ค้นหาบล็อกนี้

วันเสาร์ที่ 6 สิงหาคม พ.ศ. 2559

“เวลาเป็นสาระสำคัญหรือไม่”

บรรยายฟ้องว่า จำเลยกระทำผิดวันที่ ๘ ก.ค.๒๕๓๙ แต่ข้อเท็จจริงตามทางพิจารณา ได้ความว่า จำเลยแจ้งความต่อพนักงานสอบสวนว่า โจทก์บุกรุกที่ดินจำเลยเมื่อ ๑๙ มิ.ย.๒๕๓๙ และจำเลยเบิกความรับรองบันทึกแจ้งความร้องทุกข์และจำเลยไปแจ้งความร้องทุกข์ว่าโจทก์บุกรุกที่ดินจำเลย โดยไม่ได้โต้แย้งต่อสู้เรื่องวันเวลาที่ไปแจ้งความ ข้อแตกต่างจึงเป็นเพียงลายละเอียด เกี่ยวกับเวลา ซึ่งไม่ถือเป็นข้อสาระสำคัญ การที่โจทก์ฟ้องผิดไปไม่เป็นเหตุให้จำเลยหลงต่อสู้ หากข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยกระทำผิดจริง ศาลมีอำนาจลงโทษจำเลยได้
ความผิดตาม ป.อ. มาตรา ๑๗๒ต้องเป็นกรณีที่ผู้แจ้งข้อเท็จจริงอันเป็นความเท็จ โดยแกล้งกล่าวข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการกระทำของผู้ถูกกล่าวหาให้ผิดไปจากความจริง เมื่อโจทก์จำเลยต่างเข้าใจว่าตนมีสิทธิ์ครอบครองที่ดินพิพาท การที่จำเลยไปแจ้งความร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีกับโจทก์ในข้อหาบุกรุก เป็นกรณีที่จำเลยแจ้งในทำนองเล่าเรื่องที่เกิดขึ้น ซึ่งมีเหตุการณ์ทำให้จำเลยเข้าใจว่า จำเลยเป็นเจ้าของที่ดินตามพินัยกรรมของบิดา และโจทก์เข้าไปบุกรุกทำนาในที่ดินของจำเลยโดยมิชอบด้วยกฏหมาย นอกจากนี้ เมื่อพนักงานสอบสวนสอบปากคำจำเลย จำเลยให้การรับว่า ที่ดินของจำเลยดังกล่าวยังมีข้อพิพาทฟ้องร้องทางแพ่งโต้เถียงกรรมสิทธิ์กันอยู่ระหว่างโจทก์กับจำเลย พฤติการณ์ของจำเลยแสดงให้เห็นว่า จำเลยไม่ได้มีเจตนาแกล้งเอาความเท็จไปกล่าวหาโจทก์ ส่วนใครจะมีสิทธิ์ในที่ดินพิพาทดีกว่ากัน เป็นเรื่องที่โจทก์จำเลยต้องไปว่ากันในทางแพ่ง การกระทำของจำเลยไม่มีความผิดฐานแจ้งความอันเป็นเท็จเกี่ยวกับความผิดอาญาแก่พนักงานสอบสวน คำพิพากษาฏีกา ๘๓๙๑/๒๕๔๔
ข้อสังเกต ๑.หากศาลเห็นว่าข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในทางพิจารณาแตกต่างกับข้อเท็จจริงที่ปรากฏในฟ้อง ให้ศาลยกฟ้อง เว้นแต่ข้อแตกต่างนั้นไม่ใช่ข้อสาระสำคัญ และจำเลยไม่หลงต่อสู้ ศาลจะลงโทษจำเลยตามที่ได้ความก็ได้
๒.ข้อแตกต่างเกี่ยวกับเวลา สถานที่กระทำความผิด เป็นข้อแตกต่างที่เป็นเพียงลายละเอียดที่ต้องบรรยายมาในฟ้องพอสมควรเพื่อให้จำเลยเข้าใจข้อหาได้ดีตาม ป.ว.อ. มาตรา ๑๕๘(๕) หากจำเลยไม่หลงต่อสู้แล้วไม่เป็นเหตุให้ศาลยกฟ้อง ได้ตาม ป.ว.อ. มาตรา ๑๙๒วรรค สอง
๓.การที่บรรยายฟ้องว่าเหตุเกิดวันที่ ๘ ก.ค.๒๕๓๙ แต่ในการเบิกความรับรองบันทึกการแจ้งความร้องทุกข์ที่ได้แจ้งความว่าเหตุเกิดวันที่ ๑๙ มิ.ย.๒๕๓๙ ซึ่งเป็นคนละวันกัน ตามกฎหมายถือเป็นเพียงข้อแตกต่างปลีกย่อยที่เป็นเพียงลายละเอียดที่ต้องกล่าวมาในฟ้องให้จำเลยเข้าใจข้อหาได้ดีเท่านั้น เมื่อนำสืบว่าที่มีการแจ้งความว่า จำเลยบุกรุกที่ของโจทก์นั้น จำเลยไม่ได้บุกรุกที่ของโจทก์โดยไม่ได้นำสืบว่าการที่ฟ้องผิดวันไปนั้นทำให้จำเลยหลงต่อสู้ หรือต่อสู้คดีไปในทางอื่น นั้นก็คือ การนำสืบว่าที่พิพาทเป็นของตนไม่ใช่ของโจทก์ ถือไม่ได้ว่า คำนึงถึงวันที่กระทำผิดเป็นสาระสำคัญ ดังนั้น สาระสำคัญอยู่ที่ว่าที่พิพาทเป็นของใครเท่านั้น จึงถือได้ว่าการบรรยายฟ้องเรื่องวันที่ปรากฏในฟ้องซึ่งแตกต่างจากวันที่ปรากฏในทางพิจารณาไม่ใช่ข้อสาระสำคัญ เมื่อจำเลยไม่หลงต่อสู้ ไม่เสียเปรียบในการต่อสู้คดีแล้ว หากข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยกระทำผิดตามข้อกล่าวหาในฟ้อง ศาลย่อมลงโทษจำเลยได้ตาม ป.ว.อ. มาตรา ๑๙๒ วรรค ๒
๔.การที่จะเป็นความผิดฐานแจ้งความอันเป็นเท็จเกี่ยวกับความผิดอาญาแก่พนักงานสอบสวน ต้องเป็นกรณีที่ผู้แจ้งข้อเท็จจริงอันเป็นความเท็จ โดยแกล้งกล่าวข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการกระทำของผู้ถูกกล่าวหาให้ผิดไปจากความจริง ลำพังเพียงต่างเข้าใจว่าตนมีสิทธิ์ครอบครองที่ดินพิพาท การที่จำเลยไปแจ้งความร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีกับโจทก์ในข้อหาบุกรุก โดยจำเลยแจ้งในลักษณะเล่าเรื่องที่เกิดขึ้น ไม่ได้ยืนยันว่าโจทก์บุกรุกที่ของจำเลยหรือไม่ แต่มีเหตุที่ทำให้เข้าใจได้ว่าที่เป็นของตนและโจทก์บุกรุก เมื่อมีเหตุการณ์ทำให้จำเลยเข้าใจว่า จำเลยเป็นเจ้าของที่ดินตามพินัยกรรมของบิดา และโจทก์เข้าไปบุกรุกทำนาในที่ดินของจำเลยโดยมิชอบด้วยกฏหมาย ทั้งเมื่อพนักงานสอบสวนทำการสอบปากคำจำเลยให้การรับว่า ที่ดินของจำเลยดังกล่าวยังมีข้อพิพาทฟ้องร้องทางแพ่งโต้เถียงกรรมสิทธิ์กันอยู่ระหว่างโจทก์กับจำเลย เมื่อยังเป็นกรณีมีข้อโต้แย้งกันในทางแพ่งยังไม่อาจทราบว่าที่พิพาทเป็นของใคร เพียงแต่จำเลยเข้าใจว่าตนมีสิทธิ์ในที่พิพาท และโจทก์ไม่มีสิทธิ์เข้าไปทำนาในที่พิพาทอันเป็นการบุกรุกที่ของตน พฤติการณ์ของจำเลยแสดงให้เห็นว่า จำเลยไม่ได้มีเจตนาแกล้งเอาความเท็จไปกล่าวหาโจทก์ ส่วนใครจะมีสิทธิ์ในที่ดินพิพาทดีกว่ากัน เป็นเรื่องที่โจทก์จำเลยต้องไปว่ากันในทางแพ่ง การกระทำของจำเลยไม่มีความผิดฐานแจ้งความอันเป็นเท็จเกี่ยวกับความผิดอาญาแก่พนักงานสอบสวน

ไม่มีความคิดเห็น: