หนังสือมอบอำนาจที่ผู้ต้องหาทำปลอมขึ้น เป็นการมอบอำนาจให้ผู้ต้องหาดำเนินการแทนผู้กล่าวหาในการขอกู้เงินตามกรมธรรม์ ซึ่งบริษัท ท. ได้ทำสัญญากู้ โดยผู้ต้องหาลงชื่อแทนในฐานะผู้รับมอบอำนาจไว้เป็นหลักฐานในการกู้ยืมเงินตามความมุ่งหมายหรือเจตนารมย์ของหนังสือมอบอำนาจ จึงไม่ใช่เอกสารที่เป็นหลักฐานแห่งการ ก่อ เปลี่ยนแปลง โอน สงวน หรือ ระงับซึ่งสิทธิ์ ชี้ขาดไม่ฟ้องผู้ต้องหาฐานปลอมเอกสารสิทธิ์และใช้เอกสารสิทธิ์ แต่สั่งฟ้องผู้ต้องหาฐานปลอมและใช้เอกสารปลอม ซึ่งอยู่ในอำนาจการพิจารณาของศาลแขวง ให้จัดการตามระเบียบการดำเนินคดีอาญาของพนักงานอัยการฯ ข้อ ๕๙ ชี้ขาดความเห็นแย้ง ๗๙/๒๕๕๑
ข้อสังเกต ๑. หนังสือมอบอำนาจเป็นเพียงหนังสือที่ให้กระทำการอย่างใดอย่างหนึ่งแทน ไม่ได้ก่อให้เกิด การ ก่อ เปลี่ยนแปลง โอน หรือ สงวนซึ่งสิทธิ์จึงไม่ใช่เอกสารสิทธิ์
๒.ปลอมและใช้เอกสารสิทธิ์ปลอมระวางโทษจำคุกตั้งแต่ ๖ เดือนถึง ๕ ปีและปรับตั้งแต่๑,๐๐๐ถึง ๑๐,๐๐๐บาท คดีอยู่ในอำนาจของศาลจังหวัด แต่เมื่ออัยการสูงสุดมีคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้องผู้ต้องหาในข้อหานี้ แต่ฟ้องในข้อหาปลอมและใช้เอกสารปลอมตาม ป.อ. มาตรา ๒๖๔,๒๖๘ ระวางโทษจำคุกไม่เกิน ๓ ปี หรือปรับไม่เกิน ๖,๐๐๐บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ คดีอยู่ในอำนาจการพิจารณาคดีของศาลแขวง จึงต้องมีการโอนสำนวนไปยังพนักงานอัยการคดีศาลแขวงเป็นผู้รับไปดำเนินการต่อไป โดยสำนักงานอัยการคดีศาลแขวงต้องลงสารบบ รับความอาญาปรากฏตัวผู้ต้องหาที่ส่งตัวมาเช่นเดียวกับสำนักงานอัยการแห่งแรกที่โอนมา โดยมีหมายเหตุระบุไว้ว่า เป็นสำนวนที่รับโอนมาจากสำนักงานอัยการแห่งใด
๓.ปัญหาเรื่องโอนคดีจากสำนักงานอัยการแห่งหนึ่งไปยังสำนักงานอัยการอีกแห่งหนึ่ง หากกรณีมีข้อโต้เถียงกันขึ้นโดยสำนักงานอัยการที่จะรับโอนคดีไม่ยอมรับโอนคดี ให้ส่งสำนวนให้อธิบดีอัยการภาคเป็นผู้พิจารณาและประสานงานกัน หากอธิบดีภาคไม่สามารถหาข้อยุติได้ ให้เสนอเรื่องพร้อมสำนวนไปยังอัยการสูงสุดเพื่อชี้ขาดต่อไป แต่ในกรณีนี้เป็นการวินิจฉัยชี้ขาดของอัยการสูงสุดให้โอนคดีไป จึงไม่ก่อให้เกิดการโต้เถียงในปัญหาเรื่องข้อกฏหมายที่จะปฏิเสธไม่รับโอนคดี
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น