จำเลยทำสัญญากู้เงินกับธนาคารโจทก์ โดยสมรู้กับประธานกรรมการธนาคารของธนาคารโจทก์ เพื่อให้ประธานกรรมการธนาคาร ได้เงินกู้ไปใช้ ถือว่าประธานกรรมการธนาคาร มีส่วนได้เสียเป็นปรปักษ์กับธนาคารโจทก์ การทำสัญญากู้ยืมรายนี้เป็นพฤติการณ์ที่จะถือว่าประธานกรรมการ เป็นผู้แทนธนาคารโจทก์ไม่ได้ การที่ประธานกรรมการธนาคาร รู้เจตนาที่แท้จริงจะถือว่าธนาคารโจทก์รู้ด้วยไม่ได้ ต้องถือว่าธนาคารโจทก์ไม่รู้ว่าจำเลยไม่ได้กู้เอง จำเลยต้องผูกพันธ์ตามสัญญากู้ คำพิพากษาฏีกา ๕๘๐/๒๕๐๙
ข้อสังเกต ๑. การที่จำเลยทำสัญญากู้ด้วยการแสดงเจตนาลวงระหว่างคู่กรณีระหว่างจำเลยกับประธานกรรมการธนาคารว่าจำเลยได้ทำการกู้ยืมเงินธนาคาร ทั้งที่จริงๆแล้วเป็นการกู้เงินเพื่อให้ประธานธนาคาร เป็นกรณีที่ประโยชน์ได้เสียของธนาคารขัดกับประโยชน์ได้เสียของผู้แทนธนาคาร(ประธานธนาคาร) จึงจะถือว่า ประธานธนาคารเป็นผู้แทนของธนาคารในการกู้ยืมเงินรายนี้ไม่ได้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา ๗๔ และจะถือว่าการที่ประธานธนาคารรู้ว่าการกู้ยืมรายนี้เป็นการแสดงเจตนาระหว่างคู่กรณีที่ในใจจริงแล้วไม่ได้ต้องการผูกพันตามที่ตนได้แสดงออกมาไม่ได้ คือ จะถือว่าจำเลยไม่ได้ต้องการให้มีผลผูกพันว่าจำเลยกู้เงินจากธนาคารไม่ได้ การแสดงเจตนาดังกล่าว ก็หาเป็นมูลเหตุให้การแสดงเจตนาดังกล่าวตกเป็นโมฆะไม่ แม้ประธานธนาคารจะได้รู้ถึงเจตนาอันซ่อนเร็นอยู่ภายในว่าการกู้ยืมครั้งนี้ว่า จำเลยไม่ได้ประสงค์จะกู้ยืมเงิน แต่เป็นการกู้เพื่อให้ประธานธนาคารก็ตาม ก็หาอาจอ้างการแสดงเจตนานั้นมายกเว้นความรับผิดของตัวเองตาม ป.พ.พ. มาตรา ๑๕๔ หาได้ไม่
๒.ในกรณีดังกล่าวเป็นการแสดงเจตนาลวงโดยสมคบระหว่างจำเลยกับประธานธนาคารจะถือว่าเป็นโมฆะ ตาม ป.พ.พ. มาตรา ๑๕๕ หาได้ไม่ เพราะเมื่อถือว่าประโยชน์ได้เสียของธนาคารขัดกับประโยชน์ได้เสียของผู้แทนธนาคาร(ประธานธนาคาร) จึงจะถือว่า ประธานธนาคารเป็นผู้แทนของธนาคารในการกู้ยืมเงินรายนี้ไม่ได้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา ๗๔แล้ว ดังนั้นจะถือว่าเป็นการแสดงเจตนาลวงระหว่างธนาคารกับจำเลยหาได้ไม่ แต่เป็นการแสดงเจตนาลวงระหว่างคนที่ไม่ใช่ตัวแทนธนาคารกับจำเลย เมื่อเป็นการกู้ยืมเงินมีหลักฐานเป็นหนังสือสัญญากู้ลงลายมือชื่อจำเลยผู้ต้องรับผิดเป็นสำคัญโดย สัญญากู้ยืมเงินเป็นบุคคลสิทธิ์ จำเลยได้ลงลายมือชื่อในสัญญากู้ จึงต้องผูกพันรับผิดตามสัญญากู้
๓.การกู้ยืมเงินเป็นกรณีที่กฎหมายบังคับว่าต้องมีพยานหลักฐานมาแสดง จึงต้องห้ามไม่ให้จำเลยนำสืบเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อความในเอกสารว่า จำเลยไม่ใช่ผู้กู้ แต่จำเลยกู้เพื่อให้ประธานธนาคารได้เงินไปหาได้ไม่ตาม ป.ว.พ. มาตรา ๙๔ ทั้งการนำสืบดังกล่าวก็ไม่ใช่การนำสืบว่าสัญญากู้ปลอม ไม่ถูกต้องทั้งหมดหรือแต่บางส่วน หรือหนี้ตามสัญญากู้ไม่สมบรูณ์ การนำสืบเช่นนี้เป็นการนำสืบหรือใช้สิทธิ์ทางศาลที่ไม่สุจริตตาม ป.พ.พ. มาตรา ๖ กล่าวคือจะนำสืบว่าการกู้ยืมเงินเป็นสัญญายืมใช้สิ้นเปลืองย่อมสมบรูณ์ด้วยการส่งมอบตาม ป.พ.พ. มาตรา๖๕๐ โดยตนเองไม่ได้รับเงินตามสัญญากู้ไปใช้ ดังนั้นสัญญากู้จึงไม่มีผลผูกพันตนดังนี้แล้วไม่สามารถนำสืบได้ เพราะการมาศาลต้องมาด้วยมือสะอาด การที่จำเลยมีเจตนาแต่แรกแล้วว่าจะทำการกู้ยืมเงินธนาคารเพื่อให้ประธานธนาคารซึ่งมีผลประโยชน์ขัดกับธนาคารซึ่งถือเป็นผู้แทนธนาคารไม่ได้ ก็จะถือว่าธนาคารรู้ว่าจำเลยไม่ได้มีเจตนากู้เองแต่เป็นการกู้แทนประธานธนาคารหาได้ไม่ จำเลยจึงต้องผูกพันตามสัญญากู้ที่ทำไว้กับธนาคาร
๔.ส่วนจำเลยจะไปไล่เบี้ยเอากับประธานกรรมการได้หรือไม่เป็นอีกเรื่อง ในความเห็นส่วนตัวเห็นว่า การที่ประธานธนาคารมีประโยชน์ขัดกับธนาคารอันถือไม่ได้ว่าเป็นตัวแทนของธนาคารในการทำนิติกรรม การแสดงเจตนาลวงระหว่างประธานธนาคารกับจำเลยที่กระทำต่อ “ธนาคาร” หาตกเป็นโมะไม่ เพราะถือไม่ได้ว่าประธานธนาคารเป็นผู้แทนของธนาคารจึงต้องถือว่าจำเลยทำสัญญากู้กับธนาคารโดยตรง แต่ในระหว่างตัวประธานธนาคารกับจำเลยที่แสดงเจตนาลวงต่อกันน่าตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา ๑๕๕ แต่อย่างไรก็ตาม การที่ประธานธนาคารได้มาซึ่งเงินตามสัญญากู้ที่จำเลยทำไว้โดยในใจจริงมีเจตนากู้มาเพื่อให้ประธานธนาคาร เป็นการได้มาซึ่งทรัพย์โดยประการอื่น โดยปราศจากมูลเหตุอันจะอ้างได้ตามกฎหมาย เป็นเหตุให้จำเลยต้องเสียเปรียบเพราะไม่ได้ใช้เงินตามสัญญากู้แต่ต้องถูกธนาคารฟ้อง ดังนั้นประธานธนาคารต้องคืนเงินให้แก่จำเลยตาม ป.พ.พ. มาตรา ๔๐๖ เมื่อเป็นหนี้เงินเมื่อไม่ได้กำหนดว่าต้องเสียดอกเบี้ยจำนวนเท่าใดจึงต้องคิดดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดจุดห้าต่อปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา ๗ ในความเห็นส่วนตัวเห็นว่าประธานธนาคารต้องรับผิดเท่านี้ แต่ไม่ต้องรับผิดเท่าจำนวนที่จำเลยต้องชำระหนี้ตามจำนวนที่ธนาคารฟ้อง จะถือว่าหนี้ตามจำนวนที่จำเลยถูกฟ้องเป็นผลโดยตรงจากการที่จำเลยกู้เงินเพื่อนำไปมอบให้ประธานธนาคารหาได้ไม่ เพราะจำเลยรู้อยู่แล้วว่า การลงลายมือชื่อในสัญญากู้ต้องรับผิดตามสัญญากู้ จะยกเหตุการแสดงเจตนาลวงเพื่อมาใช้ยันกับธนาคารไม่ได้
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น