ค้นหาบล็อกนี้

วันพฤหัสบดีที่ 11 สิงหาคม พ.ศ. 2559

"ชักปืนจ้องแล้วเก็บ"

ผู้เสียหายที่ ๑ที่ ๒ ใช้รถแบ็คโฮขุดเจาะถนนเพื่อก่อสร้างอุโมงระบายน้ำตามสัญญาที่ทำไว้กับกรุงเทพมหานครบริเวณถนนที่เป็นทางเข้าออกบริษัทผู้ต้องหา ผู้ต้องหาขอให้หยุดการขุดเจาะถนน ผู้เสียหายไม่สนใจได้ขุดเจาะต่อไป ผู้ต้องหาชักปืนพกสั้นเล็งไปที่ผู้เสียหายสั่งให้หยุดเจาะถนนไม่ได้ยิงปืนขู่หรือยิงผู้ใด การที่ผู้ต้องหาร้องขอให้ผู้เสียหายหยุดเจาะถนน แต่ผู้เสียหายไม่สนใจทำการขุดถนนต่อไป หากเกิดความเสียหายต่อธุรกิจของผู้ตองหาอย่างไรผู้ต้องหาชอบที่จะดำเนินการใช้สิทธิ์เพื่อป้องกันความเสียหาย การที่ผู้ต้องหาชักปืนจ้องเล็งไปที่ผู้เสียหายพร้อมสั่งให้หยุดเจาะถนน แม้ไม่ได้ยิงปืนขู่หรือยิงผู้ใด เมื่อผู้เสียหายหยุดเจาะถนนก็เก็บปืนใส่กระเป๋า เป็นความผิดต่อเสรีภาพ เพราะผู้ต้องหามีเจตนาทำให้ผู้เสียหายกลัวว่าจะเกิดอันตรายต่อชีวิตร่างกายจนผู้เสียหายยอมหยุดเจาะถนน สำหรับความผิดฐานทำให้ผู้อื่นเกิดความตกใจกลัวโดยการขู่เข็ญ ตาม ป.อ. มาตรา ๓๙๒ มีอายุความ ๑ ปี คดีขาดอายุความแล้ว ชี้ขาดให้ฟ้องผู้ต้องหาฐานขมขืนใจให้ผู้อื่นกระทำการ ไม่กระทำการหรือจำยอมต่อสิ่งใดโดยทำให้กลัวว่าจะเกิดอันตรายต่อชีวิตร่างกาย เสรีภาพของผู้ถูกขมขืนใจโดยมีอาวุธ และยุติการดำเนินคดีกับผู้ต้องหาฐานทำให้ผู้อื่นเกิดความกลัวหรือตกใจโดยการขู่เข็ญ ชี้ขาดความเห็นแย้ง ๑๐/๒๕๕๒
ข้อสังเกต ๑.ชักปืนออกมาเล็งไปที่ผู้เสียหาย โดยไม่ได้ยิงปืนขู่หรือยิงไปที่ผู้ใด จนผู้เสียหายหยุดเจาะถนน เป็นการขมขืนใจให้ผู้เสียหายกระทำการ ไม่กระทำการหรือจำยอมหยุดเจาะถนน โดยทำให้กลัวว่าจะเกิดอันตรายต่อชีวิตร่างกายจนผู้เสียหายจำยอมหยุดเจาะถนน เป็นความผิดฐานขมขืนใจฯ โดยมีอาวุธ ตาม ป.อ. มาตรา ๓๐๙ วรรค ๒
๒.ส่วนความผิดฐานทำให้ผู้อื่นตกใจกลัวโดยการขู่เข็ญระวางโทษจำคุกไม่เกิน ๑ เดือนห่รือปรับไม่เกิน ๑,๐๐๐ บาทหรือทั้งจำทั้งปรับ มีอายุความ ๑ ปี ตาม ป.อ. มาตรา ๙๕(๕) เมื่อไม่ได้ฟ้องภายใน ๑ ปี คดีขาดอายุความ สิทธิ์นำคดีอาญามาฟ้องระงับไป จึงต้องสั่งยุติการดำเนินคดีในข้อหาดังกล่าว ไม่ได้ใช้คำสั่งไม่ฟ้องผู้ต้องหาในข้อหาดังกล่าว
๓.การชักปืนแล้วเล็งไปที่ผู้อื่นมีคำพิพากษาฏีกา ที่วินิจฉัยว่าเป็นพยายามฆ่า และไม่เป็นพยายามฆ่า
๔.แม้ผู้ต้องหาได้รับความเสียหายที่เกิดจากการขุดถนนอย่างไร ก็ชอบที่จะใช้สิทธิ์ทางศาลเพื่อป้องกันความเสียหายอันเกิดแก่ตนได้ ไม่ใช่ใช้ปืนขู่บุคคลอื่น การขุดเจาะถนนทำอุโมงค์ของกรุงเทพมหานครไม่ใช่พยันตรายที่เกิดจากการละเมิดกฏหมายที่จะอ้างิสิทธิ์ " ป้องกัน" หรือ " จำเป็น" ได้ แต่หากผู้ต้องหาได้รับความเสียหายอย่างไรอันเป็นการละเมิดสิทธิ์ผู้ต้องหาอย่างไร ก็เป็นเรื่องที่ต้องใช้สิทธิ์ทางศาลเพื่อระงับความเสียหายที่เกิดขึ้นกับตน

ไม่มีความคิดเห็น: