ค้นหาบล็อกนี้

วันพุธที่ 3 สิงหาคม พ.ศ. 2559

“เอกสารสิทธิ”

๑.หนังสือมอบอำนาจเป็นหนังสือที่มอบอำนาจให้บุคคลอื่นทำนิติกรรมแทน ไม่เป็นเอกสารก่อตั้งสิทธิ์ใดๆไม่ใช่เอกสารสิทธิ์ คำพิพากษาฏีกา ๔๓๘๑/๒๕๔๑
๒.คำร้องทุกข์เป็นคำบอกกล่าวแก่พนักงานสอบสวนให้ดำเนินคดี ไม่ใช่หลักฐานการก่อตั้งสิทธิ์ ไม่เป็นเอกสารสิทธิ์ คำพิพากษาฏีกา ๙๒๘/๒๕๐๖
๓.ใบแต่งทนาย เป็นเรื่องการตั้งทนายให้มีอำนาจว่าความ ไม่ใช่เอกสารสิทธิ์ คำพิพากษาฏีกา ๑๑๐๗/๒๕๐๙
๔.คำฟ้องไม่ใช่เอกสารสิทธิ์ คำพิพากษาฏีกา ๑๕๓๘/๒๕๑๖
๕.หลอกให้ลงชื่อในแบบพิมพ์เอกสารต่างๆเกี่ยวการจำนองและหนังสือจดทะเบียนสิทธิ์และนิติกรรม แม้ยังไม่ได้กรอกข้อความ อาจถูกนำไปกรอกข้อความให้ครบถ้วนว่าผู้เสียหายมีเจตนาจำนองที่ดินจึงเป็นการหลอกให้ทำเอกสารสิทธิ์แล้ว คำพิพากษาฏีกา ๑๙๖๒/๒๕๓๑
ข้อสังเกต ๑. เอกสารสิทธิ์ เป็นเอกสารที่เป็นหลักฐานแห่งการก่อ เปลี่ยนแปลง โอน สงวน หรือระงับซึ่งสิทธิ์ เช่น สัญญากู้เงิน หรือหลักฐานเป็นหนังสืออย่างหนึ่งอย่างใดลงลายมือชื่อผู้กู้เป็นสำคัญ เป็นหลักฐานก่อให้เกิดสิทธิ์ในการฟ้องร้องบังคับคดีหากผู้กู้ไม่ชำระหนี้ หากไม่มีสัญญากู้ หรือหลักฐานเป็นหนังสืออย่างหนึ่งอย่างใดลงลายมือชื่อผู้กู้เป็นสำคัญก็ไม่สามารถฟ้องร้องบังคับคดีได้ ทั้งสัญญากู้ก็ยังเป็นเอกสารหลักฐานในการกำหนดอัตราดอกเบี้ยที่ผู้กู้ต้องชำระตามที่กำหนดไว้ในสัญญากู้ที่ต้องเรียกดอกเบี้ยไม่เกินร้อยละ ๑๕ ต่อปี หรือในสัญญากู้อาจระบุว่าให้นำสังหาริมทรัพย์ใดมาประกันหนี้ ดังนั้นสัญญากู้หรือหลักฐานเป็นหนังสืออย่างหนึ่งอย่างใดลงลายมือชื่อผู้กู้เป็นสำคัญ เป็นเอกสารสิทธิ์ ซึ่งมีคำพิพากษาฏีกา ๑๖๗/๒๕๑๗ พิพากษารับรองหลักการนี้ไว้
๒.จำนองต้องทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ตาม ป.พ.พ. มาตรา ๗๑๔ เป็นแบบที่กฎหมายกำหนดหากไม่กระทำ สัญญาจำนองตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา ๑๕๒ สัญญาจำนองจึงเป็นหนังสือเอกสารหลักฐานที่ก่อให้เกิดการประกันการชำระหนี้ โดยนำทรัพย์ตามที่กฎหมายกำหนดมาจำนองประกันหนี้ โดยไม่ต้องส่งมอบทรัพย์ที่จำนอง ทั้งก่อให้เกิดสิทธิ์ที่จะได้รับชำระหนี้จากทรัพย์ที่จำนองก่อนเจ้าหนี้สามัญโดยไม่ต้องคำนึงว่ากรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินจะโอนไปยังบุคคลภายนอกแล้วหรือไม่อย่างไร ( ป.พ.พ. มาตรา ๗๐๒ วรรคสอง) และหากไม่มีการจำนองโดยทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่แล้ว การจำนองย่อมไม่เกิดขึ้น ดังนั้นสัญญาจำนองจึงเป็นเอกสารสิทธิ์ ซึ่งมีคำพิพากษาฏีกา ๑๙๖๒/๒๕๓๑ พิพากษารองรับหลักการนี้ไว้
