ค้นหาบล็อกนี้

วันเสาร์ที่ 6 สิงหาคม พ.ศ. 2559

“อธิบายความหมายของข้อความ”

จำเลยซึ่งเป็นพนักงานอัยการฟ้องจำเลยในข้อหาดูหมิ่น หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์โดยบรรยายฟ้องเป็นสองตอน ตอนแรกมีข้อความที่โจทก์อ้างว่า โจทก์เป็นผู้กล่าว ซึ่งได้ระบุข้อความลงในเครื่องหมายอัญประกาศ ส่วนตอนหลังมีใจความเป็นการแปลหรืออธิบายความหมายของข้อความในตอนแรก เมื่อพิจารณาตาม ป.ว.อ. มาตรา ๑๕๘(๕) ประกอบด้วย แสดงว่าข้อความที่พนักงานอัยการระบุไว้ในเครื่องหมายอัญประกาศคือ “ถ้อยคำพูด “ ที่พนักงานอัยการต้องกล่าวไว้ในฟ้องตามบทบัญญัติกฏหมายดังกล่าว และข้อความตอนหลังเป็นการอธิบายความหมายเท่านั้น เมื่อข้อความที่โจทก์อ้างว่าจำเลยบรรยายฟ้องอันเป็นความเท็จ เป็นส่วนหนึ่งของคำบรรยายฟ้องในตอนหลัง และมีลักษณะเป็นการอธิบายข้อความหมายด้วยเช่นกัน จึงเห็นได้ว่า ข้อความที่โจทก์อ้างว่าเป็นเท็จนั้น พนักงานอัยการมีความประ สงค์จะอธิบายความหมายถ้อยคำเหล่านั้น แม้จะใช้ถ้อยคำผิดพลาดคาดเคลื่อนไปบ้าง ก็ไม่อาจถือได้ว่า ยืนยัน ข้อเท็จจริงดังกล่าว การกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิดฐานฟ้องเท็จ ไม่เป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา ๒๐๐ ไม่ถือมีเจตนาหมิ่นประมาทโจทก์ และไม่มีมูลเป็นความผิดตาม ปงอ. มาตรา ๑๕๗ คำพิพากษาฏีกา ๙๗๕/๒๕๓๑
ข้อสังเกต ๑. การบรรยายฟ้องในความผิดฐานหมิ่นประมาทและดูหมิ่น นั้น นอกจากต้องลงข้อความที่มีการอ้างว่ามีการกระทำผิด แล้วต้องอธิบายและแปลความหมายของข้อความนั้นๆว่ามีความหมายอย่างไร คนทั่วไปเข้าใจว่าหมายถึงอะไร มีความหมายอย่างไร ซึ่งเป็นไปตามที่ ป.ว.อ. มาตรา ๑๕๘(๕) ซึ่งในการบรรยายฟ้องต้องต้องระบุถึงการกระทำที่อ้างว่าจำเลยได้กระทำผิด พอสมควรเท่าที่จะทำให้จำเลยเข้าใจข้อหาได้ดี ซึ่งในความผิดฐานดูหมิ่นและหมิ่นประมาทต้องบรรยายลงไปในฟ้องว่า จำเลยกล่าวถ้อยคำว่าอย่างไร ต่อใคร โดยข้อความที่กล่าวนั้นมีความหมายอย่างไรตามที่คนทั่วไปและผู้เสียหายเข้าใจ และข้อความดังกล่าวทำให้ผู้เสียหายถูกดูหมิ่นถูกเกลียดชังจากผู้พบเห็นได้ยินข้อความนั้นอย่างไร
๒.การฟ้องเท็จต้องเป็นการ “ ยืนยัน” ข้อเท็จจริงที่เอามาฟ้องว่าจำเลยเป็นอย่างนั้น ทั้งๆที่ไม่เป็นความจริงอย่างนั้น แต่การอธิบายถ้อยความหมายว่าถ้อยคำนั้นมีความหมายอย่างไรไม่ใช่การยืนยันข้อเท็จจริงว่าต้องเป็นอย่างนั้น เพียงยืนยันว่า มีการกล่าวข้อความแบบนี้ ซึ่งมีความหมายอย่างไรเท่านั้น ส่วนการที่จะเป็นผิดหรือไม่ก็อยู่ที่ศาลจะวินิจฉัยว่าข้อความดังกล่าวเป็นข้อความดูหมิ่นหรือข้อความหมิ่นประมาทหรือไม่อย่างไร
๓.ดังนั้นข้อความที่พนักงานอัยการบรรยายลงในคำฟ้องว่ามีข้อความอย่างไร ซึ่งข้อความนั้นมีความหมายอย่างไรคนทั่วไปรวมทั้งผู้เสียหายเข้าใจในข้อความดังกล่าวยังไง พนักงานอัยการต้องแปลหรือให้ความหมายว่าข้อความดังกล่าวมีความหมายอย่างไร แม้จะแปลข้อความผิดพลาดเกินเลยไปจากความเป็นจริง แต่ก็เป็นการแปลตามความเข้าใจของพนักงานอัยการ ไม่ได้แปลข้อความเพื่อจะมีเจตนาดูหมิ่นหรือหมิ่นประมาทจำเลย จะถือว่าอัยการโจทก์มีเจตนาในการฟ้องเท็จไม่ได้เพราะถ้อยคำที่พนักงานอัยการยื่นฟ้องก็มาจากคำให้การผู้เสียหาย หากผิดถูกหรือไม่ชอบด้วยกฎหมายอย่างไรก็เป็นเรื่องที่ผู้ต้องหาจะดำเนินคดีกับผู้เสียหายเป็นอีกส่วน แต่ในส่วนพนักงานอัยการถือไม่มีเจตนาที่จะกระทำความผิดทางอาญาแก่โจทก์แต่อย่างใด เพราะไม่ได้ยืนยันข้อเท็จจริงว่าจำเลยกล่าวถ้อยคำทั้งที่จำเลยไม่ได้กล่าวถ้อยคำนั้น เป็นเพียงแต่บรรยายข้อเท็จจริงตามที่ผู้เสียหายให้การมาเท่านั้นว่า จำเลยพูดอย่างไร และอธิบายความหมายนั้นว่าหมายความว่าอย่างไร การอธิบายความหมายจากคำพูดที่จำเลยพูดก็นำมาจากความเข้าใจของผู้เสียหาย ความเข้าใจของบุคคลอื่นและของพนักงานอัยการว่ามันมีความหมายอย่างไร ไม่ได้มีเจตนาดูหมิ่นหรือใส่ความจำเลยต่อบุคคลที่สามในประการที่น่าจะทำให้จำเลยเสียชื่อเสียงถูกดูหมิ่นถูกเกลียดชังแต่อย่างใด จึงไม่เป็นความผิดฐานดูหมิ่นหรือหมิ่นประมาท และไม่ใช่กรณีกระทำการในตำแหน่งพนักงานอัยการ อันมิชอบเพื่อช่วยเหลือมิให้บุคคลใดต้องรับโทษหรือรับโทษน้อยลงตาม ป.อ. มาตรา ๒๐๐ และไม่เป็นความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยไม่ชอบในประการที่น่าจะก่อให้เกิดความเสียหายต่อผู้หนึ่งผู้ใดหรือประชาชนตาม ป.อ. มาตรา ๑๕๗ ทั้งไม่เป็นการนำความเท็จมากล่าว
๔. เป็นพนักงานอัยการบางทีก็โดนคนฟ้องกลับเช่นกัน แต่หากกระทำตามหลักฐานในสำนวนแล้ว หลักฐานในสำนวนจะเป็นเกราะคุ้มครองตัวเอง แต่หากไปหักสำนวนการสอบสวนเหมือนหน่วยงานอื่นในกระบวนการยุติธรรมก็บอกได้ว่าคุกรออยู่ข้างหน้า

ไม่มีความคิดเห็น: