๑.จับคนร้ายที่กำลังจะยิงคน คนนั้นไม่ยอมให้จับ เกิดปล้ำกัน เป็นความผิดซึ่งหน้า ไม่อยู่ในบังคับว่าต้องแจ้งว่า “ จะจับ” คำพิพากษาฏีกา ๓๑๙/๒๕๕๑
๒.ตำรวจบอกให้จำเลยไปสถานีตำรวจโดยลำพัง เพราะรู้จักจำเลย ยังไม่มีการจับกุมและควบคุมตัว จำเลยหลบหนีไปไม่ถือเป็นการหลบหนีไปในระหว่างถูกคุมขังของพนักงานสอบสวน คำพิพากษาฏีกา ๑๗๖๑/๒๕๒๒
๓.ตำรวจจับกุมผู้กระทำผิด ผู้ถูกจับยอมไปกับตำรวจ ไม่จำเป็นต้องจับตัวไปและไม่ต้องใช้เครื่องพันธนาการ เพียงแต่แจ้งข้อหาและบอกให้ไปสถานีตำรวจก็เป็นการจับแล้ว บันทึกการจับกุมจะทำตรงที่จับหรือที่ใดก็ได้ คำพิพากษาฏีกา ๒๓๕๗/๒๕๒๒
๔.ขณะที่รตต. ข ควบคุมตัวผู้ต้องหาในข้อหาไม่ยืนทำความเครารพเพลงสรรเสริญพระบารมี และจำนะไปขึ้นรถยนต์ไปถสถานีตำรวจเพื่อดำเนินคดี การที่จำเลยเข้าโอบกอดตัว รตต. ข และพวกจำเลยได้ยื้อแย่งเอาตัวผู้ต้องหาขึ้นรถหลบหนีไป ถือได้ว่าผู้ต้องหาถูกควบคุมตัวในอำนาจของเจ้าพนักงานผู้มีอำนาจสืบสวนคดีอาญาแล้ว การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงานในการปฏิบัติการตามหน้าที่โดยร่วมกันตั้งแต่สามคนขึ้นไปและเป็นการทำด้วยประการใดๆให้ผู้ถูกคุมขังตามอำนาจของเจ้าพนักงานผู้มีอำนาจสืบสวนคดีอาญาหลุดพ้นจากการคุมขังไปตาม ปอ มาตรา ๑๓๘,๑๔๐,๑๙๑ ตามคำพิพากษาฏีกา ๓๒๔๓/๒๕๒๘
๕.ใช้ไม้ตีหัว ๑ ที มีรอยแตกจึงจับกุมได้เป็นการใช้กำลังพอควรแก่พฤติการณ์ ไม่มีความผิด คำพิพากษาฏีกา ๒๓๘/๒๔๘๑
๖.ทำผิดเล็กน้อยตามพรบ.จราจรทางบกเข้าจับกุมโดยสั่งให้เจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าจับกุมและใช้กุญแจมือ กำชับไม่ให้ประกัน มีความผิดฐานทำให้เสื่อมเสียเสรีภาพ คำพิพากษาฏีกา ๑๕๓๐/๒๔๘๒
๗.ผู้ต้องหาไม่ต่อสู้ เจ้าพนักงานไม่มีอำนาจในการตีเพื่อจับกุมผู้ต้องหา คำพิพากษาฏีกา ๗๖๖/๒๔๘๖
๘.คนร้ายหลบหนีระหว่างการควบคุม ผู้ใหญ่บ้านเกรงมีความผิดจึงสั่งให้ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านยิงคนร้าย ๑ นัดถึงแก่ความตาย เป็นการปฏิบัติการตามหน้าที่ แต่กระทำไปเกินกว่าเหตุหรือเกินไปกว่ากรณีที่กฏหมายอนุญาตให้ทำได้ คำพิพากษาฏีกา ๗๓๘/๒๔๙๑
๙.ไม่ยอมให้จับแล้วใช้ปืนยิง ราษฏร์ในฐานะผู้ช่วยเหลือเจ้าพนักงานจึงได้ยิงเพื่อป้องกันตัวเองและป้องกันเพื่อไม่ให้หนีการจับกุม เป็นการป้องกันและเป็นการจับกุมที่เหมาะสมแก่พฤติการณ์แล้ว คำพิพากษาฏีกา ๒๔๑/๒๕๐๔
๑๐.เข้าจับกุมเสียหลักล้มลง เมื่อลุกขึ้นก็ใช้ปืนยิงไปทางที่ผู้จะถูกจับกุมหนี กระสุนไปถูกบุคคลอื่นตาย เป็นการใช้วิธีไม่เหมาะสมในการจับกุม คำพิพากษาฏีกา ๑๓๓๗/๒๕๑๗
๑๑.ผู้ตายยิงมาที่จำเลยก่อนแล้ววิ่งหนี จำเลยจึงวิ่งผู้ตายโดยไม่แน่ใจว่าผู้ตายจะหันหลังมายิงจำเลยอีกหรือไม่ ภยันตรายยังไม่หมดไป การที่จำเลยยิงผู้ตายถึงแก่ความตาย ถือมีเจตนาฆ่าเป็นการใช้วิธีการที่ไม่เหมาะสมในการจับกุมเป็นการป้องกันเกินสมควรแก่เหตุ คำพิพากษาฏีกา ๔๐๖/๒๕๒๓
ข้อสังเกต๑.ในการจับกุมนั้นเจ้าพนักงานหรือราษฏร์ที่จะทำการจับกุมต้องแจ้งแก่ผู้ถูกจับว่า “เขาต้องถูกจับ” และสั่งให้ผู้ถูกจับไปยังที่ทำการของพนักงานสอบสวนแห่งท้องที่ที่ถูกจับ เว้นแต่สามารถนำไปที่ทำการของพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบได้ในขณะนั้น ให้นำไปที่ทำการพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบ หากจำเป็นก็ให้จับกุมตัวไป ปวอ มาตรา ๘๓ การที่กฎหมายบัญญัติให้ผู้จับไม่ว่าจะเป็นเจ้าพนักงานของรัฐหรือเป็นราษฏร์เข้าทำการจับกุมไม่ว่าจะเป็นผู้ช่วยเหลือเจ้าพนักงานหรือเป็นกรณีราษฏร์จับเองเพราะเป็นความผิดซึ่งหน้าก็ตาม กฎหมายบัญญัติให้ผู้จับต้องแจ้งแก่ผู้ถูกจับว่า “เขาต้องถูกจับ” ซึ่งในทางปฏิบัติเป็นไปไม่ได้ การพูดประโยคนี้ออกไปนอกจากทำให้ผู้ถูกจับรู้ตัวและหลบหนีแล้วอาจจะยิงต่อสู้เจ้าผู้ที่จะเข้าทำการจับกุม เป็นกฎหมายที่เขียนมานานแล้วมองในแง่มุมของผู้จับแล้วเห็นว่าล้าสมัยและไม่มีใครเข้าทำกันด้วย แต่มองในแง่มุมผู้ถูกจับผู้ถูกจับบางคนอาจยอมให้เข้าจับกุมแต่โดยดีก็มีซึ่งอาจไม่ต้องมีการใช้กำลัง ดังนั้นการเข้าจับคนร้ายที่กำลังกระทำความผิดซึ่งหน้าด้วยการจะยิงบุคคลอื่น แต่ผู้นั้นไม่ยอมให้จับกุมแล้วเกิดการปลุกปล้ำกันขึ้น ในกรณีนี้อยู่ในสภาพที่ศาลฏีกาเห็นว่า ไม่อยู่ในบังคับที่ต้องแจ้งว่า “ จะจับ” ส่วนกรณีที่ผู้จะถูกจับต่อสู้ขัดขวางจะเป็นความผิดฐานต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงานในการปฏิบัติหน้าที่หรือไม่อย่างไรเป็นอีกส่วน
๒.ในปวอ ไม่ได้บัญญัติให้นิยามศัพท์ว่า แค่ไหนอย่างไรเป็นการจับกุม คงมีแต่วิเคราะห์ศัพท์คำว่า “ ควบคุม” หมายถึง การคุมหรือกักขังผู้ถูกจับโดยพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจในระหว่างสืบสวนหรือสอบสวน ตาม ปวอ มาตรา ๒(๒๑) ดังนั้น การจับกุมน่าต้องนำพจนานุกรมมาตีความว่าแค่ไหนอย่างไรเป็นการจับกุมซึ่งน่าจะหมายความถึงการควบคุมตัวทำให้ผู้ถูกจับกุมปราศจากเสรีภาพในร่างกาย นอกจากนี้ยังมีคำพิพากษาฏีกาที่ ๒๓๕๗/๒๕๒๒วินิจฉัยว่าเพียงแต่แจ้งข้อหาและบอกให้ไปที่สถานีตำรวจก็เป็นการ “ จับกุม” แล้ว การที่เจ้าหน้าที่ตำรวจบอกให้จำเลยไปสถานีตำรวจโดยลำพัง เพราะรู้จักจำเลย ถือได้ว่ายังไม่มีการจับกุม(สังเกตนะครับว่าเพียงแค่บอกให้ไปสถานีตำรวจโดยลำพังแต่ยังไม่มีการแจ้งข้อหาจึงต่างจากคำพิพากษาฏีกาที่ ๒๓๕๗/๒๕๒๒ แม้จะให้ไปสถานีตำรวจเองแต่ก็มีการแจ้งข้อหาแล้ว นั้นก็คือศาลฏีกาดูที่ว่า เมื่อมีการแจ้งข้อหาเมื่อใดถือเป็นการจับกุมแล้ว ดังนั้นเมื่อยังไม่มีการแจ้งข้อหาถือไม่ได้ว่ามีการจับกุมก็ยังถือไม่ได้ว่ามีการควบคุมตัวอยู่ในอำนาจคุมขังของพนักงานสอบสวนหรือเจ้าพนักงานผู้มีอำนาจสืบสวนคดีอาญา การที่จำเลยหลบหนีไปไม่ถือเป็นการหลบหนีไปในระหว่างถูกคุมขังของพนักงานสอบสวนหรือเจ้าพนักงานผู้มีอำนาจสืบสวนคดีอาญา ตาม ปอ มาตรา ๑๙๐
๓.ตำรวจจับกุมผู้กระทำผิด ผู้ถูกจับยอมไปกับตำรวจ ไม่จำเป็นต้องจับตัวไป การที่จะเข้าใช้กำลังในการจับกุมมักเป็นกรณีที่ผู้ถูกจับกุมไม่ยินยอมให้ทำการจับกุม เมื่อผู้ถูกจับกุมยินยอมให้จับแต่โดยดีก็ไม่มีความจำเป็นที่ต้องใช้กำลังในการจับกุมและไม่ต้องใช้เครื่องพันธนาการ เพียงแต่แจ้งข้อหาและบอกให้ไปสถานีตำรวจก็เป็นการจับแล้ว เพราะในปวอ มาตรา ๘๖ห้ามไม่ให้ควบคุมเกินกว่ากรณีที่จำเป็นเพื่อไม่ให้เขาหนีและตามปวอ มาตรา๘๗ ห้ามไม่ให้ควบคุมผู้ถูกจับไว้เกินกว่าจำเป็นตามพฤติการณ์แห่งคดี เมื่อตามพฤติการณ์ไม่ปรากฏว่าผู้ถูกจับจะหลบหนีก็ไม่มีความจำเป็นต้องใช้เครื่องพันธนาการแต่อย่างใด ส่วนบันทึกการจับกุมจะทำตรงที่จับหรือที่ใดก็ได้เพราะไม่มีกฏหมายบัญญัติว่าต้องทำในที่จับกุม ซึ่งการทำบันทึกในที่จับกุมนอกจากไม่สะดวกแล้วอาจเป็นอันตรายแก่ผู้จับกุมที่อาจถูกญาติของผู้ต้องหาเข้าทำร้ายผู้จับกุมหรืออาจเกิดการแย่งชิงผู้ถูกจับกุมได้ ทางปฏิบัติมักมาทำบันทึกการจับกุมที่สถานที่ตำรวจ ซึ่งมักเกิดช่องว่างให้ทนายจำเลยใช้เป็นช่องในการต่อสู้ว่าขณะมีการควบคุมตัวมาสถานีตำรวจมีการบังคับขมขู่หรือทำร้ายร่างกายผู้ถูกจับเพื่อให้รับสารภาพหรือไม่อย่างไร ยิ่งการใช้เวลาเดินทางจากที่จับกุมไปสถานีตำรวจหากใช้เวลาเนินนานอาจเกิดข้อต่อสู้ว่าเจ้าหน้าที่พาไปเรียกร้องเงินเพื่อตอบแทนในการปล่อยตัว หรือพาไปเพื่อบังคับขู่เข็ญให้ยอมรับสารภาพ ดังนั้นใน ปวอ มาตรา ๘๔ วรรคท้ายจึงบัญญัติห้ามไม่ให้รับฟังถ้อยคำที่ผู้ถูกจับกุมให้การรับสารภาพ มาเป็นพยานหลักฐานในการพิสูจน์ความผิดของผู้ถูกจับ
๔.การไม่ยืนตรงเครารพเพลงสรรเสริญพระบารมีเป็นความผิดตามพรบ. วัฒนธรรมแห่งชาติ การที่รตต. ข ควบคุมตัวผู้ต้องหาในข้อหาไม่ยืนทำความเครารพเพลงสรรเสริญพระบารมี และจะนำไปขึ้นรถยนต์ไปสถานีตำรวจเพื่อดำเนินคดี เป็นการจับกุมและควบคุมตัวผู้ต้องหาให้อยู่ในอำนาจของเจ้าพนักงานผู้มีอำนาจในการสืบสวนคดีอาญาแล้ว การที่จำเลยเข้าโอบกอดตัว รตต. ข และพวกจำเลยได้ยื้อแย่งเอาตัวผู้ต้องหาขึ้นรถหลบหนีไปเป็นการต่อสู้และขัดขวางการจับกุมแล้ว เมื่อผู้ต้องหาถูกควบคุมตัวในอำนาจของเจ้าพนักงานผู้มีอำนาจสืบสวนคดีอาญาแล้ว การกระทำของจำเลยกับพวกจึงเป็นความผิดฐานต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงานในการปฏิบัติการตามหน้าที่โดยร่วมกันตั้งแต่สามคนขึ้นไปและเป็นการทำด้วยประการใดๆให้ผู้ถูกคุมขังตามอำนาจของเจ้าพนักงานผู้มีอำนาจสืบสวนคดีอาญาหลุดพ้นจากการคุมขังไปตาม ปอ มาตรา ๑๓๘,๑๔๐,๑๙๑แล้ว
๕.การที่ผู้จับกุมใช้ไม้ตีหัวผู้ถูกจับกุมที่ไม่ยอมให้เข้าจับกุม ๑ ที มีรอยแตกจึงจับกุมได้ การตีตีเพียงครั้งเดียวบาดแผลไม่ใหญ่มาก และไม่ได้ตีซ้ำ ทั้งเมื่อจับกุมได้แล้วก็ไม่ได้ใช้กำลังทำร้ายผู้ถูกจับกุม แสดงให้เห็นว่าการใช้ไม้ตีเพียง ๑ ทีเพื่อให้สามารถเข้าจับกุมผู้ถูกจับกุมที่ต่อสู้ขัดขืนการจับกุมเพื่อให้สามารถจับกุมตัวได้เท่านั้น การกระทำดังกล่าวเป็นการใช้กำลังพอควรแก่พฤติการณ์ ไม่มีความผิดฐานทำร้ายร่างกาย และเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติการโดยไม่ชอบด้วยหน้าที่ หรือกระทำการให้ปราศจากเสรีภาพในร่างกายแต่อย่างใด
๖.ความผิดตามพรบ.จราจรทางบกเป็นความผิดเล็กๆน้อยๆส่วนใหญ่สามารถเปรียบเทียบปรับได้ การจับกุมเพียงออกใบสั่งให้ผู้กระทำผิดไปชำระค่าปรับก็ได้ ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องเข้าจับกุมโดยสั่งให้เจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าจับกุมและใช้กุญแจมือ และกำชับไม่ให้ประกัน การกระทำดังกล่าวส่อเจตนาต้องการให้ผู้ถูกจับกุมอับอายและปราศจากเสรีภาพ ทั้งการจับกุมดังกล่าวก็เลือกใช้วิธีการควบคุมตัวโดยให้ใส่กุญแจมือและเข้าทำการจับกุม เป็นการจับกุมที่เกินกว่ากรณีแห่งความจำเป็นเพื่อไม่ให้เขาหลบหนี ตามปวอ มาตรา ๘๖ ทั้งความผิดตามพรบ.จราจรทางบกก็เป็นความผิดเล็กๆน้อยๆสามารถเปรียบเทียบเทียบปรับได้ กากรกระทำดังกล่าวส่อให้เห็นว่าต้องการให้เขาอับอายขายหน้าที่ถูกจับกุมและใส่กุญแจมือ คนที่พบเห็นอาจเข้าใจว่ากระทำความผิดร้ายแรงจึงมีการควบคุมตัวโดยการใส่กุญแจมือ การกระทำดังกล่าวมีความผิดฐานหน่วงเหนียวกักขังทำให้ผู้อื่นปราศจากเสรีภาพในร่างกาย จะอ้างว่าตนปฏิบัติไปตามอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายไม่ได้
๗.การเข้าจับกุมไม่ว่าจะเป็นข้อหาใหญ่หรือข้อหาเล็กก็ตาม หากผู้ต้องหายอมให้ทำการจับกุมแต่โดยดีโดยผู้ต้องหาไม่ต่อสู้ เจ้าพนักงานไม่มีอำนาจในการตีเพื่อจับกุมผู้ต้องหา การที่เจ้าหน้าที่ไปตีผู้ต้องหาถือเป็นการทำร้ายร่างกายและเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยไม่ชอบด้วยกฏหมายแล้ว
๘.คนร้ายหลบหนีระหว่างการควบคุม ผู้ใหญ่บ้านเกรงมีความผิดจึงสั่งให้ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านยิงคนร้าย ๑ นัดถึงแก่ความตาย เป็นการปฏิบัติการตามหน้าที่ แม้การกระทำดังกล่าวไม่ได้มีเจตนาฆ่าคงมีเพียงเจตนาที่จะไม่ให้คนร้ายหลบหนีก็ตาม แต่การกระทำดังกล่าวยังไม่ใช่วิถีทางที่น้อยที่สุดในการกระทำเพื่อไม่ให้ผู้กระทำผิดหลบหนียังสามารถวิ่งไล่ตามจับกุมโดยอาจร้องขอกำลังเสริมหรือร้องขอให้ราษฏรช่วยทำการจับกุมได้ ทั้งไม่ได้สัดส่วนกันระหว่างการที่จะควบคุมตัวผู้กระทำความผิดเพื่อนำไปดำเนินคดีในศาลกับสัดส่วนการยิงที่ทำให้ผู้ต้องหาถึงแก่ความตาย เมื่อไม่ใช่วิธีทางที่น้อยที่สุดและไม่ได้สัดส่วนระหว่างการกระทำและผลของการกระทำแล้ว การกระทำดังกล่าวย่อมเป็นการกระทำไปเกินกว่าเหตุหรือเกินไปกว่ากรณีที่กฏหมายอนุญาตให้ การกระทำของผู้ใหญ่บ้านเป็นความผิดฐานใช้ให้ผู้อื่นฆ่าคนตายโดยเจตนาป้องกันเกินสมควรแก่เหตุหรือเกินกว่ากรณีแห่งการจำเป็นต้องป้องกัน ตามปอ มาตรา ๖๘,๖๙,๘๔,๒๘๘ ซึ่งต้องรับโทษเหมือนเป็นตัวการในการฆ่าตาม ปอ มาตรา ๘๔วรรคท้าย ส่วนผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านมีความผิดฐานฆ่าคนตายโดยเจตนาป้องกันเกินสมควรแก่เหตุหรือเกินกว่ากรณีแห่งการจำเป็นต้องป้องกัน ตามปอ มาตรา ๖๘,๖๙,,๒๘๘ จะอ้างว่าทำตามคำสั่งของเจ้าพนักงานเพื่อไม่ต้องรับโทษตาม ปอ มาตรา ๗๐ ไม่ได้และจะอ้างเพื่อไม่ต้องรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามปพพมาตรา ๔๔๙ ของ ปพพ หาได้ไม่
๙.ราษฏร์ผู้ช่วยเหลือเจ้าพนักงานในการจับกุมมีอำนาจในการจับกุม การที่ผู้กระทำผิดไม่ยอมให้จับแล้วใช้ปืนยิง ราษฏร์ในฐานะผู้ช่วยเหลือเจ้าพนักงานจึงได้ยิงเพื่อป้องกันตัวเองและป้องกันเพื่อไม่ให้หนีการจับกุม เป็นกรณีที่มีภยันตรายที่ละเมิดต่อกฎหมาย เป็นอันตรายที่ใกล้จะถึงตัวหรือถึงตัวแล้วเป็นภยันตรายที่เกิดจากการละเมิดกฎหมาย จำเป็นต้องป้องกันสิทธิ์ของตนในชีวิตร่างกาย เป็นวิถีทางน้อยที่สุดที่จะป้องกันตนเองให้พ้นจากภยันตรายอันละเมิดต่อกฎหมาย ได้สัดส่วนกันเพราะเป็นการใช้ปืนกับปืน เป็นการป้องกันชีวิตต่อชีวิต การกระทำดังกล่าวเป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมายและเป็นการจับกุมที่เหมาะสมแก่พฤติการณ์แล้ว ไม่มีความผิดฐานฆ่าคนตายโดยเจตนา
๑๐.การเข้าจับกุมผู้กระทำผิดแล้วเสียหลักล้มลง เมื่อลุกขึ้นก็ใช้ปืนยิงไปทางที่ผู้จะถูกจับกุมหนี โดยไม่ปรากฏว่าผู้หลบหนีได้เข้าทำร้ายหรือใช้อาวุธปืนยิงต่อสู้ ไม่ใช่กรณีแห่งการจำเป็นในการจับกุมตามปวอ มาตรา ๘๖ ไม่มีภยันตรายที่ละเมิดต่อกฎหมายเกิดขึ้น การที่ใช้ปืนยิงไปที่ผู้หลบหนีไม่อาจอ้างว่าเป็นการป้องกันตัวหรือเพื่อจะป้องกันไม่ให้ผู้หลบหนีหลบหนีได้ เมื่อกระสุนไปถูกบุคคลอื่นตายจึงเป็นการฆ่าคนตายโดยเจตนา พลาดตาม ปอ มาตรา ๖๐,๒๘๘ โดยถือว่ามีเจตนาที่จะฆ่าบุคคลหนึ่ง แต่ผลของการกระทำไปเกิดแก่อีกบุคคลหนึ่งโดเยพลาด ต้องถือว่ากระทำโดยเจตนาแก่บุคคลที่ได้รับผลร้ายจากการกระทำดังกล่าว
๑๐.แม้ผู้ตายยิงมาที่จำเลยก่อนแล้ววิ่งหนี จำเลยจึงยิงผู้ตายโดยไม่แน่ใจว่าผู้ตายจะหันหลังมายิงจำเลยอีกหรือไม่ ภยันตรายยังไม่หมดไป ก็เป็นเพียงการคาดหมายหรือคาดเดาของจำเลยเองว่าผู้ตายอาจหันหลังมายิง เมื่อไม่ปรากฏว่าผู้ตายได้หันหลังมายิงการที่จำเลยยิงผู้ตายที่ด้านหลังถูกที่อวัยวะสำคัญจนผู้ตายถึงแก่ความตาย ถือมีเจตนาฆ่าเป็นการใช้วิธีการที่ไม่เหมาะสมในการจับกุมเป็นการป้องกันเกินสมควรแก่เหตุ ถือมีเจตนาฆ่าโดยป้องกันเกินสมควรแก่เหตุหรือกรณีแห่งการจำเป็นต้องป้องกัน
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น