จำเลยขับรถกระบะในขณะเมาสุราส่ายไปส่ายมาเป็นเหตุให้รถจำเลยล้ำเข้าไปในช่องทางเดินรถสวนชนรถยนต์ที่ผู้เสียหายที่ ๑ ขับมีผู้เสียหายที่ ๒ นั่งมาด้วย ทำให้รถทั้งสองคันได้รับความเสียหาย ผู้เสียหายที่ ๒ ได้รับอันตรายสาหัส พนักงานอัยการจังหวัด ส. ได้ฟ้องจำเลยในข้อหาขับรถในขณะเมาสุรา ศาลมีคำพิพากษาไปแล้วต่อมาโจทก์ยื่นฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้ข้อหาขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้ได้รับอันตรายสาหัส เห็นได้ว่า การขับรถโดยประมาทเกิดจากการไม่ระมัดระวังในการขับรถ อาจไมได้เกิดจากการเมาสุรา การที่จำเลยเมาสุราขับรถส่ายไปมาบนท้องถนนแล้วขับล้ำเข้าไปในช่องทางเดินรถที่แล่นสวนมาเป็นเหตุให้รถเฉี่ยวชนแล้วผู้เสียหายที่ ๒ ได้รับบากเจ็บสาหัส เป็นการกระทำที่เกี่ยวเนื่องและเป็นผลโดยตรงที่ทำให้ผู้เสียหายที่ ๒ ได้รับอันตรายสาหัส เป็นกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท เมื่อศาลมีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดในความผิดฐานเมาสุราแล้วขับรถ สิทธิ์ในการนำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์ระงับไป คำพิพากษาฏีกา ๑๔๑๑/๒๕๕๓
ข้อสังเกต ๑. ก่อนวันที่ ๒๙ ธันวาคม ๒๕๕๐ พรบ.จราจรทางบกฯ มาตรา ๔๓(๒) ห้ามไม่ให้ผู้ขับขี่รถในขณะเมาสุราหรือของมึนเมาอย่างอื่น หากฝ่าฝืนระวางโทษตามมาตรา ๑๖๐ วรรคสามของกฎหมายดังกล่าว
๒.ก่อนวันที่ ๒๙ ธันวาคม ปี พ.ศ. ๒๕๕๐ ความผิดฐานเมาแล้วขับรถระวางโทษจำคุกไม่เกิน ๓ เดือน ปรับตั้งแต่ ๒,๐๐๐ บาทถึง ๑๐,๐๐๐ บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ คดีอยู่ในอำนาจการพิจารณาของศาลแขวง ส่วนความผิดฐานขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้คนได้รับอันตรายสาหัสระวางโทษจำคุกไม่เกิน ๓ ปี หรือปรับไม่เกิน ๖,๐๐๐ บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ซึ่งอยู่ในอำนาจพิจารณาคดีของศาลแขวงเช่นกัน การที่พนักงานสอบสวนทำสำนวนแยกจากกันเป็นสองสำนวนเพื่อหวังผลปริมาณคดีว่ามีคดีจำนวนมากน้อยเพียงใดเพื่อหวังผลในการของบประมาณ หรือหวังผลในการขอสองขั้นหรือหวังผลอะไรก็ตาม โดยแทนที่จะทำเป็นสำนวนเดียวแต่ทำเป็นสองสำนวน เลยมีปัญหาตามที่ศาลฏีกาวินิจฉัย การกระทำเช่นนี้ทำให้เสียเวลาทั้งพนักงานอัยการ ศาล ราชทัณท์ เปลืองกระดาษ แทนที่จะเสียกระดาษเพียงชุดเดียวแต่ต้องเสียเพิ่มอีกชุดหนึ่ง หรืออาจเป็นเพราะในความผิดฐานเมาแล้วขับเป็นความผิดตามพรบ.จราจรทางบกฯ ซึ่งในมาตรา ๑๔๖ เงินค่าปรับตามพรบ.จราจรทางบกให้ตกแก่กรุงเทพมหานคร หรือเทศบาลในจังหวัด เพื่อดำเนินการเกี่ยวการจราจรในอัตราร้อยละ ๕๐ ของเงินค่าปรับ หรือตกเป็นของท้องถิ่นตามที่กระทรวงมหาดไทยประกาศกำหนด ซึ่งในทางปฏิบัติจะมีการแบ่งสรรปันส่วนให้เจ้าหน้าที่ตำรวจเพื่อนำไปใช้ในการดำเนินการเกี่ยวกับการจราจรหรือไม่อย่างไรไม่ทราบ
๓.แต่ในปัจจุบันนี้(หลังวันที่ ๒๙ ธ.ค.๒๕๕๐) ความผิดฐานเมาแล้วขับระวางโทษจำคุกไม่เกิน ๑ ปี หรือปรับตั้งแต่ ๕,๐๐๐บาทถึง๒๐,๐๐๐บาทหรือทั้งจำทั้งปรับอยู่ในอำนาจการพิจารณาคดีของศาลแขวง ส่วนเมาแล้วขับเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายสาหัส ตาม มาตรา ๑๖๐ ตรีวรรคสาม ระวางโทษจำคุกตั้งแต่ ๒ ปีถึง ๖ ปี และปรับตั้งแต่ ๔๐,๐๐๐บาทถึง ๑๒๐,๐๐๐ บาท จึงทำให้ความผิดฐานเมาแล้วขับอยู่ในอำนาจการพิจารณาคดีของศาลแขวง ส่วนเมาแล้วขับมีคนได้รับอันตรายสาหัสอยู่ในอำนาจพิจารณาคดีศาลจังหวัด แต่อย่างไรก็ตามพนักงานสอบสวนต้องอ่านกฏหมายให้ครบทุกวรรค เมื่ออ่านแล้วจะพบว่าเหตุฉกรรจ์ของการเมาแล้วขับว่าเมื่อได้รับอันตรายสาหัสเมื่อขึ้นศาลจังหวัดต้องทำสำนวนเดียวไม่ใช่สองสำนวนแยกส่งพนักงานอัยการคนละที่(พนักงานอัยการจังหวัดคดีศาลแขวงและพนักงานอัยการจังหวัด)
๔.คดีนี้เหตุเกิดวันที่ ๑๒ มกราคม ๒๕๕๐ ยังใช้กฎหมายเก่าบังคับ และข้อหาเมาแล้วขับก็มีคำพิพากษาเมื่อ พ.ศ. ๒๕๕๐ ก่อนกฏหมายใหม่ใช้บังคับ
๕..ด้วยความเครารพในคำพิพากษาศาลฏีกาในความเห็นส่วนตัวเห็นว่าความผิดนี้เกิดเมื่อยังใช้กฏหมายเก่าบังคับเมื่อเมาสุราแล้วขับรถ ความผิดเกิดขึ้นทันทีที่เมาสุราแล้วขับ ไม่ว่าจะขับไปเฉี่ยวชนใครหรือไม่ และหากเมาแล้วขับไปเฉี่ยวชนใคร น่าจะเป็นความผิดอีกกรรมหาใช่กรรมเดียวผิดกฏหมายหลายบท การที่เมาสุราแล้วขับรถแสดงถึงความประมาทปราศจากความระมัดระวังซึ่งบุคคลในสภาวะผู้ขับขี่รถเช่นจำเลยจักต้องมีตามวิสัยและพฤติการณ์และจำเลยอาจใช้ความระมัดระวังเช่นว่านั้นได้โดยการไม่ขับรถด้วยการทิ้งรถไว้แล้วขึ้นรถแท็กซี่หรือให้บุคคลอื่นที่ไม่เมาสุราทำการขับแทน แต่จำเลยก็หาได้กระทำการดังกล่าว ได้ขับรถขณะเมาสุราส่ายไปมาล้ำเข้าไปในทางเดินรถที่สวนมาจนเป็นเหตุให้รถเฉี่ยวชนกัน จึงเป็นการกระทำอีกส่วนหนึ่งแตกต่างจากการเมาสุราแล้วขับรถจึงน่าที่จะเป็นความผิดสองกรรม หาใช่เป็นการกระทำความผิดกรรมเดียวผิดกฏหมายหลายบทไม่ เหมือนกรณีเสพกัญชา ก่อนที่จะเสพก็ต้องมีไว้ในครอบครองก่อน แล้วจึงนำมาเสพ จึงน่าเป็นความผิดสองกรรม ฐานมีไว้ในความครอบครองซึ่งยาเสพติดให้โทษประเภทห้า โดยไม่ได้รับอนุญาต และเสพยาเสพติดให้โทษ แต่ศาลฏีกาบางฏีกาก็วินิจฉัยว่าเป็นกรรมเดียวกับความผิดฐานเสพ ซึ่งในความเห็นส่วนตัว การมีไว้ในครอบครองก็เป็นความผิดแล้วไม่ว่าจะมีการเสพกัญชาหรือไม่ก็ตาม หากมีการเสพกัญชาก็น่าที่จะเป็นความผิดอีกกรรม เป็นความเห็นส่วนตัวครับ
๖. ก่อนวันที่ ๒๙ ธันวาคม ๒๕๕๐ ความผิดฐานเมาสุราแล้วขับนี้บัญญัติไว้แตกต่างกับกรณีชนแล้วหนีตามพรบ.จราจรทางบกฯ มาตรา ๗๘ ซึ่งเมื่อชนแล้วหนีกฎหมายบัญญัติไว้เป็นความผิดตามมาตรา ๑๖๐ วรรคแรก หากผลของการชนนั้นทำให้มีคนตายหรือได้รับอันตรายสาหัสต้องระวางโทษตาม มาตรา ๑๖๐ วรรคสอง แสดงให้เห็นว่าเจตนารมณ์กฏหมายต้องการให้เป็นการกระทำกรรมเดียวกันจึงได้เขียนเอาไว้ว่าชนแล้วหนีมีโทษอย่างไร หากชนแล้วหนีมีคนตายมีคนได้รับอันตรายสาหัสมีโทษเพิ่มขึ้นอย่างไร โดยบัญญัติไว้ในมาตรา ๑๖๐ เหมือนกันเพียงคนละวรรคเท่านั้นแสดงเจตนารมณ์ว่ากฎหมายต้องการให้เป็นกรรมเดียว แต่กรณีเมาแล้วขับกฎหมายระวางโทษไว้ตามมาตรา ๑๖๐ วรรคท้ายเท่านั้น แต่ไม่มีบทกฎหมายว่า เมาแล้วขับเป็นเหตุให้คนได้รับอันตรายสาหัสหรือถึงแก่ความตายมีโทษเพิ่มขึ้นตามมาตรา ๑๖๐ แต่อย่างใด ต้องกลับไปใช้ ป.อ. มาตรา ๒๙๑(กรณีตาย),๓๐๐(กรณีได้รับอันตรายสาหัส),๓๙๐(ได้รับอันตรายแก่กายหรือจิตใจ) ซึ่งเป็นบทกฎหมายคนละฉบับกัน แสดงให้เห็นเจตนารมย์ของกฎหมายว่าต้องการแยกความผิดดังกล่าวออกจากกันให้เป็นการกระทำสองกรรมหาใช่เป็นกรรมเดียวตามที่ศาลฏีกาวินิจฉัยไม่ เป็นความเห็นส่วนตัวครับ
๗.หลังวันที่ ๒๙ ธันวาคม ๒๕๕๐หากเมาแล้วขับรถระวางโทษตามวรรคแรกของพรบ.จราจรทางบกฯ มาตรา ๑๖๐ตรี หากเป็นเหตุให้ได้รับอันตรายแก่กาย ระวางโทษตามมาตรา ๑๖๐ตรีวรรคสอง หากได้รับอันตรายสาหัสระวางโทษตาม มาตรา ๑๖๐ ตรีวรรคสาม หากถึงแก่ความตายระวางโทษตาม ๑๖๐ ตรีวรรคท้าย กฏหมายใหม่มีเจตนารมย์ที่จะให้เมาแล้วขับเป็นเหตุให้คนได้รับบาดเจ็บหรือถึงแก่ความตายกฏหมายเป็นกรรมเดียวกันจึงได้บัญญัติมีโทษสูงขึ้นโดยบัญญัติไว้ในมาตราเดียวกัน ผิดกับในสมัยก่อน(ก่อน ๑๖ ธันวาคม ๒๕๕๐) ซึ่งบัญญัติแยกกันไว้คนละกฏหมาย
๘.หากฟังว่าการกระทำดังกล่าวเป็นกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบทตามที่ศาลฏีกาวินิจฉัยมานั้น ปัญหาการเรียกค่าเสียหายทางแพ่งย่อมมีปัญหาเกิดขึ้น เพราะคดีแพ่งต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีอาญาตาม ป.ว.อ. มาตรา ๔๖ และในกรณีที่ผู้เสียหายที่มีสิทธิ์เรียกค่าสินไหมทดแทนเพราะเหตุที่ได้รับอันตรายแก่ร่างกายจิตใจ เนื่องมาจากการกระทำผิดทางอาญาของจำเลยชอบที่จะยื่นคำร้องขอเข้าเป็นโจทก์ร่วมกับพนักงานอัยการหรือยื่นคำร้องต่อศาลที่พิจารณาคดีอาญาขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ตนก็ได้ ตาม ป.ว.อ. มาตรา ๔๔/๑ แต่ในคำพิพากษาคดีอาญาศาลยกฟ้องเพราะถือว่าเมาแล้วขับเป็นกรรมเดียวกับความผิดฐานขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้ได้รับอันตรายสาหัส ดังนั้นในคดีแพ่งจึงไม่มีข้อเท็จจริงในคดีอาญาให้คดีแพ่งถือตาม
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น