๓.ตั๋วเครื่องบิน มีคำพิพากษาฏีกา ๑๕๐๘/๒๕๓๘ วินิจฉัยว่าเป็นเอกสารสิทธิ์ หากนำคำพิพากษาฏีกานี้มาใช้ ตั๋วรถไฟจะเป็นเอกสารสิทธิ์โดยเทียบเคียงคำพิพากษาฏีกานี้ได้ไหม โดยเฉพาะตั๋วรถเมล์ หรือตั๋วเข้าชมการแสดง หรือตั๋วภาพยนตร์จะเป็นเอกสารสิทธิ์ไหม ในความเห็นส่วนตัวเห็นว่า ตั๋วเหล่านั้นให้สิทธิ์ที่จะเข้าชมหรือเข้ารับบริการเท่านั้น ไม่ได้เป็นหลักฐานในการ ก่อ เปลี่ยนแปลง โอน สงวน หรือระงับซึ่งสิทธิ์ แต่อย่างใด แต่เมื่อมีคำพิพากษาฏีกาแล้วก็เคารพในการตัดสิน
๔.หนังสือมอบอำนาจ เป็นหนังสือที่ผู้มอบอำนาจมอบหมายให้บุคคลอื่นมีอำนาจจัดการทำนิติกรรมแทนผู้มอบอำนาจ ไม่ใช่เอกสารที่ก่อเปลี่ยนแปลงโอนหรือสงวนซึ่งสิทธิ์จึงไม่ใช่เอกสารสิทธิ์
๕.คำร้องทุกข์เป็นเพียงคำบอกกล่าวแก่พนักงานสอบสวนเพื่อให้ดำเนินคดีกับผู้ต้องหา ด้วยการร้องทุกข์ด้วยปากหรือเป็นหนังสือ โดยต้องปรากฏชื่อ ที่อยู่ผู้ร้องทุกข์ ลักษณะแห่งการกระทำความผิด ความเสียหายที่ได้รับ ชื่อหรือรูปพรรณของผู้กระทำผิดเท่าที่จะสามารถบอกได้ หากร้องทุกข์ด้วยปากให้พนักงานสอบสวนบันทึกไว้และลงลายมือชื่อในบันทึก จึงเห็นได้ว่า คำบอกทุกข์เป็นเพียงคำบอกกล่าวแก่พนักงานสอบสวนเพื่อให้ดำเนินคดีเท่านั้น แต่ไม่ใช่หลักฐานแห่งการก่อตั้งสิทธิ์ใดๆไม่ เมื่อร้องทุกข์แล้วพนักงานสอบสวนจะดำเนินการอย่างไรก็เป็นไปตามบทบัญญัติของกฎหมาย ดังนั้น คำร้องทุกข์จึงไม่ใช่เอกสารสิทธิ์ ดังนั้นแม้ผู้ต้องหามีเจตนาทุจริตมาหลอกให้ผู้เสียหายถอนคำร้องทุกข์ จึงไม่ใช่การการหลอกให้ผู้เสียหายหรือบุคคลที่สาม ถอนหรือทำร้ายเอกสารสิทธิ์ จึงไม่เป็นความผิดฐานฉ้อโกง ป.อ. มาตรา ๓๔๑
๖.ใบแต่งทนายเป็นหนังสือที่ให้อำนาจทนายความมีอำนาจว่าความ ทำคำฟ้อง ทำคำให้การ ยื่นคำร้อง คำขอ และดำเนินกระบวนการพิจารณาในศาลเท่านั้น ไม่ใช่หลักฐานแห่งการก่อ เปลี่ยนแปลง หรือสงวนหรือระงับซึ่งสิทธิ์ จึงไม่ใช่เอกสารสิทธิ์ ดังนั้น การที่มีจำเลยหลอกโจทก์ว่าโจทก์ถูกฟ้องเป็นจำเลยร่วมกับบุคคลอื่นจนโจทก์หลงเชื่อ ลงชื่อในใบแต่งทนายให้จำเลยไป โดยไม่มีข้อความนอกเหนือจากข้อความตามแบบพิมพ์ ไม่เป็นฉ้อโกง คำพิพากษาฏีกา ๑๑๐๗/๒๕๐๙ เพราะในใบแต่งทนายมักระบุข้อความตามที่ระบุไว้ใน ป.