ค้นหาบล็อกนี้

วันเสาร์ที่ 6 สิงหาคม พ.ศ. 2559

"แก้ฟ้องเกินอำนาจศาลแขวง”

พนักงานอัยการโจทก์ยื่นฟ้องจำเลยต่อศาลแขวงว่า จำเลยขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายสาหัส ต่อมาระหว่างสืบพยานจำเลย ผู้เสียหายถึงแก่ความตาย โจทก์ขอแก้ฟ้องเป็นขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ไม่อนุญาต แล้วพิพากษาว่าจำเลยที่ ๒ ประมาทฝ่ายเดียว ศาลฏีกาเห็นว่า ความตายเกิดเนื่องจากาการที่รถสองคันชนกัน พนักงานสอบสวนได้แจ้งข้อหาขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายแล้ว ทั้งปรากฏว่าศาลชั้นต้นยังไม่ได้พิพากษา การที่ศาลล่างไม่อนุญาตให้แก้ฟ้องเพราะหากอนุญาตให้แก้ฟ้องแล้วศาลชั้นต้นจะไม่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาหาได้ไม่ เพราะไม่มีผู้ใดอาจคาดได้ว่าผู้เสียหายจะถึงแก่ความตายหรือไม่ ทั้งโจทก์จะยื่นฟ้องจำเลยทั้งสองในข้อหาขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายไม่ได้ กรณีนี้โจทก์จึงได้แต่ขอแก้ฟ้อง กรณีมีเหตุอันควรให้โจทก์แก้ฟ้องได้ เมื่อศาลฏีกาอนุญาตให้โจทก์แก้ฟ้องแล้ว คดีเกินอำนาจศาลชั้นต้นที่จะพิจารณาพิพากษา ศาลฏีกาไม่อาจวินิจแยได้ พิพากษากลับให้ยกฟ้อง ให้โจทก์นำคดีไปฟ้องต่อศาลชั้นต้นที่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาต่อไป คำพิพากษาฏีกา ๙๙๓/๒๕๒๗
ข้อสังเกต ๑. ศาลแขวงมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีที่มีอัตราโทษจำคุกไม่เกิน ๓ ปี หรือปรับไม่เกิน ๖๐,๐๐๐ บาทหรือทั้งจำทั้งปรับ ข้อหาขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายสาหัส จำคุกไม่เกิน ๓ ปี หรือปรับไม่เกิน ๖,๐๐๐ บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ คดีอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลแขวง ข้อหาขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย ระวางโทษจำคุกไม่เกิน ๑๐ ปี และปรับไม่เกิน ๒๐,๐๐๐ บาท เป็นความผิดขึ้นศาลจังหวัด
๒.ในชั้นแรกพนักงานสอบสวนแจ้งข้อหาแก่ผู้ต้องหาว่าขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้เสียหายได้รับอันตรายสาหัสซึ่งคดีอยู่ในอำนาจศาลแขวงที่จะพิจารณาพิพากษา ต่อมาผู้เสียหายถึงแก่ความตาย พนักงานสอบสวนจึงแจ้งข้อหาขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย ซึ่งคดีอยู่ในอำนาจศาลจังหวัดที่จะพิจารณาพิพากษา พนักงานสอบสวนได้แจ้งข้อหาขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายแก่ผู้ต้องหาถือได้ว่ามี การสอบสวนในความผิดฐานขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย แล้ว พนักงานอัยการจึงมีอำนาจฟ้องหรือขอแก้ฟ้องในความผิดดังกล่าวได้
๓. การที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ไม่อนุญาตให้โจทก์แก้ฟ้องโดยเห็นว่า เมื่อแก้ฟ้องแล้วคดีเกินอำนาจศาลแขวงที่จะพิจารณาพิพากษานั้น หากศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ได้พิพากษาไปแล้วในความผิดฐานขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายสาหัส โจทก์ไม่สามารถยื่นฟ้องจำเลยฐานขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายในการกระทำกรรมเดียวกันได้อีกเพราะมีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดในความผิดที่ฟ้องไปแล้ว หรือหากศาลยังไม่มีคำพิพากษาเด็ดขาดแล้วนำมาฟ้องใหม่ก็จะเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำ ดังนั้นการที่ศาลล่างสองศาลไม่อนุญาตให้แก้ฟ้องย่อมเป็นผลร้ายแก่ผู้เสียหาย ทายาทผู้เสียหายที่ไม่อาจยื่นฟ้องในความผิดฐานขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายได้ ดังนั้นศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์น่าจะมีคำสั่งอนุญาตให้โจทก์แก้ฟ้องได้ ส่วนว่าเมื่ออนุญาตแล้วคดีเกินอำนาจศาลแขวงที่จะพิจารณาพิพากษาก็จำหน่ายคดีออกจากสารบบความ แล้วให้โจทก์ไปยื่นฟ้องต่อศาลที่มีอำนาจต่อไป
๔.คำสั่งที่ “ ไม่อนุญาตให้โจทก์แก้ฟ้อง “ เป็นคำสั่งระหว่างพิจารณาคดีที่ไม่ทำให้คดีเสร็จไป ต้องห้ามไม่ให้อุทธรณ์คำสั่งนั้นจนกว่าจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งในประเด็นสำคัญและมีการอุทธรณ์คำพิพากษาหรือคำสั่งนั้นด้วย มิใช่จะอุทธรณ์แต่เฉพาะคำสั่งที่ไม่อนุญาตให้แก้ฟ้อง แต่ต้องอุทธรณ์ทั้ง คำสั่งที่ไม่อนุญาตให้แก้ฟ้องและอุทธรณ์คำพิพากษาไปด้วย
๕. ความตายนั้นต้องเป็นผลโดยตรงจากการขับรถโดยประมาทของจำเลย หากความตายไม่ใช่ผลโดยตรงจากการขับรถโดยประมาทของจำเลยแล้วจำเลยไม่ต้องรับผิด และโจทก์ก็ไม่สามารถแก้ฟ้องในฐานขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายได้

ไม่มีความคิดเห็น: