ค้นหาบล็อกนี้

วันจันทร์ที่ 15 สิงหาคม พ.ศ. 2559

“ข้อสัญญาให้ผู้ค้ำประกันต้องรับผิดโดยไม่ต้องทวงถามลูกหนี้ก่อน”

สัญญาค้ำประกันระบุให้ผู้ค้ำประกันต้องรับผิดชำระหนี้ โดยไม่ต้องทวงถามให้ลูกหนี้ชำระหนี้ก่อน เป็นการกำหนดให้ผู้ค้ำประกันรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม ซึ่งผู้ค้ำประกันที่ต้องรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมไม่มีสิทธิ์ตาม ป.พ.พ. มาตรา ๖๘๘,๖๘๙,๖๙๐ การที่ผู้ค้ำประกันไม่มีสิทธิ์ดังกล่าว ไม่ใช่การรับภาระที่กฎหมายกำหนด จึงไม่ได้เป็นผลให้ผู้ค้ำประกันปฏิบัติหรือรับภาระเกินกว่าที่วิญญูชนจะพึงคาดหมายได้ตามปกติประเพณีของสัญญาค้ำประกันแต่อย่างใด การที่ผู้ค้ำประกันรับผิดตามกฎหมายจึงไม่ใช่ข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม แม้อุทธรณ์ข้อนี้ไม่ได้ว่ากล่าวกันมาแล้วในศาลแรงงานกลาง แต่ปัญหาเรื่องข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม เป็นปัญหาเกี่ยวกับความเรียบร้อยของประชาชน ศาลฏีการับวินิจฉัยให้ได้ คำพิพากษาฏีกา ๖๐๘๗/๒๕๕๐
ข้อสังเกต ๑.ค้ำประกัน เป็นสัญญาที่บุคคลภายนอกผูกพันตนต่อเจ้าหนี้เพื่อชำระหนี้เมื่อลูกหนี้ไม่ชำระหนี้ ซึ่งเมื่อลูกหนี้ผิดนัดเมื่อใด เจ้าหนี้ชอบที่จะเรียกให้ผู้ค้ำประกันชำระหนี้ได้นับแต่นั้น เมื่อเจ้าหนี้ทวงให้ผู้ค้ำประกันชำระหนี้ ผู้ค้ำประกันจะขอให้ลูกหนี้ชำระหนี้ก่อนก็ได้ เว้นแต่ลูกหนี้ถูกศาลพิพากษาให้เป็นคนล้มละลาย หรือไม่ปรากฏลูกหนี้อยู่แห่งใดในราชอาณาจักร ป.พ.พ. มาตรา ๖๘๖,๖๘๘ และหากผู้ค้ำประกันพิสูจน์ได้ว่าลูกหนี้มีทางที่จะชำระหนี้ได้ และการที่จะบังคับชำระหนี้ไม่เป็นการยาก เจ้าหนี้ต้องบังคับเอาจากทรัพย์สินลูกหนี้ก่อน ป.พ.พ. มาตรา ๖๘๙ และหากเจ้าหนี้มีทรัพย์ของลูกหนี้ยึดถือไว้เป็นประกัน เมื่อผู้ค้ำประกันร้องขอ เจ้าหนี้ต้องบังคับชำระหนี้เอาจากทรัพย์ที่เป็นประกันก่อน ป.พ.พ. มาตรา ๖๙๐
๒.การทำสัญญาค้ำประกันระบุให้ผู้ค้ำประกันต้องรับผิดชำระหนี้ โดยไม่ต้องทวงถามให้ลูกหนี้ชำระหนี้ก่อน เป็นการกำหนดให้ผู้ค้ำประกันรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม ซึ่งผลการเป็นลูกหนี้ร่วมคือ เจ้าหนี้จะเรียกให้ชำระหนี้จากลูกหนี้คนหนึ่งคนใดโดยสิ้นเชิงหรือแต่โดยส่วนก็ได้ตามแต่จะเลือก แม้ว่าลูกหนี้ทั้งปวงยังคงต้องผูกพันจนกว่าจะได้รับชำระหนี้สิ้นเชิงตาม ป.พ.พ. มาตรา ๒๙๑ เมื่อผู้ค้ำประกันต้องร่วมรับผิดร่วมกับลูกหนี้ ผู้ค้ำประกันย่อมหมดสิทธิ์ตามข้อสังเกตข้อ ๑. (ป.พ.พ. มาตรา ๖๙๑)
๓.จึงเป็นกรณีที่คู่กรณีตกลงทำสัญญายกเว้นความรับผิดตามข้อสังเกตข้อ๑. โดยให้ผู้ค้ำประกันต้องรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม การที่จะพิจารณาว่าข้อตกลงในสัญญาหรือในสัญญาสำเร็จรูปเป็นสัญญาที่ไม่เป็นธรรมตาม พรบ.ข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรมฯ มาตรา ๔ ต้องพิจารณาว่า ข้อตกลงนั้นเป็นผลให้ผู้ประกอบธุรกิจการค้าหรือวิชาชีพหรือผู้กำหนดสัญญาสำเร็จรูป หรือผู้ซื้อฝากได้เปรียบผู้บริโภคหรือคู่สัญญาอีกฝ่ายเกินสมควรหรือไม่ และข้อตกลงนั้นมีลักษณะหรือมีผลให้คู่สัญญาอีกฝ่ายปฏิบัติหรือรับภาระเกินกว่าที่วิญญูชนจะพึงคาดหมายได้ตามปกติ เป็นข้อตกลงที่อาจถือได้ว่าได้เปรียบคู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่ง เมื่อสัญญาค้ำประกันระบุให้ผู้ค้ำประกันต้องรับผิดชำระหนี้ โดยไม่ต้องทวงถามให้ลูกหนี้ชำระหนี้ก่อน เป็นการกำหนดให้ผู้ค้ำประกันรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม ซึ่งผู้ค้ำประกันที่ต้องรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมไม่มีสิทธิ์ตามข้อสังเกตตามข้อ ๑. การที่ผู้ค้ำประกันไม่มีสิทธิ์ดังกล่าว ไม่ใช่การรับภาระที่กฎหมายกำหนด จึงไม่ได้เป็นผลให้ผู้ค้ำประกันปฏิบัติหรือรับภาระเกินกว่าที่วิญญูชนจะพึงคาดหมายได้ตามปกติประเพณีของสัญญาค้ำประกันแต่อย่างใด การที่ผู้ค้ำประกันรับผิดตามกฎหมายจึงไม่ใช่ข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรมแต่อย่างใด เพราะเป็นเรื่องผู้ค้ำประกันยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมจึงเท่ากับสละสิทธิ์ที่มีอยู่ตามข้อสังเกตข้อ ๑. ดังนั้น การที่เจ้าหนี้ตกลงทำสัญญาให้ผู้ค้ำประกันต้องรับผิดใช้หนี้แทนลูกหนี้โดยไม่ต้องทวงถามให้ลูกหนี้ชำระหนี้ก่อน จึงไม่เป็นข้อสัญญาไม่เป็นธรรมแต่อย่างใดไม่

ไม่มีความคิดเห็น: