- ประมวลกฎหมายอาญา ม. 82
- พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 ม. 10
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 มาตรา 3, 10จำเลยให้การปฏิเสธระหว่างพิจารณา บริษัท ส. ผู้เสียหายยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาตศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 มาตรา 10 จำคุก 1 ปี และปรับ 30,000 บาท ทางนำสืบของจำเลยเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา นับเป็นเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 8 เดือน และปรับ 20,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 หากไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน
จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 อนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติในเบื้องต้นว่า โจทก์ร่วมว่าจ้างจำเลยเขียนโปรแกรมบริหารจัดการภายในด้วยระบบคอมพิวเตอร์ระหว่างวันที่ 1 ธันวาคม 2556 ถึงวันที่ 1 ธันวาคม 2558 ในอัตราค่าจ้างเดือนละ 70,000 บาท รวมเวลา 2 ปี เป็นเงิน 1,680,000 บาท หลังจากครบกำหนดระยะเวลาตามสัญญาจำเลยส่งมอบระบบโปรแกรมบัญชีและการเงินให้โจทก์ร่วมไม่มีข้อความระบุว่า รุ่นทดลองใช้ ต่อมาวันที่ 1 มีนาคม 2559 ระบบโปรแกรมบัญชีและการเงินของโจทก์ร่วมมีข้อความขึ้นว่า รุ่นทดลองใช้ กำหนดวันสิ้นสุดการใช้งาน 30 วัน นับแต่วันที่ 1 มีนาคม 2559 ถึงวันที่ 30 มีนาคม 2559 เมื่อครบกำหนดระยะเวลาดังกล่าวระบบโปรแกรมบัญชีและการเงินของโจทก์ร่วมไม่สามารถใช้งานได้ คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า จำเลยกระทำความผิดตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 หรือไม่ เห็นว่า โจทก์ร่วมว่าจ้างจำเลยให้เขียนโปรแกรมบริหารจัดการเพื่อใช้งานภายในบริษัท รวมระยะเวลาจ้าง 2 ปี เป็นเงินค่าจ้าง 1,680,000 บาท การที่ว่าจ้างเป็นระยะเวลานานและค่าจ้างในอัตราสูง เป็นการว่าจ้างให้เขียนโปรแกรมที่สมบูรณ์ให้ใช้งานได้ตลอดไปไม่มีวันหมดอายุ มิใช่ให้เขียนโปรแกรมที่ใช้งานได้เพียง 30 วัน โดยในช่วงแรกโปรแกรมที่จำเลยเขียนขึ้นส่งให้โจทก์ร่วมสามารถใช้งานได้ตามปกติไม่มีข้อความขึ้นว่า รุ่นทดลองใช้ และได้ความจากคำเบิกความของนางพรศรีพยานโจทก์และโจทก์ร่วมว่า เมื่อครบกำหนดระยะเวลาตามสัญญาจ้างจำเลยจะขอทำงานให้โจทก์ร่วมต่อ โดยขอคิดค่าจ้างเดือนละ 50,000 บาท และค่าดูแลระบบที่จำเลยเขียนอีกเดือนละ 30,000 บาท ซึ่งโจทก์ร่วมไม่ตกลงด้วย ระบบโปรแกรมบัญชีและการเงินของโจทก์ร่วมจึงมีข้อความขึ้นว่า รุ่นทดลองใช้ กำหนดวันสิ้นสุดการใช้งาน 30 วัน โปรแกรมที่จำเลยเขียนขึ้นจึงมีการแก้ไขในภายหลังจากครบกำหนดระยะเวลาตามสัญญาจ้างแล้ว ซึ่งผู้ที่จะเข้าไปแก้ไขโปรแกรมต้องเป็นคนเขียนโปรแกรม คือ จำเลย สอดคล้องกับที่มีการตรวจสอบรหัสต้นฉบับพบข้อความว่า Acting capt. Zastra thitiwattana ซึ่งเป็นชื่อจำเลย เมื่อจำเลยมิได้นำสืบปฏิเสธว่ามิได้ใช้ชื่อดังกล่าว และจำเลยรับในฎีกาว่าจำเลยตั้งค่าโปรแกรมบัญชีและการเงินเป็นรุ่นทดลองใช้ ทั้งจำเลยเบิกความตอบโจทก์ถามค้านรับว่า ตั้งแต่จำเลยเก็บของออกจากบริษัทโจทก์ร่วมในวันที่ 27 มกราคม 2559 จนถึงปลายเดือนมีนาคม 2559 จำเลยไม่เคยแจ้งโจทก์ร่วมว่าระบบบัญชีและการเงินของคอมพิวเตอร์ของโจทก์ร่วมจะขึ้นข้อความว่า เป็นรุ่นทดลองใช้ และมีกำหนดเวลาใช้งาน ข้ออ้างที่ว่าเป็นการใส่มาตรการทดสอบโปรแกรมไว้และแจ้งให้โจทก์ร่วมทราบแล้ว นั้น เป็นการกล่าวอ้างลอย ๆ พยานจำเลยจึงไม่มีน้ำหนักหักล้างพยานหลักฐานของโจทก์และโจทก์ร่วมได้ ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยเป็นคนเข้าไปแก้ไขระบบโปรแกรมบัญชีและการเงินของโจทก์ร่วมเป็นรุ่นทดลองใช้ และมีกำหนดวันสิ้นสุดการใช้งาน 30 วัน ซึ่งโปรแกรมดังกล่าวที่จำเลยเขียนขึ้นและมอบให้โจทก์ร่วมใช้งานแล้วย่อมเป็นของโจทก์ร่วม จำเลยจะเข้าไปแก้ไขโปรแกรมโดยโจทก์ร่วมไม่ยินยอมไม่ได้ ดังนั้น การที่จำเลยเข้าไปแก้ไขระบบโปรแกรมบัญชีและการเงินของโจทก์ร่วมให้เป็นรุ่นทดลองใช้ มีกำหนดอายุการใช้งาน 30 วัน นับแต่วันที่ 1 มีนาคม 2559 ถึงวันที่ 30 มีนาคม 2559 เมื่อครบกำหนดระยะเวลาระบบโปรแกรมบัญชีและการเงินของโจทก์ร่วมไม่สามารถใช้งานได้อีกต่อไป โดยไม่มีบุคคลอื่นนอกจากจำเลยผู้พัฒนาเขียนโปรแกรมขึ้นที่จะสามารถแก้ไขโปรแกรมคอมพิวเตอร์ของโจทก์ร่วมให้กลับมาทำงานได้ตามปกติ จึงเชื่อว่าจำเลยแก้ไขระบบคอมพิวเตอร์เพื่อบีบบังคับให้โจทก์ร่วมว่าจ้างจำเลยให้ทำงานต่อไป ถือได้ว่าจำเลยกระทำการด้วยประการใดโดยมิชอบ เพื่อให้การทำงานของระบบคอมพิวเตอร์ของโจทก์ร่วมถูกระงับ ชะลอ ขัดขวาง หรือรบกวนจนไม่สามารถทำงานตามปกติได้ อันเป็นการกระทำความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 มาตรา 10 และเป็นความผิดสำเร็จแล้วตั้งแต่วันที่มีการแก้ไขระบบคอมพิวเตอร์ของโจทก์ร่วมเป็นรุ่นทดลองใช้ ทำให้ระบบคอมพิวเตอร์ของโจทก์ร่วมไม่สามารถทำงานตามปกติจากโปรแกรมที่ไม่มีวันหมดอายุเป็นโปรแกรมรุ่นทดลองใช้นับแต่วันดังกล่าว มิใช่เป็นความผิดสำเร็จในวันที่หมดอายุดังที่จำเลยฎีกา ดังนั้น การที่จำเลยมอบ External harddisk ให้แก่นายรัฐสิทธิ์ ที่ปรึกษาของโจทก์ร่วมเมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2559 เพื่อใช้ปลดล็อกโปรแกรมรุ่นทดลองใช้ให้กลับมาใช้งานได้ตามปกติ จึงมิใช่กรณีการพยายามกระทำความผิดแล้วยับยั้งเสียเองไม่กระทำการให้ตลอด หรือกลับใจแก้ไขไม่ให้การกระทำนั้นบรรลุผล เป็นเหตุให้จำเลยไม่ต้องรับโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 82 ดังที่จำเลยฎีกาแต่อย่างใด ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามฟ้องและรอการลงโทษจำคุกให้จำเลยนั้น เป็นคุณแก่จำเลยมากแล้ว ฎีกาข้อนี้ของจำเลยฟังไม่ขึ้น ส่วนฎีกาข้ออื่นของจำเลยเป็นเพียงรายละเอียดปลีกย่อย ไม่ทำให้ผลการวินิจฉัยเปลี่ยนแปลงไป จึงไม่จำต้องวินิจฉัย ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้นพิพากษายืน
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น