ค้นหาบล็อกนี้

วันพุธที่ 3 สิงหาคม พ.ศ. 2559

“จัดการตาม ปวอ.มาตรา ๘๕”

เมื่อมีการกระทำความผิดทางอาญาเกิดขึ้นโดยเจ้าหน้าที่สามารถยึดทรัพย์ที่ทำหรือมีไว้เป็นความผิด เช่นยาเสพติดให้โทษ ไม่ว่าจะเป็นของผู้กระทำผิดและมีผู้ถูกลงโทษตามคำพิพากษาหรือไม่ ป.อ. มาตรา ๓๒ ให้ริบเสียทั้งสิ้น โดยให้ตกเป็นของแผ่นดินหรือทำให้ทรัพย์นั้นใช้การไม่ได้หรือทำลายทรัพย์นั้นเสียตาม ป.อ. มาตรา ๓๕ แต่หากเป็นทรัพย์ที่บุคคลได้ใช้หรือมีไว้ใช้ในการกระทำผิดหรือเป็นทรัพย์ที่ได้มาจากการกระทำผิด ก็ต้องถูกริบเช่นกัน เว้นแต่เจ้าของที่แท้จริงไมได้รู้เห็นเป็นใจในการกระทำความผิด ก็สามารถร้องขอต่อศาลเพื่อขอคืนทรัพย์ดังกล่าวโดยต้องกระทำภายใน ๑ ปี นับแต่วันมีคำพิพากษาถึงที่สุด ป.อ. มาตรา ๓๖ เมื่อพนักงานสอบสวนส่งสำนวนที่กล่าวหาว่าผู้ต้องหาได้กระทำความผิดที่มีโทษทางอาญาแล้ว พนักงานอัยการนอกจากจะมีคำสั่งฟ้องหรือไม่ฟ้องผู้ต้องหาแล้ว จะมีคำสั่งเกี่ยวกับของกลางด้วยว่าจะให้ริบทรัพย์ดังกล่าวให้ตกแก่แผ่นดินหรือจะให้จัดการทรัพย์นั้นตาม ป.ว.อ. มาตรา ๘๕ ซึ่งก็คือการคืนทรัพย์ให้แก่เจ้าของหรือผู้มีสิทธิ์เรียกร้องขอทรัพย์ที่ถูกยึดคืน แม้ ปวอ. มาตรา ๘๕ จะให้อำนาจเจ้าพนักงานมีอำนาจยึดไว้จนกว่าคดีจะถึงที่สุดก็ตาม แต่หากว่าเมื่อพนักงานอัยการไม่ได้ขอให้ศาลริบของกลางโดยให้จัดการตาม ปวอ. มาตรา ๘๕ ซึ่งก็คือการคืนให้เจ้าของที่แท้จริง เมื่อพนักงานอัยการไม่ได้ขอริบของกลาง ศาลไม่สามารถริบของกลางในสำนวนการสอบสวนได้เพราะปวอ. มาตรา ๑๙๒วรรคแรก ห้ามไม่ให้ศาลมีคำพิพากษาหรือมีคำสั่งเกินคำขอหรือที่ไม่ได้กล่าวไว้ในคำฟ้อง เมื่อพนักงานอัยการไม่ได้ขอให้ริบของกลางศาลจึงไม่มีอำนาจที่จะมาริบของกลางได้ เมื่อศาลมีคำพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยไปแล้วโดยจำเลยให้การรับสารภาพ ทั้งพนักงานอัยการก็มีคำสั่งให้จัดการตาม ปวอ. มาตรา ๘๕ คือ คืนของกลางแก่เจ้าของหรือผู้มีสิทธิ์เรียกร้อง เมื่อไม่มีการฟ้องขอให้ริบของกลางและพนักงานอัยการมีคำสั่งให้คืนของกลางไปแล้ว การที่เจ้าหน้าที่ที่ยึดของกลางไม่ยอมคืนอ้างว่าต้องรอคดีถึงที่สุดก่อนนั้นน่าจะไม่สามารถอ้างได้ ไม่เช่นนั้น คำสั่งของพนักงานอัยการที่สั่งให้คืนของกลางก็คงเหมือนการสั่งน้ำมูกออกมา สั่งแล้วไม่มีผลบังคับทั้งที่กฎหมายให้อำนาจพนักงานอัยการไว้ การที่จะขอรอให้คดีถึงที่สุดนั้น เห็นว่าเมื่อฟ้องไม่ได้ขอให้ริบและพนักงานอัยการให้จัดการตามปวอ.มาตรา ๘๕ คือคืนของกลางไปแล้ว การที่เจ้าหน้าที่ไม่ยอมคืนยังคงยึดไว้ หากเกิดความเสียหายแก่ตัวทรัพย์อย่างไร เจ้าหน้าที่ต้องรับผิดในส่วนนี้ เช่น ในจังหวัดจังหวัดหนึ่งพนักงานอัยการไม่ริบรถของกลางเพราะเป็นรถที่ผู้เป็นเจ้าของคือผู้ให้เช่าซื้อไม่รู้เห็นยินยอมในการที่ผู้เช่าซื้อนำไปขนไม้เถื่อนในป่า เมื่อเจ้าของไม่รู้เห็นยินยอมในการนำทรัพย์ที่ถูกยึดไปใช้ในการกระทำความผิดแล้ว ไม่สามารถที่จะทำการยึดได้ต้องคืนแก่เจ้าของที่แท้จริง การที่เจ้าหน้าที่ป่าไม้ไม่ยอมคืนและนำรถจอดตากแดดตากฝนเกิดความเสียหายแก่ตัวรถ เกิดความเสื่อมสภาพของยางที่ไม่ได้วิ่ง เกิดความเสื่อมของตัวเครื่องยนต์และข้อต่ออย่างไร เจ้าหน้าที่ต้องรับผิดชอบเพราะถือเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายที่จะริบรถเอาไว้ ปรากฏว่าฝนตกหนักกิ่งไม้หักตกลงใส่รถเสียหาย เจ้าหน้าที่ป่าไม้ต้องรับผิดในความเสียหายที่เกิดขึ้นฐานละเมิด และเมื่อไม่มีอำนาจที่จะยึดไว้แล้ว การกระทำดังกล่าวเป็นการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยไม่ชอบด้วยกฏหมายด้วย การที่จะอ้างว่ามีอำนาจยึดไว้จนคดีถึงที่สุดน่าจะหมายความว่า ไม่มีคำสั่งของพนักงานอัยการให้จัดการตามปวอ. มาตรา ๘๕ คือไม่มีคำสั่งให้คืนของกลาง และพนักงานอัยการได้ฟ้องขอริบของกลาง ข้ออ้างที่จะไม่คืนของกลางจนกว่าคดีถึงที่สุดน่าจะหมายถึงกรณี พนักงานอัยการฟ้องขอให้ริบของกลาง แล้วศาลพิพากษาให้ริบ จำเลยไม่พอใจก็อุทธรณ์คำพิพากษาที่ถูกลงโทษและคำสั่งให้ริบของกลาง หรืออาจเป็นกรณีที่อัยการขอริบของกลาง แต่ศาลมีคำสั่งยกคำขอในส่วนนี้โ ดยศาลไม่ริบของกลาง พนักงานอัยการยื่นอุทธรณ์ฏีกา คดีอยู่ระหว่างการพิจารณาคดีของศาล แบบนี้จึงต้องรอจนกว่าคดีถึงที่สุด แต่หากว่าพนักงานอัยการไม่ริบของกลางและมีคำสั่งให้คืนแล้ว เจ้าหน้าที่ของรัฐไม่ยอมคืนก็ต้องยอมรับในการที่จะถูกฟ้องเป็นคดีอาญาต่อไป

ไม่มีความคิดเห็น: