ค้นหาบล็อกนี้

วันเสาร์ที่ 6 สิงหาคม พ.ศ. 2559

“บุตรของบิดา”

๑.บิดามารดาไม่จดทะเบียน ผู้ตายแจ้งเด็กเป็นบุตรในสุติบัตร นำเด็กมาเลี้ยงดู ให้การศึกษาให้ใช้นามสกุล เป็นพฤติการณ์รับรองเด็กเป็นบุตร ถือเป็นผู้สืบสันดานเหมือนบุตรที่ชอบด้วยกฎหมาย เป็นทายาทโดยธรรม คำพิพากษาฏีกา ๓๗๘๕-๓๗๘๗/๒๕๕๒
๒.บิดามารดาไม่จดทะเบียน เด็กเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของหญิง อำนาจปกครองอยู่กับหญิงฝ่ายเดียว ข้อตกลงที่ให้บุตรอยู่ในอำนาจปกครองของบิดาจึงไม่มีผลผูกพันให้มีอำนาจปกครองเด็ก บิดาไม่มีสิทธิ์กำหนดที่อยู่บุตรได้ มารดาฟ้องเรียกให้ส่งเด็กคืนได้ คำพิพากษาฏีกา ๓๗๘๐/๒๕๔๓,๓๔๘๔/๒๕๔๒,๗๔๗๓/๒๕๓๗
๓.บุตรที่เกิดจากบิดามารดาที่ไม่จดทะเบียนสมรส ไม่ใช่บุตรโดยชอบด้วยกฎหมาย เมื่อบิดาไม่ได้จดทะเบยีนว่าเด็กเป็นบุตร บิดาจึงไม่ใช่ผู้ใช้อำนาจปกครอง และไม่ใช่ผู้แทนโดยชอบธรรมที่จะมีอำนาจจัดการแทนผู้เสียหาย ไม่มีสิทธิ์ยื่นคำร้องขอเป็นโจทก์ร่วมกับพนักงานอัยการ คำพิพากษาฏีกา ๖๓๐๖/๒๕๔๕
๔.ไม่ใช่บิดาโดยชอบด้วยกฎหมายของเด็กได้ยื่นฟ้องจำเลย ในชั้นไต่สวนมูลฟ้องได้ความว่า ชายหญิงไม่ได้จดทะเบียนสมรสกัน หญิงได้หนีออกจากบ้านตั้งแต่เด็กยังเล็กอยู่ บิดาให้การศึกษา อุปการะเลี้ยงดู ให้ใช้นามสกุล กรณีเป็นเรื่องมารดาผู้แทนโดยชอบธรรมไม่สามารถจัดการตามหน้าที่ได้ เมื่อศาลประทับฟ้อง ถือโดยปริยายว่า ศาลชั้นต้นตั้งให้บิดาเป็นผู้แทนเฉพาะคดี ทั้งยังปรากฏว่าก่อนศาลชั้นต้นมีคำพิพากษา ศาลชั้นต้นมีคำสั่งตั้งบิดาเป็นผู้แทนเฉพาะคดี ดังนั้นบิดามีอำนาจดำเนินคดีแทนบุตรได้ คำพิพากษาฏีกา ๒๙๕๘/๒๕๔๑
๕.ประกาศคณะปฏิวัติที่ถอนสัญชาติไทยของเด็กที่เกิดในราชอาณาจักรที่มีบิดาเป็นคนต่างด้าวไม่เป็นไปตามเงื่อนไขที่กำหนดนั้น เมื่อบิดาเป็นคนต่างด้าวที่ไม่ใช่บิดาโดยชอบด้วยกฎหมายของเด็ก จึงไม่อาจถอนสัญชาติไทยของเด็กได้ คำพิพากษาฏีกา ๒๖๐/๒๕๒๕
๖.บุตรเกิดที่ประเทศสาธารณะรัฐธิปไตยประชาชนลาว มารดามีสัญชาติลาว แม้เกิดจากบิดาที่มีสัญชาติไทย แต่ไม่ใช่บิดาโดยชอบด้วยกฎหมาย ผู้ร้องได้สัญชาติไทยโดยการเกิด ตามพรบ.สัญชาติไทยพ.ศ. ๒๕๐๘ มาตรา ๗(๑) พรบ.สัญชาติฉบับที่ ๒ พ.ศ. ๒๕๓๔๕ มาตรา ๑๐
ข้อสังเกต ๑.บิดามารดาไม่จดทะเบียนสมรส เด็กเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของหญิง ไม่ใช่บุตรชอบด้วยกฎหมายของชาย แต่หากชายให้ใช้นามสกุล ส่งเสียให้เล่าเรียน ให้ใช้นามสกุล ไปบอกบุคคลอื่นว่าเด็กเป็นบุตร เป็นคนแจ้งเกิดเด้ก หรือพอเด็กคลอดก็จัดงานเลี้ยงฉลอง เป็นพฤติการณ์ที่บิดารับรองบุตร บุตรเป็นบุตรที่บิดารับรองแล้วรับมรดกของบิดาได้ แต่บิดารับมรดกของเด็กไม่ได้เพราะไม่ใช่บิดาโดยชอบด้วยกฏหมายของเด็ก
๒.บิดามารดาที่ไม่จดทะเบียนกัน เด็กเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของหญิง ( ป.พ.พ. มาตรา ๑๕๔๖) แต่ไม่ใช่บุตรชอบด้วยกฎหมายของชาย อำนาจปกครองอยู่กับฝ่ายหญิง การมาทำข้อตกลงว่าให้อำนาจปกครองบุตรอยู่กับฝ่ายชายเป็นข้อดตกลงที่ขัดกับความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีงามของประชาชนและขัดต่อกฎหมายที่ให้เด็กเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของหญิง เมื่อชายไม่มีอำนาจปกครองจึงไม่มีอำนาจกำหนดที่อยู่ของเด็กได้ มารดาสามารถฟ้องให้ฝ่ายชายส่งมอบเด็กได้ เมื่อชายไม่มีอำนาจปกครองเด็ก อำนาจปกครองอยู่กับฝ่ายหญิงหากชายเอาเด็กไปเป็นความผิดฐานพรากผู้เยาว์ได้เพราะเป็นการเอาไปจากอำนาจการปกครองของมารดาผู้มีอำนาจปกครอง แต่หากมีข้อตกลงว่าให้สามีมีอำนาจปกครอง แม้ข้อตกลงนี้ขัดกับความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีงามของประชาชนและขัดต่อกฎหมายที่ให้เด็กเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของหญิง ตกเป็นโมฆะถือว่าเสียเปล่าก็ตาม หากชายเอาเด็กไปไม่ถือพรากผู้เยาว์เพราะชายเอาไปโดยเข้าใจว่าตนมีสิทธิ์ตามสัญญา ไม่มีเจตนาพรากผู้เยาว์ แต่หากไม่มีข้อสัญญาดังกล่าวการเอาไปถือพรากผู้เยาว์ไปจากการครอบครองของมารดา
๓.บิดามารดาที่ไม่จดทะเบียนสมรส เด็กไม่ใช่บุตรชอบด้วยกฎหมายของชาย แต่หากบิดามารดามาจดทะเบียนสมรสกันภายหลัง หรือชายจดทะเบียนว่าเด็กเป็นบุตร หรือศาลพิพากษาว่าเด็กเป็นบุตร(กรณีมีการฟ้องศาลขอให้รับเด็กเป็นบุตร) ดังนี้เด็กจึงเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฏหมายของบิดาตาม ป.พ.พ. มาตรา ๑๕๔๗ เมื่อเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายนั้น
กฎหมายให้มีผลนับแต่วันที่เด็กเกิด ตามป.พ.พ. มาตรา ๑๕๕๗ แต่การที่เด็กเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฏหมายย้อนหลังไปนับแต่เด็กเกิดไม่ทำให้เสื่อมสิทธิ์แก่บุคคลภายนอกที่ทำการโดยสุจริตในระหว่างเวลาที่เด็กเกิดจนถึงเวลาที่เด็กกลายเป็นบุตรโดยชอบด้วยกกหมาย
๔.ในคดีอาญาที่ผู้เสียหายเป็นผู้เยาว์ บิดามารดาโดยชอบด้วยกฎหมายหรือผู้แทนโดยชอบธรรมของเด็กสามารถดำเนินคดีแทนผู้เยาว์ได้ ไม่ว่าจะเป็นการแจ้งความร้องทุกข์ ฟ้องร้อง หรือขอเข้าเป็นโจทก์ร่วมกับพนักงานอัยการได้ หากบิดามารดาไม่จดทะเบียน และบิดาไม่ได้จดทะเบียนว่าเด็กเป็นบุตร บิดามารดาไม่ได้จดทะเบียนกันภายหลังหรือไม่มีคำพิพากษาว่าเด็กเป็นบุตรชอบด้วยกฏหมายของชายแล้ว บิดาไม่มีอำนาจปกครองเด็กจึงไม่สามารถดำเนินคดีแทนเด็กได้ ตาม ป.ว.อ. มาตรา ๕(๑) แต่หากเด็กไม่มีผู้แทนโดยชอบธรรมหรือมีผู้แทนโดยชอบธรรมแต่ผู้แทนโดยชอบธรรมไม่สามารถจัดการได้หรือมีผลประโยชน์ขัดกับผู้เยาว์ บิดาที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายอาจร้องขอให้ศาลตั้งตนเป็นผู้แทนเฉพาะคดีเพื่อดำเนินการแทนผู้เยาว์ได้ ตาม ป.ว.อ. มาตรา ๖
๕. ส่วนตามข้อ ๔ นั้นบิดาที่ไม่ชอบด้วยกฏหมายเพราะไม่ได้จดทะเบียนสมรสกับมารดาเด็กได้ยื่นฟ้องแทนเด็กโดยไม่ปรากฏว่ามีการจดทะเบียนรับเด็กเป็นบุตรหรือศาลพิพากษาว่าเด็กเป็นบุตร แต่ได้ความว่าหลังเดิกบุตรแล้วมารดาเด็กได้หนีออกจากบ้านจึงเป้นกรณีเด็กไม่มีมารดาโดยชอบธรรมที่จะดำเนินคดีแทนเด็กได้ การที่ศาลชั้นต้นรับฟ้องของบิดาที่ฟ้องแทนเด็กถือได้โดยปริยายว่า ศาลชั้นต้นตั้งให้บิดาเป็นผู้แทนเฉพาะคดี ทั้งยังปรากฏว่าก่อนศาลชั้นต้นมีคำพิพากษา ศาลชั้นต้นมีคำสั่งตั้งบิดาเป็นผู้แทนเฉพาะคดี ดังนั้นบิดามีอำนาจดำเนินคดีแทนบุตรได้
๖เด็กที่เกิดโดยบิดาหรือมารดามีสัญชาติไทยไม่ว่าเกิดในหรือนอกราชอาณาจักรไทยและเด็กที่เกิดในราชอาณาจักรไทยย่อมได้สัญชาติไทยโดยการเกิด ยกเว้นเด็กที่เกิดในราชอาณาจักรไทยโดยบิดามารดาเป็นคนต่างด้าวที่ไม่ได้จดทะเบียนสมรสกันหรือบิดาหรือมารดาเป็นคนต่างด้าวที่ได้รับการผ่อนผันให้อยู่ในราชอาณาจักรเป็นกรณีพิเศษหรือได้รับอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรชั่วคราว หรือเป็นคนต่างด้าวที่เข้ามาในราชอาณาจักรโดยไม่ได้รับอนุญาต กรณีเหล่านี้เด็กย่อมไม่ได้สัญชาติไทยโดยการเกิด
๗..ตามข้อ ๕และข้อ ๖ ศาลฏีกาวินิจฉัยว่าการถอนสัญชาติไทยของเด็กนั้นบิดาต้องเป็นบิดาโดยชอบด้วยกฎหมายเท่านั้น โดยในข้อ ๖.มารดาเป็นคนสัญชาติลาว และ เด็กเกิดนอกราชอาณาจักรไทยจึงไม่ได้สัญชาติไทยโดยการเกิด แม้จะมีบิดาเป็นคนสัญชาติไทยแต่เมื่อบิดาไม่ได้จดทะเบียนสมรสกับมารดาจะถือว่าเป็นบิดาโดยชอบด้วยกฏหมายของเด็กไม่ได้ เมื่อไม่ใช่บิดาโดยชอบด้วยกฏหมายจะถือว่าเด็กที่เกิดโดยบิดาหรือมารดามีสัญชาติไทยไม่ว่าเกิดในหรือนอกราชอาณาจักรไทย แล้วให้ได้รับสัญชาติไทยไม่ได้ ส่วนตามข้อ ๕.นั้นบิดาเป็นคนต่างด้าวที่ไม่ใช่บิดาโดยชอบด้วยกฏหมายของเด็ก จึงไม่อาจเพิกถอนสัญชาติไทยของเด็กที่เกิดในราชอาณาจักรโดยบิดาเป็นคนต่างด้าวตามที่ประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๓๓๗ กำหนดได้

ไม่มีความคิดเห็น: