ผู้ตายทำพินัยกรรมไว้ ๒ ฉบับ ฉบับแรกตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกในทรัพย์มรดกส่วนหนึ่ง และฉบับหลังตั้งผู้คัดค้านเป็นผู้จัดการมรดกในทรัพย์มรดกอีกส่วนหนึ่ง แต่ข้อกำหนดในพินัยกรรมทั้งสองฉบับไม่ขัดกัน ไม่มีผลทำให้ผู้ร้องถูกถอนการการเป็นผู้จัดการมรดก ผู้ร้องยังมีสิทธิ์เป็นผู้จัดการมรดกตามพินัยกรรมฉบับแรก พินัยกรรมทั้งสองฉบับมีผลใช้บังคับได้ตามกฎหมาย เมื่อผู้ตายมีความประสงค์ให้ผู้ร้องและผู้คัดค้าน เป็นผู้จัดการมรดกตามข้อกำหนดในพินัยกรรมให้แยกขาดจากกัน จึงไม่สมควรตั้งผู้ร้องหรือผู้คัดค้านคนใดเป็นผู้จัดการมรดกผู้ตายทั้งหมดแต่เพียงคนเดียว จึงให้ตั้งผู้ร้องและผู้คัดค้านเป็นผู้จัดการมรดกตามพินัยกรรมแต่ละฉบับ คำพิพากษาฏีกา ๔๑๙/๒๕๔๑
ข้อสังเกต ๑. หากผู้ทำพินัยกรรมไม่ได้แสดงเจตนาไว้เป็นอย่างอื่น หากพินัยกรรมฉบับแรกขัดกับพินัยกรรมฉบับหลัง กฎหมายให้ถือว่า พินัยกรรมฉบับแรกถูกเพิกถอนโดยพินัยกรรมฉบับหลัง เฉพาะในส่วนที่ขัดแย้งกันเท่านั้น ป.พ.พ. มาตรา ๑๖๙๗ โดยพินัยกรรมฉบับหลังที่จะเพิกถอนพินัยกรรมฉบับแรก นั้นการเพิกถอนจะสมบรูณ์ก็ต่อเมื่อพินัยกรรมฉบับหลังได้ทำตามแบบที่กฎหมายกำหนดไว้ ป.พ.พ. มาตรา ๑๖๙๔ หากพินัยกรรมฉบับหลังไม่ทำตามแบบที่กฎหมายกำหนดไว้ หรือทำแล้วพินัยกรรมไม่มีผลบังคับได้ก็จะถือว่าพินัยกรรมฉบับหลังเพิกถอนพินัยกรรมฉบับแรกไม่ได้ และในทางกลับกันหากพินัยกรรมฉบับแรกไม่ได้ทำให้ถูกต้องตามแบบของพินัยกรรมที่กฏหมายกำหนดไว้ แต่พินัยกรรมฉบับหลังทำถูกต้องตามแบบที่กฎหมายกำหนดไว้ดังนี้ ก็ไม่มีอะไรที่พินัยกรรมฉบับหลังจะไปเพิกถอนพินัยกรรมฉบับแรก เพราะพินัยกรรมฉบับแรกไม่ถูกต้องไม่สมบรูณ์ตามที่กฏหมายบัญญัติไว้
๒.การที่ผู้ตายทำพินัยกรรมไว้สองฉบับ โดยแต่ละฉบับได้ตั้งผู้จัดการมรดกในทรัพย์สินที่แตกต่างกัน ย่อมแสดงให้เห็นว่าผู้ทำพินัยกรรมกำหนดการเผื่อตายในทรัพย์สินแตกต่างกัน โดยในแต่ละฉบับประสงค์ให้ใครจัดการทรัพย์สินใด เมื่อข้อกำหนดในพินัยกรรมทั้งสองฉบับไม่ขัดแย้งกันจึงถือไม่ได้ว่าพินัยกรรมฉบับหลังเพิกถอนพินัยกรรมฉบับแรก ดังนั้นการที่จะตั้งใครคนใดคนหนึ่งระหว่างผู้ร้องหรือผู้คัดค้านเป็นผู้จัดการมรดกเพียงลำพังผู้เดียวย่อมขัดกับเจตนาของผู้ตายที่กำหนดการเผื่อตายไว้ว่าประสงค์ให้ใครเป็นผู้จัดการทรัพย์มรดกรายใดโดยผู้ตายเห็นแล้วว่าใครเหมาะสมที่จะจัดการทรัพย์มรดกรายใด ดังนั้นจึงไม่สมควรตั้งใครคนใดคนหนึ่งเป็นผู้จัดการมรดกทรัพย์ทั้งหมด แต่เห็นควรให้แต่ละคนเป็นผู้จัดการมรดกตามที่ระบุไว้ในพินัยกรรมแต่ละฉบับ
๓.หากพินัยกรรมฉบับหลังตั้งให้บุคคลหนึ่งบุคคลใดเป็นผู้จัดการมรดก แต่ปรากฏว่าหลังจากที่ผู้ทำพินัยกรรมถึงแก่ความตาย บุคคลที่ถูกตั้งเป็นผู้จัดการมรดกนั้นเป็นคนวิกลจริต เป็นคนเสมือนไร้ความสามารถ เป็นบุคคลล้มละลาย หรือยังไม่บรรลุนิติภาวะซึ่งเป็นบุคคลต้องห้ามที่กฏหมายห้ามไม่ให้เป็นผู้จัดการมรดก ต้องถือว่าข้อกำหนดในพินัยกรรมที่ตั้งผู้จัดการมรดกเสียไป เสมือนหนึ่งว่าไม่มีการตั้งผู้จัดการมรดก ดังนั้นต้องถือว่าทรัพย์ตามพินัยกรรมฉบับหลังไม่มีผู้จัดการมรดก จะถือว่าผู้จัดการมรดกตามพินัยกรรมฉบับแรกเป็นผู้จัดการตามพินัยกรรมฉบับหลังไม่ได้ เพราะพินัยกรรมฉบับแรกกำหนดไว้ชัดแจ้งว่าให้ใครเป็นผู้จัดการมรดกในทรัพย์ใด แสดงให้เห็นเจตนาผู้ตายว่าต้องการให้จัดการมรดกเพียงบางส่วน มิเช่นนั้นแล้วก็ไม่น่าที่จะต้องระบุทรัพย์มรดกที่ให้เป็นผู้จัดการมรดก และยิ่งผู้ตายได้ทำพินัยกรรมตั้งผู้จัดการมรดกในพินัยกรรมฉบับที่สองให้จัดการทรัพย์มรดกที่เหลือย่อมแสดงให้เห็นว่าผู้ตายมีเจตนาให้ใครจัดการทรัพย์มรดกชิ้นใด เมื่อผู้จัดการมรดกเป็นผู้ต้องห้ามไม่ให้เป็นผู้จัดการมรดก จึงต้องถือว่าพินัยกรรมฉบับหลังไม่มีผู้จัดการมรดก ถือมีเหตุขัดข้องในการจัดการมรดก ทายาทหรือผู้มีส่วนได้เสียสามารถร้องขอต่อศาลเพื่อตั้งผู้จัดการมรดกหรือร้องขอต่อพนักงานอัยการเพื่อยื่นคำร้องขอให้ศาลตั้งผู้จัดการมรดกได้
๔.ในกรณีกลับกันหากว่าการตั้งผู้จัดการมรดกในพินัยกรรมฉบับแรกได้ตั้งให้บุคคลหนึ่งบุคคลใดเป็นผู้จัดการมรดก แต่ปรากฏว่าหลังจากที่ผู้ทำพินัยกรรมถึงแก่ความตาย บุคคลที่ถูกตั้งเป็นผู้จัดการมรดกนั้นเป็นคนวิกลจริต เป็นคนเสมือนไร้ความสามารถ เป็นบุคคลล้มละลาย หรือยังไม่บรรลุนิติภาวะซึ่งเป็นบุคคลต้องห้ามที่กฏหมายห้ามไม่ให้เป็นผู้จัดการมรดก ต้องถือว่าข้อกำหนดในพินัยกรรมที่ตั้งผู้จัดการมรดกเสียไป เสมือนหนึ่งว่าไม่มีการตั้งผู้จัดการมรดก ดังนั้นต้องถือว่าทรัพย์ตามพินัยกรรมฉบับแรกไม่มีผู้จัดการมรดก จะถือว่าผู้จัดการมรดกตามพินัยกรรมฉบับหลังเป็นผู้จัดการตามพินัยกรรมฉบับแรกไม่ได้ เพราะพินัยกรรมแต่ละฉบับกำหนดไว้ชัดแจ้งว่าให้ใครเป็นผู้จัดการมรดกในทรัพย์ใด แสดงให้เห็นเจตนาผู้ตายว่าต้องการให้จัดการมรดกเพียงบางส่วน มิเช่นนั้นแล้วก็ไม่น่าที่จะต้องระบุทรัพย์มรดกที่ให้เป็นผู้จัดการมรดก และยิ่งผู้ตายได้ทำพินัยกรรมตั้งผู้จัดการมรดกในพินัยกรรมฉบับที่สองให้จัดการทรัพย์มรดกที่เหลือจากทรัพย์ตามพินัยกรรมฉบับแรกย่อมแสดงให้เห็นว่าผู้ตายมีเจตนาให้ใครจัดการทรัพย์มรดกชิ้นใด เมื่อผู้จัดการมรดกเป็นผู้ต้องห้ามไม่ให้เป็นผู้จัดการมรดก จึงต้องถือว่าพินัยกรรมฉบับแรกไม่มีผู้จัดการมรดก ถือมีเหตุขัดข้องในการจัดการมรดก ทายาทหรือผู้มีส่วนได้เสียสามารถร้องขอต่อศาลเพื่อตั้งผู้จัดการมรดกหรือร้องขอต่อพนักงานอัยการเพื่อยื่นคำร้องขอให้ศาลตั้งผู้จัดการมรดกได้
๕. หากปรากฏว่าการตั้งผู้จัดการมรดกทั้งพินัยกรรมฉบับแรกและฉบับหลังตั้งบุคคลที่เป็นคนวิกลจริต เป็นคนเสมือนไร้ความสามารถ เป็นบุคคลล้มละลาย หรือยังไม่บรรลุนิติภาวะซึ่งเป็นบุคคลต้องห้ามที่กฏหมายห้ามไม่ให้เป็นผู้จัดการมรดก ต้องถือว่าข้อกำหนดในพินัยกรรมที่ตั้งผู้จัดการมรดกเสียไป เสมือนหนึ่งว่าไม่มีการตั้งผู้จัดการมรดก ดังนั้นต้องถือว่าทรัพย์ตามพินัยกรรมทั้งสองฉบับไม่มีผู้จัดการมรดก ถือมีเหตุขัดข้องในการจัดการมรดก ทายาทหรือผู้มีส่วนได้เสียสามารถร้องขอต่อศาลเพื่อตั้งผู้จัดการมรดกหรือร้องขอต่อพนักงานอัยการเพื่อยื่นคำร้องขอให้ศาลตั้งผู้จัดการมรดกได้
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น