โจทก์ให้จำเลยซึ่งเป็นพี่น้องของลูกหนี้โจทก์ซึ่งถึงแก่ความตายทำสัญญารับใช้หนี้เพราะจำเลยเป็นพี่น้องของผู้ตาย เท่ากับจำเลยทำสัญญาในฐานะที่จำเลยเป็นทายาทผู้ตาย การที่จำเลยทำสัญญารับใช้หนี้ตามคำพิพากษาศาลแพ่งโดยยอมรับผิดร่วมกองมรดกผู้ตาย โดยมีเงื่อนไขและข้อตกลงว่า เมื่อโจทก์ขายทอดตลาดทรัพย์ที่จำนองได้เพียงใด จำเลยจะชำระหนี้ในส่วนต่างระหว่างหนี้ตามคำพิพากษาและดอกเบี้ยจนถึงวันชำระเสร็จและค่าฤชาธรรมเนียมกับเงินสุทธิ์ที่ได้จากการขายทอดตลาด หากขายทอดตลาดจำนองไม่ได้ภายใน ๑ ปีนับแต่วันทำสัญญา จำเลยจะชำระหนี้แก่โจทก์เป็นวงดจนกว่าจะครบ อันเป็นการเพิ่มความรับผิดของจำเลยในฐานะทายาทเกี่ยวกับทรัพย์สินของผู้ตายที่ตกทอดแก่ตน จึงเป็นข้อตกลงที่มีลักษณะ หรือมีผลให้ข้อตกลงในสัญญาระหว่างจำเลยซึ่งเป็นลูกค้าสินเชื่อ จึงเป็นผู้บริโภคกับโจทก์ซึ่งเป็นผู้ประกอบธุรกิจการค้าที่ทำให้ผู้ประกอบธุรกิจการค้าได้เปรียบคู่สัญญาอีกฝ่ายเกินควรสมควร เพราะจำเลยในฐานะทายาทไม่ต้องรับผิดเกินทรัพย์มรดกที่ตกทอดแก่ตน แต่ข้อสัญญาดังกล่าวให้จำเลยต้องรับผิดเป็นส่วนตัว ซึ่งต้องไปว่ากันในชั้นบังฃคับคดี สัญญารับใช้หนี้แทนจึงเป็น “ สัญญาไม่เป็นธรรม “ และให้มีผลบังคับได้ “ เพียงเท่าที่เป็นธรรมและพอสมควรแก่กรณี “ พรบ.ข้อสัญญาไม่เป็นธรรม ฯ มาตรา ๔ วรรค แรก คำพิพากษาฏีกา ๑๑๗๓๑/๒๕๕๕
ข้อสังเกต ๑.กองมรดกผู้ตาย ได้แก่ทรัพย์สินทุกชนิดของผู้ตาย ตลอดทั้งสิทธิ์ หน้าที่ และความรับผิดต่างๆ เว้นแต่ตามกฎหมายหรือโดยสภาพเป็นการส่วนตัวของผู้ตาย ป.พ.พ. มาตรา ๑๖๐๐
๒. หากจำเลยไม่ได้เป็นทายาทผู้มีสิทธิ์รับมรดกของลูกหนี้ผู้ตาย โดยอาจเป็นทายาทในอันดับท้ายถูกทายาทในอันดับต้นตัดไม่ให้มีสิทธิ์รับมรดกตาม ป.พ.พ. มาตรา ๑๖๓๐ โดยทายาทลำดับต้นตัดทายาทลำดับท้ายไม่ให้รับมรดก หากเป็นเช่นนี้ย่อมไม่มีทรัพย์มรดกตกทอดแก่จำเลยแต่อย่างใด จำเลยจึงไม่มีความผูกพันที่จะชำระหนี้ เพราะทายาทต้องรับผิดต่อผู้ตายเพียงเท่าที่ไม่เกินทรัพย์มรดกตกแก่ตน ป.พ.พ. มาตรา ๑๖๐๑ เมื่อไม่ใช่ทายาทไม่มีทรัพย์มรดกตกแก่ตน จึงไม่มีหน้าที่ต้องชำระหนี้ให้โจทก์แต่อย่างใด หากเป็นกรณีนี้แล้วจำเลยเข้ารับชำระหนี้ถือเป็นการแปลงหนี้ใหม่โดยการเปลี่ยนตัวลูกหนี้ซึ่งเป็นสาระสำคัญแห่งหนี้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา ๓๔๙ โดยทำเป็นสัญญาระหว่างเจ้าหนี้และลูกหนี้คนใหม่ ตาม ป.พ.พ. มาตรา ๓๕๐ จึงเป็นการทำสัญญายอมรับชำระหนี้ทั้งที่ตนไม่มีความผูกพันจำต้องชำระ และหากชำระหนี้ไปแล้วจะสวมสิทธิ์เข้าไล่เบี้ยเอากับทายาทผู้รับมรดกหรือกองมรดกเท่านั้น
๓. แต่หากจำเลยเป็นทายาทที่มีสิทธิ์รับมรดก ก็คงรับผิดในหนี้ของผู้ตายเพียงเท่าที่มรดกตกทอดเท่านั้น การที่จำเลยทำสัญญากับโจทก์โดยรับชำระหนี้แทนจำเลยผู้ตาย เป็นการแปลงหนี้ใหม่โดยการเปลี่ยนตัวลูกหนี้ หนี้เดิมระงับไปเกิดหนี้ใหม่ด้วยการแปลงหนี้ ป.พ.พ. มาตรา ๓๔๙
๔. ข้อสัญญาที่ระบุว่า “เมื่อโจทก์ขายทอดตลาดทรัพย์ที่จำนองได้เพียงใด จำเลยจะชำระหนี้ในส่วนต่างระหว่างหนี้ตามคำพิพากษาและดอกเบี้ยจนถึงวันชำระเสร็จและค่าฤชาธรรมเนียมกับเงินสุทธิ์ที่ได้จากการขายทอดตลาด” จึงเป็นการทำสัญญาว่า การขายทอดตลาดทรัพย์ที่จำนองแล้วได้เงินน้อยกว่าที่ค้างชำระอยู่ ให้จำเลยซึ่งเป็นลูกหนี้ต้องรับผิดในส่วนที่ขาด ซึ่งเป็นการตกลงยกเว้น ป.พ.พ. มาตรา ๗๓๓ ที่บัญญัติว่า การขายทอดตลาดทรัพย์ที่จำนองได้เงินสุทธิ์น้อยกว่าจำนวนเงินที่เป็นหนี้ค้างชำระ ลูกหนี้ไม่ต้องรับผิดในเงินนั้น ซึ่ง ป.พ.พ. มาตรา ๗๓๓ เคยมีคำพิพากษาศาลฏีกาตัดสินว่าสามารถตกลงยกเว้นข้อความดังกล่าวได้ เพราะข้อกฏหมายดังกล่าวไม่ใช่กฏหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีงามของประชาชนจึงสามารถตกลงยกเว้นได้ นั้นก็คือ สามารถทำข้อตกลงว่า หากชำระหนี้ได้เงินสุทธิ์น้อยกว่าจำนวนเงินที่ค้างชำระ ให้ลูกหนี้ต้องรับผิดในส่วนที่ขาดได้ แต่ในกรณีนี้ไม่ใช่การทำสัญญาตกลงยกเว้นความรับผิด ตาม ป.พ.พ. มาตรา ๗๓๓ กับลูกหนี้ผู้จำนองโดยตรงแต่อย่างใด แต่เป็นการกระทำกับจำเลยซึ่งเป็นทายาทผู้ตายซึ่งเป็นลูกหนี้ผู้จำนองโดยยอมรับผิดใช้หนี้แทน เท่ากับทำในนามทายาทซึ่งต้องรับไปทั้งสิทธิ์และหน้าที่ของผู้ตายโดยยอมรับผิดร่วมกับกองมรดกของผู้ตาย ซึ่งดูแล้วน่าจะเป็นการเกินเลยไปเพราะการทำข้อตกลงเช่นว่านี้ควรทำกับลุกหนี้(ผู้ตาย)ตอนทำสัญญาจำนอง ไม่ใช่มาทำตอนหลังจากลูกหนี้ผู้จำนองถึงแก่ความตายไปแล้ว ซึ่งในตอนทำสัญญาจำนองหากไม่มีข้อความนี้ลูกหนี้ไม่ต้องรับผิดเกินกว่าทรัพย์มรดกที่ตกทอดแก่ตน จึงเป็นการทำสัญญาในลักษณะเอาเปรียบคู่กรณีอีกฝ่าย แต่หากว่าในสัญญาจำนองเดิมมีข้อความนี้อยู่แล้วการแปลงหนี้ใหม่โ ดยการเปลี่ยนตัวลูกหนี้และยังคงหลักการดังกล่าวไว้ให้ต้องรับผิดชำระหนี้ในส่วนที่ขาดหายไปจากการขายทอดตลอด ย่อมเป็นการใช้สิทธิ์โดยชอบ
๕.ส่วนข้อสัญญาที่ว่า “ หากขายทอดตลาดจำนองไม่ได้ภายใน ๑ ปีนับแต่วันทำสัญญา จำเลยจะชำระหนี้แก่โจทก์เป็นวงดจนกว่าจะครบ” อันเป็นการเพิ่มความรับผิดของจำเลยในฐานะทายาทเกี่ยวกับทรัพย์สินของผู้ตายที่ตกทอดแก่ตน เพราะหากไม่มีข้อสัญญานี้ อาจขายทอดตลาดที่ดิน ไม่ได้ หรือใช้เวลาในการขายทอดตลาดเป็นเวลาหลายปี ราคาที่ดินสูงขึ้น ซึ่งอาจพอชำระหนี้ หรือมีราคาสูงกว่าหนี้จำนอง ซึ่งฝ่ายเจ้าหนี้ต้องคืนส่วนที่เหลือจากการชำระหนี้ให้ แต่การมาผูกขาดว่าหากขายไม่ได้ภายใน ๑ ปี ให้ชำระหนี้เป็นงวดๆจนครบ ย่อมเป็นการก่อภาระให้เกิดขึ้นจนเกินเหตุ จึงเป็นข้อตกลงที่มีลักษณะ หรือมีผลให้ข้อตกลงในสัญญาระหว่างจำเลยซึ่งเป็นลูกค้าสินเชื่อ จึงเป็นผู้บริโภคกับโจทก์ซึ่งเป็นผู้ประกอบธุรกิจการค้าที่ทำให้ผู้ประกอบธุรกิจการค้าได้เปรียบคู่สัญญาอีกฝ่ายเกินควรสมควร เพราะจำเลยในฐานะทายาทไม่ต้องรับผิดเกินทรัพย์มรดกที่ตกทอดแก่ตน แต่ข้อสัญญาดังกล่าวให้จำเลยต้องรับผิดเป็นส่วนตัว ซึ่งต้องไปว่ากันในชั้นบังคับคดี สัญญารับใช้หนี้แทนจึงเป็นการตกลงกันให้คู่กรณีต้องรับภาระเพิ่มขึ้นกว่าภาระที่มีอยู่ในสัญญา ตามมาตรา ๔(๕) พรบ.ข้อสัญญาไม่เป็นธรรมฯ ข้อสัญญาดังกล่าวจึงเป็น “ สัญญาไม่เป็นธรรม “ จึงมีผลบังคับได้ “ เพียงเท่าที่เป็นธรรมและพอสมควรแก่กรณี ตามพรบ.ข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรมฯ มาตรา ๔
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น