคลื่อนย้ายตู้ใส่สินค้าซึ่งเป็นสังหาริมทรัพย์ ก็ไม่อาจเป็นความผิดฐานบุกรุกได้

-          ไม่ยอมออก
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 3797/2543 พฤติการณ์ที่จำเลยเข้าไปในบ้านโจทก์ แม้เดิมจะเคยเข้าไปอันเป็นการถือวิสาสะ ทำให้ไม่เป็นความผิด แต่เมื่อโจทก์กับสามีไล่ให้ออกจากบ้าน จำเลยไม่ยอมออก ลากตัวออกไป ยังกลับเข้ามาอีก จึงเป็นความผิดฐานบุกรุกเคหสถานในเวลากลางคืน ส่วนในวันรุ่งขึ้น (วันที่ 10 มิถุนายน 2537) จำเลยเข้าไปในบ้านโจทก์อีก โดยไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าโจทก์หรือสามีโจทก์อนุญาต จึงเป็นความผิดฐานบุกรุกเคหสถานตาม ป.อ. มาตรา364 อีกกระทงหนึ่ง

-          กรณีไม่มีเหตุอันควร
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 1297/2520 โจทก์เป็นน้าเขยจำเลยเคยไปมาหาสู่กัน จำเลยไปหาโจทก์ใช้ปืนขู่จะเอาโจทก์ไปสถานีตำรวจ เป็นการเข้าไปในเคหสถานของโจทก์โดยไม่มีเหตุอันสมควร เป็นบุกรุกตาม ป.อ. ม. 365
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 859/2521 จำเลยมีปืนเข้าไปในห้องนอนผู้เสียหายเวลา 2 น. ขู่ไม่ให้ร้อง จำเลยใช้กระบอกไฟฉายตีผู้เสียหายบาดเจ็บ ไม่เป็นการรบกวนการครอบครอง แต่เป็นการเข้าไปในเคหสถานโดยไม่มีเหตุอันควร เป็นความผิดตาม ป.อ.ม.364, 365 เป็นกรรมเดียวกับ ม.295 ลงโทษตาม ม.365 ซึ่งเป็นบทหนัก
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 2407/2527 จำเลยได้รับอนุญาตให้นั่งดูโทรทัศน์ ที่ตั้งอยู่ในห้องโถงนอกห้องนอนของผู้เสียหาย จะถือว่าผู้เสียหายอนุญาตให้เข้าไปในห้องนอนไม่ได้ การที่จำเลยเข้าไปจะล้มตัวลงนอนกับผู้เสียหาย ในขณะที่สามีผู้เสียหายเมาเหล้า นอนอยู่นอกห้องนอนในเวลาดึก ดังนี้ จำเลยมีเจตนาร้ายต่อผู้เสียหายในทางชู้สาว เป็นการเข้าไปในเคหสถานในเวลากลางคืน โดยไม่มีเหตุอันสมควรมีความผิดตาม ป.อ. ม.365
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 4473/2528 จำเลยมีความสัมพันธ์ทางชู้สาวกับภริยาผู้เสียหาย ก่อนเกิดเหตุจำเลยเคยเข้าไปนอนกับภริยาผู้เสียหายในบ้านผู้เสียหาย และผู้เสียหายแจ้งความแก่ตำรวจให้เรียกตัวจำเลยมาตักเตือน ให้เลิกเกี่ยวข้องกับภริยาผู้เสียหาย และไม่ให้เข้าไปในบ้านผู้เสียหายอีก ซึ่งจำเลยก็ยอมรับที่จะปฏิบัติตาม โดยมีการลงบันทึกประจำวันไว้ที่สถานีตำรวจถึง 2 ครั้ง การที่จำเลยเข้าไปในบ้านผู้เสียหายในเวลากลางคืนโดยมีเจตนาในทางชู้สาวกับภริยาผู้เสียหายอีก ถือได้ว่าจำเลยเข้าไปในบ้านผู้เสียหายโดยไม่มีเหตุอันสมควร จึงมีความผิดฐานบุกรุก / เมื่อการกระทำของจำเลยเป็นความผิดตาม ป.อ. ม.365 (3) อันเป็นบทเฉพาะแล้ว ก็ไม่จำต้องยก ม.364 ซึ่งเป็นบททั่วไปขึ้นปรับบทลงโทษอีก (ม.365 (3) เป็นเหตุฉกรรจ์ของ ม.364 ไม่ใช่บทเฉพาะ)
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 2824/2535 ผู้เสียหายได้ท้าทายให้จำเลยทั้งสองตามไปที่บ้าน เมื่อจำเลยทั้งสองไปถึงบ้านที่เกิดเหตุ พบกับผู้เสียหายจำเลยที่ 1 ก็เข้าไปกล่าวหาว่าผู้เสียหายขับรถชนและชกต่อยผู้เสียหาย โดยมีจำเลยที่ 2 เข้าร่วมเตะและถีบ จำเลยทั้งสองหาเรื่องชวนวิวาทและทำร้ายผู้เสียหาย ในเคหะสถานที่อยู่อาศัยของผู้เสียหายเท่านั้น จะถือเป็นการรบกวนการครอบครองอสังหาริมทรัพย์ของผู้เสียหายยังไม่ได้ จึงไม่เป็นความผิดตาม ป.อ.มาตรา 362 แต่การที่จำเลยทั้งสองเข้าไปทำร้ายผู้เสียหายในเคหสถานของผู้เสียหาย เป็นเหตุหนึ่งที่แสดงถึงความที่ไม่มีเหตุอันสมควรที่จะเข้าไปในเคหสถานของผู้เสียหาย อันเป็นองค์ประกอบความผิดฐานบุกรุก ตาม ป.อ.มาตรา 364
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 69/2539 สนามหญ้าบริเวณที่เกิดเหตุ แม้จะเป็นสนามหญ้าตลอดติดต่อเป็นผืนเดียว ไม่มีรั้วล้อมรอบ ไม่มีเครื่องหมายแสดงให้ทราบว่าเป็นแนวเขตของบ้านพักก็ตาม แต่ก็เป็นที่เห็นได้ว่าบริเวณที่เกิดเหตุซึ่งเป็นสนามหญ้านั้น อยู่หน้าบ้านพักอันเป็นที่อยู่อาศัยของผู้เสียหาย จำเลยที่ 6  เข้าไปในบริเวณดังกล่าว แล้วใช้กำลังประทุษร้ายผู้เสียหาย จึงเป็นการเข้าไปในเคหสถานของผู้เสียหาย โดยไม่มีเหตุอันสมควร อันเป็นความผิดฐานบุกรุกโดยใช้กำลังประทุษร้าย
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 279/2539 แม้จำเลยเข้าไปในบ้านโจทก์ร่วมด้วยความยินยอมของบุตรสาวโจทก์ร่วม แต่เมื่อโจทก์ร่วมได้ห้ามปรามอย่างเด็ดขาดไว้แล้ว ถือว่าเป็นการเข้าไปโดยไม่มีเหตุอันสมควร จึงมีความผิดฐานบุกรุก
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 924/2542 จำเลยกับพวกร่วมกันเข้าไปในเคหสถานของผู้เสียหายอีกคนหนึ่ง ในเวลาประมาณเที่ยงคืนในขณะที่ผู้เสียหายดังกล่าวเข้านอนแล้ว แม้จะมีเจตนาเพียงตามหาคน โดยไม่ได้แสดงอาการข่มขู่ หรือทำร้ายผู้เสียหายดังกล่าวก็ตาม ก็ถือได้ว่าเป็นการเข้าไปโดยไม่มีเหตุอันสมควรอันเป็นการกระทำความผิดตามข้อหาที่โจทก์กล่าวอ้างแล้ว
-          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5613/2550 ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 ว่า ตามวัน เวลา และสถานที่เกิดเหตุในฟ้องจำเลยที่ 1 และที่ 4 เข้าไปชกต่อนายนาวี ยุวบุตร บริเวณแคร่หน้าบ้านของนางลัดดา แสงสา ผู้เสียหาย ซึ่งเป็นมารดาของนายนาวี จำเลยที่ 2 และที่ 3 ซึ่งมีอาวุธมีดเข้าไปช่วยจำเลยที่ 1 และที่ 4 นายนาวีวิ่งเข้าไปในบ้านของผู้เสียหาย จำเลยทั้งสี่วิ่งตามเข้าไปชกต่อนายนาวี ผู้เสียหายไล่ให้นายนาวีและจำเลยทั้งสี่ออกไปชกต่อยกันนอกบ้าน จำเลยทั้งสี่ออกจากบ้านของผู้เสียหายไป มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยทั้งสี่มีความผิดตามฟ้องหรือไม่ เห็นว่า การที่จำเลยทั้งสี่เข้าไปในบ้านของผู้เสียหายเป็นการเข้าไปโดยมีเจตนาทำร้ายนายนาวี แม้เป็นการกระทำที่ต่อเนื่องจากการที่จำเลยทั้งสี่ทำร้ายนายนาวีมาก่อน แต่เมื่อผู้เสียหายไล่ให้จำเลยทั้งสี่ออกจากบ้าน จำเลยทั้งสี่ก็ออกจากบ้านทันที อันจะถือว่าเป็นการรบกวนการครอบครองอสังหาริมทรัพย์ของผู้เสียหายโดยปกติสุขยังไม่ได้ แต่การกระทำของจำเลยทั้งสี่ถือได้ว่าเป็นการเข้าไปในบ้านของผู้เสียหายโดยไม่มีเหตุอันสมควร โดยใช้กำลังประทุษร้าย โดยมีอาวุธ และโดยร่วมกระทำความผิดด้วยกันตั้งแต่สองคนขึ้นไป เข้าองค์ประกอบแห่งความผิดฐานบุกรุกตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 364 และมาตรา 365 (1) (2) แล้ว ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 เห็นว่า จำเลยทั้งสี่ไม่มีความผิดฐานบุกรุกนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น พิพากษากลับว่า จำเลยทั้งสี่มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 365 (1) (2) ประกอบมาตรา 364, 83 ปรับคนละ 2,000 บาท ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30.

-          กรณีขาดองค์ประกอบ ไม่มีเหตุอันสมควร
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 1353/2508 (สบฎ เน 659) บุตรตรีผู้เสียหาย นัดจำเลยและพาขึ้นเรือนเวลา 1 นาฬิกา นับว่ามีเหตุอันสมควร แม้ผู้เสียหายไม่อนุญาต ก็เป็นวิสัยของเรื่องเช่นนี้ที่ต้องปิดบัง จำเลยไม่ผิดบุกรุก มาตรา 364 + 265 (2) (3) (มีหมายเหตุว่า การลักลอบเข้าไป ก็แสดงถึงพฤติการณ์อันไม่สมควรกระทำอยู่แล้ว แต่เหตุที่ไม่เป็นความผิด เพราะได้รับอนุญาตให้เข้าไป)
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 1194/2517 ตำรวจเดินทางไปจับกุมผู้ต้องหาหลบหนีคดีตามหมายจับ พบผู้ต้องหาโดยกระทันหัน ผู้ต้องหาหนีเข้าบ้านโจทก์จึงเข้าไปจับกุมได้ในทันใดนั้น แม้จะไม่มีหมายค้น ก็ไม่เป็นความผิด ตาม ปอ ม 157 และ 364 เพราะเป็นการเข้าไปโดยมีเหตุอันสมควร และผู้ที่เข้าไปช่วยจับกุมตามที่เจ้าพนักงานตำรวจขอให้ช่วยเหลือก็ไม่มีความผิดเช่นกัน
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 2815/2526 วันเกิดเหตุเวลากลางคืน พระภิกษุผู้เสียหายให้ยาแก้หอบแก่ ต.ไปแล้ว ถ.เข้าไปในกุฏิหยิบยาและโต้เถียงกับผู้เสียหายว่า ไม่ใช่ยาแก้หอบ จำเลยตามเข้าไปเห็นยาเข้าใจว่าเป็นยาเสพติดให้โทษ จึงหยิบเอามา เพื่อไม่ให้ผู้เสียหายมีไว้ในครอบครอง และจะเอาไปให้เจ้าอาวาสดู ดังนี้เป็นการเข้าไปโดยมีเหตุอันสมควร ไม่เป็นความผิดฐานบุกรุก
-          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 951/2529 จำเลยได้มาหา จ. ซึ่งอยู่ที่บ้านผู้เสียหายตอนหัวค่ำเพื่อพูดขอยืมเงิน แต่ จ. บอกให้จำเลยกลับไปก่อนค่อยมาตอนดึก ๆ การที่จำเลยเข้าไปในบ้านผู้เสียหายตามเวลานัด จึงไม่ใช่เป็นการเข้าไปบ้านผู้เสียหายโดยไม่ได้รับอนุญาตไม่เป็นความผิดฐานบุกรุก.
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 2041/2529 ผู้ใหญ่บ้านเรียกจำเลยเข้าไปหาที่ใต้ถุนบ้าน จ. เพื่อเจรจาให้ใช้ราคาโอ่งน้ำตามที่ จ.แจ้งความว่าจำเลยทำให้โอ่งน้ำแตก การที่จำเลยถือมีดเหน็บเข้าไปในบริเวณบ้าน ถือได้ว่ามีเหตุอันสมควร เมื่อตกลงกันไม่ได้และเกิดโต้เถียงกัน จ.ให้จำเลยออกไป จำเลยไม่ยอมออก ยังอยู่ในบริเวณใต้ถุนบ้านภายหลังที่ จ.ให้จำเลยออกไป เป็นระยะเวลาต่อเนื่องกับการที่จำเลยโต้เถียงและจะทำร้าย จ.เมื่อมีผู้มากันและรั้งจำเลยให้ออกไป จำเลยก็ยอมออกไป ไม่มีความผิดฐานบุกรุก ตาม ป.อ. ม.364 , 365
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 2075/2529 ภริยาจำเลยทะเลาะกับมารดาจำเลยแล้วออกจากบ้าน มาขอแบ่งเช่าห้องอยู่ในตึกแถวที่เกิดเหตุของผู้เสียหาย ในวันเกิดเหตุนั้นเอง การที่จำเลยเข้าไปในตึกที่เกิดเหตุ เพื่อไปติดตามภริยา ย่อมมีเหตุอันสมควร และหาเป็นการรบกวนการครอบครองอสังหาริมทรัพย์โดยปกติสุขของผู้เสียหายซึ่งอยู่ในตึกนั้นไม่ จำเลยไม่มีความผิดฐานบุกรุกตาม ป.อ. ม.362,364
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 3712/2531 ในคืนเกิดเหตุจำเลยซึ่งไม่มีอาวุธอะไรติดตัว ได้เข้ามาเรียกผู้เสียหายที่หน้าประตูบ้านของผู้เสียหาย ให้ออกมาพูดกันให้รู้เรื่อง ผู้เสียหายไม่ออกไป แต่บอกให้จำเลยกลับไป พรุ่งนี้เช้าค่อยมาพูดกันใหม่ จำเลยก็ไม่กลับเช่นนี้ แสดงว่าจำเลยมีเจตนาจะมาปรับความเข้าใจกับผู้เสียหาย เกี่ยวกับเรื่องจำเลยสอบถามจะซื้อรถเข็นที่ทราบว่าผู้เสียหายจะขาย และข้อเท็จจริงปรากฏว่าจำเลยไปมาหาสู่บ้านผู้เสียหายบ่อยครั้ง จึงถือได้ว่าผู้เสียหายได้อนุญาตให้จำเลยเข้าออกในที่ดิน และบ้านเรือนของผู้เสียหายได้เสมอ ที่ผู้เสียหายบอกให้จำเลยกลับบ้านไปพรุ่งนี้ค่อยมาพูดกัน มิใช่หมายความว่าผู้เสียหายไล่จำเลยออกไปจากที่ดิน และบ้านเรือนของผู้เสียหายเป็นเพียงแต่ผู้เสียหายขอให้จำเลย เลื่อนไปพูดจาปรับความเข้าใจกันในวันรุ่งขึ้นเท่านั้น จำเลยจึงมีเหตุอันสมควรที่จะเข้าไปในที่ดินและเคหสถานของผู้เสียหาย ไม่มีความผิดฐานบุกรุก
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 6535/2531 การที่จำเลยที่ 1 เข้าไปในบ้านของโจทก์ร่วมที่ 1 ซึ่งเป็นเพื่อนบ้านที่มีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน เพื่อสอบถามเรื่องราวจากโจทก์ร่วมที่ 2 คนใช้ของโจทก์ร่วมที่ 1 ถึงเรื่องที่โจทก์ร่วมที่ 2 เล่าให้คนใช้ของจำเลยฟังว่า จำเลยที่ 2 สามีของจำเลยที่ 1 เป็นชู้กับคนใช้เก่านั้น กรณียังถือไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1 เข้าไปโดยไม่มีเหตุผลสมควร และการที่จำเลยที่ 2 ตามจำเลยที่ 1 เข้าไปในบ้านของโจทก์ร่วมที่ 1 เมื่อมีเสียงดังขึ้นภายในบ้าน เพื่อดูว่ามีเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้นนั้น ก็ยังถือไม่ได้ว่าจำเลยที่ 2 เข้าไปโดยไม่มีเหตุผลอันสมควรเช่นกัน การกระทำของจำเลยทั้งสองไม่ เป็นความผิดฐานบุกรุกตาม มาตรา 364
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 2549/2532 จำเลยเข้าไปในบ้านผู้เสียหาย เพื่อทวงค่าแรงที่ผู้เสียหายค้างบุตรชายของจำเลย เป็นการเข้าไปโดยมีเหตุผลสมควร โดยสุจริต แม้จำเลยจะได้ถือมีดไปด้วย แต่ก็เป็นเพียงมีดเหลียน ซึ่งโดยทั่ว ๆ ไปใช้สำหรับหวดหญ้า และไม่ปรากฏว่าจำเลยตั้งใจจะไปทำร้ายผู้เสียหายตั้งแต่แรก จึงไม่อาจถือได้ว่าจำเลยมีเจตนาบุกรุก
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 779/2537 จำเลยทั้งสองรู้จักกับผู้เสียหายมาก่อน เคยไปหาผู้เสียหายที่บ้าน เพื่อขอแบ่งผลประโยชน์จากวินรถจักรยานยนต์รับจ้าง ในวันเกิดเหตุจำเลยทั้งสองไปหาผู้เสียหายที่บ้าน เพื่อทวงเสื้อวิน แต่จำเลยที่ 1 กับผู้เสียหายโต้เถียงกัน จนเกิดการยิงกัน โดยไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 2 มีเจตนาจะเข้าไปทำร้ายผู้เสียหายมาก่อน กรณีจะถือว่าจำเลยที่ 2 เข้าไปในบ้านของผู้เสียหายโดยไม่มีเหตุอันสมควรหาได้ไม่ จำเลยที่ 2 ไม่มีความผิดฐานบุกรุก
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 2097/2537 จำเลยเข้าไปอยู่อาศัยในตึกแถวของผู้เสียหาย ก่อนที่สัญญาเช่าระหว่างผู้เสียหายกับ พ. จะครบกำหนด โดย พ. เป็นผู้อนุญาต เป็นการเข้าไปอาศัยอยู่ในฐานะบริวารของ พ.จึงเป็นการเข้าไปโดยมีเหตุอันสมควร ไม่เป็นความผิดตาม ป.พ. มาตรา 364 และการที่จำเลยยังคงอยู่ต่อเนื่องตลอดมา แม้สัญญาเช่าดังกล่าวจะครบกำหนดและ พ. ได้ออกไปแล้ว ทั้งผู้เสียหายได้แจ้งให้จำเลยออกไปแล้ว แต่จำเลยก็ยังไม่ยอมออกไป ก็เป็นเรื่องละเมิดในทางแพ่งเท่านั้น ไม่เป็นความผิดเช่นกัน
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 3481/2537 จำเลยเข้าไปในบ้านของโจทก์โดยมีปืนเป็นอาวุธ เพื่อจะตกลงกับโจทก์เรื่องดำเนินกิจการต้มหอย แล้วปล่อยให้มีกลิ่นเหม็น นับว่าเป็นการเข้าไปโดยมีเหตุอันสมควร แม้จะมีปืนติดตัวไปด้วย ก็ไม่ทำให้การเข้าไปนั้น กลับไม่มีเหตุอันสมควรอันจะเป็นความผิดฐานบุกรุกแต่อย่างใด
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 4711/2542 การที่จำเลยที่ 3 จับกุมโจทก์จึงเป็นการกระทำที่ชอบด้วยกฎหมาย และไม่เป็นความผิดฐานบุกรุก และการที่จำเลยที่ 1 เข้าไปในบ้านของโจทก์เพื่อชี้ให้จำเลยที่ 3 จับกุมโจทก์ก็เป็นการเข้าไปโดยมีเหตุอันสมควร ไม่เป็นความผิดฐานบุกรุกเช่นเดียวกัน
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 6506/2542 จำเลยเข้าไปบ้านของผู้เสียหายที่ 1 เพราะต้องการจะไปหา ส. ซึ่งเป็นภริยาและบุตรของจำเลยซึ่งเพิ่งคลอดจาก ส. แม้ ม. จะห้ามไม่ให้เข้าบ้านโดยอ้างว่า ส. ไม่อยู่ จำเลยก็ไม่ยอมฟัง เพราะจำเลยไม่เชื่อว่า ส. จะไม่อยู่ในบ้านดังกล่าว การที่จำเลยเข้าไปในบ้านของผู้เสียหายที่ 1 จึงมีเหตุอันสมควร เพื่อต้องการไปหาภริยาและบุตรของจำเลย จำเลยไม่มีเจตนาบุกรุก (โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษตาม มาตรา 362, 364, 365)
-          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5177/2549 จำเลยเข้าไปในบ้านผู้เสียหายโดยการเชิญชวนของบุตรสาวผู้เสียหาย แม้ผู้เสียหายจะมิได้อนุญาตให้จำเลยเข้าไปในบ้านก็ตาม แต่จำเลยก็ได้รับอนุญาตจากบุตรสาวผู้เสียหายให้เข้าไปในบ้านดังกล่าวแล้ว การกระทำของจำเลยจึงมิใช่เป็นการเข้าไปในบ้านผู้เสียหายโดยไม่ได้รับอนุญาตหรือโดยไม่มีเหตุอันสมควร ทั้งมิใช่เป็นการเข้าไปเพื่อกระทำการใด ๆ อันเป็นการรบกวนการครอบครองอสังหาริมทรัพย์ของผู้เสียหายโดยปกติสุขตาม ป.อ.มาตรา 362, 364

-          ขาดเจตนาบุกรุก
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 951/2529 สามี จ.ไปทำงานต่างประเทศ จ.จึงอยู่บ้านผู้เสียหายซึ่งเป็นน้องสาว ตอนดึกคืนเกิดเหตุจำเลยเข้าไปในบ้านผู้เสียหายโดย จ.นัดให้จำเลยมา จึงไม่ใช่เป็นการเข้าไปในบ้านผู้เสียหายโดยไม่ได้รับอนุญาต จำเลยไม่มีความผิดฐานบุกรุก (สบฎ เน น่าจะพิมพ์ผิด) แม้ จ. จะเป็นเพียงผู้อาศัยผู้เสียหาย ก็ไม่ทำให้การกระทำของจำเลยกลายเป็นบุกรุก
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 5428/2540 บ้านเกิดเหตุมีฝาทึบสูงเกือบถึงฝ้าเพดาน ไม่น่าเชื่อว่าแสงจันทร์จะส่องเข้าไปถึงได้ ที่ผู้เสียหายเบิกความว่าเห็นคนร้าย จำได้ว่าเป็นจำเลยขณะที่จำเลยกำลังออกประตูนั้นไม่น่าเชื่อ เพราะขณะคนร้ายออกจากประตูบ้านคนร้ายหันหลังให้ผู้เสียหาย ประกอบกับขณะเกิดเหตุเป็นเวลากลางคืนและคนร้ายกำลังหนีซึ่งน่าจะไปด้วยความรีบร้อน โจทก์มีผู้เสียหายเป็นประจักษ์พยานเพียงปากเดียวจำเลยให้การปฏิเสธตลอดมา จึงมีความสงสัยตามสมควรว่า จำเลยเป็นคนร้ายที่เข้าไปในบ้านและกระทำชำเราผู้เสียหายหรือไม่  ให้ยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้จำเลยตาม ป.วิ.อ. มาตรา 227 วรรคสอง ส่วนความผิดในข้อหาบุกรุกนั้น ก. เจ้าของบ้านเบิกความรับว่า  เมื่อจำเลยเมาสุราจำเลยจะมานอนบนฉางข้าวเป็นประจำ ทั้งในวันเกิดเหตุเมื่อ ก. พบจำเลยนอนบนฉางข้าว ก. ก็มิได้ว่ากล่าว จึงเชื่อว่าจำเลยเข้าไปนอนบนฉางข้างโดยวิสาสะ มิได้มีเจตนาบุกรุก จำเลยจึงไม่มีความผิดตาม ป.อ. มาตรา 364
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 12482/2547 ผู้เสียหายและจำเลยเคยมีความสัมพันธ์กันฉันชู้สาว ในวันเกิดเหตุ จำเลยมาหาผู้เสียหายที่บ้านและกอดรัดผู้เสียหาย ในฐานะที่เคยมีความสัมพันธ์กันมาก่อน แม้ผู้เสียหายจะปฏิเสธและจำเลยไม่เลิกรา ก็น่าจะเป็นเพราะจำเลยต้องการแสดงความรักต่อผู้เสียหาย ตามวิสัยชายที่มีต่อหญิงที่เคยมีความสัมพันธ์กันมาก่อน การกระทำของจำเลยจึงขาดเจตนาบุกรุก และขาดเจตนาอนาจารผู้เสียหาย

-          ตัวอย่างประเด็นข้อสอบเก่า มาตรา 364
-          (ขส เน 2510/ 6) นายอ่ำเข้าไปในบ้านนายจิต แล้วดึงมือนายแสงออกมาหน้าบ้าน และเตะนายแสง 1 ที เพราะโกรธมานานแล้ว / นายอ่ำผิด ม 364 เพราะเข้าไปในบ้านนายจิตโดยไม่มีเหตุอันสมควร (ผิดฐานบุกรุกหรือไม่ ถามเรื่องบุกรุกอย่างเดียว)

-          (ขส พ 2517/ 9) จ กับ ส ลงหุ้นกันรับจ้าง ส กับพวกแต่งกายเป็นทหารและมีปืน เข้าไปเคหสถานของ จ บอกให้คิดบัญชีเพื่อขอรับส่วนแบ่ง จ ไม่ยอม การเข้าไปขอให้คิดบัญชีในการเป็นหุ้นส่วน มีเหตุสมควร ไม่ผิดฐานบุกรุก ส ไม่ได้ข่มขืนใจ เพื่อให้ได้ทรัพย์สิน ได้แต่เพียงสิทธิในฐานะหุ้นส่วน ไม่ผิดกรรโชก ม 337 ส กับพวกผิดฐานพยายาม ม 309 ว 2 , 80 ฎ 1447/2513

-          (ขส อ 2531/ 4) เขียวปลูกบ้านบนที่ดินเช่าซื้อโดยได้รับความยินยอม ไม่เป็นส่วนควบ ม 146 / เขียวผู้เช่าซื้อหนีไป ไม่ชำระค่าเช่า ผู้ให้เช่าบอกเลิกสัญญา แล้วจดทะเบียนขายบ้านพร้อมที่ดินให้ขาว ขาวไม่ทราบว่าบ้านเป็นของเขียว และได้เข้าอยู่แล้ว / เขียวชวนดำและแดงไปรื้อบ้าน ไม่ผิด ม 358 ไม่รู้ว่าขาวเข้าอยู่แล้ว ไม่ผิด ม 364 (แปลกดี มามุขนี้)
-          (ขส อ 2542/ 4) เข้าไปรับเมีย แม้ถูกแม่ยายห้าม ก็มีเหตุอันควร ไม่ผิด ม 364 6506/2542 / ผลักแม่ยาย ผิด ม 391



มาตรา 365     ถ้าการกระทำความผิดตามมาตรา 362 มาตรา 363 หรือมาตรา 364 ได้กระทำ
(1)   โดยใช้กำลังประทุษร้าย หรือขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้าย
(2)   โดยมีอาวุธ หรือโดยร่วมกระทำความผิดด้วยกันตั้งแต่สองคนขึ้นไป หรือ
(3)   ในเวลากลางคืน
ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

-          คำพิพากษาฎีกาที่ 453/2522 ความผิดฐานบุกรุกเกิดขึ้น เมื่อจำเลยเข้าไปปลูกเรือนอยู่ในที่ดินของผู้เสียหาย หาใช่เป็นความผิดอยู่ตลอดเวลาที่จำเลยอยู่ในเรือนในที่ดินที่ได้บุกรุกหรือตลอดเวลาที่เรือนยังปลูกอยู่ไม่ ความผิดของจำเลยตาม ป.อ.ม.365 มีอัตราโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี โจทก์ฟ้องเกิน 10 ปี นับแต่วันที่จำเลยเข้าไปปลูกเรือนอยู่ในที่ดินของผู้เสียหาย จึงขาดอายุความ
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 2853/2539 จำเลยเข้าไปในบ้านผู้เสียหายเพื่อชมรายการโทรทัศน์ โดยได้รับความยินยอม ยังฟังไม่ได้ว่าเข้าไปโดยไม่มีเหตุอันสมควร และมีเจตนารบกวนการครอบครอง ขณะจำเลยจะออกจากบ้าน ได้ถือโอกาสกระทำอนาจารแก่ผู้เสียหาย ก็ไม่ผิดฐานบุกรุกตาม ป.อ. มาตรา 364 จึงไม่เป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 365 (1) (3) ด้วย / ที่ศาลอุทธรณ์ฟังว่า เมื่อผู้เสียหายให้จำเลยกลับออกจากบ้านไปแล้ว จำเลยใช้กำลังประทุษร้ายกระทำอนาจารแก่ผู้เสียหาย เป็นกรณีที่จำเลยไม่ยอมออกจากบ้านผู้เสียหาย เมื่อผู้เสียหายให้ออกไป จึงมีความผิดฐานบุกรุกนั้น เป็นการพิพากษาเกินคำขอ

-          มาตรา 365 (1)
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 585/2511 การเข้าไปทำร้ายผู้อื่นในเคหสถาน ถือว่าเป็นการเข้าไปโดยไม่มีเหตุอันควร จึงผิดทั้งฐานทำร้ายร่างการและบุกรุก
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 2360/2531 จำเลยเข้าไปในเคหสถานของผู้เสียหายแล้วใช้กำลังทำร้ายผู้เสียหายทันทีเป็นการกระทำที่ต่อเนื่องในคราวเดียวกันและจำเลยมีเจตนาเข้าไปเพื่อจะกระทำร้ายผู้เสียหาย ดังนี้จึงเป็นการกระทำกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท.(ที่มา-ส่งเสริมฯ)  ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า '...แม้โจทก์จะบรรยายฟ้องไว้ชัดแจ้งว่า จำเลยกระทำความผิดฐานบุกรุกเคหสถานของผู้เสียหายฐานหนึ่ง และกระทำความผิดฐานทำร้ายร่างกายผู้เสียหายอีกฐานหนึ่ง เพื่อแสดงว่าจำเลยกระทำความผิดต่อกฎหมายหลายกรรมต่างกัน และจำเลยได้ให้การรับสารภาพก็ตาม แต่ข้อเท็จจริงที่โจทก์บรรยายมาตามฟ้องฟังได้ว่า เมื่อจำเลยเข้าไปในเคหสถานของผู้เสียหายแล้วก็ใช้กำลังกระทำร้ายผู้เสียหายทันที จึงแสดงให้เห็นว่า เป็นการกระทำที่ต่อเนื่องในคราวเดียวกัน และเห็นเจตนาของจำเลยได้ว่า จำเลยมีเจตนาเข้าไปในเคหสถานของผู้เสียหายเพื่อประสงค์ต่อผลโดยตรงในการที่จะกระทำร้ายร่างกายผู้เสียหาย การกระทำของจำเลยจึงเป็นกรรมเดียว เป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท มิใช่เป็นความผิดหลายกรรมต่างกันดังที่โจทก์ฎีกา คำพิพากษาศาลอุทธรณ์จึงชอบด้วยเหตุผลแล้ว ฎีกาของโจทก์จึงฟังไม่ขึ้น'
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 321/2535 จำเลยป่วยเป็นโรคจิตได้บุกรุกเข้าไปในบ้านผู้เสียหายและใช้อาวุธปืนยิงพยายามฆ่าผู้เสียหาย จากนั้นจำเลยวิ่งหลบหนีการจับกุมของเจ้าพนักงานตำรวจเข้าไปในบ้านร้างแล้วจำเลยแกล้งยิงปืน 1 นัดและใช้เท้ากระทืบพื้น เป็นการลวงว่าจำเลยฆ่าตัวตายเพื่อให้พวกเจ้าพนักงานตำรวจขึ้นไปบนบ้าน จำเลยจะได้ยิงบุคคลเหล่านั้น แต่เมื่อผู้กำกับการตำรวจมาถึงจำเลยก็ยินยอมมอบตัวโดยดี ตามพฤติการณ์ดังกล่าวจำเลยยังสามารถรู้ผิดชอบและยังสามารถบังคับตนเองได้ศาลจะลงโทษจำเลยน้อยกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดนั้นก็ได้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 65 วรรคสอง สำหรับปัญหาว่า การที่จำเลยถืออาวุธปืนบังคับให้ผู้เสียหายเปิดประตูบ้านแล้วเข้าไปในบ้านกับผู้เสียหาย จำเลยไม่ได้ยิงผู้เสียหายทันที แต่เพิ่งยิงผู้เสียหายเมื่อผู้เสียหายไม่ยอมเข้าไปในห้องนอนกับจำเลยตามที่จำเลยต้องการ และกระสุนปืนถูกกระจกหน้าต่างและโต๊ะของผู้เสียหายด้วย จะเป็นความผิดกรรมเดียวหรือหลายกรรมนั้น เห็นว่าเจตนาของจำเลยที่บุกรุกเข้าไปในเคหสถานของผู้เสียหายนั้น จำเลยมิได้มีเจตนาแต่แรกที่จะเข้าไปยิงผู้เสียหายจึงเป็นความผิดสองกรรม แต่การที่จำเลยใช้อาวุธปืนยิงพยายามฆ่าผู้เสียหาย และกระสุนปืนยังไปถูกกระจกหน้าต่างและโต๊ะของผู้เสียหายอันเป็นการทำให้เสียทรัพย์ด้วยนั้น จำเลยมีเจตนายิงผู้เสียหายเป็นสำคัญ การกระทำของจำเลยฐานพยายามฆ่าและทำให้เสียทรัพย์นั้นเป็นกรรมเดียวกันเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 69/2539 สนามหญ้าบริเวณที่เกิดเหตุ แม้จะเป็นสนามหญ้าตลอดติดต่อเป็นผืนเดียว ไม่มีรั้วล้อมรอบ ไม่มีเครื่องหมายแสดงให้ทราบว่าเป็นแนวเขตของบ้านพักก็ตาม แต่ก็เป็นที่เห็นได้ว่าบริเวณที่เกิดเหตุซึ่งเป็นสนามหญ้านั้น อยู่หน้าบ้านพักอันเป็นที่อยู่อาศัยของผู้เสียหาย จำเลยที่ 6  เข้าไปในบริเวณดังกล่าว แล้วใช้กำลังประทุษร้ายผู้เสียหาย จึงเป็นการเข้าไปในเคหสถานของผู้เสียหาย โดยไม่มีเหตุอันสมควร อันเป็นความผิดฐานบุกรุกโดยใช้กำลังประทุษร้าย

-          คำชี้ขาดฯ ที่ 72/2541 (อัยการนิเทศ 2542 เล่ม 61 ฉบับ 1 หน้า 22) ผู้ต้องหาปีนรั้วเข้าไปในบริเวณบ้านของผู้เสียหาย เพื่อจะทุบรถยนต์ เป็นการกระทำความผิดฐานบุกรุกสำเร็จแล้ว แม้หลังจากนั้นผู้ต้องหาจะเข้าไปในบ้านและทำร้ายผู้เสียหายอีก การกระทำของผู้ต้องหา ก็ไม่ใช่การใช้กำลังประทุษร้ายเพื่อบุกรุกเข้าไปในเคหสถาน เพราะผู้ต้องหามิได้ใช้กำลังประทุษร้ายผู้หนึ่งผู้ใด เพื่อเข้าไปในเคหสถานนั้น การกระทำของผู้ต้องหาจึงไม่เป็นความผิดฐานบุกรุกเคหสถาน โดยใช้กำลังประทุษร้าย แต่เป็นความผิดฐานทำร้ายร่างกายอีกฐานหนึ่งต่างหาก

-          มาตรา 365 (2)
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 1314/2526 จำเลยกับผู้เสียหายอยู่กินด้วยกัน โดยไม่ได้จดทะเบียนสมรสเพียง 2 เดือนก็เลิกกัน ต่อมาจำเลยฟ้องเรียกเอาค่าสินสอดคืนจากฝ่ายผู้เสียหาย ศาลพิพากษายกฟ้อง แสดงว่าจำเลยได้แสดงเจตนาเลิกกับผู้เสียหายโดยเด็ดขาดแล้ว ผู้เสียหายมีความสัมพันธ์ฉันสามีภริยากับจำเลยอีกต่อไปไม่ ผู้เสียหายขี่รถจักรยานยนต์มีคนนั่งซ้อนท้ายมาด้วย จำเลยเข้ามาขวางกระชากแขนผู้เสียหายลงจากรถ เข้ากอดปล้ำและพยายามฉุดให้ไปกับจำเลย จำเลยจึงมีความผิดฐานกระทำอนาจารตาม ป.อ.ม.278 / จำเลยเรียกให้เปิดประตูรั้ว ผู้เสียหายไม่ยอมเปิด จำเลยซึ่งเลิกร้างกับผู้เสียหายไปแล้ว  จึงไม่มีสิทธิผลักประตูรั้วเข้าไปในบ้านผู้เสียหายโดยพลการ เมื่อเข้าไปโดยไม่มีเหตุสมควร และพูดจาข่มขู่ผู้เสียหายด้วย ตามพฤติการณ์ที่จำเลยฉุดกระชาก และกอดปล้ำผู้เสียหาย และยังตามมารบกวนข่มขู่ถึงบ้าน โดยมีอาวุธปืน จึงมีความผิดตาม ม.365 (2) อีกระทงหนึ่ง
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 3892/2529 จำเลยทั้งสองและพวกบุกรุกเข้าไปขับไล่ให้ผู้เสียหายออกไปจากขนำของผู้เสียหาย ครั้นผู้เสียหายขัดขืนจำเลยที่ 1 และพวกจึงใช้ปืนยิงขู่จนผู้เสียหายตกใจกลัว แล้วออกจากขนำ ผิดกรรมเดียว 365 (2) + 392 ลงโทษ 365 (2)

-          มาตรา 365 (3)
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 1936/2522 ปลูกบ้านอยู่ในที่ดินของรัฐ ในความดูแลของสุขาภิบาล จำเลยไม่ยอมออก เมื่อสุขาภิบาลแจ้งให้รื้อถอนออกไป จำเลยมีเจตนาทุจริตที่จะบุกรุกที่ดิน เป็นความผิดตั้งแต่นั้น ต่อเนื่องตลอดไป ตราบเท่าที่ยังคงอยู่ในที่ดิน รวมทั้งเวลากลางคืน ตาม ม.365 (3) ด้วย
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 1699/2529 เวลา 5.30 น. จำเลยซึ่งเป็นเจ้าของรถจักรยานที่เอาไปจำนำไว้กับผู้เสียหาย เข้าไปในบ้านผู้เสียหายเพื่อเอารถจักรยานคืน โดยมีอาวุธปืนติดตัว ดังนี้ เป็นการเข้าไปในเคหสถานของผู้เสียหายโดยไม่มีเหตุอันสมควร จำเลยมีความผิดฐานบุกรุกตาม ป.อ. ม.365 / เมื่อผู้เสียหายส่องไฟฉายมาที่จำเลย จำเลยก็ยิงผู้เสียหายแล้วจึงเอารถจักรยานไป ดังนี้ ยังไม่แน่ชัดว่าจำเลยกระทำไป เพื่อปกปิดความผิดฐานบุกรุก จำเลยอาจยิงเพื่อมิให้ผู้เสียหายขัดขวางการเข้าไปเอารถจักรยานก็ได้ ทั้งโจทก์ก็มิได้บรรยายฟ้องในส่วนนี้ จึงลงโทษจำเลยตาม ม.289 ประกอบด้วย ม.80 ไม่ได้ คงมีความผิดตาม ม.288 ประกอบด้วย ม.80
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 2886/2539 ความผิดฐานบุกรุกอสังหาริมทรัพย์  ตาม  ป.อ. มาตรา 362 มี 2 ตอน ตอนหนึ่งคือเข้าไปเพื่อถือการครอบครอง  อีกตอนหนึ่งคือเข้าไปทำการรบกวนการครอบครองของเขา จำเลยเข้าไปและครอบครองที่พิพาทของโจทก์ร่วมตลอดเวลาต่อ ๆ มานั้น การกระทำอันหนึ่งคือการเข้าไป แม้จะล้อมรั้วและครอบครองตลอดมาก็เป็นการกระทำอีกชั้นหนึ่ง การกระทำในส่วนหลังเป็นการกระทำผิดโดยลำพังแต่ประการเดียวไม่ได้ เมื่อการเข้าไปอันเป็นการกระทำส่วนแรกยุติเสร็จสิ้นลงแล้ว การกระทำในส่วนหลังต่อๆ มาก็ไม่เป็นความผิดต่อเนื่องติดต่อเกิดขึ้นตลอดเวลาได้ เพราะความผิดฐานบุกรุกได้เกิดขึ้นและสำเร็จแล้ว เมื่อจำเลยเข้าไปกระทำการดังกล่าว ส่วนการครอบครองที่ดินต่อมาเป็นเพียงผลของการบุกรุก การกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 365

มาตรา 366     ความผิดในหมวดนี้ นอกจากความผิดตามมาตรา 365 เป็นความผิดอันยอมความได้

-          การนับอายุความคดีบุกรุก
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 2253/2531 จำเลยเข้าไปปักเสา และปลูกต้นมะขามในที่ดินของโจทก์ ก็เพื่อถือการครอบครองที่ดินของโจทก์ ดังนั้น ความผิดฐานบุกรุกได้เกิดขึ้นและสำเร็จแล้วเมื่อจำเลยเข้าไปกระทำการดังกล่าว ส่วนการครอบครองที่ดินต่อมาเป็นเพียงผลของการบุกรุก การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดต่อเนื่องตราบเท่าที่จำเลยยังถือการครอบครองที่ดินของโจทก์
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 435/2535 การที่จำเลยเข้าไปสร้างรั้ว ท้องครัว ห้องน้ำในที่ดินของโจทก์เพื่อถือการครอบครองเป็นของตนนั้น ความผิดฐานบุกรุกเกิดขึ้นและสำเร็จ เมื่อจำเลยเข้าไปกระทำการดังกล่าว ส่วนการที่จำเลยครอบครองที่ดินต่อมาเป็นเพียงผลของการบุกรุกเท่านั้น หาเป็นความผิดต่อเนื่องไม่
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 2269/2538 โจทก์และโจทก์ร่วมนำสืบไม่ได้ ว่าจำเลยเริ่มบุกรุกเข้าไปปลูกสร้างบ้านในที่ดินของโจทก์ร่วม ในเวลากลางวันหรือกลางคืน จึงฟังให้เป็นคุณแก่จำเลยว่าจำเลยบุกรุกในเวลากลางวัน และความผิดนี้เกิดขึ้นตั้งแต่ครั้งแรกที่จำเลยบุกรุกเข้าไป ส่วนการครอบครองที่ดินดังกล่าวต่อมาเป็นเพียงผลของการบุกรุก ไม่ใช่เป็นความผิดต่อเนื่อง จึงเป็นความผิดตาม ป.อ.มาตรา 362 บทเดียว หาเป็นความผิดตามมาตรา 365 (3) อีกบทหนึ่งไม่ โจทก์ร่วมร้องทุกข์วันที่ 7 พฤษภาคม 2534 ทั้งที่ทราบเรื่องแล้วตั้งแต่ต้นปี 2526 คดีโจทก์จึงขาดอายุความ
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 815/2541 จำเลยนำรถจักรยานยนต์เข้าไปจอดและตั้งแสดงบนที่ดินของโจทก์ร่วม ที่อยู่ติดกับร้านขายรถจักรยานยนต์ของจำเลยเพื่อขายในเวลากลางวัน และนำเข้าเก็บรักษาในร้านในเวลากลางคืน เป็นการเคลื่อนย้ายรถจักรยานยนต์ ออกไปจากที่ดินของโจทก์ร่วมเป็นการชั่วคราว เพื่อจะนำเข้าไปตั้งแสดงใหม่ในวันรุ่งขึ้นด้วย จุดประสงค์เดียวกันกับที่ได้กระทำมาแล้วในครั้งแรกอีก แม้จะมีการกระทำหลายครั้ง แต่ก็เป็นเพียงการกระทำที่ยืดออกไปจากการกระทำความผิดครั้งแรก และเป็นเพียงผลของการบุกรุกที่ได้กระทำสำเร็จไปแล้ว ต้องถือว่าการกระทำของจำเลย เป็นความผิดกระทงเดียวนับแต่การกระทำความผิดครั้งแรกสำเร็จลง / ความผิดฐานบุกรุกเป็นความผิดอันยอมความได้ โจทก์ร่วมรู้เรื่องความผิด และรู้ตัวผู้กระทำความผิดตั้งแต่เดือนมีนาคม 2536 แต่เพิ่งร้องทุกข์ เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2537 พ้นกำหนด 3 เดือนแล้ว คดีโจทก์จึงขาดอายุความ

ไม่มีความคิดเห็น: