ค้นหาบล็อกนี้

วันศุกร์ที่ 19 สิงหาคม พ.ศ. 2559

“คำขอท้ายฟ้องคดีอาญา”

๑.ไม่ระบุอนุมาตราในคำขอท้ายฟ้อง เป็นหน้าที่ศาลต้องปรับบทเอง คำพิพากษาฏีกา ๔๖๐๕/๒๕๕๑,๗๖๓๘/๒๕๕๐
๒.ไม่ต้องระบุวรรคของมาตรา คำพิพากษาฏีกา ๑๘๗๕/๒๕๔๕,๙๒๓๙/๒๕๔๗,๗๖๓๘/๒๕๕๐,๓๘๘๙/ ๒๕๕๑,๘๒๘๑/๒๕๕๒
๓.แต่หากระบุวรรคไม่สอดคล้องกับฟ้อง ถือว่าเป็นเรื่องอ้างวรรคผิด ไม่ใช่เป็นเรื่องฟ้องโจทก์ขัดกัน ฟ้องชอบด้วยกฎหมาย คำพิพากษาฏีกา ๖๐๐๙/๒๕๕๑ ไม่เป็นฟ้องเคลือบคลุม คำพิพากษาฏีกา ๖๐๐๙/๒๕๕๑
๔.ไม่ต้องอ้างบทบัญญัติของประมวลกฎหมายอาญาที่ใช้กับความผิดทั่วไป เพราะไม่ใช่มาตรากฏหมายที่บัญญัติว่าการกระทำนั้นเป็นความผิดที่อยู่ในบังคับแห่ง ป.ว.อ. มาตรา ๑๕๘(๖) ที่ต้องระบุเลขมาตรามาในฟ้อง เช่น การริบของกลาง คำพิพากษาฏีกา ๔๘๕/๒๔๙๓ การบวกโทษตาม คำพิพากษาฏีกา ๗๖๔/๒๕๐๘ กระทำผิดโดยพลาดพยามกระทำผิด ตัวการ ผู้ใช้ ผู้สนับสนุน กรรมเดียว คำพิพากษาฏีกา ๒๔๗๒/๒๕๕๑,๗๖๕๓/๒๕๔๗ หลายกรรม คำพิพากษาฏีกา ๓๗๗๕/๒๕๒๗,๒๗๖๕/๒๕๒๒๔๙๒/๒๕๔๐ การเพิ่มโทษ ๖๘/๒๔๘๘,๙๔๗/๒๕๒๐
๕.ไม่อ้างบทบัญญัติของกฎหมายที่แก้ไขเพิ่มเติม เป็นเพียงโจทก์อ้างบทกฎหมายไม่ครบเท่านั้นถือโจทก์ประสงค์ขอให้ลงโทษแล้ว คำพิพากษาฏีกา ๔๓๔๐/๒๕๕๔
๖.อ้างมาตราบทฉกรรจ์แล้ว ไม่อ้างมาตราอันเป็นองค์ประกอบความผิด แต่ได้บรรยายข้อเท็จจริงในฟ้องครบตามองค์ประกอบความผิด เมื่อจำเลยเข้าใจข้อหาได้ดี ไม่หลงต่อสู้ มีผลเท่ากับโจทก์อ้างมาตราในกฎหมายที่บัญญัติว่าการกระทำเช่นว่านั้นเป็นความผิดตาม ปวอ. มาตรา ๑๕๘(๖)แล้ว เพียงแต่ระบุบทมาตราที่ขอให้ลงโทษขาดตกบกพร่องเท่านั้น ฟ้องโจทก์สมบรูณ์ คำพิพากษาฏีกา ๔๘๐๐/๒๕๕๐
๗.ฟ้องระบุมาตราบทห้าม แต่ไม่ได้อ้างบทลงโทษ เป็นฟ้องที่สมบรูณ์ คำพิพากษาฏีกา ๑๙๕๙/๒๕๓๕,๑๙๗๑/๒๕๔๑
๘.ฟ้องอ้างมาตราบทลงโทษแต่ไม่ได้อ้างบทห้ามมา เป็นฟ้องที่สมบรูณ์ คำพิพากษาฏีกา ๖๕๒/๒๔๙๐,๗๔๗๑/๒๕๕๑
๙.ฟ้องไม่ระบุบทห้าม บทลงโทษ แต่อ้างกฎหมายที่แก้ไขเพิ่มเติมบทลงโทษ ถือได้อ้างกฎหมายที่บัญยัติเป็นความผิดแล้ว คำพิพากษาฏีกา ๒๗๒๕/๒๕๓๙
๑๐.ฟ้องไม่ระบุชื่อกฏหมาย หน้าฟ้องเขียนว่า ปลอมหนังสือ ใช้หนังสือปลอม ท้ายฟ้องระบุมาตรา ๒๖๔,๒๖๕,๒๖๖,๒๖๘ แต่เมื่อประมวลแล้วทราบได้ว่ากฎหมายที่ขอลงโทษคือกฎหมายอาญา เช่นนี้หาเพียงพอที่จะถือว่าคำฟ้องนั้นเป็นคำฟ้องที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย คำพิพากษาฏีกา ๑๗๐๐/๒๕๑๔
๑๑.อ้างชื่อกฎหมายและเลขมาตราแล้ว แต่ไม่มีคำว่า “ มาตรา” หน้าเลขมาตรา เป็นกรณีผิดหลง เป็นฟ้องที่สมบรูณ์ คำพิพากษาฏีกา ๑๓๒/๒๕๕๔
๑๒.อ้าง พ.ศ. ของพระราชบัญญัติผิด ถืออ้างกฎหมายผิด ศาลมีอำนาจลงโทษตามกฎหมายที่ถูกต้องได้ คำพิพากษาฏีกา ๖๓๑๗/๒๕๕๒
๑๓.อ้างกฎหมายที่ยกเลิกแล้ว เท่ากับไม่ได้อ้างกฎหมายใดมาเลย ศาลลงโทษจำเลยไม่ได้ คำพิพากษาฏีกา ๒๓๗/๒๕๑๘,๔๘๘/๒๔๘๓
๑๔.อ้างกฎหมายที่ยกเลิกแล้วแต่พรบ.แก้ไขเพิ่มเติมนั้นบัญญัติให้ใช้ข้อความใหม่แทนมาตราเดิมที่ยกเลิก ไม่ใช่กรณีที่กฎหมายยกเลิกแล้ว จึงเป็นฟ้องที่สมบรูณ์ คำพิพากษาฏีกา ๒๘๐/๒๕๕๑,๗๐๖/๒๕๑๖
๑๕.อ้างบทมาตราผิด จากมาตรา ๘,๗๒ ซึ่งความจริงคือ ๗,๗๒ เมื่อจำเลยรับสารภาพ ศาลลงโทษได้ตามฐานความผิดที่ถูกต้อง ตาม ป.ว.อ. มาตรา ๑๙๒วรรค ๕ กรณีไม่ใช่บรรยายฟ้องไม่ครบองค์ประกอบความผิดตาม ป.ว.อ. มาตรา ๑๕๘(๕) คำพิพากษากีกา ๙๑๑๔/๒๕๕๒
๑๖.ไม่อ้างทั้งบทความผิดและบทลงโทษ เป็นฟ้องไม่สมบรูณ์ คำพิพากษาฏีกา ๑๙๗๐/๒๕๕๐
๑๗.ไม่อ้างมาตราในกฎหมายที่บัญญัติการกระทำเป็นผิดและกำหนดโทษไว้ ศาลลงโทษไม่ได้ ฟ้องทำร้ายร่างกายไม่ถึงกับเป็นอันตรายแก่กายและจิตใจ ไม่อ้างมาตรา ๓๙๑(คำพิพากษาฏีกา ๓๙๘๙/๒๕๕๑)ฟ้องฆ่าไตร่ตรองไว้ก่อนอ้าง ป.อ. มาตรา ๒๘๘ ไม่อ้างมาตรา ๒๘๙ ศาลลงโทษตามมาตรา ๒๘๙ ไม่ได้ คำพิพากษาฏีกา ๕๗๘๕/๒๕๒๒
๑๘.ไม่อ้างบทบัญญัติที่มีระวางโทษหนังขึ้น เช่น ปอ. มาตรา ๓๓๖ทวิ(คำพิพากษาฏีกา ๓๕๒๒/๒๕๕๔) หรือมาตรา ๓๔๐ตรี(คำพิพากษาฏีกา ๔๓๓๗/๒๕๕๒) ศาลลงโทษไม่ได้
๑๙.ฟ้องพยายามฆ่าตาม ป.อ. มาตรา ๘๐,๒๘๘ ไม่ต้องอ้างมาตรา ๒๙๗ แต่ต้องบรรยายฟ้องให้ชัดเจนว่าได้รับอันตรายสาหัสอย่างไร มิเช่นนั้นหากยกฟ้องข้อหาพยายามฆ่าจะลงโทษตาม ป.อ. มาตรา ๒๙๗ ไม่ได้ลงได้แต่ตาม ป.อ.มาตรา ๒๙๕
ข้อสังเกต ๑.ฟ้องต้องทำเป็นหนังสือมีข้อความต่างๆตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ใน ป.ว.อ. มาตรา ๑๕๘ ทั้งต้องอ้างมาตราในกฎหมายที่บัญญัติว่ากากรกระทำเช่นนั้นเป็นความผิด หากมีข้อความไม่ครบถ้วนตามที่กฎหมายกำหนดหากไม่ใช่เป็นเรื่องร้ายแรง เช่นพิมพ์ตกหรือผิดพลาดศาลอาจเรียกให้มาแก้ไข มากกว่าการที่จะไม่ประทับฟ้องหรือยกฟ้องตามป.ว.อ. มาตรา ๑๖๑
๒.การไม่ระบุอนุมาตราในคำขอท้ายฟ้อง เป็นหน้าที่ศาลต้องปรับบทเอง จะมายกฟ้องเพราะถือว่าไม่ระบุมาตราในกฏหมายซึ่งบัญญัติว่าการกระทำนั้นเป็นความผิดหาได้ไม่ และทางปฏิบัติก็ไม่มีใครระบุอนุมาตราหรือระบุวรรคในมาตรานั้นๆมาด้วย เพราะหากระบุผิดวรรค ผิดอนุมาตรา เท่ากับเป็นกรณีที่โจทก์ไม่ประสงค์ให้ลงโทษตามอนุมาตราและตามวรรคที่ถูกต้อง ป.ว.อ. มาตรา ๑๙๒ วรรคสี่ ดังนั้นจึงไม่มีใครระบุอนุมาตราหรือวรรคในตัวบทกฎหมายนั้นๆ แต่ เป็นหน้าที่ของศาลที่จะพิจารณาปรับบทเองว่าเข้าอนุมาตราหรือวรรคใด แต่ทั้งนี้การบรรยายฟ้องต้องบรรยายให้ครบองค์ประกอบความผิดในอนุมาตรานั้นๆหรือบรรยายให้ครบตามวรรคนั้นๆด้วยโดยต้องบรรยายถึงการกระทำทั้งหลายที่จำเลยได้กระทำผิด ข้อเท็จจริงและลายละเอียดเกี่ยวกับเวลา สถานที่ ซึ่งเกิดการกระทำนั้นๆ อีกทั้งบุคคลหรือสิ่งของที่เกี่ยวข้องพอสมควรที่จะทำให้จำเลยเข้าใจข้อหาได้ดีด้วย หากไม่บรรยายดังนี้ศาลก็ไม่รู้จะไปปรับบทกับอนุมาตราใดหรือวรรคใด
๓.ริบของกลาง บวกโทษ กระทำโดยพลาด พยายามกระทำความผิด ตัวการ ผู้ใช้ ผู้สนับสนุน กรรมเดียว หลายกรรม เพิ่มโทษ เหล่านี้ไม่ใช่บทบัญญัติในกฎหมายที่บัญญัติว่าการกระทำเป็นความผิด จึงไม่ต้องอ้างมาตรา ๓๒,๓๓,๕๘,๖๐,๘๐,๘๑,๘๓,๘๔,๘๖,๙๐,๙๑ เหล่านี้ตามลำดับ ไว้ในคำขอท้ายฟ้อง แม้ไม่อ้างมาจะถือว่าโจทก์ไม่ประสงค์ขอให้ลงโทษไม่ได้
๔.สมัยก่อนผมรับราชการที่จังหวัด ....ผมขอเพิ่มโทษ ศาลได้เรียกให้ไปแก้ ผมจะขึ้นไป แต่ รปภ. ไม่ให้ขึ้นไปเพราะผมเพิ่งย้ายมาใหม่เขาคงไม่รู้จักว่าเป็นอัยการเพิ่งย้ายมาใหม่ ไม่ยอมให้ผมขึ้นไปบนห้องผู้พิพากษา ผมไม่อยากโต้เถียงอะไรไม่ให้ขึ้นก็ไม่ขึ้น ผมก็เลยกลับที่ทำงาน ปรากฏว่าศาลรอตั้งนานแล้วอัยการไม่มาศาลเกิดอารมณ์ โทรศัพท์ไปฟ้องอัยการจังหวัดว่าพนักงานอัยการไม่ให้ความร่วมมือ ผมก็บอกแล้วว่าผมไปแล้วแต่ รปภ. ไม่ให้เข้าผมก็ไม่เข้า ภายหลัง รปภ.โดนตำหนิแล้ว รปภ. มาเชิญที่ทำงานให้ผมไปพบผู้พิพากษา เมื่อเข้าไปในห้องผู้พิพากษาที่นั่งรวมกันหลายคนในห้อง จะเพราะอารมณ์โมโหหรือด้วยต้องการอะไรไม่ทราบ แกพูดออกมาว่า “โจทก์ขอเพิ่มโทษ ไม่อ้างมาตรามาในคำขอท้ายฟ้องแล้วจะให้ศาลเพิ่มโทษได้ไงผมดูแล้วไม่มีทั้ง ป.อ. มาตรา ๙๒,๙๓” คงอยากให้ผมอายมั้งว่าไม่มีความรู้หรือยังไงไม่ทราบและเป็นการพูดในห้องที่มีผู้พิพากษานั่งอยู่หลายคน ผมก็เลยบอกท่านไปว่า ผมอ้างมาตราที่ขอเพิ่มโทษไปแล้วตามมาตรา ๙๗ พรบ.ยาเสพติดให้โทษ ผมไม่ได้ขอเพิ่มโทษตาม ป,อ. มาตรา ๙๒,๙๓ และก็มีคำพิพากษาฏีกาเคยตัดสินไว้แล้วว่าไม่จำต้องอ้างเลขมาตราที่เกี่ยวกับการขอเพิ่มโทษมาในคำขอท้ายฟ้องเพราะไม่ใช่บทบัญญัติที่บัญญัติว่าการกระทำของจำเลยเป็นความผิด ท่านผู้พิพากษาคงเสียหน้ามั้งเพราะเมื่อดูในคำขอท้ายฟ้องแล้วผมอ้างมาตรา ๙๗ พรบ.ยาเสพติดให้โทษมาแล้ว ครั้นเวลาท่านตัดสินผู้พิพากษาท่านจะแกล้งผมหรือไงไม่ทราบหรือเพราะท่านไม่แม่นกฏหมายก็ไม่ทราบศาลท่านลงโทษจำคุกแล้วรอการลงโทษ แล้ววินิจฉัยว่าคดีนี้ศาลรอการลงโทษจึงไม่อาจขอเพิ่มโทษให้โจทก์ได้ ทั้งที่ไม่สามารถรอการลงโทษจำคุกในคดีนี้ได้ เพราะในคดีก่อนจำเลยเคยต้องคำพิพากษาให้ลงโทษจำคุกมาแล้วไม่ใช่การรอการลงโทษ กรณีไม่ต้องด้วย ป.อ. มาตรา ๕๘ ท่านยกคำขอก็ยกไปผมก็อุทธรณ์ว่าในพรบ.ยาเสพติดให้โทษบัญญัติไว้ชัดเจนว่าหากจำเลยเคยต้องคำพิพากษามาก่อนในคดียาเสพติดแล้วมากระทำความผิดในพรบ.ยาเสพติดให้โทษซ้ำอีก ภายในเวลา ๕ ปีนับแต่วันพ้นโทษให้ศาลเพิ่มโทษจำเลยอีกกึ่งหนึ่ง กฎหมายใช้คำว่า “ ให้” เพิ่มโทษจำคุก คือเป็นบทบังคับ กฎหมายไม่ได้ใช่คำว่า “ ก็ได้” ซึ่งเป็นดุลพินิจของศาล เมื่อจะอุทธรณ์ปรากฏว่าสำนวนศาลหายอีก เสมือนหนึ่งว่าผมน่าจะยื่นอุทธรณ์ไม่ได้ แต่ตอนศาลอ่านคำพิพากษาผมไปฟังในห้องและจดมา สำนวนศาลหายแต่สำนวนอัยการไม่หายผมก็ยื่นอุทธรณ์ แต่ส่งหมายให้จำเลยไม่ได้เพราะเมื่อได้รับการปล่อยตัวแล้วจำเลยก็ไม่รู้ไปไหนแล้ว ไม่รู้ว่าท่านจะแกล้งผมหรือท่านไม่รู้กฎหมายไม่ทราบท่านสั่งในอุทธรณ์ว่า “ ให้โจทก์นำเจ้าหน้าที่ส่งสำเนาอุทธรณ์ให้จำเลย ไม่งั้นถือโจทก์ทิ้งฟ้องอุทธรณ์ “ ผมก็ไม่นำส่งแต่ยื่นคำร้องไปว่า ป.ว.อ. มาตรา ๒๐๐ ให้ศาลส่งสำเนาอุทธรณ์ให้อีกฝ่ายแก้ภายใน ๑๕ วันนับแต่วันได้รับสำเนาอุทธรณ์ และหากส่งไม่ได้เพราะหาตัวจำเลยไม่พบ หลบหนี จงใจไม่รับสำเนาอุทธรณ์ หรือได้รับคำแก้อุทธรณ์ หรือพ้นกำหนดแก้อุทธรณ์แล้ว ให้ศาลรีบส่งสำนวนให้ศาลอุทธรณ์เพื่อทำการพิจารณาพิพากษาต่อไปตาม ป.ว.อ. มาตรา ๒๐๑ เมื่อศาลไม่สามารถนำส่งสำเนาอุทธรณ์ให้จำเลยได้ไม่ว่ากรณีใดๆเป็นหน้าที่ศาลต้องส่งอุทธรณ์พร้อมสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์พิจารณาพิพากษาต่อไป ครั้นคำพิพากษาศาลอุทธรณ์เสร็จ ปรากฏว่าศาลอุทธรณ์แก้คำพิพากษาศาลชั้นต้นให้เพิ่มโทษจำเลยตามคำขอของโจทก์และออกหมายจับจำเลยเพราะจำเลยไม่มาศาลเพื่อฟังคำพิพากษา หลังจากนั้นท่านั้นและผมก็ไม่ต้องคุยอะไรกันอีกแล้วนั่งรถทัวส์วันศุกร์เจอกันตอนกลับกรุงเทพ ค่ำวันอาทิตย์เจอกันที่หมดชิตก็ไม่มองหน้ากัน ขณะผมทานเข้าในร้านเขาเดินสั่งอาหารแล้วเห็นผมนั่งอยู่ เขายกเลิกอาหารแล้วไปทานร้านอื่น
๕.ไม่อ้างบทบัญญัติของกฎหมายที่แก้ไขเพิ่มเติม เป็นเพียงโจทก์อ้างบทกฎหมายไม่ครบเท่านั้นเมื่ออ้างบทบัญญัติในกฎหมายที่บัญญัติว่าการกระทำเช่นนั้นเป็นความผิด แม้ไม่อ้างบทกฏหมายที่แก้ไขเพิ่มเติมก็ถือมีการอ้างบทกฏหมายที่บัญญัติว่าการกระทำเป็นความผิดแล้วเพียงแต่อ้างไม่ครบถ้วนเท่านั้น ถือโจทก์ประสงค์ขอให้ลงโทษแล้ว
๖.อ้างมาตราบทฉกรรจ์แล้ว ไม่อ้างมาตราอันเป็นองค์ประกอบความผิดเช่นอ้างมาตรา ๒๘๙ฆ่าโดยมีเหตุฉกรรจ์ อันเป็นบทฉกรรจ์ของมาตรา ๒๘๘(ฆ่าธรรมดา) แต่ในคำขอท้ายฟ้องคงอ้างแต่มาตรา ๒๘๙ไม่ได้อ้างมาตรา ๒๘๘ มาด้วย แต่เมื่อได้บรรยายข้อเท็จจริงในฟ้องครบตามองค์ประกอบความผิดตาม ป.อ.มาตรา ๒๘๘ เมื่อจำเลยเข้าใจข้อหาได้ดี ไม่หลงต่อสู้ มีผลเท่ากับโจทก์อ้างมาตราในกฎหมายที่บัญญัติว่าการกระทำเช่นว่านั้นเป็นความผิดตาม ปวอ. มาตรา ๑๕๘(๖)แล้ว เพียงแต่ระบุบทมาตราที่ขอให้ลงโทษขาดตกบกพร่องคือไม่ได้ระบุในมาตรา ๒๘๙เท่านั้น ฟ้องโจทก์สมบรูณ์
๗.ฟ้องระบุมาตราบทห้าม แต่ไม่ได้อ้างบทลงโทษ เป็นฟ้องที่สมบรูณ์ เมื่ออ้างบทห้ามไม่ให้กระทำผิดแล้วถือได้อ้างบทกฏหมายที่บัญญัติว่าการกระทำเป็นความผิดแล้วแม้จะไม่อ้างบทห้ามมาก็ตาม ไม่มีบทบัญยัติในกกหมายว่าต้องอ้างทั้งบทห้ามและบทลงโทษมาในฟ้อง ซึ่งบทห้ามก็คือกฏหมายบัญญัติไว้ว่าห้ามทำอะไร ส่วนบทลงโทษคือเมื่อฝ่าฝืนบทห้ามแล้วต้องรับโทษอย่างไร
๘.ฟ้องอ้างมาตราบทลงโทษแต่ไม่ได้อ้างบทห้ามมา เป็นฟ้องที่สมบรูณ์ เพราะได้อ้างมาตราในกฎหมายที่บัญญัติไว้ว่าการกระทำนั้นเป็นความผิดแล้ว โดยในบทลงโทษก็จะไปโยงว่าฝ่าฝืนบทห้ามในมาตราไหนจึงต้องรับโทษตามบทลงโทษในมาตรานี้
๙.ฟ้องไม่ระบุบทห้าม บทลงโทษ แต่อ้างกฎหมายที่แก้ไขเพิ่มเติมบทลงโทษ ถือได้อ้างกฎหมายที่บัญญัติเป็นความผิดแล้ว
๑๐.ฟ้องไม่ระบุชื่อกฏหมาย หน้าฟ้องเขียนว่า ปลอมหนังสือ ใช้หนังสือปลอม ท้ายฟ้องระบุมาตรา ๒๖๔,๒๖๕,๒๖๖,๒๖๘ แม้ไม่ได้ใส่คำว่าประมวลกฎหมายอาญา หน้าเลขมาตรา ๒๖๔,๒๖๕,๒๖๖,๒๖๘แต่เมื่อประมวลดูในการบรรยายฟ้องแล้วทราบได้ว่าบรรยายฟ้องขอให้ลงโทษฐานปลอมและใช้เอกสารปลอม กฎหมายที่เกี่ยวข้องและขอลงโทษคือกฎหมายอาญา เช่นนี้ถือเป็นคำฟ้องที่ชอบด้วยกฎหมายแล้ว
๑๑.อ้างชื่อกฎหมายและเลขมาตราแล้ว แต่ไม่มีคำว่า “ มาตรา” หน้าเลขมาตรา เป็นกรณีผิดหลง เช่นอ้างประมวลกฎหมายอาญา ๒๖๔,๒๖๕ ก็พอเข้าใจว่าอ้างประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๖๔,๒๖๕ แม้ไม่มีคำว่ามาตรานำหน้าก็ตาม เป็นฟ้องที่สมบรูณ์
๑๒.อ้าง พ.ศ. ของพระราชบัญญัติผิด ถืออ้างกฎหมายผิด ศาลมีอำนาจลงโทษตามกฎหมายที่ถูกต้องได้ เช่นพิมพ์พ.ศ. ผิดจาก ๒๕๔๘เป็น ๒๔๕๘ เป็นเรื่องความผิดพลาดในการพิมพ์ เลข ๔ และเลข ๕ อยู่ใกล้กัน แต่อย่างไรก็ดีการอ้างเลข พ.ศ. ของกฎหมายผิด แต่ในฟ้องต้องบรรยายฟ้องครบองค์ประกอบความผิดของกฏหมายด้วย
๑๓.อ้างกฎหมายที่ยกเลิกแล้ว เท่ากับไม่ได้อ้างกฎหมายใดมาเลย เท่ากับไม่ได้อ้างมาตราในกฎหมายที่บัญญัติว่าการกระทำนั้นเป็นความผิดตาม ปวอ.มาตรา ๑๕๘(๖) ศาลลงโทษจำเลยไม่ได้
๑๔.อ้างกฎหมายที่ยกเลิกแล้วแต่พรบ.แก้ไขเพิ่มเติมนั้นบัญญัติให้ใช้ข้อความใหม่แทนมาตราเดิมที่ยกเลิก ไม่ใช่กรณีที่กฎหมายยกเลิกแล้ว จึงเป็นฟ้องที่สมบรูณ์
๑๕กระทำความผิดฐานมีอาวุธปืนไว้ในความครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตตามพรบ.อาวุธปืนฯ.อ้างบทมาตราผิด จากมาตรา ๘,๗๒ ซึ่งความจริงคือ ๗,๗๒ เมื่อจำเลยรับสารภาพว่าตนมีอาวุธปืนไว้ในความครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตจริง ศาลลงโทษได้ตามฐานความผิดที่ถูกต้อง ตาม ป.ว.อ. มาตรา ๑๙๒วรรค ๕ กรณีไม่ใช่บรรยายฟ้องไม่ครบองค์ประกอบความผิดตาม ป.ว.อ. มาตรา ๑๕๘(๕) กรณีน่าเป็นการพิมพ์ตัวเลขผิดมากกว่า เพราะเลข๗กับเลข๘อยู่ติดกันในแป้นพิมพ์ ทั้งในมาตรา ๗๒ก็บัญญัติว่าผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา ๗ ต้องระวางโทษ..............
๑๖.ไม่อ้างทั้งบทความผิดและบทลงโทษ เท่ากับไม่ได้อ้างกฎหมายที่บัญญัติเป็นความผิดแล้ว เป็นฟ้องไม่สมบรูณ์
๑๗.ไม่อ้างมาตราในกฎหมายที่บัญญัติการกระทำเป็นผิดและกำหนดโทษไว้ ศาลลงโทษไม่ได้ เช่น ฟ้องทำร้ายร่างกายไม่ถึงกับเป็นอันตรายแก่กายและจิตใจ ไม่อ้างมาตรา ๓๙๑ ฟ้องฆ่าไตร่ตรองไว้ก่อนอ้าง ป.อ. มาตรา ๒๘๘ ไม่อ้างมาตรา ๒๘๙ ศาลลงโทษตามมาตรา ๒๘๙ ไม่ได้ คงลงโทษได้เฉพาะในป.อ. มาตรา ๒๘๘ เท่านั้นแต่จะลงโทษฐานฆ่าโดยมีเหตุฉกรรจ์ตาม ปอ. มาตรา ๒๘๙ ไม่ได้ เป็นเรื่องโจทก์ไม่ประสงค์ขอให้ลงโทษตามปวอ. มาตรา ๑๙๒ วรรคสี่
๑๘.ไม่อ้างบทบัญญัติที่มีระวางโทษหนังขึ้น เช่น แต่งเครื่องแบทหารเข้าไปวิ่งราวทรัพย์ แต่ไม่อ้างปอ. มาตรา ๓๓๖ทวิซึ่งระวางโทษหนักกว่าความผิดฐานวิ่งราวทรัพย์อีกกึ่งหนึ่งศาลลงโทษได้เพียงวิ่งราวทรัพย์ธรรมดาเท่านั้น หรือปล้นทรัพย์โดยแต่งเครื่องแบบทหาร ระวางโทษหนักกว่าการปล้นทรัพย์กึ่งหนึ่ง เมื่อไม่อ้าง ป.อ.มาตรา ๓๔๐ตรีมา ศาลลงโทษไม่ได้คงลงโทษได้เพียงฐานปล้นทรัพย์ธรรมดาเท่านั้น ถือเป็นเรื่องโจทก์ไม่ประสงค์ขอให้ลงโทษ
๑๙.ฟ้องพยายามฆ่าตาม ป.อ. มาตรา ๘๐,๒๘๘ ไม่จำต้องอ้าง ป.อ.มาตรา ๒๙๗ แต่ต้องบรรยายฟ้องให้ชัดเจนว่าได้รับอันตรายสาหัสอย่างไร เช่นบรรยายฟ้องว่าจำเลยใช้อาวุธปืนยิงนาย ก. ผู้เสียหายโดยเจตนาฆ่าโดยจำเลยได้ลงมือกระทำความผิดไปตลอดแล้วแต่การกระทำไม่บรรลุผลโดยผู้เสียหายไม่ถึงแก่ความตายสมตามเจตนาของจำเลยแต่เป็นเหตุให้ผู้เสียหายได้รับบาดเจ็บมีรอยกระสุนทะลุปอดได้รับอันตรายสาหัสต้องทุพพลภาคหรือป่วยเจ็บด้วยอาการทุกขเวทนาหรือจนประกอบกรณียกิจตามปกติไม่ได้เกินกว่า ๒๐ วันโดยต้องใช้เวลารักษาตัว ๓ เดือน หากไม่ได้บรรยายแบบนี้แล้วศาลเห็นว่าจำเลยไม่มีเจตนาฆ่า แต่มีเจตนาแค่ทำร้ายเท่านั้น แล้วพิพากษายกฟ้องยกในข้อหาพยายามฆ่าแล้วก็จะมาลงโทษฐานทำร้ายร่างกายผู้อื่นจนได้รับอันตรายสาหัสตาม ป.อ. มาตรา ๒๙๗ และ ปวอ. มาตรา ๑๙๒วรรคท้าย ไม่ได้ คงลงโทษได้แต่ตาม ป.อ.มาตรา ๒๙๕เท่านั้นถือโจทก์ไม่ประสงค์ให้ลงโทษฐานทำร้ายร่างกายเป็นเหตุให้ได้รับอันตรายสาหัส
๒๐.เห็นข้อบกพร่องแบบนี้แล้วอย่าไปเสี่ยงโดยถือว่ามีคำพิพากษาฏีกาอยู่ คำพิพากษาฏีกาอาจกลับแนวก็ได้ที่ศาลพิพากษาแบบนี้คงยึดความยุติธรรมมากกว่าที่จะยึดหลักเกณท์ในกฎหมายวิธีพิจารณาความมาตัดในเรื่องความเป็นธรรมจึงต้องพยายามแปลความให้เป็นธรรมที่สุด ประเด็นสำคัญอยู่ที่จำเลยทำผิดหรือไม่ อย่าเอากฏหมายวิธีพิจารณามายกฟ้องโดยไม่คำนึงถึงความเป็นธรรมในสังคม ศาลฏีกามองประเด็นนี้ผลคำพิพากษาจึงเป็นแบบนี้
๒๑.เทียบเคียงการสอบ หากอ้างเลขมาตราผิด อ้างบทกฎหมายผิด หรือบทกฎหมายที่ยกเลิกไปแล้ว การให้คะแนนอาจไม่เหมือนตามคำพิพากษาเหล่านี้ก็ได้ เพราะการสอบคือการคัดคนเข้ามาทำงาน ใครดีกว่าเก่งกว่าพร้อมกว่าคนนั้นคือคนที่สอบผ่าน

ไม่มีความคิดเห็น: