ค้นหาบล็อกนี้

วันจันทร์ที่ 15 สิงหาคม พ.ศ. 2559

“ศาลทหาร”

๑. กฎหมายกำหนดเอาวันกระทำผิดเป็นข้อสำคัญว่าคดีใดจะให้ฟ้องต่อศาลทหารหรือศาลพลเรือน ถ้าผู้นั้นเป็นทหารสัญญาบัตรกระทำผิดในขณะเป็นทหารประจำการอยู่ก็ต้องฟ้องต่อศาลทหาร โดยไม่ต้องพิจารณาว่าขณะฟ้องเป็นทหารนอกประจำการหรือไม่ การที่จำเลยที่๑เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหมในขณะกระทำผิด ก็ไม่ทำให้คำวินิจฉัยเปลี่ยนแปลงไป ส่วนบทบัญญัติที่ให้นายทหารสัญญาบัตรที่กระทำผิดคำสั่งหรือข้อบังคับตามประมวลกฏหมายอาญาทหารภายหลังที่เป็นทหารนอกประจำการแล้ว ต้องอยู่ในอำนาจศาลทหารด้วยเท่านั้น ไม่เกี่ยวกับการกระทำผิดที่ได้ทำไว้เมื่อยังประจำการอยู่ คำพิพากษาศาลฏีกาที่๔๒๑/๒๕๒๑
๒. กฎหมายกำหนดเอาวันกระทำผิดเป็นข้อสาระสำคัญว่าทหารประจำการทำผิดคดีใดจะฟ้องศาลทหารหรือศาลพลเรือน แม้จำเลยมียศสิบเอกเป็นข้าราชการสังกัดกรมแพทย์ทหารบก แต่เป็นยศและหลักฐานประจำการก่อนเกิดเหตุคดีนี้ ไม่ปรากฏตามคำฟ้องหรือทางไต่สวนมูลฟ้องว่า ขณะกระทำผิดจำเลยเป็นทหารกองประจำการอันจะอยู่ในอำนาจศาลทหาร ในระหว่างพิจารณา จำเลยยื่นคำร้องว่า รับราชการเป็นทหารชั้นประทวนปรัจำการที่โรงพยาบาลพระมงกุฏ สังกัดกรมแพทย์ทหารบก และมีหนังสือรับรองว่าจำเลยยังรับราชการเป็นทหารชั้นประทวนอยู่ จึงรับฟังได้ว่าเป็นกรณีปรากฏตามทางพิจารณา “ ในภายหลัง” ว่า เป็นคดีอยู่ในอำนาจศาลทหาร ซึ่งศาลพลเรือนมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีนี้ได้ ตามพรบ.ธรรมนูญศาลทหาร ฯ มาตรา ๑๕ วรรคแรก คำพิพากษาฏีกา ๙๔๖/๒๕๒๕
๓.จับจำเลยที่ ๓ ได้พร้อมคู่มือจดทะเบียนรถยนต์และแผ่นป้ายแสดงการเสียภาษีรถยนต์ปลอม จึงให้จำเลยที่ ๓ โทรศัพท์หาจำเลยที่ ๔ เพื่อนัดมาเอาคู่มือจดทะเบียนรถปลอม การที่จำเลยที่ ๔ นำคู่มือจดทะเบียนรถยนต์ปลอมมาส่งให้จำเลยที่ ๓ ตามที่จำเลยที่ ๓ สั่ง ถือเป็นการใช้เอกสารราชการใบคู่มือจดทะเบียนรถยนต์ปลอม แล้ว วันรุ่งขึ้นหลังจับกุมจำเลยที่ ๔ พนักงานสอบสวนสอบปากคำจำเลยที่ ๔ และในชั้นพิจารณาจำเลยที่ ๔เบิกความต่อศาลว่า จำเลยที่ ๔ ไม่เคยกล่าวอ้างว่าจำเลยที่ ๔ รับราชการทหาร ขณะฟ้องไม้ปรากฏจำเลยที่ ๔ รับราชการทหาร ศาลชั้นต้นจึงมีอำนาจพิจารณาพิพากษาได้ คำพิพากษาฏีกา ๑๑๙๕๒/๒๕๕๖
๔.ระบุอาชีพจำเลยว่าเป็นข้าราชการบำนาญ จำเลยทราบฟ้องแล้วไม่ได้โต้แย้งคัดค้านทั้งที่อยู่ในวิสัยที่จะกระทำได้แต่หาได้กระทำไม่ ถือได้ว่าจำเลยไม่ใช่บุคคลที่อยู่ในอำนาจศาลทหารในขณะกระทำผิด แม้จะมาปรากฏในชั้นฏีกาว่าจำเลยอยู่ในอำนาจศาลทหาร ศาลล่างทั้งสองศาลที่เป็นศาลพลเรือนก็มีอำนาจพิจารณาพิพากษาได้ คำพิพากษาฏีกา ๓๗๙๖/๒๕๔๑
๕.บรรยายฟ้องว่าร่วมกระทำผิดกับพวกที่หลบหนี โดยไม่ได้ระบุว่าพวกที่หลบหนีอยู่ในอำนาจศาลทหาร จำเลยไม่เคยโต้แย้งว่าพวกจำเลยอยู่ในอำนาจศาลทหาร จำเลยอ้างในฏีกาว่า ไม่ปรากฏว่าพวกจำเลยอยู่นอกอำนาจศาลทหารหรืออีกนัยหนึ่งคือ พวกจำเลยอยู่ในอำนาจศาลทหาร ซึ่งเป็นข้ออ้างที่เลื่อนลอยปราศจากหลักฐาน รับฟังไม่ได้ เมื่อไม่ปรากฏว่าพวกจำเลยอยู่ในอำนาจศาลทหาร ต้องถือว่าจำเลยอยู่ในอำนาจศาลทหารไม่ได้ ต้องถือว่าจำเลยที่อยู่ในอำนาจศาลทหารกับพวกจำเลยที่ไม่อยู่ในอำนาจศาลทหารกระทำผิดด้วยกัน เป็นคดีไม่อยู่ในอำนาจศาลทหาร คำพิพากษาฏีกา ๕๓๑๘/๒๕๔๐
๖.บรรยายฟ้องว่าจำเลยมีอาชีพรับราชการทหารกับพวกคือ สิบเอก ส. ร่วมกระทำความผิดหลายข้อหา เฉพาะข้อหาฆ่า นาย อ. แม้จะบรรยายไว้ว่า นาย อ. ผู้ตายใช้ปืนยิงสิบเอก ส. พวกจำเลยถึงแก่ความตายด้วยเช่นกัน ก็ยังไม่พอฟังว่า ตามฟ้อง สิบเอก ส. เป็นทหารประทวนประจำการ การกระทำนาย อ. ผู้ตายเป็นความผิดเพราะเพราะยศทหารไม่ได้ใช้เฉพาะทหารประจำการเท่านั้น การที่นาย อ. ใช้ปืนยิงสิบเอก ส. อาจเป็นการป้องกันโดยชอบไม่มีความผิดก็ได้ เมื่อนาย อ. ปผู้ตายไม่ใช่ผู้กระทำผิดย่อมจะเป็นผู้กระทำผิดด้วยกันกับจำเลยทั้งสองไม่ได้ การที่โจทก์ฏีกาว่าจำเลยทั้งสองกับนาย อ. ผู้ตายกระทำความผิดด้วยกันจึงฟังไม่ขึ้น แต่เมื่อตามฟ้องจะถือว่าสิบเอก ส. เป็นทหารชั้นประทวนประจำการ เป็นบุคคลที่อยู่ในอำนาจศาลทหารไม่ได้ ที่ศาลชั้นต้นประทับรับฟ้องไว้จึงชอบแล้ว แม้ข้อเท็จจริงตามที่โจทก์นำสืบได้ความว่า คดีนี้สิบเอก ส. รับราชการทหาร เป็นบุคคลอยู่ในอำนาจศาลทหาร ก็เป็นข้อเท็จจริงที่ปรากฏในภายหลังจากศาลพลเรือนรับฟ้องไว้แล้วว่าเป็นคดีอยู่ในอำนาจศาลทหาร ซึ่งศาลพลเรือนมีอำนาจพิจารณาพิพากษาได้ตาม พรบ.ธรรมนูญศาลทหารฯ มาตรา ๑๕ คำพิพากษาฏีกา๒๕๐๕/๒๕๓๔
๗.ไม่ปรากฏหลักฐานแน่ชัดว่าพวกจำเลยอยู่ในอำนาจศาลทหารหรือไม่ จึงต้องขึ้นศาลพลเรือนตามมาตรา ๑๔(๑),๑๕ พรบ.ธรรมนูญศาลทหาร คำพิพากษาฏีกา ๑๙๑/๒๕๓๒
๘.ฟ้องระบุเพียงยศของจำเลย แม้ระบุว่ามีอาชีพรับราชการ แต่ก็ไม่ปรากฏชัดแจ้งจากคำฟ้องว่าจำเลยรับราชการทหารเป็นนายทหารชั้นสัญญาบัตรประจำการ เพราะจำเลยมีสิทธิ์ใช้ยศนำหน้าชื่อจำเลยได้แม้จะออกจากราชการหรือโอนไปรับราชการในสังกัดอื่นซึ่งไม่ใช่นายทหารประจำการ ดังนั้นเมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งประทับฟ้องถือคดีอยู่ในระหว่างพิจารณาแล้ว ความจึงปรากฏจากคำแถลงของโจทก์จำเลยยังรับราชการทหารอยู่ จึงเป็นเรื่องที่ปรากฏตามทางพิจารณาในภายหลังว่า คดีอยู่ในอำนาจศาลทหาร ศาลพลเรือนจึงมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีต่อไปได้ พรบ.ธรรมนูญศาลทหารฯ มาตรา ๑๕ คำพิพากษาฏีกา ๕๙๕๕/๒๕๓๐
.
ข้อสังเกต๑.คดีที่ไม่อยู่ในอำนาจศาลทหาร(พรบ.ธรรมนูญศาลทหารฯ มาตรา ๑๔) คือ
๑.๑คดีที่บุคคลที่อยู่ในอำนาจศาลทหารกระทำผิดกับบุคคลที่ไม่อยู่ในอำนาจศาลทหาร(ทหารกระทำผิดร่วมกับพลเรือน)
๑.๒คดีที่เกี่ยวพันกับคดีที่อยู่ในอำนาจศาลพลเรือน
๑.๓คดีที่อยู่ในอำนาจศาลเยาวชนและครอบครัว
๑.๔คดีที่ศาลทหารเห็นว่าไม่อยู่ในอำนาจศาลทหาร
๒.คดีที่ไม่อยู่ในอำนาจศาลทหารต้องดำเนินคดีที่ศาลพลเรือน (พรบ.ธรรมนูญศาลทหารฯ มาตรา ๑๓)
๓.บุคคลที่อยู่ในอำนาจศาลทหารที่ต้องขึ้นศาลทหารคือ
๓.๑นายทหารชั้นสัญญาบัตรประจำการ
๓.๒นายทหารสัญญาบัตร “นอกประจำการ” เฉพาะเมื่อกระทำความผิดต่อคำสั่งหรือข้อบังคับตามประมวลกฎหมายอาญาทหาร
๓.๓นายทหารประทวนและพลทหารกองประจำการ หรือบุคคลที่ได้รับราชการทหารตามกฏหมายว่าด้วยการรับราชการทหาร
๓.๔.นักเรียนทหารตามที่กระทรวงกลาโหมกำหนด
๓.๕. ทหารกองเกินที่ถูกเข้ากองประจำการซึ่งเจ้าหน้าที่ทหารได้รับตัวไว้เพื่อให้เข้ารับราชการประจำอยู่ในหน่วยทหาร
๓.๖พลเรือนที่สังกัดอยู่ในราชการทหาร เมื่อกระทำผิดในหน้าที่ราชการทหารหรือกระทำความผิดอย่างอื่นเฉพาะในหรือบริเวณ อาคาร ที่ตั้งหน่วยทหาร ที่พักร้อน พักแรม เรือ อากาศยาน หรือยานพาหนะใดๆในความควบคุมของเจ้าหน้าที่ฝ่ายทหาร
๓.๗บุคคลที่สังกัดหรืออยู่ในความควบคุมของเจ้าหน้าที่ทหารโดยชอบด้วยกฎหมาย
๓.๘เชลยศึกชนชาติศัตรูซึ่งอยู่ในความดูแลของเจ้าหน้าที่ราชการทหาร
๔. คดีที่อยู่ในอำนาจศาลทหาร แต่ศาลพลเรือนได้สั่งประทับรับฟ้องไว้แล้ว แม้ปรากฏตามทางพิจารณาในภายหลังว่าอยู่ในอำนาจศาลทหาร ก็ให้ศาลพลเรือนมีอำนาจพิจารณาพิพากษาได้ พรบ.ธรรมนูญศาลทหารฯ มาตรา ๑๕ วรรคสอง..
๕.การที่พนักงานสอบสวนส่งสำนวนมาให้พนักงานอัยการ พนักงานอัยการต้องพิจารณาว่าบุคคลนั้นอยู่ในอำนาจศาลทหารหรือไม่ โดยพิจารณาจาก “วันกระทำความผิด” เป็นสำคัญ หากกระทำผิดในขณะที่อยู่ในอำนาจศาลทหาร แม้ปัจจุบันจะได้พ้นจากสถานะนั้นแล้วก็ตาม พนักงานอัยการก็รับสำนวนการสอบสวนจากพนักงานสอบสวนไม่ได้ (พระราชบัญญัติธรรมนูญศาลทหารฯ มาตรา ๑๓และ ๑๖) กรณีนี้เหมือนกรณีที่เด็กและเยาวชนกระทำความผิดให้ดู “วันที่กระทำความผิด” ว่าอยู่ในอำนาจศาลเยาวชนและครอบครัวหรือไม่ คือดูว่าขณะกระทำผิดอายุเกิน ๑๘ปีบริบรูณ์หรือไม่อย่างไร หากกระทำผิดในขณะอายุไม่เกิน ๑๘ ปีบริบรูณ์อยู่ในเขตอำนาจศาลเยาวชนและครอบครัว แม้ต่อมาจะหลบหนีและได้ตัวมาดำเนินคดีหลังอายุเกิน ๑๘ ปีบริบรูณ์ ก็ต้องฟ้องที่ศาลเยาวชนและครอบครัว ตามพรบ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัวฯ มาตรา ๕ ซึ่งในกรณีนี้มีนักกฎหมายหลายคนไม่เห็นด้วยเพราะเมื่อจับตัวได้แล้วเด็กโตเป็นผู้ใหญ่แล้วแต่การลงโทษยังใช้วิธีการสำหรับเด็กอยู่ซึ่งมักเน้นการฟื้นฟูปรับปรุงแก้ไขมากกว่าการลงโทษ จึงเกิดความลักหลั่นกันขึ้นโดยเพื่อนที่ร่วมกระทำผิดอายุ ๑๘ปี ๑ วันต้องขึ้นศาลผู้ใหญ่ศาลลงโทษจำคุก แต่ผู้กระทำผิดอีกคนอายุ๑๗ปี๑๑เดือน๒๙วัน ยังไม่ครบ๑๘ปีบริบรูณ์ศาลใช้วิธีการสำหรับเด็ก ซึ่งเด็กมักไม่ถูกลงโทษจำคุก จึงเห็นว่าการกระทำเดียวกันแต่ต่างกันที่อายุทำให้รับโทษไม่เท่ากัน กฏหมายในส่วนที่เกี่ยวกับตัวเด็กมุ่งแก้ไขตัวเด็กที่เป็นผู้กระทำผิดมากกว่าที่จะมองว่าผู้เสียหายต้องสูญเสียอะไรไปบ้าง พฤติกรรมสำหรับเด็กบางครั้งก็เกินเลยไปกว่าการที่เป็นเด็ก แต่หากมองอีกแง่เมื่อกระทำผิดในขณะที่อายุเท่าใด กระทำผิดเมื่อใดก็สมควรที่จะใช้กฎหมายในขณะนั้นมาลงโทษ เมื่อทำผิดในขณะที่อายุถึงเกณฑ์ต้องขึ้นศาลเยาวชนและครอบครัวก็ต้องขึ้นศาลเยาวชนและครอบครัวแม้จะหลบหนีไปและได้ตัวมาดำเนินคดีหลังอายุเกินเกณฑ์ที่จะขึ้นศาลเยาวชนและครอบครัวแล้วก็ตาม เมื่อทำผิดขณะอายุต้องขึ้นศาลเยาวชนและครอบครัวก็ต้องดำเนินคดีที่ศาลเยาวชนและครอบครัว
๖.กฎหมายกำหนดเอาวันกระทำผิดเป็นข้อสำคัญว่าคดีใดจะให้ฟ้องต่อศาลทหารหรือศาลพลเรือน ถ้าผู้นั้นเป็นทหารสัญญาบัตรกระทำผิดในขณะเป็นทหารประจำการอยู่ก็ต้องฟ้องต่อศาลทหาร โดยไม่ต้องพิจารณาว่าขณะฟ้องเป็นทหารนอกประจำการหรือไม่ การที่จำเลยที่๑เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหมในขณะกระทำผิด ก็ต้องขึ้นศาลทหาร แม้ต่อมาจำเลยที่๑ จะพ้นสภาพจากการเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหมแล้วก็ตาม
๗. ส่วนบทบัญญัติที่ให้นายทหารสัญญาบัตรที่กระทำผิดคำสั่งหรือข้อบังคับตามประมวลกฏหมายอาญาทหารภายหลังที่เป็นทหารนอกประจำการแล้ว ต้องอยู่ในอำนาจศาลทหารด้วยเท่านั้น ไม่เกี่ยวกับการกระทำผิดที่ได้ทำไว้เมื่อยังประจำการอยู่ นั้นก็คือ การที่รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหมพ้นจากตำแหน่งหน้าที่ไปแล้วเป็นทหารสัญญาบัตรนอกประจำการ เมื่อกระทำผิดในขณะที่ยังเป็นทหารสัญญาบัตรในประจำการก็ต้องขึ้นศาลทหาร ไม่จำต้องนำบทบัญญัติที่ว่า เมื่อนายทหารนอกประจำการทำผิดคำสั่งหรือข้อบังคับตามประมวลกฏหมายอาญาทหารหลังจากที่เป็นนายทหารนอกประจำการแล้วต้องขึ้นศาลทหารมาบังคับใช้ เพราะเมื่อกระทำผิดขณะเป็นทหารประจำการแล้วต้องขึ้นศาลทหารอยู่แล้ว
๘.ในความเห็นส่วนตัวการที่เป็นทหารนอกประจำการกระทำความผิด ไม่ควรให้ขึ้นศาลทหารควรให้ดำเนินคดีที่ศาลพลเรือน เพราะไม่ใช่ทหารประจำการแล้ว การที่ยังคงดำเนินคดีที่ศาลทหาร อาจมีการเกรงใจกันได้เพราะเคยเป็นอดีตนายทหารมาก่อนซึ่งอาจก่อให้เกิดความลำเอียงเพราะจำเลยเคยมีตำแหน่งหน้าที่ใหญ่โตมาก่อนหรือแม้เป็นทหารนอกราชการไปแล้วก็อาจมีลูกหลานยังรับราชการทหารอยู่ จึงอาจเกิดข้อครหาได้ จึงควรที่จะดำเนินคดีที่ศาลพลเรือน แต่เมื่อกฏหมายเขียนให้ดำเนินคดีที่ศาลทหารก็คงต้องเป็นไปตามที่กฏหมายบัญญัติไว้
๙.กฎหมายกำหนดเอาวันกระทำผิดเป็นข้อสาระสำคัญว่าทหารประจำการทำผิดคดีใดจะฟ้องศาลทหารหรือศาลพลเรือน แม้จำเลยมียศสิบเอกเป็นข้าราชการสังกัดกรมแพทย์ทหารบกซึ่งน่าที่จะขึ้นศาลทหาร แต่ยศและหลักฐานประจำการว่ารับราชการทหาร ไม่ปรากฏตามคำฟ้องโดยฟ้องระบุใช้คำนำหน้าชื่อว่า “ นาย” ไม่ได้ใส่ยศไว้ หรือไม่ได้ความในทางไต่สวนมูลฟ้องว่า ขณะกระทำผิดจำเลยเป็นทหารกองประจำการอันจะอยู่ในอำนาจศาลทหารแล้วจนศาลพลเรือนรับฟ้องไว้พิจารณา แม้ในระหว่างพิจารณา จำเลยยื่นคำร้องว่า รับราชการเป็นทหารชั้นประทวนประจำการที่โรงพยาบาลพระมงกุฏ สังกัดกรมแพทย์ทหารบก และมีหนังสือรับรองว่าจำเลยยังรับราชการเป็นทหารชั้นประทวนอยู่ เพื่อให้เห็นว่าเป็นการฟ้องผิดศาลเพื่อให้ศาลยกฟ้อง ซึ่งหากจะนำไปฟ้องใหม่อาจฟ้องไม่ได้เพราะอาจเลยกำหนดอายุความฟ้องร้องบังคับคดีไปแล้ว หรือหากยังอยู่ในอายุความฟ้องร้องเมื่อฟ้องใหม่ อาจเกิดปัญหาที่อาจไม่ได้ตัวพยานที่เคยเบิกความในศาลพลเรือนมาเบิกความในศาลทหารเพราะพยานอาจกลัวหรือหลบหนีไป หรือหากพยานเบิกความในศาลทหารแตกต่างจากที่เคยเบิกความในศาลพลเรือน ก็อาจเป็นเหตุให้ศาลทหารยกฟ้องได้ กฏหมายจึงได้บัญญัติทางแก้ในเรื่องนี้เอาไว้โดยเมื่อรับฟังได้ว่าจำเลยเป็นทหารประจำการเป็นกรณีที่อยู่ในอำนาจศาลทหารก็ตาม แต่เมื่อฟ้องผิดศาลไปไปฟ้องที่ศาลพลเรือนจนศาลพลเรือนมีคำสั่งประทับรับฟ้องและดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไปแล้ว การกระทำต่างๆของศาลพลเรือนไม่เสียไป ศาลพลเรือนมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีนี้ได้ ตามพรบ.ธรรมนูญศาลทหาร ฯ มาตรา ๑๕ วรรคสอง
๑๐.บางทีก็เป็นปัญหาทางเทคนิคด้วยการเลี่ยงที่จะไม่ขึ้นศาลทหารจึงไม่ใส่ยศเพื่อเลี่ยงไม่ต้องถูกดำเนินคดีที่ศาลทหารแต่ให้ดำเนินคดีที่ศาลพลเรือนแทน จากการตรวจสำนวนหลายคดีพบว่าทั้งทหารและตำรวจจะมีบัตร ๒ ชนิด คือ บัตรข้าราชการซึ่งจะมียศ และบัตรประชาชนที่ใส่คำว่า “นาย” ไม่มียศ บางคนในบัตรประชาชนก็มียศทหารหรือยศตำรวจ แต่บางคนในบัตรประชาชนก็ไม่ได้ใส่ยศ บางทียื่นฟ้องไปก็ต้องใส่คำนำหน้าชื่อทั้งเป็นนายและมียศ เช่น ร้อยตรีหรือนาย ก. ร้อยตำรวจโทหรือนาย ข เป็นต้น ที่เกิดปัญหาเพราะเมื่อเป็นข้าราชการแล้วอาจไม่ต้องทำบัตรประชาชนหรือจะทำบัตรประชาชนด้วยก็ได้ สมัยก่อนยังเป็นพลเรือนแต่เมื่อสอบเข้ารับราชการและมียศแล้วก็ไม่ใส่ยศในบัตรประชาชน ในปัจจุบันแก้ปัญหานี้ด้วยการยื่นฟ้องด้วยการใส่เลข ๑๓ ตัวของบัตรประชาชนเพื่อยืนยันว่าเป็นบุคคลดังกล่าวจริง
๑๑. การที่จำเลยที่ ๔ นำคู่มือจดทะเบียนรถยนต์ปลอมมาส่งให้จำเลยที่ ๓ ตามที่จำเลยที่ ๓ สั่ง ถือเป็นการใช้เอกสารราชการใบคู่มือจดทะเบียนรถยนต์ปลอม แล้ว พนักงานสอบสวนสอบปากคำจำเลยที่ ๔ จำเลยที่ ๔ ไม่เคยบอกว่าเป็นทหารและในชั้นพิจารณาเมื่อจำเลยที่ ๔เบิกความต่อศาลก็ ไม่เคยกล่าวอ้างว่าจำเลยที่ ๔ รับราชการทหาร ขณะฟ้องไม่ปรากฏจำเลยที่ ๔ รับราชการทหาร แม้ต่อมาจะปรากฏว่าจำเลยเป็นทหาร ศาลชั้นต้นซึ่งเป็นศาลพลเรือนที่ได้รับประทับฟ้องไว้แล้วย่อมมีอำนาจพิจารณาพิพากษาได้ จะยกเรื่องเขตอำนาจศาลว่าฟ้องผิดศาลเพื่อให้ศาลพลเรือนยกฟ้องย่อมไม่สามารถกระทำได้ เป็นเรื่องจำเลยไม่รักษาสิทธิ์ของตัวเองเอง หรือมีเจตนาแต่แรกแล้วที่จะไม่ต้องการขึ้นศาลทหารจึงไม่บอกว่าตัวเองเป็นทหารครั้นขึ้นสู่การพิจารณาของศาลได้รับคำแนะนำจากนักกฏหมายก็จะยกเอาความเป็นทหารมาตัดรอนกระบวนการพิจารณาว่าฟ้องผิดศาลเพื่อให้ศาลยกฟ้องหาได้ไม่
๑๒..ระบุอาชีพจำเลยว่าเป็นข้าราชการบำนาญ ซึ่งก็คือไม่ใช่ทหารกองประจำการที่จะต้องขึ้นศาลทหาร จำเลยทราบฟ้องแล้วไม่ได้โต้แย้งคัดค้านทั้งที่อยู่ในวิสัยที่จะกระทำได้แต่หาได้กระทำไม่ ถือได้ว่ายอมรับว่าจำเลยไม่ใช่บุคคลที่อยู่ในอำนาจศาลทหารในขณะกระทำผิด แม้จะมาปรากฏในชั้นฏีกาว่าจำเลยอยู่ในอำนาจศาลทหาร ศาลล่างทั้งสองศาลที่เป็นศาลพลเรือนที่รับประทับฟ้องและพิจารณาคดีแล้วก็มีอำนาจพิจารณาพิพากษาต่อไปได้
๑๓..จำเลยเป็นทหาร โจทก์ฟ้องว่าจำเลยร่วมกระทำผิดกับพวกที่หลบหนี โดยไม่ได้ระบุว่าพวกที่หลบหนีอยู่ในอำนาจศาลทหาร จำเลยไม่เคยโต้แย้งว่าพวกจำเลยอยู่ในอำนาจศาลทหาร จำเลยอ้างในฏีกาหลังจากที่ผ่านการพิจารณาของศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์แล้วว่า พวกจำเลยอยู่ในอำนาจศาลทหาร เพื่อที่จะเป็นกรณีทหารร่วมกันกระทำผิดโดยไม่ได้ร่วมกับพลเรือนกระทำผิด เพื่อที่จะขึ้นศาลทหารเพื่อให้เห็นว่ามีการดำเนินคดีผิดศาลเพื่อให้ศาลยกฟ้อง การกล่าวอ้างของจำเลยในชั้นฏีกาเป็นข้ออ้างที่เลื่อนลอยปราศจากหลักฐาน รับฟังไม่ได้ เมื่อไม่ปรากฏว่าพวกจำเลยอยู่ในอำนาจศาลทหาร ต้องถือว่าจำเลยอยู่ในอำนาจศาลทหารไม่ได้ ต้องถือว่าจำเลยที่เป็นทหารอยู่ในอำนาจศาลทหารกับพวกจำเลยที่เป็นพลเรือนที่ไม่อยู่ในอำนาจศาลทหารกระทำผิดด้วยกัน เป็นคดีไม่อยู่ในอำนาจศาลทหาร ต้องดำเนินคดีที่ศาลพลเรือน
๑๔.การที่ไม่ได้กล่าวอ้างในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ว่าพวกจำเลยเป็นทหารร่วมกันกระทำผิดซึ่งเป็นกรณีทหารร่วมกันกระทำผิดด้วยกันโดยไม่มีพลเรือนมาร่วมกระทำผิดด้วยซึ่งต้องขึ้นศาลทหาร แต่เมื่อไม่ได้ต่อสู้ไว้ในศาลชั้นต้น ในศาลอุทธรณ์ จึงเป็นกรณีที่ไม่ได้ว่ากันมาแล้วในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ย่อมไม่สามารถนำมากล่าวอ้างในศาลฏีกาได้ ปวอ. มาตรา๑๙๕,๒๒๕ แม้ปัญหาเรื่องเขตอำนาจศาลหรือการฟ้องผิดศาลจะเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชนก็ตาม แม้ไม่อ้างในศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์ก็สามารถยกขึ้นในศาลฏีกาได้ตาม ปวอ. มาตรา ๑๙๕วรรคสอง,๒๒๕ก็ตาม แต่เมื่อพรบ.ธรรมนูญศาลยุติธรรมฯ มาตรา ๑๕ ได้บัญญัติไว้แจ้งชัดกรณีที่ฟ้องผิดศาลและศาลพลเรือนรับประทับฟ้องไว้แล้วดำเนินกระบวนพิจารณาไปแล้ว ศาลพลเรือนมีอำนาจที่จะพิจารณาพิพากษาต่อไปได้ จึงเป็นบทเฉพาะที่นำมายกเว้นหลักทั่วไป ทั้งการที่เพิ่งกล่าวอ้างมาในชั้นศาลฏีกาก็เป็นพิรุธที่ศาลจะไม่รับฟัง เพราะพวกจำเลยที่หลบหนีจะเป็นทหารจริงหรือไม่อย่างไรไม่ปรากฏแน่ชัดศาลฏีกาจึงเห็นว่าข้อต่อสู้ของจำเลยเลื่อนลอยไม่น่ารับฟังและถือว่าพวกจำเลยเป็นพลเรือน จึงเป็นกรณีทหารกระทำผิดร่วมพลเรือนซึ่งต้องขึ้นศาลพลเรือน
๑๕. แม้จะบรรยายฟ้องว่า ผู้ตายใช้ปืนยิงสิบเอก ส. พวกจำเลยถึงแก่ความตาย ก็ยังไม่พอฟังว่า เป็นกรณีทหารและพลเรือนกระทำผิดเกี่ยวเนื่องเกี่ยวพันกันตามพรบ.ธรรมนูญศาลทหารฯ มาตรา ๑๔(๒) ยศทหารไม่ได้ใช้เฉพาะทหารประจำการเท่านั้น การที่ผู้ตาย ใช้ปืนยิงสิบเอก ส. อาจเป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฏหมายซึ่งถือว่าไม่เป็นการกระทำความผิดที่ต้องรับโทษทางอาญาตาม ปอ.มาตรา ๖๗,๖๘ เมื่อถือว่า ผู้ตายไม่ใช่ผู้กระทำผิดจึงจะถือว่าเป็นผู้กระทำผิดด้วยกันกับจำเลยทั้งสองไม่ได้ จึงไม่ใช่เรื่องที่ทหารและพลเรือนกระทำผิดเกี่ยวเนื่องกันอันจะขึ้นศาลพลเรือน แต่เป็นกรณีที่จำเลยที่เป็นทหารกระทำผิดตามลำพังผู้เดียวจึงต้องขึ้นศาลทหาร แต่เมื่อ ศาลชั้นต้นที่เป็นศาลพลเรือนประทับรับฟ้องไว้จึงเป็นการรับฟ้องไว้โดยชอบแล้ว แม้ข้อเท็จจริงตามที่โจทก์นำสืบได้ความว่า คดีนี้สิบเอก ส. รับราชการทหาร เป็นบุคคลอยู่ในอำนาจศาลทหาร ก็เป็นข้อเท็จจริงที่ปรากฏในภายหลังจากศาลพลเรือนรับฟ้องไว้แล้วว่าเป็นคดีอยู่ในอำนาจศาลทหาร ซึ่งศาลพลเรือนมีอำนาจพิจารณาพิพากษาได้ตาม พรบ.ธรรมนูญศาลทหารฯ มาตรา ๑๕
๑๖..ไม่ปรากฏหลักฐานแน่ชัดว่าพวกจำเลยอยู่ในอำนาจศาลทหารหรือไม่ จึงต้องถือว่าพวกจำเลยเป็นพลเรือนเป็นกรณีทหารร่วมกระทำผิดกับพลเรือนจึงต้องขึ้นศาลพลเรือนตามมาตรา ๑๔(๑),๑๕ พรบ.ธรรมนูญศาลทหาร เป็นการวินิจฉัยปิดปากเพราะความไม่ปรากฏชัดว่าพวกจำเลยอีกคนเป็นทหารหรือพลเรือน จึงใช้การปิดปากว่าเป็นพลเรือนด้วยกันกระทำผิดเพื่อที่จะขึ้นศาลพลเรือน
๑๗.ฟ้องระบุเพียงยศของจำเลย แม้ระบุว่ามีอาชีพรับราชการ แต่ก็ไม่ปรากฏชัดแจ้งจากคำฟ้องว่าจำเลยรับราชการทหารเป็นนายทหารชั้นสัญญาบัตรประจำการ เพราะจำเลยมีสิทธิ์ใช้ยศนำหน้าชื่อจำเลยได้แม้จะออกจากราชการหรือโอนไปรับราชการในสังกัดอื่นซึ่งไม่ใช่นายทหารประจำการ นั้นก็คือ เพียงระบุยศหน้าชื่อไม่ใช่สิ่งที่แสดงว่าเป็นทหารประจำการอันจะขึ้นศาลทหารเสมอไป ดังนั้นเมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งประทับฟ้องถือคดีอยู่ในระหว่างพิจารณาแล้ว แม้ความปรากฏในภายหลังจากคำแถลงของโจทก์จำเลยยังรับราชการทหารอยู่ จึงเป็นเรื่องที่ปรากฏตามทางพิจารณาในภายหลังว่า คดีอยู่ในอำนาจศาลทหาร ศาลพลเรือนที่ประทับรับฟ้องไว้แล้วจึงมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีต่อไปได้ พรบ.ธรรมนูญศาลทหารฯ มาตรา ๑๕

ไม่มีความคิดเห็น: