ค้นหาบล็อกนี้

วันเสาร์ที่ 10 กันยายน พ.ศ. 2554

อาญา มาตรา ๓๕๒



             หมวด 5                       ความผิดฐานยักยอก

      มาตรา 352 ผู้ใดครอบครองทรัพย์ซึ่งเป็นของผู้อื่น หรือซึ่งผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วย เบียดบังเอาทรัพย์นั้นเป็นของตนหรือบุคคลที่สามโดยทุจริต ผู้นั้นกระทำความผิดฐานยักยอก ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ถ้าทรัพย์นั้นได้ตกมาอยู่ในความครอบครองของผู้กระทำความผิด เพราะผู้อื่นส่งมอบให้โดยสำคัญผิดไปด้วยประการใด หรือเป็นทรัพย์สินหายซึ่งผู้กระทำความผิดเก็บได้ ผู้กระทำต้องระวางโทษแต่เพียงกึ่งหนึ่ง

-          การครอบครอง
-          หมายเหตุ คำพิพากษาฎีกาที่ 3153/2538 (1) สิทธิครอบครองเป็นสิทธิที่ได้มาโดยข้อเท็จจริง (de facto) บุคคลใดยึดถือทรัพย์สิน ไม่ว่าเป็นทรัพย์สินประเภทใด มีเจ้าของหรือไม่ โดยมีเจตนายึดถือเพื่อตน ย่อมได้สิทธิครอบครองทั้งสิ้น (ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1367) บุคคลทั่วไปจะเรียกว่า สิทธิอะไรไม่สำคัญ เมื่อเป็นการยึดถือทรัพย์สินโดยเจตนายึดถือ เพื่อตนแล้ว (หมายความเพียงว่าเพื่อประโยชน์ของตนไม่ถึงขนาด เจตนาเป็นเจ้าของ) ก็ย่อมถือว่าได้สิทธิครอบครอง มีสิทธิครอบครอง อยู่นั่นเอง - ศาสตราจารย์จิตติ ติงศภัทิย์ได้กล่าวไว้ในบันทึกท้าย คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2069/2527 ซึ่งจัดพิมพ์โดยเนติบัณฑิตยสภา มีความดังนี้ "ครอบครองเป็นสิทธิในตัวเองโดยผลของกิริยายึดถือ ด้วยเจตนายึดถือเพื่อตนตามมาตรา 1367 ไม่ต้องอาศัยอำนาจ โดยกฎหมายอื่นใดอีก แม้ผู้ที่ขโมยหรือผู้บุกรุกก็ "ครอบครอง" เป็น "การครอบครอง" และได้ "สิทธิครอบครอง" โดยสมบูรณ์ จะมีการครอบครอง โดยไม่มีสิทธิครอบครองไม่ได้ ใครจะเอาคืนได้อย่างไร ก็ต้องอาศัย สิทธิดีกว่า หาใช่ผู้ยึดถือเพื่อตนที่ครอบครองในปัจจุบันไม่มีสิทธิ ครอบครองมิได้" - ดังนี้จะเห็นได้ว่า แม้จะไม่เรียกว่าสิทธิครอบครอง ก็ยังถือ ว่าเป็นสิทธิครอบครองอยู่ดี ศาสตราจารย์จิตติ ติงศภัทิย์ กล่าวไว้ในหนังสือคำอธิบายประมวลกฎหมายอาญา ภาค 2 ตอน 2 และภาค 3 ของท่านซึ่งจัดพิมพ์โดยเนติบัณฑิตยสภา พ.. 2513 เป็นเวลากว่า 25 ปีมาแล้ว หน้า 1953-1954 ดังนี้ "ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1367 ใช้คำว่าสิทธิครอบครอง ส่วนมาตรา 1380 ใช้คำว่า การครอบครอง สิทธิครอบครองกับการครอบครองเป็นอันเดียวกัน เพียงแต่เมื่อกล่าวในแง่สิทธิเรียกว่าสิทธิครอบครอง กิริยา ที่ผู้ครอบครองกระทำต่อทรัพย์สินนั้นคือครอบครอง การกระทำของ ผู้ครอบครองเรียกว่าการครอบครอง สิทธิของผู้ครอบครองเรียกว่า สิทธิครอบครอง หาใช่ว่าสิทธิครอบครองทางแพ่ง ต่างกับการครอบครอง ทางอาญาแต่ประการใดไม่"  (2) ที่ว่าเป็นการยึดถือทรัพย์สิน โดยเจตนายึดถือเพื่อตนนั้น ไม่ว่าเป็นทรัพย์สินประเภทใดก็ได้สิทธิครอบครองทั้งสิ้น แม้เป็นทรัพย์สินของบุคคลอื่น (ลักขโมย ยักยอก ฯลฯ มา ซึ่งเจ้าของอาจ ติดตามเอาคืนได้ในภายหลัง) ก็เรียกว่าได้สิทธิครอบครอง หรือ เป็นที่สาธารณะหรือเป็นที่ดินตามพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติฯ เช่นคดีนี้ ก็ย่อมได้สิทธิครอบครองเช่นกันเป็นกรณีต้องด้วย ตัวบทมาตรา 1367 ทั้งสิ้น แม้ตามพระราชบัญญัติดังกล่าว มาตรา 14 จะห้ามมิให้บุคคลใดยึดถือครอบครอง กฎหมายก็ห้ามไป จะไปห้าม เจตนาความประพฤติ การกระทำของบุคคลหาได้ไม่ ถ้ายึดถือโดยเจตนา ยึดถือเพื่อตนเสียแล้วก็ได้สิทธิครอบครองอยู่ดี เพราะครอบครอง เป็นสิทธิในตัวเอง โดยผลของกิริยายึดถือด้วย เจตนายึดถือเพื่อตน ไม่ต้องอาศัยอำนาจกฎหมายกฎหมายอื่นใดอีก แม้ผู้ที่ขโมยหรือ บุกรุกก็ได้สิทธิครอบครองดังกล่าวข้างต้น จะลงโทษหรือบังคับ กันตามกฎหมายอย่างไรนั้นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง (3) ตามคำพิพากษาศาลฎีกาฉบับนี้ ศาลฎีกาพยายามหลีกเลี่ยง ไม่ใช้คำว่า "สิทธิครอบครอง" เนื่องจากเห็นว่าเป็นการครอบครอง ที่ดินตามพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติฯ โดยกลับไปใช้คำว่า "ผู้ที่ครอบครองนั้นย่อมมีสิทธิขายการครอบครองให้แก่บุคคลอื่นได้" ซึ่งที่ถูกสิ่งที่จะซื้อขายกันได้ทางแพ่ง ก็ต้องเป็นทรัพย์สิน เท่านั้น (ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 453) การครอบครอง มิใช่ทรัพย์สิน สิทธิครอบครองต่างหากเป็นทรัพย์สิน เป็นทรัพย์สิน ที่ไม่มีรูปร่าง แต่สิทธิครอบครองกับการครอบครองเป็นอันเดียวกัน ดังกล่าวข้างต้น เมื่อพูดว่าขายการครอบครอง โดยเนื้อแท้หรือ เจตนาที่แท้จริง (มาตรา 171) ก็ต้องเข้าใจว่าขายสิทธิครอบครอง นั่นเอง จะหลีกเลี่ยงอย่างไร ก็ไม่พ้นไปจากหลักเกณฑ์ตามกฎหมายไปได้ ผู้เขียนหมายเหตุ ไพจิตร ปุญญพันธุ์
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 966/2491 จำเลยเป็นเจ้าของบ้าน เจ้าของอวนเอาอวนมาขออาศัยเก็บไว้ที่บ้านจำเลย แต่การดูแลระวังรักษาอวนยังอยู่ในความรับผิดชอบของลูกจ้างอวน ดังนี้ ยังไม่เรียกว่าจำเลยได้รับมอบหมายให้เป็นผู้ดูแลรักษา หรือเก็บทรัพย์หรือจัดการทรัพย์อย่างใด ๆ ของผู้อื่น การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นผิดฐานยักยอกทรัพย์
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 1206/2511 จำเลยเป็นนายสนามชนโค ได้รับเงินเดิมพันจากเจ้าของโค เพื่อมอบให้แก่ฝ่ายที่ชนะ เมื่อโคชนะแล้ว ผู้ชนะขอรับเงิน จำเลยไม่จ่ายให้ อ้างว่าไม่มีเงิน และว่าจะทำสัญญาให้แล้ว ก็ไม่ทำ ถือเป็นการผิดสัญญาทางแพ่งเท่านั้น ไม่ผิดฐานยักยอก
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 159/2512 ผู้เสียหายปล่อยกระบือกินหญ้า กระบือตัวหนึ่งยังจับไม่ได้ เพราะยังติดอยู่ในกระบือฝูงอื่น มิใช่พ้นการติดตาม ถือว่าผู้เสียหายยังครอบครองอยู่ ยังไม่ได้สละการครอบครอง / จำเลย ยิงกระบือของผู้เสียหาย จึงเป็นการเอาไปโดยทุจริต และผิดลักทรัพย์ ส่วน การชำแหละเนื้อกระบือเอาไป ก็เป็นการครอบครอง “เพราะยึดถือเพื่อตน” แต่เป็นผลภายหลังจากการลักกระบือแล้ว ไม่ผิดฐานยักยอกทรัพย์ ตาม ม 352 ว 2
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 207/2512 ผู้เสียหายทำปากกาตก แม้ผู้เสียหายจะได้ออกไปที่อื่น ซึ่งห่างไปเพียงประมาณ 1 เส้น เป็นเวลาไม่เกิน 5 นาที เมื่อรู้ก็รีบกลับไปค้นหา / ชายคนหนึ่งเก็บปากกาได้ แล้วจำเลยอ้างว่าเป็นเจ้าของ ชายคนนั้นจึงได้มอบปากกาไห้จำเลย / ผู้เสียหายจึงไปถามจำเลย จำเลยปฏิเสธเช่นนี้ ถือว่าทรัพย์อยู่ในความยึดถือของผู้เสียหาย มิใช่ทรัพย์ตกหาย การที่มีผู้อื่นเก็บได้ มิใช่จะทำให้ความยึดถือของผู้เสียหายขาดตอนไป เมื่อจำเลยเอาจากผู้อื่น โดยรู้อยู่ว่าไม่ใช่ของตน จึงเป็นการลักทรัพย์ ไม่ใช่ฉ้อโกง
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 460/2512 จำเลยได้มอบหมายให้พาทรัพย์ของนายจ้าง ออกไปให้พ้นจากที่วิวาท เพื่อความปลอดภัยแห่งทรัพย์ แล้วจำเลยพาทรัพย์นั้นหนีไป การกระทำของจำเลยเป็นการเบียดบังยักยอกทรัพย์ ตาม มาตรา 352 หาใช่กระทำผิดฐานลักทรัพย์ไม่
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 1608/2519 ค. เป็นเจ้าอาวาสเป็นผู้ครอบครองศาสนสมบัติ รวมทั้งพระพุทธรูปในวิหารของวัด ค.กับพวกร่วมกันเอาพระพุทธรูปนั้นไปขาย เป็นยักยอก ไม่ใช่ลักทรัพย์
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 1407/2538 (คดีแพ่ง) โจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ทรัพย์พิพาทรายการที่ 1 ถึงที่ 4  จึงมีสิทธิติดตามเอาคืนจากจำเลยได้ / ทรัพย์พิพาทรายการที่ 5 ไม่ใช่ทรัพย์ของโจทก์แต่เป็นทรัพย์ ของผู้อื่นที่โจทก์ขอยืมมา แล้วให้ ท.ยืมไปอีกต่อหนึ่ง ดังนี้ถือได้ว่าโจทก์เป็นผู้ทรงสิทธิครอบครองในทรัพย์พิพาทรายการนี้ เมื่อทรัพย์พิพาทรายการนี้ไปตกอยู่กับจำเลยโดยจำเลยไม่มีสิทธิเป็นเจ้าของโจทก์ในฐานะเป็นผู้มีสิทธิครอบครองในทรัพย์รายการนี้ ย่อมมีสิทธิติดตามเอาคืนจากจำเลยผู้ไม่มีสิทธิยึดถือไว้ได้ (& โจทก์มอบการครอบครองให้ผู้อื่นไปแล้ว ให้ ท.ยืมไปอีกต่อหนึ่ง แต่ยังสามารถใช้สิทธิครอบครอง เรียกคืนทรัพย์จากผู้ที่ไม่อาจอ้างสิทธิที่ดีกว่าโจทก์ได้) / หมายเหตุ ท้ายคำพิพากษาฎีกาที่ 1407/2538 บุคคลผู้ถือกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินสิ่งใดย่อมใช้อำนาจแห่ง กรรมสิทธิ์ในทรัพย์นั้นได้เนื่องจากกรรมสิทธิ์เป็นสิทธิแห่งความ เป็นเจ้าของที่เกิดขึ้นโดยผลแห่งกฎหมาย (de jure) และมีอำนาจ เด็ดขาดที่จะยกขึ้นใช้ยันกับบุคคลทั่วไป เว้นแต่จะตกอยู่ภายใต้ ข้อยกเว้นตามกฎหมาย ถ้าหากมีบุคคลยึดถือทรัพย์สินนั้นไว้โดย ไม่มีสิทธิ ผู้ถือกรรมสิทธิ์ย่อมมีสิทธิติดตามและเอาคืนซึ่ง ทรัพย์สินนั้น (right to follow and recover) ได้ตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1336 แต่ทั้งนี้การใช้สิทธิ ดังกล่าวนั้นต้องอยู่ภายในบังคับแห่งกฎหมายด้วยเช่นกัน ในกรณี สิทธิครอบครองถ้าหากผู้มีเพียงสิทธิครอบครองในทรัพย์สิน จะมีสิทธิติดตามและเอาคืนซึ่งทรัพย์สินที่ถูกบุคคลอื่นยึดครองไว้กลับคืน มาได้หรือไม่เพียงใดนั้น ประเด็นที่ควรพิจารณานั้นจะเห็นได้ตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1367 ซึ่งวางหลักให้ความคุ้มครอง ไว้ว่า ถ้าบุคคลใดยึดถือทรัพย์สินโดยเจตนาจะยึดถือเพื่อตน บุคคล นั้นย่อมได้มาซึ่งสิทธิครอบครอง - การยึดถือครอบครองทรัพย์สินที่ได้มาจากการยืมใช้คงรูปตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 640 นั้น ผู้ครอบครองทรัพย์สิน ได้ทรัพย์สินมาไว้ในความครอบครองโดยความยินยอมของผู้ให้ยืม จึงเป็นการยึดถือทรัพย์สินโดยมีเจตนาเพื่อตนและใช้ประโยชน์ใน ทรัพย์สินนั้น เพียงแต่ว่ากรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินยังไม่ตกเป็นของผู้ยืม เพราะผู้ยืมยังคงมีหน้าที่คืนทรัพย์สินนั้นแก่ผู้ให้ยืม เช่นนี้ ผู้ยืมจึงมีเพียงสิทธิครอบครองอันเป็นสิทธิได้มาตาม เหตุการณ์ข้อเท็จจริง (de facto) เมื่อผู้ยืมมีสิทธิครอบครอง ในทรัพย์สินที่ยืมมา ผู้ยืมจึงมีสิทธิได้รับประโยชน์จากทรัพย์นั้น มีสิทธิหวงกันในทรัพย์สิน เพื่อมิให้ถูกการรบกวนขัดสิทธิโดยบุคคล ผู้ไม่มีสิทธิในทรัพย์สินที่ดีกว่า การเข้าครอบครองทรัพย์สิน ของผู้ยืมนั้น ก่อให้เกิดสิทธิครอบครองแก่ตนในฐานะที่เป็น ผู้เข้าถือเอาสิทธิก่อนตามหลักที่ว่า "ผู้มาก่อนได้ก่อน" (the right of the first taker) กฎหมายย่อมให้ความคุ้มครองแก่ ผู้ครอบครองทรัพย์สินนั้นโดยสุจริต บุคคลใดมีสิทธิที่ดีกว่าก็ต้องพิสูจน์ให้เห็นเช่นนั้น ถ้าหากถูกแย่งการครอบครองไปโดยผู้ไม่สุจริต หรือไม่มีสิทธิที่ดีกว่า ผู้ครอบครองย่อมทรงไว้ซึ่งสิทธิได้คืน ซึ่งการครอบครองจากผู้ไม่มีสิทธินั้น มิฉะนั้นแล้วผู้มีสิทธิครอบครองในทรัพย์สิน อาจถูกแย่งการครอบครองกันโดยใช้กำลังตามกายภาพ อันจะส่งผลให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อยในสังคมได้อย่างไม่มี ที่สิ้นสุด ดังนั้น ผู้ที่ยึดถือทรัพย์สินของผู้ยืมไว้ โดยมิอาจพิสูจน์ให้เห็นว่ามีสิทธิดีกว่าผู้ยืมทรัพย์สินมาในอันที่จะยึดถือ ทรัพย์สินนั้นอย่างไร ผู้ยึดถือทรัพย์สินนั้นจึงหามีสิทธิยึดถือ ทรัพย์สินนั้นไว้ได้ไม่ ในทางกลับกันผู้ยืมย่อมมีสิทธิได้คืน ซึ่งการครอบครองในทรัพย์สินนั้น และตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1375 ก็ได้ให้ความคุ้มครองผู้มีสิทธิครอบครองซึ่งถูกแย่ง การครอบครองไว้โดยชัดแจ้ง ผู้เขียนหมายเหตุ สุวิทย์ รัตนสุคนธ์



-          สิทธิตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ในเรื่องการครอบครอง
-          ครอบครองทรัพย์อันเป็นสิทธิของตนเอง ไม่ได้ครอบครองทรัพย์สินแทนผู้อื่น ขาดองค์ประกอบความผิดฐานยักยอก
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 891/2484 รับมอบเงินมัดจำในการตกลงขายข้าวแล้วปฏิเสธว่าไม่ได้รับเงิน ถือว่าเป็นกรณีผิดสัญญาซื้อขาย ไม่ใช่เรื่องยักยอก
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 216/2519 จำเลยมีชื่อในโฉนดแทนโจทก์ แต่ไม่ได้เข้าไปเกี่ยวข้องกับที่ดินตามโฉนด ไม่ถือว่าได้ครอบครองที่ดิน เป็นยักยอกที่ดินตาม ม.352 ไม่ได้
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 2218/2521 (สบฎ เน 5633) ความผิด ม 352 ผู้ยักยอกต้องครอบครองทรัพย์ที่ยักยอกแล้วเบียดบังเสีย เมื่อไม่ปรากฏว่าจำเลยครอบครองทรัพย์ ก็ไม่เป็นยักยอก
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 2361/2523 โจทก์บรรยายฟ้องว่าโจทก์เป็นผู้ถือสิทธิการเช่าอาคารพาณิชย์ของการเคหะแห่งชาติ และตกลงให้จำเลยจัดหาคนมารับโอนสิทธิการเช่าในราคา 150,000 บาท  แต่ถ้าจำเลยจัดหาคนรับโอนสิทธิการเช่าได้ราคาเกินกว่า 150,000 บาท เงินส่วนที่เกินเป็นของจำเลย เมื่อจำเลยจัดหาผู้รับโอนสิทธิการเช่าได้ในราคา 195,000 บาท แต่จำเลยส่งมอบเงินให้โจทก์เพียง 80,000 บาท ส่วนที่เหลือ 70,000 บาท จำเลยได้ยักยอกเอาไว้เป็นของตนเสีย การที่จำเลยโอนสิทธิการเช่าและรับเงินจากผู้รับโอนสิทธิการเช่าไว้ ดังนี้ เป็นการรับเงินจากบุคคลที่สาม ซึ่งจำเลยมีความผูกพันตามสัญญาที่จะต้องชดใช้เงินให้แก่โจทก์ 150,000 บาทเท่านั้น มิใช่จำเลยได้รับมอบหมายหรือครอบครองเงินดังกล่าวไว้แทนผู้เสียหาย  ทั้งปรากฏจากสัญญาโอนสิทธิการเช่าว่า  จำเลยเป็นผู้ทำสัญญาโอนสิทธิการเช่าในนามจำเลย หาได้ทำสัญญาในฐานเป็นตัวแทนของโจทก์ไม่ เมื่อจำเลยรับเงินค่าโอนสิทธิการเช่าจากผู้รับโอนตามสัญญาโอนสิทธิการเช่า จึงมิใช่เป็นการรับเงินแทนโจทก์ การกระทำของจำเลยเป็นการผิดสัญญาทางแพ่งเท่านั้น
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 578/2532 จำเลยกับสามีจำเลยซึ่งเป็นเจ้าของร้าน ก. ได้นำรถยนต์ของผู้เสียหาย ไปขายให้บริษัท น./ บริษัท น.ไม่ได้จ่ายเงินค่ารถยนต์ให้แก่ร้าน ก. แต่ได้หักหนี้ที่ร้าน ก. เป็นหนี้บริษัท น. อยู่ / จำเลยมิได้รับเงินค่ารถยนต์จากบริษัท น. ไว้แทนผู้เสียหายเลย จำเลยจึงไม่อาจเบียดบังเอาเงินดังกล่าวได้ การที่จำเลยไม่ยอมชำระเงินค่ารถยนต์แก่ผู้เสียหาย ไม่เป็นความผิดฐานยักยอก
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 2083/2537 ทรัพย์มรดกของ น.ที่โจทก์ฟ้องอ้างว่าจำเลยจดทะเบียนโอนมาเป็นของจำเลยก็ดี จดทะเบียนโอนขายให้บุคคลอื่นก็ดี มิได้ตกเป็นของโจทก์ตามที่ระบุไว้ในสัญญาแบ่งปันทรัพย์ ทั้งการกระทำดังกล่าวของจำเลย ล้วนเกิดขึ้นภายหลังที่โจทก์จำเลยตกลงทำสัญญาแบ่งปันทรัพย์มรดกของ น. แล้ว จึงเป็นการจัดการทรัพย์สินส่วนที่เป็นมรดกตกเป็นของจำเลยเอง หาใช่เป็นการจัดการทรัพย์มรดกของ น. ที่ตกเป็นของโจทก์ไม่  การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดฐานยักยอก
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 3629/2538 ผู้เสียหายโดยสารรถยนต์ที่จำเลยเป็นผู้ขับส่งธนบัตรฉบับละ 100 บาท ให้แก่จำเลยเพื่อชำระหนี้ค่าโดยสารเป็นเงิน 5 บาท ถือได้ว่าผู้เสียหายได้มอบการครอบครองธนบัตรฉบับละ 100 บาทให้แก่จำเลย การที่จำเลยไม่ได้ทอนเงินให้แก่ผู้เสียหายทันที หรือแม้จำเลยไม่มีเจตนาที่จะทอนเงินให้แก่ผู้เสียหายโดยเจตนาที่จะเอาเงินที่เหลือจำนวน 95 บาท เป็นประโยชน์ของตนโดยทุจริตก็ไม่เป็นความผิดฐานลักทรัพย์ เพราะเจตนาทุจริตเกิดขึ้นภายหลังที่ธนบัตรอยู่ในความครอบครองของจำเลยแล้ว
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 2836/2540 ในขณะที่โจทก์ยื่นฟ้องคดีนี้กรณียังมีการโต้แย้งกันเกี่ยวกับกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทว่าเป็นของโจทก์หรือจำเลย โดยโจทก์ฟ้องทางแพ่งอ้างว่าเป็นที่ดินของโจทก์ ขอให้จำเลยโอนที่ดินพิพาทคืนแก่โจทก์และคดีดังกล่าว ศาลฎีกาพิพากษายกฟ้องโดยวินิจฉัยว่าที่ดินพิพาทเป็นของจำเลย แม้ว่าไม่มีบทบัญญัติของกฎหมายให้ศาลที่พิจารณาคดีอาญาจำต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนแพ่งก็ตาม แต่ก็นำมารับฟังประกอบในคดีอาญานี้ได้ เมื่อพิเคราะห์ประกอบกับพยานหลักฐานโจทก์แล้ว คดียังไม่พอฟังว่าที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์หรือโจทก์เป็นเจ้าของร่วมในที่ดินพิพาท เมื่อจำเลยไม่อยู่ในฐานครอบครองทรัพย์ของโจทก์ การกระทำของจำเลยที่ไม่ยอมโอนที่ดินพิพาทคืนแก่โจทก์ จึงถือไม่ได้ว่าเป็นการเบียดบังเอาทรัพย์ของโจทก์ไปโดยทุจริต
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 7243/2541 ป. ซื้อเครื่องพิมพ์จากผู้เสียหาย ในการชำระค่าซื้อเครื่องพิมพ์ ผู้เสียหายสั่งให้ ป. สั่งจ่ายเช็คชำระหนี้เงินที่ผู้เสียหายได้ยืมจำเลยไป การที่ ป. มอบเช็คให้แก่จำเลยรับไปดังกล่าวจึงเป็นการชำระหนี้ยืม จำเลยผู้รับมอบเช็คจึงเป็นผู้ทรงเช็คในฐานะผู้รับชำระหนี้โดยชอบ มิใช่ในฐานะผู้รับมอบเช็คแทนผู้เสียหาย หรือผู้เสียหายเป็นเจ้าของร่วมในเช็คนั้นด้วย เมื่อจำเลยนำเช็คไปเรียกเก็บเงินและได้รับเงินตามเช็คแล้ว เงินตามเช็คที่เรียกเก็บได้ย่อมเป็นของจำเลย ผู้เสียหายไม่มีส่วนเป็นเจ้าของร่วมในเงินตามเช็คที่จำเลยได้รับจากการเบิก เพราะผู้เสียหายมิได้ส่งมอบเงินให้แก่จำเลย เพียงแต่มีข้อตกลงให้จำเลยมีหน้าที่จะต้องคืนเงินส่วนที่เหลือให้แก่ผู้เสียหาย เมื่อได้หักหนี้ยืมที่ผู้เสียหายเป็นหนี้จำเลยแล้วเท่านั้น แม้จำเลยไม่คืนเงินส่วนที่เหลือและนำไปใช้เป็นประโยชน์ส่วนตัวเสีย ก็อาจเป็นเพียงเรื่องผิดสัญญาทางแพ่ง ไม่เป็นความผิดฐานยักยอก
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 2926/2544 เงินค่าแชร์แต่ละงวดที่ผู้เสียหายทั้งสิบเอ็ดและโจทก์ร่วมส่งให้จำเลย เมื่อผู้ใดประมูลแชร์ได้ ก็จะตกได้แก่ผู้นั้น กรรมสิทธิ์ในเงินที่ส่งไปแล้ว มิได้เป็นของผู้เสียหายทั้งสิบเอ็ดและโจทก์ร่วมต่อไปอีกและหากผู้เสียหายทั้งสิบเอ็ดและโจทก์ร่วมไม่สามารถประมูลแชร์ได้เพราะแชร์ล้มเลิก ไม่ว่าด้วยเหตุใด จำเลยในฐานะที่เป็นเจ้ามือแชร์ก็ต้องรับผิดแทน ซึ่งเป็นความผิดในทางแพ่ง จำเลยไม่มีความผิดฐานยักยอก

-          การครอบครองทรัพย์ตามสัญญาซื้อขาย
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 1140/2507 จำเลยรับฝากยาเส้นไว้จากผู้เสียหาย แล้วเอาไปขาย แต่โจทก์ฟ้องว่า จำเลยมีเจตนาทุจริตยักยอกเอาเงินค่ายาเส้นไว้เป็นประโยชน์ส่วนตัว มิได้ฟ้องว่ายักยอกยาเส้น เมื่อทางพิจารณาฟังได้ว่า ผู้เสียหายได้ยอมตกลงรับเงินค่ายาเส้นจากจำเลย และยังยอมให้จำเลยผัดชำระเงินด้วย ดังนี้ เมื่อจำเลยยังมิได้ชำระ ก็เป็นเรื่องที่จะต้องไปฟ้องร้องกันในทางแพ่ง การที่จำเลยยังไม่มีเงินค่ายาเส้นชำระให้ ไม่เป็นผิดทางอาญา ฐานยักยอกดังฟ้อง
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 2558/2526 โจทก์จำเลยเคยติดต่อซื้อขายสิ่งของกันมาหลายครั้ง ครั้งที่เกิดเหตุ ก็ตกลงซื้อตามข้อเสนอขายของจำเลย การมอบเงิน จึงเป็นการมอบให้ในฐานะที่โจทก์เป็นผู้ซื้อ จำเลยเป็นผู้ขาย มิใช่มอบให้ในฐานะจำเลยเป็นตัวแทนของโจทก์ หรือมอบหมายให้จำเลยไปจัดซื้อของแทนโจทก์ การที่จำเลยไม่ส่งของตามที่ตกลงซื้อขายกัน หรือไม่คืนเงินที่รับไปให้แก่โจทก์ เป็นการผิดสัญญาทางแพ่ง ไม่เป็นความผิดฐานยักยอก ข้อที่จำเลยปฏิเสธว่าไม่ได้เสนอขายของให้โจทก์ และไม่ได้รับเงินจากโจทก์ เป็นสิทธิในการต่อสู้คดีของจำเลย
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 1631/2531 การที่ผู้เสียหายกับจำเลยตกลงกันว่า ให้จำเลยเก็บเพชรไว้ดูก่อน จำเลยจะซื้อเพชรที่เข้ากับตัวเรือนได้ และจะคืนเพชรที่ใช้ไม่ได้แก่ผู้เสียหายใน 1 สัปดาห์ เป็นการเสนอขายเผื่อชอบ เมื่อเพชรรายการหนึ่งหายไป และจำเลยไม่ชำระราคาเพชรรายการนี้ ก็เป็นเรื่องที่จะต้องไปฟ้องร้องกันในทางแพ่ง จำเลยไม่มีความผิดฐานยักยอก
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 6011/2531 โจทก์ซื้อที่ดินพร้อมบ้านจากผู้มีชื่อ โดยให้จำเลยลงชื่อรับโอนที่ดินและบ้านแทนโจทก์ แต่จำเลยมิได้เข้าไปครอบครองที่ดินและบ้านดังกล่าวแต่อย่างใด ดังนั้นแม้จำเลยจะโอนที่ดินและบ้านของโจทก์ให้ผู้อื่นไป การกระทำของจำเลย ก็ไม่เป็นความผิดฐานยักยอกตามมาตรา 352
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 121/2543 โจทก์ร่วมและจำเลยต่างมีความประสงค์จะซื้อจะขายรถยนต์ โดยมีเงื่อนไขว่าจำเลยจะนำรถยนต์ของโจทก์ร่วมไปทดลองใช้ก่อน 7 วัน หากพอใจจำเลยจะนำเงินมาชำระให้โจทก์ร่วม ข้อตกลงระหว่างโจทก์ร่วมกับจำเลยส่อแสดงเจตนาว่าทั้งสองฝ่ายจะซื้อจะขายรถยนต์กันตั้งแต่เริ่มแรก การที่จำเลยได้รับมอบรถยนต์จากโจทก์ร่วมจึงเข้าลักษณะสัญญาซื้อขายเผื่อชอบตาม ป.พ.พ. มาตรา 505 การที่โจทก์ร่วมส่งมอบรถยนต์ให้จำเลยทดลองขับ ถือว่าเป็นการตรวจดูแล้ว การซื้อขายย่อมเป็นอันบริบูรณ์ เพราะจำเลยมิได้บอกกล่าวว่าไม่ยอมรับซื้อและมิได้ส่งมอบรถยนต์คืนภายในกำหนดเวลาตามมาตรา 508 (1) (2) เมื่อปรากฏว่าขณะที่รถยนต์ของโจทก์ร่วมหายไป และจำเลยยังมิได้ชำระราคารถยนต์แก่โจทก์ร่วมต้องไปว่ากล่าวกันในทางแพ่ง การกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิดตามกฎหมายอาญา

-          การส่งมอบทรัพย์ให้ผู้ครอบครองนำไปจำหน่าย
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 820/2469 (อ.จิตติ กฎหมายอาญา ภาค 2 ตอน 2 หน้า 2651) บ.รับทองรูปพรรณจาก จ. โดยทำสัญญามีข้อความว่า ถ้าจำหน่ายได้เงินแล้ว จะนำเงินตามราคาชำระให้แก่ท่าน ถ้าจำหน่ายไม่ได้ ก็จะนำสิ่งของมาคืนแก่ท่านตามเดิม เป็นการมอบกรรมสิทธิ์ในของนั้น ให้ บ. โดยเด็ดขาด เพื่อไปขายหากำไร เมื่อขายไม่ได้ ยอมรับคืน / บ.ขายของได้หมดแล้ว ไม่นำเงินมาชำระ เป็นการผิดสัญญา ไม่เป็นยักยอก
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 68/2494 ฟ้องว่าจำเลยได้รับมอบแหวนเพ็ชรของผู้เสียหายไป 1 วง โดยจำเลยรับว่าจะเอาไปขายให้ ถ้าขายไม่ได้ก็จะเอามาคืนให้ ครั้นแล้วจำเลยได้มีเจตนาทุจริตเบียดบังยักยอกแหวนเพ็ชร หรือเงินค่าแหวนนั้นเป็นประโยชน์ส่วนตัวเสีย ดังนี้เป็นฟ้องที่จำเลยสามารถเข้าใจข้อหาได้ดี จำเลยย่อมรู้สึกอยู่แก่ตนว่า ยักยอกแหวนหรือยักยอกเงินค่าแหวนที่ขายได้ จึงไม่เป็นฟ้องที่เคลือบคลุม / รับแหวนของเขาไปเพื่อจะนำไปขายตามคำสั่งของผู้มอบหมายนั้น ผู้รับมอบมีฐานะเป็นตัวแทน ฉะนั้นเมื่อได้รับเงินค่าขายแหวนไว้ ก็หมายความว่ารับไว้ในฐานเป็นตัวแทนเขาด้วย และมีหน้าที่จะต้องนำส่งเงินนี้แก่ผู้มอบหมาย ถ้ายักยอกเอาเงินนี้ไว้เสียโดยทุจริต ก็เป็นความผิดฐานยักยอกในทางอาญา
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 1311/2518 ส.มอบแหวนและสร้อยให้จำเลยไปขาย ขายราคาเท่าใดไม่จำกัด แต่จำเลยต้องให้เงิน 18,000 บาท แก่ ส.จำเลยไม่คืนแหวนและว่าเอาเงินใช้หมดแล้ว ไม่เป็นยักยอก
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 840/2522 จำเลยมีอาชีพรับซื้อสุกรไปขายจำเลยได้รับสุกรจากโจทก์ไปเพื่อขาย โดยกำหนดราคาสุกรไว้ หากจำเลยขายสุกรได้สูงกว่าราคาที่กำหนด ส่วนที่เกินตกเป็นของจำเลย และโจทก์ตกลงให้ค่าจ้างแก่จำเลยอีกร้อยละห้าของราคาสุกรด้วย จำเลยขายสุกรของโจทก์ได้เงินแล้ว จำเลยขอผัดผ่อน ยังไม่ส่งเงินค่าสุกรที่ขายได้ ตามกำหนดที่นัดไว้ โจทก์ก็ยอมให้จำเลยผัดไปหลายครั้งดังนี้ เป็นเรื่องผิดสัญญาทางแพ่ง ไม่ใช่เป็นเรื่องจำเลยมีอาชีพหรือธุรกิจอันย่อมเป็นที่ไว้วางใจของประชาชน แล้วได้รับมอบหมายให้จัดการทรัพย์สินของโจทก์ และกระทำผิดหน้าที่อันจะเป็นความผิดฐานยักยอกแต่อย่างใด
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 3090/2522 ผู้เสียหายมอบเครื่องเพชรให้จำเลยไปขาย โดยผู้เสียหายคิดเอาราคา 32,300 บาท มีข้อตกลงกันว่าจำเลยจะจ่ายเงินตามราคาของให้เมื่อครบ 1 เดือนนับแต่วันเอาของไปถ้าขายไม่ได้ จะคืนของให้ภายใน 1 เดือนเช่นกัน โดยไม่ได้จำกัดว่าจำเลย จะต้องขายในราคาเท่าใด เช่นนี้เงินที่ขายเครื่องเพชรดังกล่าวได้จึงตกเป็นของจำเลย เพียงแต่จำเลยมีความผูกพันว่าจะต้องนำเงิน 32,300 บาทมาคืนให้แก่ผู้เสียหายตามที่ตกลงกันไว้เท่านั้น กรณีจึงมิใช่จำเลยได้รับมอบหมายให้รับเครื่องเพชรหรือราคาเครื่องเพชรไว้แทนผู้เสียหาย  แต่เป็นกรณีผู้เสียหายขายเชื่อเครื่องเพชรให้จำเลยไป แม้จำเลยไม่จ่ายเงินแก่ผู้เสียหาย และไม่คืนเครื่องเพชรก็เป็นเรื่องผิดสัญญาทางแพ่ง ไม่เป็นความผิดอาญาฐานยักยอกตามที่โจทก์ฟ้อง
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 2739/2523 โจทก์ร่วมกับจำเลยตกลงกันให้จำเลยเอาแหวนเพชรของโจทก์ร่วม จำนวน 6 วงราคารวม 216,000 บาทไปขาย ภายในเงื่อนไขว่าจำเลย จะขายในราคาเท่าใดเป็นเรื่องของจำเลย เพียงแต่ว่าภายในเวลาที่กำหนด กันไว้ จำเลยจะต้องนำเงินค่าแหวนแต่ละวงดังกล่าวมาชำระให้โจทก์ร่วม ถ้าขายไม่ได้ให้จำเลยนำแหวนที่เหลือมาคืน ดังนี้ เห็นได้ว่าเมื่อได้รับมอบ แหวนไปแล้ว จำเลยจะขายแหวนเหล่านั้นในราคาเท่าใดก็ได้ เพียงแต่จำเลยจะต้องนำเงินมาชำระให้โจทก์ร่วมตามจำนวนที่โจทก์ร่วมตกลงไว้กับจำเลย เท่านั้น หากจำเลยไม่นำเงินมาชำระให้โจทก์ร่วมก็เป็นเพียงการผิดสัญญาที่ตกลงกันไว้ ซึ่งโจทก์ร่วมมีสิทธิฟ้องบังคับให้จำเลยชำระเงินดังกล่าวได้ คดีไม่มีมูลเป็นความผิดทางอาญาฐานยักยอก
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 137/2525 ฟ้องว่า จำเลยรับเสื่อจากผู้เสียหายไปขาย คิดราคาเป็นเงิน 440 บาท เมื่อขายได้แล้ว จำเลยจะต้องนำเงิน 440 บาทไปชำระให้แก่ผู้เสียหาย จึงเป็นเรื่องมอบเสื่อให้จำเลยไปขายโดยประสงค์ได้รับเงินราคาเสื่อ มิใช่มอบให้จำเลยเป็นตัวแทนไปขายเสื่อของผู้เสียหาย จำเลยจึงมิใช่เป็นผู้ครอบครองเงินที่ขายได้แทนผู้เสียหาย เมื่อจำเลยไม่ชำระเงินค่าเสื่อ จึงเป็นเรื่องผิดสัญญาไม่ชำระหนี้ในทางแพ่ง ไม่ผิด ป.อ. ม.352
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 3812/2527 จำเลยรับสร้อยคอและสร้อยข้อมือทองคำของโจทก์ไปจำหน่าย โดยกำหนดราคากันไว้ จะขายเกินหรือต่ำกว่าราคาที่โจทก์กำหนดก็ได้ เมื่อขายได้แล้วต้องส่งเงินให้แก่โจทก์ตามราคาที่กำหนด โดยได้เปอร์เซ็นต์ ถ้าขายไม่ได้ก็นำมาคืน ดังนี้ ไม่ใช่เรื่องตัวแทน หรือจำเลยได้รับมอบหมายให้รับราคาสร้อยไว้แทนโจทก์ เมื่อจำเลยไม่คืนสร้อยและว่าเอาเงินไปใช้หมดแล้ว เป็นเรื่องผิดสัญญาทางแพ่งเท่านั้น ไม่มีความผิดฐานยักยอกตาม ป.อ.ม.352
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 1607/2532 โจทก์มอบพลอยจำนวน 3 หมู่ ให้จำเลยไปขายโดยกำหนดราคาขั้นต่ำไว้ จำเลยจะขายในราคาสูงกว่าก็ได้ จำเลยย่อมมีสิทธิขายพลอยอย่างเป็นของตนเอง ไม่ใช่เป็นตัวแทนไปขายในนามของโจทก์ แม้ตกลงให้ค่าตอบแทนแก่จำเลยเป็นเงิน 3 เปอร์เซ็นต์ของเงินที่ขายได้ ก็ไม่ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างโจทก์จำเลยเปลี่ยนแปลงไป จำเลยไม่ยอมคืนพลอย หรือใช้เงินให้โจทก์เป็นเพียงผิดข้อตกลงกัน ซึ่งโจทก์จะต้องใช้สิทธิเรียกร้องแก่จำเลยในทางแพ่ง ไม่ผิดฐานยักยอก
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 1078/2535 ก่อนเกิดเหตุจำเลยรับทองของโจทก์ไปจำหน่ายโดยรับจาก อ. อีกทอดหนึ่ง เมื่อขายทองได้แล้วจำเลยจะชำระเงินให้แก่ อ. และ อ. จะนำไปชำระให้โจทก์ โดยไม่มีการทำสัญญารับเป็นตัวแทนจำหน่าย ต่อมาจำเลยรับทองของโจทก์ไปจำหน่ายโดยตรง แต่ไม่มีการทำสัญญารับเป็นตัวแทนจำหน่ายเช่นเดียวกัน คงทำสัญญาในรูปการให้ยืมทรัพย์เท่านั้น การปฏิบัติระหว่างโจทก์กับจำเลยจึงไม่ใช่เรื่องตัวการ ตัวแทน หากแม้จะฟังว่าจำเลยยังไม่ได้ชำระเงินค่าทองให้โจทก์ ก็เป็นเรื่องผิดสัญญาทางแพ่งเท่านั้น การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดฐานยักยอก
-          คำพิพากษาฎีกา 9392/2539 จำเลยเป็นตัวแทนขายเครื่องพิมพ์ดีดของผู้เสียหาย โดยได้รับค่าตอบแทนจากผู้เสียหายเครื่องละ 100 บาท จำเลยติดต่อนำเครื่องพิมพ์ดีดของผู้เสียหายไปฝากขายที่ร้านค้าของผู้อื่น และมีสิทธิรับเครื่องพิมพ์ดีดนั้นคืนได้ การที่จำเลยรับเครื่องพิมพ์ดีดคืนจำเลยจึงเป็นผู้ครอบครองเครื่องพิมพ์ดีดดังกล่าวโดยชอบ มีสิทธินำไปขายหรือส่งมอบคืนผู้เสียหายได้ ฉะนั้นเมื่อจำเลยนำเครื่องพิมพ์ดีดที่รับคืนมาไปเป็นประโยชน์ส่วนตน เป็นการเบียดบังเอาเครื่องพิมพ์ดีดนั้นเป็นของตนโดยทุจริตจึงเป็นความผิดฐานยักยอกตาม ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 352 วรรคหนึ่ง / ความผิดฐานยักยอกที่ได้ความตามทางพิจารณาแตกต่างจากความผิดฐานลักทรัพย์ตามที่โจทก์ฟ้อง แต่ไม่ถือว่าแตกต่างกันในข้อสาระสำคัญ เมื่อจำเลยไม่หลงต่อสู้ ศาลจึงลงโทษจำเลยฐานยักยอกได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 วรรคหนึ่ง วรรคสอง และวรรคสาม
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 5651/2541 โจทก์ร่วมได้มอบทรัพย์แก่จำเลยเพื่อให้จำเลยนำไปขาย โดยจำเลยจะกำหนดราคาขายมากหรือน้อย หรือจะจัดการแก่ทรัพย์ นั้นอย่างไรก็ได้ จำเลยเพียงแต่มีหน้าที่ต้องนำเงินตามราคา ที่โจทก์ร่วมกำหนดไว้หรือนำทรัพย์สินมาคืนแก่โจทก์ร่วมเท่านั้น การที่จำเลยไม่ยอมนำทรัพย์ตามฟ้องมาคืนหรือมอบเงินแก่ โจทก์ร่วมถือได้ว่าจำเลยเป็นฝ่ายผิดสัญญาทางแพ่งต่อโจทก์ร่วม เท่านั้น ไม่เป็นความผิดฐานยักยอก
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 5043/2542 การที่โจทก์ร่วมมอบเศษอคริลิคไฟเบอร์ให้จำเลยนำไปขายนั้น เป็นกรณีที่จำเลยสามารถขายเศษอคริลิคไฟเบอร์ได้ ตามราคาที่จำเลยได้ต่อรองกับฝ่ายผู้ซื้อ และ เป็นการขายในนามของร้านค้าจำเลยเอง มิใช่ในนามของโจทก์ร่วม เงินที่ได้จากการขายเศษอคริลิคไฟเบอร์ จึงตกเป็นของจำเลย จำเลยมีหน้าที่ต้องชดใช้ราคาเศษอคริลิคไฟเบอร์ และแบ่งผลกำไรที่ได้ให้แก่โจทก์ร่วมเท่านั้น จำเลยมิได้ครอบครองเงินที่ได้จากการขายเศษอคริลิคไฟเบอร์ไว้แทนโจทก์ร่วม เมื่อจำเลยไม่คืนเงินนั้นให้แก่โจทก์ร่วม จึงเป็นการผิดสัญญาในทางแพ่งเท่านั้น ไม่เป็นความผิดฐานยักยอก
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 4932/2543 โจทก์ร่วมและจำเลยค้าขายเพชรด้วยกัน และโจทก์ร่วมเป็นหนี้จำเลย การที่โจทก์ร่วมมอบแหวนเพชรให้จำเลยไปจำหน่าย จำเลยจะต้องนำเงินมาชำระค่าแหวนตามที่ได้ตกลงกัน กรณีมิใช่จำเลยได้รับมอบหมายให้รับแหวนเพชรไว้ในฐานะตัวแทนโจทก์ร่วม แต่เป็นกรณีที่โจทก์ร่วมให้นำไปจำหน่าย แม้เมื่อถึงกำหนดชำระราคา จำเลยไม่นำเงินไปชำระให้โจทก์ร่วม ก็เป็นเรื่องผิดสัญญาทางแพ่ง จึงไม่มีความผิดฐานยักยอกทรัพย์ ปัญหาว่าจำเลยกระทำผิดหรือไม่ เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ถึงแม้จำเลยจะไม่ได้ฎีกา ศาลฎีกาก็สามารถหยิบยกขึ้นวินิจฉัยเองได้

-          การครอบครองทรัพย์ตามสัญญาเช่า หรือเช่าซื้อ
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 1125/2507 โจทก์บรรยายฟ้องว่าจำเลยเช่าซื้อจักรเย็บผ้า 1 หลัง จากบริษัทซิงเกอร์โชอิงแมชีน จำเลยต้องส่งเงินค่าเช่าซื้อเป็นรายเดือน ได้ผ่อนชำระมาบ้างแล้ว ที่เหลือจำเลยไม่ยอมชำระ และจำเลยได้นำเอาจักรดังกล่าวไปจำนำเสียที่สถานธนานุบาล โดยจำเลยมีเจตนาทุจริตคิดยักยอกเบียดบังเอาจักรเป็นอาณาประโยชน์ส่วนตัว ดังนี้ พอแปลความหมายได้ว่าจำเลยเบียดบังเอาจักรเป็นของตนโดยทุจริต อันเป็นองค์สำคัญในความผิดทางอาญาฐานยักยอกแล้วฟ้องของโจทก์ จึงเป็นฟ้องที่ยืนยันข้อเท็จจริงว่าจำเลยได้กระทำผิดทางอาญาฐานยักยอกโดยสมบูรณ์ เมื่อจำเลยให้การรับสารภาพตลอดข้อหาแล้ว ศาลก็ลงโทษจำเลยได้ / ศาลฎีกาพิจารณาแล้ว อันสัญญาเช่าซื้อนั้น คือสัญญาเช่าที่เจ้าของทรัพย์สินให้คำมั่นว่าจะขายทรัพย์สินนั้น หรือว่าจะให้ทรัพย์สินนั้นตกเป็นสิทธิแก่ผู้เช่า โดยเงื่อนไขที่ผู้เช่าได้ใช้เงินเป็นจำนวนเท่านั้นเท่านี้คราววในเรื่องนี้จำเลยซึ่งเป็นผู้เช่ายังชำระเงินให้ไม่ครบกรรมสิทธิ์ในจักรที่เช่ายังเป็นของบริษัทซิงเกอร์โซอิงแมชีน จำกัด ผู้ให้เช่าอยู่ ในระหว่างนั้นจำเลยครอบครองจักรไว้ในฐานะผู้เช่า การที่จำเลยผิดนัดไม่ชำระค่าเช่าแล้วนำจักรไปจำนำเสียนั้น เป็นผิดสัญญาทางแพ่งก็จริงอยู่ แต่มิใช่ว่าการผิดสัญญาทางแพ่งเช่นนี้ไม่อาจจะเป็นผิดในทางอาญาเสียเลยทีเดียวก็หาไม่ หากว่าจำเลยมีเจตนาทุจริตเบียดบังเอาทรัพย์นั้นเป็นของตนเสียก็ย่อมเป็นความผิดทางอาญาฐานยักยอกอีกด้วย ตามนัยฎีกา ๑๑๖๕/๒๔๖๘ โจทก์กล่าวความมาในฟ้องว่าจำเลยมีเจตนาทุจริตคิดยักยอกเบียดบังเอาจักรเป็นของตนโดยทุจริต อันเป็นองค์สำคัญในความผิดทางอาญาฐานยักยอกตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๓๕๒ แล้ว ฟ้องของโจทก์จึงเป็นฟ้องที่ยืนยันข้อเท็จจริงหว่า จำเลยได้กระทำความผิดทางอาญาฐานยักยอกโดยสมบูรณ์ เมื่อจำเลยให้การรับสารภาพตลอดข้อหาแล้ว จะฟังข้อเท็จจริงเป็นอื่น เป็นต้นว่าจำเลยไม่ทุจริตหรือจำเลยไม่เบียดบังเอาทรัพย์เป็นของตนไม่ได้ จำเลยมีความผิดตามฟ้อง
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 2282/2521 (สบฎ เน 5633) ผู้เช่าบ้าน ดูแลรักษาครอบครองทรัพย์ในบ้านแทนผู้ให้เช่า ถือเป็นการมอบให้ให้ครอบครอง เอาทรัพย์ในบ้านเช่น ผ้าห่ม เสื่อ เตาไฟฟ้า ไป เป็นยักยอกทรัพย์
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 6152/2540 ช.ทำสัญญาเช่ารถพิพาทกับผู้เสียหาย โดยมีข้อสัญญาว่าผู้เช่าจะต้องใช้รถยนต์ที่เช่าภายในเขตจังหวัดภูเก็ตเท่านั้น แต่พฤติการณ์ที่ ช. ครอบครองรถที่เช่าแล้วจงใจไม่ส่งคืนเป็นเวลา 10 วัน โดยมิได้แจ้งเหตุที่ไม่ส่งรถคืนให้แก่ผู้เสียหายทราบ ทั้งได้ขับออกนอกเขตจังหวัดภูเก็ตไปไกลถึงอำเภอประจันตคาม จังหวัดปราจีนบุรี ใกล้กับประเทศกัมพูชา จึงชี้ให้เห็นว่า ช. มีเจตนายักยอกทรัพย์แล้ว / การที่เจ้าพนักงานตำรวจสามารถไปพบรถยนต์จี๊ปได้ตามที่จำเลยทั้งสองพาไป แสดงว่าจำเลยทั้งสองเป็นผู้รู้ที่ซ่อนเร้นทรัพย์ของผู้เสียหาย แห่งที่เก็บรถอยู่ห่างบ้านจำเลยที่ 1 ประมาณ 3 ถึง 4 กิโลเมตร อีกทั้งได้ถอดแผ่นป้ายทะเบียนด้านหน้าและด้านหลังออก พฤติการณ์แสดงให้เห็นว่าจำเลยทั้งสองมีเจตนาช่วยซ่อนเร้น ช่วยจำหน่าย ช่วยพาเอาไปเสียหรือรับไว้โดยประการใด ซึ่งรถยนต์คันดังกล่าวโดยรู้ว่าเป็นทรัพย์อันได้มาโดยการกระทำความผิดฐานยักยอกทรัพย์แม้ต่อมาผู้เสียหายจะได้ถอนคำร้องทุกข์ให้ ช. ผู้กระทำผิดฐานยักยอกทรัพย์ทำให้สิทธินำคดีอาญาฐานยักยอกทรัพย์มาฟ้องระงับไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (2) ก็ตาม จำเลยทั้งสองก็ยังคงมีความผิดฐานรับของโจร

-          การครอบครองทรัพย์ตามสัญญาจ้างแรงงาน
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 719/2512 จำเลยซึ่งเป็นคนขับรถบรรทุก มีฐานะเพียงแต่เป็นผู้ถูกใช้ให้ขนทรัพย์ไปตามคำสั่งของเจ้าของทรัพย์เท่านั้น ความยึดถือครอบครองในทรัพย์นั้น ยังอยู่กับเจ้าของทรัพย์ เมื่อจำเลยเอาทรัพย์ไป จึงเป็นการเอาทรัพย์ของผู้อื่นไปโดยทุจริต เป็นความผิดฐานลักทรัพย์ ไม่ใช่ความผิดฐานยักยอก
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 1552/2517 จำเลยทำงานอยู่กับโจทก์ร่วม เป็นผู้ติดต่อและเก็บเงินจากลูกค้า จำเลยรับเช็คจากลูกค้าของโจทก์ร่วมมาในฐานะเป็นผู้รับชำระหนี้แทนโจทก์ร่วม มิใช่ในหน้าที่ซึ่งได้รับมอบหมายจากฝ่ายลูกค้า จำเลยจึงเป็นผู้ครอบครองเช็คของโจทก์ ร่วมในฐานะตัวแทนมีหน้าที่ต้องนำเช็คหรือเงินตามเช็คนั้นส่งให้แก่โจทก์ร่วม เมื่อจำเลยนำเช็คไปเบิกเงินจากธนาคาร และเบียดบังเอาไว้โดยทุจริต โจทก์ร่วมย่อมเป็นผู้เสียหายมีอำนาจร้องทุกข์และฟ้องจำเลยได้ และเป็นความผิดตาม มาตรา 352 กรณีไม่ต้องด้วยมาตรา 353 เพราะจำเลยมิได้รับมอบหมายให้จัดการทรัพย์สินของโจทก์ร่วม
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 2319/2529 จำเลยนำสินค้าของโจทก์ ไปส่งแก่ลูกค้าของโจทก์ ได้รับเช็คชำระค่าสินค้า จำเลยควรส่งมอบเช็คแก่โจทก์ แต่ไม่ส่งมอบ กลับนำเช็คไปขายแล้วเอาเงินไปใช้ประโยชน์ส่วนตัวเสีย “เงินที่จำเลยขายเช็ค” ได้ ไม่ใช่เงินของโจทก์ เพราะโจทก์มิได้มอบหมายให้จำเลยเอาเช็คไปขาย และมิใช่เงินที่จำเลยได้รับมอบจากธนาคารตามเช็ค ซึ่งอาจถือได้ว่ารับไว้แทนโจทก์ แต่เป็นเงินของจำเลยเอง จำเลยจึงไม่มีความผิดฐานยักยอก “เงินที่จำเลยนำเช็คไปขายได้มา” คงมีความผิดฐานยักยอก “เช็ค” (สังเกต เรื่องทรัพย์ที่ครอบครอบ)
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 556/2541 การที่จำเลยในฐานะผู้จัดการของโจทก์ร่วมได้นำปลายข้าวหักจำนวน 360 กระสอบของโจทก์ร่วมไปขายให้แก่ ค. นั้น จำเลยไม่ได้ทำในนามส่วนตัว แต่ได้ทำในนามของโจทก์ร่วมในฐานะที่จำเลยเป็นผู้จัดการของโจทก์ร่วม ดังนั้น เงินที่ ค. ส่งมาชำระค่าสินค้าโดยผ่านเข้าบัญชีของจำเลย จึงเป็นเงินของโจทก์ร่วม  แม้ ค. จะส่งฝากไว้ในบัญชีเงินฝากของจำเลย  แต่ก็เพื่อให้จำเลยนำไปชำระค่าสินค้าให้แก่โจทก์ร่วมอีกทีหนึ่ง โจทก์ร่วมจึงเป็นผู้เสียหายมีสิทธิร้องทุกข์ดำเนินคดีแก่จำเลยได้ และเมื่อฟังว่าเงินในบัญชีของจำเลยเป็นเงินค่าสินค้าของโจทก์ร่วมที่ผู้ซื้อสินค้ามาชำระให้แก่โจทก์ร่วม จำเลยในฐานะผู้จัดการของโจทก์ร่วมจึงมีหน้าที่ควบคุมดูแลรักษาเงินนั้นไว้ไม่ให้สูญหาย แต่จำเลยกลับถอนเงินจำนวนนั้นไปเสียไม่ส่งคืนให้โจทก์ร่วมตามหน้าที่ การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานยักยอกทรัพย์ กรณีหาใช่ผู้ซื้อสินค้าฝากเงินค่าสินค้าไว้กับจำเลยเพื่อให้จำเลยนำไปชำระให้แก่โจทก์ร่วมโดยจำเลยจะนำเงินจำนวนใดไปชำระก็ได้ตามฎีกาของจำเลยไม่
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 1312/2544 จำเลยเป็นพนักงานของโจทก์ร่วมได้รับเช็คของลูกค้าเพื่อชำระค่าสินค้าให้แก่โจทก์ร่วม แต่กลับนำเช็คนั้นไปเบิกเงินแล้วเก็บไว้เอง จึงมีความผิดฐานเอาไปเสียซึ่งเช็คอันเป็นเอกสารของโจทก์ร่วมและทำให้ไร้ประโยชน์ ในประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่โจทก์ร่วมผู้อื่นหรือประชาชนตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 188 และฐานยักยอกเงินตามเช็คตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 352 วรรคแรก / ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า "ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติว่า นางสาวบุญมี เลิศธนาพูลทรัพย์ โจทก์ร่วมเป็นภริยาของนายสมเกียรติ เจริญสุขมงคล สามีและครอบครัวของญาติฝ่ายสามีประกอบกิจการค้าขายเครื่องสุขภัณฑ์ โดยบิดามารดาของสามี ใช้ชื่อในการค้าว่าห้างหุ้นส่วนจำกัดกรุงเทพ พัฒนภัณฑ์ ส่วนสามีใช้ชื่อร้านว่า บางกอกไทล์ ร้านจำหน่ายอิฐแก้ว ชื่อร้านรินทร์ทองมีสถานที่ประกอบการแห่งเดียวกันกับร้านบางกอกไทล์ เลขที่ 413 ถนนมหาพฤฒาราม แขวงมหาพฤฒาราม เขตบางรัก กรุงเทพมหานคร สถานที่ที่ใช้เก็บสินค้าของร้านรินทร์ทองใช้โกดังสินค้า ของห้างหุ้นส่วนจำกัดกรุงเทพพัฒนภัณฑ์ สินค้าอิฐแก้วที่ร้านรินทร์ทอง จำหน่ายรับมาจากห้างหุ้นส่วนจำกัดกรุงเทพพัฒนภัณฑ์ จำเลยเคยเป็น พนักงานของห้างหุ้นส่วนจำกัดกรุงเทพพัฒนภัณฑ์มาก่อน ในวันเวลา และสถานที่เกิดเหตุตามฟ้อง จำเลยได้แก้ไขข้อความในใบส่งของชั่วคราว เล่มที่ 07 เลขที่ 0339 ของร้านรินทร์ทองซึ่งมีข้อความเดิมว่า วันที่ 24 มีนาคม 2534 อิฐแก้วนัมเบอร์ 02 จำนวน 600 ก้อน (100 กล่อง) ราคาต่อหน่วย 75 บาท จำนวนเงิน 45,000 บาท ปรากฏตามคู่ฉบับใบส่งของชั่วคราว ดังกล่าวเอกสารหมาย จ.7 แล้วแก้ไขข้อความใหม่ว่า วันที่ 3 เมษายน 2534 อิฐแก้วนัมเบอร์ 01 จำนวน 1,800 ก้อน (100 กล่อง) ราคาต่อหน่วย 68 บาท จำนวนเงิน 122,400 บาท ปรากฏตามใบส่งของชั่วคราว เอกสารหมาย จ.1 และแก้ไขข้อความในใบส่งของเล่มที่ 07 เลขที่ 0345 ของร้านรินทร์ทอง ซึ่งมีข้อความเดิมว่าวันที่ 27 มีนาคม 2534 อิฐแก้ว นัมเบอร์ 09 จำนวน 300 ก้อน (40 กล่อง) ราคาต่อหน่วย 85 บาท จำนวน 25,500 บาท อิฐแก้วนัมเบอร์ 15 จำนวน 300 ก้อน (50 กล่อง) ราคาต่อหน่วย 85 บาท จำนวนเงิน 25,500 บาท และอิฐแก้วนัมเบอร์ 21 ราคาต่อหน่วย 95 บาท จำนวนเงิน 28,500 บาท รวมเป็นเงิน 79,500 บาท ปรากฏตาม คู่ฉบับใบส่งของชั่วคราวดังกล่าวเอกสารหมาย จ.8 แล้วแก้ไขข้อความใหม่ว่า อิฐแก้วนัมเบอร์ 09 จำนวน 600 ก้อน (50 กล่อง) ราคาต่อหน่วยจำนวนเงิน 51,000 บาท อิฐแก้วนัมเบอร์ 02 จำนวน 600 ก้อน (50 กล่อง) ราคาต่อหน่วย 78 บาท จำนวน 46,800 บาท รวมเป็นเงิน 97,800 บาท ปรากฏตามใบส่งของ ชั่วคราวเอกสารหมาย จ.6 นอกจากนี้จำเลยยังได้รับเช็คธนาคารทหารไทย จำกัด สาขาโชคชัย 4 ซึ่งร้านโชคชัยสุขภัณฑ์ สั่งจ่ายชำระหนี้ให้ร้านรินทร์ทอง จำนวน 2 ฉบับ ฉบับแรกสั่งจ่ายเงินจำนวน 21,000 บาท ปรากฏตาม สำเนาภาพถ่ายเช็คเอกสารหมาย จ.3 ฉบับที่ 2 สั่งจ่ายเงินจำนวน 17,900 บาท ปรากฏตามสำเนาภาพถ่ายเช็คเอกสารหมาย จ.4 ปรากฏว่า จำเลยนำเช็คฉบับแรกเข้าฝากในบัญชีของจำเลย ที่ธนาคารทหารไทย จำกัด สาขามหาพฤฒาราม ส่วนเช็คฉบับที่สองภริยาของจำเลยนำไปเบิกเงินสด จากธนาคารตามเช็ค มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยในประการแรก ว่า ตามฟ้องโจทก์ข้อ 5 และข้อ 6 ขัดแย้งกัน เป็นคำฟ้องที่ชอบหรือไม่ เห็นว่า ตามฟ้องข้อ 5 และข้อ 6 โจทก์บรรยายฟ้องว่าจำเลยยักยอกเงินตามเช็ค ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 352 และทำให้เช็คอันเป็นเอกสาร ของโจทก์ร่วมไร้ประโยชน์ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 188  ซึ่งเป็นข้อเท็จจริงที่เป็นองค์ประกอบในการกระทำความผิดตามกฎหมาย ดังกล่าวชอบที่จะบรรยายฟ้องร่วมกันได้และเงินตามเช็คกับเช็คซึ่งเป็น เอกสารที่จำเลยได้กระทำความผิดตามฟ้องข้อ 5 และข้อ 6 ก็เป็นเช็ค คนละฉบับจึงหาขัดกันไม่ ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น ปัญหาที่จะต้อง วินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยต่อไปมีว่า จำเลยกระทำผิดตามฟ้องโจทก์ หรือไม่ ได้ความจากนางสาวบุญมี เลิศธนาพูลทรัพย์ โจทก์ร่วมและ นางสาวสมศรี มณีโชติ พยานโจทก์และโจทก์ร่วมซึ่งเป็นพนักงานขาย ของร้านรินทร์ทองสอดคล้องตรงกันว่า เดิมจำเลยเป็นพนักงานขาย ของห้างหุ้นส่วนจำกัดกรุงเทพพัฒนภัณฑ์ ซึ่งเป็นของบิดามารดา สามีโจทก์ร่วมมาก่อน เมื่อโจทก์ร่วมมาเปิดร้านรินทร์ทอง จำเลยจึงได้เข้ามา เป็นพนักงานขายที่ร้านนี้ มีหน้าที่ออกไปหาลูกค้าเพื่อที่จะเสนอขายอิฐแก้ว โดยมีตัวอย่างรายการสินค้าอิฐแก้วไปแสดงให้ลูกค้าดู เมื่อลูกค้าสั่งของ จำเลยต้องจดรายละเอียดร้านที่สั่งสินค้า จำนวนสินค้าที่ลูกค้าสั่ง มาส่ง ให้แก่นางสาวสมศรี มณีโชติ เพื่อทำใบส่งของชั่วคราว ในใบส่งของชั่วคราว จะระบุรายละเอียดเกี่ยวกับชื่อร้าน จำนวนสินค้าที่ส่งและราคาด้วย  ส่วนราคานั้นโจทก์ร่วมและหรือบิดามารดาของสามีโจทก์ร่วมเป็นผู้อนุมัติ จากนั้นนางสาวสมศรี มณีโชติ จะมอบใบส่งของชั่วคราวให้แก่จำเลย เพื่อจำเลยจะนำไปเบิกสินค้าที่โกดัง ใบส่งของดังกล่าวทำขึ้นจำนวน 3 ฉบับ มีสีขาว สีเหลือง และสีน้ำตาล เมื่อนำสินค้าไปส่งผู้รับสินค้า จะต้องลงชื่อรับไว้ในใบส่งของชั่วคราวแผ่นสีขาวฉบับนี้ จำเลยจะต้อง นำส่งคืนที่ร้าน ส่วนแผ่นสีเหลืองมอบให้ลูกค้าเก็บไว้สำหรับแผ่นสีน้ำตาล จะติดไว้ในเล่ม ปรากฏว่าใบส่งของชั่วคราวเอกสารหมาย จ.1 และ เอกสารหมาย จ.6 มีการแก้ไขให้ผิดไปจากคู่ฉบับสีน้ำตาลที่ติดอยู่ ในเล่มปรากฏตามรายงานการตรวจพิสูจน์เอกสารหมาย จ.23 หลังจาก โจทก์ร่วมตรวจพบว่ารายการสินค้าและจำนวนเงินที่ระบุไว้ในใบส่งของ ชั่วคราวฉบับสีขาว ไม่ตรงกับที่ปรากฏในใบส่งของชั่วคราวคู่ฉบับสีน้ำตาล ในเล่มโดยโจทก์ร่วมและนางสาวสมศรียืนยันว่าลายมือแก้ไขข้อความ ในเอกสารหมาย จ.1 และ จ.6 เป็นลายมือของจำเลย หลังจากนั้นโจทก์ร่วม ได้นำใบส่งของชั่วคราวเอกสารหมาย จ.1 และ จ.6 ไปเก็บเงินจากร้านโชคชัย สุขภัณฑ์ และร้านสำโรงสหไทย ปรากฏว่าเจ้าของร้านทั้งสองคือ นางสาวพรพรรณ สังขมณี และนางสาวพนิดา แซ่กัง ต่างเบิกความ สนับสนุนพยานโจทก์และโจทก์ร่วมว่า จำเลยมาเก็บเงินไปแล้ว ฝ่ายจำเลย เบิกความรับว่า เคยเป็นพนักงานของห้างหุ้นส่วนจำกัดกรุงเทพพัฒนภัณฑ์ ซึ่งเป็นกิจการของบิดามารดาสามีโจทก์ร่วม ต่อมาจำเลยได้มาเปิดร้าน จำหน่ายอิฐแก้วใช้ชื่อว่าร้านรินทร์ทอง ใบส่งของชั่วคราวที่จำเลยนำไปส่ง ให้แก่ลูกค้านั้นในบางครั้งมีการเปลี่ยนแปลงสินค้าตามความต้องการ ของลูกค้า ดังนั้นราคาก็ย่อมจะต้องเปลี่ยนแปลงไปด้วย จำเลยจึงจำเป็น ต้องแก้ไขข้อความในใบส่งของชั่วคราวเพื่อให้ตรงตามความเป็นจริง เป็นอำนาจของจำเลยที่จะทำได้ แม้กระทั่งเช็คที่ได้รับจากลูกค้าเมื่อจำเลย ไปเบิกเงินมาแล้วสามารถเก็บเงินไว้ก่อนได้ถึง 90 วัน แล้วถึงจะนำส่ง  ร้านรินทร์ทอง จำเลยไม่เคยเบิกอิฐแก้วจากร้านรินทร์ทองเพื่อไปส่งให้แก่ ร้านโชคชัยสุขภัณฑ์และร้านสำโรงสหไทย เบื้องต้นเห็นสมควรวินิจฉัย ก่อนว่า ร้านรินทร์ทองเป็นของโจทก์ร่วมหรือว่าเป็นของจำเลย เห็นว่า คำพยานโจทก์สมเหตุสมผลมีน้ำหนักฟังได้โดยปราศจากข้อสงสัยว่า ร้านรินทร์ทองนี้เป็นของโจทก์ร่วม จำเลยจึงเป็นเพียงพนักงานใน ร้านรินทร์ทองของโจทก์ร่วมเท่านั้น หน้าที่หลักของจำเลยคือการออกไป ติดต่อหาลูกค้าให้แก่ร้านของโจทก์ร่วมด้วยการนำตัวอย่างสินค้าอิฐแก้ว ไปให้ลูกค้าเลือก เมื่อลูกค้ารายใดสนใจและต้องการ จำเลยต้องรวบรวม ข้อมูลที่เรียกว่าใบสั่งซื้อส่งให้แก่นางสาวสมศรี มณีโชติ พนักงานในร้าน โจทก์ร่วมเพื่อเขียนรายละเอียดของร้านที่สั่งสินค้า จำนวนสินค้าเพื่อจำเลย จะได้นำหลักฐานนี้ไปเบิกสินค้าจากโกดังสินค้า ส่วนราคาของสินค้านั้น หลังจากได้รับอนุมัติจากโจทก์ร่วมหรือผู้ใหญ่ของโจทก์ร่วมแล้วนางสาวสมศรี ก็จะเป็นผู้เขียนลงไว้ในใบส่งของชั่วคราวเช่นกัน ในการนำสินค้าไปส่ง จำเลย จะต้องนำใบส่งของชั่วคราวฉบับแผ่นสีขาวลงชื่อรับสินค้าไว้ส่งคืนให้แก่ นางสาวสมศรีคู่ฉบับแผ่นสีเหลืองให้ลูกค้าเก็บไว้ เมื่อข้อเท็จจริงต่อมา ปรากฏว่าใบส่งของชั่วคราวฉบับแผ่นสีขาวเอกสารหมาย จ.1 และ จ.6 มีการแก้ไขให้ต่างไปจากคู่ฉบับแผ่นสีน้ำตาลที่อยู่ในเล่มตรงบริเวณ ที่ขีดเส้นใต้สีแดงกำกับไว้โดยลบด้วยลิควิดเปเปอร์ (Liquid Paper) และเขียนเลข "จำนวนก้อน" "ขนาด" "นัมเบอร์" "ราคาต่อหน่วย" และ "จำนวนเงิน" ทับลงไป ตามช่องและตำแหน่งต่าง ๆ ดังที่ปรากฏตาม เอกสารหมาย จ.23 ประกอบเอกสารหมาย จ.1 กับ จ.6 จำเลยยอมรับว่า ตนเองเป็นผู้แก้ไขแต่อ้างว่าเป็นอำนาจของตนที่จะทำได้ เห็นว่า เอกสาร ดังกล่าวเป็นหลักฐานสำคัญที่จำเลยจะต้องนำไปแสดงเพื่อเบิกสินค้าและ เมื่อนำสินค้าไปส่งให้แก่ลูกค้า ๆ ลงชื่อรับสินค้าแล้ว จำเลยก็ต้องนำส่งคืน โจทก์ร่วมเพื่อใช้เป็นหลักฐานไปเก็บค่าสินค้าจากลูกค้าในภายหลัง ที่โจทก์ร่วม กับนายสมชาติ เจริญสุขมงคล พยานโจทก์และโจทก์ร่วมยืนยันว่าจำเลย ไม่มีอำนาจแก้ไขจึงสมเหตุผล เพราะหากยอมให้จำเลยซึ่งเป็นเพียง พนักงานขายในร้านมีอำนาจแก้ไขเอกสารใบสำคัญดังกล่าวย่อมเป็น การเปิดช่องให้ทำการทุจริตได้ตั้งแต่เริ่มเบิกสินค้าโดยสามารถเบิกได้เกิน จำนวนที่ลูกค้าสั่งจริง สินค้าส่วนที่เกินจำนวน จำเลยย่อมนำไปแสวงหา ผลประโยชน์ได้เป็นส่วนตัวซึ่งไม่มีเจ้าของกิจการค้ารายใดยอมให้เกิด เช่นนี้ได้ ข้ออ้างของจำเลยเป็นการเบิกความลอย ๆ ไม่มีเหตุผลสนับสนุน การที่จำเลยแก้ไขเอกสารใบสำคัญการส่งของชั่วคราวเอกสารหมาย จ.1 และ จ.6 ซึ่งถือเป็นเอกสารที่ก่อให้เกิดสิทธิในการเบิกสินค้าและสิทธิ ในการรับหรือเก็บเงินค่าสินค้า จึงเป็นการปลอมเอกสารสิทธิและ เมื่อจำเลยนำเอกสารที่ทำปลอมขึ้นนี้ไปแสดงต่อนางสาวสมศรีเพื่อใช้เป็น หลักฐานในการเบิกสินค้าจึงเป็นการใช้เอกสารสิทธิปลอม สำหรับเช็ค ที่ลูกค้าชำระหนี้ค่าสินค้าให้แก่ร้านโจทก์ร่วมตามสำเนาภาพถ่ายเช็ค เอกสารหมาย จ.3 และ จ.4 ได้ความจากคำเบิกความของโจทก์ร่วมว่า จำเลยจะเก็บไว้เองไม่ได้จะต้องนำส่งให้แก่โจทก์ร่วมซึ่งถือว่าเป็นหลักการ ดำเนินทางการค้าโดยทั่วไปที่พนักงานขายจะต้องปฏิบัติเช่นนี้ ข้ออ้าง ของจำเลยที่ว่าตนเองมีสิทธิเก็บเงินที่รับมาจากเช็คของลูกค้าได้เป็นเวลาถึง 90 วัน จึงขัดต่อเหตุผลทั้งเป็นคำเบิกความลอย ๆ ไม่มีน้ำหนักหักล้าง พยานหลักฐานของโจทก์และโจทก์ร่วม การกระทำของจำเลยที่รับเช็ค ของลูกค้าเพื่อชำระค่าสินค้าให้แก่ร้านโจทก์ร่วม แต่กลับนำเช็คนั้น ไปเบิกเงินตามเช็คแล้วเก็บไว้เองเช่นนี้ ย่อมเป็นการเบียดบังเงินตาม เช็คนั้นเป็นของตนเองโดยทุจริตด้วย จึงเป็นความผิดฐานเอาไปเสีย ซึ่งเช็คอันเป็นเอกสารของโจทก์ร่วม และทำให้ไร้ประโยชน์ ในประการ ที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่โจทก์ร่วม ผู้อื่นหรือประชาชนตาม ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 188 และฐานยักยอกเงินตามเช็ค ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 352 วรรคแรก ดังที่โจทก์ฟ้อง"

-          การครอบครองทรัพย์ตามสัญญาจ้างทำของ
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 1636/2521 จำเลยรับจ้างซ่อมรถไถของโจทก์ รถอยู่กับจำเลยที่อู่ราว 1 ปี ตามพฤติการณ์ดังกล่าวถือได้ว่า โจทก์มอบหมายให้จำเลยยึดถือ ครอบครองทรัพย์นั้นไว้ การยึดถือครอบครองทรัพย์จึงอยู่ที่จำเลย มิใช่อยู่ที่โจทก์ ดังนั้น เมื่อจำเลยเป็นผู้ครอบครองเสื้อสูบการกระทำของจำเลย ที่เปลี่ยนเสื้อสูบโดยเอาเสื้อสูบของใหม่ไปเสีย แล้วเอาเสื้อสูบของเก่าใส่ไว้นั้น เป็นความผิดฐานยักยอก ไม่ใช่ลักทรัพย์ดังฟ้อง ศาลยกฟ้อง (สังเกต อ.จิตติฯ หมายเหตุว่า ครอบครองรถไถ ถือว่าครอบครองทรัพย์อะไหล่ทุกส่วน)
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 816/2540 ผู้เสียหายมอบหมายให้จำเลยที่ 1 ดูแลการปรับที่ดินแทน แม้ผู้เสียหายสัญญาว่าเมื่อปรับพื้นที่เรียกร้อยแล้วจะยอมให้จำเลยที่ 1 ทำประโยชน์ในที่ดินเป็นเวลา 3 ปีก็ตาม แต่ระหว่างปรับที่ดินของผู้เสียหาย จำเลยที่ 1 ย่อมอยู่ในฐานะผู้ดูแลการปรับพื้นที่แทนผู้เสียหายเท่านั้น หาใช่ผู้เสียหายมอบการครอบครองที่ดินที่จะปรับให้จำเลยที่ 1 ครอบครองไม่เมื่อฟังไม่ได้ว่าผู้เสียหายยินยอมให้จำเลยที่ 1 ขุดบ่อหรือสระโดยยกดินที่ขุดได้ ให้ผู้ขุดเป็นการตอบแทน การที่จำเลยที่ 1 จัดการให้จำเลยที่ 2 ขุดเอาดินในที่ดินของผู้เสียหายไปจึงเป็นการเอาทรัพย์ซึ่งอยู่ในความครอบครองของผู้เสียหายไปโดยทุจริต เป็นความผิดฐานลักทรัพย์หาใช่เป็นความผิดฐานยักยอกทรัพย์ไม่ / þ การวินิจฉัยชี้ขาดข้อเท็จจริงบางกรณีที่เป็นปัญหาคาบเกี่ยวระหว่างการกระทำความผิดฐานลักทรัพย์ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 334 กับความผิดฐานยักยอกตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 352 วรรคแรก ต้องพิจารณาถึงอำนาจการครอบครอง ทรัพย์สินนั้นในขณะเกิดการกระทำผิดว่าอยู่ที่จำเลยหรือไม่ กล่าวคือ ถ้าทรัพย์สินอยู่ในความครอบครองของจำเลยในขณะเกิดการกระทำผิด หากจำเลยเอาทรัพย์นั้นไป การกระทำของจำเลยก็เป็นความผิดฐานยักยอก แต่ถ้าทรัพย์สินอยู่ในความครอบครองของเจ้าทรัพย์ การทีจำเลยโดยทุจริตเอาทรัพย์นั้นไปจำเลยย่อมมีความผิดฐานลักทรัพย์ / ในหลักการดังกล่าว ข้อพิจารณาที่สำคัญประการหนึ่ง คือ การที่จำเลยยึดถือทรัพย์สินอย่างหนึ่งอย่างใดอยู่มิได้หมายความว่า ทรัพย์สินนั้นอยู่ในความครอบครองของจำเลยเสมอไป ซึ่งการที่จำเลย จะมีสิทธิครอบครองในทรัพย์สินอย่างหนึ่งอย่างใดนั้น ปรากฏทาง วินิจฉัยตามแนวคำพิพากษาศาลฎีกาว่า จำเลยจะต้องได้รับอำนาจควบคุม ดูแลทรัพย์สินนั้น โดยแท้จริงจากเจ้าของทรัพย์ประกอบด้วย ตัวอย่างเช่น / คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 661/2501 จำเลยจับข้อมือผู้เสียหาย ผู้เสียหายดึงมือหลุดจากมือจำเลย นาฬิกาข้อมือของผู้เสียหายสายหนัง เก่าเปื่อยมากขาดหลุดติดมือจำเลย ผู้เสียหายบอกจำเลยว่าเก็บไว้ ก่อนกินข้าวแล้วจะมาเอา ครั้นผู้เสียหายกลับมาขอนาฬิกาจำเลย ปฏิเสธว่าไม่ได้เอาไป เป็นเรื่องผู้เสียหายเจตนามอบการครอบครอง ให้จำเลยในระหว่างที่มอบฝาก ไม่เป็นผิดฐานลักทรัพย์ / คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 460/2512 จำเลยได้รับมอบหมายให้ พากระเป๋าทรัพย์ของนายจ้างออกไปให้พ้นจากที่วิวาทเพื่อความปลอดภัย แห่งทรัพย์ แล้วจำเลยพาทรัพย์นั้นหนีไป การกระทำของจำเลยเป็น การเบียดบังยักยอกทรัพย์ตามมาตรา 352 ไม่ใช่ลักทรัพย์ / คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1636/2521 โจทก์จ้างจำเลยซ่อมรถไถโดยโจทก์เป็นผู้ซื้อเครื่องอะไหล่นำไปมอบให้จำเลยที่อู่ซ่อมรถของจำเลย จำเลยซ่อมอยู่ราว 1 ปี จึงเสร็จพฤติการณ์ดังกล่าวถือว่าโจทก์ มอบหมายให้จำเลยยึดถือครอบครองทรัพย์นั้นไว้ การยึดถือ ครอบครองทรัพย์จึงอยู่ที่จำเลย มิใช่อยู่ที่โจทก์ จำเลยเปลี่ยน เสื้อสูบเก่าใส่แทนเสื้อสูบใหม่ของโจทก์ เป็นยักยอกไม่ใช่ลักทรัพย์ / แนวคำพิพากษาศาลฎีกาที่วินิจฉัยถึงพฤติการณ์อันถือว่าเจ้าของทรัพย์ยังมิได้มอบการครอบครองให้แก่จำเลย ตัวอย่างเช่น / คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 179/2507 จำเลยกับผู้เสียหายโดยสาร เรือเมล์ไปด้วยกันผู้เสียหายจะไปห้องส้วม ฝากกระเป๋าให้จำเลย ช่วยถือแทน จำเลยลอบเปิดกระเป๋าถือซึ่งผู้เสียหายฝากไว้ แล้วเอาสร้อยกับธนบัตรไป ดังนี้ การที่ผู้เสียหายฝากกระเป๋าให้จำเลย ช่วยดูแลแทนเป็นการชั่วคราว ชั่วระยะเวลาที่ผู้เสียหายไปเข้า ห้องส้วม มิได้เจตนาสละการครอบครองให้ ถือว่าสร้อยกับธนบัตร ยังอยู่ในความครอบครองของผู้เสียหาย จำเลยมีความผิดฐานลักทรัพย์ตามมาตรา 334 หาใช่เป็นความผิดฐานยักยอกไม่ / คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 229/2510 (ประชุมใหญ่) จำเลยเป็นลูกจ้างรายวันเทศบาลโดยจำเลยที่ 1 มีหน้าที่ขับรถยนต์บรรทุกคนงานไปทำการ ล้างและซ่อมท่อระบายน้ำ จำเลยที่ 2 เป็นคนล้างและซ่อมท่อ จำเลยทั้งสองร่วมกันดูดเอาน้ำมันเบนซินไปจากถังของรถยนต์ คันที่จำเลยที่ 1 ขับ แล้วเอาไปขาย ดังนี้แม้จำเลยมีหน้าที่ ขับรถยนต์ก็มีหน้าที่เพียงดูแลรักษารถยนต์ตลอดถึงน้ำมันเบนซินใน รถยนต์นั้นด้วยก็จริง แต่จำเลยคงมีหน้าที่เพียงดูแลรักษาเท่านั้น เทศบาลมิได้มอบการครอบครองรถยนต์และน้ำมันเบนซินในรถยนต์ ให้จำเลยครอบครองแต่อย่างใด การกระทำของจำเลยผิด ฐานลักทรัพย์ ตามมาตรา 335(7)(11) ไม่ใช่ยักยอก จากข้อเท็จจริงตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 816/2540 นี้ เมื่อผู้เสียหายเพียงตกลงให้จำเลยที่ 1 เป็นผู้ดูแลติดต่อนำรถไถมาปรับ พื้นที่ดินของผู้เสียหาย โดยมิได้มอบการครอบครองในที่ดินที่จะทำ การปรับให้แก่จำเลยที่ 1 รวมทั้งมิได้ยินยอมให้จำเลยที่ 1 ขุดบ่อ หรือสระโดยยกที่ดินที่ขุดให้ผู้ขุดเป็นการตอบแทน การที่จำเลยที่ 1 จัดการให้จำเลยที่ 2 ขุดเอาดินในที่ดินของผู้เสียหายไปจึงเป็นการเอาทรัพย์ซึ่งอยู่ในความครอบครองของผู้อื่นไปโดยทุจริตมีความผิด ฐานลักทรัพย์ อนึ่งเกี่ยวกับข้อเท็จจริงตามคำพิพากษาศาลฎีกาในเรื่องนี้ เคยมีคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 755/2527 (ประชุมใหญ่) วินิจฉัยเป็นข้อสังเกตประการหนึ่งว่า แม้จำเลยจะได้รับมอบการครอบครองในที่ดินซึ่งมีสภาพเป็นอสังหาริมทรัพย์ไว้จากเจ้าของทรัพย์ แต่การที่จำเลยขุดเอาหน้าดินจากที่ดินดังกล่าวไปแสวงหาประโยชน์ อันมิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายเมื่อหน้าดินที่ถูกขุดขึ้นมามีสภาพเป็นสังหาริมทรัพย์ ซึ่งเจ้าของทรัพย์มิได้มอบการครอบครองให้แก่จำเลยแต่อย่างใด จำเลยย่อมมีความผิดฐานลักทรัพย์ได้  / คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 755/2527 (ประชุมใหญ่) จำเลยเช่าที่ดิน โจทก์ทำไร่ แล้วขุดเอาดินนั้นไปขายโดยทุจริต จำเลยมีความผิดฐาน ลักทรัพย์ ไม่ผิดฐานยักยอก เพราะการเช่าที่ดินนั้น ผู้ให้เช่า ให้เช่าทรัพย์สินนั้นในสภาพที่เป็นอสังหาริมทรัพย์ เมื่อที่ดินถูก ขุดมา (สังหาริมทรัพย์) จึงคงอยู่ในความครอบครองของผู้ให้เช่า ผู้เขียนหมายเหตุ สุรางค์ เจียรณ์มงคล
-          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5838/2548 ผู้เสียหายมอบหมายให้จำเลยยึดถือครอบครองรถยนต์เพื่อทำการซ่อมที่อู่ของจำเลย จำเลยจึงเป็นผู้ครอบครองรถยนต์ การที่จำเลยถอดอะไหล่และเครื่องเสียงในรถยนต์ให้บุคคลอื่นหรือนำไปขายจึงเป็นการเบียดบังเอาทรัพย์ดังกล่าวเป็นของตนและบุคคลที่สามโดยทุจริต มีความผิดฐานยักยอกตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 352 วรรคแรก โจทก์ฟ้องว่าจำเลยกระทำความผิดฐานลักทรัพย์หรือรับของโจร ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 334, 357 เมื่อศาลฎีกาพิจารณาแล้วเห็นว่าจำเลยกระทำความผิดฐานยักยอกตามมาตรา 352 วรรคแรก แม้ข้อเท็จจริงที่ปรากฏในการพิจารณาแตกต่างจากที่กล่าวในฟ้องก็ไม่ใช่ข้อแตกต่างในข้อสาระสำคัญ และจำเลยมิได้หลงต่อสู้ ศาลฎีกาย่อมมีอำนาจลงโทษจำเลยในความผิดฐานยักยอกตามที่พิจารณาได้ความตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 วรรคสาม ได้ / ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงรับฟังได้ในเบื้องต้นว่า เมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2540 นายทวี พรหมฤทธิ์ ผู้เสียหายนำรถยนต์กระบะยี่ห้อมิตซูบิชิ หมายเลขทะเบียน ป ? 2291 สุราษฎร์ธานี ของผู้เสียหายไปซ่อมลูกสูบ เคาะปะผุและทำสีรถใหม่ที่อู่สุชาติการช่างของจำเลยซึ่งตั้งอยู่ที่ตำบลขุนทะเล อำเภอเมืองสุราษฎร์ธานี จังหวัดสุราษฎร์ธานี จำเลยได้ถอดเครื่องยนต์และอะไหล่รถยนต์ของผู้เสียหายออกจนหมดโดยไม่ได้ซ่อมรถยนต์ให้แก่ผู้เสียหาย ต่อมาวันที่ 15 มีนาคม 2542 ผู้เสียหายร้องทุกข์ดำเนินคดีแก่จำเลย เจ้าพนักงานตำรวจจับกุมจำเลยพร้อมยึดเครื่องอะไหล่รถยนต์เป็นของกลาง ตามบัญชีของกลางคดีอาญาเอกสารหมาย จ.3 คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยกระทำความผิดฐานลักทรัพย์หรือไม่ โจทก์มีนายทวี พรหมฤทธิ์ ผู้เสียหายเบิกความว่า ในช่วงวันเวลาที่เกิดเหตุ พยานนำรถยนต์ของพยานไปให้จำเลยซ่อมลูกสูบ ต่อมาให้จำเลยเคาะปะผุและทำสีรถใหม่ด้วย ตกลงค่าซ่อมรวม 60,000 บาท พยานชำระเงินให้แก่จำเลยไปแล้ว 14,000 บาท หลังจากนั้นพยานไปดูรถที่อู่ซ่อมรถที่เกิดเหตุหลายครั้ง ปรากฏว่าอะไหล่และอุปกรณ์รถยนต์ของพยานถูกถอดออกไปเรื่อยๆ จนหมด สอบถามจำเลย จำเลยบอกว่า ล้อรถทั้งสี่ล้อญาติของจำเลยเอาไป วิทยุในรถลูกน้องของจำเลยเอาไปและกระบะหลังจำเลยขายไปแล้ว ส่วนอะไหล่อื่นๆ จำเลยเก็บไว้ข้างบ้าน พยานไปดูข้างบ้านพบว่า อะไหล่รถยนต์ของพยานหายไปหลายชิ้น นายอนุรักษ์ พรหมฤทธิ์ พี่ชายของผู้เสียหายเบิกความว่าพยานไปดูรถที่อู่ซ่อมรถที่เกิดเหตุกับผู้เสียหายพบว่าไม่มีการซ่อมรถของผู้เสียหายและอะไหล่รถยนต์ของผู้เสียหายได้หายไปบางส่วนจำเลยรับว่า อะไหล่รถยนต์ของผู้เสียหายบางส่วนได้ขายเป็นเศษเหล็ก บางส่วนให้ญาติของจำเลยและบางส่วนนำไปซ่อมรถยนต์คันอื่น สิบตำรวจตรีสุชาติ ดวงศิริ ผู้จับกุมจำเลยเบิกความว่า ชั้นจับกุมจำเลยให้การรับสารภาพข้อหาลักทรัพย์ ตามบันทึกการจับกุมเอกสารหมาย จ.11 และร้อยตำรวจโทปิยะพงษ์ บุญแก้ว พนักงานสอบสวนเบิกความว่า ชั้นสอบสวนจำเลยให้การรับสารภาพ พยานได้จัดทำบัญชีของกลางคดีอาญา บัญชีทรัพย์ถูกประทุษร้ายได้คืน บัญชีทรัพย์ถูกประทุษร้ายไม่ได้คืน บันทึกการตรวจยึด บันทึกการนำชี้ที่เกิดเหตุประกอบคำรับสารภาพ และบันทึกคำให้การของผู้ต้องหาไว้ ตามเอกสารหมาย จ.3 ถึง จ.6 จ.9 และ จ.14 ทั้งได้ถ่ายรูปรถยนต์ของผู้เสียหายที่อยู่ที่อู่ซ่อมรถที่เกิดเหตุไว้ ตามภาพถ่ายหมาย จ.10 มีคนเอารถยนต์ไปให้จำเลยซ่อมแล้วเกิดเหตุเช่นนี้มาแล้วหลายครั้ง บางรายนำรถยนต์ไปซ่อมที่อู่ซ่อมรถของจำเลยนานเป็นปีก็ซ่อมไม่เสร็จและอะไหล่รถยนต์หายไป แต่ไม่มีการแจ้งความร้องทุกข์ เนื่องจากจำเลยยอมชดใช้ค่าเสียหายเมื่อเรื่องมาถึงสถานีตำรวจ เห็นว่า ผู้เสียหายและนายอนุรักษ์เบิกความสอดคล้องต้องกัน มีน้ำหนักน่าเชื่อถือ โดยเฉพาะสิบตำรวจตรีสุชาติและร้อยตำรวจโทปิยะพงษ์เป็นเจ้าพนักงานตำรวจผู้จับกุมและสอบสวนจำเลยไม่เคยรู้จักหรือมีสาเหตุโกรธเคืองกับจำเลยมาก่อน จึงไม่มีเหตุระแวงสงสัยว่าจะกลั่นแกล้งปรักปรำจำเลย คำเบิกความของเจ้าพนักงานตำรวจทั้งสองสนับสนุนคำเบิกความของผู้เสียหายและนายอนุรักษ์ให้มีน้ำหนักยิ่งขึ้น ข้อนำสืบของจำเลยที่ว่า จำเลยให้การปฏิเสธในชั้นสอบสวนเจ้าพนักงานตำรวจให้จำเลยลงลายมือชื่อในเอกสารหลายฉบับโดยไม่ได้อ่านข้อความให้ฟังจำเลยอ่านหนังสือไม่ค่อยได้ ขอให้เจ้าพนักงานตำรวจอ่านให้ฟัง แต่เจ้าพนักงานตำรวจไม่อ่านให้ฟังโดยบอกว่า ไม่มีปัญหาอะไรเพราะคนรู้จักกันทั้งนั้น ให้ลงลายมือชื่อไปได้เลย คงมีแต่จำเลยเพียงปากเดียวเบิกความลอยๆ ไม่น่าเชื่อถือ โดยเฉพาะจำเลยก็ได้เบิกความยอมรับว่าได้นำกระบะรถยนต์ของผู้เสียหายไปขาย ทั้งตามบันทึกตกลงชดใช้ค่าเสียหายเอกสารหมาย จ.7 ซึ่งจำเลยเบิกความยอมรับว่า ทำไว้กับผู้เสียหายก็มีข้อความระบุว่า จำเลยได้เอากระบะท้าย กระทะล้อพร้อมยางรถยนต์ทั้งสี่ล้อ รวมทั้งอุปกรณ์และส่วนควบอื่นๆ ของรถยนต์ของผู้เสียหายไปจำหน่าย ซึ่งแม้จะฟังตามข้ออ้างของจำเลยว่า ผู้เสียหายจ่ายเงินค่าซ่อมรถให้แก่จำเลย 14,000 บาท แล้วไม่ได้ชำระอีกก็ตาม จำเลยก็ไม่มีสิทธิถอดเอาอะไหล่และเครื่องเสียงรถยนต์ของผู้เสียหายไปให้บุคคลใดๆ เอาไปขายหรือเอาไปซ่อมรถยนต์คันอื่น ที่ผู้เสียหายเบิกความว่า เหตุที่ผู้เสียหายไม่ชำระเงินให้แก่จำเลยอีกเพราะจำเลยถอดอะไหล่ อุปกรณ์รถยนต์ของผู้เสียหายออกและไม่ยอมซ่อมรถยนต์ให้แก่ผู้เสียหาย ผู้เสียหายจึงให้จำเลยนำเครื่องยนต์ตัวถังรถกลับมาใส่คืนและประกอบให้อยู่ในสภาพเดิมเพื่อจะนำรถกลับไปโดยยอมให้ถือว่า เป็นการหักกลบลบหนี้กับเงินที่ผู้เสียหายจ่ายให้แก่จำเลยไปแล้ว แต่จำเลยก็ไม่จัดการให้คำเบิกความของผู้เสียหายน่าเชื่อถือ เพราะไม่ปรากฏว่า จำเลยได้ซ่อมรถยนต์ให้แก่ผู้เสียหายแต่อย่างใด จำเลยได้แต่ถอดอะไหล่และเครื่องเสียงรถยนต์ออกไปจนหมดแล้วนำไปให้แก่บุคคลอื่น เอาไปขายและเอาไปซ่อมรถยนต์คันอื่นเท่านั้น พฤติการณ์ของจำเลยดังกล่าว ประกอบหลังเกิดเหตุจำเลยได้ตกลงชดใช้ค่าเสียหายจำนวน 134,000 บาท ให้แก่ผู้เสียหายภายในกำหนดระยะเวลา 2 เดือน ตามบันทึกตกลงชดใช้ค่าเสียหายเอกสารหมาย จ.7 แต่เมื่อครบกำหนดจำเลยกลับบิดพลิ้วไม่ยอมชดใช้ให้โดยอ้างว่า ยังขายที่ดินไม่ได้ แสดงให้เห็นว่า จำเลยมีเจตนาทุจริตมาตั้งแต่ต้น กรณีจึงมิใช่เป็นเรื่องผิดสัญญาทางแพ่ง ดังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 8 พยานหลักฐานของโจทก์ที่นำสืบมามีน้ำหนักมั่นคง พยานหลักฐานของจำเลยไม่สามารถฟังหักล้างพยานหลักฐานของโจทก์ได้ ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยเอาอะไหล่และเครื่องเสียงของผู้เสียหายไปโดยทุจริต แต่เห็นว่ารถยนต์ที่ผู้เสียหายมอบให้จำเลยซ่อมได้อยู่กับจำเลยมานานถึง 1 ปีเศษ ตามพฤติการณ์ดังกล่าวถือได้ว่าผู้เสียหายมอบหมายให้จำเลยยึดถือครอบครองทรัพย์นั้นไว้ เมื่อจำเลยเป็นผู้ครอบครองรถยนต์ การที่จำเลยถอดอะไหล่และเครื่องเสียงในรถยนต์ให้บุคคลอื่นหรือนำไปขาย จึงเป็นการเบียดบังเอาทรัพย์ดังกล่าวเป็นของตนและบุคคลที่สามโดยทุจริต การกระทำของจำเลยมีความผิดฐานยักยอกตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 352 วรรคแรก คดีนี้โจทก์ฟ้องว่าจำเลยกระทำความผิดฐานลักทรัพย์หรือรับของโจร ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 334, 357 เมื่อศาลฎีกาพิจารณาแล้วเห็นว่าจำเลยกระทำความผิดฐานยักยอกตามมาตรา 352 วรรคแรก แม้ข้อเท็จจริงที่ปรากฏในการพิจารณาแตกต่างจากที่กล่าวในฟ้องก็ไม่ใช่ข้อแตกต่างในข้อสาระสำคัญ และจำเลยมิได้หลงต่อสู้ ศาลฎีกาย่อมมีอำนาจลงโทษจำเลยในความผิดฐานยักยอกตามที่พิจารณาได้ความตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 วรรคสาม ได้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น

-          การครอบครอง ทรัพย์ ตามสัญญารับขน
-          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5980 - 5981/2539 การที่ห้างหุ้นส่วนจำกัด น. ซึ่งเป็นผู้รับขนส่งน้ำยางพาราจากบริษัท อ. ให้จำเลยที่1ซึ่งเป็นลูกจ้างไปรับน้ำยางพาราจากบริษัท อ. เพื่อนำไปส่งอีกที่หนึ่งถือว่าบริษัท อ.ได้มอบการครอบครองน้ำยางพาราให้แก่ห้างหุ้นส่วนจำกัด น. แล้ว จำเลยที่ 1 หาได้รับมอบการครอบครองน้ำยางพารานั้นด้วยไม่ เมื่อจำเลยที่ 1 ร่วมกับจำเลยที่ 2 เอาน้ำยางพาราไปในระหว่างการขนส่งห้างหุ้นส่วนจำกัด น. เป็นผู้เสียหายในฐานะเป็นผู้ครอบครองดูแลรักษาน้ำยางพารา จึงมีอำนาจร้องทุกข์ส่วนจำเลยที่ 2 มิได้เป็นลูกจ้างของผู้เสียหาย แม้ได้ร่วมกับจำเลยที่ 1 ลักทรัพย์ของผู้เสียหายในเวลากลางคืน ก็ไม่มีความผิดฐานลักทรัพย์ของนายจ้างด้วย เพราะความเป็นลูกจ้างเป็นเหตุเฉพาะตัวของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 2 จึงมีความผิดตามมาตรา335 (1) (7) วรรคสาม,83 เท่านั้น

-          การครอบครองทรัพย์ตามสัญญารับฝากทรัพย์
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 455/2518 จำเลยทำสัญญาขายข้าวเปลือกซึ่งเก็บไว้ในยุ้งของ ส. ให้ โจทก์ร่วม และทำสัญญารับฝากข้าวเปลือกจำนวนนั้นไว้จากโจทก์ร่วมจะนำไปส่งมอบให้ภายหลังดังนี้เห็นได้ว่าข้าวเปลือกได้โอนไปเป็นของโจทก์ร่วมแล้ว เมื่อจำเลยรับฝากข้าวเปลือกของโจทก์ร่วมโดยเก็บไว้ในยุ้งที่จำเลยเช่าไว้ จึงเป็นผู้ครอบครองข้าวเปลือกซึ่งเป็นของโจทก์ร่วม เมื่อจำเลยขนเอาข้าวเปลือกไปเสีย และปฏิเสธฝืนพยานหลักฐานว่าไม่มีข้าวเปลือกของจำเลยอยู่ในยุ้งดังกล่าว และจำเลยไม่เคยขายและรับฝากข้าวเปลือกจากโจทก์ร่วมเช่นนี้ถือได้ว่า จำเลยได้เบียดบังเอาข้าวเปลือกของโจทก์ร่วมไปโดยทุจริต จึงเป็นความผิดฐานยักยอกทรัพย์ แม้ข้าวเปลือกจะเป็นสังกมะทรัพย์ซึ่งอาจใช้ข้าวประเภทและชนิดเดียวกัน มีปริมาณเท่ากัน แทนกันได้ แต่ก็มิใช่ว่าผู้รับฝากจะเอาไปเป็นประโยชน์สำหรับตนได้ ทั้งๆ ที่ไม่มีสิทธิ การกระทำของจำเลย หาใช่เป็นผิดสัญญาทางแพ่งเท่านั้นไม่
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 2711/2529 ผู้รับฝากมีหน้าที่จะต้องคืนทรัพย์ที่รับฝากแก่ผู้ฝากผู้รับฝากจะนำทรัพย์ออกใช้สอย หรือมอบให้ผู้อื่นโดยไม่ได้รับความยินยอมจากผู้ฝากหาได้ไม่ การฝากข้าวซึ่งเป็นสังกมะทรัพย์นั้น หากผู้รับฝากยักยอกเอาข้าวไปโดยทุจริต ไม่สามารถส่งคืนข้าวที่รับฝากไว้ให้แก่ผู้ฝากได้ ผู้รับฝากอาจต้องคืนข้าวชนิดและประเภทเดียวกันให้แก่ผู้ฝาก ก็เป็นเรื่องของการชำระหนี้ในทางแพ่งเท่านั้น หามีผลให้ผู้รับฝากพ้นความรับผิดฐานยักยอกในทางอาญาไม่

-          การครอบครอง ทรัพย์ ตามสัญญายืม
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 1554-5/2512 (สบฎ เน 2118) จำเลย "ยืมทรัพย์" แล้วทุจริตยักยอกเอาเป็นประโยชน์ส่วนตัว ผิดอาญา ไม่ใช่เรื่องยืมทางแพ่ง
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 345/2516 (สบ เน 3921) การที่จำเลยใช้อุบายหลอกลวงผู้เสียหายว่าขอยืมรถไป เพื่อเอาทะเบียนรถมาให้ผู้เสียหาย ผู้เสียหายหลงเชื่อคำหลอกลวงดังกล่าวของจำเลย จึงให้จำเลยยืมรถไป เช่นนี้ ถือไม่ได้ว่า จำเลยครอบครองรถของผู้เสียหาย ตามความหมายของประมวลกฎหมายอาญามาตรา 352 จำเลยไม่มีความผิดฐานยักยอก / คดีที่ต้องห้ามมิให้อุทธรณ์คำพิพากษาศาลชั้นต้น ในปัญหาข้อเท็จจริงตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง ฯ เมื่อศาลชั้นต้นฟังข้อเท็จจริงว่าจำเลยขายรถจักรยานยนต์ให้ผู้เสียหายไปแล้ว ผู้เสียหายยังชำระค่ารถให้จำเลยไม่ครบ จำเลยจึงไปเอารถคืนมา โดยใช้อุบายหลอกลวงว่ายืมรถ ไปเอาทะเบียนรถมาให้ผู้เสียหาย เช่นนี้ ถือได้ว่าศาลชั้นต้นฟังข้อเท็จจริงว่าจำเลยมีเจตนาทางอาญาอยู่ในตัวแล้ว การที่ว่าศาลอุทธรณ์วินิจฉัย ว่าตามข้อเท็จจริงที่ศาลชั้นต้นฟังมาเป็นเรื่องผิดสัญญายืมในทางแพ่งและจำเลยไม่มีเจตนาในทางอาญา จึงเป็นการวินิจฉัยที่ฝ่าฝืนข้อเท็จจริง
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 1250/2530 กรรมสิทธิ์ในน้ำมันดีเซลที่โจทก์ให้จำเลยยืม ตกเป็นของจำเลย ตาม ปพพ มาตรา 650 เพราะเป็นการยืมใช้สิ้นเปลือง จำเลยจึงมีสิทธินำน้ำมันดีเซลนั้นไปใช้ หรือจำหน่ายจ่ายโอนได้ ถือไม่ได้ว่าจำเลยครอบครองทรัพย์สินของผู้อื่น แล้วเบียดบังเอาเป็นของตน หรือบุคคลที่สามโดยทุจริต การกระทำของจำเลย ไม่ครบองค์ประกอบความผิดฐานยักยอก

-          การครอบครอง เงิน ตามสัญญายืม
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 233/2504 ฝากเงินให้ช่วยเก็บรักษาไว้ ต่อมานานปีเศษขอเงินคืน แต่ผู้รับฝากคืนให้ไม่ได้ โดยอ้างว่าตัวเองและสามีได้เอาไปใช้จ่ายเสียหมดแล้ว ดังนี้ เป็นเรื่องที่จะว่ากล่าวกันทางแพ่ง ไม่เป็นผิดอาญาฐานยักยอกทรัพย์ (สบฎ เน 639) (ขส พ 2535 ข้อ 8) (ปพพ ม 672 ให้ผู้รับฝากเงิน นำเงินออกใช้ได้ เพียงแต่ต้องคืนให้ครบจำนวน)
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 1866/2511 การรับมอบเงินจากผู้อื่นเพื่อซื้อสิ่งใดให้ผู้นั้น มิใช่เป็นการรับฝากทรัพย์ เพราะมิใช่เป็นการมอบเงินให้เก็บรักษาไว้ในอารักขา แล้วจะคืนให้ ฉะนั้นเงินที่ได้รับมอบ จึงยังเป็นของเจ้าของเงินอยู่จนกว่าจะได้ซื้อสิ่งของให้เขาแล้ว และแม้การไม่นำเงินที่ได้รับมอบไปซื้อสิ่งของตามที่มอบหมาย บางกรณีอาจเป็นเพียงผิดสัญญาทางแพ่งก็ตาม แต่ต้องมิใช่เป็นการเบียดบังเอาเงินนั้นเป็นของตนหรือบุคคลที่สามโดยทุจริต หากเป็นการเบียดบังเอาเงินนั้นโดยทุจริต ย่อมมีความผิดทางอาญาฐานยักยอก
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 1375/2515 โจทก์ฟ้องว่าจำเลยได้รับมอบเงินจากผู้เสียหาย เพื่อนำไปซื้อฝ้ายและปอให้ผู้เสียหาย แล้วจำเลยได้มีเจตนาทุจริตเบียดบังเอาเงินนั้นเป็นของตนเสีย และผู้เสียหายเบิกความว่าจำเลยได้รับมอบเงินจากผู้เสียหาย เพื่อให้นำไปซื้อปอฝ้ายและพืชไร่มาให้ผู้เสียหายภายในกำหนด แล้วจำเลยไม่ปฏิบัติตามที่ผู้เสียหายมอบหมายกลับหลบหนีไป และได้นำเงินของผู้เสียหายไปใช้เสียหมด ถ้าข้อเท็จจริงฟังได้ด้วยว่า การที่จำเลยนำเงินของผู้เสียหายไปใช้นั้น เป็นการเบียดบังเอาทรัพย์ของผู้เสียหายโดยทุจริตแล้ว จำเลยก็ต้องมีความผิดฐานยักยอก มิใช่เป็นเพียงผิดสัญญาในทางแพ่ง เมื่อข้อเท็จจริงจะฟังได้เพียงใดยังไม่ยุติ ศาลชั้นต้นสั่งให้งดสืบพยานของโจทก์จำเลยต่อไป จึงเป็นการไม่ชอบ
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 1542,1543/2517 จำเลยที่ 1 รับราชการในตำแหน่งผู้ช่วยพยาบาล จำเลยที่ 2 เป็นลูกจ้างรายวัน ทำงานในโรงพยาบาลเดียวกัน มีหน้าที่จำหน่ายยาแก่คนไข้จำเลยที่ 2 มีหน้าที่เก็บรักษาเงินค่าจำหน่ายยาไว้ เพื่อส่งแก่เจ้าหน้าที่การเงินด้วย เวลาที่จำเลยที่ 2 ไม่อยู่ ถ้าจำเลยที่ 1 ช่วยเขียนใบเสร็จรับเงิน ก็ต้องมอบเงินให้แก่จำเลยที่ 2 เมื่อจำเลยที่ 2 กลับมา จำเลยทั้งสองร่วมกันทำสำเนาใบเสร็จรับเงิน โดยลงจำนวนเงินราคาน้อยกว่าที่จำหน่ายไปจริง แล้วร่วมกันยักยอกเอา “เงินที่เกินกว่าจำนวนใบเสร็จไป” มีความผิดตามมาตรา 352 เท่านั้น เพราะจำเลยที่ 1 มิได้มีหน้าที่เก็บรักษาเงิน และจำเลยที่ 2 เป็นเพียงลูกจ้าง มิใช่เจ้าพนักงาน
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 2975/2529 จำเลยเป็นผู้จัดการฝ่ายของบริษัทโจทก์ เบิกเงินค่าใช้สอยล่วงหน้า เป็นค่าเดินทางไปติดต่อธุรกิจต่างประเทศ กรรมสิทธิ์ในเงินดังกล่าวตกเป็นของจำเลย ตั้งแต่ขณะที่ได้รับไปจากโจทก์ หาใช่จำเลยครอบครองเงินไว้แทนโจทก์ไม่ หากปรากฏว่าจำเลยไม่มีหลักฐานพอที่จะนำมาหักหนี้ หรือมีเงินเหลือไม่ส่งคืน เป็นเรื่องทางแพ่ง ไม่มีมูลความผิดฐานยักยอก

-          การครอบครองเงิน รับไว้ตามสัญญาฝากเงิน หรือตัวแทน
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 235/2516 ผู้เสียหายฝากเงินไว้กับจำเลย ต่อมาผู้เสียหายขอคืน จำเลยบอกว่าเอาไปใช้หมดแล้ว หลังจากนั้นผู้เสียหายไปทวง อีกหลายครั้ง จำเลยขอผัดผ่อนและไม่เคยปฏิเสธว่า ไม่ได้รับฝากเงิน จนกระทั่งผู้เสียหายได้แจ้งความ พนักงานสอบสวนเรียกไปสอบถาม จำเลยจึงปฏิเสธว่าไม่เคยรับฝากเงินจากผู้เสียหาย ดังนี้ แสดงว่าขณะที่จำเลยเอาเงินไปใช้หมด จำเลยไม่มีเจตนาทุจริตยักยอกเงินนั้น จึงเป็นเรื่องผิดสัญญาทางแพ่ง การที่จำเลยปฏิเสธต่อนักงานสอบสวนในตอนหลัง ไม่ทำให้จำเลยมีความผิดฐานยักยอกเงินที่รับฝาก
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 3817/2533 ผู้เสียหายมอบเช็คพิพาท ซึ่งเป็นเช็คระบุชื่อให้จำเลยนำไปเข้าบัญชีของผู้เสียหาย แต่จำเลยกลับนำไปให้ผู้สั่งจ่ายออกเช็คฉบับใหม่ เป็นเช็คผู้ถือ แล้วจำเลยนำเช็คฉบับใหม่ ไปขึ้นเงินจากธนาคาร และหลบหนีไป การที่จำเลยรับเช็คฉบับใหม่มา แล้วนำไปขึ้นเงินจากธนาคารนั้น เป็นการครอบครองเช็คแทนผู้เสียหาย เพราะผู้สั่งจ่ายเจตนาจ่ายเช็คให้แก่ผู้เสียหาย ไม่ได้จ่ายให้จำเลย เมื่อจำเลยนำเช็คนั้นไปขึ้นเงินมาครอบครอง แล้วเบียดบังเอาเงินนั้นเป็นของตน จึงเป็นความผิดฐานยักยอกทรัพย์
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 1330/2539 จำเลยที่ 1 ขอสลากกินแบ่งรัฐบาลจากโจทก์ไปตรวจ กับผลการออกรางวัลสลากกินแบ่งรัฐบาลที่จำเลยที่ 2 จดไว้แล้วไม่คืนให้โจทก์ กลับนำไปมอบให้ธนาคารขอรับเงินรางวัลแทน และนำเงินมาเข้าบัญชีเงินฝากของจำเลยที่ 2 และ ท. ซึ่งเป็นภริยาของจำเลยที่ 2 และมารดาจำเลยที่ 1 ที่ธนาคารดังกล่าว อันเป็นการเบียดบังเอาสลากกินแบ่งรัฐบาลฉบับพิพาท และเงินรางวัลที่ได้รับมาเป็นของตนและของบุคคลอื่นโดยทุจริต การกระทำของจำเลยทั้งสองจึงเป็นความผิดฐานยักยอก
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 4/2533 จำเลยรับเงินค่าสินค้าไว้ในฐานะตัวแทนของโจทก์ร่วมผู้ขายเงิน นั้นย่อมตกเป็นของโจทก์ร่วมแล้ว ผู้ซื้อสินค้าเมื่อได้ชำระหนี้ค่าสินค้าแล้ว หาใช่เป็นเจ้าของเงินนั้นต่อไปไม่ เมื่อจำเลยครอบครองเงินของโจทก์ร่วมไว้แล้ว ไม่ส่งมอบให้โจทก์ร่วมโดยนำเข้าฝากในบัญชีธนาคารของโจทก์ร่วมตามหน้าที่ อันเป็นความผิดฐานยักยอก โจทก์ร่วมจึงเป็นผู้เสียหายมีอำนาจร้องทุกข์ พนักงานอัยการโจทก์มีอำนาจฟ้อง และโจทก์ร่วมย่อมขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ได้
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 833/2535 การที่จำเลยรับฝากเงินไปจากโจทก์ร่วมเพื่อซื้อเมล็ดพันธุ์โกโก้ แต่จำเลยไม่ซื้อให้ และกลับปฏิเสธว่าไม่ได้รับเงินจากโจทก์ร่วม เป็นการส่อเจตนาว่าจำเลยได้เบียดบังเอาเงินจำนวนดังกล่าว ของโจทก์ร่วมไว้เป็นของตนเองทุจริต จำเลยจึงมีความผิดฐานยักยอก
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 617/2536 การที่โจทก์ร่วมมอบ เงิน ให้แก่จำเลยเพื่อไปฝากเข้าบัญชี เป็นการส่งมอบทรัพย์ให้อยู่ในความยึดถือของจำเลย อันเป็นการมอบให้ครอบครองทรัพย์ดังกล่าวแทนโจทก์ร่วม จำเลยจึงอยู่ในฐานะครอบครองทรัพย์ของผู้อื่น เมื่อจำเลยเบียดบังเอาทรัพย์ดังกล่าวไปเป็นประโยชน์ส่วนตนโดยทุจริต จำเลยจึงมีความผิดฐานยักยอก
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 2386/2541 สำนักสงฆ์ห้วยน้ำผุดจะเป็นนิติบุคคลหรือไม่ก็ตาม แต่เงินผ้าป่า 150,000 บาท เป็นเงินที่ชาวบ้านนำไปทอดให้สำนักสงฆ์ห้วยน้ำผุดซึ่งพระภิกษุ ป.เป็นเจ้าคณะสงฆ์อยู่ในขณะนั้น พระภิกษุ ป. จึงมีหน้าที่ดูแลเงินผ้าป่าดังกล่าว เมื่อพระภิกษุ ป. มอบให้พระภิกษุ ข. เป็นผู้เลือกชาวบ้านเป็นกรรมการดูแลรับผิดชอบจำนวนเงินนั้น ส. ง. ร. และจำเลยได้รับเลือกเป็นกรรมการ และร่วมกันรับมอบเงินจำนวนดังกล่าวไปเก็บรักษา หากจำนวนเงินดังกล่าวสูญหาย กรรมการทั้งสี่ต้องร่วมกันรับผิดต่อสำนักสงฆ์ห้วยน้ำผุด แม้กรรมการแต่ละคนจะได้รับเงินเพียงบางส่วนไปเก็บรักษา ก็เป็นการแบ่งความรับผิดชอบกันเอง ภายหลังจากรับเงินทั้งจำนวนมาแล้ว การที่จำเลยรับมอบเงินจำนวน 40,000 บาท ไปเก็บรักษาแล้วยักยอกเงินจำนวนนั้นไป ส. ง. ร. จึงเป็นผู้เสียหายในอันที่จะร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนให้ดำเนินคดีแก่จำเลยได้ โดยถือว่าจำเลยยักยอกทรัพย์ของสำนักสงฆ์ห้วยน้ำผุด ซึ่งอยู่ในความครอบครองของ ส. ง. ร. และจำเลย

-          การครอบครองเงิน รับไว้ของราชการ
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 1267/2500 เงินราชการที่เบิกมาเพื่อจ่ายแก่ผู้ใด แต่ยังไม่จ่ายนั้น ไม่ถือว่าเป็นเงินของผู้ที่จะได้รับเงิน ดั่งนั้น เจ้าพนักงานผู้ใดยักยอกเงินนั้น จึงมีผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานยักยอกเงินของทางราชการ ไม่ใช่ความผิดต่อส่วนตัว การฟังว่าจำเลยปลอมเอกสารโดยไม่มีพยานมาแสดงให้ชัดว่าจำเลยปลอม เพียงแต่ศาลนำเอกสารที่กล่าวหามาเทียบเคียงกับเอกสารฉบับอื่นแล้วลงความเห็นว่าเหมือนกับลายมือของจำเลยนั้น ไม่ชอบด้วยการวินิจฉัยหลักฐานคำพยาน
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 3031/2517 เทศบาลมอบเงินรายได้ส่วนหนึ่งจากค่าเช่าที่ขายทุเรียนในงานตลาดทุเรียนให้จังหวัด จังหวัดจะนำไปใช้อย่างใดก็ได้ผู้ว่าราชการจังหวัดมอบเงินนี้ให้จำเลยซึ่งเป็นเสมียนตราจังหวัดเก็บรักษาและทำบัญชีไว้ โดยถือว่าเป็นเงินของจังหวัด ต่อมาผู้ว่าราชการจังหวัดให้นำเงินนี้เป็นเงินสวัสดิการข้าราชการเพื่อให้ข้าราชการผู้มีเงินเดือนน้อยของจังหวัดนั้นได้กู้ยืมไปบรรเทาความเดือดร้อน ได้วางระเบียบว่าด้วยเงินสวัสดิการข้าราชการขึ้นและตั้งคณะกรรมการขึ้นพิจารณาและดำเนินการให้เป็นไปตามระเบียบนั้น จำเลยได้รับแต่งตั้งเป็นกรรมการทำหน้าที่เหรัญญิก ดังนี้ วัตถุประสงค์ของการใช้จ่ายเงินดังกล่าวนี้หาได้มุ่งหมายใช้จ่ายในทางราชการไม่ แต่เป็นการใช้จ่ายในทางช่วยเหลือข้าราชการเป็นการส่วนตัว อันเป็นกิจการพิเศษซึ่งไม่ปรากฏว่ามีกฎหมายใดกำหนดไว้และการที่จำเลยมีหน้าที่รักษาและรับจ่ายเงินนี้ก็โดยได้รับแต่งตั้งให้เป็นกรรมการผู้ทำหน้าที่เหรัญญิกซึ่งการแต่งตั้งนี้ก็ไม่ต้องอาศัยอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายไม่ต้องอาศัยฐานะที่จำเลยเป็นเสมียนตราจังหวัดหรือเป็นข้าราชการในบังคับบัญชาของผู้ว่าราชการจังหวัด การที่จำเลยปฏิบัติหน้าที่นี้จึงมิใช่เป็นการที่เจ้าพนักงานปฏิบัติราชการตามตำแหน่งหน้าที่ราชการเมื่อจำเลยเบียดบังยักยอกเงินดังกล่าวไป จึงถือไม่ได้ว่าเบียดบังยักยอกไปในฐานะเจ้าพนักงาน คงมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 352 เท่านั้น

-          การครอบครอง โดยกระทำนอกหน้าที่ตัวแทน
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 4684/2528 การที่จำเลย ซึ่งเป็นผู้จัดการของโจทก์ร่วม หลอกลวงลูกค้าของโจทก์ร่วม ว่าโจทก์ร่วมขึ้นราคาสินค้า ลูกค้าหลงเชื่อซื้อตามนั้น เงินส่วนที่ขายเกิดกำหนดเป็นเงินของลูกค้าส่งมอบให้จำเลย เพราะถูกจำเลยหลอกลวง มิใช่เป็นเงินที่จำเลยได้รับไว้เกี่ยวด้วยการเป็นตัวแทนตาม ป.พ.พ. ม.810 จึงเป็นเงินของลูกค้าผู้ถูกหลอกลวง หาใช่เงินของโจทก์ร่วมไม่ โจทก์ร่วมจึงมิใช่ผู้เสียหาย เมื่อลูกค้าผู้เป็นเจ้าของเงินซึ่งเป็นผู้เสียหาย มิได้ร้องทุกข์ พนักงานอัยการโจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง (การกระทำของจำเลย เป็นการฉ้อโกงลูกค้า )

-          การครอบครองทรัพย์ โดยทนายความ
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 816/2522 ลูกหนี้ตามคำพิพากษา ชำระเงินค่าเสียหายตามคำพิพากษาแก่ทนายความของเจ้าหนี้ตามคำพิพากษา ทนายความรับเงินโดยเจ้าหนี้มิได้มอบหมาย เงินที่รับไว้ไม่เป็นเงินของเจ้าหนี้ ทนายความเอาเงินไว้โดยทุจริต ไม่เป็นยักยอกทรัพย์ และเจ้าหนี้ไม่ใช่ผู้เสียหาย
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 190/2532 ส. นำเงินที่จะต้องชำระแก่โจทก์ ไปชำระแก่จำเลยในฐานะทนายของโจทก์ โดยโจทก์มิได้มอบหมายให้จำเลยมีอำนาจรับไว้ได้ เงินที่จำเลยรับไว้จึงยังมิใช่เป็นเงินของโจทก์ แม้จำเลยจะเบียดบังเอาเงินที่ได้รับไว้นั้นเป็นของตนโดยทุจริต ก็ยังไม่เป็นความผิดฐานยักยอกทรัพย์ของโจทก์ / ทนายความที่ตัวความแต่งตั้งย่อมมีอำนาจว่าความ และดำเนินกระบวนพิจารณาใด แทนตัวความได้ แต่ทนายความไม่มีอำนาจรับเงินซึ่งจะชำระแก่ตัวความ เว้นแต่จะได้รับมอบหมายจากตัวความนั้น

-          การร่วมลงทุน
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 602/2501 โจทก์ประมูลส่งเสาโทรเลขให้กรมไปรษณีย์ได้แล้ว โจทก์จำเลยเข้าหุ้นกันทำเสาส่ง และจำเลยเข้าทำสัญญากับกรมไปรษณีย์เอง โจทก์มิได้มอบหมายให้จำเลยทำการ หรือรับเงินแทน จำเลยรับเงินจากกรมไปรษณีย์ แล้วเพิกเฉย ยังไม่แบ่งปันให้โจทก์ ยังฟังไม่ได้ว่าจำเลยทุจริตเบียดบังเอาทรัพย์อันจะเป็นการยักยอก
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 848 ถึง 850/2511 จำเลยชักชวนผู้เสียหาย ให้นำเงินมาให้จำเลยนำไปลงทุนซื้อข้าวมาขาย และเอาเงินให้เขากู้ แล้วจะแบ่งผลกำไรและดอกเบี้ยให้ ดังนี้ เป็นการรวมทุนกันให้จำเลยจัดหาผลประโยชน์ เสมือนเป็นทุนของจำเลยเอง ไม่ถือเป็นการครอบครองเงินของผู้เสียหายไว้ แม้จำเลยจะปฏิเสธว่ามิได้รับเงิน ก็ยังไม่เป็นผิดฐานยักยอก
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 756/2523 โจทก์บรรยายฟ้องเป็นใจความว่า โจทก์จำเลยทำสัญญาเข้าหุ้นกันทำเหมืองแร่โดยโจทก์มอบให้จำเลยเป็นผู้จัดการ ผลิตแร่และครอบครองที่ดินตามคำขออาชญาบัตร จำเลยผลิตแร่ได้แล้วนำออกจำหน่ายเป็นเงินประมาณสามล้านบาทเศษ ไม่ยอมแบ่งให้โจทก์ ซึ่งโจทก์มีสิทธิได้ร้อยละ20 ตามสัญญาดังนี้ เห็นได้ว่ามิใช่เรื่องจำเลยทำผิดหน้าที่ในการจัดการทรัพย์สินของโจทก์โดยทุจริต แต่เป็นเรื่องผิดสัญญาทางแพ่งเท่านั้น ไม่เป็นผิดอาญาฐานยักยอกตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 353
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 7077 (ตรวจดู 7177) /2547 จำเลยนำเงินที่โจทก์ร่วมและจำเลยมีกรรมสิทธิ์ร่วมกันในฐานะหุ้นส่วนไป โดยอ้างว่ามีสิทธิได้รับเงินค่าหุ้นและเงินส่วนแบ่งกำไรจากการลงทุนร่วมกัน เมื่อโจทก์ร่วมและจำเลยเป็นหุ้นส่วนกัน เงินที่จำเลยนำไปดังกล่าว จึงเป็นของผู้เป็นหุ้นส่วนร่วมกัน จนกว่าจะมีการเลิกการเป็นหุ้นส่วนและมีการชำระบัญชี ดังนั้น แม้จำเลยจะมีความประสงค์จะเลิกเป็นหุ้นส่วนกับโจทก์ร่วม แต่เมื่อยังไม่มีการตกลงเลิกหุ้น ทั้งยังไม่มีการชำระบัญชีว่าเงินส่วนนี้จะเป็นของโจทก์ร่วมและจำเลยจำนวนเท่าใด จำเลยจึงไม่มีสิทธิโดยชอบที่จะนำเงินที่เป็นของหุ้นส่วนไปใช้เป็นประโยชน์แก่ส่วนตัว เมื่อจำเลยนำเงินจำนวนดังกล่าวไปแล้ว ก็หลบหนี ไม่ยอมกลับไปทำงานอีก จนเกือบหนึ่งปีจึงถูกจับกุม ย่อมแสดงได้ว่าจำเลยซึ่งเป็นผู้ครอบครองเงินที่โจทก์ร่วมเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วย ได้เบียดบังเอาเงินจำนวนดังกล่าวนั้นไปเป็นของตนเองโดยทุจริต จำเลยจึงมีความผิดฐานยักยอก (ให้ดูย่อจากหนังสือคำพิพากษาศาลฎีกา สำนักงานศาลยุติธรรม เล่มที่ 11 หน้า 44)

-          การครอบครองในฐานะเจ้าของกรรมสิทธิ์รวม
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 1741/2522 เจ้าของรวมคนหนึ่ง รับเงินมัดจำจะขายที่ดินตั้งแปลงโดยพลการ ไม่ผูกพันให้เจ้าของรวมคนอื่นต้องขายที่ดินส่วนของตนไม่เป็นการทำสัญญา และรับเงินแทนเจ้าของรวมคนอื่น ไม่มีความผิดฐานยักยอกเงินนั้น

-          การครอบครองเงิน รับไว้ตามสัญญาเล่นแชร์
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 2926/2544 จำเลยเป็นนายวงแชร์ จัดให้มีการเล่นแชร์รวม 7 วงจำเลยรวบรวมเงินจากผู้เสียหายและโจทก์ร่วม ซึ่งเป็นสมาชิกวงแชร์ไปแล้วหลายงวดจำเลยจัดให้มีการประมูลแชร์ไปแล้วหลายงวด โดยสถานที่จัดประมูลแชร์คือที่ร้านของจำเลย การประมูลแชร์ตามวาระมีไปแล้วหลายครั้ง ผู้ที่ประมูลแชร์ได้ต่างก็ได้รับเงินไปแล้ว และตามคำฟ้องโจทก์ ผู้เสียหายและโจทก์ร่วมยังไม่เคยประมูลแชร์ได้ จึงยังไม่มีสิทธิเรียกร้องเงินกองกลางที่จำเลยรวบรวมไป เงินค่าแชร์แต่ละงวดที่ผู้เสียหายและโจทก์ร่วมส่งให้จำเลยไปแล้ว เมื่อผู้ใดประมูลแชร์ได้ ก็ย่อมจะตกได้แก่ผู้นั้นไป กรรมสิทธิ์ในเงินที่ส่งไปแล้วมิได้เป็นของผู้เสียหายและโจทก์ร่วมต่อไปอีกและหากผู้เสียหายและโจทก์ร่วมไม่สามารถประมูลแชร์ได้เพราะแชร์ล้มเลิกไม่ว่าจะด้วยเหตุใดก็ตาม จำเลยในฐานะที่เป็นเจ้ามือแชร์ก็จะต้องรับผิดแทนความรับผิดในกรณีเช่นนี้เป็นความผิดในทางแพ่ง ข้อเท็จจริงยังฟังไม่ได้ว่าจำเลยยักยอกเงินของผู้เสียหายและโจทก์ร่วม

-          พฤติการณ์เบียดบังทรัพย์
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 1745/2514 สร้อยข้อมือของผู้เสียหายหล่นตกอยู่บนศาลา ผู้เสียหายลงไปห่างศาลาเพียง 2 เส้น พอรู้ตัวว่าสายสร้อยหายก็ขึ้นไปตามหาบนศาลา เด็กชาย ส. เก็บได้ มอบให้จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นพี่สาว จำเลยที่ 2 นำไปให้จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นมารดา จำเลยที่ 1 รับเอาห่อพก ออกจากวัดไปทันที เป็นเวลากระชั้นชิดติดพันกัน ถือว่าทรัพย์นั้นยังอยู่ในความยึดถือของผู้เสียหาย ไม่ใช่ทรัพย์ตกหาย การที่จำเลยที่ 1 เอาทรัพย์นั้นไปโดยรู้ว่าไม่ใช่ทรัพย์ของตน เป็นการเอาทรัพย์ของผู้เสียหายไปโดยทุจริต ผิดฐานลักทรัพย์ จำเลยที่ 2 อายุ 13 ปี รับสายสร้อยจากน้อง เอาให้มารดาตามวิสัยเด็ก ไม่มีเจตนาที่จะยึดถือทรัพย์ ไม่มีความผิด
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 3817/2533 ผู้เสียหายมอบเช็คพิพาท ซึ่งเป็นเช็คระบุชื่อให้จำเลยนำไปเข้าบัญชีของผู้เสียหาย แต่จำเลยกลับนำไปให้ผู้สั่งจ่ายออกเช็คฉบับใหม่เป็นเช็คผู้ถือ แล้วจำเลยนำเช็คฉบับใหม่ไปขึ้นเงินจากธนาคารและหลบหนีไป การที่จำเลยรับเช็คฉบับใหม่มาแล้วนำไปขึ้นเงินจากธนาคารนั้น เป็นการครอบครองเช็คแทนผู้เสียหายเพราะผู้สั่งจ่ายเจตนาจ่ายเช็คให้แก่ผู้เสียหาย ไม่ได้จ่ายให้จำเลย เมื่อจำเลยนำเช็คนั้นไปขึ้นเงินมาครอบครองแล้วเบียดบังเอาเงินนั้นเป็นของตน จึงเป็นความผิดฐานยักยอกทรัพย์
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 268/2536 (สบฎ เน 62) โจทก์ร่วมซื้อบ้านเลขที่ 308 จากการขายทอดตลาดจำเลยเองก็ทราบเมื่อจำเลยอาศัยอยู่ในบ้านเลขที่ 308 ก็ถือว่าจำเลยเป็นผู้ครอบครองบ้านดังกล่าว การที่จำเลยบอกกล่าวโจทก์ร่วมว่าบ้านที่จำเลยอาศัยอยู่ไม่ใช่บ้านเลขที่ 308 แต่เป็นบ้านเลขที่ 121 ของ ส. นั้นเห็นได้ว่าจำเลยมีเจตนาที่จะไม่ให้โจทก์ร่วมรื้อถอนบ้านเลขที่ 308 เพื่อจำเลยจะไดรับประโยชน์ การกระทำของจำเลยถือได้ว่าเป็นการเบียดบังบ้านเลขที่ 308 เป็นของตนหรือผู้อื่นโดยทุจริต จึงเป็นความผิดฐานยักยอก ตามประมวลกฎหมายอาญา. มาตรา 352 / โจทก์จะไปรื้อถอนบ้านในครั้งแรกเมื่อวันที่ 28 เมษายน 2527 จึงถือได้ว่าจำเลยกระทำความผิดฐานยักยอกตั้งแต่วันนั้น แต่โจทก์ร่วมเพิ่งมาร้องทุกข์เมื่อวันที่ 13 สิงหาคม 2530 คดีจึงขาดอายุความ / เมื่อคดีขาดอายุความ สิทธินำคดีอาญามาฟ้องย่อมระงับไป ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39 (6) พนักงานอัยการโจทก์ไม่มีสิทธิเรียกทรัพย์สินหรือราคาแทนโจทก์ร่วมตามมาตรา 43
-          คำชี้ขาด 31/2537 (อัยการนิเทศ 2538 เล่ม 57 ฉบับ 1 33) เมื่อชำระหนี้แล้ว ผู้ต้องหาก็ต้องคืนเช็ค กลับโอนเช็คให้แก่ผู้อื่น เป็นการเอาไปเสียซึ่งเอกสาร และยักยอกเอกสารนั้น (ชี้ขาดให้ฟ้อง ตาม ปอ ม 188 , 352)

-          กรณีไม่ถือเป็นการเบียดบังทรัพย์
          การใช้สิทธิยึดหน่วงตามกฎหมาย
          การไม่คืนทรัพย์ อันเป็นการผิดสัญญา แต่ไม่มีการเบียดบังในลักษณะตัดกรรมสิทธิ์ ฎ 979/2501 , ฎ 619/2504
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 979/2501 ฟ้องว่า จำเลยรับจำนำแหวน แล้วจำเลยเจตนาทุจริตเบียดบังเอาแหวนไว้  โดยผู้จำนำไปไถ่ จำเลยไม่ยอมให้ไถ่ ดังนี้ไม่แสดงให้เห็นว่าจำเลยยักยอก เป็นแต่ผิดสัญญาเท่านั้น
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 619/2504 บรรยายฟ้องว่า จำเลยทำสัญญาเช่าซื้อจักรเย็บผ้า แล้วต่อมาจำเลยไม่ชำระค่าเช่าซื้อ ให้ส่งจักรคืน จำเลยก็ไม่ส่งคืน ทั้งนี้โดยจำเลยมีเจตนาทุจริตเบียดบังยักยอกไว้เป็นของตนฟ้อง ดังนี้เป็นเรื่องผิดสัญญาทางแพ่ง ไม่มีมูลความผิดทางอาญา
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 3953/2526 รถยนต์ที่ผู้เสียหายเช่าซื้อจากบริษัท อ. นั้น จำเลยมีส่วนได้เสียอยู่ด้วย โดยเป็นผู้ค้ำประกันในการเช่าซื้อ และกรรมสิทธิ์ในรถยนต์ยังเป็นของผู้ให้เช่าซื้ออยู่ การครอบครองรถยนต์ของจำเลย จึงไม่ใช่เป็นการครอบครองทรัพย์ ซึ่งเป็นของผู้เสียหาย หรือซึ่งผู้เสียหายเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วย การที่จำเลยนำรถยนต์ที่เช่าซื้อไปมอบคืนให้แก่บริษัท อ. โดยผู้เสียหายมิได้รู้เห็นยินยอมด้วย จึงไม่ใช่เป็นการเบียดบังเอาทรัพย์นั้นไว้โดยทุจริต ไม่เป็นความผิดฐานยักยอก

-          ประเด็นการกระทำโดยทุจริต
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 2481/2528 จำเลยกรอกข้อความในตราสารการโอนหุ้นซึ่งโจทก์ลงลายมือชื่อไว้แล้ว โดยไม่ได้รับคำสั่งหรือความยินยอมของโจทก์ และโอนหุ้นของโจทก์ที่มิได้สั่งขายไปเป็นของบุคคลอื่น เป็นการกระทำเพื่อประโยชน์ของโจทก์ และโจทก์มิได้เสียหาย ทั้งไม่ปรากฏว่าอาจเกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใดหรือประชาชน การกระทำของจำเลยย่อมไม่เป็นความผิดฐานปลอมเอกสารสิทธิ หรือใช้เอกสารสิทธิปลอม โจทก์สั่งให้จำเลยซื้อหุ้น 2,000 หุ้น ต่อมาจำเลยขายหุ้นนั้น 1,000 หุ้น ตามคำสั่งของโจทก์ ที่ปรากฏในทะเบียนผู้ถือหุ้นว่ามีการขายหุ้นของโจทก์ไป 2,000 หุ้น เป็นเรื่องทางปฏิบัติในการซื้อขายหุ้น โดยจำเลยจะนำหุ้นของโจทก์ไปโอนให้แก่บุคคลอื่นก่อน เมื่อโอนแล้ว จำเลยก็ได้รับรองหุ้นของโจทก์ที่เหลืออยู่ ทั้งต่อมาโจทก์ก็ได้รับหุ้น 1,000 หุ้น ไปจากจำเลยแล้ว จำเลยไม่มีเจตนาทุจริต แม้จะดำเนินการโอนหุ้นไปโดยพลการก็ไม่เป็นความผิดฐานยักยอก
-          ฎ 2715/2528 ผู้เสียหายจำนำทรัพย์สินของตนไว้กับจำเลย โดยกำหนดเวลาไถ่คืนใน 1 เดือน พ้นกำหนดเวลาไถ่คืนแล้ว ผู้เสียหายไปขอไถ่คืน จำเลยจำนำขาดและนำทรัพย์ไปขายแล้ว ดังนี้เป็นการขาดเจตนากระทำความผิดฐานยักยอก

-          ความผิดสำเร็จ
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 1619/2508 การที่จำเลยร่วมกันแสดงข้อความอันเป็นเท็จ เป็นเหตุให้ได้เงินยืมของทางราชการไป อันเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญาโดยครบถ้วนแล้ว การที่จำเลยทำสัญญายืมเงินให้กรมตำรวจไว้ตามระเบียบ ตลอดจนเมื่อเรื่องปรากฏความจริงขึ้นและจำเลยมิได้ส่งใช้เงินคืนกรมตำรวจ กรมตำรวจจึงได้หักเงินเดือนจำเลยใช้เงินยืม ก็เป็นเรื่องภายหลัง การที่หลอกลวงได้รับเงินยืมสำเร็จไปก่อนแล้ว  เมื่อเรื่องปรากฏความจริงขึ้นภายหลัง กรมตำรวจจึงถือปฏิบัติไปตามสัญญายืม อันเป็นความรับผิดที่จำเลยมีอยู่ในทางแพ่ง ควบคู่กับความรับผิดทางอาญา หาทำให้การที่จำเลยร่วมกระทำผิดทางอาญา กลับไม่เป็นความผิดไปอีกไม่

-          ตัวการร่วมกระทำความผิด
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 3595/2532 (ป) ความผิดฐานยักยอกทรัพย์ ไม่ใช่ความผิดเฉพาะตัวของผู้ครอบครองทรัพย์เพียงผู้เดียว ผู้อื่นก็อาจร่วมกระทำความผิดกับผู้ครอบครองในการยักยอกทรัพย์ได้ ข้อที่ว่าผู้ใดครอบครองทรัพย์นั้น มิใช่คุณสมบัติเฉพาะตัวผู้กระทำ แต่เป็นเพียงองค์ประกอบความผิดในส่วนการกระทำอันหนึ่ง / จำเลย ร่วมกับผู้จัดการและสมุห์บัญชีของธนาคาร ยักยอกทรัพย์ของธนาคาร ผิดฐานเป็นตัวการยักยอกทรัพย์ ตาม มาตรา 352 ประกอบ มาตรา 83 แม้จำเลยจะร่วมกระทำผิดกับ ผู้มีอาชีพ หรือธุรกิจอันย่อมเป็นที่ไว้วางใจของประชาชน ก็เป็นเหตุเฉพาะตัวผู้กระทำผิดแต่ละคน จำเลยไม่มีความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุน ตาม มาตรา 354 ประกอบด้วยมาตรา 86 (วินิจฉัยโดยที่ประชุมใหญ่เฉพาะวรรคสอง)

-          มาตรา 352 วรรคสอง - ทรัพย์สินหาย
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 156/2487 การวินิฉัยความผิดของผู้เก็บของตกนั้น หากผู้เก็บไม่รู้ว่า เจ้าของกำลังติดตามหยู่ อาดเปนยักยอกเก็บของตกได้ / สาลล่างไม่ได้ชี้ขาดข้อเท็ดจิงไนข้อที่จำเลยรู้หรือไม่ว่า เจ้าของกำลังหาหยู่ สาลดีกามีอำนาดย้อนสำนวนไปไห้พิพาทสาไหม่ได้
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 326/2494 โจทก์ฟ้องบรรยายว่ามีคนร้ายลักทรัพย์ของผู้เสียหายไป แล้วต่อมาจำเลยได้เก็บทรัพย์ซึ่งถูกคนร้ายลักไปนั้นได้ แล้วจำเลยมีเจตนาทุจริตยักยอกเอาไว้เป็นประโยชน์ของจำเลยเสีย ไม่กระทำตามกฎหมายที่บังคับไว้สำหรับการเก็บของตก ของหาย ขอให้ลงโทษตาม ก..ลักษณะอาญามาตรา 318 ดังนี้ทรัพย์ที่หาว่ายักยอกเป็นทรัพย์ที่ถูกคนร้ายลักไป ยังเรียกไม่ได้ว่าเป็นของตกหาย ตามความหมายแห่ง ก..ลักษณะอาญามาตรา 318 จำเลยจึงยังไม่ผิดตามที่โจทก์ฟ้อง(อ้างฎีกาที่ 138/2492)
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 34/2503 จำเลยเก็บขวดมีทองรูปพรรณของผู้เสียหายใส่ไว้ ซึ่งผู้เสียหายทำตกหายที่หน้าบันไดกุฏิวัดไป โดยจำเลยไม่ทราบว่าเป็นของใคร และไม่ทราบว่าเจ้าของยังติดตามหาอยู่หรือไม่ จำเลยเอาเป็นประโยชน์ของตนเสียโดยเจตนาทุจริต จำเลยย่อมมีความผิดฐานยักยอกทรัพย์สินหายที่เก็บได้ ตาม มาตรา 352 วรรค 2
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 775/2506 นาฬิกาข้อมือของผู้เสียหายตกหาย โดยผู้เสียหายไม่ทราบว่าตกหาย ณ ที่ใด ในวันเดียวกันนั้นเองบุตรจำเลยเก็บนาฬิกาดังกล่าวได้ แล้วนำไปมอบแก่จำเลยซึ่งเป็นมารดาเก็บไว้ วันรุ่งขึ้นผู้เสียหายทราบ จึงไปขอนาฬิกาคืนจากจำเลย จำเลยได้เอานาฬิกา ซึ่งมิใช่ของผู้เสียหายมาให้ดูและยืนยันว่า เป็นนาฬิกาที่บุตรจำเลยเก็บได้ ไม่ยอมคืนนาฬิกาของผู้เสียหายให้ ดังนี้ การกระทำของจำเลย ย่อมเป็นความผิดฐานยักยอกทรัพย์ตาม มาตรา 352 “วรรคต้น” (& จำเลยไม่ใช่ผู้เก็บทรัพย์ได้ จึงไม่ใช่ เป็นทรัพย์สินหายซึ่งผู้กระทำความผิดเก็บได้)
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 1605/2509 ผู้เสียหายนั่งยอง ๆ ซื้อของเอาถุงเงินวางไว้ในตัก พอซื้อเสร็จก็ลุกขึ้นไป ไปได้ประมาณ 4 วา นึกถึงถุงเงินได้เข้าใจว่าตกลงที่นั่งซื้อของจึงกลับมาถามและหาตามบริเวณนั้น แต่ไม่พบ ขณะผู้เสียหายทำถุงเงินตกนั้น ไม่ปรากฏว่าจำเลยอยู่ตรงไหนเห็นผู้เสียหายทำถุงเงินตกหรือไม่ ขณะนั้นประชาชนมาจ่ายตลาดมาก จำเลยเห็นถุงนั้นตกอยู่ ไม่ทราบว่าเป็นของใคร จึงเก็บเอาไปเป็นของตนโดยเข้าใจว่าเป็นของที่เจ้าของทำตกหาย จึงมีความผิดตาม มาตรา 352 วรรค 2
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 159/2512 ผู้เสียหายปล่อยกระบือให้กินหญ้า กระบือตัวหนึ่งยังจับไม่ได้เพราะยังติดอยู่ในกระบือฝูงอื่นซึ่งอยู่บนเขาและเป็นทำเลเลี้ยง มิใช่กระบือเพริดไปจนพ้นการติดตามเช่นนี้ ตามกฎหมายต้องถือว่าผู้เสียหายยังครอบครองกระบือตัวนั้นอยู่ เพราะยังไม่ได้สละการครอบครอง ฉะนั้น การที่จำเลยยิงกระบือของผู้เสียหาย จึงเป็นการเอาไปโดยทุจริต และเป็นความผิดฐานลักทรัพย์ส่วนการที่จำเลยชำแหละเนื้อกระบือเอาไป ก็เป็นการครอบครอง เพราะยึดถือเพื่อตน แต่เป็นผลภายหลังจากการที่จำเลยลักกระบือนั้นแล้ว ไม่เป็นความผิดฐานยักยอกทรัพย์ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 352 วรรค 2
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 1745/2514 ญ. ผู้เสียหายและคณะกลองยาวไปวัดในพิธีอุปสมบท คณะกลองยาวเล่นกลองยาวบนศาลา แล้วลงจากศาลานำหน้านาค ผู้เสียหายเดินตามไป ห่างจากศาลาประมาณ 2 เส้นรู้สึกตัวว่าสร้อยซึ่งสวมอยู่ที่ข้อมือหลุดหายไป ปรากฏว่า ส. อายุไม่เกิน 7 ปี เก็บสร้อยนั้นได้บนศาลาแล้วเอาไปให้จำเลยที่ 2 อายุ 13 ปี ซึ่งเป็นพี่สาวจำเลยที่2เอาไปให้จำเลยที่1ซึ่งเป็นมารดาที่ข้างศาลา ในเวลากระชั้นชิดกัน จำเลยที่1เอาสร้อยห่อพกออกจากวัดไปทันที เมื่อผู้เสียหายรู้ตัวว่าสร้อยหายกลับขึ้นไปบนศาลาทราบเรื่องดังกล่าว จึงตามไปที่เรือของจำเลยที่ 1 ซึ่งจอดอยู่หน้าวัด พบ ส. ส.ว่าให้จำเลยที่ 1 ไปแล้ว ผู้เสียหายตามไปหาจำเลยที่1ขอสร้อยคืน จำเลยที่1ปฎิเสธว่าไม่รู้เห็น พฤติการณ์เช่นนี้ถือว่าสร้อยนั้นยังอยู่ในความยึดถือของผู้เสียหาย ไม่ใช่ทรัพย์ตกหาย การที่ ส.เก็บได้มิได้ทำให้ความยึดถือของผู้เสียหายขาดตอนไป จำเลยที่ 1 น่าจะทราบว่าทรัพย์นั้นเป็นของพวกที่มาในคณะกลองยาวและเจ้าของจะติดตามเอาคืน จำเลยที่1จึงมีความผิดฐานลักทรัพย์ ส่วน ส. และจำเลยที่ 2 ซึ่งมีอายุเพียง13ปี เมื่อรับสร้อยจาก ส.แล้วก็เอาไปให้จำเลยที่1ซึ่งเป็นมารดา ตามวิสัยของเด็ก ไม่มีเจตนาที่จะยึดถือทรัพย์ไว้โดยทุจริต จึงไม่มีความผิด (ผู้ช่วย พ.ศ.2527)

-          มาตรา 352 วรรคสอง - ทรัพย์ที่ผู้อื่นส่งมอบให้โดยสำคัญผิด
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 2544/2529 จำเลยเขียนเช็คสั่งจ่ายเงินโดยเขียนตัวอักษรว่าหนึ่งหมื่นบาท แต่เขียนตัวเลขเป็น 100,000 บาท แล้วนำมาขอเบิกเงินจากธนาคาร พนักงานธนาคารสำคัญผิดในตัวเลข จ่ายเงินให้จำเลยไป 100,000 บาท เมื่อพบว่าจ่ายเงินเกินไป ได้ตามไปขอคืน จำเลยไม่ยอมคืนให้ เมื่อพนักงานธนาคารแก่จำเลยไป ก็โดยสำคัญผิดว่าจำเลยสั่งจ่ายเงินตามเช็ค 100,000 บาท ซึ่งความจริงจำเลยสั่งจ่ายเช็คเป็นเงินเพียง 10,000 บาท ถือได้ว่าเป็นการส่งมอบให้โดยสำคัญผิดไป แม้ว่าจะด้วยประการใดตาม เมื่อเงินดังกล่าวตกมาอยู่ในความครอบครองของจำเลยแล้ว จำเลยเบียดบังเอาเป็นของตน จำเลยจึงมีความผิดตาม ป.อ.ม.352
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 703/2539 พนักงานของโจทก์ร่วมส่งมอบเงินให้แก่จำเลยที่นำเช็คมาเบิกเงินเกินจำนวนไป เนื่องจากมิได้ดูจำนวนเงินในเช็คให้รอบคอบ ถือว่าเป็นการส่งมอบให้โดยสำคัญผิดไป เมื่อจำเลยเบียดบังเอาเป็นของตน จึงเป็นความผิดฐานยักยอก
-          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 703/2539 คำเบิกความของพยานคนใดจะรับฟังได้หรือไม่ต้องแล้วแต่เหตุผลในคำพยานนั้นเองแม้เป็น พยานคู่กัน ก็ไม่จำต้องรู้เห็นเหตุการณ์หรือเบิกความได้ตรงกันหมดทุกคน จึงจะรับฟังได้พยานอาจเบิกความสนับสนุนบางตอนเท่าที่ตนรู้เห็นจริงเท่านั้นก็ได้ เอกสารที่พยานโจทก์เป็นผู้จัดทำตามข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น และเป็นไปตามลำดับขั้นตอนตามหน้าที่ซึ่งพยานรับผิดชอบ ทั้งจำเลยก็มิได้โต้แย้งว่าไม่ถูกต้อง หรือไม่ตรงกับความจริง จึงมีน้ำหนักและการเบิกความของพยานโจทก์เป็นการเบิกความประกอบเอกสารและเอกสารก็มีรายละเอียดชัดเจนอยู่แล้ว เมื่อฟังประกอบกับพยานบุคคล จึงเชื่อได้ว่าข้อเท็จจริงเป็นดัง พยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบมา พนักงานของโจทก์ร่วมส่งมอบเงินให้แก่จำเลยที่นำเช็คมาเบิกเงินเกินจำนวนไปเนื่องจากมิได้ดูจำนวนเงินในเช็คให้รอบคอบ ถือว่าเป็นการส่งมอบให้โดยสำคัญผิดไป เมื่อจำเลยเบียดบังเอาเป็นของตนจึงเป็นความผิดฐานยักยอก
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 2135/2539 เจ้าหน้าที่ของธนาคารผู้เสียหายได้นำเงินฝากจำนวน 60,000 บาท ของลูกค้ารายอื่นเข้าบัญชีของจำเลย โดยผิดพลาด ปรากฏว่าจำเลยประกอบกิจการตัดเย็บเสื้อผ้า ซึ่งเป็นกิจการเล็ก ๆ มีเงินทุนหมุนเวียนเข้าออกบัญชีจำนวนเล็กน้อยสามารถตรวจสอบและรู้ถึงการนำเงินเข้าออกบัญชีได้โดยง่าย จำเลยออกเช็คสั่งจ่ายเงินดังกล่าวออกไปจากบัญชีของจำเลย เป็นการเบียดบังเอาเงินนั้นไปโดยทุจริต จึงเป็นความผิดฐานยักยอกตาม ป.อ. มาตรา 352 วรรคสอง / หมายเหตุ มีข้อที่ควรนำมาพิจารณากล่าวคือ ในการเปิดบัญชีเงินฝาก กระแสรายวันกับธนาคาร ลูกค้าต้องยื่นคำขอเปิดบัญชี โดยทั่วไป มีเงื่อนไขข้อตกลงว่าในการสั่งจ่ายถอนเงินออกจากบัญชี ลูกค้า ต้องใช้เช็คของธนาคารเท่านั้น ในกรณีที่เงินในบัญชีมีไม่พอจ่าย หรือไม่มีเงินอยู่ในบัญชี ถ้าธนาคารได้ผ่อนผันจ่ายเงินให้ไปตามเช็ค ซึ่งลูกค้าสั่งจ่ายแล้ว ลูกค้ายอมให้ถือว่าจำนวนเงินที่จ่ายไปนั้น เป็นหนี้เบิกเงินเกินบัญชีและต้องชดใช้คืนให้แก่ธนาคารพร้อมด้วย ดอกเบี้ย ซึ่งถือเป็นเรื่องปกติในทางการค้าของธนาคาร การผ่านเช็ค ให้ลูกค้าดังกล่าวเป็นอำนาจของผู้จัดการธนาคารสาขาที่สามารถกระทำได้ ภายใต้ขอบเขตอำนาจที่ได้รับมอบหมาย ทั้งนี้หาจำต้องมีสัญญาเบิกเงิน เกินบัญชีต่อกันไม่ ดังนั้นการที่ธนาคารจ่ายเงินไปตามเช็คที่ จำเลยสั่งจ่าย จึงหาควรนำไปผูกโยงกับการที่เจ้าหน้าที่ธนาคาร นำเงินฝากของบุคคลอื่นเข้าบัญชีของจำเลยโดยผิดพลาดไม่ เพราะกรณีนี้ เมื่อเจ้าหน้าที่ของธนาคารตรวจสอบพบ ย่อมสามารถแก้ไขรายการซึ่ง ลงไว้ในบัญชีที่ผิดพลาดให้ถูกต้องได้ อันเป็นวิธีการปฏิบัติ ในระบบบัญชี ส่วนจำนวนเงินที่ธนาคารจ่ายเกินไปจากที่มีอยู่ในบัญชี ต้องถือเป็นหนี้เบิกเงินเกินบัญชีตามข้อตกลงข้างต้น และจำเลย มีหน้าที่ต้องชดใช้คืนให้แก่โจทก์ อันเป็นความรับผิดในทางแพ่ง หากปรากฏข้อเท็จจริงดังกล่าวในคดีนี้แล้ว ผลของคดีน่าจะเปลี่ยนไป / การฝากเงินกับธนาคาร ปกติผู้ที่นำเงินมาฝากต้องเขียนใบฝากเงิน โดยระบุชื่อเจ้าของบัญชีและเลขที่บัญชีเงินฝากตามที่ประสงค์ บุคคลผู้เป็นเจ้าของบัญชีนั้นจึงอยู่ในฐานะเจ้าหนี้ของธนาคาร ทำให้มีสิทธิถอนเงินไปจากธนาคารได้ และธนาคารอยู่ในฐานะลูกหนี้ มีหน้าที่ต้องจ่ายเงินให้ ส่วนกรณีที่เจ้าหน้าที่ธนาคารนำเงินฝาก ของลูกค้าไปลงรายการในบัญชีเงินฝากของลูกค้ารายอื่นโดยผิดพลาดนั้น การลงรายการในบัญชีผิดพลาดเป็นเรื่องระบบในทางบัญชี หาใช่ว่า เป็นการโอนกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองในเงินนั้นไปยังลูกค้า รายนั้นแล้วไม่ ดังนั้นบุคคลซึ่งเป็นเจ้าของบัญชีเงินฝากที่ เจ้าหน้าที่ของธนาคารนำเงินฝากของบุคคลอีกคนหนึ่งมาลงรายการ ในบัญชีโดยผิดพลาด จึงไม่ถือว่าเป็นเจ้าหนี้ของธนาคาร ย่อมไม่มีสิทธิ ถอนเงินออกจากบัญชี แสดงให้เห็นว่ารายการที่ระบุในบัญชีเงินฝาก เป็นเรื่องระบบทางบัญชีโดยเฉพาะ หากมีรายการผิดพลาดก็ย่อมแก้ไขได้ จำนวนเงินที่ระบุไว้ในบัญชีเงินฝากจึงเป็นเพียงตัวเลขเท่านั้น มิได้ชี้ว่าเจ้าของบัญชีมีสิทธิครอบครอง ส่วนตัวเงินที่แท้จริง คงอยู่ในความครอบครองของธนาคารผู้เป็นเจ้าของ ดังคำวินิจฉัย ในคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 758-753/2523 การฝากเงินตามบทบัญญัติ ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 672 มีผลให้เงินที่ลูกค้า นำไปฝากตราเป็นกรรมสิทธิ์ของธนาคาร การครอบครองซึ่งถือเป็น องค์ประกอบที่สำคัญที่จะพิจารณาว่า เป็นการกระทำผิดฐานลักทรัพย์ หรือยักยอก ดังนั้น เจ้าของบัญชีเงินฝากที่มีการลงรายการผิดพลาด ไปถอนเงินออกจากบัญชี ทั้งที่รู้อยู่ก่อนแล้วว่าไม่มีสิทธิ (กรณีถือว่ามีเจตนาทุจริตตั้งแต่ต้นก่อนถอนเงินนั้นแล้ว) ควรมี ความผิดฐานใด / กรณีส่งมอบทรัพย์ให้โดยสำคัญผิดไปด้วยประการใดนั้น จักเป็น ความผิดฐานยักยอก ตามมาตรา 352 วรรคสอง ก็ต่อเมื่อผู้กระทำผิด เกิดเจตนาทุจริตขึ้นหลังจากที่ได้ครอบครองทรัพย์ไว้แล้ว ดังคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2544/2529 จำเลยเขียนเช็คสั่งจ่ายเงิน เป็นตัวเลข 100,000 บาท แต่พนักงานธนาคารส่งมอบเงินให้ 100,000 บาท เพราะดูตัวเลขผิด จึงจ่ายเงินเกินไป 90,000 บาท ถือได้ว่าเป็น การส่งมอบให้โดยสำคัญผิด เมื่อเงินอยู่ในครอบครองของจำเลยแล้ว พนักงานธนาคารไปขอคืน จำเลยไม่มอบคืนจึงเป็นการเบียดบังเอาเป็นของตน เป็นความผิดฐานยักยอก / ส่วนกรณีทรัพย์สินหาย มีคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1363/2503 (ประชุมใหญ่) ทรัพย์สินหายไม่ใช่เรื่องสละการครอบครอง ถ้าผู้เก็บทรัพย์เอาไปโดยรู้หรือควรรู้ว่าเจ้าของทรัพย์กำลังติดตาม เอาคืน ก็เป็นลักทรัพย์ (แสดงว่ามีเจตนาทุจริตแต่แรก) ถ้าไม่รู้ หรือไม่มีเหตุอันควรรู้ ก็เป็นความผิดฐานยักยอก (ถือว่ามีเจตนาทุจริต ในภายหลัง) ผู้เขียนหมายเหตุ : ส.จ.
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 4442/2540 (สบฎ เน 39) พนักงานของธนาคารโจทก์ร่วม รับฝากเงินจากสาขาของบริษัท ท. เพื่อโอนเข้าบัญชีออมทรัพย์ของบริษัท ท. สำนักงานใหญ่ แต่ป้อนข้อมูลเข้าเครื่องคอมพิวเตอร์ผิดพลาด ไปเข้าบัญชีออมทรัพย์ของจำเลยที่ธนาคารโจทก์ร่วม จำเลยได้ถอนเงินจำนวนดังกล่าวยในบัญชีของจำเลยไปจากธนาคารของโจทก์ร่วม แม้จำเลยจะทราบแต่เพียงฝ่ายเดียวว่าเงินนั้นเข้าบัญชีผิดพลาด แต่จำเลยมีเจตนาทุจริต ถือได้ว่าเงินจำนวนดังกล่าวได้ตกมาอยู่ในความครอบครองของจำเลย เพราะโจทก์ร่วมได้ส่งมอบให้โดยสำคัญผิด มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 352 วรรคสอง
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 3780/2541 (ไม่เผยแพร่) จำเลยเปิดบัญชีเงินฝากสะสมทรัพย์ที่ธนาคารผู้เสียหาย และขอทำบัตร เอ.ที.เอ็ม. ด้วย แต่พนักงานของผู้เสียหายกรอกหมายเลขบัญชีของ ล. กับพวก ลงไปในคำขอใช้บริการบัตร เอ.ที.เอ็ม. ของจำเลย แทนที่จะกรอกหมายเลขบัญชีของจำเลยในคำขอดังกล่าว เมื่อจำเลยเป็นผู้ใช้บัตร เอ.ที.เอ็มนั้น ไปเบิกถอนเงิน เป็นเหตุให้มีการหักเงินในบัญชีของ ล. กับพวก แทนที่จะมีการหักเงินในบัญชีของจำเลย จำเลยมีความผิดลักทรัพย์

-          ผู้เสียหาย
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 5048/2531 การเคหะแห่งชาติมีคำสั่งกำหนดบุคคลผู้ไขกุญแจตู้โทรศัพท์สาธารณะที่ติดตั้งในบริเวณเคหะชุมชนต่าง ๆ โดยในคำสั่งนั้นระบุตำแหน่งของกรรมการไว้โดยเฉพาะ และมีหัวหน้าสำนักงานดูแลเคหะชุมชนเป็นประธานกรรมการ ในกรณีที่บุคคลบางตำแหน่งไม่มี คำสั่งดังกล่าวก็ได้กำหนดให้หัวหน้าสำนักงานดูแลชุมชน  แต่งตั้งบุคคลที่ดำรงตำแหน่งอื่น เป็นกรรมการแทน แต่บุคคลนั้นต้องดำรงตำแหน่ง เป็นพนักงานจัดการการทรัพย์สิน หรือพนักงานธุรการประจำสำนักงานเคหะชุมชนนั้น จำเลยดำรงตำแหน่งทางสายงานเป็นพนักงานบริการ และดำรงตำแหน่งทางการบริหารเป็นหัวหน้าคนงานสำนักงานดูแลเคหะชุมชน จึงไม่มีคุณสมบัติที่จะได้รับแต่งตั้งให้เป็นกรรมการไขกุญแจเก็บเงินจากตู้โทรศัพท์  ได้การที่หัวหน้าสำนักงานดูแลเคหะชุมชนได้มอบหมาย ให้จำเลยมีหน้าที่ไขตู้โทรศัพท์เก็บเงินส่งเจ้าหน้าที่ จึงถือไม่ได้ว่าเป็นคำสั่งตั้งกรรมการที่ชอบด้วยกฎหมาย และถือไม่ได้ว่าเป็นการมอบหมายในฐานะผู้บังคับบัญชา หากแต่เป็นเรื่องมอบหมายงานให้จำเลยปฏิบัติแทนหัวหน้าสำนักงานดูแลเคหะชุมชน ในฐานะประธานกรรมการเป็นการภายในเท่านั้น จำเลยจึงไม่มีหน้าที่ตามกฎหมายในอันที่จะจัดการหรือรักษาทรัพย์ใด ๆ ในฐานะเป็นพนักงานองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ การที่จำเลยเบียดบังเงินที่เก็บได้จากตู้โทรศัพท์บางส่วน จึงไม่เป็นความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2502 มาตรา 4 คงเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 352 แต่เมื่อการเคหะแห่งชาติมิได้ร้องทุกข์ภายใน 3 เดือนนับแต่วันที่รู้เรื่องความผิด และรู้ตัวผู้กระทำผิด คดีจึงขาดอายุความตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 96
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 18/2536 เงินค่าครุภัณฑ์ที่โจทก์อ้างว่าจำเลยเบียดบังไป เป็นเงินที่สำนักงานศึกษาธิการจังหวัดจ่ายให้แก่สำนักงานศึกษาธิการกิ่งอำเภอ เพื่อส่งมอบให้แก่โจทก์ร่วม แต่โจทก์ร่วมไม่ได้มอบหมายให้จำเลยเป็นผู้รับมอบเงินแทน ต้องถือว่าเงินจำนวนดังกล่าว ยังคงเป็นของทางราชการ โจทก์ร่วมจึงมิใช่ผู้เสียหาย เมื่อส่วนราชการที่เป็นเจ้าของเงินไม่ได้ร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีแก่จำเลย ฐานยักยอกทรัพย์พนักงานอัยการจึงไม่มีอำนาจฟ้อง

-          การวินิจฉัยแต่ละกระทงความผิด
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 3091-3092/2523 เมื่อสิ้นภาคเรียนจำเลยมีหน้าที่ต้องนำเงินของโรงเรียนมอบให้เจ้าอาวาสทุกครั้งไปครั้งใด จำเลยไม่ส่งมอบแต่กลับยักยอกเอาเป็นประโยชน์ของตนเสีย ก็เป็นความผิดฐานยักยอกสำหรับครั้งนั้น สำเร็จขาดตอนไปเป็นกรรมหนึ่ง การยักยอกของจำเลย จึงเป็นความผิดเป็นกรรม ๆ ไปตามจำนวนครั้งที่จำเลยกระทำการยักยอก

-          กฎหมายที่เกี่ยวข้อง
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 2823,2824/2516 ความผิดฐานยักยอก สถานที่ที่จำเลยยืมทรัพย์ที่ยักยอก ย่อมถือเป็นสถานที่เกิดเหตุในการกระทำผิดด้วย
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 2254/2521 (สบฎ เน 5633) การเอาโฉนดไว้เพื่อประสงค์จะเอากรรมสิทธิ์ในที่ดิน ไม่มีเจตนายักยอกโฉนดนั้น ไม่มีความผิดฐานยักยอก ตามมาตรา 352 แต่เป็นความผิดตามมาตรา 188 พราะเอาโฉนดที่ดินซึ่งเป็นเอกสารสิทธิไป ในประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้เสียหาย (เทียบ ฎ 4046/2536เอกสารสัญญาแม้เป็นเพียงกระดาษแผ่นเดียว ก็ถือว่าเป็นทรัพย์ ผิด ม 341)
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 5964/2537 (ถอดรหัส อาญา 91) เงินที่จำเลยยักยอก เป็นเงินค่าบำรุงที่เจ้าภาพงานศพ ซึ่งกรมตำรวจมอบให้จำเลยเพื่อเก็บส่งเป็นเงินสวัสดิการกรมตำรวจ ไม่ใช่เงินของทางราชการหรือรัฐบาล ที่จำเลยมีหน้าที่ดูแล จำเลยไม่ผิด ม 147 คงผิด ม 352

-          ตัวอย่างประเด็นข้อสอบเก่า มาตรา 352
-          (ขส พ 2502/ 7 ครั้งแรก) ลาภนำธนบัตร 100 บาท ไปแลกธนบัตรย่อยในร้านค้า / เจ้าของร้านให้เงินธนบัตรย่อย และมีธนบัตร 100 บาท ติดมาด้วยโดยความพลั้งเผลอ / เมื่อลาภรู้ภายหลังจากเดินออกจากร้านค้าแล้ว / เจ้าของร้านทวงถาม นายลาภปฏิเสธเจ้าของร้านว่า ไม่มีธนบัตร 100 บาท เกินมาด้วย / เจ้าของร้านส่งมอบธนบัตร 100 บาท เกินมาด้วย ถือว่าธนบัตรดังกล่าว ตกมาอยู่ในความครอบครองของนายลาภโดยสำคัญผิด เมื่อนายลาภไม่ยอมรับว่ามีธนบัตรเกิน แสดงว่ามีเจตนาเบียดบังเป็นของตนโดยทุจริต เป็นความผิดฐานยักยอก ตาม ม 352 วรรคท้าย
-          (ขส พ 2502/ 6 ครั้งที่สอง) พนักงานเก็บเงินบริษัท แอบนำใบเสร็จของบริษัท ไปเก็บเงิน แล้วหลบหนีไป / ผิดลักทรัพย์ คือเอกสารของบริษัท (ม 188 + 335 (11) เป็นการยึดถือเอกสารไว้แทนนายจ้าง)) และยักยอกทรัพย์ คือ เงินที่ตนเก็บ อันเป็นกิจการในหน้าที่ตามปกติ เป็นเงินของบริษัทซึ่งจะต้องนำส่งบริษัท (ม 352 วรรคแรก)
-          (ขส พ 2515/ 8) คนร้ายลักวิทยุของ นาย ก ไป 15 วันต่อมา ข เก็บวิทยุได้ที่ข้างถนน นำไปซ่อมและใส่ถ่าน แล้วขายให้นาย ค นาย ค ทราบแล้วว่า ข เก็บได้ รับซื้อไว้โดยเปิดเผยและสุจริต นาย ง แจ้งแก่นาย ก ว่าหากต้องการวิทยุคืน จะไปรับให้ แต่ต้องจ่ายค่าจ้างให้ 100 บาท แต่นาย ง ก็ไม่นำวิทยุมาคืน เพราะเล่นการพนันเสียหมด / นาย ข ไม่ผิดฐานใด เพราะไม่รู้ว่าเป็นของได้มาโดยการกระทำผิด เพราะการเก็บของตก อาจผิดกฎหมายก็มี ไม่ผิดกฎหมายก็มี การเก็บได้ ก็มิได้ซ่อนเร้น ยังถือไม่ได้ว่า ข ทุจริตคิดยักยอก เพราะเมื่อเก็บได้แล้ว ก็ไม่มีเหตุอย่างใดที่จะทำให้เชื่อว่าเป็นของใคร หรือพอจะหาเจ้าของได้ / นาย ค ไม่ผิด เพราะ นาย ข ผู้เก็บได้ ไม่มีความผิดตามกฎหมาย จึงเอาผิดแก่ นาย ค ผู้ซื้อไว้โดยสุจริตไม่ได้ / นาย ง ไม่ผิด เพราะเงินที่ นาย ก ให้ เป็นค่าจ้าง

-          (ขส อ 2520/ 8) ซื้อกางเกงจากร้านขายของเก่า พบตั๋วจำนำเอาไปไถ่สินค้ามาใช้ ผิด มาตรา 352 วรรค 2 ตั๋วจำนำ (ดู อ จิตติ ภาค 2/2312 ผิดลักทรัพย์ ไม่มีเจตนาส่งมอบ ไม่ใช่ส่งมอบโดยสำคัญผิด)
-          (ขส อ 2522/ 8) ลูกจ้างรับเงินไปซื้อหมู พ่อค้าทอนเงินเกิน แอบเอาไว้เองส่วนหนึ่ง ให้นายจ้างอีกส่วนหนึ่ง ผิด มาตรา 352 วรรค 2 ทั้งคู่ เป็นเงินที่พ่อค้าส่งให้โดยสำคัญผิด (ผิดยักยอกเงินทอนของพ่อค้า ไม่ใช่ยักยอกเงินของนายจ้าง)
-          (ขส อ 2541/ 6) ก มอบให้ ข เลี้ยงปลา แล้ว ก จับขายมาแบ่งประโยชน์กัน ข แอบเอาไปขาย ผิด ม 352 แล้วยังมาเบิกค่าอาหารปลาตามข้อตกลง เป็นการปกปิดความจริง ผิด ม 341+91
-          (ขส อ 2542/ 6) สินสมรส ชื่อของสามี คดีฟ้องหย่า พิพากษาให้แบ่งที่ดิน สามีขายไป ผิด ม 352 +187+90 / คนแนะนำให้ขายและซื้อเอาไว้ ผิด ม 352+187+86 (น่าจะ ม 84 และเกลื่อนกลืนเป็นตัวการ ม 83) +357+90 / เมียน้อยรับเงินจากสามีโดยรู้ ไม่ผิด ม 3571 ไม่ใช่ทรัพย์ที่ได้มาโดยตรง

ไม่มีความคิดเห็น: