ค้นหาบล็อกนี้

วันเสาร์ที่ 6 สิงหาคม พ.ศ. 2559

“ไม่ควบคุมดูแลถือรู้เห็นเป็นใจ”

ผู้ร้องและจำเลยเบิกความว่า “เมื่อวันที่ ๑ เม.ย. ๒๕๔๖ จำเลยเช่ารถบรรทุกของกลางไปจากผู้ร้องเพื่อขนสินค้า ค่าเช่าเดือนละ ๔๐,๐๐๐บาท แต่ผู้ร้องเบิกความตอบคำถามค้านว่า จำไม่ได้ว่าระยะเวลาการเช่าจะกำหนดไว้ในหนังสือสัญญาสัญญาเช่าหรือไม่ นาย อ. บุตรเขยผู้ร้องเป็นผู้ทำสัญญาค้ำประกันการเช่ารถบรรทุกของกลาง และเบิกความตอบคำถามติงว่า นาง ส. บุตรบุญธรรมผู้ร้อง เป็นคนเขียนสัญญาเช่า ส่วนจำเลยเบิกความตอบคำถามค้านว่า ผู้ร้องเป็นคนเขียนสัญญาเช่าด้วยตนเอง การเช่ารถบรรทุกของกลางไม่มีผู้ใดเป็นผู้ค้ำประกัน ทั้งสัญญาเช่ามีข้อความว่า “ มีกำหนดเวลาเช่า ๑ (เดือน/ปี) “ ไม่ทราบแน่ชัดว่า ผู้ร้องและจำเลยตกลงเช่ามีกำหนดระยะเวลานานเท่าใดอันเป็นการผิดปกติวิสัย จำเลยยังเบิกความตอบคำถามค้านว่า ตั้งแต่จำเลยทำสัญญาเช่าจำเลยชำระค่าเช่าให้ผู้ร้องไปแล้ว ๖ ครั้ง ขัดแย้งกับหนังสือสัญญาเช่าที่ระบุว่า เช่ารถของกลางตั้งแต่วันที่ ๑ เม.ย.๒๕๔๖ ชำระค่าเช่าทุกวันที่ ๕ ของเดือน คดีนี้เหตุเกิด ๑๐ มิ.ย.๒๕๔๖ หลังจากกำหนดชำระค่าเช่า ๒ ครั้งเท่านั้น คำเบิกความผู้ร้องและจำเลยมีพิรุธขัดต่อเหตุผล ที่ผู้ร้องนำสืบว่า จำเลยเช่ารถบรรทุกของกลางจากผู้ร้องจึงไม่มีน้ำหนัก ขณะเกิดเหตุจำเลยนำรถบรรทุกไปบรรทุกทราย เมื่อรายการการจดทะเบียนรถ ผู้ร้องเป็นผู้ประกอบการขนส่งส่วนบุคคลด้วยรถบรรทุกของกลาง จำเลยตอบคำถามค้านว่า ทรายที่บรรทุกซื้อมาจากผู้ร้อง ในชั้นสอบสวนนาย อ. บุตรเขยผู้ร้องเป็นคนประกันตัวจำเลย พฤติการณ์แห่งคดีเชื่อได้ว่า จำเลยเป็นลูกจ้างขับรถบรรทุกของกลางให้ผู้ร้อง การที่ผู้ร้องให้จำเลยขับรถบรรทุกของกลางไปบรรทุกทรายโดยไม่ได้ควบคุมดูแลไม่ให้จำเลยบรรทุกน้ำหนักเกินกว่าอัตราที่กฏหมายกำหนด ถือผู้ร้องรู้เห็นเป็นใจในการกระทำผิดของจำเลย คำพิพากษาฏีกา ๔๔๘๔/๒๕๔๙
ข้อสังเกต ๑. เมื่อนำรถบรรทุกไปบรรทุกสิ่งของเกินกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนด เป็นความผิดตามกฎหมาย จึงเป็นการใช้รถบรรทุกใช้ในการกระทำความผิดฐานบรรทุกเกินอัตราที่กฎหมายกำหนด รถบรรทุกดังกล่าวจึงเป็นทรัพย์สินที่ใช้ในการกระทำความผิดจึงต้องถูกริบตกเป็นของแผ่นดิน เมื่อพนักงานอัยการสั่งฟ้องนอกจากขอให้ลงโทษจำเลยแล้วจะขอให้ริบรถบรรทุกซึ่งเป็นทรัพย์ที่ใช้ในการกระทำความผิดด้วย ซึ่งหากเจ้าของที่แท้จริงไม่รู้เห็นเป็นใจในการกระทำผิดสามารถร้องขอของกลางที่ศาลริบได้ภายใน ๑ ปีนับแต่วันที่มีคำพิพากษาถึงที่สุด
๒. สัญญาเช่ารถย่อมมีกำหนดระยะเวลาการเช่าเป็นสำคัญว่ากำหนดเวลาเช่าเท่าใด การที่อ้างว่าจำไม่ได้ว่ามีกำหนดระยะเวลาเช่าในสัญญาเช่าหรือไม่ย่อมมีพิรุธน่าสงสัย เพราะรถบรรทุกมีราคาแพง การเช่ารถบรรทุกซึ่งมีราคาแพงในอัตราค่าเช่าเดือนละ๔๐,๐๐๐บาท การที่จะไม่ตกลงว่าเช่ากันนานเท่าใดเป็นพิรุธน่าสงสัย
๓. ผู้ร้องเบิกความคัดแย้งกับจำเลย โดยผู้ร้องเบิกความว่า “นาง ส.” เป็นคนเขียนสัญญาเช่าด้วยตนเอง แต่จำเลยเบิกความตอบคำถามค้านว่า “ผู้ร้อง” เป็นคนเขียนสัญญาเช่าด้วยตัวเอง ผู้ร้องเบิกความว่า “นาย อ.” เป็นคนทำสัญญาค้ำประกัน แต่จำเลยเบิกความว่า การเช่ารถบรรทุก “ไม่มีผู้ใดเป็นผู้ค้ำประกัน” พยานเบิกความขัดแย้งแตกต่างกันในสาระสำคัญโดยผู้ร้องซึ่งอ้างว่าเป็น “ผู้ให้เช่า” เบิกความขัดแย้งแตกต่างจากจำเลยซึ่งเป็น “ผู้เช่า” ในสาระสำคัญ ทั้งการที่ผู้ร้องเบิกความว่า จำไม่ได้ว่าระยะเวลาการเช่าจะกำหนดไว้ในสัญญาเช่าหรือไม่ แต่จำเลยเบิกความว่า เช่ามีกำหนดระยะเวลา ๑(เดือน/ปี) จึงไม่เป็นที่แน่นอนว่าตกลงเช่ากันเป็นระยะเวลาเท่าใด มีพิรุธน่าสงสัย เป็นการเบิกความขัดแย้งกัน ไม่เป็นไปในทางเดียวกัน ทำให้น่าเชื่อว่าไม่ได้มีการทำสัญญาเช่ารถกันอย่างแท้จริง เมื่อรถบรรทุกมีราคาแพง การที่จะให้เช่าทรัพย์ที่มีราคาแพงโดยไม่มีคนมาค้ำประกันการเช่ารถดังกล่าวก็เป็นพิรุธ ผู้ร้องและจำเลยก็ไม่ได้มีความสัมพันธ์ลึกซึ่งที่จะเช่ารถโดยไม่ต้องมีผู้ค้ำประกันการเช่ารถได้
๔.การที่สัญญาเช่าที่ระบุว่า เช่ารถของกลางตั้งแต่วันที่ ๑ เม.ย.๒๕๔๖ ชำระค่าเช่าทุกวันที่ ๕ ของเดือน คดีนี้เหตุเกิด ๑๐ มิ.ย.๒๕๔๖ หลังจากกำหนดชำระค่าเช่า ๒ ครั้งเท่านั้น ขัดกับคำเบิกความของจำเลยว่าชำระค่าเช่ามาแล้ว ๖ ครั้ง จึงเป็นการเบิกความขัดแย้งไม่สอดคล้องกับพยานเอกสาร มีพิรุธน่าสงสัยว่ามีการเช่ารถของกลางจริงหรือไม่อย่างไร
๕. ผู้ร้องเป็นผู้ประกอบการขนส่งส่วนบุคคลด้วยรถบรรทุกของกลาง ทรายที่บรรทุกซื้อก็ซื้อมาจากผู้ร้อง นาย อ. บุตรเขยผู้ร้องเป็นคนประกันตัวจำเลย ทำให้น่าเชื่อว่าว่า จำเลยเป็นลูกจ้างขับรถบรรทุกของกลางให้ผู้ร้อง การที่ผู้ร้องให้จำเลยขับรถบรรทุกของกลางไปบรรทุกทรายโดยไม่ได้ควบคุมดูแลไม่ให้จำเลยบรรทุกน้ำหนักเกินกว่าอัตราที่กฏหมายกำหนด ถือผู้ร้องรู้เห็นเป็นใจในการกระทำผิดของจำเลย จึงไม่มีสิทธิ์ร้องขอคืนรถของกลางได้
๖.ตามพฤติการณ์ดังกล่าวข้างต้นน่าเชื่อว่าผู้ร้องเป็นเจ้าของทรายที่จำเลยเป็นลูกจ้างขับรถบรรทุกทรายมีน้ำหนักเกินกว่าที่กฎหมายกำหนดไปตามท้องถนนทำให้ถนนพัง เป็นประโยชน์แก่ผู้ร้องซึ่งเป็นเจ้าของรถเพียงฝ่ายเดียว ครั้นเมื่อถูกจับกุมและยึดรถก็มาทำเอกสารปลอมว่ามีการเช่ารถไป เพื่อเป็นกรณีที่เจ้าของรถให้คนอื่นเช่ารถไป แต่ผู้เช่านำรถไปใช้ในการกระทำผิดโดยผู้ร้องซึ่งเป็นเจ้าของรถไม่รู้เห็นเป็นใจในกากรกระทำผิดเพื่อที่จะขอคืนรถของกลางเป็นประโยชน์แก้ฝ่ายผู้ร้องเพียงฝ่ายเดียว โดยไม่รับผิดชอบต่อสังคมที่ถนนพังต้องเสียงบประมาณซึ่งมาจากภาษีของประชาชนนำมาใช้ซ่อมแซมถนน และมีเจ้าหน้าที่ของรัฐในกระบวนการยุติธรรมบางคนรู้เห็นเป็นใจยอมคืนรถของกลางก่อนส่งสำนวนมาให้พนักงานอัยการ ทั้งที่เจ้าหน้าที่ในกระบวนการยุติธรรมนั้นไม่มีอำนาจในการคืนของกลาง เพราะอำนาจในการริบของกลางหรือคืนของกลางเป็นอำนาจของพนักงานอัยการตาม ป.ว.อ. มาตรา ๘๕ ซึ่งหากพนักงานอัยการพิจารณาแล้วเชื่อว่าเจ้าของไม่ได้รู้เห็นเป็นใจในการกระทำความผิดก็จะมีคำสั่งว่า “ ให้จัดการของกลางตาม ป.ว.อ. มาตรา ๘๕” ซึ่งก็คือการคืนของกลางแก่เจ้าของหรือผู้มีสิทธิ์ได้รับคืน แต่จะไม่ใช้คำว่าคืนของกลางแก่เจ้าของ เพราะเจ้าของอาจไม่ใช่ผู้มีสิทธิ์ที่จะได้รับคืนของกลางก็ได้

ไม่มีความคิดเห็น: