จำเลยเป็นพนักงานสอบสวนปล่อยตัวผู้ต้องหา ๓ คน แล้วนำผู้มีชื่อมาเป็นผู้ต้องหาแทนขณะเข้าควบคุมผู้ต้องหาทั้งสามดังกล่าวกับพวกจากศาลจังหวัดสมุทรปราการเพื่อไปคุมขังที่สถานีตำรวจภูธรอำเภอพระประแดง แต่จำเลยไม่ได้เรียกหรือรับเงินจากผู้ต้องหาเป็นการตอบแทน ที่จำเลยปล่อยตัวผู้ต้องหาดังกล่าวไป ทั้งผู้มีชื่อที่จำเลยนำเข้ามาแทนผู้ต้องหาทั้งสามที่จำเลยปล่อยตัวก็ไม่ปรากฏว่าเข้ามาแทนที่โดยไม่สมัครใจ ส่วนศาลจังหวัดสมุทรปราการแม้จะได้อนุญาตให้ผัดฟ้องฝากขังตามคำร้องของพนักงานสอบสวน ก็เป็นไปตามอำนาจหน้าที่ที่กฎหมายบัญญัติไว้เพื่อควบคุมการดำเนินคดีของพนักงานสอบสวนให้เป็นไปโดยถูกต้อง มิใช่ผู้ที่จะเข้าไปมีส่วนรับผิดชอบจากการดำเนินคดีหรือไม่ดำเนินคดีกับผู้ต้องหาแต่อย่างใด จึงไม่พอฟังว่าจำเลยปฏิบัติหน้าที่เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ศาลจังหวัดสมุทรปราการ ผู้มีชื่อ หรือโดยเจตนาทุจริตอันจะเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา ๑๕๗ การกระทำของจำเลยมีความผิดตาม ป.อ. มาตรา ๒๐๔วรรคสองเท่านั้น คำพิพากษาฏีกา ๔๖๗๗/๒๕๓๔
ข้อสังเกต๑. การเปลี่ยนตัวผู้ต้องหาบางทีกระทำในชั้นจับกุมแล้วเปลี่ยนตัวผู้ต้องหาก่อนนำส่งพนักงานสอบสวน หรือกระทำในชั้นพนักงานสอบสวนโดยเปลี่ยนตัวผู้ต้องหาก่อนนำส่งพนักงานอัยการ ซึ่งพนักงานอัยการไม่สามารถทราบได้ว่ามีการเปลี่ยนตัวผู้ต้องหาหรือไม่อย่างไรเพราะพนักงานอัยการไม่ได้ไปจับกุม ไม่ได้ไปสอบสวนจึงไม่อาจทราบได้ว่าผู้ต้องหาที่ตำรวจนำมาส่งนั้นเป็นผู้ต้องหาจริงหรือไม่อย่างไร หากผู้จับกุมร่วมกับพนักงานสอบสวนทำการทำบันทึกการจับกุมใหม่ก็ไม่อาจทราบได้ว่า มีการเปลี่ยนตัวผู้ต้องหาหรือไม่อย่างไร ส่วนใหญ่การเปลี่ยนตัวผู้ต้องหามักเป็นคดีการพนันที่บางที นักการเมือง หรือข้าราชการเข้าไปเล่นการพนันแล้วไม่อยากเสียชื่อเสียและถูกดำเนินคดีจึงมีการเปลี่ยนตัวผู้ต้องหาเพราะข้าราชการหากต้องคำพิพากษาของศาลหากไม่ใช่ความผิดลหุโทษหรือเป็นความผิดที่กระทำโดยประมาทแล้วต้องออกจากราชการเพราะขาดคุณสมบัติของการเป็นข้าราชการ นักการเมืองก็เช่นกัน จึงไม่อยากถูกดำเนินคดีจึงมีการเปลี่ยนตัวผู้ต้องหาเกิดขึ้น ในชั้นพนักงานอัยการคงทำได้เพียงให้ตำรวจที่นำตัวผู้ต้องหามาส่งพร้อมสำนวนลงชื่อยืนยันว่าเป็นผู้ต้องหาที่ถูกจับกุมมาจริง ตรวจดูบัตรประชาชนแล้วตรงกับบุคคลที่ถูกจับกุมในชั้นจับกุมหรือไม่เท่านั้น หากการรับรองไม่ถูกต้องตรงความเป็นจริงตำรวจที่นำตัวผู้ต้องหามาส่งก็ต้องรับผิดในทางอาญาไป แต่ก็มีบางกรณีที่ไม่สามารถทำการตรวจสอบบุคคลได้เพราะผู้กระทำผิดเป็นคนต่างด้าวลักลอบเข้าเมืองไม่มีหลักฐานแสดงตนว่าเป็นใคร จึงเป็นช่องโห่วในการเปลี่ยนตัวผู้ต้องหา แต่บางครั้งความก็ไปปรากฏในชั้นศาลเพราะความโง่หรืออะไรของผู้ต้องหาที่ศาลเรียกชื่อแล้วไม่ตอบไม่ขานรับเพราะไม่ใช่ชื่อของตัวเอง หรือหน้าตาผู้ต้องหาอ่อนหรือแก่กว่าอายุที่อัยการฟ้องเป็นพิรุธเมื่อศาลตรวจสอบก็พบว่าเป็นคนละคนกับที่อัยการฟ้องมา ซึ่งเป็นความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลซึ่งก็แล้วแต่ว่าศาลจะลงโทษหรือไม่อย่างไร ทางปฏิบัติในคดีการพนันเมื่อตำรวจนำสำนวนมาส่งบางทีก็นำตัวผู้ต้องหาไปขังอยู่ที่ใต้ถุนศาลทันทีเพราะในปัจจุบันนี้สำนักงานอัยการไม่มีห้องคุมขังผู้ต้องหาแบบในสมัยก่อน จึงมีการเอาตัวผุ้ต้องหาไปขังไว้ที่ใต้ถุนศาลรอศาลสอบคำให้การตอนอัยการยื่นฟ้อง ซึ่งความก็จะมาปรากฏตอนนี้ว่ามีการเปลี่ยนตัวผู้ต้องหาหรือไม่อย่างไร
๒.การเปลี่ยนตัวผู้ต้องหาโดยคนบางคนยอมเป็นผู้ต้องหาแทนเพราะคดีลักลอบเล่นการพนันโดยไม่ได้รับอนุญาตแม้มีโทษจำคุกแต่ทางปฏิบัติศาลปรับ ๗๐๐ บาท ไม่ต้องติดคุกมีคนมาเสียค่าปรับให้ และตนก็ได้รับค่าจ้างในการเปลี่ยนตัวผู้ต้องหาจึงกลายเป็นอาชีพของคนบางกลุ่มที่รับจ้างเป็นจำเลยหรือผู้ต้องหา หรือกรณีที่เป็นเจ้ามือหรือเป็นเจ้าสำนัก อาจติดคุกได้จึงมีการจ้างให้คนอื่นมาเป็นจำเลยแทน หรือพนักงานสอบสวนบางคน(ใช้คำว่าบางคนนะครับ) แยกสำนวนการสอบสวนเป็นหลายสำนวน เช่น บ่อนการพนันมีคนเล่น ๑๐๐ คน หากฟ้องทั้ง ๑๐๐ คนพร้อมกันเจ้ามือติดคุกโดยศาลไม่รอการลงโทษแน่เพราะเป็นบ่อนขนาดใหญ่ แต่หากตำรวจแยกเป็นสำนวน ๑๐ สำนวน สำนวนละ ๑๐ คน ดังนี้เจ้ามือศาลลงโทษจำคุกและปรับโทษจำคุกรอการลงโทษไว้ ตำรวจได้ผลงานว่าจับคดีการพนันได้ ๑๐ คดี เจ้ามือ ไม่ติดคุก และคดีการพนันตำรวจยังได้สินบนนำจับอีก ถามว่าอัยการทราบได้อย่างไงว่าตำรวจแยกสำนวนมา ก็ไม่ยากเพราะในสำนวนที่หนึ่งบันทึกการจับกุมเป็นต้นฉบับ ส่วนสำนวนที่สองถึงที่ ๑๐ ถ่ายสำเนาบันทึกการจับกุมมาจากสำนวนที่หนึ่ง เมื่อผู้จับกุมเป็นชุดเดียวกัน จับวันเวลาและสถานที่เดียวกัน บันทึกการจับกุมเป็นอันเดียวกันแล้วมีการถ่ายเอกสารมา ก็รู้ได้ว่าตำรวจแยกสำนวนมาเพื่อต้องการผลงาน และอาจไม่ต้องการให้เจ้ามือติดคุก วิธีดัดหลังตำรวจไม่ยากครับ ตำรวจแยกสำนวนมา อัยการก็รวมสำนวนทั้งสิบแล้วฟ้องเป็นคดีเดียวเพราะดูจากบันทึกการจับกุมแล้วจับในวันเวลาสถานที่และบุคคลเดียวกันน่าเชื่อว่าเป็นการจับกุมครั้งเดียวกัน ก็แล้วแต่ว่ายากดัดหลังตำรวจหรือไม่ อัยการก็เสี่ยงกับการที่อาจมีลูกปืนลอยมากระทบหัวได้
๓.ด้วยความเครารพในคำพิพากษาศาลฏีกาที่วินิจฉัยว่าจำเลย(พนักงานสอบสวน)ไม่ได้เรียกร้องหรือรับเงินจากผู้ต้องหาเป็นการตอบแทน และคนที่เข้ามาเป็นผู้ต้องหาแทนก็เข้ามาโดยสมัครใจ ไม่สมัครใจได้ไงครับก็ได้รับเงินนิครับไม่ได้มาทำให้เปล่า แม้พนักงานสอบสวนจะเรียกร้องเงินจากผู้ต้องหาเพื่อเปลี่ยนตัวผู้ต้องหาหรือไม่ก็ตาม ทางราชการก็เสียหายแล้วเพราะไม่สามารถเอาคนกระทำผิดมาลงโทษ และศาลไปลงโทษแก่คนที่ไม่ได้กระทำความผิด ในความเป็นจริงรู้ได้ไงว่าพนักงานสอบสวนไม่ได้รับเงินจากการเปลี่ยนตัวผู้ต้องหา พนักงานสอบสวนซึ่งเป็นตำรวจชั้นสัญญาบัตรจะเอาตำแหน่งหน้าที่การงานมาแลกกับการเปลี่ยนตัวผู้ต้องหาซึ่งเป็นการกระทำความผิดตามกฎหมายเสี่ยงต่อการติดคุกและออกจากราชการโดยไม่ได้รับผลตอบแทนอย่างนั้นหรือ ผู้ต้องหาที่ถูกเปลี่ยนตัวซึ่งได้รับประโยชน์ในการเปลี่ยนตัวเมื่อมาให้การต่อศาลก็ย่อมต้องบอกว่าการเปลี่ยนตัวเป็นไปโดยสมัครใจไม่ได้ถูกพนักงานสอบสวนบังคับหรือเรียกร้องทรัพย์สินเงินทองแต่อย่างใด ส่วนคนที่มาเป็นผู้ต้องหาแทนใครจะบอกว่ามาแทนเพราะได้รับเงินก็ต้องบอกว่ามาแทนโดยสมัครใจหรือมาทดแทนบุญคุณกันและการที่ศาลสั่งอนุญาตให้ผัดฟ้องฝากขังก็ไม่ได้กระทำกับผู้ที่กระทำผิดแท้จริง เป็นความเสียหายที่เกิดแก่รัฐแล้วและเป็นการละเมิดอำนาจศาลแล้ว โดยความเห็นส่วนตัวเห็นว่าการกระทำของพนักงานสอบสวนเป็นความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยไม่ชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายต่อพนักงานอัยการที่ฟ้องคนที่ไม่ได้กระทำผิด เสียหายต่อศาลที่พิจารณาพิพากษาคนที่ไม่ได้กระทำผิด และเสียหายต่อแผ่นดินแล้ว การกระทำของพนักงานสอบสวนจึงเป็นความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยไม่ชอบตาม ป.อ. มาตรา ๑๕๗ แล้ว
๔.การที่พนักงานสอบสวนยอมให้มีการเปลี่ยนตัวผู้ต้องหารวม ๓ คนเป็นกรณีที่พนักงานสอบสวนซึ่งมีหน้าที่ควบคุมผู้ต้องถูกคุมขังตามอำนาจของพนักงานสอบสวนกระทำด้วยประการใดๆให้ผู้ที่ถูกคุมขังหลุดพ้นไปจากการคุมขังมีจำนวนตั้งแต่สามคนขึ้นไปตาม ป.อ. มาตรา ๒๐๔ วรรคสองแล้ว
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น