จำเลยกับพวกหลอกว่าเป็นพนักงานเร่งรัดหนี้สินของธนาคารมาที่บ้านผู้เสียหายขณะที่สามีผู้เสียหายไม่อยู่ แจ้งว่าสามีผู้เสียหายค้างค่างวดสามงวด มาติดตามค่างวดที่ค้างชำระ หากไม่ชำระเงินจะเอารถไปโดยขอเรียกค่าติดตามรถจำนวน ๓,๐๐๐ บาท แต่ผู้เสียหายไม่มีเงิน จำเลยสอบถามว่าผู้เสียหายมีเงินเท่าไหร่ ผู้เสียหายบอกมีเงิน ๒,๓๐๐ บาท จำเลยพูดว่าถ้าไม่งั้นจะเอารถไป ผู้เสียหายกลัวจะถูกยึดรถจึงมอบเงินให้จำเลยกับพวก ๒,๓๐๐ บาท การกระทำของจำเลยกับพวกเป็นการขู่เข็ญว่าจะทำอันตรายต่อทรัพย์สินของผู้ถูกขู่เข็ญแล้ว ไม่จำเป็นที่ผู้ขู่เข็ญต้องกระทำต่อทรัพย์สินผู้ขู่เข็ญจนเสียรูปทรงหรือเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมหรือใช้การไม่ได้หรือทำให้เสื่อมราคาดังที่จำเลยฏีกา การที่จำเลยพูดขู่เข็ญให้ผู้เสียหายจ่ายเงินค่าติดตามรถคืนหากไม่ยอมให้จะยึดรถไป เป็นการขู่เข็ญว่าในทันใดนั้นจะทำอันตรายต่อทรัพย์สินของผู้ถูกขู่เข็ญคือรถกระบะแล้ว จนผู้เสียหายเกิดความกลัวและยอมมอบเงินให้ไป การกระทำของจำเลยเป้นความผิดฐานกรรโชกทรัพย์ คำพิพากษาฏีกา ๕๑๔๖/๒๕๕๗
ข้อสังเกต ๑. จำเลยกับพวกไม่ได้เป็นเจ้าหน้าที่ธนาคาร ไม่ใช่พนักงานเร่งรัดหนี้สินของธนาคาร และธนาคารไม่มีนโยบายให้พนักงานเร่งรัดหนี้สินไปเก็บค่างวดเช่าซื้อที่ค้าง และค่าติดตามทวงถามค่างวดที่ค้างชำระจากลูกค้าโดยตรงแต่อย่างใด
๒.ผู้เสียหายและสามีไม่ได้ทำสัญญาเช่าซื้อรถจากธนาคารแต่อย่างใด จำเลยมาตอนที่สามีผู้เสียหายไม่อยู่และผู้เสียหายไม่ทราบเรื่องเกี่ยวกับรถที่เช่าซื้อแต่อย่างใด
๓.การที่จำเลยฏีกาว่า “ การทำอันตรายต่อทรัพย์สินที่ถูกขู่เข็ญ” นั้นต้องเป็นการกระทำให้ทรัพย์เปลี่ยนรูปทรงหรือเปลี่ยนรูปทรงไปจากเดิมหรือใช้การไม่ได้หรือทำให้เสื่อมค่าเสื่อมราคา นั้น ซึ่งเมื่อดูในตัวบท มาตรา ๓๓๗ของประมวลกฏหมายอาญา ใช้คำว่า “ ขู่เข็ญว่าจะทำอันตรายต่อ..........ทรัพย์สินของผู้ถูกขู่เข็ญหรือของบุคคลที่สาม จนผู้ถูกขู่เข็ญยอมเช่นว่านั้น เห็นว่า การที่จำเลยแจ้งว่าตนเป็นพนักงานเร่งรัดหนี้สินของธนาคาร พร้อมแจ้งให้ชำระค่างวดที่ค้าง ๓ งวด พร้อมทั้งค่าติดตามทวงถาม โดยหากไม่มีเงินชำระจะเอารถของผู้เสียหายไป จึงเป็นการขู่เข็ญด้วยประการใดๆให้ผู้เสียหายให้ หรือ ยอมจะให้เงินอันเป็นประโยชน์ในลักษณะเป็นทรัพย์สินแล้วโดยขู่เข็ญว่าจะทำอันตรายแก่รถที่เช่าซื้อด้วยการยึดรถไป จนผู้เสียหายซึ่งถูกขู่เข็ญใจยอมมอบเงินให้จำเลย แม้จะไม่ได้มอบเงินทั้ง ๓,๐๐๐ บาทตามที่จำเลยเรียกร้องก็ตาม แต่การที่ไม่ให้เงิน ๓,๐๐๐ บาทเพราะผู้เสียหายไม่มีเงิน ๓,๐๐๐บาท คงมีเงินเพียง ๒,๓๐๐ บาท จึงได้มอบให้จำเลยไป ๒,๓๐๐ บาท การขู่เข็ญว่าจะทำอันตรายต่อทรัพย์สิน เพียงแค่ “ ขู่ว่าจะทำอันตรายต่อทรัพย์สิน” จนผู้เสียหายกลัวการถูกขู่เข็ญยอมมอบเงินหรือประโยชน์ในลักษณะที่เป็นทรัพย์สินให้ไป เพราะกลัวทรัพย์ของตนจะถูกทำอันตราย ก็เป็นความผิดสำเร็จแล้ว แม้จะมอบเงินให้ไปเพราะกลัวรถถูกยึด แต่ไม่ได้กลัวว่ารถจะถูกทำลายก็ตาม ก็เป็นความผิดสำเร็จแล้ว
๔.การขู่เข็ญว่าจะทำอันตรายต่อทรัพย์สินของผู้ถูกขู่เข็ญ จนผู้ถูกขู่เข็ญยอมเช่นว่านั้นเป็นความผิดสำเร็จทันที เมื่อผู้เสียหายเกิดความกลัวและยอมส่งมอบทรัพย์สินให้ หาใช่ว่าเมื่อขู่แล้วต้องมาทำลายทรัพย์ที่ขู่แต่อย่างใดไม่ เพียงแค่ผู้เสียหายเกิดความกลัวแล้วยอมทำตามที่จำเลยบอกก็เป็นความผิดสำเร็จแล้ว หาใช่ต้องมาทำลายทรัพย์จนทรัพย์ เปลี่ยนรูปทรงไปจากเดิมหรือใช้การไม่ได้หรือทำให้เสื่อมค่าเสื่อมราคาแต่อย่างใดไม่
๕.การขู่เข็ญว่าจะทำอันตรายแก่ทรัพย์ของผู้ถูกขู่เข็ญจนผู้ถูกขู่เข็ญยอมตามที่ถูกขู่เข็ญนั้น ไม่จำเป็นต้องยอมตามที่ถูกขู่เข็ญทั้งหมดอาจยอมเป็นบางส่วนก็ได้ เมื่อจำเลยขู่เข็ญจะเอาเงิน ๓,๐๐๐บาท แต่ผู้เสียหายไม่มี จำเลยได้สอบถามรู้ว่าผู้เสียหายมีเงินเพียง ๒,๓๐๐ บาทก็เอาเงินดังกล่าวไป แม้การขู่เข็ญจะได้เงินไปไม่ครบตามจำนวนที่ทำการขู่เข็ญก็เป็นความผิดสำเร็จแล้ว แต่หากไม่ได้เงินไปเพราะผู้เสียหายไม่กลัวการถูกขู่เข็ญดังกล่าวย่อมไม่เป็นความผิดสำเร็จ เป็นเพียงความผิดฐานพยายาม เพราะได้ลงมือกระทำการไปตลอดแล้ว แต่การกระทำไม่บรรลุผลเพราะผู้เสียหายไม่กลัวและไม่ยอมมอบเงินตามที่ถูกขู่เข็ญ
๖.การที่จำเลยหลอกลวงผู้เสียหายด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จว่าจำเลยและพวกเป็นเจ้าหน้าที่ธนาคารมาติดตามทวงหนี้ค่าเช่าซื้อที่ค้างและเรียกค่าติดตามทวงถาม ซึ่งความจริงแล้วจำเลยกับพวกไม่ใช่เจ้าหน้าที่ธนาคาร และธนาคารไม่ได้เคยมอบหมายให้จำเลยมาติดตามทวงถามหนี้และไม่เคยมอบหมายให้เก็บเงินค่าทวงถาม และผู้เสียหายหรือสามีผู้เสียหายไม่เคยทำสัญญาเช่าซื้อจากธนาคารก็ตาม และแม้จะได้ไปซึ่งเงินซึ่งเป็นทรัพย์สินของผู้เสียหายจากการหลอกลวงดังกล่าวก็ตาม แต่เมื่อการกระทำดังกล่าวมีการขมขื่นใจผู้เสียหายให้ยอมให้ หรือยอมจะให้ตนหรือผู้อื่นได้ประโยชน์ในลักษณะเป็นทรัพย์สินโดยพูดขู่เข็ญว่าจะทำอันตรายต่อทรัพย์ของผู้เสียหายซึ่งถูกข่มขืนใจ จนผู้ถูกข่มขืนใจยอมเช่นว่านั้น การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานกรรโชกทรัพย์ตาม ปอ. มาตรา ๓๓๗ หาใช่เป็นความผิดฐานฉ้อโกงไม่ เพราะความผิดฐานฉ้อโกงเป็นแต่การใช้อุบายหลอกแล้วได้ทรัพย์ไปจากผู้เสียหายโดยไม่มีการขมขืนใจว่าจะทำอันตรายแก่ทรัพย์สินของผู้เสียหาย เมื่อคดีนี้มีการขมขืนใจว่าจะทำอันตรายต่อทรัพย์สินผู้เสียหายด้วยการยึดรถไป การกระทำดังกล่าวจึงเป็นความผิดฐานกรรโชกทรัพย์ หาใช่ความผิดฐานฉ้อโกงไม่
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น