ค้นหาบล็อกนี้

วันพุธที่ 3 สิงหาคม พ.ศ. 2559

“ไม่ปฏิบัติตามคำสั่งเจ้าพนักงาน”

๑.ไม่ไปตามคำสั่งเจ้าพนักงานจราจรในความผิดตามพรบ.จราจรทางบก ไม่เป็นความผิดฐานขัดคำสั่งเจ้าพนักงาน ตาม ปอ มาตรา ๓๖๘ เพราะพรบ จราจรกำหนดโทษไว้โดยเฉพาะแล้ว คือไม่ให้เปรียบเทียบปรับ คำพิพากษาฏีกา ๗๒๘/๒๕๐๒
๒.พนักงานสอบสวนไม่มีอำนาจบังคับให้ผู้ต้องหาลงชื่อในกระดาษเปล่าได้ คำสั่งของพนักงานสอบสวนที่ให้ผู้ต้องหาลงชื่อในกระดาษเปล่าเพื่อตรวจสอบลายมือชื่อจึงไม่ใช่คำสั่งโดยชอบด้วยกฎหมาย จำเลยไม่ปฏิบัติตามจึงไม่เป็นความผิด คำพิพากษาฏีกา ๑๓๖๘/๒๕๐๐
๓.ผู้ใหญ่บ้านมีหน้าที่ควบคุมคนร้ายส่งกำนันหรือนายอำเภอ หามีหน้าที่ต้องคุมส่งจังหวัดไม่ การที่นายอำเภอสั่งให้ผู้ใหญ่บ้านคุมตัวคนร้ายไปส่งจังหวัด การที่ผู้ใหญ่บ้านขัดขืนไม่เป็นความผิดฐานขัดคำสั่งเจ้าพนักงาน คำพิพากษาฏีกา ๔๕/๒๔๗๐
๔.เชื่อโดยสุจริตว่าที่ดินที่ตนครอบครองมานาน ๔๐ ปีเป็นของตน ได้แจ้งให้นานอำเภอทราบแล้ว เป็นข้อแก้ตัวตามสมควรที่จะไม่ปฏิบัติตามคำสั่งนายอำเภอ ไม่มีความผิดฐานขัดคำสั่งเจ้าพนักงาน คำพิพากษาฏีกา ๑๙๕๐/๒๕๐๐
๕.ยังไม่เป็นที่แน่ชัดว่าที่พิพาทเป็นที่สาธารณะประโยชน์ จำเลยยึดถือโดยถือว่าตนมีสิทธิ์ครอบครองเพราะครอบครองต่อจากบิดา การไม่ยอมออกจากที่พิพาทตามคำสั่งนายอำเภอไม่มีความผิดฐานบุกรุกและไม่ผิดฐานขัดคำสั่งเจ้าพนักงาน คำพิพากษาฏีกา ๒๔๓๑/๒๕๓๒
. ข้อสังเกต๑การที่จะเป็นความผิดฐานขัดคำสั่งเจ้าพนักงาน ตาม ปอ มาตรา ๓๖๘ได้นั้น เจ้าพนักงานต้องมีอำนาจตามกฎหมายที่ให้ไว้ แล้วเมื่อเจ้าพนักงานมีคำสั่งให้ผู้ใดกระทำแล้วผู้นั้นไม่กระทำจึงเป็นความผิดตามกฎหมาย ผู้รับคำสั่งต้องได้ทราบหรือรู้ถึงคำสั่งนั้น คำสั่งนั้นผู้ออกต้องออกโดยชอบด้วยกฎหมาย มีกฎหมายรับรองให้ออกคำสั่งในกรณีนั้นๆได้ หากเชื่อโดยสุจริตว่าตนไม่มีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามก็เป็นกรณีขาดเจตนาในการกระทำ เช่นเชื่อว่าที่พิพาทเป็นสิทธิ์ของตนที่ครอบครองต่อมาจากบิดาโดยบิดาครอบครองต่อมาจากปู่ซึ่งรวมระยะเวลาครอบครองนานเป็นร้อยปีแล้ว
๒ กรณีที่เชื่อโดยสุจริตว่าผู้ออกคำสั่งไม่มีอำนาจในการออกคำสั่งนั้นได้ ก็เป็นกรณีมีเหตุหรือข้อแก้ตัวอันควร อันทำให้ไม่เป็นความผิดฐานขัดคำสั่งเจ้าพนักงาน หรือกรณีเจ้าพนักงานไม่กระทำการตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ เช่น ขอตรวจค้นในเคหสถานในเวลากลางคืน ไม่แต่งเครื่องแบบเจ้าหน้าที่ตำรวจ ไม่มีหมายจับ ไม่มีหมายค้น ไม่เคยรู้จักกันมาก่อน ไม่แน่ใจว่าเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจจริงหรือไม่ การที่ไม่ยอมให้เข้าทำการตรวจค้นในเวลากลางคืนจะถือว่าเป็นการขัดคำสั่งเจ้าพนักงานไม่ได้ เพราะตาม ปวอ มาตรา ๙๖ ห้ามไม่ให้ตรวจค้นในเวลากลางคืนเว้นแต่จะเข้าข้อยกเว้นตามกฏหมาย หากไม่เป็นดังนี้แล้วไม่สามารถตรวจค้นในเคหสถานในเวลากลางคืนได้ อีกทั้งการตรวจค้นในที่รโหฐานโดยไม่มีหมายค้นไม่สามารถกระทำได้ ปวอ มาตรา ๙๒ การที่ไม่มีหมายจับหมายค้นและขอเข้าตรวจค้นในเวลากลางคืน เจ้าของสถานที่มีสิทธิ์ปฏิเสธไม่ยอมให้ทำการตรวจค้นได้ จะถือว่าเป็นการขัดคำสั่งเจ้าพนักงานไม่ได้
๓..กรณีที่ไม่ไปตามคำสั่งเจ้าพนักงานจราจรในการที่ตนกระทำความผิดตามพรบ.จราจรทางบก ไม่เป็นความผิดฐานขัดคำสั่งเจ้าพนักงาน ตาม ปอ มาตรา ๓๖๘ เพราะพรบ จราจรกำหนดโทษไว้โดยเฉพาะแล้ว คือไม่ให้เปรียบเทียบปรับ แต่ต้องทำสำนวนส่งพนักงานอัยการเพื่อพิจารณาฟ้องผู้ต้องหาต่อศาล อีกทั้งบางมาตราในพรบ.จราจรทางบกได้กำหนดวิธีการต่างๆไว้แล้วในกรณีที่ไม่ปฏิบัติตามคำสั่งเจ้าพนักงาน ก็เป็นไปตามบทที่กฎหมายเขียนไว้โดยเฉพาะ เป็นกรณีที่กฎหมายมีบทลงโทษไว้แล้วว่าหากไม่กระทำตามมีผลอย่างไร กรณีดังกล่าวนี้จึงไม่ถือมีความผิดฐานขัดคำสั่งเจ้าพนักงาน
๔.ใน ปวอ มาตรา ๑๓๒ หาได้มีบทบัญญัติใดให้อำนาจพนักงานสอบสวนที่จะบังคับให้ผู้ต้องหารับสารภาพหรือลงลายมือชื่อในคำให้การ หรือลงลายมือชื่อในกระดาษเปล่าได้ เพราะตาม ปวอ มาตรา ๑๓๔, ๑๗๒ วรรคสอง ผู้ต้องหาหรือจำเลยสามารถให้การอย่างไรก็ได้ หรือแม้ในชั้นจับกุมผู้ถูกจับมีสิทธิ์จะให้การหรือไม่ให้การอย่างไรก็ได้ ซึ่งเป็นไปตาม ปวอ มาตรา ๘๔(๒) หากไม่ยอมให้การตามกฎหมายถือว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยให้การปฏิเสธ อีกทั้งในปวอ มาตรา ๑๓๕ ห้ามพนักงานสอบสวน ขู่เข็ญ หลอกลวง ทรมาน ใช้กำลังบังคับ หรือกระทำการใดโดยไม่ชอบ เพื่อจูงใจผู้ต้องหาในการที่ผู้ต้องหาจะให้การ ดังนั้นพนักงานสอบสวนจึงไม่มีอำนาจบังคับให้ผู้ต้องหาลงชื่อในกระดาษเปล่าได้ อีกทั้งการบังคับให้ผู้ต้องหาลงลายมือชื่อในกระดาษเปล่าก็เป็นการกระทำการอันไม่ชอบด้วยกฏหมายที่ต้องกระทำการสอบสวนและพิมพ์ข้อความเรียบร้อยแล้วจึงให้พยานหรือผู้ต้องหาลงลายมือชื่อรับรองข้อความดังกล่าว ดังนั้น คำสั่งของพนักงานสอบสวนที่ให้ผู้ต้องหาลงชื่อในกระดาษเปล่าเพื่อตรวจสอบลายมือชื่อจึงไม่ใช่คำสั่งโดยชอบด้วยกฎหมาย จำเลยไม่ปฏิบัติตามจึงไม่เป็นความผิดฐานขัดคำสั่งเจ้าพนักงาน
๕.ในความเห็นส่วนตัวเห็นว่าการที่พนักงานสอบสวนให้ผู้ต้องหาลงลายมือชื่อในกระดาษเปล่าแล้วไปพิมพ์ข้อความภายหลัง พนักงานสอบสวนอาจมีความผิดฐานปลอมเอกสารราชการได้เพราะอาจเป็นการกรอกข้อความลงในเอกสารที่มีลายมือชื่อบุคคลหนึ่งบุคคลใดโดยฝ่าฝืนคำสั่งของผู้ต้องหาที่อาจไม่ได้ประสงค์ให้การแบบที่พนักงานสอบสวนพิมพ์มา อันเป็นความผิดตาม ปอ มาตรา ๒๖๔วรรคสอง,๒๖๕
๖.สำนวนการสอบสวนบางครั้งในบันทึกการจับกุม บันทึกคำให้การผู้ต้องหาก็มีพิรุธน่าเชื่อว่ามีการให้เซ็นในกระดาษเปล่าที่ยังไม่มีการพิมพ์ข้อความ เพราะมีการให้ลงชื่อไว้ด้านข้างกระดาษแทนที่จะให้ลงชื่อไว้ต่อท้ายข้อความ หรือบันทึกข้อความจบแล้ว แต่ลงชื่ออยู่ถัดออกไป๕ถึง๖ บรรทัดทำไมไม่ให้ลงชื่อต่อท้ายข้อความ บางครั้งสีหมึกที่เขียนในบันทึกจับกุมสีน้ำเงิน โดย ผู้จับกุมลงชื่อใช้สีน้ำเงิน แต่ช่องผู้ต้องหาลงชื่อใช้สีดำ หรือในข้อความที่ว่ารับสารภาพใช้หมึกดำในขณะที่ข้อความอื่นในบันทึกการจับกุมใช้ปากกาหมึกสี้น้ำเงิน บางครั้งก็พบความผิดปกติที่บันทึกการจับกุมพิมพ์ลายนิ้วมือ แต่ในบันทึกคำให้การผู้ต้องหาใช้ลายเซ็น เหล่านี้คือพิรุธที่ทนายความนำไปถามค้านประกอบการนำสืบว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจให้เช็นต์ชื่อในกระดาษเปล่า หรือในบางครั้งเรื่องเดียวกันจับกุมในวันเดียวแต่มีการทำบันทึกการจับกุม สองฉบับ มีทั้งรับสารภาพและปฏิเสธ หรือในบันทึกการจับกุมที่มีตำรวจมาลงชื่อเกือบสามสิบคน แค่ข้อหาเล็กๆจับยาเสพติด(กัญชา) ๑ ห่อเล็ก แต่ต้องใช้กำลังคนมากขนาดนี้ การที่ไม่ได้จับกุมจริงแล้วไปลงชื่อในบันทึกการจับกุม เมื่อทนายจำเลยขอศาลหมายเรียกพยานที่ลงชื่อในบันทึกการจับกุมมาศาลทั้งหมดเมื่อไม่ได้รู้เห็นตามความเป็นจริง ไม่ได้เข้าจับกุมจริงก็จะทำให้คำเบิกความแตกต่างจากคำเบิกความพยานปากอื่น เป็นพิรุธให้ศาลยกฟ้องได้ หากระดับผู้กำกับการสถานีตำรวจยศ พันตำรวจเอกต้องลงมาจับกัญชา ๑ ห่อแล้วละก็ ไม่รู้จะพูดอย่างไรเหมือนกัน การลงชื่อในบันทึกจับกุมทั้งที่ไม่ได้จับจริงเพื่อเอาเป็นผลงานผมว่าไม่ควรกระทำอย่างยิ่ง
๗. การที่พนักงานสอบสวนจะตรวจตัวผู้ต้องหาซึ่งเป็นหญิงโดยไม่ให้เจ้าพนักงานที่เป็นหญิงหรือหญิงอื่นทำการตรวจแทนไม่สามารถกระทำได้ หากพนักงานสอบสวนซึ่งเป็นชายจะทำการตรวจผู้ต้องหาที่เป็นหญิง แล้วผู้ต้องหาไม่ยินยอมให้ตรวจจะถือว่าขัดคำสั่งเจ้าพนักงานไม่ได้ เพราะเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฏหมายเพราะไม่ได้กระทำการให้ถูกต้องตามปวอ มาตรา ๑๓๒(๑) ผู้ต้องหาสามารถยกเหตุหรือข้ออ้างดังกล่าวมาเป็นข้อแก้ตัวเพื่อไม่ให้ต้องรับผิดฐานขัดคำสั่งเจ้าพนักงานได้
๘.การที่เจ้าหน้าที่ตำรวจสั่งให้ราษฏรช่วยจับคนร้ายดุที่มีอาวุธ หากราษฏร์ปฏิเสธไม่ยอมช่วยเหลือจะถือว่าขัดคำสั่งเจ้าพนักงานไม่ได้เพราะในการร้องขอให้ราษฏร์เข้าช่วยเหลือในการจับกุมจะร้องขอในกรณีที่อาจเกิดอันตรายแก่ราษฏร์ไม่ได้ ดังนั้นหากเขาไม่ยอมช่วยเหลือจะถือว่าเป็นการขัดคำสั่งเจ้าพนักงานไม่ได้
๙.กรณีที่เจ้าหน้าที่เข้าทำการตรวจค้นในเคหสถานโดยมีหมายค้น แต่เจ้าพนักงานผู้ตรวจค้นไม่แสดงความบริสุทธิ์ก่อนที่จะเข้าตรวจค้นว่าไม่ได้มีสิ่งของผิดกฏหมายซุกซ่อนอยู่ในเนื้อตัวร่างกายของเจ้าพนักงานผู้ตรวจค้น และการตรวจค้นไม่ได้กระทำต่อหน้าผู้ครอบครองสถานที่หรือบุคคลในครอบครัว โดยกักตัวเจ้าของสถานที่หรือบุคคลในครอบครัวไว้แล้วเจ้าหน้าที่จะทำการตรวจค้น หรือไม่ได้มีพยานซึ่งเป็นบุคคลอื่นอย่างน้อย สองคนที่เจ้าหน้าที่ร้องขอมาเป็นพยาน อันเป็นการฝ่าฝืนต่อ ปวอ มาตรา ๑๐๒ ดังนี้หากเจ้าของสถานที่ไม่ยอมให้ทำการตรวจค้นจะถือว่าเป็นการขัดคำสั่งของเจ้าพนักงานตาม ปอ มาตรา ๓๖๘ ไม่ได้ และหากเจ้าของสถานที่ใช้กำลังทำร้ายชกต่อยหรือผลักอกเจ้าหน้าที่ ในความเห็นส่วนตัวเห็นว่าไม่น่าจะเป็นความผิดฐานต่อสู้ขัดขวางหรือทำร้ายเจ้าพนักงานที่กระทำการไปตามหน้าที่ เพราะการกระทำของเจ้าหน้าที่ที่ไม่ยอม แสดงความบริสุทธิ์ก่อนที่จะเข้าตรวจค้นว่าไม่ได้มีสิ่งของผิดกฏหมายซุกซ่อนอยู่ในเนื้อตัวร่างกายของเจ้าพนักงานผู้ตรวจค้น และการตรวจค้นไม่ได้กระทำต่อหน้าผู้ครอบครองสถานที่หรือบุคคลในครอบครัว โดยกักตัวเจ้าของสถานที่หรือบุคคลในครอบครัวไว้แล้วเจ้าหน้าที่ทำการตรวจค้น หรือไม่ได้มีพยานซึ่งเป็นบุคคลอื่นอย่างน้อย สองคนที่เจ้าหน้าที่ร้องขอมาเป็นพยาน ย่อมเป็นการกระทำที่ฝ่าฝืนบทบัญญัติกฎหมาย เจ้าของสถานที่มีสิทธิ์ที่จะกระทำการเพื่อป้องกันสิทธิ์ของตนอันอาจถูกเจ้าหน้าที่กระทำการโดยไม่ชอบได้
๑๐..ผู้ใหญ่บ้านมีหน้าที่ควบคุมคนร้ายส่งกำนันหรือนายอำเภอ หามีหน้าที่ต้องคุมส่งจังหวัดไม่ การที่นายอำเภอสั่งให้ผู้ใหญ่บ้านคุมตัวคนร้ายไปส่งจังหวัด เป็นการสั่งการที่ไม่มีกฎหมายรองรับให้นายอำเภอมีอำนาจในการสั่งได้ การที่ผู้ใหญ่บ้านขัดขืนไม่กระทำตามย่อมไม่เป็นความผิดฐานขัดคำสั่งเจ้าพนักงาน
๑๑.เชื่อโดยสุจริตว่าที่ดินที่ตนครอบครองมานาน ๔๐ ปีเป็นของตน ได้แจ้งให้นานอำเภอทราบแล้ว เป็นข้อแก้ตัวตามสมควรที่จะไม่ปฏิบัติตามคำสั่งนายอำเภอ ไม่มีความผิดฐานขัดคำสั่งเจ้าพนักงาน แต่หากว่าทราบอยู่แล้วว่าที่ที่ตนครอบครองเป็นที่ป่าสงวนเมื่อนายอำเภอให้ออกแล้วไม่ออกย่อมเป็นความผิดฐานขัดคำสั่งเจ้าพนักงานได้หรือในกรณีที่.ยังไม่เป็นที่แน่ชัดว่าที่พิพาทเป็นที่สาธารณะประโยชน์หรือไม่ยังไง หรือยังเป็นกรณีที่มีการฟ้องร้องกันอยู่ ศาลยังไม่ได้วินิจฉัยว่าที่พิพาทเป็นที่ของจำเลยหรือเป็นที่สาธารณะประโยชน์ การที่ จำเลยยึดถือโดยถือว่าตนมีสิทธิ์ครอบครองเพราะครอบครองต่อจากบิดา การไม่ยอมออกจากที่พิพาทตามคำสั่งนายอำเภอไม่มีความผิดฐานบุกรุกและไม่ผิดฐานขัดคำสั่งเจ้าพนักงาน

ไม่มีความคิดเห็น: