มาตรา 184 ผู้ใดเพื่อจะช่วยผู้อื่นมิให้ต้องรับโทษ หรือให้รับโทษน้อยลง ทำให้เสียหาย ทำลาย ซ่อนเร้น เอาไปเสีย หรือทำให้สูญหายหรือไร้ประโยชน์ ซึ่งพยานหลักฐานในการกระทำความผิด ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
- คำพิพากษาฎีกาที่ 3964/2532 (สบฎ เน 61) จำเลยดำรงตำแหน่งป่าไม้อำเภอ ได้ร่วมกับพวก เผาไม้ท่อน 12 ท่อน ที่พนักงานสอบสวนได้ยึด และรักษาไว้ เพื่อเป็นพยานหลักฐาน โดยไม้ดังกล่าวมีดวงตราประจำตัวของจำเลยตีประทับที่หน้าตัดของไม้ทุกท่อน และกำลังอยู่ในระหว่างตรวจสอบ จำเลยกระทำไปด้วยเจตนาเพื่อช่วยตนเอง ให้พ้นจากความผิดที่ตนอาจได้รับ การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดตาม มาตรา 184 แต่เป็นความผิดตาม มาตรา 142
- ตัวอย่างประเด็นข้อสอบเก่า มาตรา 184
- (ขส พ 2511/ 7) สมัครทำสร้อยหาย / สมานเก็บได้นำให้นายสมัยซึ่งเป็นบิดา / ตำรวจดับเพลิงได้รับแจ้งให้จับกุมสมาน จึงเรียกสมานมาขู่เอาเงิน เมื่อได้เงิน จึงไม่จับ / บิดากลัวสมานมีความผิด จึงโยนสร้อยทิ้ง / สมานผิดฐานยักยอก ม 352 ว 2 / สมัยผิด ม 184 ประกอบ ม 193 และอาจผิดรับของโจร (แล้วแต่ผู้สอบ จะให้ความเห็นว่า สมัยรู้หรือไม่) (ถ้าบิดาของสมาน รับไว้โดยไม่รู้ว่าสมานได้ทรัพย์มาจากการยักยอกทรัพย์สินหาย บิดาก็ไม่มีความผิดฐานรับของโจร เพราะขาดเจตนา ตาม ม 59 ว 3 / แต่หากรู้ก็เป็นความผิดฐานรับของโจร แต่ไม่ผิดฐานสนับสนุนการยักยอกทรัพย์ เพราะความผิดฐานยักยอกสำเร็จลงแล้ว การรับทรัพย์ไว้ จึงไม่ใช่การสนับสนุน) / ตำรวจผิด ม 149 , 200 , 83 ประกอบ ป.วิ.อาญา มาตรา 17
- (ขส อ 2536/ 3) สามียิงบิดา เพราะโกรธเรื่องพินัยกรรม แล้วหนี ภรรยากลัวตำรวจจับสามี จึงหั่นศพทิ้ง ฝังปืน เผาพินัยกรรม ภรรยาผิด มาตรา 199 (+ปวิอ มาตรา 150 ทวิ) / +184 + 188 + 358 (ส่วนของ มาตรา 184 อ้าง มาตรา 193)
มาตรา 185 ผู้ใดทำให้เสียหาย ทำลาย ซ่อนเร้น เอาไปเสีย หรือทำให้สูญหายหรือไร้ประโยชน์ ซึ่งทรัพย์หรือเอกสารใดที่ได้ส่งไว้ต่อศาล หรือที่ศาลให้รักษาไว้ในการพิจารณาคดี ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
- คำพิพากษาฎีกาที่ 1036/2533 (วรสารอัยการ สิงหาคม 2533 น 93) สมุดเงินฝากออมสินที่วางเป็นหลักประกันจำเลยในคดีอาญา แม้จะเลยจะแจ้งเท็จต่อเจ้าพนักงาน เพื่อให้ออกสมุดเงินฝากใหม่ แล้วเบิกเงินเอาไปเสีย ก็ยังไม่เป็นความผิดฐานทำให้เสียภาย หรือไร้ประโยชน์แก่สมุดเงินฝากออมสินดังกล่าว ในการพิจารณาคดี เพราะสิ่งที่จะต้องส่งหรือรักษาไว้ในการพิจารณาคดีนั้น หมายถึงสิ่งที่จะต้องส่งหรือรักษาไว้ เพื่อวินิจฉัยประเด็นในการพิจารณาคดี สมุดฝากเงินออมสิน เพียงแต่ได้ส่งหรือรักษาไว้ในฐานะที่เป็นหลักประกันในการปล่อยชั่วคราวจำเลยในคดีอาญาเท่านั้น เมื่อการกรทำตามฟ้องไม่เป็นความผิด แม้จำเลยจะให้การรับสารภาพ ศาลยกฟ้องได้
- คำพิพากษาฎีกาที่ 1300/2539 (สบฎ เน 23) จำเลยฟ้อง ป ลูกหนี้ ศาลชั้นต้น ออกหมายตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดีเพื่อยึดอายัดทรัพย์สินของ ป ในชั้นบังคับคดี เพื่อนำเงินที่ศาลอีกคดีหนึ่งมีคำสั่งให้ยึดอายัดไว้ชั่วคราว จำเลยไม่มีความผิด มาตรา 185 หรือ 187
มาตรา 186 ผู้ใดทำให้เสียหาย ทำลาย ซ่อนเร้น เอาไปเสีย หรือทำให้สูญหายหรือไร้ประโยชน์ ซึ่งทรัพย์สินที่ได้มีคำพิพากษาให้ริบ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
มาตรา 187 ผู้ใดเพื่อจะมิให้การเป็นไปตามคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาล ทำให้เสียหาย ทำลาย ซ่อนเร้น เอาไปเสีย หรือทำให้สูญหาย หรือไร้ประโยชน์ ซึ่งทรัพย์ที่ถูกยึดหรืออายัด หรือที่ตนรู้ว่าน่าจะถูกยึดหรืออายัด ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
- คำพิพากษาฎีกาที่ 1485/2513 ศาลออกคำบังคับให้จำเลยรื้อบ้านของจำเลย ออกไปจากที่ดินของโจทก์ ปรากฏว่าบ้านนี้ถูกเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาในอีกคดีหนึ่งยึดไว้ เพื่อขายทอดตลาดเอาเงินชำระหนี้ การรื้อบ้านตามคำสั่งศาลเช่นนี้ ไม่เป็นความผิดทางอาญา
- คำพิพากษาฎีกาที่ 1284/2519 ในระหว่างการพิจารณาคดี จำเลยได้โอนขายที่ดินพร้อมด้วยสิ่งปลูกสร้างให้ผู้อื่น การกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 187 ซึ่งหมายความถึง กรณีที่ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งแล้ว จึงจะเป็นความผิด
- คำพิพากษาฎีกาที่ 1089/2522 เจ้าพนักงานบังคับคดีได้ยึดทรัพย์ของ หจก น. แล้วมอบให้ ป.เป็นผู้รักษาทรัพย์ที่ยึด หาก ป.กระทำการใด ๆ แก่ทรัพย์ ที่ยึดให้เสียหาย ผู้เสียหายย่อมได้แก่เจ้าพนักงานบังคับคดีและโจทก์ในคดีเดิม ส่วนผู้ค้ำประกันย่อมไล่เบี้ยเอากับห้างดังกล่าวได้ตามกฎหมาย จึงมิใช่ผู้เสียหาย ตาม ป.ว.อ.ม.2 (4) ไม่มีอำนาจฟ้องขอให้ลงโทษ ป.ตาม ป.อาญา ม.187
- คำพิพากษาฎีกาที่ 1300/2539 การที่ศาลออกหมายบังคับกับคดี เพื่อยึดหรืออายัด ทรัพย์สินของลูกหนี้ หากเจ้าหนี้ ตามคำพิพากษาในคดีก่อนเห็นว่าหนี้ตามคำพิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความ ไม่ถูกต้องหรือไม่ชอบด้วยกฎหมาย ก็คัดค้านไม่ให้ จำเลยนี้เข้ามาเฉลี่ยทรัพย์ได้ การกระทำของจำเลยจึงไม่เข้าลักษณะ อันเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 185 หรือ มาตรา 187
- ตัวอย่างประเด็นข้อสอบเก่า มาตรา 187
- (ขส อ 2542/ 6) สินสมรส ชื่อของสามี คดีฟ้องหย่า พิพากษาให้แบ่งที่ดิน สามีขายไป ผิด ม 352 +187+90 / คนแนะนำให้ขายและซื้อเอาไว้ ผิด ม 352+187+86 (น่าจะ ม 84 และเกลื่อนกลืนเป็นตัวการ ม 83) +357+90 / เมียน้อยรับเงินจากสามีโดยรู้ ไม่ผิด ม 357ว 1 ไม่ใช่ทรัพย์ที่ได้มาโดยตรง
มาตรา 188 ผู้ใดทำให้เสียหาย ทำลาย ซ่อนเร้น เอาไปเสีย หรือทำให้สูญหาย หรือไร้ประโยชน์ ซึ่งพินัยกรรมหรือเอกสารใดของผู้อื่น ในประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี และปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท
- ข้อสังเกต มาตรา 188 โทษหนักกว่า มาตรา 334 แต่เบากว่า มาตรา 335 เพราะ มาตรา 335 มีโทษจำคุกขึ้นต่ำด้วย
- ประเด็นเรื่อง “เอกสาร”
- คำพิพากษาฎีกาที่ 30/2528 แบบพิมพ์เช็คที่ยังไม่ได้กรอกรายการ ยังมิได้ทำให้ปรากฏความหมายหรือเป็นหลักฐานแห่งความหาย จึงไม่เป็นเอกสารตาม ป.อ. มาตรา 1 (7) แม้จำเลยจะเอาแบบพิมพ์เช็คของโจทก์ มากรอกรายการสั่งจ่ายให้แก่จำเลยเอง ก็หาเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 188 ไม่
- คำพิพากษาฎีกาที่ 9/2543 จำเลยลักเอาบัตรเอ.ที.เอ็ม. ของผู้เสียหายไปนั้น เป็นความผิด ทั้งฐานเอาไปเสียซึ่งเอกสารของผู้อื่นตาม ป.อ. มาตรา 188 ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักกว่าความผิดฐานลักทรัพย์ตามมาตรา 334 ต้องลงโทษจำเลยตามมาตรา 188
- คำพิพากษาฎีกาที่ 5674/2544 ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า "อนึ่ง การที่จำเลยเอาแบบพิมพ์เช็คของผู้เสียหายไป ซึ่งแบบพิมพ์เช็คที่ยังไม่ได้กรอกรายการเท่ากับยัง มิได้ทำให้ปรากฏความหมายด้วยตัวอักษร ตัวเลข อันเป็นหลักฐานแห่งความหมายนั้น จึงไม่เป็นเอกสารตามมาตรา 1 (7) แห่ง ประมวลกฎหมายอาญา ดังนั้นแม้จำเลยเอาแบบพิมพ์เช็คของผู้เสียหายไปตามฟ้อง ก็หาเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 188 ไม่"
- การ “เอาไปเสีย”
- คำอธิบายกฎหมายอาญา อ.จิตติ ติงศภัทิย์ เล่ม 2 หน้า 183 / เอาไปเสีย – เป็นการย้ายที่ไปให้พ้น เอาไปแล้ว อาจไม่ต้องซ่อนเร้น
- คำพิพากษาฎีกาที่ 375/2518 จำเลยหลอกเอาคู่ฉบับสัญญาจ้างเหมาปลูกตึก ไปจากผู้แทนผู้รับจ้าง แล้วปฏิเสธว่าไม่ได้ทำสัญญาเป็นหนังสือ ทำให้เสียหายแก่ผู้รับจ้าง เป็นความผิดตามมาตรา 188
- คำพิพากษาฎีกาที่ 2254/2521 (สบฎ เน 5633) การเอาโฉนดไว้เพื่อประสงค์จะเอากรรมสิทธิ์ในที่ดิน ไม่มีเจตนายักยอกโฉนดนั้น ไม่มีความผิดฐานยักยอกโฉนด ตามมาตรา 352 แต่เป็นความผิดตามมาตรา 188 / ใช้เอกสารหนังสือมอบอำนาจปลอมลายมือชื่อ นายอำเภอและรอยตราอำเภอแสดงให้เจ้าพนักงานที่ดินโอนกรรมสิทธิ์ที่ดิน เป็นความผิดตาม ม.252, 267, 268 ลงโทษตาม ม.252 บทหนัก
- คำพิพากษาฎีกาที่ 1367/2531 การที่จำเลยเอาหนังสือสัญญาจะซื้อขายที่ดินที่จำเลยทำไว้กับโจทก์ร่วม ไปจากโจทก์ร่วม และนำไปใช้อายัดต่อเจ้าพนักงานที่ดิน ห้ามทำนิติกรรมใด ๆ เกี่ยวกับที่ดินแปลงนั้น แม้หนังสือสัญญาจะซื้อขายฉบับดังกล่าวจะถูกยกเลิกไปแล้ว โดยคู่สัญญาได้ทำสัญญาขึ้นใหม่แล้วก็ตาม การกระทำของจำเลย ก็ถือได้ว่าเป็นการเอาไปเสียซึ่งเอกสารของผู้อื่น และทำให้โจทก์ร่วมได้รับความเสียหายแล้ว จึงเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 188
- คำพิพากษาฎีกาที่ 898/2537 จำเลยเอาเอกสารเกี่ยวกับการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์รถยนต์ ซึ่งเป็นของโจทก์ร่วม ไปจากโจทก์ร่วม แล้วนำไปดำเนินการโอนทะเบียนรถยนต์ให้แก่ผู้อื่น แสดงให้เห็นว่าจำเลยมีเจตนาเอาเอกสารของโจทก์ร่วมไป โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่โจทก์ร่วม จึงเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 188
- คำพิพากษาฎีกาที่ 9/2543 การที่จำเลยเอาบัตร เอ.ที.เอ็ม. ไปจากผู้เสียหาย แล้วนำบัตรเอ.ที.เอ็ม. ดังกล่าวไปลักเอาเงินของผู้เสียหาย โดยผ่านเครื่องฝากถอนเงินนั้น ทรัพย์ที่จำเลยลักเป็นทรัพย์คนละประเภท และเป็นความผิดสำเร็จในตัวต่างกรรมต่างวาระ การลักเอาบัตร เอ.ที.เอ็ม. ไป กับการลักเงินจึงเป็นความผิดหลายกรรม / การที่จำเลยลักเอาบัตรเอ.ที.เอ็ม. ของผู้เสียหายไปนั้น เป็นความผิดทั้งฐานเอาไปเสียซึ่งเอกสารของผู้อื่นตาม ป.อ. มาตรา 188 ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักกว่าความผิดฐานลักทรัพย์ตามมาตรา 334 ต้องลงโทษจำเลยตามมาตรา 188 / บัตรเอ.ที.เอ็ม. ของผู้เสียหาย 2 ใบ เป็นบัตรต่างธนาคารกัน และเงินฝากของผู้เสียหายที่ถูกลักไป ก็เป็นเงินฝากในบัญชีต่างธนาคารกันด้วย เจตนาในการกระทำผิดของจำเลยจึงแยกจากกันได้ ตามความมุ่งหมายในการใช้บัตรแต่ละใบ การกระทำของจำเลยที่ใช้บัตรเอ.ที.เอ็ม. 2 ใบ ของผู้เสียหาย แล้วลักเอาเงินฝากของผู้เสียหายต่างบัญชีกัน แม้จะทำต่อเนื่องกันก็เป็นความผิดสองกรรม
- ประเด็นเปรียบเทียบ เรื่อง การ “เอาไปเสีย”
- คำพิพากษาฎีกาที่ 2323/2534 (สบฏ เน 49) การซื้อขายรถยนต์ระหว่างโจทก์ร่วมและจำเลยเป็นการซื้อขายเสร็จเด็ดขาด กรรมสิทธิ์ในรถและสมุดคู่มือจดทะเบียนรถยนต์ ย่อมตกเป็นของโจทก์ร่วม เมื่อโจทก์ร่วมชำระราคารถยนต์ครบถ้วนแล้ว จำเลยย่อมไม่มีสิทธิยึดหน่วงสมุดคู่มือจดทะเบียนรถยนต์ แต่มีหน้าที่ส่งมอบแก่โจทก์ร่วม การที่จำเลยนำสมุดคู่มือจดทะเบียนรถยนต์ดังกล่าวไปจดทะเบียนใส่ชื่อบริษัท ซ. จำกัด เป็นเจ้าของรถ ถือได้ว่าเป็นการเอาไปเสียซึ่งเอกสารใดของผู้อื่นในประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่น เป็นการผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 188 (เทียบ ฎ 5309/2540)
- คำพิพากษาฎีกาที่ 5309/2540 การที่โจทก์ร่วมฝากให้จำเลยเก็บรักษาหนังสือรับรองการทำประโยชน์ของโจทก์ร่วมไว้ แล้วจำเลยไม่ยอมคืนให้ เมื่อโจทก์ร่วมทวงคืนในภายหลังเป็นกรณีที่ต้องว่ากล่าวกันทางแพ่ง ถือไม่ได้ว่าจำเลยเจตนาเอาเอกสารหนังสือรับรองการทำประโยชน์ ของโจทก์ร่วมไปในลักษณะที่เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 188 ลงโทษจำเลยในข้อหานี้ไม่ได้ (เทียบ ฎ 2323/2534)
- องค์ประกอบทางการกระทำ
- คำอธิบายกฎหมายอาญา อ.จิตติ ติงศภัทิย์ เล่ม 2 หน้า 183 / ซ่อนเร้น – ต้องมีการกระทำอันเป็นปกปิด ไม่ให้พบสิ่งที่ต้องการ /
- กรณี ไม่เข้าองค์ประกอบ “ในประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน”
- คำพิพากษาฎีกาที่ 3242/2516 การทำลายเอกสาร ตาม มาตรา 188 เอกสารจะเป็นเอกสารสิทธิหรือไม่ ไม่สำคัญ ข้อสำคัญอยู่ที่ว่าเอกสารนั้นเป็นของใคร จำเลยทำหนังสือมอบอำนาจให้โจทก์ ร่วมไปจัดการขายที่ดินของจำเลย แต่หนังสือมอบอำนาจมีรอยขีดฆ่า และไม่ได้ลงชื่อกำกับข้อความเกี่ยวกับการเงิน ซึ่งจะต้องแก้ใหม่ให้ถูกต้อง หนังสือมอบอำนาจดังกล่าว จึงยังเป็นเอกสารของจำเลยอยู่ แม้จะได้มอบให้โจทก์ร่วมเอาไปยึดถือ ก็เพื่อเป็นหลักฐานสำหรับดำเนินการตามที่มอบอำนาจเท่านั้น เมื่อการมอบอำนาจไม่เป็นผล หนังสือมอบอำนาจก็เป็นอันหมดประโยชน์แก่โจทก์ร่วม จำเลยผู้เป็นเจ้าของย่อมฉีกหรือทำลายเสียได้ แม้หนังสือมอบอำนาจจะมีข้อความว่าจำเลยได้รับเงินแล้ว ก็ไม่อาจใช้ยันจำเลยได้ เพราะจำเลยไม่รับรองความถูกต้องแห่งเอกสาร การรับเงินจะเป็นความจริงเพียงใด โจทก์ร่วมก็ย่อมนำสืบถึงพฤติการณ์ในทางแพ่งได้อยู่ การที่จำเลยทำลายหนังสือมอบอำนาจดังกล่าว หาก่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ร่วมไม่ การกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิดตาม มาตรา 188
- คำพิพากษาฎีกาที่ 5161/2547 เอกสารข้อมูลเกี่ยวกับหนังสือรับรองของบริษัท บัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้น งบบัญชีกำไร-ขาดทุน และ สำเนาหนังสือเดินทาง เป็นเอกสารที่บุคคลสามารถไปขอตรวจสอบและขอคัดสำเนาได้จากกรมทะเบียนการค้า กระทรวงพาณิชย์จึงไม่ถือเป็นความลับของบริษัทลูกค้าโจทก์ร่วมอันต้องปกปิด การที่จำเลยใช้เอกสารดังกล่าวปฏิบัติในหน้าที่ให้แก่โจทก์ร่วม เสร็จแล้วไม่นำกลับคืนแก่โจทก์ร่วม จึงไม่น่าจะเป็นเหตุให้โจทก์ร่วมหรือลูกค้าของโจทก์ร่วมต้องเสียหาย การกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิดฐานเอาไปเสียซึ่งเอกสารโดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหาย แก่โจทก์ร่วมหรือผู้อื่น / ข้อมูล ตามพจนานุกรมให้ความหมายว่า ข้อเท็จจริง หรือ สิ่งที่ถือหรือยอมรับว่าเป็นข้อเท็จจริง สำหรับใช้เป็นหลักอนุมานหาความจริงหรือการคำนวณ ส่วนข้อเท็จจริง หมายความว่า ข้อความแห่งเหตุการณ์ที่เป็นมาหรือที่เป็นอยู่จริง ข้อความหรือเหตุการณ์ที่จะต้องวินิจฉัยว่าเท็จหรือจริง ดังนั้นข้อมูลจึงไม่นับเป็นวัตถุมีรูปร่าง สำหรับตัวอักษร ภาพ แผนผัง และตราสารเป็นเพียงสัญลักษณ์ที่ถ่ายทอดความหมายของข้อมูลออกจากแผ่นบันทึกข้อมูล โดยอาศัยเครื่องคอมพิวเตอร์ มิใช่รูปร่างของข้อมูล เมื่อ ป.พ.พ. มาตรา 137 บัญญัติว่า ทรัพย์ หมายความว่า วัตถุมีรูปร่าง ข้อมูลในแผ่นบันทึกข้อมูลจึงไม่ถือเป็นทรัพย์ การที่จำเลยนำแผ่นบันทึกข้อมูลเปล่าลอกข้อมูลจากแผ่นบันทึกข้อมูลของโจทก์ร่วม จึงไม่เป็นความผิดฐานลักทรัพย์
- ประเด็นเรื่องความผิดสำเร็จ
- คำพิพากษาฎีกาที่ 1418/2506 การที่จำเลยขอสัญญากู้ที่ทำให้ผู้ให้กู้ไว้มาดูแล้วฉีก แต่ผู้ให้กู้และผู้อื่นช่วยกันแย่งไว้ทัน จำเลยจึงไม่มีโอกาสทำลายสัญญากู้จนใช้ไม่ได้นั้นเรียกได้ว่าน่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้ให้กู้แล้ว ไม่จำเป็นต้องทำลายจนใช้ไม่ได้ผล หรือต้องเอาไปเสียจำเลยจึงมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 188 และเมื่อการกระทำของจำเลยเป็นความผิดแล้ว แม้จำเลยจะชำระเงินกู้ตามสัญญาฉบับนั้นในภายหลัง ก็ไม่ทำให้จำเลยพ้นความผิดไปได้
- คำพิพากษาฎีกาที่ 303/2513 การที่จำเลยได้ฉีกสัญญากู้จนขาดออกเป็นชิ้นๆ โจทก์ร่วมต้องเอามาต่อติดกันจึงอ่านข้อความได้ เช่นนี้ เรียกได้ว่าจำเลยได้ทำให้สัญญากู้เสียหายแล้ว หาจำต้องทำให้สูญสิ้นไปหมดทั้งฉบับ จนกระทั่งไม่มีรูปเป็นเอกสารไม่ เข้าเกณฑ์อันเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 188 แล้ว / เมื่อจำเลยได้ฉีกสัญญาขาดออกจากกันแล้ว การกระทำของจำเลยย่อมเป็นความผิดสำเร็จครบถ้วนองค์ความผิดแล้ว หาใช่อยู่ในขั้นเพียงพยายามกระทำผิดไม่
- กรณีเกี่ยวกับเช็ค
- คำพิพากษาฎีกาที่ 671/2508 ผู้เสียหายซึ่งเป็นผู้ทรงเช็ค ได้ส่งเช็คซึ่งถึงกำหนดแล้ว ให้แก่จำเลยซึ่งเป็นผู้สั่งจ่าย เพื่อให้จำเลยออกเช็คให้ใหม่แทนเช็คฉบับนั้น เพราะธนาคารปฏิเสธการจ่ายว่ามีเงินไม่พอจ่าย จำเลยได้รับเช็คแล้วเอาเช็คนั้นหลบหนีไป และไม่ได้ออกเช็คให้ใหม่ ดังนี้ เป็นการเอาไปเสียซึ่งเป็นความผิดตาม มาตรา 188
- คำพิพากษาฎีกาที่ 185/2517 (อัยการนิเทศ 2538 เล่ม 57 ฉบับ 1 น 37) ผู้ทรงที่ขายเช็คให้แก่ธนาคารไปแล้ว เช็คย่อมเป็นของธนาคาร การที่ผู้จัดการสาขาธนาคาร ไม่ส่งเช็คตามหมายเรียก ยังไม่ถือเป็นการเอาไปเสีย ไม่เป็นความผิดตาม ปอ มาตรา 188
- คำพิพากษาฎีกาที่ 3658/2526 ผู้เสียหายเป็นผู้ทรงเช็คซึ่งจำเลยเป็นผู้สั่งจ่าย โดยมิได้ลงวันเดือนปี ไปขอรับเงินจากจำเลย จำเลยเขียนกรอกวันเดือนปีลงในเช็คย้อนหลังไปจากวันนั้นถึง 8 ปีเศษ แม้หากจำเลยจะมีเงินในบัญชีธนาคาร แต่ธนาคารก็ชอบที่จะปฏิเสธการจ่ายเงินได้ตาม ป.พ.พ.มาตรา 991 (2) และ มาตรา 1002 การกระทำของจำเลยย่อมแสดงว่ามีเจตนาที่จะให้เสียหาย และไร้ประโยชน์ซึ่งเอกสารเช็ค ในประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้เสียหายจึงมีความผิดตาม ป.อ.ม.188
- คำพิพากษาฎีกาที่ 30/2528 แบบพิมพ์เช็คที่ยังไม่ได้กรอกรายการ ยังมิได้ทำให้ปรากฏความหมาย หรือเป็นหลักฐานแห่งความหาย จึงไม่เป็นเอกสารตาม ป.อ. มาตรา 1 (7) แม้จำเลยจะเอาแบบพิมพ์เช็คของโจทก์ มากรอกรายการสั่งจ่ายให้แก่จำเลยเอง ก็หาเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 188 ไม่
- คำพิพากษาฎีกาที่ 2218/2533 ธ.วางแผนจับกุมจำเลยที่หลอกลวง ส. โดยมอบเงินให้จำเลย แล้วจำเลยออกเช็คให้ไว้เป็นหลักประกัน เมื่อจำเลยมอบเช็คให้ ธ.แล้ว เช็คนั้นก็เป็นเอกสารของ ธ. ส่วนเช็คนั้นมีมูลหนี้ที่จะเรียกร้องตามเช็คได้หรือไม่ มิใช่ข้อสำคัญ เพราะความผิดตาม มาตรา 188 นั้น ข้อสำคัญอยู่ที่ว่าเอกสารนั้นเป็นของใคร เมื่อเช็คเป็นของ ธ. จำเลยแย่งมาฉีกทำลาย จึงเป็นการทำลายเอกสารของผู้อื่น และเช็คที่จำเลยมอบให้ ธ. แล้วนั้นจะเป็นพยานหลักฐานสำคัญอย่างหนึ่ง ที่จะใช้พิสูจน์การกระทำของจำเลยที่เป็นการฉ้อโกง จำเลยทำลายเอกสารดังกล่าว เป็นการกระทำน่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่น จึงเป็นความผิดตามมาตรา 188
- คำพิพากษาฎีกาที่ 975/2534 (สบฎ เน 49) จำเลยรับเช็คไว้โดยทราบว่าเป็นทรัพย์อันถูกลักมา อันเป็นความผิดฐานรับของโจร แล้วนำเช็คไปเบิกเงินจากธนาคาร จึงเป็นการเอาไปเสียซึ่งเช็คของผู้เสียหาย ในประการที่น่าจะเกิดความเสียหาย ผิดตาม มาตรา 188 อีกบทหนึ่ง
- คำพิพากษาฎีกาที่ 1918/2537 ลูกจ้าง เอาใบวางบิล กับบิลเงินสด และใบส่งของ ไปเก็บเงินค่าสินค้า โดยเจตนาจะเอาเงิน เป็นการเอาไปเสียซึ่งเอกสาร และการที่เอาเช็คที่ลูกค้าสั่งจ่ายชำระหนี้ ไปเข้าบัญชี เพื่อเรียกเก็บเงินตามเช็คแล้วเบิกเงินไป เป็นของตน เป็นการทำให้เช็ค ไร้ประโยชน์ที่จะใช้ได้อีก ผิดมาตรา 188
- คำพิพากษาฎีกาที่ 9/2543 จำเลยลักเอาบัตรเอ.ที.เอ็ม. ของผู้เสียหายไปนั้น เป็นความผิด ทั้งฐานเอาไปเสียซึ่งเอกสารของผู้อื่นตาม ป.อ. มาตรา 188 ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักกว่าความผิดฐานลักทรัพย์ตามมาตรา 334 ต้องลงโทษจำเลยตามมาตรา 188
- คำพิพากษาฎีกาที่ 1312/2544 จำเลยเป็นพนักงานของโจทก์ร่วมได้รับเช็คของลูกค้าเพื่อชำระค่าสินค้าให้แก่โจทก์ร่วม แต่กลับนำเช็คนั้นไปเบิกเงินแล้วเก็บไว้เอง จึงมีความผิดฐานเอาไปเสียซึ่งเช็คอันเป็นเอกสารของโจทก์ร่วมและทำให้ไร้ประโยชน์ ในประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่โจทก์ร่วมผู้อื่นหรือประชาชนตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 188 และฐานยักยอกเงินตามเช็คตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 352 วรรคแรก
- คำพิพากษาฎีกาที่ 5674/2544 ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า "อนึ่ง การที่จำเลยเอาแบบพิมพ์เช็คของผู้เสียหายไป ซึ่งแบบพิมพ์เช็คที่ยังไม่ได้กรอกรายการเท่ากับยัง มิได้ทำให้ปรากฏความหมายด้วยตัวอักษร ตัวเลข อันเป็นหลักฐานแห่งความหมายนั้น จึงไม่เป็นเอกสารตามมาตรา 1(7) แห่ง ประมวลกฎหมายอาญา ดังนั้นแม้จำเลยเอาแบบพิมพ์เช็คของผู้เสียหายไปตามฟ้อง ก็หาเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 188 ไม่"
- คำชี้ขาดความเห็นแย้งโดยอัยการสูงสุด 31/2537 (อัยการนิเทศ 2538 เล่ม 57 ฉบับ 1 น 33) เมื่อชำระหนี้แล้ว ผู้ต้องหาก็ต้องคืนเช็ค กลับโอนเช็คให้แก่ผู้อื่น เป็นการเอาไปเสียซึ่งเอกสาร และยักยอกเอกสารนั้น (ชี้ขาดให้ฟ้อง ตาม ปอ มาตรา 188 , 352) (หมายเหตุ อ จิตติ เจริญฉ่ำ แย้ง)
- คำชี้ขาดความเห็นแย้งโดยอัยการสูงสุด 38/2537 (รวมคำชี้ขาดฯ 2535 - 2538 เล่ม 1 น 160 ) ผู้ออกเช็คแจ้งให้ผู้ทรงนำเช็คมาเปลี่ยน เมื่อได้เช็คของกลางคืนแล้ว กลับไม่ยอมเปลี่ยนให้ การเอาเช็คของกลาง ไปประทับตราคำว่า “แคนเซิล” ลงไป แล้วไม่เปลี่ยนเช็คให้ เป็นการทำให้เช็คเสียหายหรือไร้ประโยชน์ เป็นความผิด แม้ผู้สั่งจ่ายจะลงลายมือชื่อไม่ครบตามข้อตกลงกับธนาคาร ก็ไม่อาจอ้างกับบุคคลภายนอกได้ การกระทำดังกล่าวเป็นการทำให้เสียหาย หรือไร้ประโยชน์ซึ่งเอกสาร (ชี้ขาดให้ฟ้อง ตาม ปอ มาตรา 188)
- ตัวอย่างประเด็นข้อสอบเก่า มาตรา 188
- (ขส เน 2541/ 3) นายสด ทำพินัยกรรมยกทรัพย์ให้นางสวย โดยมอบเอกสารให้พระเก็บ แล้วตาย / นายใสมารับไปจากพระ แต่ไม่ยอมเปิดเผย นางสวยขอพินัยกรรมจากใส นายใสไม่ยอมให้ดู นางสวยแจ้งตำรวจ นายไสพูดกับตำรวจว่า "ตำรวจไม่มีความหมายสำหรับกู อยากจับก็มาจับเลย ในเมื่อกูไม่ได้กระทำผิด" / นายใสขอรับพินัยกรรมไปจากพระ และไม่ยอมเปิดเผย เมื่อนางสวยขอก็ไม่ยอมให้ดู ผิด มาตรา 188 ฎ 2205/2537 / ส่วนคำพูดกับตำรวจนั้น เป็นคำกล่าวไม่สุภาพ แต่ไม่ถึงขั้นดูหมิ่น ไม่ผิด มาตรา 136 ฎ 713/2519
- (ขส พ 2528/ 7) สัญญากู้ แม้ไม่มีพยานก็สมบูรณ์แล้ว แม้จัดให้มีพยานลงลายมือชื่อภายหลัง ก็ไม่ผิด มาตรา 265 เพราะไม่น่าจะเสียหาย เมื่อนำไปยื่นฟ้องจึงไม่ผิด มาตรา 268 และไม่ผิด มาตรา 180 ฎ 1126/2505 / ผู้ลงชื่อเป็นพยานในสัญญากู้ ก็ไม่ผิด มาตรา 265 เพราะไม่น่าจะเกิดความเสียหาย / ผู้กู้หยิบสัญญามาดูแล้วฉีก ผิด มาตรา 358 และ 188 เป็นกรรมเดียว มาตรา 90 ฎ 1418/2506
- (ขส อ 2542/ 2) รับฝากเงินแล้วฉีกต้นฉบับ มาตรา 188 เขียนใหม่ว่าฝากน้อยลง แล้วยื่นให้หัวหน้าตรวจ มาตรา 1 (9) + 264+265+268 ยักยอกเงิน มาตรา 352 เป็นลูกจ้างธนาคาร มาตรา 354 ฎ 496-7/2542
มาตรา 189 ผู้ใด ช่วยผู้อื่น ซึ่งเป็นผู้กระทำความผิด หรือเป็นผู้ต้องหาว่ากระทำความผิด อันมิใช่ความผิดลหุโทษ เพื่อไม่ให้ต้องโทษ โดยให้พำนักแก่ผู้นั้น โดยซ่อนเร้น หรือโดยช่วยผู้นั้นด้วยประการใด เพื่อไม่ให้ถูกจับกุม ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสี่พันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
- คำพิพากษาฎีกาที่ 1671/2512 (สบฎ เน 2099) มาตรา 189 เป็นการช่วยเหลือ ไม่ให้ต้องรับโทษ หรือไม่ให้ถูกจับกุม เมื่อผู้ที่จำเลยช่วยเหลือ "ได้ถูกจับกุมในข้อหานั้นไปก่อนแล้ว" การกระทำของจำเลยจึงไม่ต้องด้วยความผิดตาม มาตรา 189
- คำพิพากษาฎีกาที่ 207/2517 ท.ถูกฟ้องว่าฆ่าผู้อื่น ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ครั้นเมื่อศาลนัดฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ท. หลบหนี ศาลออกหมายจับ ท. จำเลยให้พำนักและซ่อนเร้น ท. และบอก ท. ให้รู้ตัวเมื่อตำรวจมาตามจับ จำเลยก็ไม่มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 189 เพราะตราบใดที่ยังไม่มีคำพิพากษาศาลสูงเปลี่ยนแปลงคำพิพากษาชั้นต้น ก็ต้องถือว่า ท. ไม่ใช่ผู้กระทำผิดในข้อหาฆ่าผู้อื่น และการที่ศาลออกหมายจับนั้น ก็เพื่อให้ได้ตัวมาฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ไม่ใช่เพราะกระทำผิดฐานหลบหนีไม่ไปศาล
- คำพิพากษาฎีกาที่ 2448/2521 (สบฎ เน 5621) ตำรวจเข้าจับผู้ลักลอบเล่นการพนัน จำเลยร้องบอกว่า "ตำรวจมา" บางคนหนีได้ ไม่ถูกจับ จำเลยผิด มาตรา 189
- คำพิพากษาฎีกาที่ 1670/2522 จำเลยรู้หรือควรรู้ว่า ย.ต้องหาว่าทำผิดตำรวจกำลังติดตามจับจำเลย บอกตำรวจว่าไม่มีตัว ย.ซึ่งซ้อนอยู่ในบ้านจำเลย เป็นความผิดตาม มาตรา 189
- คำพิพากษาฎีกาที่ 2449/2522 จำเลยให้ผู้ที่ทำร้าย ส. นั่งซ้อนท้ายรถจักรยานที่จำเลยถีบจากที่เกิดเหตุไปบ้าน ขณะนั้นไม่มีผู้ใดจะจับผู้ทำผิด และไม่ใช่ทำเพื่อให้หลบหนีหรือไม่ให้ถูกจับ ไม่เป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 189
- ตัวอย่างประเด็นข้อสอบเก่า
- (ขส เน 2512/ 3) สามีแกะ “สร้อยของมารดาภรรยา” ไปจากคอของภรรยา ผิด ลักทรัพย์ ม 334 ไม่ได้รับยกเว้นโทษตาม ม 71 เพราะเป็นทรัพย์ของ “มารดาภรรยา” / นายแกะเห็นเหตุการณ์ตลอด ขับรถพาสามีหนี นายแกะไม่ผิด มาตรา 334+86 เพราะเป็นช่วยเหลือหลังจากความผิดลักทรัพย์สำเร็จแล้ว ไม่ใช่ช่วยเหลือก่อนหรือขณะทำผิด จึงไม่เป็นการสนับสนุน แต่นายแกะผิด ม 189 ฐานช่วยผู้กระทำผิด อันมิใช่ความผิดลหุโทษ โดยประการใด เพื่อไม่ให้ถูกจับกุม และ ฐานรับของโจร ตาม มาตรา 357 โดยการที่ได้ช่วยพาเอาทรัพย์ที่ลักนั้นไปเสีย
- (ขส เน 2538/4) พลตำรวจได้รับคำสั่งให้จับกุมผู้ทำผิด แจ้งผู้ทำผิดให้หนีไปก่อนถึงเวลาจับกุม / เมื่อตำรวจอื่นจะเข้าจับ พลตำรวจเข้าไปกั้นเพื่อให้ล่าช้า จนผู้ทำผิดหนีไปได้ / พลตำรวจ มีอำนาจสืบสวนและมีหน้าที่ปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นไปตามคำสั่ง การแจ้งให้หลบหนี และเข้าขัดขวางการจับกุม เป็นการกระทำโดยมิชอบ เพื่อจะช่วยบุคคลไม่ให้ต้องโทษ ถือเป็นการขัดขวางเจ้าพนักงานฯ และเป็นการป้องกัน หรือขัดขวางมิให้การเป็นไปตามคำสั่ง ซึ่งเป็นการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้อื่น ผิด มาตรา 138+157+165+200 การแจ้งให้หลบหนี เป็นการช่วยผู้ต้องหาว่ากระทำความผิด ซึ่งมิใช่ความผิดลหุโทษ เพื่อไม่ให้ถูกจับกุม ผิด มาตรา 189 ด้วย
มาตรา 190 ผู้ใดหลบหนีไประหว่างที่ถูกคุมขังตามอำนาจของศาล ของพนักงานอัยการ ของพนักงานสอบสวน หรือของเจ้าพนักงานผู้มีอำนาจสืบสวนคดีอาญา ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ถ้าความผิดดังกล่าวมาในวรรคแรก ได้กระทำโดยแหกที่คุมขัง โดยใช้กำลังประทุษร้าย หรือโดยขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้าย หรือโดยร่วมกระทำความผิดด้วยกันตั้งแต่สามคนขึ้นไป ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ถ้าความผิดตามมาตรานี้ ได้กระทำโดยมีหรือใช้อาวุธปืนหรือวัตถุระเบิด ผู้กระทำต้องระวางโทษหนักกว่าโทษที่กฎหมายบัญญัติไว้ในสองวรรคก่อนกึ่งหนึ่ง
- การคุมขังที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย
- คำพิพากษาฎีกาที่ 1008/2499 หมายจับที่ออกโดยไม่ชอบด้วย ก.ม.ทั้งผู้จับก็ทราบต้นเหตุการออกหมายจับนั้นว่าเป็นเรื่องใช้อำนาจในหน้าที่โดยไม่เป็นธรรม หมายจับที่ออกในกรณีเช่นนี้ย่อมใช้ไม่ได้ เมื่อผู้ถูกจับหลบหนีจากการควบคุมก็หามีผิดไม่
- การแหกที่คุมขัง
- คำพิพากษาฎีกาที่ 519/2500 หนีการควบคุมโดยหักโซ่ที่ล่ามข้อมือ ไม่เป็นการแหกที่คุมขัง
- คำพิพากษาฎีกาที่ 772/2536 หลังเกิดเหตุการตายแล้ว จำเลยได้เข้ามอบตัวต่อพันตำรวจโท บ. เมื่อพันตำรวจโท บ. สอบปากคำจำเลย จำเลยขออนุญาตกลับไปเปลี่ยนเสื้อผ้าที่บ้าน จำเลยได้เดินเข้าไปในบ้าน พันตำรวจโท บ. เข้าไปนั่งคอยที่ห้องรับแขก ส่วนเจ้าพนักงานตำรวจอีก 2 คน คอยอยู่นอกบ้าน จำเลยได้หลบหนีไป ผิด ม 190
- คำพิพากษาฎีกาที่ 4915/2537 จำเลยซึ่งเป็นผู้ต้องหาในคดีชิงทรัพย์ถูกคุมขังอยู่ที่ห้องขังของ สถานีตำรวจได้วิ่งออกมาจากห้องขัง ลงไปทางบันไดของสถานีตำรวจ แม้เจ้าพนักงานตำรวจจะติดตามจับกุมจำเลยได้ ภายในตัวอาคารสถานีตำรวจ ก็เป็นความผิดสำเร็จแล้ว
- กรณีไม่ถือเป็นการคุมขัง
- คำพิพากษาฎีกาที่ 105/2506 การที่ควบคุมตัวจำเลยไว้เพื่อพ้นสามเดือนแล้ว โดยคณะกรรมการมิได้มีคำสั่งให้ควบคุม จึงเป็นการควบคุมที่ไม่ชอบ จำเลยหลบหนี ไม่มีความผิด แม้จำเลยรับสารภาพ ศาลก็ย่อมยกฟ้องได้ ไม่ขัดต่อมาตรา 20 แห่ง พ.ร.บ. จัดตั้งศาลแขวงฯ
- คำพิพากษาฎีกาที่ 184/2507 นักโทษออกไปซื้อของในตลาดตามคำสั่งของพัศดี โดยไม่มีผู้ควบคุม ไม่มีความผิดฐานหลบหนีที่คุมขัง
- คำพิพากษาฎีกาที่ 307/2511 ผู้ต้องหาซึ่งถูกควบคุมตัวไว้ ได้รับอนุญาตให้ไปถ่ายอุจจาระ ในป่าตามลำพังโดยไม่มีการควบคุม แม้จะหลบหนีไปในระหว่างนั้น จะถือว่า จำเลยหลบหนีการควบคุมมิได้
- คำพิพากษาฎีกาที่ 854/2511 จำเลยถูกคุมขังตามอำนาจของศาลคดีเด็ก เป็นการควบคุมตามอำนาจหน้าที่ของสถานพินิจ ไม่ถือเป็นการคุมขัง จำเลยหลบหนีไป ไม่ผิด ม 190 ความผิดต่างกรรมต่างกระทง ต่างพระราชบัญญัติ กับความผิดที่อุทธรณ์ขึ้นมา และคู่ความมิได้อุทธรณ์ ถือเป็นอันยุติแล้ว ศาลอุทธรณ์ไม่มีอำนาจยกฟ้องความผิดนั้นได้อีก
- คำพิพากษาฎีกาที่ 1761/2522 ตำรวจให้จำเลยไปสถานีตำรวจโดยลำพัง เพราะรู้จักจำเลยดี ยังไม่ถูกจับและควบคุม ไม่มีการหลบหนีตาม ม.190
- ผู้ร่วมกระทำความผิดและประเด็นอื่น
- คำพิพากษาฎีกาที่ 1338/2517 จำเลยส่งใบเลื่อยให้แก่ ห. ซึ่งถูกคุมขัง มิได้เป็นการทำให้ ห. หลุดพ้นจากการคุมขัง แต่เป็นผู้สนับสนุนให้ ห. ผู้ถูกคุมขังหลบหนีจากการคุมขัง ผิด ม 190 + 86
- คำพิพากษาฎีกาที่ 4015/2534 จำเลยหลบหนีขณะถูกจำคุกโดยคำพิพากษา จึงเป็นกรณีที่โจทก์ไม่อาจฟ้องคดีนี้รวมกับคดีอื่น ต้องนับโทษจำเลยในคดีนี้ต่อ จากโทษในคดีอื่น ๆ ทุกคดี จะนำ ป.อ.มาตรา 91 (3) คือนับโทษคดีนี้รวม กับคดีอื่น ๆ มาปรับใช้กับคดีนี้ไม่ได้ มิฉะนั้นเท่ากับว่าผู้ต้องถูกจำคุกตลอดชีวิตหรือจำคุก 50 ปี ถ้ากระทำความผิดอีกในระหว่างต้องโทษอยู่ ย่อมไม่ต้องรับโทษเลย ซึ่งมิใช่เจตนารมณ์ของกฎหมายที่จะกำหนดหลักเกณฑ์ เช่นนั้น
มาตรา 191 ผู้ใดกระทำด้วยประการใดให้ผู้ที่ถูกคุมขัง ตามอำนาจของศาล ของพนักงานอัยการ ของพนักงานสอบสวน หรือของเจ้าพนักงานผู้มีอำนาจสืบสวนคดีอาญา หลุดพ้นจากการคุมขังไป ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ถ้าผู้ที่หลุดพ้นจากการคุมขังไปนั้น เป็นบุคคลที่ต้องคำพิพากษาจากศาลหนึ่งศาลใด ให้ลงโทษประหารชีวิต จำคุกตลอดชีวิต หรือจำคุกตั้งแต่สิบห้าปีขึ้นไป หรือมีจำนวนตั้งแต่สามคนขึ้นไป ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หกเดือนถึงเจ็ดปี และปรับตั้งแต่หนึ่งพันบาทถึงหนึ่งหมื่นสี่พันบาท
ถ้าความผิดตามมาตรานี้ ได้กระทำโดยใช้กำลังประทุษร้าย หรือโดยขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้าย หรือโดยมีหรือใช้อาวุธปืนหรือวัตถุระเบิด ผู้กระทำต้องระวางโทษหนักกว่าโทษที่กฎหมายบัญญัติไว้ในสองวรรคก่อนกึ่งหนึ่ง
- คำพิพากษาฎีกาที่ 105/2506 ผู้ว่าราชการจังหวัดอาศัยอำนาจตามประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 43 ส่งตัวจำเลยซึ่งพฤติตนเป็นอันธพาลไปยังสถานอบรมและฝึกอาชีพแล้ว ต่อไปก็เป็นอำนาจของคณะกรรมการจะต้องมีคำสั่งทุก ๆ สามเดือนว่า จะคงให้ควบคุมจำเลยไว้หรือปล่อยตัวไป การควบคุมตัวจำเลยไว้เมื่อพ้นสามเดือนแล้ว โดยคณะกรรมการมิได้มีคำสั่งให้ควบคุมจึงเป็นการควบคุมที่ไม่ชอบ จำเลยหลบหนีไม่มีความผิด
- คำพิพากษาฎีกาที่ 391/2509 ขณะที่เจ้าพนักงานควบคุมตัวผู้ต้องหามา จำเลยได้ช่วยให้ผู้ต้องหาหลบหนีไปผิด ม 191 แล้ว และไม่ต้องด้วย ม 189 โจทก์ขอให้ลงโทษ ม 189 ศาลก็มีอำนาจลงโทษตามมาตรา 191 อันเป็นบทที่ถูกต้องได้ แม้อัตราโทษตามมาตรา 191 สูงกว่ามาตรา 189 เพราะ ปวิอ ม 192 ว 4 เป็นข้อยกเว้นของวรรคแรก
- คำพิพากษาฎีกาที่ 1338/2517 จำเลยส่งใบเลื่อยให้แก่ ห. ซึ่งถูกคุมขัง มิได้เป็นการทำให้ ห. หลุดพ้นจากการคุมขัง แต่เป็นผู้สนับสนุนให้ ห. ผู้ถูกคุมขังหลบหนีจากการคุมขัง ผิด ม 190 + 86
- คำพิพากษาฎีกาที่ 2861/2522 นายสิบและพลตำรวจควบคุมผู้ต้องกักขังตามคำสั่งนายตำรวจ ปล่อยตัวผู้ต้องกักขังเหล่านั้น แล้วเปลี่ยนตัวผู้อื่นแทน เป็นความผิดตามมาตรา 157, 191 เป็นกรรมเดียว ลงโทษตามมาตรา 157 ซึ่งเป็นบทหนัก (สังเกต ม 204)
- คำพิพากษาฎีกาที่ 3243/2528 ขณะที่ร้อยตำรวจตรี พ. ควบคุมตัว ส. ผู้ต้องหา ใน ข้อหาไม่ยืนทำความเคารพเพลงสรรเสริญพระบารมี ซึ่งเป็นความผิดมีโทษตามพระราชบัญญัติวัฒนธรรมแห่งชาติ พุทธศักราช 2485 จะนำขึ้นรถยนต์ไปสถานีตำรวจเพื่อดำเนินคดีจำเลยได้เข้าโอบกอด จับตัว ร้อยตำรวจตรี พ. ไว้ และพวกของจำเลยอีกสองคนได้ช่วยกันยื้อแย่งเอาตัว ส. ขึ้นรถยนต์หลบหนีไปถือว่า ส. ถูกคุมขังอยู่ตามอำนาจของเจ้าพนักงานผู้มีอำนาจสืบสวนคดีอาญา ตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 1 (12), 191 แล้ว การกระทำของ จำเลยจึงเป็นความผิดตามมาตรา 138, 140, 191
- ตัวอย่างประเด็นข้อสอบเก่า มาตรา 191
- (ขส อ 2530/ 5) ก จับ ข ลักทรัพย์ ส่งตำรวจ นาย ค คิดว่า ก เป็นตำรวจ เข้าช่วยให้ ข หลบหนี / ก มีอำนาจจับตาม ปวิอ ม 79 ไม่ผิด / ค ผิด ม 191+81 (อ เกียรติขจร ถือว่าขาดองค์ประกอบภายนอก แล้วไม่ผิดพยายาม)
มาตรา 192 ผู้ใดให้พำนัก ซ่อนเร้น หรือช่วยด้วยประการใด ให้ผู้ที่หลบหนีจากการคุมขัง ตามอำนาจของศาล ของพนักงานสอบสวนหรือของเจ้าพนักงานผู้มีอำนาจสืบสวนคดีอาญา เพื่อไม่ให้ถูกจับกุม ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
มาตรา 193 ถ้าการกระทำความผิดดังกล่าวมาในมาตรา 184 มาตรา 189 หรือมาตรา 192 เป็นการกระทำเพื่อช่วยบิดามารดา บุตร สามีหรือภริยาของผู้กระทำ ศาลจะไม่ลงโทษก็ได้
มาตรา 194 ผู้ใดต้องคำพิพากษาห้ามเข้าเขตกำหนดตามมาตรา 45 เข้าไปในเขตกำหนดนั้น ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
มาตรา 195 ผู้ใดหลบหนีจากสถานพยาบาลซึ่งศาลสั่งให้คุมตัวไว้ตามความในมาตรา 49 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
มาตรา 196 ผู้ใดฝ่าฝืนคำสั่งห้ามของศาลซึ่งได้สั่งไว้ในคำพิพากษาตามมาตรา 50 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
- คำพิพากษาฎีกาที่ 2414/2521 ศาลลงโทษปรับ และสั่งห้ามจำเลยประกอบกิจการโรงงาน ตาม พ.ร.บ. โรงงาน ไม่ใช่สั่งตาม ป.อ.ม.50 จำเลยฝ่าฝืนไม่เป็นความ ผิดตาม ม.196
มาตรา 197 ผู้ใดใช้กำลังประทุษร้าย ขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้าย ให้ประโยชน์ หรือรับว่าจะให้ประโยชน์ เพื่อกีดกัน หรือขัดขวางการขายทอดตลาด ของเจ้าพนักงานเนื่องจากคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาล ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
มาตรา 198 ผู้ใด “ดูหมิ่น” ศาลหรือผู้พิพากษา ในการพิจารณาหรือพิพากษาคดี หรือกระทำการ “ขัดขวาง” การพิจารณาหรือพิพากษาของศาล ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงเจ็ดปี หรือปรับตั้งแต่สองพันบาทถึงหนึ่งหมื่นสี่พันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
- คำพิพากษาฎีกาที่ 1124/2507 จำเลยได้นำข้อความเท็จไปร้องเรียนต่อ “ปลัดกระทรวงยุติธรรม” เพื่อดำเนินการทางวินัยแก่ผู้เสียหาย ผิด ม 137 ข้อความดังกล่าว ยังมีความหมายเป็นการหมิ่นประมาท อันเป็นความผิด ม 198 และ ม 326 กรณีไม่เข้าข้อยกเว้นตาม ม 329 (1) เพราะจำเลยมีเจตนาแกล้งกล่าวข้อความเท็จโดยไม่สุจริต ม 137 มิได้บัญญัติไว้โดยเฉพาะว่าผู้รับแจ้งข้อความอันเป็นเท็จนั้นจะต้องเป็นพนักงานสอบสวน แต่หมายถึงเจ้าพนักงานโดยทั่วไป อธิบดีผู้พิพากษาภาคสอบสวนจำเลย จึงเป็นการกระทำตามอำนาจหน้าที่ในฐานะเจ้าพนักงาน เมื่อจำเลยแจ้งข้อความอันเป็นเท็จต่ออธิบดีผู้พิพากษาภาค ผิด ม 137
- คำพิพากษาฎีกาที่ 1650/2514 จำเลยร่วมกันจัดพิมพ์เอกสารสิ่งพิมพ์ ซึ่งมีข้อความบางตอนกล่าวในทำนองตำหนิศาลอาญา ศาลอุทธรณ์ และผู้พิพากษาซึ่งเป็นองค์คณะพิจารณาพิพากษาคดีที่จำเลยถูกฟ้องว่า พิจารณาพิพากษาคดีโดยไม่ยึดหลักกฎหมายและความยุติธรรม ไม่เป็นที่พึ่งของประชาชน นับว่าเป็นการกระทำที่แสดงต่อศาล หรือผู้พิพากษา “ในทางที่ลดคุณค่าของศาลหรือผู้พิพากษา” ในการพิจารณาพิพากษาคดี จึงเป็นการดูหมิ่นศาลหรือผู้พิพากษาในการพิจารณาพิพากษาคดี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 198 / เมื่อการกระทำของจำเลยเป็นความผิด ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 198 แล้ว ย่อมไม่เป็นความผิดฐานดูหมิ่นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 136 อีก
มาตรา 199 ผู้ใดลอบฝัง ซ่อนเร้น ย้ายหรือทำลายศพหรือส่วนของศพ เพื่อปิดบังการเกิด การตาย หรือเหตุแห่งการตาย ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
- คำพิพากษาฎีกาที่ 717/2511 มาตรา 199 ต้องกระทำด้วยความมุ่งหมายเพื่อปิดบังการตายหรือเหตุแห่งการตาย จึงจะเป็นผิด
- คำพิพากษาฎีกาที่ 586/2527 จำเลยขับรถยนต์นำศพจากที่เกิดเหตุ และจากรถยนต์เข้าไปในโบสถ์ นำศพไปใส่ไว้ในกล่องกระดาษ ในลักษณะให้ศพนั่งคุดคู้อยู่ในกล่อง นำกล่องไปเก็บไว้ในห้องเก็บหนังสือ แม้มิได้ใช้วัสดุอื่นปิดบังกล่อง ผิด มาตรา 199
- คำพิพากษาฎีกาที่ 6255/2534 ฟ้องในข้อหาความผิดตาม ป.อ. มาตรา 199 ไม่จำต้อง บรรยายว่าจำเลยซ่อนเร้นหรือย้ายศพผู้ตายอย่างไร เพราะเป็นรายละเอียด ที่โจทก์สามารถนำสืบได้ในชั้นพิจารณา จำเลยทำร้ายผู้ตายจนเป็นเหตุให้ผู้ตายถึงแก่ความตาย แล้วรีบนำศพ จากบ้านไปตั้งบำเพ็ญกุศลที่วัดเพื่อทำการฌาปนกิจ เป็นการย้ายศพโดยมีเจตนาเพื่อปิดบัง ผิด ม 199
- คำพิพากษาฎีกาที่ 6202/2538 ความผิดฐานทำลายพยานหลักฐานตาม ป.อ. มาตรา 199 เป็นความผิดเกี่ยวกับรัฐ โจทก์ทั้งสองซึ่งเป็นบิดามารดาของผู้ตายที่ถูกจำเลย ร่วมกันย้ายศพ ไม่ใช่ผู้เสียหายที่จะมีอำนาจฟ้องตาม ป.วิ.อ. มาตรา 2 (4)
- กฎหมายที่เกี่ยวข้อง ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 150 ทวิ
- ตัวอย่างประเด็นข้อสอบเก่า มาตรา 199
- (ขส อ 2536/ 3) สามียิงบิดา เพราะโกรธเรื่องพินัยกรรม แล้วหนี ภรรยากลัวตำรวจจับสามี จึงหั่นศพทิ้ง ฝังปืน เผาพินัยกรรม ภรรยาผิด ม 199 (+ปวิอ ม 150 ทวิ) / +184 + 188 + 358 (ส่วนของ ม 184 อ้าง ม 193)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น