ว.พ. มาตรา ๖๒ ว่าให้มีอำนาจในทางจำหน่ายสิทธิ์ของคู่ความ เช่น การยอมรับตามที่คู่ความอีกฝ่ายเรียกร้อง การถอนฟ้อง การประนีประนอมยอมความ การสละสิทธิ์ หรือใช้สิทธิ์ในการอุทธรณ์ ฏีกา หรือ ขอให้พิจารณาคดีใหม่ ไม่มีข้อความอื่นนอกเหนือไปจากแบบพิมพ์จึงไม่ใช่เอกสารสิทธิ์ แม้จะมีการหลอกลวงว่าโจทก์ถูกฟ้องจนโจทก์หลงเชื่อลงลายมือแต่งตั้งทนายความไปก็ตามก็ไม่ใช่การหลอกลวงให้โจทก์ผู้ถูกหลอกลวงหรือบุคคลที่สาม “ ทำ” เอกสารสิทธิ์ คือลงชื่อในใบแต่งทนาย ด้วยการแสดงตนเป็นบุคคลอื่นตาม ป.อ. มาตรา ๓๔๑,๓๔๒(๑) แต่อย่างใดไม่ จึงไม่มีความผิดฐานฉ้อโกงตามบทกฎหมายดังกล่าว
๗.คำฟ้องเป็นเอกสารหนังสือที่บุคคลใดต้องการใช้สิทธิ์ทางศาล หรือ มีข้อโต้แย้งเกี่ยวกับสิทธิ์และหน้าที่ตามกฎหมาย ในทางอาญาหรือทางแพ่ง ได้ยื่นฟ้องต่อศาลเพื่อให้รับรองหรือคุ้มครองสิทธิ์ของตน หรือระงับข้อพิพาทในทางอาญาหรือทางแพ่งหรือเพื่อบังคับการให้เป็นไปตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ ไม่ได้เป็นเอกสารหลักฐานแห่งการก่อ เปลี่ยนแปลง สงวนหรือระงับซึ่งสิทธิ์จึงไม่ใช่เอกสารสิทธิ์ ดังนั้น การที่จำเลยหลอกให้โจทก์ถอนฟ้อง จะถือว่าจำเลยหลอกลวงโจทก์ด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จหรือปกปิดข้อความจริงอันควรบอกให้แจ้งจนโจทก์ผู้ถูกหลอกลวง ถอนเอกสารสิทธิ์คือคำฟ้องตาม ป.อ. มาตรา ๓๔๑ หาได้ไม่
๘.หลอกให้ลงชื่อในแบบพิมพ์เอกสารต่างๆเกี่ยวการจำนองและหนังสือจดทะเบียนสิทธิ์และนิติกรรม แม้ยังไม่ได้กรอกข้อความ แต่ก็อาจถูกนำไปกรอกข้อความให้ครบถ้วนว่าผู้เสียหายมีเจตนาจำนองที่ดินจึงเป็นการหลอกให้ทำเอกสารสิทธิ์แล้ว เพราะการหลอกให้ผู้เสียหายด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จหรือปกปิดข้อเท็จจริงอันควรบอกให้แจ้งจนผู้เสียหายผู้ถูกหลอกลวงหลงเชื่อลงลายมือชื่อในแบบพิมพ์เอกสารต่างๆเกี่ยวกับจำนองและหนังสือจดทะเบียนสิทธิ์และนิติกรรม แม้ยังไม่ได้กรอกข้อความก็อาจถูกนำไปกรอกข้อความว่ามีการจำนองได้เป็นการก่อให้เกิดเปลี่ยนแปลงโอนซึ่งสิทธิ์ในที่ดินด้วยการจำนองที่ดิน จึงเป็นการหลอกให้ผู้เสียหายทำเอกสารสิทธิอันเป็นความผิดฐานฉ้อโกงตาม ป.อ. มาตรา ๓๔๑แล้ว

ไม่มีความคิดเห็น: