ค้นหาบล็อกนี้

วันพฤหัสบดีที่ 11 สิงหาคม พ.ศ. 2559

"พยานในพินัยกรรมลงลายมือชื่อภายหลัง"

พยานที่ลงชื่อรับรองในพินัยกรรม ๒ คน ต้องลงลายมือชื่อรับรองลายมือชื่อผู้ทำพินัยกรรมไว้ในขณะนั้นเป็นสำคัญ การที่พยานไม่ว่าคนหนึ่งคนใดหรือทั้งสองคนลงลายมือชื่อในพินัยกรรมโดยไม่เห็นเหตุการณ์ในขณะทำพินัยกรรม แต่มาลงลายมือชื่อในภายหลังจึงไม่ชอบด้วยกฏหมาย ทำให้พินัยกรรมตกเป็นโมฆะ แม้ต่อมาภายหลังพยานในพินัยกรรมจะสอบถามผู้ทำพินัยกรรมได้ความว่า ผู้ทำพินัยกรรมมีความประสงค์จะทำพินัยกรรมจริง ก็ไม่มีผลทำให้พินัยกรรมที่เป็นโมฆะแล้วกลับมาเป็นพินัยกรรมที่สมบรูณ์ชอบด้วยกฏหมายได้ คำพิพากษาฏีกา ๑๑๐๓๔/๒๕๕๓
ข้อสังเกต ๑. การทำพินัยกรรมต้องมีพยานลงลายมือชื่อรับรองลายมือชื่อผู้ทำพินัยกรรม โดยพยานต้องลงลายมือชื่อรับรองลายมือชื่อของผู้ทำพินัยกรรมไว้ " ในขณะนั้น " ตาม ป.พ.พ. มาตรา ๑๖๕๖
๒.เมื่อขณะทำพินัยกรรม พยานไม่ได้รู้เห็นในการทำพินัยกรรม แล้วมาลงชื่อในภายหลัง แม้ต่อมาจะมาสอบถามผู้ทำพินัยกรรม และผู้ทำพินัยกรรมยอมรับว่าได้ทำพินัยกรรมจริงก็ตาม แต่เมื่อพยานไม่ได้ลงลายมือชื่อในขณะทำพินัยกรรม พินัยกรรมตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา ๑๗๐๕ ไปแล้ว ไม่อาจทำให้พินัยกรรมที่ตกเป็นโมฆะกลายเป็นพินัยกรรมที่สมบรูณ์ได้เพราะเหตุสอบถามผู้ทำพินัยกรรมแล้วผู้ทำพินัยกรรมยอมรับว่าทำพินัยกรรมจริง
๓.เมื่อพินัยกรรมตกเป็นโมฆะเพราะไม่ได้ทำตามที่กฏหมายบัญญัติไว้ ทรัพย์มรดกย่อมตกแก่ทายาทโดยธรรมเสมือนหนึ่งว่าไม่มีการทำพินัยกรรมไว้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา๑๖๒๐ ซึ่งอาจต้องมีการคืนทรัพย์ที่รับไป เพราะเป็นการได้มาโดยปราศจากมูลหนี้ตามกฏหมาย จึงต้องคืนทรัพย์ให้ทายาทโดยธรรมในฐาน "ลาภมิควรได้ " ตาม ป.พ.พ. มาตรา ๔๐๖,๔๑๒ ถึง ๔๑๘

ไม่มีความคิดเห็น: