ค้นหาบล็อกนี้

วันพุธที่ 3 สิงหาคม พ.ศ. 2559

“รับเกินหรือรับโดยไม่มีสิทธิ”

๑.ฟ้องขอให้คืนค่าเช่าที่เบิกไปโดยไม่มีสิทธิ์เบิกจากทางราชการ โจทก์ไม่มีหน้าที่ต้องจ่าย จำเลยไม่มีสิทธิ์ได้รับ แต่จำเลยรับไปโดยสุจริตเข้าใจว่าตนมีสิทธิ์ เงินที่รับไปจึงปราศจากมูลอันจะอ้างกฎหมายได้ เป็นทางให้โจทก์เสียเปรียบ โจทก์ฟ้องเรียกคืนฐานลาภมิควรได้ภายในอายุความ ๑ ปีนับแต่โจทก์รู้ว่าตนมีสิทธิ์จะเรียกคืน คำพิพากษาฏีกา ๓๖๒๔/๒๕๕๑
๒.ฟ้องให้จำเลยคืนเงินค่าเช่าบ้านที่เบิกโดยไม่มีสิทธิ์ โจทก์ที่เป็นเจ้าของทรัพย์ฟ้องเรียกทรัพย์สินที่จำเลยได้เบิกโดยมิชอบในฐานะเจ้าของย่อมมีสิทธิ์ติดตามเอาคืนได้ ซึ่งไม่มีกำหนดอายุความ ไม่ใช่การเรียกร้องให้คืนทรัพย์ในฐานลาภมิควรได้จึงนำอายุความตาม ป.พ.พ. มาตรา ๔๑๙ มาใช้ไม่ได้ คำพิพากษาฏีกา ๒๐๔๐/๒๕๕๑
๓.สภาบัน บ. เป็นส่วนราชการตามกฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณในสังกัดกระทรวง ว.จ่ายเงินประจำตำแหน่งหัวหน้าภาควิชาให้ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาของสถาบัน บ. โดยบุคคลดังกล่าวไม่มีสิทธิ์ได้รับหรือได้รับเกินสิทธิ์ เพราะตำแหน่งดังกล่าวไม่ใช่ตำแหน่งผู้บริหารตามกฎ กพอ การได้รับเงินประจำตำแหน่งของข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา พ.ศ.๒๕๕๖ จึงไม่ชอบ สถาบัน บ. มีบันทึกข้อความแจ้งให้ครูและบุคลาการทางการศึกษาที่ได้รับเงินเกินหรือได้รับโดยไม่มีสิทธิ์นำเงินมาคืนหรือติดต่อขอผ่อนชำระภายในกำหนด หากไม่ชำระภายในกำหนดจะเรียกดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปีนับแต่วันที่ได้รับแจ้งเป็นหนังสือ แต่ปรากฏว่าข้าราชการครูบางรายไม่ยอมคืน โต้แย้งว่าตนมีสิทธิ์ได้รับเพราะเป็นเงินประจำตำแหน่งดังกล่าวโดยชอบ จึงหารือมายังสนง.อัยการสูงสุดว่า จะบังคับชำระหนี้โดยการใช้คำสั่งทางปกครองจะได้หรือไม่อย่างไร? หากจะฟ้องต่อศาลต้องฟ้องที่ศาลใด? และมีอายุความเท่าไหร่? สนง.อัยการสูงสุดพิจารณาแล้วเห็นว่า สภาบัน บ.ออกหนังสือโดยไม่ได้อาศัยอำนาจตามบทกฎหมายใดในการออกบันทึกข้อความเรียกให้คืนเงินที่รับไปโดยไม่มีสิทธิ์หรือรับเกินสิทธิ์ บันทึกข้อความให้คืนเงินดังกล่าวที่ให้คืนเงินดังกล่าวจึงเป็นเพียงหนังสือทวงถามให้ชำระหนี้แต่ไม่ใช่คำสั่งทางปกครอง หากผู้รับแจ้งไม่คืนเงินภายในกำหนดก็ไม่อาจใช้วิธีการทางปกครองได้ เป็นเรื่องสิทธิ์หน้าที่บุคคลทางแพ่ง ชอบที่จะฟ้องต่อศาลยุติธรรมที่มีอำนาจ ไม่เข้าหลักเกณท์ที่ศาลปกครองจะดำเนินคดี ในส่วนของอายุความนั้นมีคำพิพากษาวินิจฉัยไว้สองแนวโดยแนวแรกวินิจฉัยว่าเป็นเรื่องลาภมิควรได้ต้องฟ้องภายใน ๑ ปีนับแต่เวลาที่รู้ว่าตนมีสิทธิ์หรือภายใน ๑๐ ปีนับแต่เวลาที่สิทธิ์นั้นได้มีขึ้น ส่วนแนวที่สองวินิจฉัยว่าเป็นเรื่องติดตามเอาคืนจากผู้ไม่มีสิทธิ์ตาม ป.พ.พ. มาตรา ๑๓๓๖ ซึ่งไม่มีอายุความ ทั้งนี้ขึ้นกับแนวการดำเนินคดีตามข้อเท็จจริงในแต่ละคดีเป็นการเฉพาะปรากฏตามคำพิพากษาฏีกา ๓๖๒๔/๒๕๕๑และ๒๐๔๐/๒๕๕๑ สำนวนข้อหารือสนง.อัยการสูงสุด สำนักงานที่ปรึกษากฎหมาย เลขรับที่ ห ๑๕๑/๒๕๕๗
๔. ผู้ถูกฟ้องคดีละทิ้งหน้าที่ราชการจนหน่วยราชการมีคำสั่งไล่ออกจากราชการย้อนหลังตั้งแต่วันที่ทิ้งหน้าที่ราชการ อันมีผลเป็นการเพิกถอนสิทธิ์ประโยชน์ต่างในช่วงละทิ้งงานจึงต้องคืนเงินในส่วนนี้ เป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ปฏิบัติ คดีอยู่ในอำนาจศาลปกครอง คำสั่งศาลปกครองสูงสุด ๔๗๓/๒๕๕๕,๒๒๘/๒๕๕๕
๕.จ่ายเงินสมนาคุณโดยผิดหลง จึงมีหนังสือแจ้งให้นำเงินที่รับไปคืน เมื่อไม่ได้บรรยายมาในฟ้องว่า โจทก์มีสิทธิ์ติดตามเอาคืนจากจำเลยอันเป็นการใช้สิทธิ์ตาม ป.พ.พ. มาตรา ๑๓๓๖ จึงเป็นการฟ้องเรียกคืนฐานลาภมิควรได้ต้องฟ้องภายในเวลา ๑ ปีนับแต่เวลาที่รู้ว่าตนมีสิทธิ์เรียกร้อง คำพิพากษาฏีกา ๓๓๙๓/๒๕๓๕
๖.จ่ายเงินชดเชยโดยเข้าใจว่าจำเลยมีสิทธิ์ตามข้อบังคับสถาบันการบินพลเรือน แต่จริงๆแล้วจำเลยไม่มีสิทธิ์เพราะไม่ได้รับความเห็นชอบจากกระทรวงการคลัง เป็นการรับโดยปราศจากมูลหนี้ตามกฎหมายเป็นเรื่องลาภมิควรได้ ไม่ใช่กรณีที่เอาทรัพย์ไปยึดถือโดยไม่มีสิทธิ์แล้วโจทก์ติดตามเอาทรัพย์คืน คำพิพากษาฏีกา ๔๙๐๕/๒๕๔๕
๗.เจ้าหน้าที่ธนาคารนำเงินซึ่งเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์เข้าบัญชีเงินฝากจำเลยโดยผิดพลาด โดยเข้าใจว่าจำเลยมีสิทธิ์รับเงินตามเช็ค และจำเลยได้ถอนเงินไป โจทก์ที่เป็นเจ้าของเงินมีสิทธิ์ติดตามเอาคืนจากจำเลยที่ไม่มีสิทธิ์ยึดถือไว้โดยไม่มีอายุความ คำพิพากษาฏีกา ๓๑๑๓/๒๕๕๔
ข้อสังเกต ๑.ในเรื่องการฟ้องเรียกคืนเงินค่าเช่าบ้านของหน่วยราชการที่ฟ้องเอาคืนจากข้าราชการที่ไม่มีสิทธิ์เบิก มักเป็นกรณีที่ข้าราชการคนนั้นรับราชการเป็นครั้งแรกซึ่งจะไม่สามารถเบิกค่าเช่าบ้านได้ หรือข้าราชการที่มีบ้านอยู่แล้วแต่ไม่อยู่บ้านเอาบ้านตัวเองให้คนอื่นเช่าแล้วมาเบิกค่าเช่าบ้าน กรณีนี้เป็นกรณีที่ทางราชการจะฟ้องเรียกเอาคืนซึ่งค่าเช่าบ้านซึ่งมีคำพิพากษาฏีกาอยู่สองแนว แนวแรกเห็นว่า การเบิกค่าเช่าบ้านโดยไม่มีสิทธิ์หรือเบิกเกินสิทธิ์ที่ตนมี ค่าเช่าที่ไม่มีสิทธิ์เบิกหรือค่าเช่าที่เบิกเกินสิทธิ์ของตนเองนั้น ศาลฏีกาแนวแรกมองว่าเป็นการได้ทรัพย์(เงินค่าเช่า)โดยปราศจากมูลอันจะอ้างได้ตามกฎหมาย เป็นทางให้ทางราชการเสียเปรียบ เป็นลาภมิควรได้ จึงต้องคืนเงินนั้นให้ทางราชการตาม ป.พ.พ. มาตรา ๔๐๖ เมื่อเป็นเรื่องลาภมิควรได้จึงมีอายุความ ๑ ปีนับแต่ที่รู้ว่าตนมีสิทธิ์เรียกคืนหรือภายใน ๑๐ ปีนับแต่เวลาที่สิทธิ์เรียกคืนได้เกิดขึ้น ป.พ.พ. มาตรา ๔๑๙ แต่คำพิพากษาฏีกาแนวที่สองมองว่า เป็นกรณีที่เจ้าของคือทางราชการติดตามเอาทรัพย์คือเงินค่าเช่าบ้านที่เบิกเกินหรือเบิกโดยไม่มีสิทธิ์คืน จึงเป็นกรณีที่เจ้าของเรียกเอาทรัพย์คืนจึงไม่มีกำหนดอายุความ ซึ่งในกรณีนี้มีนักกฎหมายบางคนมองว่าเมื่อการติดตามเอาทรัพย์คืนตาม ป.พ.พ. มาตรา ๑๓๓๖ กฎหมายมี่ได้กำหนดอายุความไว้จึงต้องใช้อายุความ ๑๐ ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา ๑๙๓/๓๐ อย่างไรก็ดีกันเหนียวไว้ก่อน การเรียกคืนค่าเช่าในกรณีนี้จึงควรฟ้องภายใน ๑ ปีกันเหนียวไว้เพราะหากไปเจอศาลที่ถือตามฏีกาแนวแรกว่ามีอายุความ ๑ ปี แล้วเราไปฟ้องเมื่อเกิน ๑ ปีคดีขาดอายุความ จึงกันเหนียวไว้ก่อนโดยฟ้องภายใน ๑ ปี
๓.คำสั่งทางปกครองที่กำหนดให้ชำระเงิน ถึงกำหนดแล้วไม่ชำระ ให้มีหนังสือเตือนให้ชำระภายในเวลาที่กำหนด แต่ต้องไม่น้อยกว่า ๗ วัน ถ้าไม่ปฏิบัติตามคำเตือน เจ้าหน้าที่อาจใช่มาตรการทางปกครองยึดอายัดทรัพย์สินของผู้นั้นออกขายทอดตลาดเพื่อนำเงินมาชำระหนี้ พรบ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครองฯ มาตรา ๕๗ การที่สถาบัน บ. มีหนังสือแจ้งให้นำเงินที่ไม่มีสิทธิ์ได้รับหรือได้รับเกินสิทธิ์มาคืน ไม่ใช่การใช้อำนาจตามกฎหมายของเจ้าหน้าที่ที่มีผลเป็นการสร้างนิติสัมพันธ์ระหว่างบุคคล เพื่อ ก่อ เปลี่ยนแปลง โอนสงวนหรือระงับซึ่งสิทธิ์หรือมีผลกระทบต่อสถานภาพของสิทธิ์หรือหน้าที่ของบุคคลใด ไม่ว่าเป็นการถาวรหรือชั่วคราว เช่น การสั่งการ การอนุญาต การอนุมัติ การวินิจฉัย การร้องทุกข์ การรับรอง การจดทะเบียน หรือการอื่นๆตามที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวง ดังนั้นหนังสือบอกกล่าวให้นำเงินที่ได้รับเกินสิทธิ์หรือไม่มีสิทธิ์ได้รับจึงไม่ใช่ “ คำสั่งทางปกครอง” ตามวิเคราะห์ศัพท์ในมาตรา ๕ ของพรบ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครองฯ หนังสือดังกล่าวมีสถานะเป็นเพียงหนังสือทวงถามให้ชำระหนี้ แต่ไม่ใช่คำสั่งทางปกครอง แต่เป็นเรื่องสิทธิ์และหน้าที่ระหว่างบุคคลทางแพ่ง ไม่ใช่กรณีพิพาทที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการไปโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย หรือละเลยหน้าที่ตามกฎหมายที่กำหนดให้ต้องปฏิบัติหรือปฏิบัติหน้าที่ล่าช้า หรือเป็นการกระทำละเมิดหรือความรับผิดอื่นที่เกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย กฎ คำสั่งทางปกครอง หรือปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายล่าช้าเกินไป และไม่ใช่กรณีพิพาทเกี่ยวสัญญาทางปกครองหรือเป็นกรณีที่กฎหมายกำหนดให้หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐเพื่อบังคับให้บุคคลกระทำ ละเว้นกระทำ หรือกรณีที่มีกฎหมายกำหนดให้อยู่ในอำนาจศาลปกครอง ตาม พรบ.จัดตั้งศาลปกครองฯ มาตรา ๙ คดีจึงไม่อยู่ในอำนาจศาลปกครอง แต่เป็นเรื่องสิทธิ์หน้าที่ความรับผิดในทางแพ่งที่ต้องเสนอคดีต่อศาลยุติธรรม
๔. ผู้ถูกฟ้องคดีละทิ้งหน้าที่ราชการ ถือเป็นการไม่อุทิศเวลาของตนให้ทางราชการและจงใจละทิ้งทอดทิ้งงานราชการตามมาตรา ๘๒(๕),๘๕พรบ.ระเบียบข้าราชการพลเรือนฯ เป็นความผิดวินัยตามมาตรา ๘๔ และหากละทิ้งหน้าที่ราชการติดต่อกันในคราวเดียวกันเกินกว่า ๑๕ วันโดยไม่มีเหตุอันควรถือเป็นความผิดวินัยอย่างร้ายแรง ตามมาตรา ๘๕(๓)จนหน่วยราชการมีคำสั่งไล่ออกจากราชการ เมื่อถูกไล่ออกจากราชการแล้วสิทธิ์หน้าที่ที่ได้รับหรือใช้สิทธิ์เช่น ค่ารักษาพยาบาล ค่าเล่าเรียนบุตร ย่อมเป็นอันหมดไป โดยเมื่อถูกไล่ออกจากราชการแล้วคำสั่งนี้มีผลย้อนหลังตั้งแต่วันที่ทิ้งหน้าที่ราชการ อันมีผลเป็นการเพิกถอนสิทธิ์ประโยชน์ต่างในช่วงละทิ้งงานจึงต้องคืนเงินในส่วนนี้ เป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ปฏิบัติ ตามมาตรา ๙(๓) พรบ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครองฯ คดีอยู่ในอำนาจศาลปกครอง
๕.จ่ายเงินสมนาคุณโดยผิดหลง จึงมีหนังสือแจ้งให้นำเงินที่รับไปคืน เมื่อไม่ได้บรรยายมาในฟ้องว่า โจทก์มีสิทธิ์ติดตามเอาคืนจากจำเลยอันเป็นการใช้สิทธิ์ตาม ป.พ.พ. มาตรา ๑๓๓๖ จึงเป็นการฟ้องเรียกคืนฐานลาภมิควรได้ต้องฟ้องภายในเวลา ๑ ปีนับแต่เวลาที่รู้ว่าตนมีสิทธิ์เรียกร้อง นั้นก็คืออยู่ที่การตั้งรูปเรื่องในการฟ้องคดีว่าต้องการตั้งรูปเรื่องให้เป็นกรณีเจ้าของทรัพย์ติดตามเอาทรัพย์คืนหรือเป็นกรณีเรียกคืนฐานลาภมิควรได้ อยู่ที่การบรรยายฟ้องและการนำสืบพยาน
๖.การจ่ายเงินชดเชยตามข้อบังคับสถาบันการบินพลเรือนจะจ่ายได้ต่อเมื่อได้รับความเห็นชอบจากกระทรวงการคลังก่อน การที่จ่ายเงินดังกล่าวไปโดยเข้าใจว่าจำเลยมีสิทธิ์ตามข้อบังคับสถาบันการบินพลเรือน โดยไม่ได้รับความเห็นชอบจากกระทรวงการคลังก่อน จึงไม่เกิดสิทธิ์ที่จะรับเงินดังกล่าวได้ เมื่อรับเงินดังกล่าวไปจึง เป็นการรับโดยปราศจากมูลหนี้ตามกฎหมายเป็นทางให้โจทก์เสียเปรียบจึงต้องคืนเงินดังกล่าว เป็นเรื่องลาภมิควรได้ ไม่ใช่กรณีที่เอาทรัพย์ไปยึดถือโดยไม่มีสิทธิ์แล้วโจทก์ติดตามเอาทรัพย์คืน
๗.เจ้าหน้าที่ธนาคารนำเงินซึ่งเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์เข้าบัญชีเงินฝากจำเลยโดยผิดพลาด โดยเข้าใจว่าจำเลยมีสิทธิ์รับเงินตามเช็ค และจำเลยได้ถอนเงินไป โจทก์ที่เป็นเจ้าของเงินมีสิทธิ์ติดตามเอาคืนจากจำเลยที่ไม่มีสิทธิ์ยึดถือไว้โดยไม่มีอายุความ นิติสัมพันธ์ระหว่างโจทก์ซึ่งเป็นธนาคารกับจำเลยซึ่งเป็นลูกค้าที่เปิดบัญชีเงินฝากกระแสรายวัน มีความสัมพันธ์กันในเรื่องฝากทรัพย์ ซึ่งใน ป.พ.พ. มาตรา ๖๗๒ ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้รับฝากไม่จำต้องคืนเงินอันเดียวกับที่ฝาก แต่ต้องคืนให้ครบจำนวน หรือแม้เงินฝากจะสูญหายด้วยเหตุสุดวิสัยผู้รับฝากก็จำต้องคืนเงินเท่าจำนวนที่ฝากพร้อมดอกเบี้ย ดังนั้นการที่เจ้าหน้าที่ของโจทก์ผู้รับฝาก(เจ้าหน้าที่ของผู้รับฝากคือเจ้าหน้าที่ธนาคาร) กระทำการโดยผิดพลาดนำเงินของซึ่งเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์เข้าบัญชีเงินฝากของจำเลยตามเช็คที่จำเลยนำเข้าบัญชีโดยเข้าใจผิดว่าจำเลยมีสิทธิ์รับเงินตามเช็ค ทั้งที่เงินตามเช็คต้องเข้าบัญชีของโจทก์(ธนาคาร) โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในเงินดังกล่าวย่อมสามารถติดตามเอาเงินดังกล่าวคืนได้จากจำเลยที่ไม่มีสิทธิ์ยึดถือไว้ตาม ป.พ.พ. มาตรา ๑๓๓๖ การที่จำเลยได้ครอบครองเงินในบัญชีของตน เพราะความผิดพลาดของเจ้าหน้าที่ธนาคารจึงเป็นกรณีที่จำเลยได้ทรัพย์(เงิน)นั้นมาไว้ในความครอบครองเพราะผู้อื่นส่งมอบให้โดยสำคัญผิด แล้วจำเลยเบียดบังเอาเงินนั้นไปโดยการถอนเงินจากธนาคารย่อมเป็นความผิดฐานยักยอกทรัพย์ที่ผู้อื่นส่งมอบให้โดยสำคัญผิดตาม ป.อ. มาตรา ๓๕๒วรรคสองแล้ว

ไม่มีความคิดเห็น: