ค้นหาบล็อกนี้

วันศุกร์ที่ 19 สิงหาคม พ.ศ. 2559

"เข้าใจผิด"

ผู้เสียหายลงชื่อในหนังสือมอบอำนาจและสั่งให้ผู้ต้องหาที่ ๑ซึ่งเป็นบุตรนำหนังสือดังกล่าวไปจดทะเบียนจำนองเพื่อเป็นประกันการกู้ยืมเงินจากธนาคาร แต่ผู้ต้องหาที่ ๑ ได้กรอกข้อความว่าผู้เสียหายมอบอำนาจให้ผู้ต้องหาที่ ๑ขายที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างของผู้เสียหายให้แก่ผู้ต้องหาที่ ๒ซึ่งเป็นภรรยาผู้ต้องหาที่ ๑ โดยมีผู้ต้องหาที่ ๓ ที่ ๔ เป็นพยานรับรองข้อความในหนังสือมอบอำนาจดังกล่าว และให้ผู้ต้องหาที่ ๑ นำหนังสือมอบอำนาจดังกล่าวไปจดทะเบียนโอนที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างต่อต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ให้เป็นของผู้ต้องหาที่ ๒ แล้วผู้ต้องหาที่ ๒ได้นำที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวไปจดทะเบียนจำนองเพื่อประกันหนี้เงินกู้จากธนาคาร อันเป็นการฝ่าฝืนและขัดคำสั่งของผู้เสียหาย ผู้เสียหายจึงมาแจ้งความร้องทุกข์ ต่อมาผู้ต้องหาที่๑ และที่ ๒ มาให้ถ้อยคำต่อพนักงานอัยการว่า เป็นเรื่องเข้าใจผิด พร้อมแสดงหลักฐานสัญญาประนีประนอมยอมความที่ระบุว่า ผู้เสียหายได้ยินยอมให้ผู้ต้องหาที่ ๒ ถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทแทนเพื่อความสะดวกในการจดทะเบียนนิติกรรมจำนองและกู้ยืมเงินจากธนาคาร ชี้ขาดสั่งไม่ฟ้องผู้ต้องหาทั้งสี่ข้อหาร่วมกันปลอมและใช้เอกสารปลอม ชี้ขาดความเห็นแย้ง ๑๔๔/๒๕๕๑
ข้อสังเกต ๑.กรอกข้อความในหนังสือมอบอำนาจที่มีลายมือชื่อผู้เสียหายโดยฝ่าฝืนคำสั่งของผู้เสียหายที่ให้นำไปจดทะเบียนจำนองประกันหนี้เงินกู้ แต่ไปกรอกข้อความว่ามอบอำนาจให้ขายที่ดินพร้อมสิิ่งปลูกสร้างให้ผู้ต้องหาที่ ๒ แล้วผู้ต้องหาที่ ๒ นำไปจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่แล้วนำที่ดินไปจดทะเบียนจำนองประกันหนี้เงินกู้ เป็นการกรอกข้อความในเอกสารที่มีลายมือชื่อผู้เสียหายโดยฝ่าฝืนคำสั่งผู้เสียหาย เพื่อนำไปใช้ในกิจการที่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อผู้เสียหายหรืิอประชาชนเป็นการปลอมเอกสารตาม ป.อ. มาตรา ๒๖๔วรรค ๒
๒.หากเป็นจริงตามที่ผู้ต้องหาที่ ๑ อ้างว่า กรอกข้อความไม่ตรงตามเจตนารมณ์ของผู้เสียหายเกิดจากการเข้าใจผิด แล้วถือว่าขาดเจตนาในการกระทำความผิด ตาม ป.อ. มาตรา ๕๙ การกระทำดังกล่าวจึงไม่เป็นความผิด
๓.ความผิดฐานปลอมและใช้เอกสารปลอมไม่ได้รับผลตาม ป.อ. มาตรา ๗๑วรรค ๒ ที่จะสามารถยอมความได้แม้จะเป็นความผิดอาญาแผ่นดิน และไม่ได้ให้ศาลมีอำนาจลงโทษน้อยกว่าที่กฏหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดนั้นเพียงใดก้ได้ตาม ป.อ. มาตรา ๗๑ วรรค ๒
๔.เป็นเรื่องเข้าใจผิดกันจริงหรือ? การมอบอำนาจให้ไปจดทะเบียนจำนองเพื่อประกันหนี้เงินกู้กับการมอบอำนาจให้ขายที่ดิน เป็นคนละเรื่องกัน ส่วนหลักฐานการประนีประนอมยอมความที่ระบุว่า ผู้เสียหายยินยอมให้ผู้ต้องหาที่ ๒ ซึ่งเป็นลูกสะใภ้ถือกรรมสิทธิืในที่พิพาทแทนเพื่อความสะดวกในการจดทะเบียนนิติกรรมจำนองและกู้ยืมเงินจากธนาคาร นั้น หากมีเอกสารดังกล่าวมาตั้งแต่แรกก่อนแจ้งความร้องทุกข์ ทำไมผู้เสียหายจึงต้องมาแจ้งความร้องทุกข์ว่าผู้ต้องหาที่ ๑ ซึ่งเป็นบุตรกรอกข้อความในหนังสือมอบอำนาจไม่ตรงตามความประสงค์ของตน น่าเชื่อว่าน่าจะทำมาภายหลังเพื่อไม่ให้ผู้ต้องหาที่ ๑ ซึ่งเป็นบุตร ผู้ต้องหาที่ ๒ ซึ่งเป็นลูกสะใภ้ถูกดำเนินคดี หรือไม่อย่างไร
๕.ทั้งข้ออ้างว่าเพื่อความสะดวกในการจดทะเบียนจำนองและการกู้ยืมเงินนั้น มันเกิดความไม่สะดวกยังไงในเมื่อมีการมอบอำนาจให้จดทะเบียนจำนอง ผู้มอบอำนาจไม่ได้ไปจดทะเบียนจำนองอยู่แล้ว แต่ผู้รับมอบอำนาจเป็นผู้ไป ทั้งการให้ผู้ต้องหาที่๒ถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินแทน เป็นกรณีที่ในใจจริงผู้เสียหายไมได้มีเจตนาเช่นว่านั้น แต่เป็นการแสดงเจตนาลวงโดยสมรู้กับคู่กรณีอีกฝ่ายย่อมตกเป็นโมฆะตาม ป.อ. มาตรา ๑๕๕ เพียงแต่ใช้ยันกับธนาคารซึ่งเป็นบุคคลภายนอกผู้ทำการโดยสุจริตและต้องเสียหายจากการแสดงเจตนาลวงนั้นไม่ได้เท่านั้นเอง แต่ในระหว่างคู่กรณีการแสดงเจตนาลวงดังกล่าวตกเป็นโมฆะไปแล้วถือไม่มีการแสดงเจตนาลวงดังกล่าว ดังนั้นจึงไม่น่านำเจตนาลวงดังกล่าวมาเป็นมูลเหตุในการแจ้งความ จึงเกิดปัญหาว่าสัญญาประนีประนอมยอมความดังกล่าวทำภายหลังเพื่อช่วยผู้ต้องหาทั้งสี่หรือไม่อย่างไร? หรือมีมาตั้งแต่แรกตามที่ผู้ต้องหาให้การ

ไม่มีความคิดเห็น: