ค้นหาบล็อกนี้

วันศุกร์ที่ 19 สิงหาคม พ.ศ. 2559

“เอกสารเท็จ”

๑.จำเลยทั้งสองสมคบกันทำสัญญากู้ โดยความจริงไม่มีการให้เงินกัน แล้วนำไปฟ้องร้องและยึดทรัพย์ เพื่อไม่ให้ทรัพย์ของจำเลยคนหนึ่งถูกโอนไปยังบุคคลภายนอก ไม่มีความผิดฐานปลอมเอกสาร คำพิพากษาฏีกา ๖๕๔/๒๔๘๐
๒.จำเลยที่ ๒ ในฐานะกรรมการผู้จัดการและผู้ถือหุ้นของบริษัทจำเลยที่ ๑ ซึ่งเป็นประธานที่ประชุมผู้ถือหุ้น เป็นผู้มีหน้าที่ต้องจัดให้มีการทำรายงานการประชุมของจำเลยที่ ๑ การที่จำเลยที่ ๒ ได้จัดให้มีการบันทึกรายงานการประชุมผู้ถือหุ้นขึ้นตามหน้าที่ตนและลงลายมือชื่อตนเองเป็นประธานที่ประชุม ไม่ได้ทำในนามบุคคลอื่น จึงเป็นเอกสารที่แท้จริงของจำเลยที่ ๒ แม้ข้อความในเอกสารไม่เป็นความจริง เพราะไม่มีการประชุมดังกล่าว ก็เป็นการทำเอกสารเท็จเท่านั้น ไม่เป็นการทำเอกสารปลอม เมื่อการกระทำดังกล่าวไม่เป็นการปลอมเอกสาร การกระทำของจำเลยทั้งห้า จึงไม่เป็นความผิดฐานร่วมกันปลอมและใช้เอกสารปลอม คำพิพากษาฏีกา ๖๕๐๙/๒๕๔๙
ข้อสังเกต ๑. เอกสารปลอมแตกต่างจากเอกสารเท็จ โดยเอกสารปลอม เป็นการปลอมเอกสารขึ้นทั้งฉบับหรือแต่ส่วนหนึ่งส่วนใด เติม ตัดทอน หรือแก้ไขด้วยประการใดๆในเอกสารที่แท้จริง หรือประทับตราปลอมลงลายมือชื่อปลอมในเอกสารโดยกระทำเพื่อให้ผู้หนึ่งผู้ใดหลงเชื่อว่าเป็นเอกสารที่แท้จริง โดยประการที่น่าจะก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด แต่หากเป็นเอกสารหรือสัญญาที่สามารถทำได้ด้วยตัวเอง อยู่ในอำนาจที่เราจะกระทำได้ด้วยตนเอง ก็ไม่ใช่การปลอมเอกสารของผู้ใด แม้ว่าข้อความในเอกสารไม่ถูกต้องตามความเป็นจริงก็ตาม แต่การกระทำดังกล่าวเป็นเรื่องทำเอกสารเท็จขึ้นมาเท่านั้น ซึ่งกฎหมายไม่ได้บัญญัติถึงเรื่องการปลอมเอกสารเท็จว่าเป็นความผิด แต่การทำเอกสารเท็จขึ้นมานั้นหากไปก่อความเสียหายอย่างหนึ่งอย่างใดหรือไปเข้าองค์ประกอบความผิดในบทกฏหมายใดเป็นความผิดในบทกฏหมายนั้นหรือไม่อย่างไรก็เป็นเรื่องที่ต้องไปว่ากล่าวกันเป็นอีกส่วนหนึ่งต่างหาก เช่น เป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่ทำเอกสาร รับเอกสาร กรอกข้อความลงในเอกสาร แล้วได้รับรองเป็นหลักฐานว่า ตนได้กระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดขึ้น หรือการอย่างหนึ่งอย่างใดได้กระทำต่อหน้าตนอันเป็นความเท็จ ป.อ. มาตรา ๑๖๒(๑) หรือรับรองเป็นหลักฐานว่ามีการแจ้งข้อความซึ่งไม่ได้มีการแจ้งข้อความ ป.อ. มาตรา ๑๖๒(๒) หรือจดเปลี่ยนแปลงข้อความ ป.อ. มาตรา ๑๖๒(๓) หรือรับรองข้อเท็จจริงอันเป็นเท็จในเอกสารที่มุ่งใช้พิสูจน์ความจริง ป.อ. มาตรา ๑๖๒(๔)
๒.การกู้ยืมเป็นสัญญายืมใช้สิ้นเปลือง ที่ผู้ให้ยืมโอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินชนิดใช้ไปสิ้นไป เป็นปริมาณมีกำหนดให้แก่ผู้ยืม โดยผู้ยืมตกลงคืนทรัพย์สินเป็นประเภท ชนิด ปริมาณเดียวกับที่ให้ยืม และสมบรูณ์เมื่อมีการส่งมอบทรัพย์สินที่ยืม ตาม ป.พ.พ. มาตรา ๖๕๐ การที่จำเลยทั้งสองสมคบกันทำสัญญากู้ยืมขึ้นมาโดยในจริงไม่มีการให้เงินกัน ย่อมไม่ใช่การกู้ยืมเพราะไม่ได้มีการส่งมอบเงินกัน ทั้งเป็นการแสดงเจตนาระหว่างคู่กรณีที่ไม่ได้มีเจตนาไม่ให้ตนต้องผูกพันในการแสดงเจตนา โดยคู่กรณีอีกฝ่ายรู้ถึงเจตนาอันซ่อนอยู่ภายในใจของผู้แสดง ทั้งเป็นการแสดงเจตนาลวงโดยสมคบกับคู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่ง ย่อมตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา ๑๕๔,๑๕๕ เสมือนว่าไม่ได้มีการทำสัญญากู้ยืมกัน การที่นำสัญญากู้ยืมเงินดังกล่าว ไปฟ้องร้องในทางแพ่งนั้น ไม่ได้มีบทกฎหมายบัญญัติว่า การฟ้องเท็จในทางแพ่งเป็นความผิดตามกฎหมาย คงมีแต่การฟ้องเท็จในทางอาญาเป็นความผิดตามกฎหมาย แต่เมื่อมาเบิกความและนำสืบสัญญากู้นั้น อาจเป็นความผิดฐานเบิกความเท็จหรือนำสืบหรือแสดงพยานเอกสารอันเป็นเท็จในการพิจารณา โดยพยานหลักฐานนั้นเป็นข้อสำคัญในคดี ตาม ป.อ. มาตรา ๑๗๗,๑๘๐ และเมื่อมีคำพิพากษาแล้วได้ไปนำยึดทรัพย์ เพื่อไม่ให้ทรัพย์ของจำเลยคนหนึ่งถูกโอนไปยังบุคคลภายนอก ย่อมเป็นการกระทำเพื่อไม่ให้เจ้าหนี้ของตนหรือผู้อื่นได้รับชำระหนี้ทั้งหมดหรือแต่บางส่วนซึ่งจะได้ใช้สิทธิ์เรียกร้องทางศาลให้ชำระหนี้ โดยแกล้งให้ตนเป็นหนี้จำนวนใดอันไม่เป็นความจริง ตาม ป.อ. มาตรา ๓๕๐ แต่การกระทำของจำเลยเป็นการทำเอกสารเท็จขึ้นมาเท่านั้น ไม่เป็นการปลอมเอกสารทั้งฉบับหรือแต่ส่วนหนึ่งส่วนใด เติม หรือตัดทอนข้อความในเอกสารที่แท้จริง หรือแก้ไขด้วยประการใดๆในเอกสารที่แท้จริง ประทับตราปลอมหรือลงลายมือชื่อปลอมในเอกสาร โดยประการที่น่าจะทำให้ผู้หนึ่งผู้ใดหรือประชาชนเสียหาย การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดฐานปลอมเอกสาร
๓.การที่จำเลยที่ ๒ ในฐานะกรรมการผู้จัดการและผู้ถือหุ้นของบริษัทจำเลยที่ ๑ ซึ่งเป็นประธานที่ประชุมผู้ถือหุ้น เป็นผู้มีหน้าที่ต้องจัดให้มีการทำรายงานการประชุมของจำเลยที่ ๑ การที่จำเลยที่ ๒ ได้จัดให้มีการบันทึกรายงานการประชุมผู้ถือหุ้นขึ้นตามหน้าที่ตนและลงลายมือชื่อตนเองเป็นประธานที่ประชุม ไม่ได้ทำในนามบุคคลอื่น ไม่ได้ปลอมเสียทั้งฉบับซึ่งรายงานการประชุมหรือแต่ส่วนหนึ่งส่วนใด เติมหรือตัดทอนข้อความหรือแก้ไขในประการใดๆซึ่งเอกสารที่แท้จริง ประทับตราปลอมหรือลงลายมือชื่อปลอมในเอกสาร แต่เป็นเอกสารที่แท้จริงของจำเลยที่ ๒ แม้ข้อความในเอกสารไม่เป็นความจริง เพราะไม่มีการประชุมดังกล่าว ก็เป็นการทำเอกสารเท็จเท่านั้น ไม่เป็นการทำเอกสารปลอม เพราะทำในอำนาจหน้าที่ที่ตนสามารถจะกระทำได้ เพียงแต่ทำขึ้นมาแล้วข้อความในเอกสารเป็นความเท็จเท่านั้น เมื่อการกระทำดังกล่าวไม่เป็นการปลอมเอกสาร การกระทำของจำเลยทั้งห้า จึงไม่เป็นความผิดฐานร่วมกันปลอมเอกสาร เมื่อไม่ใช่เอกสารปลอมปลอมการนำไปใช้ย่อมไม่มีความผิดฐานใช้เอกสารปลอม แต่การกระทำดังกล่าวเป็นการลงข้อความอันเป็นเท็จในเอกสารของห้างหุ่นส่วนบริษัทหรือที่เกี่ยวกับห้างหุ่นส่วนบริษัท ตาม มาตรา ๔๒ พรบ.กำหนดความผิดเกี่ยวกับห้างหุ้นส่วนบริษัท พ.ศ. ๒๔๙๙ มาตรา ๔๒

ไม่มีความคิดเห็น: