๑.ความผิดฐานปฏิบัติหน้าที่ผู้ประจำรถ(ผู้ขับรถ)โดยไม่ได้รับอนุญาต และไม่ปฏิบัติตามสัญญาณจราจรที่เจ้าพนักงานแสดงให้ปรากฏข้างหน้า แม้ความผิดฐานปฏิบัติหน้าที่ผู้ประจำรถโดยไม่ได้รับอนุญาตจะเป็นบทหนักและมีอัตราโทษจำคุก แต่ก็ไม่ได้ให้อำนาจพนักงานสอบสวนที่จะกักรถโจทก์ไว้ได้ การที่กักรถโจทก์ไว้เป็นเหตุให้เกิดความเสียหาย โดยไม่มีเหตุอ้างได้ตามกฎหมาย เป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย คำพิพากษาฏีกา ๔๔๐๔/๒๕๒๘
๒.พนักงานสอบสวนออกคำสั่งบังคับให้ผู้ต้องหาซึ่งใช้ชื่อว่า “ ลำยวน พุ่มชูศรี เขียนชื่อ “ลำเภา บุญศรี” ในกระดาษเพื่อส่งไปพิสูจน์เทียบลายมือชื่อผู้กระทำผิดในอีกคดีที่ใช้ชื่อว่า “ ลำเภา บุญศรี “ ว่าเป็นบุคคลเดียวกันหรือไม่ ผู้ต้องหาไม่ยอมเขียน พนักงานสอบสวนแจ้งข้อหาขัดคำสั่งเจ้าพนักงานแล้วมีความเห็น “ ควร” สั่งฟ้อง นั้น ป.ว.อ. มาตรา ๑๓๒ ไม่ได้บัญญัติว่า ให้พนักงานสอบสวนมีอำนาจสั่งบังคับคดีผู้ต้องหาเช่นนั้น คำสั่งพนักงานสอบสวนไม่ชอบ เมื่อผู้ต้องหาไม่ปฏิบัติตามก็ไม่เป็นความผิดฐานขัดคำสั่งเจ้าพนักงาน คำพิพากษาศาลฏีกา ๑๓๖๘/๒๕๐๐
๓.การมีและต้มสุราเถื่อนเพียงเล็กน้อย ไม่ถือเป็นเหตุฉุกเฉินอย่างยิ่ง อันจะทำให้ตำรวจและตรวจค้นและจับกุมผู้มีและดื่มสุราเถื่อนในที่รโหฐานในเวลากลางคืนได้ เมื่อตำรวจเข้าทำการจับกุมได้ขัดขวางไม่ให้จับ ไม่มีความผิดฐานต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงาน คำพิพากษาฏีกา ๕๗๕/๒๔๘๓
๔.ก่อนเข้าค้นบ้านถามโจทก์ว่า เห็นใครเข้าในบ้านบ้าง โจทก์ตอบไม่เห็น จึงขอตรวจค้น โจทก์ไม่ให้ตรวจค้นบอกไม่มีหมาย กำนันว่าหากไม่ให้ค้นจะยิง โจทก์กลัวจึงยอมให้ตรวจค้นค้นแล้วไม่พบผู้ใด จึงออกไปพร้อมด่าท้าทาย การที่กำนันถามโจทก์ดังกล่าวแสดงว่ากำนันไม่รู้คนร้ายหายไปไหน ไม่มีเหตุอันควรสงสัยว่าคนร้ายเข้าไปในบ้านโจทก์ การที่กำนันเข้าไปในบ้านเป็นการบุกรุก คำพิพากษาฏีกา ๗๕๔/๒๔๙๘
๕.สงสัยจำเลยดื่มสุรา จึงเข้าไปจับบนบ้านในเวลากลางคืน จำเลยใช้กระเดื่องตี เมื่อจำเลยไม่ได้ทำผิดตามพรบ.สุราซึ่งหน้า ไม่เป็นกรณีมีเหตุฉุกเฉินอย่างยิ่ง ตำรวจไม่มีอำนาจเข้าไปจับ เมื่อจำเลยต่อสู้ขัดขวาง ไม่มีความผิดฐานต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงานผู้กระทำการตามหน้าที่ คำพิพากษาฏีกา ๗๑๙/๒๕๐๑
๖.จำเลยซึ่งเป็นตำรวจทั้งห้าไปจับโจทก์ซึ่งเป็นแพทย์ประจำตำบลโดยไม่มีหมายจับในห้องฉายภาพยนตร์อันเป็นที่รโหฐาน ขณะฉายภาพยนตร์ในโรงภาพยนตร์ของโจทก์โดยเก็บค่าดูจากประชาชนโดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าหน้าที่ตำรวจ ตามพรบ.ป้องกันภยันตรายอันเกิดจากการเล่นมหรสพ อันเป็นความผิดลหุโทษซึ่งกฎหมายให้ปรับไม่เกิน ๕๐๐ บาท จำเลยใส่กุญแจมือโจทก์ไข้วหลังข้อมือทั้งสองข้างถลอก แม้เป็นการกระทำผิดซึ่งหน้า แต่เมื่อเจ้าพนักงานรู้จักหลักแหล่งของผู้กระทำผิด ไม่เป็นเหตุฉุกเฉินอย่างยิ่งที่จะจับกุมในที่รโหฐานในเวลากลางคืนได้ จำเลยมีความผิดตาม ป.อ. มาตรา ๑๕๗,๓๐๙,๒๙๕และ ๘๓ คำพิพากษาฏีกา ๗๐๒/๒๕๑๖
๗.แม้เป็นเจ้าพนักงานและออกปฏิบัติตามหน้าที่ เพื่อจับกุมตรวจค้นบ้านจำเลยด้วยเหตุอันควรและมีหมายค้น แต่ได้ไปล้อมบ้านและเข้าตรวจค้นในเวลากลางตคืน ขัด ป.ว.อ. มาตรา ๙๖ จึงไม่ได้รับความคุ้มครองและมีฐานะเป็นเจ้าพนักงานตามกฎหมาย คำพิพากษาฏีกา ๑๙๗๑/๒๕๒๘
ข้อสังเกต ๑.ผู้ประจำรถตามพรบ.ขนส่งทางบกฯ ได้แก่ ผู้ขับรถ, ผู้เก็บค่าโดยสาร ,นายตรวจ และผู้บริการตามที่กำหนดในกฎกระทรวง (พรบ.ขนส่งทางบก ฯ มาตรา ๙๒ )ซึ่งการที่จะเป็นผู้ประจำรถได้ต้องได้รับอนุญาตจากนายทะเบียนเสียก่อนตาม พรบ.ขนส่งทางบกฯ มาตรา ๙๓ หากฝ่าฝืนมีความผิดตามกฏหมาย
๒.ความผิดฐานปฏิบัติหน้าที่ผู้ประจำรถ(ผู้ขับขี่)โดยไม่ได้รับอนุญาต ความผิดอยู่ที่การไม่ได้รับอนุญาตให้ปฏิบัติหน้าที่ผู้ประจำรถ(ผู้ขับขี่) ตัวรถไม่ได้ก่อให้เกิดการกระทำความผิด รถที่ใช้ขับไม่ใช่ทรัพย์ที่ได้ใช้หรือมีไว้ใช้เพื่อการกระทำผิดหรือเป็นทรัพย์สินที่ได้มาจากการกระทำผิดตาม ป.อ. มาตรา ๓๓ หรือเป็นทรัพย์ที่ทำหรือมีไว้เป็นความผิดตามกฏหมายที่จะต้องถูกริบตาม ป.อ. มาตรา ๓๒ การที่จะกักรถโดยไม่คืนรถย่อมเป็นการกระทำที่ไม่มีกฎหมายให้อำนาจไว้เพราะรถไม่ใช่ทรัพย์ที่ใช้หรือมีไว้ในการกระทำความผิดฐานปฏิบัติหน้าที่ผู้ประจำรถโดยไม่ได้รับอนุญาต ไม่ใช่ทรัพย์ที่ทำหรือมีไว้เป็นความผิด ทั้งไม่ใช่กรณียึดรถเพื่อตรวจสอบหาคาบเลือดที่อาจติดอยู่ในรถหรือคาบยาเสพติดที่อาจตกติดอยู่ในรถ ดังนั้นการที่กักรถไว้ไม่ยอมคืนรถให้เจ้าของจึงเป็นการกระทำที่ไม่มีกฎหมายรองรับให้มีอำนาจกระทำได้ การกักรถไว้ย่อมมีเจตนาแกล้งหรือหรือเพื่อเป็นข้อต่อรองเรียกร้องทรัพย์สินจากผู้ต้องหา หรือกักรถเพื่อเจตนาแกล้งทำให้โจทก์ไม่ได้ใช้รถ และการที่เอารถไปจอดตากแดดตากฝน เป็นเวลานานรถย่อมเกิดความเสียหายได้ ล้อรถที่จอดอยู่กับที่เป็นเวลานานโดยไม่ได้ใช้ เครื่องยนต์ที่จอดอยู่กับที่โดยไม่มีการติดเครื่องรถ ย่อมเสื่อมสภาพเพราะไม่มีการใช้ แบตเตอร์รี่ที่ไม่มีการติดเครื่องรถแบตเตอร์รี่ย่อมไม่มีการชารทไฟเข้าเก็บในแบตเตอร์รี่ แบตเตอร์รี่ย่อมเสื่อมสภาพไปทำให้ติดเครื่องไม่ได้ รถที่จอดตากแดดตากฝนย่อมมีผลกระทบต่อสีรถและยางต่างๆในรถ หรือหากจอดรถไว้ใต้ต้นไม้มีพายุกิ่งไม้หักตกลงใส่รถเสียหาย พนักงานสอบสวนต้องรับผิดชอบ เหมือนที่เคยเกิดขึ้นที่จังหวัดหนึ่งทางภาคอีสาน พนักงานอัยการมีคำสั่งให้คืนรถของกลางให้ผู้ต้องหา แต่พนักงานสอบสวนไม่ยอมคืนรถ ปรากฏว่าฝนตกหนักมีพายุกิ่งไม้หักลงใส่รถได้รับความเสียหายพนักงานสอบสวนต้องรับผิดชอบในความเสียหายที่เกิดขึ้น การใช้สิทธิ์ของพนักงานสอบสวนที่มีแต่จะให้เกิดความเสียหายแก่บุคคลอื่น ย่อมเป็นการอันไม่ชอบด้วยกฎหมาย ป.พ.พ. มาตรา ๔๒๑ เป็นการจงใจก่อให้เกิดความเสียหายแก่ทรัพย์สินของผู้อื่นเป็นการละเมิดตาม ป.พ.พ. มาตรา ๔๒๐ ที่ต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทน และเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใดตาม ป.อ. มาตรา ๑๕๗
๓.แม้พนักงานสอบสวนจะมีอำนาจพิมพ์ลายนิ้วมือ ลายเท้า กับให้บันทึกรายละเอียดทั้งหลายที่น่าจะกระทำให้คดีกระจ่างขึ้นได้ตาม ป.ว.อ. มาตรา ๑๓๒ ก็ตาม แต่พนักงานสอบสวนก็ไม่มีอำนาจที่จะออกคำสั่งบังคับให้ผู้ต้องหาซึ่งใช้ชื่อว่า “ ลำยวน พุ่มชูศรี เขียนชื่อ “ลำเภา บุญศรี” ในกระดาษเพื่อส่งไปพิสูจน์เทียบลายมือชื่อผู้กระทำผิดใน “อีกคดี” ที่ใช้ชื่อว่า “ ลำเภา บุญศรี “ ว่าเป็นบุคคลเดียวกันหรือไม่ เมื่อไม่มีกฎหมายให้อำนาจพนักงานสอบสวนที่จะกระทำได้ พนักงานสอบสวนมีอำนาจเพียงที่จะรวบรวมพยานหลักฐานเพื่อพิสูจน์การกระทำผิดของผู้ต้องหาใน “คดีที่ถูกกล่าวหาเท่านั้น” จะขยายผลไปถึง” คดีอื่น” ไม่ได้ เมื่อไม่มีกฏหมายให้อำนาจไว้ การที่ผู้ต้องหาไม่ยอมเขียนตามที่พนักงานสอบสวนสั่ง แล้ว พนักงานสอบสวนแจ้งข้อหาขัดคำสั่งเจ้าพนักงานแล้วมีความเห็น “ ควร” สั่งฟ้อง นั้น เมื่อป.ว.อ. มาตรา ๑๓๒ ไม่ได้บัญญัติว่า ให้พนักงานสอบสวนมีอำนาจสั่งบังคับคดีผู้ต้องหาเช่นนั้น คำสั่งพนักงานสอบสวนไม่ชอบด้วยกฎหมาย เมื่อผู้ต้องหาไม่ปฏิบัติตามก็ไม่เป็นความผิดฐานขัดคำสั่งเจ้าพนักงาน ในทางกลับกัน การที่พนักงานสอบสวนแจ้งข้อหาและมีคำสั่งฟ้องผู้ต้องหาน่าจะเป็นความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ตาม ป.อ. มาตรา ๑๕๗ และหากมีการควบคุมตัวในการแจ้งข้อหาดังกล่าว พนักงานสอบสวนย่อมมีความผิดฐานหน่วงเหนียวกักขังให้ผู้อื่นปราศจากเสรีภาพในร่างกายด้วย
๔.แม้มีหมายค้นก็ไม่สามารถค้นในเวลากลางคืนได้ เว้นแต่ “ มีเหตุฉุกเฉินอย่างยิ่ง” ซึ่งน่าจะหมายความว่า หากไม่ตรวจค้นในเวลากลางคืน จะเกิดภยันตรายแก่ชีวิต ร่างกายของบุคคลที่ต้องการค้นให้พบตัว หรือบุคคลดังกล่าวอาจหลบหนี หรือพยานหลักฐานที่อยู่ในที่รโหฐานอาจถูกยักย้ายถ่ายเทหรือถูกทำลาย ซึ่งต้องเป็นความผิดที่รุนแรงไม่ใช่ความผิดเล็กๆน้อยๆ การมีและต้มสุราเถื่อนเพียงเล็กน้อย ไม่ถือเป็นเหตุฉุกเฉินอย่างยิ่ง อันจะทำให้ตำรวจและตรวจค้นและจับกุมผู้มีและดื่มสุราเถื่อนในที่รโหฐานในเวลากลางคืนได้ เมื่อตำรวจเข้าทำการจับกุมได้ขัดขวางไม่ให้จับ ไม่มีความผิดฐานต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงาน
๕.การตรวจค้นในบ้านซึ่งเป็นเคหสถานอันเป็นที่รโหฐานไม่ใช่ที่สาธารณะ หากไม่มีหมายค้นย่อมไม่สามารถเข้าตรวจค้นได้เว้นแต่จะเข้าข้อยกเว้นของกฏหมาย เช่นพบเห็นบุคคลกระทำความผิดซึ่งหน้า แล้วถูกไล่จับได้หนีเข้าไปในเคหสถานหรือมีเหตุแน่นแฟ้นควรสงสัยว่าได้เข้าไปซ่อนในที่รโหฐานนั้น ป.ว.อ. มาตรา ๙๒(๓) ซึ่งในคดีนี้ ก่อนเข้าค้นบ้าน กำนันถามว่า เห็นใครเข้าในบ้านบ้าง เจ้าของบ้านตอบไม่เห็น จึงขอตรวจค้น เจ้าของบ้านไม่ให้ตรวจค้นบอกไม่มีหมาย กำนันว่าหากไม่ให้ค้นจะยิง ด้วยความกลัวจึงยอมให้ตรวจค้น ค้นแล้วไม่พบผู้ใด จึงออกไปพร้อมด่าท้าทาย การที่กำนันถามเจ้าของบ้านดังกล่าวแสดงว่ากำนันไม่รู้คนร้ายหายไปไหน ได้หนีเข้ามาในบ้านหรือไม่อย่างไร ไม่มีเหตุอันควรสงสัยว่าคนร้ายเข้าไปในบ้าน หากกำนันเห็นคนร้ายหนีเข้าไปในบ้านคงไม่ต้องสอบถามเจ้าของบ้านว่า “ เห็นใครเข้าในบ้านหรือไม่อย่างไร” การที่กำนันเข้าไปในบ้านจึงเป็นการรบกวนการครอบครองอสังหาริมทรัพย์ของผู้อื่นโดยปกติสุขอันเป็นความผิดฐานบุกรุกแล้วจะอ้างว่าเจ้าของบ้านยินยอมให้ตรวจค้นไม่ได้ เพราะเจ้าของบ้านยอมให้ตรวจค้นเพราะกลัวคำขู่ของกำนันว่าหากไม่ให้ตรวจค้นจะยิง
๖.สงสัยจำเลยดื่มสุรา จึงเข้าไปจับบนบ้านในเวลากลางคืน เมื่อจำเลยไม่ได้ทำผิดตามพรบ.สุราซึ่งหน้า ไม่เป็นกรณีมีเหตุฉุกเฉินอย่างยิ่ง ตำรวจไม่มีอำนาจเข้าไปจับ การเข้าจับกุมเป็นภยันตรายที่เกิดจากการประทุษร้ายอันละเมิดต่อกฎหมายโดยเป็นความผิดฐานหน่วงเหนียวกักขังผู้อื่นให้ปราศจากเสรีภาพในร่างกาย จำเลยจึงมีสิทธิ์ที่จะป้องกันภยันตรายอันละเมิดต่อกฎหมายได้ การที่จำเลยใช้กระเดื่องตี จะถือว่าจำเลยต่อสู้ขัดขวางไม่ได้ จำเลย ไม่มีความผิดฐานต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงานผู้กระทำการตามหน้าที่
๗.ห้องฉายภาพยนตร์ไม่ใช่สาธารณะสถานที่ประชาชนคนใดก็สามารถเข้าไปได้ ห้องฉายภาพยนตร์จึงเป็นที่รโหฐานการเข้าตรวจค้นต้องมีหมายค้นเว้นแต่จะเข้าข้อยกเว้นตามกฎหมาย การจำเลยทั้งห้าซึ่งเป็นตำรวจไปจับโจทก์ซึ่งเป็นแพทย์ประจำตำบลโดยไม่มีหมายจับในห้องฉายภาพยนตร์อันเป็นที่รโหฐาน ขณะฉายภาพยนตร์ในโรงภาพยนตร์ของโจทก์โดยเก็บค่าดูจากประชาชนโดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าหน้าที่ตำรวจ ตามพรบ.ป้องกันภยันตรายอันเกิดจากการเล่นมหรสพ ย่อมเป็นการจับกุมโดยไม่ชอบด้วยกฏหมาย ความผิดตามพรบ.ป้องกันภยันตรายอันเกิดจากการเล่นมหรสพ อันเป็นความผิดลหุโทษซึ่งกฎหมายให้ปรับไม่เกิน ๕๐๐ บาท ซึ่งเป็นความผิดเล็กๆน้อยๆ ทั้ง ป.ว.อ. มาตรา ๘๖ ห้ามไม่ให้ใช้วิธีการควบคุมเกินกว่าที่จำเป็นเพื่อป้องกันการหลบหนี การที่จำเลยใส่กุญแจมือโจทก์ไข้วหลังข้อมือทั้งสองข้างถลอก แม้การกระทำของโจทก์เป็นการกระทำผิดซึ่งหน้า แต่เมื่อเจ้าพนักงานรู้จักหลักแหล่งของผู้กระทำผิด ไม่เป็นเหตุฉุกเฉินอย่างยิ่งที่จะจับกุมในที่รโหฐานในเวลากลางคืนได้โดยไม่มีหมายค้นหมายจับ จำเลยมีความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบด้วยกฎหมาย ร่วมกันหน่วงเหนียวกักขังผู้อื่นให้ปราศจากเสรีภาพในร่างกาย ทำร้ายร่างกายผู้อื่นจนเป็นเหตุให้ได้รับอันตรายแก่กายและจิตใจตาม ป.อ. มาตรา ๑๕๗,๓๐๙,๒๙๕และ ๘๓
๗. ป.ว.อ. มาตรา ๙๖ห้ามไม่ให้ทำการตรวจค้นในบ้านซึ่งเป็นเคหสถานอันถือว่าเป็นที่รโหฐานในเวลา “กลางคืน” เว้นแต่จะเข้าข้อยกเว้นตามกฎหมาย ดังนั้นแม้เป็นเจ้าพนักงานและออกปฏิบัติตามหน้าที่ เพื่อจับกุมตรวจค้นบ้านจำเลยด้วยเหตุอันควรและมีหมายค้น แต่ได้ไปล้อมบ้านและเข้าตรวจค้นในเวลา “กลางคืน” ขัด ป.ว.อ. มาตรา ๙๖ จึงไม่ได้รับความคุ้มครองและมีฐานะเป็นเจ้าพนักงานตามกฎหมาย มีความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ร่วมกันบุกรุกเคหสถานของผู้อื่นโดยมีอาวุธ(ปืนที่พกที่เอว) จะอ้างว่าเข้าไปโดยมีเหตุอันควรเพราะเป็นการกระทำการตามหน้าที่ไม่ได้เพราะเมื่อเข้าตรวจค้นในบ้านอันเป็นที่รโหฐานแม้มีหมายค้นก็ทำการตรวจค้นไม่ได้ ทั้งไม่เข้าข้อยกเว้นตามกฏหมายที่ว่าค้นในเวลากลางวันไม่เสร็จก็ค้นต่อในเวลากลางคืน หรือเป็นกรณีฉุกเฉินอย่างยิ่งหรือมีเหตุตามกฎหมายอื่นให้ค้นได้ หรือค้นเพื่อจับคนร้ายดุหรือคนร้ายสำคัญซึ่งต้องได้รับอนุญาตพิเศษจากหลักเกณท์และวิธีการที่กำหนดในข้อบังคับของประธานศาลฏีกาเท่านั้นจึงจะสามารถค้นได้ในเวลากลางคืน เมื่อไม่เข้าข้อยกเว้นของกฎหมาย การตรวจค้นจึงเป็นการตรวจค้นที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย และจะอ้างว่าตนเข้าใจว่าตนมีอำนาจตรวจค้นเพราะมีหมายค้นแล้วดังนี้อ้างไม่ได้ บุคคลจะแก้ตัวว่าไม่รู้กฎหมายเพื่อให้ตนเองพ้นความรับผิดทางอาญาตาม ป.อ. มาตรา ๖๔ ไม่ได้ ยิ่งเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจจะอ้างว่าตนไม่ทราบว่ากฎหมายบัญญัติว่าห้ามค้นในเวลากลางคืน ตนไม่รู้จึงเป็นการกระทำที่ไม่มีเจตนากระทำความผิด โดยแม้เป็นกากรกระทำที่รู้สำนึกในการกระทำแต่ตนไม่ได้ประสงค์ต่อผลในการที่จะไปบุกรุกหรือกระทำการอันไม่ชอบด้วยกฎหมาย ตาม ป.อ. มาตรา ๕๙วรรคสอง ดังนี้อ้างไม่ได้
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น