ค้นหาบล็อกนี้

วันเสาร์ที่ 6 สิงหาคม พ.ศ. 2559

“ค่าเลี้ยงชีพ”

๑. หย่าขาดกันโดยทำบันทึกในรายงานประจำวันตำรวจและได้จดทะเบียนหย่า สามีต้องจ่ายค่าเลี้ยงชีพตามที่ตกลงกันไว้ ถ้าภรรยาไม่ยอมรับ สามีขอวางทรัพย์ได้ตามกฎหมาย มิใช่หนี้ระงับไปก่อนวางทรัพย์ ภรรยาจึงฟ้องบังคับให้สามีจ่ายค่าเลี้ยงชีพตามยอมได้ ข้อตกลงเกี่ยวกับค่าเลี้ยงชีพหลังการหย่าไม่ใช่สัญญาระหว่างสมรส
แต่ถ้าจดทะเบียนหย่าไปแล้วแต่ไม่ได้เรียกค่าเลี้ยงชีพ ภายหลังจึงไปขอให้อีกฝ่ายจ่ายค่าเลี้ยงชีพ อีกฝ่ายปฏิเสธ ได้ เพราะไม่มีความสัมพันธ์ใดๆกันแล้ว ถ้าจะตกลงกันเรื่องค่าเลี้ยงชีพก็ต้องตกลงก่อนหย่า คำพิพากษาฏีกา ๑๓๕๖/๒๕๒๒
ข้อสังเกต ๑. กรณีที่จะได้ “ ค่าเลี้ยงชีพ” อันเนื่องมาจากการหย่า นั้นต้องเป็นการฟ้องหย่า เพราะเหตุวิกลจริต หรือเป็นโรคติดต่ออย่างร้ายแรง ตาม ป.พ.พ. มาตรา ๑๕๒๗ แต่กฎหมายไม่ได้บัญญัติไว้โดยตรงว่า “การหย่าโดยความยินยอม” สามารถเรียกค่าเลี้ยงชีพได้ การที่ตกลงหย่ากันโดยกำหนดให้ฝ่ายชายจ่ายค่าเลี้ยงชีพนั้น ไม่มีกฎหมายรองรับไว้โดยตรง แต่ก็ถือเป็นการทำสัญญาแบบหนึ่ง ซึ่งไม่ได้มีบัญญัติไว้ในกฎหมายว่าให้ทำได้ และก็ไม่มีกฏหมายบัญญัติห้ามไว้เช่นกัน แต่สัญญาจ่ายค่าเลี้ยงชีพนี้ ก็ไม่ได้ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีงามของประชาชนหรือมีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฏหมายหรือเป็นการพ้นวิสัย ตาม ป.พ.พ. มาตรา ๑๕๐ จึงเป็นสัญญาอย่างหนึ่งที่คู่กรณีเสนอสนองตรงกันก็มีผลใช้บังคับได้ เมื่อไม่มีกฎหมายบัญญัติไว้ จึงไม่มีแบบว่าต้องกระทำอย่างไร ต้องทำเป็นหนังสือหรือมีหลักฐานเป็นหนังสือ หรือไม่ ดังนั้นการตกลงด้วยวาจาหรือทำเป็นบันทึกไว้ที่สถานีตำรวจก็เป็นหลักฐานได้ว่ามีการตกลงเช่นนั้นกันจริง แต่เมื่อการไปตกลงที่สถานนีตำรวจไม่ใช่การหย่าที่ถูกต้องตามกฎหมายเพราะการหย่าที่ถูกต้องตามกฎหมายต้องไปกระทำที่ว่าการอำเภอเพื่อที่จะได้มีการแก้ไขในทะเบียนการสมรส การไปขอหย่าที่สถานีตำรวจจึงไม่มีผลเพราะไม่อาจแก้ไขทะเบียนสมรสได้ แต่ในคำพิพากษาฏีกานี้นอกจากไปจดทะเบียนหย่าที่สถานีตำรวจแล้วยังไปจดทะเบียนหย่าที่ว่าการอำเภออีก การหย่าจึงถูกต้องสมบรูณ์
๒.การหย่าที่จะได้รับค่าเลี้ยงชีพต้องเป็นการ “ ฟ้องหย่า” ไม่ใช่ “หย่าโดยความยินยอม” แต่การหย่าโดยความยินยอมสามารถเรียกร้องกันได้ตามข้อสังเกตข้อ ๑ ตามที่กล่าวมาแล้ว ส่วนการฟ้องหย่าสามารถเรียกค่าเลี้ยงชีพได้ตามกฎหมาย ป.พ.พ. มาตรา ๑๕๒๖ หากปรากฏว่าการหย่าทำให้อีกฝ่ายยากจนลง เพราะไม่มีรายได้พอจากทรัพย์สินหรือจากการงานที่เคยทำอยู่ระหว่างสมรส อีกฝ่ายจะขอให้ฝ่ายที่ต้องรับผิดจ่ายค่าเลี้ยงชีพได้ โดยค่าเลี้ยงชีพนี้ศาลจะ “ให้เพียงใด” หรือ “ไม่ให้” ก็ได้ ป.พ.พ. มาตรา ๑๕๒๖
๓.หากพฤติการณ์ รายได้ ฐานะของคู่กรณีเปลี่ยนแปลงไป ศาลจะสั่งแก้ไขในเรื่องค่าเลี้ยงชีพ โดยสามารถเพิกถอน ลด เพิ่ม หรือกลับให้ค่าเลี้ยงดูอีกก็ได้
ในกรณีที่ศาลไม่ให้ค่าเลี้ยงชีพ เพราะอีกฝ่ายไม่อยู่ในฐานะที่จะให้ค่าเลี้ยงชีพในขณะนั้น หากพฤติการณ์ รายได้ หรือฐานะของอีกฝ่ายได้เปลี่ยนแปลงไป และพฤติการณ์ รายได้ หรือฐานะของผู้เรียกร้องอยู่ในสภาพที่ควรได้รับค่าเลี้ยงชีพ ผู้เรียกร้องอาจร้องขอให้ศาลเปลี่ยนแปลงคำสั่งในคดีนั้นได้ใหม่ ป.พ.พ. มาตรา ๑๕๒๖,๑๕๙๘/๓๙
๔.ค่าเลี้ยงชีพให้ชำระเป็นเงินโดยวิธีชำระเป็นครั้งคราวตามที่กำหนด เว้นแต่คู่กรณีจะตกลงให้ชำระเป็นอย่างอื่น หรือโดยวิธีอื่น หากไม่มีการตกลงกันหรือมีเหตุพิเศษ เมื่อฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งร้องขอและศาลเห็นสมควร จะกำหนดให้ค่าเลี้ยงชีพเป็นอย่างอื่นหรือโดยวิธีอื่น โดยจะให้ชำระเป็นเงินด้วยหรือไม่ก็ได้
ในกรณีขอค่าเลี้ยงชีพ เมื่อมีเหตุพิเศษและศาลเห็นสมควรเพื่อประโยชน์แก่บุตร จะกำหนดให้บุตรได้รับค่าเลี้ยงชีพ โดยประการใด นอกจากที่คู่กรณีตกลงกันหรือนอกจากที่ฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดร้องขอ เช่นให้ไปอยู่ในสถานศึกษา หรือวิชาชีพโดยให้ผู้ที่มีหน้าที่ตำชำระค่าเลี้ยงชีพออกค่าใช้จ่ายในการนี้ ป.พ.พ. มาตรา ๑๕๒๖,๑๕๙๘/๔๐
สิทธิ์ในการได้รับค่าเลี้ยงชีพ จะสละ หรือโอนไม่ได้ และไม่อยู่ในบังคับความรับผิดในการบังคับคดี ปงพ.พ. มาตรา ๑๕๙๘/๔๑,๑๕๒๖
๕.การหย่าขาดต้องไปทำการหย่าที่ว่าการอำเภอ ไม่ใช่ไปจดทะเบียนหย่าที่สถานีตำรวจ สถานีตำรวจอาจเป็นได้แค่เพียงรับเป็นประจำวันว่าคู่กรณีมีความประสงค์ที่จะหย่ากันโดยมีข้อตกลงกันอย่างไรเท่านั้น หากไปตกลงกันที่สถานีตำรวจแล้วย่อมไม่ใช่การหย่าขาดตามกฎหมาย เมื่อไม่ใช่การหย่าขาดตามกฎหมายหากฝ่ายชายไม่ยอมจ่ายค่าเลี้ยงชีพ ก็ไม่มีอะไรที่จะไปบังคับให้ฝ่ายชายต้องไปจ่าย เพราะเมื่อไม่ใช่การหย่าที่ถูกต้องตามกฎหมาย ถือไม่มีการหย่า เมื่อไม่มีการหย่าก็ไม่มีกรณีที่ต้องจ่ายค่าเลี้ยงชีพตามที่ตกลงกัน
๖.การที่จะให้จ่ายค่าเลี้ยงชีพต้องเป็นกรณีที่หย่าแล้วมาเรียกร้องคือต้องมีการเรียกร้องก่อนหย่า มิใช่ว่าหย่าขาดไปแล้วจึงมาเรียกร้องเพราะเมื่อหย่าขาดกันแล้วก็ไม่มีเหตุอะไรที่ฝ่ายชายต้องจ่ายค่าเลี้ยงชีพให้ฝ่ายหญิง
๗.เมื่อสมัครใจหย่าแล้วต่างฝ่ายต่างไม่มีหน้าที่ต้องอุปการะเลี้ยงดูซึ่งกันและกันอีกต่อไป ทั้งค่าเลี้ยงชีพกฏหมายให้เรียกร้องได้เฉพาะกรณีฟ้องหย่าต่อศาล ซึ่งศาลต้องวินิจฉัยเหตุแห่งการหย่าว่าเป็นความผิดฝ่ายใด หากไม่มีการเรียกร้องค่าเลี้ยงชีพกันไว้ในคดีฟ้องหย่า สิทธิ์การเรียกร้องค่าเลี้ยงชีพเป็นอันสิ้นสุดลง ส่วนในกรณีที่ไม่มีคดีฟ้องหย่าโดยคู่สมรสตกลงหย่ากันนั้นเอง คู่กรณีก็ชอบที่จะทำความตกลงในเรื่องค่าเลี้ยงชีพกันไว้ เมื่อสัญญาหย่าระหว่างโจทก์จำเลยไม่ได้มีการตกลงเรื่องค่าเลี้ยงชีพกันไว้ โจทก์จะมาเรียกร้องค่าเลี้ยงชีพในภายหลังไม่ได้ คำพิพากษาฏีกา ๑๒๒๘/๒๕๒๓..................นั้นก็คือหากได้ค่าเลี้ยงชีพต้องตกลงก่อนหย่า หากหย่าไปแล้วมาเรียกร้องในภายหลังก็ไม่มีสิทธิ์เรียกร้อง เพราะเมื่อหย่าแล้วก็ไม่มีสิทธิ์ที่จะมาเรียกร้องอะไรกันอีกในภายหลัง

ไม่มีความคิดเห็น: