ค้นหาบล็อกนี้

วันพุธที่ 3 สิงหาคม พ.ศ. 2559

“ขังไม่ชอบด้วยกฎหมาย”

๑.ยื่นคำร้องว่าตำรวจจับกุมตรวจค้นคุมขังไม่ชอบด้วยกฎหมาย ขณะที่ยื่นคำร้อง พนักงานอัยการได้ยื่นฟ้องในความผิดที่ผู้ร้องอ้างว่าจับกุมตรวจค้นขังโดยไม่ชอบ แม้การควบคุมไม่ชอบด้วยกฎหมาย แต่ก็สิ้นสุดไปตั้งแต่ศาลประทับฟ้องและออกหมายขังระหว่างพิจารณา สิทธิ์ที่จะขอให้ปล่อยย่อมหมดไป คำพิพากษาฏีกา ๗๑๑๖/๒๕๔๔
๒. ยื่นคำร้องขอปล่อยตัวจากการคุมขังของพนักงานสอบสวน ศาลชั้นต้นยกคำร้อง ในระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ การฝากขังของพนักงานสอบสวนสิ้นสุดลงโดยพนักงานอัยการมีคำสั่งฟ้องผู้ต้องหาและศาลชั้นต้นมีคำสั่งประทับฟ้อง การคุมขังในระหว่างการพิจารณาของศาลเป็นอำนาจโดยเฉพาะของศาล เป็นการดำเนินการคนละขั้นตอนกับการคุมขังในระหว่างการฝากขังของพนักงานสอบสวน เมื่อการคุมขังในขั้นตอนการสอบสวนสิ้นสุดลงไปแล้ว เป็นกรณีที่ศาลฏีกาไม่สามารถสั่งคำร้องของผู้ร้องได้ ศาลจำหน่ายคดีจากสารบบความ คำพิพากษาฏีกา ๖๙๓๕/๒๕๔๔
๓.เมื่อมีการคุมขังที่ผิดกฎหมาย ศาลออกหมายค้นเพื่อช่วยบุคคลที่ถูกหน่วงเหนียวหรือกักขังโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย แม้เป็นการค้นในที่รโหฐานก็ตาม แม้ไม่อ้าง ป.ว.อ. มาตรา ๙๐ ศาลก็ให้ความคุ้มครองได้ คำพิพากษาฏีกา ๑๒๐๐/๒๕๐๔
๔.ถูกฉุดไปข่มขืนและหน่วงเหนียวกักขัง ผู้ร้องขอต่อศาลให้ปล่อยภรรยาของตนโดยขอให้ศาลออกหมายค้นเพื่อพบและช่วยภรรยาผู้ร้องได้ คำพิพากษาฏีกา ๑๒๐๐/๒๕๐๔
๕.ร้องว่าเรือนจำลดโทษให้จำเลยไม่ถูกต้อง พัศดีเรือนจำไม่มีอำนาจอุทธรณ์ฏีกา เพราะไม่ใช่โจทก์หรือคู่ความ คำพิพากษาฏีกา ๓๓๔/๒๔๙๒
๖.ร้องต่อศาลว่าได้รับอภัยโทษ แต่ยังไม่ปล่อยตัว ไม่ใช่หน้าที่ศาลฏีกาที่จะสั่ง คำสั่งคำร้องที่ ๒๓๐/๒๕๐๑
๗.ถูกจับในข้อหาที่อยู่ในอำนาจศาลทหารตามประกาศคณะปฏิวัติ เมื่อไม่ได้ถูกฟ้องศาล ไม่ได้ถูกควบคุมโดยอำนาจศาล แต่ถูกควบคุมโดยอำนาจตำรวจสันติบาลซึ่งอยู่ในเขตอำนาจศาลอาญา ศาลอาญามีอำนาจรับคำร้องขอให้ปล่อยตัวได้ คำพิพากษาฏีกา ๑๕๕๗/๒๕๐๓
๘.ถูกศาลทหารกรุงเทพ(ศาลอาญา)พิพากษาลงโทษ โดยถูกคุมขังที่เรือนจำบางขวาง ผู้ร้องที่เป็นภรรยาจำเลยซึ่งจำเลยอยู่ในเกณท์ที่จะได้รับพระราชทานอภัยโทษตามพระราชกฤษฏีกาพระราชทานอภัยโทษ แต่ไม่ได้รับการปล่อยตัว ชอบที่จะยื่นคำร้องต่อศาลจังหวัดนนทบุรีซึ่งเป็นศาลในท้องที่ที่จำเลยถูกขังอยู่และเป็นศาลที่มีอำนาจพิจารณาออกหมายปล่อยหรือลดโทษให้แก่ผู้ต้องขังตามพระราชกฤษฏีกาเพื่อดำเนินการต่อไป ผู้ร้องจะมายื่นคำร้องที่ศาลทหารกรุงเทพ(ศาลอาญา) ซึ่งไม่ใช่ศาลที่มีอำนาจให้ปล่อยตามพระราชกฤษฏีกาดังกล่าว ไม่ใช่การกล่าวอ้างว่าจำคุกผิดไปจากคำพิพากษาของศาลทหารกรุงเทพ(ศาลอาญา) คำพิพากษาฏีกา ๑๙๖/๒๕๑๕
๙.ยื่นคำร้องขอให้ศาลไต่สวนและมีคำสั่งปล่อยผู้ร้องจากการควบคุมของเจ้าพนักงานที่เห็นว่า ผู้ร้องเป็นภัยต่อสังคม ระหว่างการไต่สวนของศาลชั้นต้น ผู้ร้องได้รับการปล่อยตัวไปแล้ว ไม่มีความจำเป็นต้องไต่สวนต่อไป หากผู้ร้องเห็นว่าการกระทำของผู้คัดค้านทำให้ผู้ร้องได้รับความเสียหายอย่างไร ก็ชอบที่จะว่ากล่าวเป็นอีกคดี คำพิพากษาฏีกา ๘๓/๒๕๒๓
๑๐.คุมขังโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่อของเจ้าพนักงาน เจ้าพนักงานรับผิดฐานละเมิดตาม ป.พ.พ. มาตรา ๔๒๐ และต้องใช้ค่าเสียหายตาม ป.พ.พ. มาตรา ๔๓๘ คำพิพากษาฏีกา ๖๓๐๑/๒๕๔๑
ข้อสังเกต ๑.เมื่อมีการอ้างว่าบุคคลใดถูกคุมขังในคดีอาญาหรือในกรณีอื่นอันไม่ชอบด้วยกฎหมาย ผู้ถูกคุมขัง พนักงานอัยการ พนักงานสอบสวน ผู้บัญชาการเรือนจำ พัศดี สามีภรรยาหรือญาติ หรือบุคคลอื่นเพื่อประโยชน์ของผู้ถูกคุมขัง สามารถยื่นคำร้องขอให้ปล่อยตัวผู้ถูกคุมขังโดยผิดกฎหมายได้ ป.ว.อ. มาตรา ๙๐
๒.เมื่อได้รับคำร้องให้ศาลไต่สวนฝ่ายเดียวโดยด่วน หากศาลเห็นว่าคำร้องนั้นมีมูล ศาลมีอำนาจสั่งผู้คุมขังให้นำตัวผู้ถูกคุมขังมาศาลโดยเร็ว หากผู้คุมขังไม่สามารถแสดงให้เป็นที่พอใจแก่ศาลว่า การควบคุมขังได้กระทำโดยชอบด้วยกฎหมาย ให้ศาลปล่อยตัวผู้ถูกคุมขังทันที ป.ว.อ. มาตรา ๙๐ วรรคสอง
๓.การจับกุมโดยราษฏร์หรือเจ้าพนักงานที่จับโดยไม่ชอบย่อมไม่มีอำนาจควบคุมหรือนำไปควบคุมตัวในสถานที่ส่วนตัว เป็นเวลาหลายวัน เพื่อข่มขู่ให้รับสารภาพ โดยไม่ใช่เวลาเพื่อการเดินทางหรือการสอบสวน คำพิพากษาฏีกา ๔๖๖/๒๕๔๑ ในกรณีนี้ย่อมสามารถร้องขอต่อศาลเพื่อทำการไต่สวนเพื่อขอให้ปล่อยตัวจากการควบคุมตัวที่ไม่ชอบด้วยกฏหมายได้
๔.การตรวจค้นจับกุมคุมขังในชั้นผู้จับกุมพนักงานสอบสวนแม้ไม่ชอบด้วยกฎหมายอย่างไรก็เป็นเรื่องที่จะต้องไปดำเนินการเป็นอีกส่วนจากคดีนี้ เมื่อคดีนี้พนักงานอัยการมีความเห็นและคำสั่งฟ้องผู้ต้องหาต่อศาลในความผิดที่ผู้ต้องหาอ้างว่าการจับกุมตรวจค้นและขังโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย เมื่อศาลมีคำสั่งประทับฟ้องและสั่งขังจำเลยไว้ระหว่างการพิจารณา ก็ไม่มีเหตุที่ต้องพิจารณาว่าการจับกุมตรวจค้นคุมขังในชั้นตำรวจผิดถูกอย่างไร เพราะการร้องขอให้ปล่อยตัวเพราะการควบคุมตัวไม่ชอบด้วยกฏหมายได้สิ้นสุดลงนับแต่พนักงานอัยการยื่นฟ้องและศาลมีคำสั่งรับฟ้องไว้พิจารณา เมื่อจำเลยไม่ได้ประกันตัวก็ต้องถูกควบคุมตัว ส่วนปัญหาว่าการควบคุมตัวในชั้นสอบสวนชอบหรือไม่ชอบด้วยกฏหมายต้องไปว่ากล่าวเป็นอีกคดีต่างหากจากคดีนี้ และระยะเวลาที่ถูกควบคุมและขังที่อ้างว่าไม่ชอบด้วยกฏหมาย ศาลจะนำมาหักให้เมื่อศาลมีคำพิพากษาลงโทษจำคุกแล้วหรือไม่อย่างไร การควบคุมตัวในชั้นสอบสวนแม้จะไม่ชอบด้วยกฏหมายจะนำระยะเวลาดังกล่าวมาหักกับระยะเวลาในการที่ศาลมีคำพิพากษาลงโทษจำคุกได้หรือไม่อย่างไรเป็นอีกส่วนหนึ่งต่างหากจากคดีนี้ นั้นก็คือ การตรวจค้นจับกุมคุมขังในชั้นจับกุมเป็นคนละขั้นตอนกับการสอบสวน การฟ้องคดี การสอบสวนชอบด้วยกฎหมายหรือไม่เป็นไปตามที่กฎหมายบัญญัติไว้เป็นคนกรณีกับการตรวจค้นจับกุมที่ไม่ชอบ แม้การจับกุมตรวจค้นคุมขังไม่ชอบด้วยกฎหมาย แต่หากการสอบสวนชอบด้วยกฎหมายพนักงานอัยการก็มีอำนาจฟ้อง
๕.แม้การควบคุมตัวและฝากขังของพนักงานสอบสวนจะชอบหรือไม่ชอบด้วยกฎหมายก็ตาม การฝากขังของพนักงานสอบสวนสิ้นสุดลงโดยพนักงานอัยการมีคำสั่งฟ้องผู้ต้องหาและศาลชั้นต้นมีคำสั่งประทับฟ้อง อำนาจการฝากขังของพนักงานสอบสวนย่อมหมดไปนับแต่เมื่อพนักงานสอบสวนส่งสำนวนให้พนักงานอัยการ ซึ่งหากผู้ต้องหาไม่ได้รับการประกันตัว ผู้ที่มีอำนาจในการยื่นคำร้องขอฝากขังผู้ต้องหาต่อศาลคือ พนักงานอัยการไม่ใช่เจ้าหน้าที่ตำรวจ ทั้งเมื่อศาลมีคำสั่งประทับฟ้องของพนักงานอัยการไว้พิจารณา อำนาจการคุมขังในระหว่างการพิจารณาของศาลเป็นอำนาจโดยเฉพาะของศาล เป็นการดำเนินการคนละขั้นตอนกับการคุมขังในระหว่างการฝากขังของพนักงานสอบสวน เมื่อการคุมขังในขั้นตอนการสอบสวนสิ้นสุดลงไปแล้ว การพิจารณาเพื่อจะให้ศาลมีคำสั่งปล่อยตัวผู้ต้องหาย่อมไม่มีประโยชน์อะไรต่อไปเพราะไม่ใช่การควบคุมหรือขังโดยผิดกฎหมายโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจแต่อย่างใดไม่ เพราะเมื่อมีการยื่นฟ้องแล้วการควบคุมตัวเป็นไปตามอำนาจของศาลที่ชอบด้วยกกหมาย จึงเป็นกรณีที่ศาลฏีกาไม่สามารถสั่งคำร้องของผู้ร้องให้ปล่อยตัวผู้ร้องเพราะถูกควบคุมหรือขังโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ไม่ชอบด้วยกฏหมายได้ ศาลจำหน่ายคดีจากสารบบความ
๖.การยื่นคำร้องขอให้ปล่อยตัวเพราะถูกควบคุมหรือขังโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายนั้น ศาลใช้วิธีการชั่วคราวโดยออกหมายค้นเพื่อทำการตรวจค้นว่ามีบุคคลถูกหน่วงเหนียวกักขังในสถานที่หนึ่งสถานที่ใดหรือไม่ก็ได้ ตาม ป.ว.อ. มาตรา ๖๙(๓) โดยเป็นการออกหมายค้นเพื่อพบและช่วยบุคคลที่ถูกหน่วงเหนียวกักขังโดยไม่ชอบด้วยกฏหมาย แม้สถานที่นั้นจะเป็นเคหสถานหรือไม่ก็ตาม หรือแม้ไม่อ้าง ป.ว.อ. มาตรา ๙๐ ศาลก็มีอำนาจตรวจสอบไต่สวนการคุมขังชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ได้ ขอเพียงบรรยายคำร้องให้เห็นว่าถูกควบคุมหรือขังโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายเท่านั้นก็พอ ไม่ต้องอ้างกฏหมายและเลขมาตรามาเพราะกรณีไม่ใช่การยื่นฟ้องที่มี ป.ว.อ. มาตรา ๑๕๘(๖) บัญญัติให้ต้องอ้างมาตราในกฏหมายซึ่งบัญญัติว่าการกระทำเป็นความผิด
๗.ตามพรบ.ราฃทัณท์แบ่งนักโทษออกเป็นชั้นต่างๆเพื่อประโยชน์ในการลดโทษ เช่น ในวันเฉลิมพระชนม์พรรษา ซึ่งนักโทษในชั้นต่างๆก็ได้รับการลดโทษไม่เท่ากัน ทั้งความผิดบางประเภทก็ไม่เข้าข่ายที่จะได้รับการลดโทษ ดังนั้นแม้ใน ป.อ. มาตรา ๙๐(๔) ผู้บัญชาการเรือนจำหรือพัศดีมีสิทธิ์ยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อให้ศาลปล่อยผู้ถูกควบคุมเพราะการควบคุมไม่ชอบด้วยกฏหมาย แต่การที่ผู้บัญชาการเรือนจำหรือพัศดี อุทธรณ์ฏีกาคำร้องของนักโทษที่ยื่นคำร้องว่าลดโทษไม่ถูกต้อง เท่ากับยืนยันว่าการควบคุมของเรือนจำเป็นไปโดยชอบด้วยกฏหมาย หักวันลดโทษถูกต้อง เป็นการควบคุมโดยชอบด้วยกฎหมายไม่ใช่การควบคุมไม่ชอบด้วยกฎหมาย ผู้บัญชาการเรือนจำหรือพัศดีมีอำนาจยื่นคำร้องได้เฉพาะการควบคุมที่ไม่ชอบด้วยกฏหมายเท่านั้น เมื่ออ้างว่าเป็นการลดโทษถูกต้องตามกฎหมายก็เท่ากับอ้างว่าควบคุมโดยชอบด้วยกฎหมายจึงไม่เข้าเงื่อนไขใน ป.ว.อ. มาตรา ๙๐ ว่าเป็นการควบคุมโดยไม่ชอบด้วยกฏหมาย และผู้บัญชาการเรือนจำหรือพัสดีก็ไม่ใช่โจทก์หรือคู่ความในคดี ซึ่งผู้ที่เป็นโจทก์หรือคู่ความในคดีคือ พนักงานอัยการ ดังนั้นผู้บัญชาการเรือนจำหรือพัสดีจึงไม่มีอำนาจอุทธรณ์ฏีกาคำร้องของผู้ถูกคุมขังได้
๘.การ.ร้องต่อศาลว่าได้รับอภัยโทษ แต่ยังไม่ปล่อยตัว ไม่ใช่หน้าที่ศาลฏีกาที่จะสั่ง เพราะ ไม่ใช่การยื่นคำร้องว่าถูกควบคุมหรือขังโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือผิดไปจากคำพิพากษาของศาล แต่เป็นการยื่นคำร้องว่าสมควรได้รับการปล่อยตัวตามพระราชกฤษฏีกาแต่ยังไม่ปล่อยตัว
๙.ถูกจับในข้อหาที่อยู่ในอำนาจศาลทหารตามประกาศคณะปฏิวัติ เมื่อไม่ได้ถูกฟ้องที่ศาลทหาร ไม่ได้ถูกควบคุมโดยอำนาจศาลทหาร แต่ถูกควบคุมโดยอำนาจตำรวจสันติบาลซึ่งอยู่ในเขตอำนาจศาลอาญาซึ่งเป็นศาลที่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาตามที่ ป.ว.อ. มาตรา ๙๐ ให้ยื่นคำร้องต่อศาลที่มีอำนาจพิจารณาพิพากษา ดังนั้น ศาลทหารจึงไม่ใช่ศาลที่มีอำนาจในการขังหรือปล่อยตัว เมื่อถูกควบคุมตัวโดยตำรวจสันติบาล ศาลอาญามีอำนาจรับคำร้องขอให้ปล่อยตัวได้
๑๐.จำเลยถูกศาลทหารกรุงเทพ(ศาลอาญา)พิพากษาลงโทษ โดยถูกส่งมาคุมขังที่เรือนจำบางขวางตามอัตราโทษว่าเรือนจำประเภทไหนสามารถจำคุกได้เท่าไหร่ ผู้ร้องที่เป็นภรรยาจำเลยเป็นบุคคลตาม ป.ว.อ. มาตรา ๙๐(๕) ซึ่งมีอำนาจยื่นคำร้องต่อศาลว่าการควบคุมหรือขังไม่ชอบด้วยกฎหมาย โดยจำเลยอยู่ในเกณท์ที่จะได้รับพระราชทานอภัยโทษตามพระราชกฤษฏีกาพระราชทานอภัยโทษ แต่ไม่ได้รับการปล่อยตัว ชอบที่จะยื่นคำร้องต่อศาลจังหวัดนนทบุรีซึ่งเป็นศาลในท้องที่ที่จำเลยถูกขังอยู่และเป็นศาลที่มีอำนาจพิจารณาออกหมายปล่อยหรือลดโทษให้แก่ผู้ต้องขังตามพระราชกฤษฏีกาพระราชทานอภัยโทษเพื่อดำเนินการต่อไป เพราะใน ป.ว.อ. มาตรา ๙๐ บัญญัติให้ยื่นคำร้อง ต่อศาลในท้องที่ที่มีอำนาจพิจารณาพิพากษา เมื่อพระราชกฤษฏีกาพระราชทานอภัยโทษบัญญัติให้เป็นหน้าที่ของเรือนจำต้องทำบัญชีเสนอคณะกรรมการซึ่งประกอบด้วยผู้ว่าราชการจังหวัด อัยการจังหวัด ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลในเขตท้องที่ที่เรือนจำตั้งอยู่เป็นผู้พิจารณาว่านักโทษคนใดได้รับการลดโทษ พักโทษ หรือเมื่อลดโทษตามพระราชกฤษฏีกาแล้วโทษจำคุกที่รับมาแล้วเกินกว่าโทษจำคุกที่เหลือ ศาลก็จะออกคำสั่งให้ปล่อยตัว เมื่อจำเลยถูกขังอยู่ที่เรือนจำกลางบางขวางซึ่งอยู่ในเขตอำนาจศาลจังหวัดนนทบุรี ศาลจังหวัดนนทบุรีจึงมีอำนาจสั่งให้ปล่อยตามพระราชกฤษฏีกาพระราชทานอภัยโทษ ผู้ร้องจะมายื่นคำร้องที่ศาลทหารกรุงเทพ(ศาลอาญา) ซึ่งไม่ใช่ศาลที่มีอำนาจให้ปล่อยตามพระราชกฤษฏีกาดังกล่าวไม่ได้ ไม่ใช่การกล่าวอ้างว่าจำคุกผิดไปจากคำพิพากษาของศาลทหารกรุงเทพ(ศาลอาญา) เป็นไปตามพระราชกฤษฏีกาพระราชทานอภัยโทษ แต่หากอ้างว่าเรือนจำจำคุกเกินไปกว่าหรือผิดไปจากคำพิพากษาของศาลก็เป็นการควบคุมที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายดังนี้จึงสามารถยื่นคำร้องต่อศาลทหารกรุงเทพ(ศาลอาญา)ซึ่งเป็นศาลที่พิจารณาพิพากษาได้
๑๑.ยื่นคำร้องขอให้ศาลไต่สวนและมีคำสั่งปล่อยผู้ร้องจากการควบคุมของเจ้าพนักงานที่เห็นว่า ผู้ร้องเป็นภัยต่อสังคม ระหว่างการไต่สวนของศาลชั้นต้น ผู้ร้องได้รับการปล่อยตัวไปแล้ว ไม่มีความจำเป็นต้องไต่สวนต่อไป เพราะการยื่นคำร้องว่าถูกควบคุมหรือขังโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายเพื่อให้ศาลปล่อยตัว เมื่อศาลมีคำสั่งให้ปล่อยตัวไปแล้วก็ไม่มีความจำเป็นต้องไต่สวนว่ามีการควบคุมหรือขังโดยไม่ชอบด้วยกฏหมายเพื่อมีคำสั่งให้ปล่อยตัว จะมาอาศัยคำพิพากษาของศาลว่าเป็นการควบคุมหรือขังโดยไม่ชอบด้วยกฏหมายเพื่อนำเป็นหลักฐานในการฟ้องคดีไม่ได้ หากผู้ร้องเห็นว่าการกระทำของผู้คัดค้านทำให้ผู้ร้องได้รับความเสียหายอย่างไร ก็ชอบที่จะว่ากล่าวเป็นอีกคดี
๑๒การ.คุมขังโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่อของเจ้าพนักงานทำให้บุคคลอื่นต้องได้รับความเสียหายแก่ชื่อเสียง และต้องปราศจากเสรีภาพ เจ้าพนักงานรับผิดฐานละเมิดตาม ป.พ.พ. มาตรา ๔๒๐ และต้องใช้ค่าเสียหายตาม ป.พ.พ. มาตรา ๔๓๘โดยพิจารณาตามพฤติการณ์และความร้ายแรงแห่งละเมิด

ไม่มีความคิดเห็น: