ทางน้ำ/ลำธารธรรมชาติที่ประชาชนใช้ร่วมกันเป็นสาธารณะสมบัติของแผ่นดินประเภททรัพย์สินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกัน จึงเป็นอำนาจหน้าที่นายอำเภอร่วมกับองค์กรปกครองท้องถิ่นที่จะดูแลรักษาและคุ้มครองป้องกัน ดังนั้นตัวที่ดินที่เป็นทางน้ำ/ลำน้ำธรรมชาติ(จากตลิ่งซ้ายถึงตลิ่งขวา) เป็นที่ดินชายตลิ่งจึงเป็นสาธารณะสมบัติของแผ่นดินประเภททรัพย์สินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกัน และอยู่ในอำนาจดูแลรักษาและคุ้มครองป้องกันของนายอำเภอร่วมกับองค์กรปกครองท้องถิ่น หากมีผู้บุกรุกเป็นอำนาจหน้าที่ของนายอำเภอร่วมกับองค์กรปกครองท้องถิ่น ที่จะ “ร่วมกัน” แจ้งความร้องทุกข์ หรือ “ ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง” จะเป็นผู้ดำเนินการก็ได้ โดยกระทรวงมหาดไทยได้วางระเบียบให้องค์กรปกครองท้องถิ่นเป็นผู้ร้องทุกข์กล่าวโทษภายใน ๓๐ วัน นับแต่รู้เหตุแห่งการบุกรุก ทำลายทางน้ำ/ลำธารธรรมชาติ เว้นแต่คดีจะขาดอายุความให้ร้องทุกข์กล่าวโทษทันที หากไม่ได้มีการร้องทุกข์กล่าวโทษ ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแจ้งเหตุผลและความจำเป็นภายใน ๗ วันนับแต่วันที่ครบกำหนด และให้นายอำเภอเป็นคนร้องทุกข์กล่าวโทษ หรือนายอำเภอกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นร่วมกันร้องทุกข์กล่าวโทษก็ได้ อนึ่งเนื่องจากโครงการชลประทาน ส. เป็นหน่วยงานภายใต้การกำกับดูแลของผู้ว่าราชการจังหวัดและอยู่ในสังกัดกรมชลประทาน การหารือควรหารือไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดหรือหน่วยงานต้นสังกัดก่อน เรื่องนี้ผู้อำนวยการโครงการชลประทาน ส. หารือโดยตรงไปยังอัยการจังหวัด ส. จึงทำให้สนง.อัยการคดีแรงงานภาคแนะนำผู้หารือว่า ในโอกาสต่อไป ควรหารือไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดหรือหน่วยงานต้นสังกัดก่อน ข้อหารือที่ ๑๘๙/๒๕๕๕
ข้อสังเกต ๑. ทางน้ำ/ลำธารธรรมชาติที่ประชาชนใช้ร่วมกันเป็นสาธารณะสมบัติของแผ่นดินประเภททรัพย์สินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกัน ตาม ป.พ.พ. มาตรา ๑๓๐๔(๒) จึงเป็นอำนาจหน้าที่นายอำเภอร่วมกับองค์กรปกครองท้องถิ่นที่จะดูแลรักษาและคุ้มครองป้องกัน ตามพรบ.ปกครองท้องถิ่นฯ มาตรา ๑๒๒ วรรคแรก พรบ.ปกครองท้องที่ฉบับ ๑๑ พ.ศ. ๒๕๕๕๑ มาตรา ๑๓ ระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการดูแลรักษาและคุ้มครองป้องกันที่ดินอันเป็นสาธารณะสมบัติของแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกัน พ.ศ. ๒๕๕๓ ข้อ ๖ วรรคแรก
๒.ทางน้ำ/ลำน้ำธรรมชาติ(จากตลิ่งซ้ายถึงตลิ่งขวา) เป็นที่ดินชายตลิ่งจึงเป็นสาธารณะสมบัติของแผ่นดินประเภททรัพย์สินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกันตาม ป.พ.พ. มาตรา ๑๓๐๔(๒) และอยู่ในอำนาจดูแลรักษาและคุ้มครองป้องกันของนายอำเภอร่วมกับองค์กรปกครองท้องถิ่นดังกล่าวในข้อ ๑.
๓.ตามประมวลกฎหมายที่ดินฯ มาตรา ๑ “ที่ดิน” หมายความรวมถึงห้วย หนอง คลอง บึง บาง ลำน้ำ ทะเลสาบ เกาะและที่ชายทะเลด้วย ดังนั้นเมื่อมีคนบุกรุกทำลายทางน้ำ/ลำน้ำธรรมชาติ อันเป็นความผิดฐาน ทำให้เสียทรัพย์ ทำลาย ทำให้เสื่อมค่า ทำให้ไร้ประโยชน์ซึ่งทรัพย์ที่ใช้หรือมีไว้ใช้เพื่อสาธารณะประโยชน์ ตาม ป.อ. มาตรา ๓๖๐ และฐาน เข้าไปยึดถือครอบครอง กระทำด้วยประการใด อันเป็นการทำลาย ทำให้เสื่อมสภาพที่ดินอันเป็นสาธารณะสมบัติของแผ่นดินโดยไม่ได้รับอนุญาต ตาม ประมวลกฎหมายที่ดินฯ มาตรา ๙,๑๐๘ ทวิ วรรคสอง ซึ่งศาลมีอำนาจพิพากษาให้ผู้กระทำผิด คนงาน ผู้รับจ้าง ผู้แทน บริวารของผู้กระทำผิดออกไปจากที่ดินนั้นได้ บรรดาเครื่องมือ เครื่องใช้ยานพาหนะ สัตว์พาหนะ หรือเครื่องจักรกลใดๆซึ่งได้ใช้ในการกระทำผิด หรือได้ใช้เป็นอุปกรณ์ให้ได้รับผลในการกระทำความผิด ให้ศาลมีคำสั่งริบเสียทั้งสิ้น ไม่ว่าจะมีผู้ถูกลงโทษตามคำพิพากษาหรือไม่อย่างไร ป.อ. มาตรา ๓๓(๑) ประมวลกฎหมายที่ดินฯ มาตรา ๑๐๘ ทวิ วรรคสี่วรรค ห้า อันเป็นความผิดอาญาแผ่นดินซึ่งใครก็ได้สามารถแจ้งความ “ กล่าวโทษ” เพื่อเอาตัวผู้กระทำผิดมารับโทษทางอาญาก็ได้ แต่ตามพรบ.ปกครองท้องที่ฯ มาตรา ๑๒๒ วรรคสาม แก้ไขโดยพรบ.ปกครองท้องที่ฯ มาตรา ๑๓ กระทรวงมหาดไทยวางแนวปฏิบัติว่าด้วยการดูแลรักษาคุ้มครองที่ดินอันเป็นสาธารณะสมบัติแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกันฯ ข้อ ๖ ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นร้องทุกข์กล่าวโทษภายใน ๓๐ วัน นับแต่รู้เหตุแห่งการบุกรุก ทำลายทางน้ำ/ลำน้ำธรรมชาติ เว้นแต่คดีจะขาดอายุความให้ร้องทุกข์กล่าวโทษโดยทันที หากไม่มีการร้องทุกข์กล่าวโทษ ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแจ้งเหตุผลและความจำเป็นภายใน ๗ วันนับแต่วันที่ครบกำหนด และให้นายอำเภอเป็นคนร้องทุกข์กล่าวโทษ หรือนายอำเภอกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นร่วมกันร้องทุกข์กล่าวโทษก็ได้
๔.การที่จะหารือข้อกฎหมายมายังสนง.อัยการนั้น ต้องไปหารือผู้ว่าราชการจังหวัดหรือหน่วยงานต้นสังกัดก่อนเพื่อให้ผู้ว่าราชการจังหวัดหรือหน่วยงานต้นสังกัดทำหนังสือหารือมายังพนักงานอัยการอีกที การที่โครงการชลประทาน ส. เป็นหน่วยงานภายใต้การกำกับดูแลของผู้ว่าราชการจังหวัดและอยู่ในสังกัดกรมชลประทาน การหารือควรหารือไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดหรือหน่วยงานต้นสังกัดก่อน เรื่องนี้ผู้อำนวยการโครงการชลประทาน ส. หารือโดยตรงไปยังอัยการจังหวัด ส. ทันทีจึงไม่ถูกต้อง ซึ่ง ในโอกาสต่อไป ควรหารือไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดหรือหน่วยงานต้นสังกัดก่อน
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น