จำเลยจัดสรรที่ดินเพื่อสร้างที่อยู่เพื่อจำหน่ายมีประชาชนหลายรายรวมทั้งผู้เสียหายทั้งสามเข้าทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง มีการชำระเงินในวันจอง วันทำสัญญาจะซื้อจะขาย และชำระค่างวดแก่จำเลยตามสัญญา แต่จำเลยไม่ดำเนินการก่อสร้างให้แล้วเสร็จ ผู้เสียหายจึงมาร้องเรียนต่อคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ซึ่งได้ทำสำนวนขอความอนุเคราะห์ให้อัยการยื่นฟ้องแทน ก่อนพิจารณาศาลแพ่งกรุงเทพใต้ เห็นว่ามูลคดีผู้บริโภคแต่ละรายสามารถแบ่งแยกกันได้ ไม่มีผลประโยชน์ร่วมกันในมูลความแห่งคดี จึงต้องพิจารณาทุนทรัพย์ผู้บริโภคแต่ละรายเป็นเกณท์ เมื่อทุนทรัพย์ผู้บริโภคแต่ละรายไม่เกิน ๓๐๐,๐๐๐ บาท ไม่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาศาลแพ่งกรุงเทพใต้ จึงให้เพิกถอนคำสั่งที่รับฟ้องแล้วมีคำสั่งไม่รับฟ้อง คืนฟ้องแก่โจทก์ให้ไปยื่นฟ้องต่อศาลที่มีเขตอำนาจ ส่วนค่าขึ้นศาลได้รับการยกเว้นจึงไม่ต้องสั่ง ค่าฤชาธรรมเนียมอื่นเป็นพับ จำหน่ายคดีจากสารบบ พิจารณาแล้วเห็นว่า พรบ.คุ้มครองผู้บริโภคเป็นกฎหมายที่คุ้มครองผู้บริโภคโดยรวมซึ่งมีฐานะทางเศรษฐกิจด้อยกว่าผู้ประกอบธุรกิจ รัฐจึงจัดให้มีคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคเป็นผู้ดำเนินคดีเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิ์ผู้บริโภค การที่คณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค เห็นควรเข้าดำเนินคดีเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิ์ผู้บริโภค หรือเมื่อได้รับคำร้องขอจากผู้บริโภคที่ถูกละเมิดสิทธิ์ก็ต่อเมื่อเห็นว่า การดำเนินคดีนั้นจะเป็นประโยชน์แก่ผู้บริโภคเป็นส่วนรวม การดำเนินคดีเกี่ยวกับคดีคุ้มครองผู้บริโภค มีวัตถุประสงค์เพื่อให้มีความสะดวก รวดเร็ว และประหยัดไม่เสียค่าธรรมเนียม โดยมีคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคเป็นโจทก์ดำเนินคดีแทนผู้บริโภคเป็น่ส่วนรวม คดีตามพรบ.คุ้มครองผู้บริโภค จึงเป็นคดีที่มีลักษณะพิเศษต่างจากคดีแพ่งทั่วไป เมื่อคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคเป็นโจทก์ฟ้องคดีในลักษณะรวมกลุ่มคดี ดังนั้นหลักเกณท์ในการพิจารณาว่าทุนทรัพย์ที่ฟ้องอยู่ในเขตอำนาจศาลใด จึงต้องพิจารณาคำนวณทุนทรัพย์ในลักษณะ “ทุนทรัพย์รวมกลุ่มคดี” ไม่ใช่คิดแยกทุนทรัพย์ของผู้บริโภคแต่ละรายตามที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัย คดีนี้แม้ทุนทรัพย์ที่ผู้บริโภคเรียกร้องมาแต่ละรายมีจำนวนรายละไม่เกิน ๓๐๐,๐๐๐ บาท แต่ก็มีทุนทรัพย์รวมกลุ่มคดีจำนวน ๖๑๐,๗๐๙ บาท จึงเป็นคดีมีทุนทรัพย์อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาศาลแพ่งกรุงเทพใต้ พิพากษากลับให้ศาลชั้นต้นรับคดีโจทก์ไว้พิจารณาและดำเนินการต่อไป ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฏีกาให้เป็นพับ คำพิพากษาฏีกา ๗๔๙๓/๒๕๕๓
ข้อสังเกต ๑ ผู้ซื้อหรือรับบริการจากผู้ประกอบธุรกิจ หรือผู้ได้รับการเสนอหรือชักชวนจากผู้ประกอบกิจการ (ซึ่งก็คือผู้ขาย ผู้ผลิตเพื่อขาย สั่งหรือนำเข้าราชอาณาจักรเพื่อขายหรือผู้ซื้อซึ่งขายสินค้าต่อ รวมถึงผู้ประกอบกิจการโฆษณาด้วยซึ่งถือเป็นผู้ประกอบกิจการ) เพื่อให้ผู้ซื้อซื้อสินค้าหรือบริการ รวมทั้งผู้ใช้สินค้าหรือบริการ แม้จะเสียค่าตอบแทนหรือไม่ก็ตามถือเป็น “ ผู้บริโภค” ตามความหมายในพรบ.คุ้มครองผู้บริโภคฯ
๒.” ผู้ซื้อ” ตามความหมายในพรบ.คุ้มครองผู้บริโภคฯ นั้น ไม่ได้หมายความเฉพาะเป็น ผู้ซื้อเท่านั้น แต่ยังหมายความรวมถึง “การเช่า เช่าซื้อ หรือได้มาด้วยประการใดๆโดยให้ค่าตอบแทนเป็นเงินหรือผลประโยชน์อย่างอื่น” ด้วย และในทางกลับกัน “ ผู้ขาย” ไม่ได้หมายความเพียงเป็นผู้ขายเท่านั้น แต่ยังหมายความรวมไปถึง “ ผู้ให้เช่า ผู้ให้เช่าซื้อ ผู้จัดหาไม่ว่าด้วยประการใดๆ โดยเรียกค่าตอบแทนเป็น “ เงิน “ หรือ “ ผลประโยชน์อย่างอื่น “ ตลอดจน การเสนอหรือชักชวนเพื่อการดังกล่าวด้วย
๓..เมื่อคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค “เห็นควร “ เข้าดำเนินคดีที่มีการละเมิดสิทธิ์ของผู้บริโภค หรือได้รับคำร้องขอของผู้บริโภคที่ถูกละเมิดสิทธิ์ หากเห็นว่าการดำเนินคดีเป็นประโยชน์แก่ผู้บริโภคเป็นส่วนรวม ก็มีอำนาจแต่งตั้งพนักงานอัยการโดยความเห็นชอบของอัยการสูงสุด หรือข้าราชการในสนง.คุ้มครองผู้บริโภคซึ่งมีวุฒิไม่ต่ำกว่าปริญญาตรีทางกฎหมายเป็น “ เจ้าหน้าที่คุ้มครองผู้บริโภค” เพื่อดำเนินคดีทางแพ่งและทางอาญาแก่ผู้ที่ละเมิดสิทธิ์ของผู้บริโภคในศาล โดยมีอำนาจฟ้องเรียกทรัพย์หรือค่าเสียหายให้แก่ผู้บริโภคได้ โดยในการดำเนินคดีทางศาลกฏหมายให้ยกเว้นค่าฤชาธรรมเนียมทั้งปวง
๔. กรณีที่ไม่ได้ปฏิบัติการตามบทบัญญัติในกฏหมายในข้อที่มุ่งหมายที่จะยังการให้เป็นไปด้วยความยุติธรรมหรือเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยในการยื่นหรือส่งคำคู่ความ เช่น คำฟ้องที่ยื่นต่อศาลเพื่อตั้งประเด็นแห่งคดี เมื่อศาลเห็นว่าการยื่นคำคู่ความดังกล่าวไม่ได้เป็นไปตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย เมื่อศาลเห็นสมควรจะเพิกถอนการพิจารณาที่ผิดระเบียบได้ตาม ป.ว.พ. มาตรา ๒๗ ซึ่งในคดีนี้ศาลแพ่งกรุงเทพใต้พิจารณาแล้วเห็นว่ามูลคดีผู้บริโภคแต่ละรายสามารถแบ่งแยกกันได้ ไม่มีผลประโยชน์ร่วมกันในมูลความแห่งคดี จึงต้องพิจารณาทุนทรัพย์ผู้บริโภคแต่ละรายเป็นเกณท์ เมื่อทุนทรัพย์ผู้บริโภคแต่ละรายไม่เกิน ๓๐๐,๐๐๐ บาท ไม่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาศาลแพ่งกรุงเทพใต้ จึงให้เพิกถอนคำสั่งที่รับฟ้องที่ศาลแพ่งกรุงเทพใต้เห็นว่าผิดระเบียบในเรื่องการรับคำคู่ ความ แล้วมีคำสั่งไม่รับฟ้อง คืนฟ้องแก่โจทก์ให้ไปยื่นฟ้องต่อศาลที่มีเขตอำนาจ(คือศาลแขวง) เป็นการเพิกถอนคำสั่งรับฟ้อง เป็นไม่รับฟ้อง ซึ่งเป็นการเพิกถอนกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบ
๕.คดีที่มีทุนทรัพย์ไม่เกิน ๓๐๐,๐๐๐บาท อยู่ในอำนาจพิจารณาของศาลแขวง ส่วนศาลจังหวัดหรือศาลที่มีอำนาจพิจารณาคดีในศาลจังหวัดพิจารณาคดีที่มีทุนทรัพย์เกิน ๓๐๐,๐๐๐บาทขึ้นไป
๖.ในคดีนี้ศาลแพ่งกรุงเทพใต้พิจารณาแล้วเห็นว่าทุนทรัพย์ของผู้บริโภคแต่ละรายไม่ถึง ๓๐๐,๐๐๐บาท อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลแขวง ไม่อยู่ในอำนาจของศาลแพ่งกรุงเทพใต้ จึงให้จำหน่ายคดีจากสารบบความ ซึ่งศาลอุทธรณ์พิพากษายืน แต่ศาลฏีกาเห็นว่า การดำเนินคดีเกี่ยวกับคดีคุ้มครองผู้บริโภค มีวัตถุประสงค์เพื่อให้มีความสะดวก รวดเร็ว และประหยัดไม่เสียค่าธรรมเนียม โดยมีคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคเป็นโจทก์ดำเนินคดีแทนผู้บริโภคเป็น่ส่วนรวม คดีตามพรบ.คุ้มครองผู้บริโภค จึงเป็นคดีที่มีลักษณะพิเศษต่างจากคดีแพ่งทั่วไป เมื่อคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคเป็นโจทก์ฟ้องคดีในลักษณะรวมกลุ่มคดี ดังนั้นหลักเกณท์ในการพิจารณาว่าทุนทรัพย์ที่ฟ้องอยู่ในเขตอำนาจศาลใด จึงต้องพิจารณาคำนวณทุนทรัพย์ในลักษณะ “ทุนทรัพย์รวมกลุ่มคดี” ไม่ใช่คิดแยกทุนทรัพย์ของผู้บริโภคแต่ละรายตามที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัย เพราะเมื่อการดำเนินคดีนั้นจะเป็นประโยชน์แก่ผู้บริโภคเป็นส่วนรวม ช่วยเหลือผู้บริโภค่ส่วนใหญ่ที่เสียเปรียบต่อผู้ประกอบกิจการ กฎหมายจึงให้มีคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคเพื่อช่วยเหลือผู้บริโภคซึ่งอาจไม่มีเงิน ไม่มีความรู้ ไม่มีค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดี แม้แต่ในกฎหมายเองก็ยังไม่ให้เรียกค่าฤชาธรรมเนียมในการดำเนินคดี ดังนั้นเมื่อทุนทรัพย์ในผู้บริโภครวมกันทั้งคดีมีทุนทรัพย์ ๖๑๐,๗๐๙ บาท เกินกว่า ๓๐๐,๐๐๐บาท ศาลแพ่งกรุงเทพใต้จึงมีอำนาจพิจารณาคดีได้ ศาลฏีกาจึงพิพากษากลับให้ศาลแพ่งกรุงเทพใต้รับคดีโจทก์ไว้พิจารณาต่อไป
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น