ค้นหาบล็อกนี้

วันเสาร์ที่ 6 สิงหาคม พ.ศ. 2559

”ยังไม่มีฟ้อง”

โจทก์ให้พนักงานธุรการนำบันทึกการฟ้องคดีอาญาด้วยวาจามายื่นต่อพนักงานรับฟ้อง โจทก์ไม่มาศาล ศาลยกฟ้อง คดีนี้เป็นคดีการพนันซึ่งอยู่ในอำนาจศาลแขวง ซึ่งโจทก์อาจฟ้องด้วยวาจาหรือทำเป็นหนังสือก็ได้ หากฟ้องด้วยวาจา โจทก์ต้องแจ้งให้ศาลทราบถึงชื่อโจทก์ ชื่อที่อยู่และสัญชาติจำเลย ฐานความผิด การกระทำที่อ้างว่าจำเลยได้กระทำความผิด ข้อเท็จจริงและลายละเอียดเกี่ยวกับเวลาและสถานที่และอื่นๆที่เกี่ยวข้องพอสมควรที่จะทำให้จำเลยเข้าใจข้อหาได้ดี และมาตราในกฎหมายซึ่งบัญญัติว่าการกระทำเช่นนั้นเป็นความผิด ซึ่งศาลจะบันทึกใจความไว้เป็นหลักฐานและให้คู่ความลงลายมือชื่อไว้ โจทก์จึงต้องมาศาลกล่าวฟ้องจำเลยต่อศาลด้วยวาจาให้ได้สาระดังกล่าว ข้อเท็จจริงได้ความว่า เมื่อวันที่ ๑๘ ก.พ.๒๕๔๕ มีการนำบันทึกการฟ้องคดีอาญาด้วยวาจามายื่นต่อศาล ซึ่งเจ้าหน้าที่ศาลได้ประทับตราพนักงานรับฟ้องไว้โดยสภาพบันทึกดังกล่าว ไม่ใช่การฟ้องคดีอาญาต่อศาลด้วยวาจา แต่เป็นเอกสารหลักฐานเพื่อจะฟ้องจำเลยเป็นคดีอาญาด้วยวาจา และเพื่อความสะดวกที่ศาลจะบันทึกการฟ้องด้วยวาจาลงในแบบพิมพ์ของศาลได้รวดเร็วขึ้นเท่านั้น ข้อเท็จจริงได้ความตามที่ศาลบันทึกไว้ตอนท้ายของเอกสารบันทึกการฟ้อง คำรับสารภาพ คำพิพากษา ณ. วันที่ ๑๘ ก.พ. ๒๕๔๕ ว่า ศาลออกนั่งพิจารณาเวลา ๑๖.๓๕ นาฬิกา เจ้าหน้าที่ประกาศเรียกโจทก์แล้ว โจทก์ไม่มาศาลจึงให้ยกฟ้องโจทก์ และรายงานเจ้าหน้าที่ฉบับลงวันที่ ๑๘ ก.พ.๒๕๔๕ และฉบับลงวันที่ ๒๘ ก.พ. ๒๕๔๕ กับรายงานกระบวนพิจารณาฉบับลงวันที่ ๑ มี.ค.๒๕๔๕ ยืนยันว่า โจทก์ไม่มาศาล ดังนั้นจึงไม่อาจมีการฟ้องคดีด้วยวาจาได้เพราะโจทก์ไม่มาศาล ศาลจึงไม่อาจพิจารณาพิพากษาลงโทษจำเลยได้ พิพากษายกฟ้องก็ไม่ได้เพราะยังไม่มีฟ้อง ข้อความที่ระบุว่า ศาลจึงพิพากษาว่า จำเลยมีผิดตามฟ้อง ริบของกลางให้จำเลยจ่ายสินบนนำจับกึ่งหนึ่งของค่าปรับ จำเลยให้การรับสารภาพลดโทษให้กึ่งหนึ่ง ซึ่งปรากฏอยู่ก่อนข้อความที่ศาลบันทึกว่า ศาลออกนั่งพิจารณา เวลา ๑๖.๓๕ นาฬิกา นั้น เห็นว่า เป็นข้อความของแบบพิมพ์ศาลที่ศาลลืมขีดออกเท่านั้น ส่วนที่ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องก็ไม่ถูกต้อง ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบจึงชอบแล้วพิพากษายืน คำพิพากษาฏีกา ๔๐๗๔/๒๕๔๘
ข้อสังเกต ๑. ความผิดตามพรบ.การพนันฯ ระวางโทษจำคุกไม่เกิน ๓ ปี ปรับไม่เกิน ๖๐,๐๐๐ บาท คดีอยู่ในอำนาจศาลแขวง หรือศาลจังหวัดที่มีอำนาจในการพิจารณาคดีแขวง(กรณีในจังหวัดนั้นยังไม่เปิดศาลแขวง)
๒. พรบ.ให้นำวิธีพิจารณาคดีอาญาในศาลแขวงมาใช้บังคับในศาลจังหวัดฯ ให้นำบทบัญญัติในการพิจารณาพิพากษาศาลแขวงมาใช้บังคับในศาลจังหวัดในท้องที่ยังไม่ได้มีการเปิดศาลแขวง
๓. ตามพรบ.จัดตั้งศาลแขวงฯ มาตรา ๑๙ บัญญัติให้ “โจทก์อาจฟ้องด้วย “วาจา” หรือทำเป็น “หนังสือ” ก็ได้ หากฟ้องด้วยวาจา โจทก์ต้องแจ้งให้ศาลทราบถึงชื่อโจทก์ ชื่อที่อยู่และสัญชาติจำเลย ฐานความผิด การกระทำที่อ้างว่าจำเลยได้กระทำความผิด ข้อเท็จจริงและลายละเอียดเกี่ยวกับเวลาและสถานที่และอื่นๆที่เกี่ยวข้องพอสมควรที่จะทำให้จำเลยเข้าใจข้อหาได้ดี และมาตราในกฎหมายซึ่งบัญญัติว่าการกระทำเช่นนั้นเป็นความผิด ซึ่งศาลจะบันทึกใจความไว้เป็นหลักฐานและให้คู่ความลงลายมือชื่อไว้ “
๔. หากโจทก์ไม่มาตามกำหนดนัด ศาลยกฟ้องได้ตาม ป.ว.อ. มาตรา ๑๖๖,๑๘๑ และพรบ.วิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงฯ มาตรา ๓
๕.ทางปฏิบัติพนักงานอัยการจะทำบันทึกหลักฐานการฟ้องด้วยวาจาซึ่งมีลายละเอียดตามข้อ ๓. เพื่อนำไปยืนต่อเจ้าหน้าที่รับฟ้องของศาล ซึ่งเจ้าหน้าที่ศาลได้ประทับตราพนักงานรับฟ้องให้ไว้เป็นหลักฐาน แล้วนำไปเสนอต่อศาล ศาลก็จะให้เจ้าหน้าที่ศาลบันทึกหลักฐานการฟ้องเอาไว้อีกซึ่งมีลายละเอียดตามหลักฐานการฟ้องด้วยวาจาที่อัยการยื่นไว้ ซึ่งศาลจะออกนั่งพิจารณาคดีโดยเรียกตัวจำเลยมาสอบถามว่าตามที่โจทก์ฟ้องคดีด้วยวาจาดังกล่าวที่ศาลให้เจ้าหน้าที่ศาลบันทึกหลักฐานการฟ้องเอาไว้อีกซึ่งมีลายละเอียดตามหลักฐานการฟ้องด้วยวาจาที่อัยการยื่นไว้ นั้น จำเลยจะให้การอย่างไร ทางปฏิบัติมักไม่มีการเรียกอัยการโจทก์ไปสอบถาม เพราะเมื่อนำบันทึกการฟ้องด้วยวาจาไปยื่น ศาลก็ต้องรวบรวมหลายคดีเพื่อออกพิจารณาไปพร้อมกันซึ่งก็ไม่ทราบว่ายาวนานเท่าไหร่ เพราะเมื่อเป็นศาลจังหวัดที่พิจารณาคดีที่อยู่ในเขตอำนาจศาลแขวงด้วย มีทั้งคดีที่ขึ้นศาลจังหวัดและคดีที่พิจารณาในศาลแขวง ซึ่งก็มีจำนวนมาก หากจะให้อัยการไปนั่งรอศาลออกนั่งพิจารณา ก็ไม่ต้องทำงานอย่างอื่นอีก ทางปฏิบัติเมื่อนำบันทึกการฟ้องด้วยวาจาไปยื่นแล้ว พนักงานอัยการก็กลับไปทำงาน หากบันทึกการฟ้องด้วยวาจามีปัญหาอะไร หรือศาลต้องการให้แก้ไขอะไรก็จะให้เจ้าหน้าที่หน้าบัลลังโทรศัพท์มาตาม หากไม่มีปัญหาอะไรศาลจะบันทึกลายละเอียดต่างๆตามที่ปรากฏไว้ในบันทึกหลักฐานการฟ้องด้วยวาจาไว้ และออกนั่งพิจารณาพิพากษา เมื่อศาลพิพากษาแล้ว อัยการโจทก์จะตามไปเซ็นชื่อทีหลัง เป็นการอำนวยความสะดวกให้กันและกัน เว้นแต่ว่า หลักฐานการฟ้องด้วยวาจานั้นมีปัญหาหรือศาลต้องการให้โจทก์แก้ไขอะไร ก็จะโทรศัพท์แจ้งให้โจทก์มาแก้ไข หรือศาลต้องการสำนวนการสอบสวนของพนักงานสอบสวนที่อยู่ที่พนักงานอัยการเพื่อประกอบดุลพินิจในการลงโทษก็จะเรียกพนักงานอัยการมาพบเพื่อขอสำนวนการสอบสวนเพื่อประกอบการพิจารณาของศาล ดังนั้นแล้วในทางปฏิบัติ การที่โจทก์จะไม่ไปศาลโดยเจ้าหน้าที่ศาลประกาศหน้าศาลน่าจะไม่มีกรณีอย่างนี้เกิดขึ้น เพราะทางปฏิบัติจะใช้การโทรศัพท์ตามอัยการเจ้าของสำนวน หรืออัยการเวรชี้ที่จะดำเนินการดังกล่าว ทั้งในทางปฏิบัติจะมีอัยการอยู่ที่ศาลอยู่แล้ว ซึ่งพนักงานอัยการสามารถดำเนินคดีทางอาญาแทนกันได้ทันทีไม่เหมือนอย่างในคดีแพ่งที่ต้องมีใบแต่งทนายจึงจะสามารถเข้าดำเนินคดีแทนกันได้ แต่คดีอาญาพนักงานอัยการทุกคนสามารถทำแทนกันได้ทันที กรณีที่พนักงานอัยการโจทก์จะไม่ไปศาลจึงแทบไม่มี การที่มีการยกฟ้องในคดีนี้อาจมีลายละเอียดที่ลึกซึ่งซึ่งคงไม่สามารถเขียนบอกได้ว่าเกิดปัญหาอะไรระหว่างอัยการกับศาล
๖.เมื่อบันทึกการฟ้องด้วยวาจาที่อัยการยื่นต่อศาล เพื่อความสะดวกในการที่ศาลจะตรวจสอบและบันทึกคำฟ้อง ซึ่งการฟ้องด้วยการพูดด้วยวาจา ศาลอาจฟังตัวเลขผิดพลาดหรือจดข้อเท็จจริงผิดพลาดได้ การทำบันทึกหลักฐานด้วยวาจาจึงเป็นการอำนวยความสะดวกให้ศาล หากว่าตามกฎหมายแล้วโจทก์ต้องไปแถลงต่อศาลด้วยวาจาหรือนำบันทึกการฟ้องด้วยวาจาไปยื่นต่อศาลเพื่อให้ศาลบันทึกและให้โจทก์ลงชื่อไว้ในฐานะเป็นโจทก์ที่ยื่นฟ้อง เมื่อในคดีดังกล่าวโจทก์ยังไม่ได้ลงชื่อในบันทึกที่ศาลทำไว้เท่ากับยังไม่มีฟ้องโจทก์ ให้ศาลพิจารณา กระบวนการพิจารณาในศาลจึงไม่อาจเกิดขึ้นได้ ดังนั้น แม้โจทก์ไม่มาศาลในวันพิจารณาของศาล ศาลก็ยกฟ้องไม่ได้ คงทำได้เพียงจำหน่ายคดีจากสารบบความเท่านั้น
๗.การพิพากษาของศาลที่พิจารณาคดีแขวงจะมีแบบพิมพ์ว่า จำเลยผิดตามฟ้อง พิพากษาลงโทษจำคุก.......ปี....เดือน.....วัน ริบของกลาง ให้จำเลยจ่ายสินบนนำจับกึ่งหนึ่งของค่าปรับ จำเลยให้การรับสารภาพลดโทษให้กึ่งหนึ่ง คงจำคุก.........ปี.....เดือน......... โทษจำคุกรอการลงโทษไว้....... ปี เป็นแบบฟรอมที่ให้ศาลไว้เติมคำในช่องว่างเพื่อความรวดเร็วและสะดวกในการพิจารณาพิพากษา ข้อความใดไม่ใช้ ศาลก็ขีดฆ่าข้อความดังกล่าวทิ้ง การที่ศาลไม่ได้ขีดข้อความดังกล่าวออกคงเพราะลืม ไม่งั้นจะกลายเป็นว่าในคำพิพากษามีทั้งริบของกลาง จ่ายสินบนนำจับกึ่งหนึ่งของค่าปรับและพิพากษายกฟ้องเพราะโจทก์ไม่มาตามกำหนดนัด ซึ่งจะขัดแย้งกันเพราะมีทั้งลงโทษริบทรัพย์ จ่ายสินบนนำจับซึ่งก็คือการลงโทษจำเลยและยกฟ้องในคดีเดียวกัน

ไม่มีความคิดเห็น: