ค้นหาบล็อกนี้

วันเสาร์ที่ 6 สิงหาคม พ.ศ. 2559

“โมฆียกรรม”

๑.โมฆียะกรรมให้คู่ความกลับสู่สถานะเดิม ส่วนโมฆะ ไม่มีกฎหมายบอกให้กลับคืนสู่สถานะเดิม เพราะเสียเปล่ามาแต่แรก ฐานะของคู่ความก็ไม่ได้เปลี่ยนแปลง คำพิพากษาฏีกา ๘๑๘/๒๔๙๑
๒.ที่พิพาทอยู่ในประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องห้ามก่อสร้างอาคาร จำเลยปกปิดข้อเท็จจริงดังกล่าว โจทก์แสดงเจตนาสำคัญผิดในคุณสมบัติของทรัพย์ที่จะซื้อขาย สัญญาจะซื้อจะขายตกเป็นโมฆะ แต่แรก คู่สัญญาต้องกลับคืนสู่สถานะเดิม จำเลยต้องคืนเงินค่ามัดจำพร้อมดอกเบี้ย คำพิพากษาฏีกา ๒๓๔๙/๒๕๓๑
๓.แจ้งปีเกิดผิดโดยปกปิดความจริง เป็นเหตุให้โจทก์สำคัญผิดในคุณสมบัติของกรรมการและพนักงานในรัฐวิสาหกิจ ทำให้ยอมรับโอนจำเลยเข้าเป็นพนักงาน ในขณะจำเลยอายุเกิน ๖๐ ปีแล้ว โจทก์ทราบความจริงจึงเลิกสัญญาจ้าง การที่จะให้จำเลยคืนเงินและค่าจ้างไม่เป็นการพ้นวิสัย แต่การงานที่จำเลยทำให้โจทก์ไปแล้ว เป็นประโยชน์แก่โจทก์และโจทก์รับเอางานนั้น การที่จำให้การงานที่ทำไปแล้วกลับคืนสู่ฐานะเดิมย่อมเป็นอันพ้นวิสัย โจทก์จึงต้องใช้ค่าเสียหายแก่การงานให้จำเลย โดยถือว่าค่าจ้างและเงินอื่นที่จำเลยรับไปเป็นค่าเสียหาย โจทก์จึงไม่มีสิทธิ์เรียกร้องเอาเงินดังกล่าวคืน คำพิพากษาฏีกา ๓๕๙๕/๒๕๓๑
ข้อสังเกต ๑. นิติกรรที่กระทำไปแล้วเป็นโมฆียะคือ
๑.๑ การแสดงเจตนาโดยสำคัญผิดในคุณสมบัติของบุคคลซึ่งเป็นสาระสำคัญ ตาม ป.พ.พ. มาตรา ๑๕๗
๑.๒การแสดงเจตนาโดยสำคัญผิดในคุณสมบัติของทรัพย์ซึ่งเป็นสาระสำคัญตาม ป.พ.พ. มาตรา ๑๕๗
๑.๓การแสดงเจตนาโดยถูกกลฉ้อฉล ตาม ป.พ.พ. มาตรา ๑๕๙
๑.๔การแสดงเจตนาเพราะถูกขมขู่ ตาม ป.พ.พ. มาตรา ๑๖๔
๑.๕ผู้เยาว์ทำการหมั้นโดยปราศจากความยินยอมของบิดามารดาผู้ปกครองตาม ป.พ.พ. มาตรา ๑๔๓๖
๑.๖ การสมรสที่ชายหญิงมีอายุไม่ครบ ๑๗ ปีบริบรูณ์ ตาม ป.พ.พ. มาตรา ๑๔๔๘,๑๕๐๓
๑.๗การสมรสที่กระทำโดยสำคัญผิดในคู่สมรส ตาม ป.พ.พ. มาตรา ๑๕๐๕
๑.๘การสมรสโดยถูกฉ้อฉลถึงขนาดหากไม่มีกลฉ้อฉลการสมรสไม่อาจมีขึ้นได้ ป.พ.พ. มาตรา ๑๕๐๖
๑.๙การสมรสที่มีขึ้นเพราะมีการข่มขู่ ตาม ป.พ.พ. มาตรา ๑๕๐๗
๑.๑๐ การสมรสที่ไม่ได้รับความยินยอมตาม ป.พ.พ. มาตรา ๑๔๕๔,๑๕๐๙
๑๐.๑๑ ผู้เยาว์ทำนิติกรรมโดยไม่ได้รับความยินยอมของผู้แทนโดยชอบธรรมตาม ป.พ.พ. มาตรา ๒๑
๑๐.๑๒การกระทำใดๆอันบุคคลซึ่งศาลสั่งเป็นคนไร้ความสามารถกระทำลงไป ป.พ.พ. มาตรา ๒๙
๑๐.๑๑ คนวิกลจริตซึ่งศาลยังไม่มีคำสั่งว่าเป็นคนไร้ความสามารถกระทำนิติกรรมในขณะวิกลจริตโดยคู่กรณีอีกฝ่ายรู้ว่าตนกำลังทำนิติกรรมกับบุคคลวิกลจริต ป.พ.พ. มาตรา ๓๐
๑๐.๑๒ คนเสมือนไร้ความสามารถทำนิติกรรมตามที่บัญญัติไว้ใน ป.พ.พ. มาตรา ๓๔ โดยไม่ได้รับความยินยอมจากผู้พิทักษ์
๒.ผลของโมฆียกรรมคือ
๒.๑สมบรูณ์จนกว่าจะถูกบอกล้าง ป.พ.พ. มาตรา ๑๗๖
๒.๒เสียเปล่าหรือตกเป็นโมฆะเมื่อถูกบอกล้าง ป.พ.พ. มาตรา ๑๗๖
๒.๓คนไร้ความสามารถ เสมือนไร้ความสามารถ วิกลจริต ทำนิติกรรมอันเป็นโมฆียะตามที่กฎหมายกำหนด สามารถให้สัตยาบันได้โดยผู้แทนโดยชอบธรรม ผู้อนุบาล ผู้พิทักษ์ ป.พ.พ. มาตรา ๑๗๙
๒.๔บุคคลตาม ป.พ.พ. มาตรา ๑๗๕ เป็นผู้บอกล้างนิติกรรมที่เป็นโมฆียกรรม
๒.๕ไม่บอกล้างเมื่อพ้นกำหนด ๑ ปี นับแต่วันที่อาจให้สัตยาบันได้ หรือเมื่อพ้น ๑๐ ปีนับแต่ได้ทำนิติกรรมอันเป็นโมฆียะ หมดสิทธิ์บอกล้าง ป.พ.พ. มาตรา ๑๘๑
๒.๖ทายาทของคนเสมือนไร้ความสามารถ คนไร้ความสามารถ คนวิกลจริตให้สัตยาบันแก่นิติกรรมที่เป็นโมฆียะได้ นับแต่เวลาที่ผู้ทำนิติกรรมถึงแก่ความตาย เว้นแต่สิทธิ์บอกล้างนั้นได้สิ้นสุดไปแล้ว ป.พ.พ. มาตรา ๑๗๙ วรรคสาม
๒.๗เมื่อบอกล้างแล้ว คู่กรณีกลับคืนสู่สถานะเดิม หากเป็นพ้นวิสัยที่จะกลับคืนสู่สถานะเดิมก็ให้ชดใช้ค่าเสียหาย ป.พ.พ. มาตรา ๑๗๖
๒.๗การบอกล้างคุ้มครองสิทธิ์บุคคลภายนอกผู้ทำการโดยสุจริตเสียค่าตอบแทน แม้ผู้โอนจะได้ทรัพย์มาโดยนิติกรรมอันเป็นโมฆียะและนิติกรรมได้ถูกบอกล้างก็ตาม ป.พ.พ. มาตรา ๑๓๒๙
๓.การปกปิดคุณสมบัติของที่ดินที่จะซื้อขายว่าอยู่ในเขตที่กระทรวงมหาดไทยห้ามก่อสร้างอาคาร หากรู้ข้อเท็จจริงนี้แต่แรกคงไม่เข้าผูกพันทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินดังกล่าว การปกปิดข้อเท็จจริงดังกล่าวทำให้ผู้จะซื้อสำคัญผิดในคุณสมบัติของที่ดินที่จะทำการจะซื้อขาย สัญญาตกเป็นโมมียะ เมื่อบอกล้างแล้วถือเป็นโมฆะมาแต่แรก ทำให้คู่กรณีกลับคืนสู่ฐานะเดิมเหมือนไม่มีการทำนิติกรรม หากเป็นการพ้นวิสัยที่จะกลับคืนสู่ฐานะเดิมก็ให้ใช้ค่าเสียหายแทนการกลับคืนสู่ฐานะเดิม หากคู่กรณีได้รู้หรือควรได้รู้ว่าการเป็นโมฆียกรรม เมื่อมีการบอกล้างแล้ว ถือว่าเป็นโมฆะนับแต่วันที่ได้รู้หรือควรรู้ว่าเป็นโมฆียกรรม แต่หากมีการให้สัตยาบันแก่โมฆียกรรม ให้ถือว่านิติกรรมนั้นสมบรูณ์นับแต่แรก แต่การให้สัตยาบันนี้ไม่กระทบสิทธิ์บุคคลภายนอก ป.พ.พ. มาตรา ๑๗๖,๑๗๗
๔.การปกปิดเรื่องอายุว่าจำเลยอายุเกิน ๖๐ ปี ซึ่งหากรู้แต่แรกก็จะไม่รับโอนเข้าเป็นพนักงาน การปกปิดความจริงดังกล่าวทำให้นายจ้างสำคัญผิดในคุณสมบัติของบุคคลที่ตนจะรับเข้าทำงานผลเป็นโมฆียะ เมื่อบอกล้างแล้วคู่กรณีย่อมกลับคืนสู่สถานะเดิม แต่การกลับคืนสู่สถานะเดิมตกเป็นพ้นวิสัย เพราะการจะกลับให้เหมือนเดิมโดยลูกจ้างได้ทำกิจการงานให้นายจ้างไปแล้วและนายจ้างก็รับเอากิจการงานดังกล่าว นายจ้างจึงจำเป็นต้องจ่ายค่าจ้างและเงินอื่นตามที่ลูกจ้างได้รับไปแล้ว จึงไม่เกิดสิทธิ์ที่จะเรียกร้องเอาจากลูกจ้างได้ เพราะการทำงานของลูกจ้างเป็นสัญญาต่างตอบแทนที่ลูกจ้างทำงานให้นายจ้างโดยนายจ้างก็ได้รับประโยชน์จากการที่ลูกจ้างทำงานให้ เมื่อมีการบอกเลิกสัญญาแล้วการที่จะกลับคืนสู่สถานะเดิมย่อมเป็นไปไม่ได้ เป็นการพ้นวิสัยที่จะกลับคืนสู่สถานะเดิมได้ จึงต้องชดใช้ค่าเสียหายแทนการคืนสู่สถานะเดิม ซึ่งผลประโยชน์ที่นายจ้างได้รับไปจากการทำงานของนายจ้างก็คือการชดใช้ค่าเสียหายแล้ว นายจ้างจึงไม่เกิดสิทธิ์ที่จะเรียกเอาค่าเสียหายจากลูกจ้างได้อีก มิเช่นนั้นก็ไม่เป็นธรรมแก่ลูกจ้างที่ทำงานให้นายจ้างไปแล้วตนไม่ได้รับผลประโยชน์ตอบแทนแต่นายจ้างได้รับผลตอบแทนจากการที่ลูกจ้างทำงานให้โดยตนไม่ต้องจ่ายค่าจ้าง หากเป็นเช่นนี้ก็จะเป็นการเอาเปรียบลูกจ้าง ดังนั้นค่าเสียหายที่เกิดจากาการบอกล้างโมฆียกรรมก็คือผลงานที่ลูกจ้างได้กระทำให้นายจ้างไป นายจ้างจะมาเรียกร้องค่าเสียหายอย่างอื่นอีกไม่ได้
๕.การบอกล้างนิติกรรมที่เป็นโมฆียะกฎหมายไม่ได้กำหนดหรือบังคับว่าจะต้องทำตามแบบพิธีอย่างไร ดังนั้น
๕.๑การขอให้ถอนชื่อออกจากโฉนด แล้วเอาที่ดินมาแบ่ง ก็คือการบอกล้างนิติกรรม คำพิพากษาฏีกา ๑๐๐๕/๒๕๑๑
๕.๒การต่อสู้คดีว่า ไม่มีอำนาจนำเอกสารมาฟ้องคดีเพราะการแบ่งที่พิพาทเกิดจากการฉ้อฉล ขอให้ยกฟ้อง คำพิพากษาฏีกา ๓๒๓๗/๒๕๒๗
๕.๓ได้ปฏิบัติการชำระหนี้ทั้งหมดหรือแต่บางส่วน
๕.๔ได้มีการเรียกให้ชำระหนี้แล้ว
๕.๕มีการแปลงหนี้ใหม่
๕.๖มีการให้ประกันเพื่อหนี้นั้น
๕.๗โอนสิทธิ์หรือความรับผิดทั้งหมดหรือแต่บางส่วน
๕.๘กระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดอันแสดงได้ว่าเป็นการให้สัตยาบัน
โดยการกระทำตามข้อ ๕.๓ถึงข้อ ๕.๘ โดยไม่ได้สงวนสิทธิ์ไว้โดยแจ้งชัดตาม ป.พ.พ. มาตรา ๑๘๐ แล้วถือเป็นการให้สัตยาบัน

ไม่มีความคิดเห็น: