ค้นหาบล็อกนี้

วันพฤหัสบดีที่ 11 สิงหาคม พ.ศ. 2559

"ไม่มีลายนิ้วมือ"

ในวันที่ ๑๐ ตุลาคม ๒๕๕๐ ผู้เสียหายไปต่างจังหวัดส่วนสามีผู้เสียหายออกจากห้องไปทำงานกลับมาที่ห้องเวลา ๑๙.๐๐นาฬิกา ปรากฏว่าระหว่างวันที่ ๑๐ ต.ค.๒๕๕๐ถึงวันที่ ๑๒ ตุลาคม ๒๕๕๐ตอนกลางวันมีคนร้ายงัดประตูห้องผู้เสียหายตรงระเบียง เข้าไปลักคอมพิวเตอร์และทุบกระปุกเอาเงินเหรียญในกระปุก ๓,๐๐๐บาทไป เจ้าหน้าที่ตำรวจเก็บรอยลายนิ้วมือและฝ่ามือแฝงจากกรอบกระจกบานเลื่อนระเบียงด้านนอก, พื้นผิววัสดุในห้อง และมีดทำครัวที่คนร้ายทิ้งไว้เพื่อเปรียบเทียบยันกับตัวบุคคล กับภาพโทรทัศน์วงจรปิดที่ติดตั้งไว้ในลิฟท์และทางเดินหน้าห้อง มีภาพผู้ต้องหาออกจากห้องเลขที่ ๘๐๘ ที่ติดกับห้องผู้เสียหาย และในวันที่ ๑๒ ต.ค.๒๕๕๐ เวลาประมาณ ๑๒.๒๔ นาฬิกา เห็นผู้ต้องหาถือกระเป๋าสีดำออกจากห้อง ๘๐๘ หลังเกิดเหตุไม่สามารถติดต่อผู้ต้องหาได้ เมื่อเข้าตรวจสอบในห้อง ๘๐๘ พบเหรียญ ๒๕ สตางค์ และ ๕๐ สตางค์ รวมเป็นเงิน ๒๑ บาท ภายในห้องดังกล่าว จึงยึดไว้เป็นของกลาง ระหว่างเกิดเหตุผู้ต้องหาพักที่ห้องพักเลขที่ ๘๐๘ เท่านั้นซึ่งระเบียงห้องดังกล่าวสามารปีนไปห้องผู้เสียหายได้ และตรวจพบลายมือแฝงและฝ่ามือแฝงซึ่งพอพิสูจน์เปรียบเทียบตัวบุคคลได้ แต่ยังไม่ได้ตัวผู้ต้องหามาพิจารณา จึงไม่อาจนำลายมือแฝงดังกล่าวมาเปรียบเทียบลายมือผู้ต้องหาได้ คดีมีเพียงภาพที่เห็นผู้ต้องหาหิ้วกระเป๋าสีดำอยู่ในลิฟท์แต่ภายในกระเป๋าดังกล่าวจะมีทรัพย์ผู้เสียหายที่ถูกลักไปหรือไม่อาจยืนยันได้ เงินที่พบในห้องผู้ต้องหาก็ไม่มีลักษณะพิเศษที่จะยืนยันได้ว่าเป็นของผู้เสียหายพยานหลักฐานไม่พอพิสูจน์การกระทำผิดของผู้ต้องหา ชี้ขาดไม่ฟ้องผู้ต้องหาฐานลักทรัพยในเวลากลางคืนโดยทำอันตรายและผ่านสิ่งกัดกั้นสำหรับคุ้มครองบุคคลหรือทรัพย์ ของกลางแจ้งพนักงานสอบสวนจัดการตาม ป.ว.อ. มาตรา ๘๕ ชี้ขาดความเห็นแย้ง๒๗๘/๒๕๕๑
ข้อสังเกต ๑.ใช้คำว่าระหว่างวันที่ ๑๐ ต.ค.๒๕๕๐ ถึงวันที่ ๑๒ ต.ค.๒๕๕๐ เพราะวันที่ ๑๐ ต.ค.๒๕๕๐ เป็นวันที่ผู้เสียหายออกไปจากบ้านแล้วกลับบ้านในวันดังกล่าวพบว่าทรัพย์สินหาย โดยในระหว่างวันที่๑๐ ถึงวันที่ ๑๒ ต.ค.๒๕๕๐ เห็นผู้ต้องหาเดินเข้าออกห้องเลขที่ ๘๐๘ และเห็นผู้ต้องหาถือกระเป๋าสีดำภายในลิฟท์ในวันที่ ๑๒ ต.ค.๒๕๕๐ ซึ่งหากว่าสามารถจับตัวผู้ต้องหาได้แล้วตรวจลายมือผู้ต้องหาเปรียบเทียบลายมือแฝงที่เก็บได้ในห้องเกิดเหตุแล้วตรงกัน ก็จะสั่งฟ้องและร่างฟ้องว่า เมื่อระหว่างวันที่ ๑๐ ต.ค.๒๕๕๐ ถึงวันที่ ๑๒ ต.ค.๒๕๕๐ วันเวลาใดไม่ปรากฏแน่ชัดได้มี "คนร้าย " ใช้วัสดุแข็งไม่ทราบว่าเป็นอะไรงัดทำลายกระจกบานเลื่อนระเบียงห้องของนาย.........ผู้เสียหายจนเปิดออกแล้วผ่านประตูดังกล่าวอันเป็นสิ่งกีดกั้นสำหรับคุ้มครองบุคคลหรือทรัพย์แล้วเข้าไปลักเอาคอมพิวเตอร์โน๊ตบุคและเงินสดจำนวน ๓,๐๐๐บาทของผู้เสียหายที่เก็บไว้ในห้องดังกล่าวโดยเจตนาทุจริต ต่อมาเมื่อัวันที่ ๑๒ ต.ค.๒๕๕๐ เวลากลางวันมีผู้พบเห็นจำเลยครอบครอง...........ทรัพย์บางส่วนของผู้เสียหายทั้งนี้จำเลยได้บังอาจเป็นคนร้ายเข้าไปลักทรัพย์ผู้เสียหายตามวันเวลาและวิธีการและพฤติการณ์ดังกล่าวข้างต้นหรือมิเช่นนั้นจำเลยได้บังอาจรับของโจรคอมพิวเตอร์โน๊ตบุคและเงินสดของผู้เสียหายจำนวน ๓,๐๐๐บาทโดยช่วยซ่อนเร็น ช่วยจำหน่าย ช่วยพาเอาไปเสีย ซื้อหรือรับจำนำหรือรับไว้โดยประการอื่นใดซึ่งทรัพย์ของผู้เสียหายที่ถูกลักไปดังกล่าวข้างต้น .........นี้คือการร่างฟ้องคร่าวๆ ในตอนแรกไม่ยืนยันข้อเท็จจริงว่าจำเลยเป็นคนร้ายเข้าไปลักทรัพย์ ไม่งั้นจะมาขัดกับฟ้องในตอนหลังว่าจำเลยรับของโจร จึงต้องบรรยายฟ้องในตอนแรกว่า " มีคนร้ายไม่ทราบเป็นใคร " แล้วตอนท้ายบอกพบทรัพย์อยู่ในความครอบครองจำเลย หากจำเลยไม่ใช่คนร้ายที่ลักทรัพย์ก็ต้องเป็นคนร้ายที่รับของโจร เป็นการฟ้องให้ศาลเลือกลงโทษเพราะคดีไม่มีประจักษ์พยานยืนยันว่าคนร้ายหรือใคร
๒.ไม่มีประจักษ์พยานยืนยันว่าใครเป็นคนร้าย โทรทัศน์วงจรปิดที่เห็นผู้ต้องหาเข้าออกห้องของตนก็ไม่ใช่หลักฐานยืนยันว่าผู้ต้องหาเป็นคนร้าย และในลิฟท์กระเป๋าที่ผู้ต้องหาถือจะมีอะไรอยู่ก็ไม่สามารถืยืนยันได้ว่าเป็นทรัพย์ผู้เสียหาย
๓.เหรียญที่พบในห้องผู้ต้องหาก็ไม่มีลักษณะพิเศษอะไรที่จะยืนยันได้ว่าเป็นของผู้เสียหาย
๔.แม้ห้องผู้ต้องหามีระเบียงติดกับห้องผู้เสียหายที่อาจปืนเข้าไปห้องผู้เสียหายได้ แต่ระเบียงอีกด้านก็อาจปืนเข้าห้องผู้เสียหายได้ หรือแม้คนร้ายปืนจากระเบียงบ้านผู้ต้องหา ผู้ต้องหาก็อาจเป็นคนร้ายหรืออาจไม่ใช่คนร้ายก็ได้อาจเป็นคนอื่นที่อยู่ในห้องผู้ต้องหาปืนก็ได้
๕.หากมีการจับตัวผู้ต้องหาได้ภายหลังพนักงานอัยการมีคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้องไปแล้ว หากนำลายมือผู้ต้องหาตรวจกับลายมือแฝงแล้วปรากฏว่าเป็นลายมือคนเดียวกัน ถือเป็นกรณีมีหลักฐานใหม่อันสำคัญแก่คดี ที่น่าจะทำให้ศาลลงโทษผู้ต้องหาได้ตาม ป.ว.อ. มาตรา ๑๔๗ พนักงานสอบสวนสามารถทำการสอบสวนและส่งเอกสารเพื่อประกอบดุลพินิจในการทำความเห็นใหม่ได้ ซึ่งหากมีหลักฐานใหม่ยืนยันได้ว่าผู้ต้องหาเป็นคนทำผิดจริงก็อาจมีการกลับคำสั่งเดิมมาเป็นสั่งฟ้องผู้ต้องหาได้ แต่หากผลการตรวจลายมือผู้ต้องหาไม่ตรงลายมือแฝงก็แสดงผู้ต้องหาไม่ไช่คนร้าย
๖.เงินและมีดของกลางให้จัดการตาม ป.ว.อ. มาตรา ๘๕ ไม่ใช้คำว่า "คืนเจ้าของ" เพราะเงินก็คือเงินไม่อาาจยืนยันได้แน่้ว่าเป็นของผู้ต้องหาหรือเป็นของผู้เสียหาย จึงให้จัดการตาม ป.ว.อ. มาตรา ๘๕ คือคืนเจ้าของ แต่ใครจะเป็นเจ้าของระหว่างผู้ต้องหากับผู้เสียหายก็เป็นอีกเรื่อง มีดก็เช่นกันอาจเป็นของผู้เสียหายหรือเป็นของผู้ต้องหาหรือเป็นของบุคคลอื่นที่ผู้ต้องหาหยิบมาใช้ในการกระทำผิดโดยเจ้าของไม่รู้เห็นยินยอมในการนำมากระทำผิดก็ได้ จึงต้องคืนเจ้าของ แต่หากมีดเป็นของผู้ต้องหาที่ใช้ในการกระทำผิดก็ต้องขอศาลสั่งริบ

ไม่มีความคิดเห็น: