ค้นหาบล็อกนี้

วันพุธที่ 3 สิงหาคม พ.ศ. 2559

“บุกรุกทางอากาศ”

๑.แดนกรรมสิทธิ์ต้องมีสิทธิ์เหนือพื้นดินก่อน แดนกรรมสิทธิ์ที่ดินจึงจะกินถึงเหนือพื้นดินและใต้ดิน เพียงแต่ปลูกชายคารุกล้ำเข้าในที่ดินคนอื่น แม้นานกว่า ๒๐ ปี เมื่อยังไม่ได้กรรมสิทธิ์บนพื้นดินใต้ชายคาแล้ว จะนำเรื่องแดนกรรมสิทธิ์มาใช้อ้างเดาที่ดินใต้ชายคามาเป็นกรรมสิทธิ์หาได้ไม่ คำพิพากษาฏีกา ๒๑๑๔//๒๔๙๙,๒๖๖/๒๔๘๓,๓๑๑/๒๔๗๕,๑๔๗๒/๒๔๙๙,๒๘๗๔/๒๕๓๗
๒.บุกรุกทางอากาศแม้บุกรุกนานเท่าใดก็ไม่ได้กรรมสิทธิ์ ปลูกตึกแถวแล้วมีที่ว่างระหว่างตึกแถวโจทก์จำเลยประมาณ ๒ ศอก ชายคาตึกโจทก์ยืดเข้ามาทางช่องว่าง ๙ ปี ต่อมาจำเลยปลูกตึก ชายคายื่นเข้ามาทางช่องว่างที่ดิน ในระหว่างนั้นไม่ปรากฏว่าเป็นของฝ่ายใด แม้โจทก์จะทำชายคาล้ำเข้าในช่องว่างนานเท่าใด จะฟังว่าโจทก์ครอบครองที่ดินตรงช่องว่างนั้นไม่ได้ การที่จำเลยทำชายคาล้ำเข้าไปในที่ว่าง โดยที่ดินในช่องว่างไม่ปรากฏว่าเป็นของของใคร แม้โจทก์ทำชายคาล้ำในช่องว่างนานเท่าใด จะฟังว่าครอบครองที่ตรงช่องว่างนั้นไม่ได้ การที่จำเลยทำชายคาล้ำเข้าไปในช่องว่างก็ไม่ทำให้โจทก์เดือดร้อนรำคาญอย่างใด จึงไม่มีอำนาจฟ้อง ตำพิพากษาฏีกา ๗๕/๒๔๗๑
ข้อสังเกต ๑. แดนกรรมสิทธิ์ของที่ดินนั้น มีทั้งบนดิน เหนื้อพื้นดินและใต้ดินด้วย ป.พ.พ. มาตรา ๑๓๓๕
๒.การอ้างแดนกรรมสิทธิ์นั้นผู้อ้างต้องเป็นเจ้าของที่ดินจึงอ้างแดนกรรมสิทธิ์ทั้งบนดิน เหนือพื้นดินและใต้พื้นดิน หากไม่ใช่เจ้าของที่ดิน เช่น เป็นผู้เช่า จะอ้างแดนกรรมสิทธิ์เหนือพื้นดินและใต้ดินไม่ได้ หากเป็นเจ้าของที่ดินแล้วย่อมมีสิทธิ์เหนือพื้นดินที่จะให้เช่าที่ว่างในอากาศเหนือพื้นดินที่เราเป็นเจ้าของเพื่อแขวนป้ายโฆษณา หรือให้เช่าใต้ดินที่จะทำอุโมงค์ลอดผ่าน หรือทำห้องเก็บของใต้ดิน
๓.การที่ปลูกบ้านแล้วชายคารุกล้ำเข้าไปในที่ดินของคนอื่น แม้จะรุกล้ำมานานเท่าใดจะอ้างว่าตนครอบครองโดยสงบเปิดเผยเจตนาเป็นเจ้าของ ครอบครองมาเกิน ๑๐ ปีตนได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินใต้ชายคามาโดยการครอบครองปรปักษ์ตาม ป.พ.พ. มาตรา ๑๓๘๒ หาได้ไม่ และจะอ้างว่าเป็นการแย่งการครอบครองที่ดินใต้ชายคา(กรณีที่ดินยังไม่มีโฉนด)ตาม ป.พ.พ. มาตรา ๑๓๗๕ก็ไม่ได้ การที่จะอ้างแดนกรรมสิทธิ์ในสิทธิ์เหนือพื้นดินหรือใต้พื้นดินในที่ดินแปลงใด ต้องเป็นเจ้าของที่ดินแปลงนั้นก่อนจึงจะอ้างสิทธิ์เหนือพื้นดินหรือใต้พื้นดินในที่ดินแปลงนั้นได้
๔.การปลูกชายคาโรงเรือนรุกล้ำเข้าไปในที่ดินของบุคคลอื่น หากกระทำไปโดยสุจริต เจ้าของโรงเรือนเป็นเจ้าของส่วนที่รุกล้ำ โดยต้องเสียค่าใช้ที่ดินและจดทะเบียนสิทธิ์เป็นภาระจำยอมได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา ๑๓๑๒ หากปลูกโรงเรือนรุกล้ำเข้าไปในที่ดินคนอื่นโดยไม่สุจริต เจ้าของที่ดินจะเรียกให้ผู้สร้างรื้อถอนและทำที่ดินให้เป็นไปตามเดิมโดยผู้สร้างเป็นผู้ออกค่าใช้จ่าย ป.พ.พ. มาตรา ๑๓๑๒ วรรคท้าย แต่ไม่ได้หมายความว่าการปลูกโรงเรือนรุกล้ำ ทำให้ได้กรรมสิทธิ์เหนือพื้นดินที่รุกล้ำแต่อย่างใดไม่ คงเป็นเพียงได้สิทธิ์ในส่วนของโรงเรือนที่รุกล้ำและจดทะเบียนสิทธิ์เป็นภาระจำยอมเท่านั้น
๕.การบุกรุกทางอากาศแม้จะบุกรุกมานานเท่าใดก็ไม่ได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์ในที่ดินที่รุกล้ำทางอากาศแต่อย่างใด ดังนั้น การที่ปลูกตึกแถวแล้วเกิดช่องว่างระหว่างตึก แม้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะปลูกตึกทำชายคารุกล้ำเข้ามาในช่องว่างระหว่างตึกแม้จะรุกล้ำเป็นเวลานานเท่าใดก็ตาม เมื่อไม่ปรากฏชัดว่าบริเวณช่องว่างระหว่างตึกนั้นเป็นกรรมสิทธิ์ของฝ่ายใด ดังนั้นจึงไม่อาจกล่าวอ้างว่าฝ่ายใดได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินที่เป็นช่องว่าง และจะถือว่าก่อความเดือดร้อนรำคาญให้แก่อีกฝ่ายไม่ เพราะเมื่อไม่ปรากฏชัดว่าที่ว่างนั้นใครเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่ดินที่ว่างนั้นแล้ว การสร้างชายคารุกล้ำเข้ามาจะถือว่าเจ้าของโรงเรือนอีกฝ่ายได้รับความเดือดร้อนรำคาญหาได้ไม่
๖.การที่บุกรุกทางอากาศจะเป็นการเข้าไปในอสังหาริมทรัพย์ของบุคคลอื่นเพื่อถือการครอบครองอสังหาริมทรัพย์ของบุคคลอื่น อันเป็นการรบกวนการครอบครองอสังหาริมทรัพย์ของผู้อื่นโดยปกติสุขอันจะเป็นความผิด,ฐานบุกรุกได้หรือไม่นั้น ในความเห็นส่วนตัวเห็นว่าลำพังเพียงการสร้างชายคารุกล้ำเข้าไปในที่ดินของบุคคลอื่นหากกระทำโดยสุจริต นั้นมีบทบัญญัติใน ป.พ.พ. มาตรา ๑๓๑๒ บัญญัติไว้ชัดเจนแล้วว่าผู้สร้างโรงเรือนรุกล้ำเป็นเจ้าของส่วนที่รุกล้ำแล้วสามารถจดทะเบียนสิทธิ์เป็นภาระจำยอมได้ หรือหากสร้างโดยไม่สุจริตต้องทำให้เป็นไปตามเดิมโดยผู้สร้างเป็นผู้ออกค่าใช้จ่าย แสดงให้เห็นว่ากฎหมายมีเจตนารมณ์ในเรื่องนี้อยู่แล้ว ไม่มีเจตนาที่จะให้การกระทำดังกล่าวเป็นความผิดทางอาญา

ไม่มีความคิดเห็น: